Friday, October 27, 2006

“เราสู้” หลัง 6 ตุลา



คำชี้แจง:
คารวะนอบน้อม แด่สหาย
ผู้อุทิศชีพถวาย ต่อสู้
*

ข้อเขียนข้างล่างนี้ ผมทำขึ้นเป็น "ภาคผนวก" สำหรับบทความของผมเรื่อง "เราสู้: เพลงพระราชนิพนธ์การเมืองกับการเมืองปี 2518-2519" ฉบับปรับปรุงใหม่ (ฉบับพิมพ์ครั้งแรกใน ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง, 2545, หน้า 115-148) ตัวบทความผมได้แก้ไขเพียงเล็กน้อย แต่ส่วน "ภาคผนวก" นี้เป็นการเขียนใหม่เกือบทั้งหมด ทั้งบทความฉบับปรับปรุงและ "ภาคผนวก" ผมทำเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ยกเว้นข้อความบางส่วนของเชิงอรรถที่ 5 ข้างล่าง ที่เพิ่งเขียนเพิ่มเติมเมื่อเร็วๆนี้ ในที่สุด งานชิ้นนี้จะปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มใหม่ของผมชื่อ "เพราะทรงธรรมรัชย์ชัชวาลย์" : รวมบทความเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์และการเมืองไทยสมัยใหม่ ซึ่งอยู่ในระหว่างเตรียมต้นฉบับ
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
6 ตุลาคม 2549

* นี่คือ 2 บาทแรกในโคลงสี่สุภาพ 2 บทที่ โยธิน มหายุทธนา (ประวุฒิ ศรีมันตระ) เขียนสดุดี จิตร ภูมิศักดิ์ ตีพิมพ์ครั้งแรกใน กวีการเมือง (แนวร่วมนักศึกษาเชียงใหม่, 2517)



ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า บรรดาตำรวจและกลุ่มพลังฝ่ายขวาที่บุกโจมตีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเช้าวันที่ 6 ตุลา มีความเชื่อมั่นว่าปฏิบัติการของพวกเขาเป็นการกระทำเพื่อปกป้องราชบัลลังก์และเป็นการสนองพระราชดำริ ถ้าเพลง “เราสู้” ที่ทรงพระราชทานไว้ก่อนหน้านั้น ยังไม่สร้างความมั่นใจเพียงพอ พระราชกรณียกิจของพระราชวงศ์บางพระองค์ในวันที่ 6 และช่วงใกล้เคียง น่าจะทำให้หายสงสัยได้

ตอนเย็นวันที่ 6 หลังจากลูกเสือชาวบ้านซึ่งได้ชุมนุมบริเวณพระบรมรูปทรงม้าตั้งแต่เช้าเพื่อประนามนักศึกษาและผู้ที่พวกเขามองว่าสนับสนุนนักศึกษาในการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (ป๋วย อึ๊งภากรณ์ พรรคสังคมนิยม และรัฐมนตรีพรรคประชาธิปัตย์บางคน) พากันเคลื่อนขบวนบุกเข้าไปยังทำเนียบรัฐบาลแล้ว(1) ในหลวงทรงรับสั่งให้ ธรรมนูญ เทียนเงิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพและผู้นำประชาธิปัตย์ปีกขวาเข้าเฝ้า ทรงแสดงความห่วงใยที่ลูกเสือชาวบ้านเหล่านั้นจะได้รับความลำบากเรื่องที่พักและอาหาร หลังจากนั้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินมาพบลูกเสือเชาวบ้านที่ทำเนียบรัฐบาล ดังที่ ดาวสยาม รายงาน ดังนี้

โปรดเกล้าฯให้ธรรมนูญเฝ้าฯ

เมื่อเวลา 17.00 น.ของวันที่ 6 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้รับสั่งเรียกนายธรรมนูญ เทียนเงิน ผู้ว่าการกรุงเทพมหานครเข้าเฝ้าฯ ทรงรับสั่งเกี่ยวกับการที่ได้มีลูกเสือชาวบ้านจากต่างจังหวัดนับเป็นหมื่นๆคนได้มาชุมนุมนั้นอาจจะประสบปัญหาเกี่ยวกับอาหารและที่พัก ทรงรับสั่งให้นายธรรมนูญชี้แจงให้ลูกเสือชาวบ้านสลายตัว ในขณะนั้นเองสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมงกุฏราชกุมาร ได้เสด็จพร้อมกับนายธรรมนูญ เทียนเงิน มาที่ทำเนียบรัฐบาลและที่ชุมนุมลูกเสือชาวบ้านด้วย ได้ทรงมีพระราชดำรัสกับกลุ่มลูกเสือชาวบ้านที่มาชุมนุม

ดาวสยาม ได้นำพระราชดำรัสดังกล่าวมาตีพิมพ์ว่า
ข้าพเจ้าขอให้ทุกคนยิ้มแย้มและใจเย็นๆ ไม่มีอะไรที่แก้ไขไม่ได้ แต่ต้องค่อยแก้ค่อยไป บ้านเมืองตอนนี้กำลังต้องการความสามัคคีและกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่สำคัญ ฉะนั้นขอให้ทุกคนสลายตัวเสีย ถือว่าให้ของขวัญกับข้าพเจ้า ท่านเหนื่อยกันมามากแล้ว ขอให้กลับไปหลับนอนเสียให้สบาย ทุกคนโปรดทราบว่า สองล้นเกล้าฯทรงเป็นห่วง ไม่มีอะไรที่สองล้นเกล้าฯจะเสียใจเท่ากับพวกเราฆ่ากันเอง ขอให้ทุกคนโชคดี(2)
น่าสังเกตว่า ขณะนั้น เหตุการณ์ที่ธรรมศาสตร์สิ้นสุดลงแล้วหลายชั่วโมง และความรุนแรงที่ตำรวจ ลูกเสือชาวบ้าน และกลุ่มพลังฝ่ายขวาอื่นๆกระทำต่อนักศึกษาที่นั่น ได้เป็นที่รู้กันแล้ว (หนังสือพิมพ์ฉบับบ่ายทุกฉบับได้พาดหัว และรายงานข่าวแล้ว) ไม่ปรากฏว่าทรงมีพระราชดำรัสถึงเหตุการณ์ดังกล่าวแต่อย่างใด(3)


วันต่อมา คือวันที่ 7 ตุลาคม 2519, ตามบันทึกของวสิษฐ เดชกุญชร, “เวลาประมาณ 15.30 นาฬิกา ทูลกระหม่อมน้อยและทูลกระหม่อมเล็กเสด็จไปยังโรงพยาบาลตำรวจและโรงพยาบาลวชิระ เพื่อทรงเยี่ยมผู้ได้รับบาดเจ็บจากการจลาจลที่กำลังพักรับการรักษาพยาบาลอยู่ที่โรงพยาบาลทั้งสองแห่ง”(4) ถ้าวสิษฐเขียนแบบกำกวมให้สงสัยได้ว่า พระเจ้าลูกเธอ 2 พระองค์ทรงเยี่ยมเฉพาะฝ่ายที่บุกเข้าไปในธรรมศาสตร์เท่านั้น ไม่ใช่ฝ่ายนักศึกษาและผู้ชุมนุมในมหาวิทยาลัย (ซึ่ง “ได้รับบาดเจ็บจากการจลาจล” เช่นกัน) ใช่หรือไม่ เสียงปวงชน ฉบับวันที่ 9 ตุลาคม 2519 ได้ตีพิมพ์ภาพถ่ายที่ทั้ง 2 พระองค์ทรงกำลังก้มลงสอบถามอาการผู้บาดเจ็บที่กำลังนอนอยู่บนเตียงผู้หนึ่งด้วยพระพักตร์ห่วงใย พร้อมคำบรรยายภาพว่า “ทูลกระหม่อมทั้งสองพระองค์เสด็จเยี่ยมตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บจากการกวาดล้างที่ธรรมศาสตร์ ที่โรงพยาบาลตำรวจ เมื่อ 15.00 น. วันที่ 7 เดือนนี้ และพระราชทานเงินของมูลนิธิสายใจไทยให้ตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บทุกคน”(5)


สองสัปดาห์ต่อมา คือในวันที่ 20 ตุลาคม ได้มีพิธีบำเพ็ญกุศลและบรรจุศพนายเสมอ อ้นจรูญ ลูกเสือชาวบ้านคนหนึ่งที่บุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยในเช้าวันที่ 6 และเสียชีวิต (จากกระสุนของฝ่ายนักศึกษา?) โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ 2 พระองค์ เสด็จพระดำเนินทรงร่วมงานด้วย วันต่อมา ไทยรัฐ ตีพิมพ์บนหน้า 1 พระฉายาลักษณ์ทั้งสองพระองค์ในฉลองพระองค์ไว้ทุกข์ดำ กำลังทรงนั่งย่อพระวรกายลงสนทนากับครอบครัวของนายเสมออย่างใกล้ชิด พร้อมคำบรรยายภาพสั้นๆ (ในลักษณะที่หนังสือพิมพ์เรียกว่า “ภาพเป็นข่าว”) วันที่ 22 ตุลา ไทยรัฐ และ ไทยเดลี่ ตีพิมพ์พระฉายาลักษณ์ของ 2 พระองค์ในพระอริยาบทเดียวกันระหว่างทรงสนทนากับลูกเสือชาวบ้านที่มาร่วมงานและเฝ้ารับเสด็จในวันบรรจุศพนายเสมอ แต่อยู่ในหน้า 4 มีเพียง เดลินิวส์ ฉบับวันนั้น ที่นอกจากตีพิมพ์พระฉายาลักษณ์ในหน้า 1 แล้ว ยังรายงานข่าวในหน้าเดียวกัน ดังนี้:

ฟ้าหญิงฯ สดุดีศพ
ลูกเสือชาวบ้าน

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองเสด็จทรงบำเพ็ญพระกุศลและบรรจุศพ “นายเสมอ อ้นจรูญ” ลูกเสือชาวบ้านที่เสียชีวิตจากการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ จากเหตุการณ์จลาจล “6 ต.ค.” ที่วัดพระศรีมหาธาตุ ท่ามกลางลูกเสือชาวบ้านร่วมพิธีกว่า 5 พันคน ทรงสดุดีวีรกรรมว่าสมควรแก่การเชิดชูเป็นแบบอย่าง

เมื่อเวลา 15.00 น. (ที่ ๒๐) สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ เสด็จทรงบำเพ็ญพระกุศลและบรรจุศพ นายเสมอ อ้นจรูญ ลูกเสือชาวบ้านรุ่นที่ 5 ค่ายวังสราญรมย์ 206/3 กทม. 70 ณ ศาลาทักษิณาประดิษฐ์ วัดพระศรีมหาธาตุ เมื่อเสด็จมาถึง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการ พระสงฆ์ 39 รูป สวดมาติกาจบแล้ว เจ้าพนักงานลาดภูษาโยง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯเสด็จไปทอดผ้าแล้วทรงหลั่งทักษิโณทก

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา ทรงกล่าวสดุดีเกียรติคุณ นายเสมอ อ้นจรูญ ว่า “การปฏิบัติหน้าที่ครั้งนี้ [เป็นไปตาม] คำสัตย์ปฏิญาณที่ได้ปฏิญาณไว้กับลูกเสือชาวบ้าน สมควรแก่การเชิดชู เพื่อเป็นตัวอย่างแก่ลูกเสือชาวบ้านต่อไปในด้านมีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์” แล้วเสด็จไปที่หน้าหีบศพ ทรงหยิบดินห่อผ้าขาวดำวางบนพานที่ตั้งหน้าหีบศพ ทรงวางพวงมาลา

ในโอกาสนี้ ทั้งสองพระองค์ เสด็จเยี่ยมลูกเสือชาวบ้านกว่า 5,000 คน ซึ่งเดินทางมาจากจังหวัดใกล้เคียง ที่มาเฝ้ารับเสด็จอย่างคับคั่งตามพระอัธยาศัยด้วย

สำหรับวีรกรรมของนายเสมอ ที่ได้ปฏิบัติจนถึงแก่เสียชีวิต คือ เมื่อวันที่ 6 ต.ค.นี้ เวลา 08.00 น. นายเสมอได้ติดตามตำรวจเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บจากการต่อสู้ ถูกฝ่ายผู้ก่อการไม่สงบระดมยิงมาจากด้านข้างหอประชุมใหญ่ ได้รับบาดเจ็บสาหัสและสียชีวิตในเวลาต่อมา
แม้มิได้ทรงอ้างอิงถึงเพลง “เราสู้” แต่การที่เจ้าฟ้าสิรินธรทรงสดุดีพฤฒิการณ์ของนายเสมอ (และโดยนัยคือลูกเสือชาวบ้านคนอื่น) ที่ธรรมศาสตร์ในเช้าวันที่ 6 ตุลา ว่าเป็น “การปฏิบัติหน้าที่” ที่ “สมควรแก่การเชิดชูเพื่อเป็นตัวอย่าง” นับว่าสอดคล้องกับเนื้อหาของเพลงอย่างมาก (เปรียบเทียบคำที่ทรงใช้ “ปฏิบัติหน้าที่” กับ “หน้าที่เรา” ในเพลง)(6)

ไม่กี่เดือนต่อมา การเชื่อมโยงระหว่างเพลงพระราชนิพนธ์ “เราสู้” กับ “การปฏิบัติหน้าที่” ในลักษณะเดียวกัน (ต่อต้านภัยของราชบัลลังก์) จะแสดงออกให้เห็นโดยตรง คือในงานพระราชทานเพลิงศพเจ้าหน้าที่ผู้เสียชีวิตจากการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ ซึ่งในสมัยที่ยังมีการต่อสู้ด้วยอาวุธในชนบทของ พคท. เป็นหนึ่งในงานประจำปีที่ทางราชการให้ความสำคัญมากที่สุด ในหลวงและพระราชินีทรงเสด็จพระราชดำเนินด้วยพระองค์เองทุกครั้งตั้งแต่ครั้งแรกในปี 2512 สำหรับปี 2520 ซึ่งเป็นปีแรกหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา และมีขึ้นในวันที่ 29 มีนาคม ทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ได้จัดพิมพ์หนังสือที่ระลึกของงานเช่นทุกปี โดยแยกเป็น 2 เล่ม เล่มหนึ่งเป็นรายชื่อและรูปถ่ายผู้เสียชีวิต, หมายกำหนดการงานพระราชทานเพลิงศพ, และคำไว้อาลัยต่างๆ อีกเล่มหนึ่ง เป็นบทความต่อต้านคอมมิวนิสม์ล้วนๆ มี 3 เรื่อง คือ “’ยิ่งปราบยิ่งมาก จริงหรือ?” (โจมตีพรรคคอมมิวนิสต์ไทย), “รอบบ้าน เมืองเรา” (โจมตีประเทศคอมมิวนิสต์อินโดจีน) และ “เนื่องจาก…6 ตุลาคม 2519” ซึ่งแก้ต่างให้กับการฆ่าหมู่และปราบปรามขบวนการนักศึกษาในวันนั้น

ที่น่าสนใจคือ ปกหน้าของหนังสือเล่มหลังนี้ นอกจากมีชื่อหนังสือซึ่งเหมือนกับเล่มแรกว่า ที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพเจ้าหน้าที่ผู้เสียชีวิตเนื่องจากปฏิบัติหน้าที่ราชการในการรักษาความมั่นคงภายใน แล้ว ยังมีรูปวาดแผนที่ประเทศไทย มีทหารตำรวจในเครื่องแบบ 3 คนถือปืนในท่าคล้ายกับกำลังเผชิญหน้าศัตรู (รูปทหารตำรวจเป็นรูปถ่าย แปะทับลงบนรูปวาด) ด้านบนสุดของรูป (เหนือรูปทหารตำรวจและแผนที่) เป็นตัวหนังสือขนาดใหญ่ ซึ่งมีสีแบบธงชาติ (3 สี 5 แถบ) ว่า “เราสู้” ในหน้าแรกสุดของหนังสือ เป็นเนื้อเพลงพระราชนิพนธ์ “เราสู้” โดยมีกระดาษใสบางๆ พิมพ์พระปรมาภิไธยย่อ “ภปร” ปิดทับ ข้างล่างเนื้อเพลงมีคำบรรยายว่า “ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่บรรดาผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติ” หลังจากนั้นเป็นเวลาหลายปี หนังสือที่ระลึกงานนี้ (เล่มบทความ) จะมีเนื้อเพลง “เราสู้” ในหน้าแรกเสมอ(7)

ความเชื่อมโยงระหว่างเพลง “เราสู้”-สถาบันกษัตริย์-การต่อต้านคอมมิวนิสม์ (หรือต่อต้านสิ่งที่ดูเป็นการ “คุกคาม” ต่อสถาบันกษัตริย์เหมือนคอมมิวนิสม์) จะแสดงออกให้เห็นอีกอย่างน่าสนใจยิ่งในเหตุการณ์สำคัญในปลายเดือนกันยายน 2520 นั่นคือ กรณีระเบิดหน้าที่ประทับที่จังหวะยะลา(8)

ประมาณ 4 โมงเย็น วันที่ 22 กันยายน 2520 ขณะที่ในหลวง พร้อมด้วยพระราชินี และพระเจ้าลูกเธอ 2 พระองค์ กำลังทรงเป็นองค์ประธานในพิธีพระราชทานรางวัลแก่โรงเรียนปอเนอะ และพระราชทานธงประจำรุ่นลูกเสือชาวบ้าน ที่สนามโรงพิธีช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ระหว่างที่ผู้ว่าราชการจังหวัดกำลังอ่านรายงานถวาย ได้เกิดการระเบิดขึ้น 2 ครั้งติดต่อกันในบริเวณที่ลูกเสือชาวบ้านซึ่งมาร่วมพิธีประมาณ 3 หมื่นคน กำลังชุมนุมเข้าเฝ้าอยู่ (ภายหลังรัฐบาลแถลงว่า ระเบิดลูกแรกห่างจากปะรำพิธีที่ทรงประทับ 55 เมตร ลูกที่สอง 110 เมตร มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 47 คน) หลังจากเกิดความชุลมุนบริเวณนั้นและพระราชพิธีชะงักลงชั่วครู่ โดยที่ดูเหมือนว่าตลอดเวลาในหลวงทรงประทับยืนอยู่กับที่ โดยมีเจ้าหน้าที่เข้ายืนล้อมรอบให้การอารักขา(9) ในหลวงได้ทรงงานต่อไป โดยมีพระราชดำรัสกับผู้มาร่วมในพิธี เดลินิวส์ เป็นหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวที่รายงานว่าเกิดอะไรขึ้นจากที่เกิดเหตุ ไม่ใช่จากการถ้อยคำในแถลงการณ์ของรัฐบาล (ดูเหมือนเพราะเป็นฉบับเดียวที่เมินเฉยต่อการขอร้องของตำรวจ)(10) ดังนี้
ในหลวงทรงมีพระราชดำรัสถึงพสกนิกรที่อยู่ในเหตุการณ์ที่จังหวัดยะลา ขอให้ทุกคนมีจิตใจเข้มแข็งไม่ตื่นเต้นต่อสถานการณ์ เปิดหูเปิดตาให้ดี ก็สามารถขจัดอันตรายเหล่านั้นได้ คนไทยไม่ว่าอยู่ภาคไหนมีจิตใจอย่างเดียวกัน คือรักษาความสงบ ใครก่อความไม่สงบเราก็ต้องป้องกัน และทรงชมเชยลูกเสือชาวบ้าน ที่ปฏิบัติตนได้อย่างดีตามที่ฝึกไว้ ขอให้ทุกคนมีความเข้มแข็ง ปลอดภัย และมีความสำเร็จทุกประการ . . . . (11)

เมื่อจบคำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ ซึ่งประทับอยู่ในโรงพิธี ทรงร้องเพลง “เราสู้” นำ จากนั้น เสียงเพลง “เราสู้” ก็กระหึ่มขึ้นมาจากเสียงของประชาชน ลูกเสือชาวบ้าน ทหาร ตำรวจ ทุกคนสงบนิ่งร้องเพลง ด้วยความตั้งใจ ลืมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อจบจากเพลง “เราสู้” เสียงเพลง “ศึกบางระจัน” ก็ติดตามมาอีกอย่างพร้อมเพรียง จากนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ฟ้าหญิงทั้งสองพระองค์ เสด็จลงจากโรงพิธีทรงเยี่ยมเยียนพสกนิกรที่เข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งไปทรงเยี่ยมผู้บาดเจ็บที่โรงพยาบาลจังหวัดยะลา เมื่อเวลา 18.55 น. ทรงเยี่ยมเยียนผู้บาดเจ็บ ที่รับการรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลดังกล่าว และทรงมีพระราชปฏิสันถานกับนายแพทย์ไพบูลย์ เวชสาน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเป็นเวลานานพอสมควร ก่อนที่จะเสด็จพระราชดำเนินกลับที่ประทับ
สิ่งที่ชวนสะดุดใจที่สุดคือ ในยาม “หน้าสิ่วหน้าขวาน” อย่างยิ่งเช่นนั้น พระเจ้าลูกเธอ 2 พระองค์ทรงระลึกถึงเพลง “เราสู้” ก่อนอื่นใด และทรงร้องนำเพลงนี้ขึ้น ผมคิดว่า เราสามารถพูดได้ว่า เมื่อเกิดระเบิดขึ้น คงไม่มีใครนึกทันทีว่าเป็นฝีมือของ “มุสลิมแยกดินแดน” ดังที่จะถูกสรุปในเดือนต่อมา (เมื่อมีการจับผู้ต้องหามุสลิม 4 คน) และพระเจ้าลูกเธอทั้ง 2 พระองค์ ตลอดจนในหลวง พระราชินี ไม่ต้องพูดถึงคนอื่นๆในที่นั้น อาจจะนึกถึงศัตรูที่เพลง “เราสู้” ถูกสร้างขึ้นมาให้เป็นเสมือนอาวุธในการต่อสู้ คือพวกคอมมิวนิสต์ก็ได้ (อย่างน้อย เหตุการณ์ร้ายในภาคใต้ที่เกี่ยวกับพระราชวงศ์ ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อต้นปีนั้น คือกรณีหม่อมเจ้าวิภาวดี รังสิต ถูกยิงสิ้นชีพตักษัยในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ขณะทรงประทับเฮลิคอปเตอร์บินอยู่เหนือบ้านเหนือคลอง อำเภอเวียงสระ สุราษฎร์ธานี ก็เป็นฝีมือของพวกคอมมิวนิสต์)(12)

แต่ไม่ว่าจะทรงนึกถึงใครหรือไม่ ผมคิดว่า เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่าเพลง “เราสู้” มีลักษณะที่เรียกว่า “กินใจ” ต่อพระเจ้าลูกเธอทั้ง 2 พระองค์ (และน่าจะต่อในหลวงพระราชินีและคนอื่นๆในที่นั้น) ทำไม? ผมคิดว่า “เราสู้” ถ่ายทอดความรู้สึกของการกำลังถูกคุกคามอย่างหนัก ระเบิดที่ดังขึ้นติดกัน 2 ครั้ง เหมือนกับการ “ขู่ฆ่าล้างโคตร” อย่างเป็นรูปธรรม ขณะเดียวกัน แม้เพลงจะกล่าวว่า “ก็ไม่หวั่น” แต่ผมคิดว่า เราสามารถตั้งคำถามได้ว่า “เราสู้” นอกจากสะท้อนความรู้สึกถูกคุกคามแล้ว ยังสะท้อนความรู้สึกตกใจกลัวด้วยหรือไม่? คงจำได้ว่า เมื่อทรงเผยแพร่กลอน “เราสู้” ครั้งแรกในช่วงวันปีใหม่ 2519 นั้น ทรงมีพระราชดำรัสเตือนพร้อมๆกันว่า “ไม่ควร. . .ตื่นตกใจจนเกินไป”(13) อาจกล่าวได้ว่า “เราสู้” เป็นการพยายามช่วยให้ไม่ “ตื่นตกใจ” หรืออย่างน้อยก็ไม่ “ตื่นตกใจจนเกินไป” นั่นเอง ผมคิดว่านี่เป็นความจริงไม่เฉพาะแต่ในเหตุการณ์ระเบิดที่ยะลาเท่านั้น แต่รวมถึงตั้งแต่ปี 2518 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เพลง “เราสู้” ถือกำเนิดขึ้น (ในรูปพระราชดำรัส) ภูมิหลังของเพลงนี้คือคลื่นความตระหนกในหมู่ชนชั้นนำไทย อันเนื่องมาจากกระแสสูงในประเทศไทยและชัยชนะในประเทศเพื่อนบ้านของขบวนการฝ่ายซ้าย

“ไม่ต้องกลัว” เป็นประเด็นที่ทรงย้ำอีกในพระราชดำรัสที่เป็นผลสืบเนื่องโดยตรงมาจากเหตุการณ์ระเบิดที่ยะลา กล่าวคือ ในวันที่ 31 ตุลาคม 2520 ได้พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายอารมย์ รัตนพันธุ์ ครูช่วยราชการส่วนการศึกษาองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา เข้าเฝ้าที่ศาลาดุสิตาลัย เพื่อรับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ โดยมีลูกเสือชาวบ้าน “หลายร้อยคน” (เข้าใจว่าจากจังหวัดเดียวกัน) ร่วมเข้าเฝ้าด้วย โอกาสนี้ได้ทรงมีพระราชดำรัสซึ่งทำให้เราได้ทราบเรื่องของ “ครูอารมย์” ว่าเป็นผู้มีบทบาทช่วยทำให้ผู้มาร่วมพิธีพระราชทานธงในขณะที่เกิดระเบิด อยู่ในความสงบ หายจากการแตกตื่นตกใจ (จึงได้รับพระราชทานเหรียญดังกล่าว) ซึ่งเรื่องนี้ไม่มีการรายงานในหนังสือพิมพ์เมื่อเกิดเหตุเลย (ไม่มีแม้แต่ชื่อ อารมย์ รัตนพันธุ์) ในหลวงทรงมีพระราชดำรัสนี้เป็นเวลาถึงเกือบ 1 ชั่วโมง ไม่เพียงแต่ทรงเล่าเหตุการณ์ระเบิดเท่านั้น ยังทรงให้คำอธิบายความหมายบางตอนของเพลง “เราสู้” เป็นครั้งแรก (และครั้งเดียว) ด้วย(14)
ก่อนอื่นขอแสดงความยินดี ต่อครูอารมย์ รัตนพันธุ์ ที่สามารถมารถมารับเหรียญรัตนาภรณ์ ต่อหน้าพี่น้องลูกเสือชาวบ้านจำนวนหลายร้อยคนในวันนี้ และขอเพิ่มเติมพฤติการณ์ต่างๆที่ได้เกิดขึ้นเป็นลำดับในวันนั้น ที่ยะลา

ตอนแรก ได้มีพิธีมอบรางวัลแก่โรงเรียนราษฎร์สอนศาสนา ซึ่งถือกันว่าเป็นพิธีการที่ทำประจำปี สำหรับให้รางวัลแก่โรงเรียนที่ปฏิบัติที่ทำการสอนดีที่ทางกระทรวงศึกษาได้สนับสนุน . . . . นอกจากนั้น ต่อไป ก็มีพิธีเกี่ยวข้องกับการมอบเข็มแก่กรรมการอิสลาม ซึ่งเป็นประเพณีว่า ผู้ที่ปฏิบัติในฐานะเป็นหัวหน้าของชาวอิสลามก็ได้รับเข็มเพื่อเป็นเครื่องหมาย . . . . .

งานที่สามในวันนั้น ก็คืองานมอบธงประจำรุ่นของลูกเสือชาวบ้าน ซึ่งท่านทั้งหลายที่เป็นลูกเสือชาวบ้านก็ทราบดีว่า ทำกันอย่างไร มีการมอบธงตามปกติ เสร็จแล้วก็มีการปฏิญาณตนตามความมุ่งหมายของลูกเสือชาวบ้านที่จะทำประโยชน์ ความสำคัญของลูกเสือชาวบ้านคือการกระทำตนให้มีประโยชน์แก่ส่วนรวม เพื่อความสงบสุข เพื่อความสามัคคี ปรองดอง เข้าใจกันดี ก็เกิดความก้าวหน้า ความปลอดภัยได้แน่นอน หลังจากมอบธงแล้ว เป็นธงที่ 9 ผู้ที่ถือธงก็กำลังกลับไปเข้าที่ ก็เกิดเสียงระเบิดขึ้นมา(15) เสียงระเบิดนั้น ในจิตใจของคนไม่ได้เห็นระเบิดก็เกิดการฉงนขึ้นมา ตอนแรกก็นึกว่าเป็นการจุดพลุ เพราะว่าบางทีก็นึกว่าถือว่า อาจจะถือว่า การได้รับมอบแล้ว เสร็จสรรพเรียบร้อย ก็ถือว่าต้องมีการยิงสลุด ในที่นี้ก็อาจถือว่าเป็นการยิงพลุ ซึ่งที่ว่าฉงนก็เพราะว่าไม่มีอยู่ในกำหนดการ แต่ต่อมาไม่ช้าไม่นานก็เห็นคนที่อยู่ทางซ้ายมือ วิ่งจากปะรำที่เป็นที่เยี่ยมราษฎร ซึ่งเต็มไปด้วยคนนับแล้วเป็นคนหลายหมื่นคน ก็วิ่งมาถึงกลางสนามหลังแถวของลูกเสือชาวบ้านที่ตั้งอยู่ นอกจาก 9 รุ่นนั้น ก็มีรุ่นพี่อีกประมาณ 20 รุ่น ทั้งหมด ก็เห็นคนที่วิ่งมาแล้วมานอนราบ ก็เห็นว่ามีอะไรผิดปกติแน่นอน และผู้ที่อยู่ทางปะรำทางซ้ายมือของเรานี้ ก็ลงหมอบเหมือนกัน ในเวลานั้น ทำให้ทุกคนก็คงต้องตระหนกตกใจอยู่ไม่มากก็น้อย ทำให้งานชงักไปสักครู่หนึ่ง แต่นายอารมย์ รัตนพันธุ์ ในฐานะวิทยากรก็ได้สั่งทางไมโครโฟนให้ตรง และให้แสดงรหัส ลูกเสือในแถวที่เริ่มจะอลเวงเล็กน้อย ต้องบอกความจริงว่าไม่ใช่ว่าลูกเสือชาวบ้านอยู่โดยไม่ได้ตกใจ ก็ตกใจเหมือนกัน แต่โดยที่มีคำสั่งให้ยืนตรง และให้แสดงรหัส ทำสัตย์ปฏิญาณ แถวนั้นก็ตรง และเข้าระเบียบขึ้นโดยทันใด และการเปล่งเสียงปฏิญาณตนก็หนักแน่นเป็นพิเศษ ทำให้จิตใจของลูกเสือชาวบ้านทุกคนมีความกล้า มีความมั่นใจ ฉะนั้น ข้อนี้เป็นข้อสำคัญ เพราะว่าไม่ได้เสียเวลา ปฏิบัติตามสิ่งที่ควรปฏิบัติ ตามที่สมควรที่จะปฏิบัติ และให้ผล หลังจากปฏิญาณตนก็ได้มีการร้องเพลงให้จิตใจเข้มแข็ง และไม่ใช่เพื่อปลุกใจเท่านั้นเอง แต่เพื่อที่จะให้เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจรวมทั้งเจ้าหน้าที่ลูกเสือชาวบ้านอื่นๆ ออกไปปฏิบัติการไปช่วยให้ประชาชนที่กำลังแตกตื่นกลับคืนไปสู่ที่ ทหารออกไปทันที ไปตรวจดูที่เกิดระเบิด ทางเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลก็ได้นำผู้ป่วยบาดเจ็บจำนวนหลายสิบคนไปโรงพยาบาลโดยเร็ว เข้าใจว่า การปฏิบัติโดยฉับพลันโดยเร็ว และตั้งใจจริง ทำให้ผู้ที่บาดเจ็บสาหัสที่สุดไม่เสียชีวิต หลังจากที่ร้องเพลงแล้ว ก็มีเวลาให้เจ้าหน้าที่ที่จะทำความเรียบร้อยขึ้นปลอบใจประชาชน ความจริง ประชาชนทั้งหลายนั้นเขาแตกตื่นเป็นธรรมดา แต่เมื่อเขาเห็นลูกเสือชาวบ้านและเจ้าหน้าที่เข้มแข็ง ก็ทำให้มีความไว้วางใจ และมีความสงบขึ้น

ต่อจากนั้น ข้าพเจ้าก็ได้พูดกับลูกเสือชาวบ้านในทำนองว่า พวกเราได้ฝึกมาดี . . . วันนั้นได้บอกกับลูกเสือชาวบ้านที่อยู่ในที่นั้นว่า วันนี้เราเจอของจริง ไม่ใช่ของเล่นๆ ไม่ใช่การฝึก โดยมากเขาว่ากัน ลูกเสือชาวบ้านชอบเล่น ขี้เล่น เอะอะก็รำวง เอะอะก็มีการแสดง ล้อกันไปล้อกันมา วันนี้เป็นของจริง คือมีเหตุการณ์ แต่เหตุการณ์นั้นเราต้องพิจารณาให้ดี พิจารณาโดยเฉียบพลัน ไม่ใช่โอ้เอ้ๆ ต้องพิจารณาว่า เมื่อกี้มีอะไร ก็บอกเขาว่ามีระเบิดเกิดขึ้น ก็ได้ยินกันทุกคน มีความอลเวง ก็เห็นกันทุกคน แต่เรายังไม่ทราบว่า เหตุจากอะไร หรือมีความเสียหายอะไรมากน้อยแค่ไหน วิธีที่ดีที่แน่นอนที่จะทำให้ไม่เกิดเสียงคือผลเสียยิ่งกว่าควรจะเป็นได้ ก็คือจะต้อง มีความเข้มแข็ง มีการเปิดหูเปิดตา อย่างให้เห็นอะไรๆแจ้งชัด ถ้าเกิดตกใจก็ตาม กลัวก็ตาม โกรธก็ตาม ก็ทำให้ไม่สามารถที่จะมีตาสว่าง ไม่สามารถที่จะคิดอะไรอย่างแจ่มแจ้ง เมื่อคิดอะไรไม่ออก เมื่อคิดอะไรไม่แจ่มแจ้ง อันตรายมาสู่เราทันที ถ้าเรามีความเข้มแข็งจริงๆ เราจะเห็นทุกอย่าง เราจะเหมือนเป็นคนที่เหมือนมีกำลังมากกว่าปกติ ถ้าเราพยายามที่จะมีความใจเย็น

เพราะฉะนั้น ตอนนั้นที่ร้องเพลงว่าเราสู้ ในที่นั้นก็เลยร้องเพลงว่าเราสู้ แล้วต่อไปเมื่อลงไปเยี่ยมลูกเสือชาวบ้าน เขาก็บอกว่าเราสู้ แต่ขอชี้แจงคำว่าเราสู้ว่าคืออะไร เพราะโดยมากเข้าใจผิด ในเพลงมีว่า เราสู้ เราสู้ทีนี่ ไม่ถอย คือสู้ที่นี่ แต่ว่าเราไม่ได้ถอย แต่เราไม่ได้รุกรานไปที่ไหน เราสู้ ในทางกายเราสู้อยู่ตรงนี้ หมายความว่า เราไม่ถอยไปทางไหน ใครจะมาไล่เราไม่ได้ เป็นสิทธิของเราที่อยู่ที่นี่ แต่ในทางใจนั้นสำคัญกว่า ในทางใจนั้น เราสู้ที่นี่ สู้ตรงนี้ ไม่ได้หมายความว่า เราจะไปคว้าเอาปืนหรือลูกระเบิดมาขว้างใส่คนอื่น สู้ด้วยใจนี้สำคัญ คือสู้ด้วยความใจเย็น ใจที่หนักแน่น สู้ที่นี่ สู้ตรงนี้ ถ้ามีอะไรอันตรายเข้ามาถึงเรา เราจะตัดสินใจได้ถูก ก็ไม่นึกว่าครูอารมย์นี่ สู้ที่นี่ สู้ตรงนี้จริงๆ เพราะว่าเห็นอะไรชัดเจน ถ้าเห็นอะไรที่ควรจะทำ ไม่ใช่ทำอะไรโดยหัวเสีย อันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ ที่อยากจะอธิบายมานานแล้วว่า คำว่าสู้ที่นี่ สู้ตรงนี้ แปลว่าอะไร รวมทั้งคำว่าสู้จนตาย คำว่าสู้จนตายนี่ ดูท่าทางแล้วมันไม่ค่อยจะดี คล้ายๆว่าเราสู้แล้ว ถ้าใครมาตีเรา เราก็ตาย ขอให้ได้ชื่อว่าสู้จนตาย ความจริง สู้ที่นี่ สู้ตรงนี้ ทั้งทางกาย ทั้งทางใจ เราไม่ต้องถามจุดมุ่งหมายของการสู้ คือสู้ที่นี่ สู้ตรงนี้ ตามสิทธิของเรา ทั้งทางกาย ทั้งทางใจ สู้จนเราตายเอง ไม่ใช่ใครมาฆ่าเรา เพราะเราเหนียว เราจะเหนียวได้ก็ด้วยใจสู้ เราใจสู้จริงๆ ใจสู้ที่มั่นคง ใจสู้ที่มั่นคงนี้ก็คือสู้ทางใจนี้ หมายความว่ามีกำลังใจที่เข้มแข็ง . . . . ตอนที่ลงไปเยี่ยมลูกเสือ ก็ได้ทำการปฏิบัติตามที่ได้ปฏิบัติมาทุกครั้ง คือ ไปปลายแถวแล้วเดินมาทักทายปราศัยผู้ที่เป็นประธานรุ่นหรือผู้ที่ถือธง ผู้ที่นั่งอยู่ ทักทั้งผู้ใหญ่ทั้งเด็กว่าเป็นยังไงบ้าง สบายดีหรือเปล่า ก็ไปเจอ ไปถามคุณยายว่า ยายนะกลัวไหม เขาบอกดิฉันไม่กลัว ดิฉันไม่กลัว แล้วก็พวกเราสู้ทั้งนั้น ก็ต้องบอกเขาว่าสู้นี่อย่างที่สู้ตะกี้นะถูกต้อง แล้วก็มีคนหนึ่งเขาถาม แล้วคุณละกลัวหรือเปล่า ก็เป็นคำถามที่ดีเหมือนกัน เพราะว่าเป็นของธรรมดา กลัวกันได้ เราถามเขาว่ากลัวไหม เขาก็ถามเราว่ากลัวไหม เป็นสิ่งที่น่ารัก เป็นสิ่งที่เขาเป็นห่วงเป็นไยว่าเราจะกลัว จะตกใจ ก็ไม่ทราบว่าจะตอบเขาอย่างไร ก็บอกว่า ก็ดูเอาเอง เมื่อตะกี้ก็ยืนอยู่ข้างบน เราก็เห็นทุกคน ทุกคนก็เห็นเรา หมายความว่า เราให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ก็ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องกลัวเลย . . .
ในทัศนะของผม ประเด็นสำคัญของพระราชาธิบายเพลง “เราสู้” ข้างต้นก็คือเรื่อง “ไม่ต้องกลัว” นี่เอง (ขอให้สังเกตที่ทรงใช้คำว่า “ไม่กลัว” หรือ “ใจที่เข้มแข็ง” หลายครั้ง) ที่ทรงแนะให้ “สู้ด้วยใจ” ไม่ใช่ “ไปคว้าเอาปืนหรือลูกระเบิดมาขว้างใส่คนอื่น” นั้น ไม่ได้หมายความว่าจะทรงปฏิเสธสิ่งเหล่านี้ “สู้ที่นี่ สู้ตรงนี้ ทั้งทางกาย ทั้งทางใจ” นั่นคือไม่ได้ทรงปฏิเสธการสู้ “ทางกาย” หรือสู้ด้วยกำลังและอาวุธ กับฝ่ายที่ “ขู่ฆ่าล้างโคตร” มิเช่นนั้น คงไม่ “ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทาน [เพลง “เราสู้”] แก่บรรดาผู้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติ” ซึ่งก่อนอื่นก็หมายถึงทหารตำรวจที่ต่อสู้ด้วยอาวุธกับคอมมิวนิสต์ (ประโยคที่เพิ่งอ้างได้รับการตีพิมพ์ควบคู่กันเสมอกับบทเพลง “เราสู้” ที่ทางราชการพิมพ์ออกเผยแพร่อย่างกว้างขวางในสมัยนั้น) และมิเช่นนั้น เราคงไม่สามารถเข้าใจท่าทีของราชสำนักต่อเหตุการณ์ 6 ตุลาดังกล่าวข้างต้น

เพลง “เราสู้” ได้รับการ “ใช้งาน” อย่างแพร่หลายในช่วงไม่กี่ปีแรกของทศวรรษ 2520 แต่พร้อมๆกับการเสื่อมถอยและสิ้นสุดของขบวนการปฏิวัติฝ่ายซ้ายในประเทศและต่างประเทศในกลางทศวรรษนั้น การ “ใช้งาน” ดังกล่าว ก็เริ่มลดน้อยและสิ้นสุดลงตามไปด้วย (เช่นเดียวกับเพลงปลุกใจของฝ่ายขวาอื่นๆ เช่น หนักแผ่นดิน) หนังสือ ที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพเจ้าหน้าที่ผู้เสียชีวิตเนื่องจากปฏิบัติหน้าที่ราชการในการรักษาความมั่นคงภายใน เลิกตีพิมพ์บทเพลงนี้ไปในปี 2529(16) ทุกวันนี้ กล่าวได้ว่า แม้จะเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ แต่ “เราสู้” ก็ไม่ถูกนำมาแสดงหรือกระจายเสียงอีก (น่าสังเกตว่า แม้แต่ในวิกฤตการณ์ภาคใต้ปัจจุบัน ก็ไม่มีความพยายามจะรื้อฟื้นเพลงนี้ขึ้นมา ในโอกาสที่ทรงพระราชทานพระราชเสาวณีย์เกี่ยวกับวิกฤตการณ์นี้เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2547 สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้ทรงโปรดเกล้าให้พิมพ์การ์ดที่มีเนื้อเพลง “ความฝันอันสูงสุด” แจกแก่ผู้มาเข้าเฝ้าทุกคน)(17) อย่างไรก็ตาม ด้วยความบังเอิญ จังหวัดหนึ่งทางภาคอีสานได้ช่วยทำให้ “เราสู้” ไม่ถึงกับสูญหายไปจากชีวิตสาธารณะอย่างสิ้นเชิง อย่างน้อยก็ในมุมเล็กๆมุมหนึ่งของประเทศ ด้วยการทำให้ “เราสู้” ที่เคยเป็นเพลง กลายเป็น “ถาวรวัตถุ” ขนาดใหญ่ที่เคลื่อนย้ายไม่ได้ขึ้นมา

กลางปี 2522 ถนนยุทธศาสตร์สายละหานทราย-ตาพระยา ที่รัฐบาลดำเนินการสร้างเป็นเวลาเกือบ 6 ปีภายใต้การโจมตีขัดขวางอย่างดุเดือดของฝ่ายคอมมิวนิสต์ ได้สำเร็จลง กองอำนาวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดบุรีรัมย์ (กอ.รมน.จว.บร.) จึงตกลงให้สร้างอนุสาวรีย์เพื่อเป็นที่ระลึกแก่ทหารตำรวจและพลเรือนฝ่ายรัฐบาลที่เสียชีวิตในการต่อสู้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์ระหว่างการสร้างทาง ที่ริมถนนสายดังกล่าว บริเวณบ้านโนนดินแดง ดำบลโนนดินแดง อำเภอละหานทราย (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอโนนดินแดง) มีพิธีวางศิลาฤกษ์อนุสาวรีย์เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2522 ใช้เวลาสร้าง 1 ปี ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2523 (ทั้ง 2 พิธี มีเปรม ติณสูลานนท์ เป็นประธาน วันที่ 26 สิงหาคม เป็นวันเกิดเปรม) ในระหว่างนั้น กอ.รมน.จว.บร. ได้ดำเนินการเพื่อตั้งชื่ออนุสาวรีย์ ดังที่บรรยายไว้ในหนังสือที่ระลึกพิธีเปิด ดังนี้

เราสู้ : ชื่ออนุสาวรีย์พระราชทาน

. . . . . .
ชื่อพระราชทาน

การที่ประชาชนและเจ้าหน้าที่ของทางราชการทั้งฝ่ายพลเรือน ตำรวจและทหารผนึกกำลังกันเข้าร่วมต่อสู้ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ซึ่งขัดขวางการก่อสร้างเส้นทางยุทธศาสตร์สายสำคัญด้วยความรักสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ด้วยความห้าวหาญและเสียสละ จนสามารถสร้างทางได้สำเร็จ และเปิดการสัญจรไปมาได้ เป็นการรวมพลังกันเข้าต่อสู้เพื่อรักษาแผ่นดินไทย และเกียรติศักดิ์ของชาวไทยไว้ด้วยชีวิต เป็นปรากฏการณ์ทำนองเดียวกับเนื้อเพลงพระราชนิพนธ์ “เราสู้” ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานแก่บรรดาผู้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติ ทั้งเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ที่รู้จักและนิยมกันอย่างแพร่หลายในหมู่พสกนิกร กอ.รมน.จว.บร. ได้ติดต่อราชเลขาธิการ เพื่อนำความกราบบังคมทูลให้ทรงทราบ และขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตใช้ชื่อ “เราสู้” เป็นชื่อของอนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นใหม่ กอ.รมน.จว.บร. ได้รับแจ้งจากราชเลขาธิการว่า ได้นำความกราบบังคมทูลทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว มีพระบรมราชานุญาตให้ใช้ชื่อ “เราสู้” เป็นชื่อของอนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นใหม่ ณ บ้านโนนดินแดง อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ได้ตามที่ขอไป การที่ทรงมีพระบรมราชาณุญาตให้ใช้ชื่อ “เราสู้” เป็นชื่ออนุสาวรีย์ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าฯแก่ กอ.รมน.จว.บร. และชาวบุรีรัมย์(18)
จนทุกวันนี้ “เราสู้” เป็นเพียงอนุสาวรีย์เดียวที่เกิดจากสงครามสมัยใหม่ของไทยไม่ว่าจะเป็นสมรภูมิในประเทศหรือนอกประเทศ ที่มี “ชื่อพระราชทาน”(19)

Thursday, October 26, 2006

เมื่อ ถวัติ ฤทธิเดช เข้าเฝ้าขอขมา พระปกเกล้า


เหตุการณ์ที่ ถวัติ ฤทธิเดช ผู้ได้ชื่อว่า “ผู้นำกรรมกรรถราง”(๑) สมัย ๒๔๗๕ ทำการฟ้องร้องพระปกเกล้าต่อศาลในข้อหาหมิ่นประมาท ได้กลายเป็นเรื่องเล่าในเชิง “ตำนาน” ในหมู่ผู้สนใจการเมืองไทยมานาน อันที่จริง “ตำนาน” เรื่องนี้ ถึงกับมีการถูกนำไปอ้างกันในบทความของนักวิชาการด้านกฎหมายผู้มีชื่อเสียง ว่าเป็นสาเหตุให้เกิดการกำหนดข้อความมาตรฐานในรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆที่ว่า “ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆมิได้”(๒) (ซึ่งไม่จริง ทั้งในแง่ที่ว่าการ “ฟ้อง” นั้นเป็นสาเหตุของข้อความดังกล่าว และในแง่ตัว “ตำนาน” เอง) ในงานเกี่ยวกับถวัติ ฤทธิเดช ของศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ เมื่อเร็วๆนี้ ได้มีการเล่าซ้ำ “ตำนาน” นี้อีก(๓) ซึ่งผมได้เขียนบทความชี้ให้เห็นว่ามี “ความไม่จริง” และ “ความตกหล่น” ในเรื่องที่เล่าต่อๆกันมา (และศิโรตม์นำมาเล่าซ้ำ) ที่สำคัญบางประการ ด้านที่ไม่จริงคือ ถวัติไม่เคยฟ้องพระปกเกล้าต่อศาลในข้อหาหมิ่นประมาท เขาเพียงแต่ให้ข่าวหนังสือพิมพ์ว่า ได้เตรียมจะ “ฟ้อง” พระปกเกล้าต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยขอให้นายมังกร สามเสน สมาชิกสภาเป็นผู้ “ฟ้อง” แทน (คือเสนอญัตติต่อสภา ถวัติเสนอเองไม่ได้เพราะไม่ใช่สมาชิก) แต่มังกรไม่ยอมทำให้ และยังไม่ทันที่ถวัติจะดำเนินการอย่างไร ข่าวที่เขาให้กับหนังสือพิมพ์ก็กระตุ้นให้รัฐบาลสั่งกรมอัยการดำเนินการฟ้องร้องเขาต่อศาลในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ส่วนด้านที่ตกหล่นของเรื่องที่เล่ากันต่อๆมาคือ กรณีนี้ในที่สุด “ลงเอย” ด้วยการที่ถวัติ ได้เข้าเฝ้าขอขมาต่อพระปกเกล้า และได้ทำฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษอย่างเป็นทางการ ซึ่งพระปกเกล้าทรง “รับขมา” และ “พระราชทานอภัยโทษ” ให้ รัฐบาลจึงตกลงถอนฟ้องถวัติ(๔)

เมื่อผมเขียนบทความดังกล่าว ผมยังค้นไม่พบข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดการเข้าเฝ้าขอขมาพระปกเกล้า ของถวัติ นอกจากทราบว่า เกิดขึ้นประมาณวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๔๗๖ ที่สงขลา (พระปกเกล้าเสด็จไปที่นั่นเมื่อเกิดกบฏบวรเดชในเดือนตุลาคม) ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่รัฐบาลเองได้เสนอญัตติให้สภาตีความรัฐธรรมนูญมาตรา ๓ (“องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการ ผู้ใดจะละเมิดมิได้”) โดยรัฐบาลได้ส่ง ม.จ.วรรณไวทยากร และพระยานิติศาสตร์ไพศาลไปเข้าเฝ้าที่สงขลาในวันเดียวกับที่มีการตีความของสภา คือ ๒๓ พฤศจิกายน เพื่อขอให้ทรงรับรองร่างญัตติตีความที่รัฐบาลทำขึ้นก่อน แล้วรายงานผลการเข้าเฝ้าโดยทางโทรเลขมายังรัฐบาล เพื่อเสนอสภาว่าทรงรับรองร่างญัตติแล้ว ในบทความ ผมเขียนว่า “ถวัติน่าจะได้เข้าเฝ้าในเวลาที่ใกล้เคียงอย่างมากกับตัวแทนรัฐบาล ‘ท่านวรรณ’ และพระยานิติศาสตร์ไพศาล” แต่ “วันที่ [ถวัติ] เข้าเฝ้าแน่นอน ไม่เป็นที่ทราบ”

บัดนี้ ผมได้พบข้อมูลรายละเอียดการเข้าเฝ้าขอขมาพระปกเกล้าของถวัติเพิ่มเติม โดยผมเพิ่งทราบว่าหนังสือพิมพ์ประชาชาติรายวันในช่วงนั้น ได้ตีพิมพ์รายงานการเข้าเฝ้าครั้งนั้น ติดต่อกันถึง ๓ ฉบับคือ จากฉบับวันจันทร์ที่ ๒๗ ถึงฉบับวันพุธที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๔๗๖ รายงานดังกล่าวส่วนใหญ่มาจากการสัมภาษณ์ถวัติเอง แต่บางส่วนอาจจะเป็นการเล่าเสริมโดย “ท่านวรรณ” ผู้ทรงเป็นเจ้าของประชาชาติและทรงอยู่ในการเข้าเฝ้าของถวัติด้วย ทั้งนี้จากรายงานของประชาชาติ ทำให้เราได้ทราบแน่นอนแล้วว่า การเข้าเฝ้าของถวัติเกิดขึ้นพร้อมกับการเข้าเฝ้าของผู้แทนรัฐบาล (“ท่านวรรณ” และพระยานิติศาสตร์ไพศาล) คือเดินทางไปด้วยกัน แต่ถ้าดูจากรายงานแล้ว คงจะแยกกันเข้าเฝ้าเป็น ๒ รอบ คือผู้แทนรัฐบาลเข้าเฝ้าตามลำพังก่อน เพื่อปรึกษาเรื่องญัตติตีความต่อสภา (ส่วนนี้ไม่มีในรายงาน) แล้ว “ท่านวรรณ” จึงนำถวัติเข้าเฝ้าอีกรอบหนึ่ง ในลักษณะเป็นการทำ “พิธีกล่าวคำขอขมาโทษ”

ผมเห็นว่า รายงานการเข้าเฝ้าขอขมาพระปกเกล้าของถวัติ ฤทธิเดช ของประชาชาตินี้ เป็นเอกสารชั้นต้นที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ทั้งยังหาอ่านได้ยากและ (ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด) ไม่เคยมีการเผยแพร่ในที่ใดมาก่อนหลังการพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ๗๓ ปีก่อน จึงขอคัดลอกมาเผยแพร่ในที่นี้ อย่างไรก็ตาม ในฐานะนักประวัติศาสตร์ ผมควรกล่าวด้วยว่า ทั้งพระราชดำรัสของพระปกเกล้าและคำกราบบังคมทูลของถวัติ เราจะต้องถือเป็นเพียงถ้อยคำในเชิง “การสร้างความชอบธรรมให้ตนเอง” (self-justification) ซึ่งเป็นธรรมดาของทุกคน และไม่จำเป็นต้องตรงกับความจริงเสมอไป

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัญหาซึ่งเป็นหัวใจของกรณีนี้ คือ ในระบอบรัฐธรรมนูญ (ประชาธิปไตย) ราษฎรสามารถ “ฟ้อง” กษัตริย์ได้หรือไม่ และฟ้องต่อใคร พระราชดำรัสของพระปกเกล้าที่ทรงอธิบายเรื่องนี้ต่อถวัติ (ดูข้างล่าง) เช่นเดียวกับญัตติตีความมาตรา ๓ ของรัฐบาลในขณะนั้น (ซึ่งทรงให้ความเห็นชอบ) แท้จริงแล้ว หาได้แก้ปัญหานี้ให้ตกไปแต่อย่างใดไม่ ที่ทรงกล่าวว่า ตาม “หลักการแห่งลัทธิรัฐธรรมนูญเท่าที่เกี่ยวกับการฟ้องร้องพระมหากษัตริย์.....พระมหากษัตริย์ไม่ทรงอยู่ในฐานะที่บุคคลจะพึงฟ้องร้องได้” นั้น ต้องนับว่าไม่ถูกต้องครบถ้วน เพราะตาม “หลักการแห่งลัทธิรัฐธรรมนูญ” การที่กษัตริย์ถูกฟ้องร้องไม่ได้ ก็เพราะกษัตริย์ไม่ทรงสามารถทำอะไรด้วยพระองค์เองได้ แต่ต้องทำตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอและเห็นชอบเท่านั้น (ซึ่งแสดงออกด้วยการ “ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ”) ถ้าจะฟ้องร้องจึงให้ฟ้องร้องผู้เสนอและเห็นชอบนั้น แต่ในกรณี “พระบรมราชวินิจฉัยเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐมนูธรรม” นั้น พระปกเกล้าทรงเผยแพร่ในพระปรมาภิไธยของพระองค์เองผู้เดียว หาได้มีการให้ความเห็นชอบและลงนามรับสนองจากคณะรัฐมนตรีแต่อย่างใด ในแง่นี้ ถ้าพูดอย่างเข้มงวดแล้ว พระองค์ทรงทำผิดทั้ง “หลักการแห่งลัทธิ” และตัวบทของรัฐธรรมนูญ จึงย่อมสมควรถูกพิจารณา (“ฟ้องร้อง”) ได้ ซึ่งอาจจะต้องให้สภาผู้แทนราษฎรดำเนินการ ในร่างญัตติตีความมาตรา ๓ ของรัฐบาล ก็กล่าวอย่างกำกวมสับสนว่า “ในกรณีอาชญา ซึ่งหากจะบังเอิญเกิดขึ้น ก็จะฟ้องพระมหากษัตริย์ไม่ได้ แต่สภามีอำนาจที่จะจัดการตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ เพื่อให้การเป็นไปโดยยุตติธรรมได้” แต่ขณะเดียวกัน ก็กล่าวด้วยว่า “สภาผู้แทนราษฎร มีอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ใช่ศาล ไม่มีอำนาจชำระคดีอาชญา.....เกี่ยวแก่พระมหากษัตริย์” โดยไม่มีใครคิดจะอธิบายว่า “กรณีอาชญา” ที่อาจจะ “บังเอิญเกืดขึ้น” ได้นั้น ได้แก่กรณีอย่างไรบ้าง? และในเมื่อสภา “ไม่มีอำนาจชำระคดีอาชญา...เกี่ยวแก่พระมหากษัตริย์” ที่ “บังเอิญเกิดขึ้น” นั้นแล้ว จะ “จัดการตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ เพื่อให้การเป็นไปโดยยุตติธรรม” ได้อย่างไร?

อาจกล่าวได้ว่า กรณีถวัติ (พยายาม / ให้ข่าวว่าจะ) “ฟ้อง” พระปกเกล้าต่อสภา แต่กลับถูกฟ้องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนี้ ในที่สุดแล้ว ทั้งรัฐบาล พระปกเกล้า และถวัติ เอง ล้วนแต่ใช้วิธี “แก้ปัญหาแบบไทยๆ” คือ “ขอขมาและเลิกแล้วต่อกันไป” (ซึ่งความจริง “การขอขมา” ไม่ได้มีกำหนดอยู่ในกฎหมายใดๆ) แม้จะมีกิจกรรมในเชิง “แก้ปัญหาแบบตะวันตก” คือการเสนอให้สภาตีความรัฐธรรมนูญ แต่ความจริง เป็นเพียงการกระทำเชิงรูปแบบที่ผิวเผิน ไม่มีการอภิปรายญัตติตีความนั้นอย่างแท้จริงในสภาเลย ทุกคนลงมติเห็นชอบกับร่างที่รัฐบาลเสนอและพระปกเกล้าทรงรับรองแล้วนั้นอย่างง่ายๆรวดเร็ว ปัญหา “พระราชอำนาจ” ในระบอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และใหม่มาก จึงถูกปล่อยไว้เป็นมรดกปัญหาสำหรับประวัติศาสตร์ยุคต่อๆมา

ประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่งที่รายงานของประชาชาติข้างล่างเป็นหลักฐานช่วยยืนยันคือ หลัง ๒๔๗๕ สิ่งที่พระปกเกล้าทรงมีความกังวลห่วงใยอย่างยิ่งเหนืออื่นใด กระทั่งเป็นเรื่องใหญ่ที่ทรงหยิบยกขึ้นมาถามถวัติ คือ ความเป็นไปได้ที่จะมีผู้คิดหรือกระทำการเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบมหาชนรัฐ (“ริปับลิค”) คือเลิกล้มกษัตริย์ ควบคู่กับความกังวลนี้คือ การที่ราชสำนักจะเป็นผู้นำในการต่อต้านสังคมนิยม–คอมมิวนิสม์อย่างแข็งขันที่สุดเรื่อยมาตั้งแต่นั้น เพราะ ดังที่ผมเขียนไว้ในที่อื่นว่า
สำหรับราชสำนัก “คอมมิวนิสม์” เป็นอันตรายไม่ใช่ต่อรัฐธรรมนูญหรือรัฐสภา (ยิ่งไม่ต้องพูดถึงต่อ “ประชาธิปไตย”) มากเท่ากับต่อการดำรงอยู่ของสถาบันกษัตริย์เอง อันตรายของคอมมิวนิสม์เท่ากับอันตรายของสาธารณรัฐนิยม (Republicanism) เพราะหลัง ๒๔๗๕ เป็นที่ชัดเจนว่า ไม่มีกลุ่มการเมืองอื่นใดที่จะเสนอให้เลิกล้มสถาบันกษัตริย์ นับจากนี้ ข้อกล่าวหา “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” กับข้อกล่าวหาคอมมิวนิสต์จะเดินคู่ไปด้วยกัน จนบรรลุจุดสุดยอดในกรณีนองเลือด ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙(๕)
ต่อไปนี้ คือรายงานเรื่องถวัติ ฤทธิเดช เข้าเฝ้าขอขมา พระปกเกล้า ในประชาชาติ วันที่ ๒๗-๒๙ พฤศจิกายน ๒๔๗๖:


เมื่อวันพุธที่ ๒๒ เดือนนี้ นายถวัติ ฤทธิเดช ได้เดินทางออกจากกรุงเทพฯไปยังสงขลา เพื่อเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงประทับอยู่ที่นั้น. ในการไปเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวในครั้งนี้ นายถวัติมีความประสงค์จะไปขอขมาต่อพระองค์ ในฐานที่นายถวัติได้ยื่นฟ้องพระเจ้าอยู่หัวต่อสภาผู้แทนราษฎร. นายถวัติได้เดินทางกลับมาถึงกรุงเทพฯเมื่อวันเสาร์ที่ ๒๕.

ในวันรุ่งขึ้น คือเมื่อเช้าวันวาน เราได้ไปพบนายถวัติ ณะ ที่สำนักสมาคมกรรมกรรถราง ได้สนทนาซักถามนายถวัติถึงเรื่องที่ได้ไปเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวมาแล้ว. นายถวัติเล่าว่า พระเจ้าอยู่หัวทรงรับคำขอขมาโทษของนายถวัติ และยังได้ทรงแสดงพระราชอัธยาศัยไมตรีเสรีนิยม โดยทรงพระราชทานโอกาสแสดงพระราชปฏิสันฐานด้วยนายถวัติเปนเวลานานเกือบ ๑ ชั่วโมง. นายถวัติได้เล่าถึงเรื่องราวที่พระเจ้าอยู่หัวได้รับสั่งสนทนา และที่นายถวัติได้กราบบังคมทูลโต้ตอบพระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัว ให้เราฟังโดยละเอียด แต่ก่อนที่เราจะเขียนถึงเรื่องนี้ต่อไป เราขอลำดับเรื่องเกี่ยวโยงถึงกันให้ผู้อ่านของเราได้ทราบเสียชั้นหนึ่งก่อน.

เมื่อราวกลางเดือนกันยายน นายถวัติ ฤทธิเดช ได้ให้นายร้อยตำรวจตรีวาศ สุนทรจามร เปนทนายความเรียบเรียงคำฟ้องพระเจ้าอยู่หัว เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร ในกรณีบันทึกพระบรมราชวินิจฉัยเกี่ยวกับการโภคกิจ. นายถวัติอ้างว่า ข้อความบางตอนในเอกสารฉะบับนั้น เปนการกล่าวร้ายถึงตัวเขาโดยที่ไม่เปนจริง.

หนังสือพิมพ์บางฉะบับ ได้นำข่าวเรื่องนี้ออกเผยแพร่แก่มหาชน และหนังสือพิมพ์หลักเมืองได้ลงข่าวเรื่องนี้โดยพิศดาร จึ่งในเวลาต่อมาเจ้าของและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์หลักเมืองได้ถูกฟ้องในฐานร่วมมือกับนายถวัติและนายร้อยตำรวจตรีวาศ สุนทรจามรทนายความด้วย. การณ์ต่อมาปรากฏว่าศาลล่างได้รับคำฟ้องจำเลยทั้ง ๔ ไว้แล้วและลงความเห็นว่าคดีมีมูล จึ่งเสนอเรื่องให้ศาลสูงดำเนินคดีต่อไป ตามที่ได้ปรากฏข่าวในหนังสือพิมพ์เมื่อเร็วๆนี้.

ต่อมาได้มีผู้ให้คำแนะนำตักเตือนแก่นายถวัติว่า การกระทำที่นายถวัติได้แสดงออกมาแล้วนั้น ไม่ชอบด้วยเหตุผลในทางความสงบของบ้านเมือง ควรที่นายถวัติจะไปเฝ้ากราบบังคมทูลขอขมาโทษต่อองค์พระเจ้าอยู่หัวเสีย. นายถวัติลงความเห็นด้วย จึ่งได้ตกลงใจกระทำการดังกล่าวแล้ว.

ในการไปเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวครั้งนี้ ท่านวรรณไวทยากร วรวรรณ และเจ้าคุณนิติศาสตร์ไพศาล เปนผู้นำไป. เดิมทีกำหนดกันว่าจำเลยทั้ง ๔ คือ นายถวัติ ฤทธิเดช นายร้อยตำรวจตรีวาศ สุนทรจามร นาย ต. บุญเทียม และนายฉิม สินธุนาวา บรรณาธิการ จะไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพร้อมกัน แต่ในที่สุดก็ได้ไปเพียง ๒ คน คือ นายถวัติ และนาย ต. บุญเทียม ซึ่งเห็นว่าเปนการเพียงพอแล้ว.

นายถวัติไปถึงสงขลาในวันที่ ๒๓ เวลาเที่ยงเศษ ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวเวลาราว ๑๖ น.ในวันนั้นเอง พร้อมด้วยนาย ต. บุญเทียม. ท่านวรรณฯทรงนำคนทั้ง ๒ เข้าเฝ้า. เมื่อพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกมารับรอง คนทั้ง ๒ ก็คุกเข่าลงถวายพานดอกไม้ธูปเทียน ท่านวรรณฯทรงขานนามคนทั้ง ๒ และทรงกล่าวคำขอขมาโทษ.

ระหว่างที่ทรงประทับอยู่ที่สงขลานั้น พระเจ้าอยู่หัวทรงประทับอยู่ที่พระตำหนักของกรมหลวงลพบุรี ณ ที่บริเวณเขาน้อย เปนตำหนักที่กว้างขวางพากพูมพอใช้. ขณะที่ทรงเสด็จออกมาพบนายถวัตินั้น ทรงฉลองพระองค์กางเกงแพรดอกสีสด และทรงเสื้อกุยเฮงแพรขาว สีพระพักตร์ในขณะนั้นตามคำบอกเล่าที่เราได้รับทราบมาดูก็เปนการแสดงพระราชอัธยาศัยอันราบรื่นดีอยู่.

เมื่อเสร็จพิธีกล่าวคำขอขมาโทษแล้ว พระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จเข้าข้างในซึ่งจัดไว้เปนที่รับรองแขก พร้อมกับมีพระราชดำรัสให้นายถวัติและนาย ต. บุญเทียม ตามเสด็จพระองค์เข้าไป โดยแสดงพระราชประสงค์ว่าใคร่จะรับสั่งสนทนาด้วย.

ภายในห้องที่ประทับนั้น ตามคำบอกเล่าของนายถวัติ ซึ่งมิได้ใช้ความสังเกตอย่างถี่ถ้วน ปรากฏว่ามีเก้าอี้ ๒ ตัว มีโต๊ะเล็กๆ ๑ ตัว มีพื้นปูลาดด้วยพรม เครื่องตกแต่งห้องมิได้เปนไปโดยวิจิตรตระการตา. มองออกไปทางประตู จะแลเห็นพวกข้าราชสำนักขวักไขว่อยู่บ้าง. นายถวัติเล่าว่า เมื่อพระเจ้าอยู่หัวยังมิได้เสด็จออก ได้แลเห็นมีผู้แอบมองดูนายถวัติตามช่องหน้าต่าง นายถวัติก็นึกครึ้มใจอยู่.

พระเจ้าอยู่หัวทรงประทับบนพระเก้าอี้ตัวหนึ่ง เก้าอี้คงว่างอยู่ตัวหนึ่ง นายถวัติ และนาย ต. บุญเทียม หมอบเฝ้าอยู่ ฉะเพาะพระพักตร์ตามแบบประเพณีไทยของเรา ห่างพระองค์พระเจ้าอยู่หัวราวหนึ่งศอกเศษ นอกจากคนทั้ง ๒ นี้แล้ว มิได้มีผู้ใดปะปนอีกภายในห้องที่ประทับนั้น. ท่านวรรณประทับอยู่ภายนอกห้อง แต่อยู่ในระยะที่จะทรงฟังพระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัวได้ถนัด.

เรื่องแรกที่พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสแก่นายถวัติก็คือ ทรงชี้แจงถึงหลักการแห่งลัทธิรัฐธรรมนูญเท่าที่เกี่ยวกับการฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ และคำชี้แจงของพระองค์นั้น นายถวัติเล่าว่าเดินทำนองเดียวกับที่ได้มีอยู่ในรายงานการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรครั้งสุดท้าย ดังที่ได้นำลงพิมพ์ในหนังสือของเราในวันนี้แล้ว ซึ่งปรากฏว่า พระมหากษัตริย์ไม่ทรงอยู่ในฐานะที่บุคคลจะพึงฟ้องร้องได้ พระเจ้าอยู่หัวยังได้รับสั่งว่า แม้ในประเทศซึ่งปกครองโดยระบอบมหาชนรัฐ (รีปับลิค) การฟ้องร้องประธานาธิบดีผู้เปนประมุข ก็ไม่เปนการที่จะพึงกระทำได้.

นายถวัติได้กราบบังคมทูลตอบว่า ตัวเขาเองจะได้จงใจกระทำการให้ออกนอกวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญนั้นหามิได้ การที่ได้ยื่นฟ้องพระเจ้าอยู่หัวนั้น ก็โดยที่สำคัญว่าเมื่อพระเจ้าอยู่หัวทรงอยู่ภายใต้กฎหมายแล้ว ก็คงทรงอยู่ในฐานะที่จะพึงฟ้องร้องได้ด้วย. อนึ่งนายถวัติมิได้มีความมุ่งหมายถึงกับจะเหนี่ยวพระองค์ให้ลงมาเกลือกกลั้วกับความผิดทางอาชญา. นายถวัติมีความประสงค์เพียงแต่จะพิศูจน์ว่า ถ้าความเข้าใจของเขาถูกต้องแล้ว ราษฎรจะฟ้องพระเจ้าอยู่หัวได้หรือไม่ ในเมื่อมีเหตุเพียงพอ. ความประสงค์ของนายถวัติอันนี้ ได้มีปรากฏอยู่ในคำให้การของเขาที่ได้ให้ไว้ต่อคณะกรรมการที่ได้ทำการไต่สวนปากคำเขาแล้ว. นายถวัติได้กราบบังคมทูลต่อไปว่า แลเมื่อได้มารับพระราชกระแสชี้แจงถึงหลักการแห่งลัทธิรัฐธรรมนูญจากพระเจ้าอยู่หัวแล้ว เขาก็ได้สำนึกว่า เขาเองได้สำคัญผิดไป โดยที่ยังหย่อนความรู้ในหลักการแห่งลัทธิรัฐธรรมนูญนั่นเอง แลการที่พระเจ้าอยู่หัวได้ทรงรับคำขอขมาโทษของเขาไว้นั้น นับว่าเปนพระมหากรุณาธิคุณยิ่งล้น.

พระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชดำรัสสืบต่อไปว่า พระองค์เองได้ยินมาว่า สมาคมกรรมกรรถรางที่ตั้งขึ้นนั้น ได้เรี่ยไรเงินจากกรรมกรคนละ ๑ บาท แล้วก็เอามาแบ่งปันกันในหมู่ผู้คิดการไม่กี่คน ซึ่งหมายถึงว่า มีนายถวัติเปนต้น. พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า วันนี้นายถวัติมาเฝ้าขอขมาโทษต่อพระองค์ท่านก็เหมาะแล้ว เพราะว่าถ้าถ้อยคำที่พระองค์ได้ทรงรับทราบมา ไม่เปนความจริง พระองค์ก็ทรงขอโทษต่อนายถวัติด้วย.

เมื่อเล่ามาถึงตอนนี้ นายถวัติพูดว่า “ผมมีความปลาบปลื้มในน้ำพระทัยของพระเจ้าอยู่หัวอย่างที่สุด. ท่านทรงขอโทษราษฎรของท่านเช่นนั้น แสดงว่าท่านทรงเปนสปอรตสแมนเต็มที่ แล้วผมได้ก้มลงกราบที่ฝ่าพระบาทของพระองค์ท่าน” เราสังเกตกิริยาการของนายถวัติเห็นว่า ในขณะนั้นนายถวัติเปนผู้ที่มีความจงรักภักดีต่อพระเจ้าอยู่หัวคนหนึ่ง.

ครั้นแล้วพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชดำรัสถึงเรื่องที่นายถวัติได้เคยมีหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทานเงินเพื่อเสียรัชชูปการ แต่พระเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงพระราชทานให้ตามความประสงค์ของนายถวัติ.

รับสั่งว่า “ฉันเข้าใจว่า แกขอเงินฉัน ๖ บาท ก็โดยมีความประสงค์จะให้เลิกเก็บเงินรัชชูปการ ฉันจะให้แกอย่างไรได้ เพราะถ้าฉันให้แก ฉันก็จะต้องให้แก่คนทุกๆคนที่มาแสดงความขัดข้องต่อฉันว่า ไม่สามารถจะเสียเงินรัชชูปการได้ ถ้าฉันไม่ให้ทั่วไป ดูก็ไม่เปนธรรม ฉันจึ่งได้งดเสีย. คนอย่างแกน่ะ ถ้าขอมาให้เข้าลู่ทางแล้ว ทำไมฉันจะไม่ให้ อย่าว่าแต่ ๖ บาทเลย ขอมา ๑๐๐ บาทฉันก็จะให้แก”

พระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำรัสว่า พระองค์ได้ทรงวางหลักในเรื่องพระราชทานเงินไว้ ๒ ข้อ ข้อ ๑. พระราชทานให้แก่พระญาติพระวงศ์ ข้อ ๒. ในเมื่อรัฐบาลของพระองค์ดำริการที่จะช่วยเหลือคนยากจน พระองค์ก็จะทรงพระราชทานทุนทรัพย์ช่วยเหลือตามควร หรือตามที่รัฐบาลได้เสนอขอมา และข้อ ๓. พระราชทานแก่ผู้ที่ทำความดีความชอบ เปนประโยชน์ใหญ่ยิ่งแก่บ้านเมือง ตามที่พระองค์มีพระราชดำริเห็นเปนการสมควร.

ในส่วนปัญหาเรื่องเงินรัชชชูปการ พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า ในสมัยราชาธิปตัยอำนาจสิทธิ์ขาดนั้น พระองค์เองก็ทรงมีพระราชดำริใคร่จะให้เลิกอยู่เหมือนกัน หากติดขัดด้วยผู้บริหารการบ้านเมืองในเวลานั้นแสดงความขัดข้องว่า ถ้าเลิกเก็บเงินรัชชูปการเสียแล้ว การเงินของรัฐบาล จะไม่ดำเนิรไปโดยสดวก เพราะว่าคนมั่งมี มีจำนวนน้อย ฉะนั้น จึ่งต้องเก็บเงินรัชชูปการพึ่งคนจนไปก่อน.

นายถวัติเห็นว่า พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งสนทนาด้วยพระราชอัธยาศัยไมตรี จึ่งได้กราบทูลว่า การเก็บเงินรัชชูปการนั้น เมื่อเปนการจำเปนแล้ว นายถวัติก็เห็นสมควร. นายถวัติไม่เห็นด้วยในข้อที่ว่า ทั้งๆที่ปรากฏว่าคนบางคนไม่มีเงินจะเสีย ยังจะต้องถูกปรับและถูกจับกุม. นายถวัติได้กราบทูลให้พระเจ้าอยู่หัวทรงทราบว่า การจับกุมผู้ไม่เสียเงินรัชชูปการไปทำงานโยธานั้น ก็เท่ากับเปนการช่วยเลี้ยงดูชาวจีนนั้นเอง เพราะผู้ที่ถูกจับกุมโดยมาก เปนจีน และคนจีนเหล่านี้พอใจอย่างยิ่ง ที่จะทำงานเพื่อแลกอาหารไปวันหนึ่งๆ. ตามที่นายถวัติทราบมานั้นว่า เมื่อพ้นกำหนดเกณฑ์ทำงานแล้ว เจ้าหน้าที่ได้ออกหนังสือรับรองให้แก่คนเหล่านี้ นายถวัติว่าได้พบจีนบางคน นำหนังสือรับรองของเจ้าหน้าที่ไปขายให้แก่ผู้ที่ยังไม่เสียรัชชูปการเปนราคา ๓ บาท แล้วจีนผู้ขายก็เตรียมพร้อมสำหรับการถูกจับอีก. การณ์เปนอยู่ดังนี้ไม่น้อย นายถวัติจึงเห็นว่า ควรงดการจับกุมผู้ไม่เสียเงินรัชชูปการไปทำงานโยธา.

เมื่อนายถวัติเล่าเรื่องอันน่าขบขันนี้จบลง พระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชดำรัสว่า “ก็ในจดหมายที่แกเขียนถึงฉันนั้น ไม่เห็นแกบอกมาโดยละเอียดอย่างนี้เลย”

ครั้นแล้ว ได้ทรงมีพระราชดำรัสต่อไปว่า พระองค์มิได้ทรงถือพระองค์ว่าทรงเปนเทวดาเลย. พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์ที่จะรับทราบข่าวสารทุกข์สุขดิบจากประชาราษฎรของพระองค์เปนเนืองนิจ และในขณะเดียวกันทรงมีพระทัยใคร่ที่จะช่วยเหลือประชาราษฎรของพระองค์ตามควรแก่โอกาศด้วย. โดยเหตุฉะนี้ พระเจ้าอยู่หัวจึ่งพระราชทานโอกาสแก่นายถวัติไว้ว่า ถ้ามีกรณีอันจะพึงกราบบังคมทูลแล้วไซร้ ก็ขอให้มีหนังสือบอกมาโดยละเอียด หรือนายถวัติจะมาเฝ้าเล่าเรื่องราวถวายด้วยตัวเอง ก็ทรงมีความยินดีต้อนรับ.

พระเจ้าอยู่หัวได้ทรงปรารภความเปนไปในการเมืองของประเทศสยามที่สำคัญบางประการแก่นายถวัติด้วย ในวันนี้หน้ากระดาษและเวลาได้บังคับให้เราเสนอพระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัวได้แต่เพียงเท่านี้ เพราะฉะนั้นจึ่งขอให้ท่านคอยอ่านตอนต่อไปในวันพรุ่งนี้อีกครั้งหนึ่ง.

ข้อความที่เราได้เรียบเรียงเสนอท่านผู้อ่านแต่เมื่อวันวานนั้น เราได้ทราบว่ามีผู้สนใจในพระคารมของพระเจ้าอยู่หัวไม่น้อย แต่ความจริงพระคารมที่เราจะเสนอต่อไปในวันนี้ ยังมีคุณค่าน่าฟังยิ่งขึ้นไปกว่า

เมื่อพระเจ้าอยู่หัวได้มีรับสั่งว่า พระองค์มิได้ถือหรือเข้าพระทัยว่าพระองค์เปนเทวดาแล้ว พระเจ้าอยู่ก็ได้ทรงมีพระราชดำรัสถามนายถวัติเปนการเปิดเผยว่า ได้มีข่าวแว่วมาถึงพระกรรณของพระองค์ว่า ได้มีผู้คิดอ่านจะเปลี่ยนการปกครองของประเทศสยาม จากระบอบรัฐธรรมนูญซึ่งมีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย เปนระบอบมหาชนรัฐ (ริปับลิค) ตามข่าวนั้นว่า นายถวัติก็เปนผู้นำในความคิดนี้ด้วยผู้หนึ่ง ก็แหละความข้อนี้ยังจะจริงเท็จประการใด.

นายถวัติได้ฟังรับสั่งดังนี้ก็ตกตลึงไป ได้กราบบังคมทูลตอบด้วยความสัตย์จริงใจว่า “ข้าพระพุทธเจ้ามิได้เคยคิดการดั่งเช่นที่ได้มีข่าวมาถึงพระองค์เช่นนั้นเลย”

พระเจ้าอยู่หัวมิได้ตรัสว่ากระไรถึงถ้อยคำของนายถวัติ แต่หากได้ทรงมีพระราชดำรัสต่อไปว่า “ฉันเองจะไม่ขัดขวาง ในการที่ประเทศสยามจะเปลี่ยนการปกครองเปนริปับลิค ถ้าว่าประชาราษฎรนิยมและเห็นว่าถึงเวลาอันควรแล้ว และประชาราษฎรของฉันโดยทั่วไป มีความรู้พอที่จะดำเนินการไปได้”

แต่พระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่า ในชั้นนี้เวลายังไม่สุกพอ ที่พระราชบัลลังก์จะไร้เสียซึ่งพระมหากษัตริย์ ประชาราษฎรของพระองค์ยังไม่ได้รับการศึกษาเพียงพอที่จะดำเนินการปกครองตามระบอบมหาชนรัฐได้. ได้รับสั่งในที่สุดว่า “ตามความเห็นของฉัน เห็นว่า ในเวลานี้ยังเปนไปไม่ได้.”

นายถวัติ ฤทธิเดช ได้กราบบังคมทูลสนองพระราชปรารภว่า ไม่แต่พระองค์พระเจ้าอยู่หัวเท่านั้นที่ทรงเห็นว่าเปนไปไม่ได้ แม้คนโดยมากก็มีความคิดเห็นเช่นเดียวกับพระองค์. นายถวัติได้กราบทูลย้ำว่า เขามิได้เคยดำริการอันปราศจากเหตุผลนี้ และภายในขอบเขตต์ที่หูตาของเขาได้สอดส่องไปถึง เขาก็มิเคยได้สดับข่าวถึงเรื่องที่จะมีผู้คิดเปลี่ยนแปลงการปกครองเปนริปับลิคเลย. นายถวัติยังได้กราบทูลด้วยว่า “การมีพระเจ้าอยู่หัวเปนประมุขของชาติแต่เพียงองค์หนึ่งเช่นนี้ ข้าพระพุทธเจ้าเชื่อว่าประชาชนมิได้รู้สึกเปนการหนักหนาอะไรสักนิดเดียว และประชาชนทั่วไปก็เห็นว่า เขาควรจะมีพระเจ้าอยู่หัวเปนประมุขของชาติ”

โดยเหตุที่นายถวัติได้กราบทูลหนักแน่นด้วยความมั่นคงทั้งกิริยาการและน้ำเสียงเช่นนี้ ดูเหมือนจะทำให้พระเจ้าอยู่หัวทรงมีความมั่นพระทัยในถ้อยคำของนายถวัติยิ่งขึ้น ดังนั้น จึ่งได้ทรงเล่าถึงความรู้สึกส่วนพระองค์ให้นายถวัติฟังต่อไป. พระเจ้าอยู่หัวทรงเข้าพระทัยว่า คนไทยทั่วไปยังมีความนิยมเลื่อมใสในพระมหากษัตริย์อยู่ เมื่อรับสั่งถึงตอนนี้ได้ทรงอ้างเหตุการณ์ประกอบ โดยทรงเล่าให้นายถวัติฟังถึงเรื่องที่ชาวสงขลาได้มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท. ในขณะที่เข้ามาเฝ้านั้น นอกจากชาวเมืองนั้นจะได้ก้มลงหมอบกราบแทบฝ่าพระบาทตามแบบประเพณีไทยแล้ว ยังได้ยกมือทั้งสองของเขาขึ้นลูบศีร์ษะเปนการแสดงความเคารพอย่างสูงสุดอีก. พระเจ้าอยู่หัวได้ตรัสถึงเรื่องนี้ด้วยพระกิริยาอันแสดงความพอพระราชหฤทัย พลางยกพระหัตถ์ทั้งสองขึ้นลูบพระเกศา เปนท่าประกอบให้นายถวัติเห็นได้ประจักษ์.

พระเจ้าอยู่หัวได้รับสั่งถึงเรื่องนี้ในตอนสุดท้ายว่า “ถึงลิเกของเราเดี๋ยวนี้ก็ยังนิยมเรื่องที่มีพระมหากษัตริย์อยู่. แกก็คงจะได้ยินเขาร้องกันบ้างไม่ใช่หรือว่า ปางพระองค์ผู้ทรงศรี พระภูมี พระราชา” เมื่อได้ทรงอ้างกลอนลิเกท่อนนี้ให้นายถวัติฟังแล้ว พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงแย้มพระสรวล.

นายถวัติได้กราบทูลรับรองอีกครั้งหนึ่งว่า ประชาชนมีความเลื่อมใสในพระมหากษัตริย์ ทั้งีนี้ได้รวมทั้งตัวเขาเองด้วย. นายถวัติได้ย้อนไปพูดถึงเรื่องที่เขาได้เคยมีหนังสือกราบบังคมทูลขอความกรุณาต่อพระเจ้าอยู่หัวในเรื่องเงินรัชชูปการและค่าเช่าห้องซึ่งอยู่ในความดูแลรักษาของพระคลังข้างที่. นายถวัติทูลว่า ตามที่ได้มีหนังสือรบกวนมานั้นด้วยความยากจนขัดสนจริงๆ นายถวัติเองไม่ได้ทำการงานที่เปนอาชีพแน่นอน ได้กระทำกิจโดยมากในทางช่วยเหลืออุ้มชูคนยากจน และในการกระทำกิจดั่งว่านั้นก็ไม่เคยเรียกร้องผลประโยชน์ตอบแทนจากคนเหล่านี้เลย. แม้กิจการของสมาคมกรรมกรรถรางที่นายถวัติได้ช่วยเหลืออุ้มชูอยู่อย่างเต็มที่นั้น นายถวัติก็มิได้เคยรับผลประโยชน์แม้แต่น้อย ถึงกระนั้นก็ยังมีผู้แต่งความว่า นายถวัติได้กินเงินเดือนของสมาคมเดือนละ ๘๐ บาท ซึ่งไม่เปนความจริง. นายถวัติได้กราบทูลให้พระเจ้าอยู่หัวทรงทราบว่า ค่าอาหารการกินของนายถวัติที่เปนเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิตอยู่ในทุกวันนี้ ก็ได้อาศัยพึ่งพาจากเพื่อนฝูง ที่ได้ช่วยเหลือเจือจานให้ปันตามสมควร.

อย่างไรก็ตาม ได้มีข่าวอกุศลอันร้ายแรงว่า การกระทำของนายถวัติในบางประการนั้น ได้รับความสนับสนุนจากบุคคลในคณะรัฐบาลและยังมีเสียงต่อไปว่า นายถวัติได้รับผลประโยชน์จากรัฐบาลอีกด้วย. คำเล่าลือทำนองนี้แต่ละล้วนเปนข้อที่จะนำมาซึ่งความแตกร้าวทั้งสิ้น นายถวัติได้กราบทูลปฏิเสธอย่างรุนแรงว่า ไม่มีมูลความจริงเลยสักนิดเดียว.

เมื่อนายถวัติเล่าถึงความเปนไปในชีวิตของเขาจบลง ดูทีพระเจ้าอยู่หัวก็จะทรงมีความเชื่อถือถ้อยคำของนายถวัติอยู่. ได้ทรงปรารภว่า เมื่อความจริงเปนดั่งที่นายถวัติได้กราบทูลให้ทรงทราบแล้ว พระองค์ก็มีความพอพระทัย และทรงคาดหมายว่า ถ้ากระนั้นข่าวต่างๆที่แว่วมาเข้าพระกรรณของพระองค์ ก็คงมาจากทางที่มั่นหมายยุแหย่จะให้เกิดขึ้นซึ่งความปั่นป่วนร้าวราน ได้รับสั่งแก่นายถวัติโดยฉะเพาะว่า “ตัวแกก็ดูมีสมัคร์พรรคพวกและมีผู้เชื่อถืออยู่ไม่น้อย ขอให้ช่วยชี้แจงพูดจาให้เปนที่เข้าใจกันเสีย อย่าให้เกิดความกินแหนงแคลงใจ หรือเกิดความเกลียดชังกันขึ้นในระหว่างคนต่างชั้นต่างฐานะ จงเอาใจสมัคร์สมานคนจนและคนมั่งมี ให้มีไมตรีจิตต์ต่อกัน”

พระเจ้าอยู่หัวดูทีจะทรงเปนห่วงใยในปัญหาเรื่องนี้อยู่มิใช่น้อย ได้ตรัสย้ำถึงความสมัคร์สมานสามัคคีอยู่หลายตอน นายถวัติก็ได้กราบทูลให้พระเจ้าอยู่หัวทรงทราบความตื้นลึกหนาบางต่างๆจนปรากฏว่าเปนที่พอพระทัย. พระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัวและคำกราบบังคมทูลของนายถวัติในเรื่องนี้ ล้วนเปนสิ่งนำมาซึ่งความเข้าใจอันดีต่อกันระหว่างคนทั้งมวล. ขอให้ท่านคอยอ่านข้อความโดยละเอียดต่อไปอีกครั้งหนึ่งในวันพรุ่งนี้.


นายถวัติ ฤทธิเดช คงจะได้สังเกตเห็นว่า พระเจ้าอยู่หัวอยู่ข้างจะมีความเปนห่วงใยในปัญหาเรื่องความสมัคร์สมานสามัคคีระหว่างคนทุกชั้นทุกเหล่าอยู่มิใช่น้อย จึ่งได้กราบทูลถึงความจริงใจในส่วนตัวเขาพร้อมทั้งความรู้สึกของเหล่าคนยากคนจนทั่วไปให้พระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบ. นายถวัติได้กราบทูลว่าในการที่เขาได้แสดงตัวเปนผู้นำของเหล่ากรรมกรนั้นจะได้เปนไปโดยความมักใหญ่ใฝ่สูง ใคร่จะรวบรวมอำนาจมาใส่ตัวเองก็หามิได้ กิจการที่เขาได้กระทำมา เท่าที่เกี่ยวกับเหล่ากรรมกร ก็มีความมุ่งหมายเพียงแต่จะรับใช้หรือโอบอุ้มคนยากคนจนตามแต่จะทำได้ เขามีความมุ่งหมายเพียงแต่จะให้คนยากคนจน สามารถที่ยังชีวิตอยู่ได้ ตามเกณฑ์แห่งมนุษยภาพ กล่าวคือให้ได้มีงานทำพอเปนเครื่องแลกเปลี่ยนอุปโภคบริโภค สำหรับประทังชีพ และด้วยความมุ่งหมายอันนี้ ก็ใคร่จะได้รับความประคับประคองส่งเสริมจากคนมั่งมีทั่วไป.

อนึ่งนายถวัติได้กราบทูลให้พระเจ้าอยู่ได้ทรงทราบว่า อันเหล่าคนยากจนนั้น แต่เพียงอาหารการกินยังมิทั่วท้อง จะอาจเอื้อมไปหมกมุ่นครุ่นคิดถึงการใหญ่ เช่นการบ้านเมืองกระไรได้ ตามปรกติคนยากจนย่อมจะคารวะนอบน้อมคนมั่งมีอยู่เปนนิจ แม้ได้รับการแสดงความปราณีอารีอารอบสักเล็กน้อย ก็จะชื่นใจไปนาน หากจะได้แสดงความขุ่นเคืองบ้างในบางคราว ก็คงจะเปนโดยได้รับความกดขี่อย่างไม่เปนธรรม หรือต้องถูกทอดทิ้งอย่างเหลือที่จะทนได้จริงๆ เพราะฉะนั้นถ้าการณ์ได้เปนไปโดยพอเหมาะพอควรแล้ว ก็เปนที่วางใจได้ว่า คนยากจนจะดำรงชีวิตอยู่ด้วยความสงบเงียบที่สุด. นายถวัติเชื่อแน่ว่า ความปั่นป่วนร้าวรานทั้งหลายที่ได้เกิดขึ้นแล้วนั้น มิได้มาจากที่ต่ำเลย แต่หากได้ยุกันมาปั่นกันมาจากที่สูงทั้งสิ้น เปนเหตุให้เกิดความกระทบกระเทือนมาถึงหมู่ชนชั้นต่ำซึ่งมิได้เคยมีความคิดเห็นเปนการใหญ่โดยอะไรเลย.

เมื่อพระเจ้าอยู่หัวทรงเข้าพระทัยในความเปนไปเหล่านี้แล้ว ก็ทรงมีความโสมนัสยินดี และตรัสย้ำถึงความสมัคร์สมานสามัคคี ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์เปนอย่างสำคัญ ที่จะผูกมัดรัดรึงหมู่ชนทั่วไป.

นายถวัติได้กราบทูลว่า ในการที่จะช่วยคนจนนั้น ถ้าได้เพ่งเล็งถึงเหล่ากสิกรก่อนอื่น ก็จะเหมาะแก่ความต้องการ. เท่าที่เปนมาแล้ว ชาวนาได้รับความเดือดร้อนเพราะเหตุมีคนกลางมาคอยตัดตอนกินแรงของเขาอยู่ ถ้าจัดการให้ชาวนาได้ติดต่อโดยตรงกับท่านที่มั่งมีหรือท่านเจ้าของทุนได้แล้ว ฐานะของชาวนาก็จะดีขึ้น.

พระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชดำรัสตอบนายถวัติว่า ในเรื่องช่วยชาวนา รัฐบาลก็ได้กระทำอยู่เปนนิจแล้ว โดยได้ขยายการจัดตั้งสหกรณ์ตามที่ได้ดำริเห็นสมควร ดั่งนี้ก็เปนการช่วยเหลือชาวนา เปนอันดีอยู่มิใช่หรือ.

นายถวัติถวายความเห็นว่า ตามความเปนจริงที่เขาได้ทราบมานั้น การจัดตั้งสหกรณ์ตั้งแต่ต้นมา ไม่ได้ทำประโยชน์ให้แก่ชาวนาที่ยากจนอย่างจริงจังเลย เพราะว่าผู้ที่จะกู้เงินจากสหกรณ์ได้ ก็จะต้องเปนผู้ที่มีหลักฐาน และผู้ที่มีหลักฐานนั้นเองได้กู้เงินจากสหกรณ์มาให้ชาวนาที่ยากจนกู้อีกทอดหนึ่ง เปนการหาผลประโยชน์และกินแรงคนยากจนนั้นเอง ถ้าได้จัดการอย่างใดอย่างหนึ่งให้ชาวนาได้ติดต่อโดยตรงกับรัฐบาล เปนต้น ในเรื่องที่นาได้แล้ว นั่นแหละนายถวัติจึ่งจะเห็นว่า จะเปนผลดีแก่ชาวนาขึ้นบ้าง.

ความเห็นของนายถวัติในตอนท้ายนี้ พระเจ้าอยู่หัวจะทรงเข้าพระทัยอย่างไรก็ตาม แต่ได้มีรับสั่งว่า ถ้ารัฐบาลจะเข้าควบคุมจัดการในเรื่องที่นา รัฐบาลก็จะต้องไม่กระทำโดยวิธีบังคับซื้อ. ได้ทรงปรารภว่า ที่นาของพระองค์เองที่มีอยู่ ก็ไม่อยากจะได้ไว้เหมือนกัน อยากจะให้มีผู้มาซื้อไปเสีย. แต่การซื้อขายนั้นก็จะต้องเปนไปตามปรกติวิสัยที่นิยมกันอยู่.

รับสั่งในตอนสุดท้ายว่า “ฉันเองไม่ใช่เปนคนโลภหรือหวงแหนในทรัพย์สมบัติอะไร ท้องของฉันก็เล็กนิดเดียว คงจะไม่ต้องการอาหารการกินกี่มากน้อย”

นายถวัติได้กราบทูลว่า เขาเองก็ไม่มีความประสงค์ที่จะให้มีการซื้อขายอันผิดไปจากปรกติวิสัยที่นิยมกันอยู่. เขาเพียงแต่ขอให้ได้มีการจัดการโดยทางใดทางหนึ่งเพื่อปลดเปลื้องเสียซึ่งการกินแรงจากชาวนาที่ยากจน ดั่งที่ได้เปนมาแล้ว หรือยังไม่เปนการดีขึ้นในทุกวันนี้.

เมื่อใกล้จะได้เวลาอันควรที่จะจบการสนทนา พระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชดำรัสแสดงความจริงในพระราชหฤทัยให้นายถวัติทราบว่า พระองค์เองมิได้ทรงมีความคิดอาลัยในสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่พระองค์ได้ทรงสละให้แล้ว เพื่อการปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญ แม้ว่าจะมีผู้เห็นผิดเปนชอบดำริการที่จะนำสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาถวายกลับคืนให้แด่พระองค์อีก พระเจ้าอยู่หัวก็จะไม่ทรงมีความนิยมยินดีด้วย และถึงอย่างไรก็จะไม่ยอมรับไว้เปนอันขาด เพราะพระองค์เองมีความพอพระราชหฤทัยเปนอย่างยิ่งแล้ว ในระบอบการปกครองที่ใช้ดำเนินการอยู่ในเวลานี้.

อนึ่งพระเจ้าอยู่หัว ยังได้ตรัสย้ำถึงความสมัคร์สมานสามัคคีเปนคำรบสุดท้ายอีกด้วย. ได้ทรงขอให้นายถวัติรำลึกถึงความจำเปนในความข้อนี้ และขอให้กระทำการประสานไมตรีจิตต์ระหว่างคนทั่วไปให้บังเกิดผลอันงดงามอย่างดีที่สุดที่จะทำได้ พลางผินพระพักตร์ไปทางนาย ต. บุญเทียม และมีพระราชดำรัสว่า หนังสือพิมพ์ก็สำคัญอยู่ จงกระทำการด้วยความรอบคอบระมัดระวัง จงหลีกเลี่ยงเสียซึ่งการลงข่าว ที่จะเปนช่องทางให้เกิดความปั่นป่วนร้าวรานขึ้น. จงตั้งใจสมัคร์สมานสามัคคีไมตรีภาพให้เปนอยู่โดยทั่วไป และอย่างแน่นแฟ้นรัดรึง.

เมื่อรับสั่งจบลง พระเจ้าอยู่หัวทรงลุกขึ้นจากพระเก้าอี้ นายถวัติและนาย ต. บุญเทียม ก็กราบลงแทบฝ่าพระบาท ครั้นแล้วพระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จเข้าข้างใน เปนอันการเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวของคนทั้งสองได้เสร็จสิ้นลง.

การที่พระเจ้าอยู่หัวทรงรับคำขอขมาโทษของคนทั้งสองไว้นั้น นับว่าเปนการส่วนพระองค์ ไม่เกี่ยวกับทางการบ้านเมือง เพราะฉะนั้นคนทั้งสองจึ่งยังคงเปนจำเลยในคดีที่อัยยการได้ยื่นฟ้องอยู่ และถ้าอัยยการไม่ถอนฟ้อง ศาลก็คงจะดำเนินการพิจารณาคดีต่อไปเปนปรกติ. แต่เมื่อปรากฏว่า พระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงถือโทษจำเลยแล้ว เราก็หวังว่า ทางบ้านเมืองจะได้กรุณาถอนฟ้องจำเลยในคดีนี้ทั้ง ๔ คน.

Monday, October 16, 2006

กรณี ถวัติ ฤทธิเดช ฟ้อง พระปกเกล้า



ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ “วันกรรมกร” ปีที่แล้ว (พฤษภาคม ๒๕๔๗) ได้ตีพิมพ์บทความประวัติชีวิตถวัดิ ฤทธิเดช ของศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ โดยเขียนโฆษณาบนหน้าปกที่เป็นรูปกำปั้นกรรมกรกำลังชูขึ้นบนพื้นหลังสีแดงอันขึงขังว่า “ฟ้องรัชกาลที่ ๗ ทรง ‘หมิ่นประมาท’! ถวัติ ฤทธิเดช ผู้นำกรรมกร” ผู้ที่พอมีความรู้ประวัติศาสตร์การเมืองสยามสมัยหลัง ๒๔๗๕ ย่อมทราบว่าข้อความโฆษณาบนปกศิลปวัฒนธรรมนี้พาดพิงถึง ๑ ในเหตุการณ์ที่สร้างชื่อเสียงในลักษณะ “ตำนาน” ให้ถวัติ นั่นคือกล่าวขานกันว่าเขาเป็นคนแรกที่กล้าขนาดฟ้องพระมหากษัตริย์ เห็นได้ชัดว่าเรื่องนี้มีความน่าสนใจจนบรรณาธิการเลือกที่จะนำมาโฆษณาบนหน้าปกมากกว่าชื่อบทความเองที่เน้นความเป็น “ผู้นำกรรมกรคนแรก” ของถวัติ(๑) ในบทความและในหนังสือเล่ม (ซึ่งบทความย่อมา) ที่ออกตามมาในเวลาไม่นานหลังจากนั้น การฟ้องพระปกเกล้านี้เป็นเพียงตอนหนึ่งซึ่งไม่ยาวนัก(๒)

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีประโยชน์อยู่บ้าง แต่การพูดถึงกรณีนี้ของศิโรตม์มีความคลาดเคลื่อนสำคัญไม่น้อยและไม่มีตอนจบ (คือไม่ได้เล่าว่ากรณีนี้ลงเอยอย่างไร) จริงอยู่เรื่องถวัติฟ้องพระปกเกล้านี้ ปัจจุบันหาหลักฐานชั้นต้นในที่สาธารณะแทบไม่ได้จริงๆ แต่เฉพาะหลักฐานที่มีอยู่ ถ้าหากจะใช้ความระมัดระวังในการวิพากษ์หลักฐานมากกว่านี้ ก็น่าจะหลีกเลี่ยงความผิดพลาดเหล่านั้นได้ (ยกตัวอย่างเช่น ประเด็นสำคัญที่ว่า ถวัติฟ้องพระปกเกล้าต่อศาลอาญา แต่ศาลไม่รับฟ้อง ตามที่ศิโรตม์เขียนนั้น แท้จริงถวัติไม่เคยฟ้องพระปกเกล้าต่อศาลอาญาแต่อย่างใด)(๓) ที่สำคัญ โดยส่วนตัวผมไม่คิดว่า การบรรยายเรื่องราวของถวัติในลักษณะ “ตำนานคนกล้า” (heroic tale) ที่ศิโรตม์ทำ ตามแบบจารีตการเขียน “ประวัติการต่อสู้ของกรรมกรไทย” อันเป็นที่นิยมในหมู่ปัญญาชน “ทวนกระแส” ซึ่งสังศิต พิริยะรังสรรค์ บุกเบิกไว้เมื่อหลายปีก่อน จะช่วยทำให้เข้าใจชีวิตของถวัติได้อย่างแท้จริง(๔) ผมเห็นด้วยว่าชีวิตของถวัติมีความน่าสนใจ แต่ก็มีความประหลาด “ไม่ลงตัว” หลายประการเกินกว่าจะจับลงไว้ในกรอบการพรรณา (narrative) เรื่อง “ปัญญาชนของชนชั้นกรรมกร” หรือ “ราษฎรผู้หาญกล้าท้าทายสมบูรณาญาสิทธิ์ไทย” ได้ (เช่นเดียวกับกรณีร่วมสมัยของนายนรินทร์ ภาษิต ซึ่งบังเอิญกำลังเป็นข่าว “ฮือฮา” พร้อมๆกับกรณีถวัติฟ้องพระปกเกล้าพอดี ด้วยการอดอาหารประท้วง จนมีข่าวว่าใกล้เสียชีวิต)

จุดมุ่งหมายของบทความต่อไปนี้คือ นำเสนอเอกสารที่เกี่ยวข้องกับกรณีอันน่าสนใจ “ถวัติ ฤทธิเดช ฟ้อง พระปกเกล้า” นี้ โดยจงใจหลีกเลี่ยงไม่สรุปล่วงหน้าว่ามีนัยยะความหมายอะไรและจำกัดการแสดงความเห็นและตีความให้อยู่ในระดับต่ำ ผมควรชี้ให้เห็นด้วยว่า หลักฐานที่เหลืออยู่ขาดความสมบูรณ์อย่างมาก โดยเฉพาะ เป็นที่น่าเสียดายว่า บันทึกการประชุมคณะรัฐมนตรีระหว่างต้นเดือนกันยายนถึงปลายเดือนธันวาคม ๒๔๗๖ ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของกรณีนี้ ปัจจุบันไม่มีเหลือเก็บอยู่ที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) แล้ว เหลือเพียงจดหมายโต้ตอบเกี่ยวกับกรณีนี้ซึ่งไม่สมบูรณ์ แต่ก็ยังให้ข้อมูลที่หาไม่ได้ในหลักฐานสาธารณะที่มีอยู่(๕)

เหตุการณ์ที่จะเล่าต่อไปนี้ ผมเรียงตามลำดับเวลาการเกิดก่อนหลัง


จุดเริ่มต้น: ข่าวถวัติจะฟ้องพระปกเกล้าต่อสภา กลางกันยายน ๒๔๗๖
กลางเดือนกันยายน ๒๔๗๖ ระหว่างวันที่ ๑๖ ถึง ๑๘ หนังสือพิมพ์หลายฉบับได้รายงานข่าวว่าถวัติ ฤทธิเดช ที่รู้จักกันในฐานะผู้นำกรรมกรรถราง (เขาก่อตั้งสมาคมรถราง) จะยื่นฟ้องพระปกเกล้าต่อสภาผู้แทนราษฎร อ้างว่าพระปกเกล้าหมิ่นประมาทตน(๖) เพราะในบันทึก “พระบรมราชวินิจฉัยเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐมนูธรรม” ที่มีการแจกจ่ายระหว่างเกิดวิกฤตการณ์เรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจเมื่อเดือนมีนาคม-เมษายน ๒๔๗๕ (ปฏิทินเก่า เทียบปัจจุบันคือ ๒๔๗๖ คือปีเดียวกับที่เรากำลังพูดถึง) มีข้อความตอนหนึ่งพาดพิงถึงผู้นำกรรมกรรถรางว่า “การที่กรรมกรรถรางหยุดงานนั้น หาใช่เกิดการหยุดเพราะความเดือดร้อนจริงจังอันใดไม่ ที่เกิดเป็นดังนี้นั้นก็เพราะมีคนยุให้เกิดการหยุดงานขึ้น เพื่อจะได้เป็นโอกาสให้ตั้งสมาคมคนงาน และตนจะได้เป็นหัวหน้า และได้รับเงินเดือนกินสบายไปเท่านั้น”

ดังที่ถวัติจะเล่าเองในภายหลัง (ดูข้างล่าง) เขาได้ยื่นฟ้องพระปกเกล้าต่อสภาผู้แทนราษฎรโดยผ่านทางมังกร สามเสน สมาชิกสภาผู้หนึ่ง แต่มังกรไม่ยอมรับ อ้างว่าทำไม่ได้เพราะขัดกับรัฐธรรมนูญฉบับ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ ที่กำลังใช้อยู่ มาตรา ๓ “องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” ไม่ชัดเจนว่าเหตุใดถวัติจึงพยายามฟ้องต่อสภาไม่ใช่ต่อศาล เข้าใจว่า เขาถือโดยอนุโลมตามรัฐธรรมนูญฉบับแรก ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ ที่มีบัญญัติในมาตรา ๖ ว่า “กษัตริย์จะถูกฟ้องร้องคดีอาชญายังโรงศาลไม่ได้ เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรจะวินิจฉัย” รัฐธรรมนูญ ๑๐ ธันวาไม่มีบทบัญญัติเรื่องฟ้องกษัตริย์ในคดีอาญาไม่ได้ หรือเรื่องให้สภาวินิจฉัยกษัตริย์แล้ว แต่ในระหว่างการพิจารณามาตรา ๓ ของรัฐธรรมนูญนี้เอง กรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้อธิบายนัยยะของการที่ “ผู้ใดจะละเมิดมิได้” คล้ายกับมาตรา ๖ เดิม คือฟ้องกษัตริย์ในคดีอาญาไม่ได้ แต่ไม่ได้พูดชัดเจนเรื่องให้สภาวินิจฉัย (เราจะกลับมาที่ประเด็นนี้ข้างหน้า) เรื่องมังกร สามเสน ไม่รับเป็นผู้เสนอฟ้องของถวัติต่อสภานี้ เข้าใจว่ารู้กันระหว่างถวัติกับมังกร ไม่ได้เป็นข่าวด้วย เพราะคงเกิดภายหลังจากถวัติให้ข่าวเรื่องจะฟ้องต่อหนังสือพิมพ์ไปแล้ว


ผู้ที่ร้อนใจต่อข่าว (๑): รัฐมนตรีมหาดไทย ๑๘ กันยายน ๒๔๗๖
ปรากฏว่า ข่าวถวัติจะฟ้องพระปกเกล้าต่อสภาสร้างความร้อนใจให้กับบางคนอย่างมาก คนแรกคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พระยาอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์ วันที่ ๑๘ กันยายน เขาเขียนจดหมายถึงพระยาพหล นายกรัฐมนตรีฉบับหนึ่ง ดังนี้
ที่ ๔๑๑/๘๐๕๐

ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย

วันที่ ๑๘ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๗๖


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เรียน นายกรัฐมนตรี

ด้วยมีหนังสือพิมพ์หลายฉะบับ ลงข่าวเรื่องนายถวัติ ฤทธิเดช ฟ้องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต่อสภาผู้แทนราษฎร ข้าพเจ้าเห็นว่า เป็นเรื่องสำคัญที่เกิดขึ้นในบัดนี้ น่าจะเป็นทางเพาะภัยให้แก่พระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตลอดจนบ้านเมืองได้อย่างไม่เคยพบเห็น ระวางนี้ ได้ให้กรมอัยยการตรวจอยู่แล้ว ข้าพเจ้าขอโอกาสที่จะได้นำมากราบเรียนในวันนี้เวลาบ่าย

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
พระยาอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์

สำหรับจดหมายราชการแล้ว จดหมายของพระยาอุดมพงศ์ฉบับนี้ต้องนับว่าใช้ถ้อยคำน้ำเสียงที่รุนแรงไม่น้อย (“เรื่องสำคัญที่เกิดขึ้นในบัดนี้”, “เพาะภัย...อย่างไม่เคยพบเห็น”) แต่ดูเหมือนพระยาพหลเองไม่ได้ตื่นเต้นร้อนใจไปด้วย เมื่อรับจดหมายแล้ว เขาเพียงแต่เขียนลงในตอนท้ายว่า “ทราบ [ลงชื่อ] พระยาพหลฯ ๑๘/ก.ย./๗๖” เท่านั้น ไม่แน่ชัดว่า ที่พระยาอุดมพงศ์ขอเข้าพบในบ่ายวันนั้น พระยาพหลได้ให้เข้าพบหรือไม่(๗)


ผู้ที่ร้อนใจต่อข่าว (๒): พระปกเกล้า ๒๘ กันยายน ๒๔๗๖
พระยาพหลอาจจะเพิกเฉยต่อพระยาอุดมพงศ์ได้ แต่ไม่สามารถเพิกเฉยต่อผู้ที่ร้อนใจต่อข่าวนี้อีกคนหนึ่งได้ ช่วงก่อนวันที่ ๒๘ กันยายน น่าจะไม่เกิน ๑-๒ วัน เขาได้เข้าเฝ้าพระปกเกล้าที่วังไกลกังวลหัวหิน (เราทราบว่ามีการเข้าเฝ้าจากจดหมายวันที่ ๑๐ ตุลาคม ของราชเลขานุการที่จะอ้างถึงข้างล่าง ส่วนวันที่เข้าเฝ้า เดาจากวันที่ของจดหมายพระยาพหลถึงประธานสภาที่กำลังจะอ้าง) ในระหว่างการเข้าเฝ้านี้ พระปกเกล้าได้มีพระราชกระแสเรื่องการฟ้องพระองค์ของถวัติ และทรงแสดงพระราชประสงค์ให้สภาทำการตีความรัฐธรรมนูญมาตรา ๓ พระยาพหลจึงต้องนำเรื่องเข้าปรึกษา ครม.แล้วมีหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร ดังนี้
ที่ ส.๔๐๓๗/๒๔๗๖

ที่ทำการคณะรัฐมนตรี วังปารุสกวัน

วันที่ ๒๘ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๗๖

นายกรัฐมนตรี เรียน ประธานสภาผู้แทนราษฎร

ด้วยคณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาลงมติให้เสนอญัตติเรื่องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสโปรดเกล้าฯว่า เรื่องนายถวัติ ฤทธิเดช จะฟ้องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น มีพระราชประสงค์จะให้สภาผู้แทนราษฎร ตีความมาตรา ๓ แห่งรัฐธรรมนูญ

จึ่งเรียนมาเพื่อท่านได้โปรดนำขึ้นปรึกษาในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรโดยด่วนด้วย.

ควรมิควรแล้วแต่จะกรุณา
(ลงนาม) พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา
นายกรัฐมนตรี


คำขอของพระปกเกล้าผ่านรัฐบาลเข้าสู่สภาครั้งที่ ๑ (๒๘ กันยายน ๒๔๗๖)
เย็นวันเดียวกันนั้น มีการประชุมสภา ญัตติด่วนของรัฐบาล “เรื่องให้สภาผู้แทนราษฎรตีความในมาตรา ๓ แห่งรัฐธรรมนูญ เนื่องจากนายถวัติ ฤทธิเดช จะฟ้องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” จึงถูกบรรจุเข้าวาระโดยอยู่ท้ายสุด เมื่อถึงเวลา ผู้ทำการแทนประธานสภาเสนอว่าก่อนจะตีความมาตรา ๓ อย่างไร จะขออ่านคำอธิบายมาตรานี้ของพระยามโนประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนุญให้ฟัง แต่ยังไม่ทันได้อ่านก็มีผู้เสนอให้เลื่อนประชุมออกไป เพราะเป็นญัตติสำคัญแต่เพิ่งได้รับบ่ายวันนั้น ยังไม่มีเวลาพิจารณาเพียงพอ ซึ่งที่ประชุมเห็นด้วย โดยตกลงว่าจะพิมพ์คำอธิบายมาตรา ๓ ของพระยามโนแจกให้ไปอ่านกันก่อน(๘)

คำอธิบายของพระยามโนดังกล่าว ให้ไว้เมื่อนำเสนอร่างรัฐธรรมนูญต่อสภา เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๔๗๕
คำว่าผู้ใดจะละเมิดมิได้นี้ เราหมายว่า ใครจะไปละเมิดฟ้องร้องว่ากล่าวไม่ได้ ถ้าอาจจะมีใครสงสัยว่าถ้าฟ้องร้องท่านไม่ได้แล้วจะทำอย่างไรเมื่อมีใครได้รับความเสียหาย ประการหนึ่งเราต้องนึกว่าที่ว่าเป็นประมุขนั้น ตามแบบเรียกว่า รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ศาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พิจารณาตัดสินความในนามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะฉะนั้นถ้าจะพูดถึงหลักกฎหมายในบางประเทศแล้ว ฟ้องร้องท่านไม่ได้ทั้งทางอาชญาและประทุษฐ์ร้ายส่วนแพ่ง แต่มีว่าถ้าท่านต้องทรงรับผิดชอบในเรื่องเงินแล้ว ก็ฟ้องร้องได้ทางพระคลังข้างที่ และที่เขียนมานี้ไม่กะทบกระเทือนสิทธิและความเสียหายของราษฎรใดๆเลย(๙)
จะเห็นว่า ขณะที่ยืนยันเหมือนมาตรา ๖ ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ใช้อยู่ ว่าฟ้องร้องกษัตริย์ในทางอาญาไม่ได้ พระยามโนไม่ได้พูดถึงการให้สภาเป็นผู้วินิจฉัยหากมีปัญหาทางอาญาเกี่ยวกับกษัตริย์เหมือนในมาตรานั้น (พูดเฉพาะกรณีแพ่ง ให้ฟ้องพระคลังข้างที่แทน) ผมเดาว่า คงเป็นเพราะ สำหรับพระยามโนผู้โน้มเอียงไปทางรัชกาลที่ ๗ ไม่น้อย การมีเรื่องทางอาญากับพระมหากษัตริย์เป็นสิ่งที่ไม่ได้อยู่ในใจเท่าไรนัก


รัฐมนตรีมหาดไทยเสนอเรื่องเข้า ครม. ๒๙ กันยายน ๒๔๗๖ ตกลงให้ฟ้องถวัติ
ในเวลาเดียวกันกับที่กระบวนการขอให้สภาตีความมาตรา ๓ ซึ่งรัฐบาลทำตามพระประสงค์ของพระปกเกล้าดำเนินไปนี้ พระยาอุดมพงศ์รัฐมนตรีมหาดไทยก็ได้มีหนังสือถึงพระยาพหลเสนอว่าอัยการมีความเห็นให้ฟ้องถวัติได้ (ขณะนั้นกรมอัยการสังกัดกระทรวงมหาดไทย) อันที่จริง เขาเสนอเรื่องนี้ก่อนที่รัฐบาลจะขอให้สภาตีความมาตรา ๓ ด้วยซ้ำ ดังนี้
ลับที่ ๔๓๕/๘๔๗๙

ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย

วันที่ ๒๖ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๗๖


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เรียน นายกรัฐมนตรี

ตามที่หนังสือพิมพ์ลงข่าวเรื่องนายถวัติ ฤทธิเดช ฟ้องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งข้าพเจ้าได้มาเรียนชี้แจงแล้วนั้น ได้ให้เจ้าหน้าที่ไต่สวนต่อมาแล้ว อัยยการเห็นว่า ควรฟ้องได้ ได้เสนอสำนวนในเรื่องนี้มาด้วย เพื่อได้รับความวินิจฉัยโดยด่วน

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
พระยาอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์

ครั้งนี้พระยาพหลเขียนสั่งท้ายจดหมายว่า “ให้เจ้าหน้าที่ทำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อวินิจฉัย [ลงชื่อ] พระยาพหลฯ ๒๗ ก.ย. ๗๖” แต่กว่าเรื่องจะถูกนำเข้า ครม.ก็เป็นการประชุมวันที่ ๒๙ กันยายน คือหลังการประชุมที่ลงมติขอให้สภาตีความมาตรา ๓ แล้ว (เพราะเรื่องนั้นมีมติไม่เกินวันที่ ๒๘) เรารู้ว่า ครม.ตัดสินใจเรื่องฟ้อง ถวัติเมื่อวันที่ ๒๙ ก็เพราะมีจดหมายยืนยัน ดังนี้
ที่ ข. ๔๐๙๑/๒๔๗๖

กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

วันที่ ๓๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๗๖


เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

หนังสือเรียนนายกรัฐมนตรี ที่ ๔๓๕/๘๔๗๙ ลงวันที่ ๒๖ เดือนนี้ เสนอสำนวนการไต่สวน หนังสือพิมพ์ลงข่าวเรื่อง นายถวัติ ฤทธิเดช ฟ้องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งอัยยการเห็นว่าควรฟ้องได้มานั้น คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาลงมติเมื่อวันที่ ๒๙ เดือนนี้ ให้อัยยการจัดการฟ้องร้องต่อไป

จึ่งเรียนยืนยันว่า

สำนวนการไต่สวนนั้น ท่านได้รับคืนไปแล้ว แต่วันที่ ๒๖ เดือนนี้

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
ธำรง
เลขาธิการคณะรัฐมนตรี

ตามคำบอกเล่าของถวัติเอง เขาถูกอัยการฟ้องในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและกบฏ เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน เรื่องนี้คงเป็นข่าวหนังสือพิมพ์ด้วย เพราะพระปกเกล้าทรงทราบ ดังจะเห็นต่อไป น่าเสียดายว่า ขณะนี้ผมยังหาเอกสารเกี่ยวกับการฟ้องร้องนี้ไม่ได้(๑๐)


คำขอของพระปกเกล้าผ่านรัฐบาลเข้าสู่สภาครั้งที่ ๒ (๕ ตุลาคม ๒๔๗๖)
ในการประชุมสภาครั้งต่อมาในเย็นวันที่ ๕ ตุลาคม ญัตติขอตีความมาตรา ๓ ซึ่งถูกเลื่อนการพิจารณามาจากครั้งก่อนได้ถูกกำหนดให้อยู่ในวาระการประชุมอีก แต่พระยาพหลได้ลุกขึ้นพูดเสนอตั้งแต่เริ่มประชุมว่า “ข้าพเจ้าขอให้พิจารณา คือเอาเรื่องที่บอกให้สภาผู้แทนราษฎรตีความในมาตรา ๓ แห่งรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสุดท้าย เพราะมีญัตติอื่นๆที่จะต้องพิจารณาก่อน คือพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์และเรื่องการภาษี” ผมคิดว่านี่เป็นหลักฐานอีกอันหนึ่ง (นอกจากท่าทีต่อจดหมายพระยาอุดมพงศ์ฉบับแรก) ที่สนับสนุนว่าพระยาพหลเอง ไม่ถึงกับกระตือรือร้นต่อเรื่อง “ถวัติฟ้องพระปกเกล้า-ตีความมาตรา ๓” ทั้งหมดนี้นัก ยิ่งกว่านั้น หลังจากที่ประชุมอภิปรายพระราชบัญญัติ ๒-๓ ฉบับก่อนจนหมดวาระตามที่เขาเสนอเอง เขาก็สนับสนุนให้เลื่อนการตีความมาตรา ๓ ออกไปโดยไม่มีกำหนด(๑๑)

แต่ก่อนที่สภาจะได้เข้าสู่วาระประชุมปรกติตามข้อเสนอของพระยาพหล ประธานสภาได้หยิบเอาจดหมายของถวัติ ฤทธิเดช ลงวันที่ ๔ ตุลาคม มาปรึกษาที่ประชุม ดังนี้
ประธานสภาฯ กล่าวว่า ตามที่ท่านนายกรัฐมนตรีขอร้องเรื่องญัตติด่วนให้พิจารณาก่อน [หมายถึงพระราชบัญญัติ ๒-๓ ฉบับ – สมศักดิ์] ส่วนเรื่องตีความในมาตรา ๓ ขอรอเอาไว้เป็นเรื่องสุดท้าย แต่ก่อนที่จะลงมติอนุญาต ข้าพเจ้าอยากเสนอให้สมาชิกทราบว่า ข้าพเจ้าได้รับหนังสือจากนายถวัติ ฤทธิเดช วันนี้เวลา ๑๒ นาฬิกาเรื่องหนึ่ง มีใจความว่า

สมาคมกรรมกรรถรางแห่งสยาม
วันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖

กราบเรียน ท่านเจ้าพระยาพิชัยญาติ ประธานสภาผู้แทนราษฎร

เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงบริภาษใส่ความเป็นการหมิ่นประมาทข้าพเจ้าในหนังสือที่ชื่อ บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยเรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐมนูธรรม ข้าพเจ้าจึงเป็นโจทก์ยื่นฟ้องทางสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้นำเสนอสภาผู้แทนราษฎรวินิจฉัย แต่นายมังกร สามเสน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่งฟ้องกลับคืนมายังข้าพเจ้า โดยอ้างเหตุว่า ขัดต่อมาตรา ๓ แห่งรัฐธรรมนูญ

ครั้นเมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. นี้ กรมอัยยการกลับเป็นโจทก์ฟ้องหาข้าพเจ้ากับพวกว่า หมิ่นพระบรมเดชานุภาพและเป็นกบฏต่อศาลโปรีสภาที่ ๑ คดีนี้ยังอยู่ในระหว่างไต่สวน

บัดนี้ ข้าพเจ้าทราบว่าสภาผู้แทนราษฎร จะได้ประชุมวินิจฉัยตีความในมาตรา ๓ แห่งรัฐธรรมนูญ ข้าพเจ้าจึงขอเสนอคำแถลงการณ์เปิดคดี ซึ่งข้าพเจ้าให้ทนายของข้าพเจ้าเตรียมทำไว้เพื่อยื่นฟ้องต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้ง ๗๐ ท่าน แต่ต้องระงับไว้ก่อน เพราะอัยยการกลับเป็นโจทก์ ฟ้องข้าพเจ้ากับพวกดังกราบเรียนมาแล้ว

ข้าพเจ้าขอให้ถือว่าคำแถลงการณ์เปิดคดีนี้เป็นคำแถลงของข้าพเจ้าในการที่โต้แย้งคัดค้านความในมาตรา ๓ แห่งรัฐธรรมนูญซึ่งไม่คุ้มครองพระมหากษัตริย์ ในเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงทำผิดและผู้ถูกประทุษฐร้ายหรือเสียหายมีอำนาจฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ได้

ข้าพเจ้าขอความกรุณาพระเดชพระคุณ ได้โปรดนำคำแถลงการณ์ของข้าพเจ้าซึ่งส่งมาพร้อมกับเรื่องราวฉะบับนี้ แจกจ่ายแด่ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้ง ๗๐ ท่านเพื่อพิจารณาด้วย จักได้สิ้นวิมุติกังขาในเรื่องพระมหากษัตริย์อยู่ใต้กฎหมายกันเสียที

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
(ลงนาม) นายถวัติ ฤทธิเดช

บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยเรื่องนี้จะให้แจกได้หรือไม่

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องนี้ให้แจกแก่สมาชิกทั้งหลายได้ แล้วเอาไว้พิจารณาคราวหน้า
ผมไม่แน่ใจว่า “บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยเรื่องนี้” ที่ประธานสภาพาดพิงถึงตอนท้าย หมายถึงอะไร? พระราชบันทึกของพระปกเกล้าเกี่ยวกับมาตรา ๓ ซึ่งทรงพระนิพนธ์ขึ้นใหม่? เราไม่มีหลักฐานเรื่องนี้เหลืออยู่

ผมอยากตั้งข้อสังเกตในที่นี้เกี่ยวกับจดหมายถึงประธานสภาของถวัติข้างต้น จะเห็นว่าในจดหมายนี้ ถวัติได้ยืนยันข้อเท็จจริง ๒ ประการคือ (๑) เขาตั้งใจจะฟ้องว่าพระปกเกล้าหมิ่นประมาทเขาต่อสภาไม่ใช่ต่อศาล และ (๒) ที่เขากล่าวว่า "ความในมาตรา ๓ แห่งรัฐธรรมนูญ...ไม่คุ้มครองพระมหากษัตริย์ ในเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงทำผิดและผู้ถูกประทุษฐร้ายหรือเสียหายมีอำนาจฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ได้" เขาจึงต้องการให้หมายถึง "ฟ้องร้องพระมหากษัตริย์" ต่อสภา "ได้" ซึ่งก็คือสิ่งที่เขากำลังพยายามทำ

ในที่ประชุมสภาวันที่ ๕ ตุลาคม หลังจากประธานอ่านจดหมายของถวัติแล้ว ที่ประชุมก็ใช้เวลาถกเถียงกันอยู่นานว่า ควรจะอนุญาตให้แจก “คำแถลงการณ์เปิดคดี” ของถวัติหรือไม่ (คือ “คำฟ้อง” พระปกเกล้าที่เขาเตรียมไว้ตอนแรก แต่มังกรไม่รับ น่าเสียดายว่าเอกสารนี้ก็หาไม่ได้แล้วเช่นกัน) ในที่สุด ตกลงร่วมกันว่า การเสนอเรื่องเข้ามาในสภาต้องเสนอผ่านสมาชิก (เสนอแล้วยังต้องให้ที่ประชุมโหวตว่าจะรับหรือไม่) “แถลงการณ์เปิดคดี” ของถวัติที่พยายามเสนอเข้ามา ไม่มีใครยอมเป็นผู้เสนอให้ รวมทั้งตัวประธานสภาด้วย จึงเข้ามาไม่ได้เลย (ยังไม่ต้องถึงขั้นโหวตว่าที่ประชุมจะรับหรือไม่)(๑๒)

เมื่อผ่านเรื่องความพยายามเสนอของถวัติที่จะเสนอเอกสารฟ้องพระปกเกล้าของเขาไปแล้ว ที่ประชุมสภาครั้งนั้นก็หันเข้าสู่วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ ๒-๓ ฉบับ แต่ดังที่กล่าวแล้ว หลังจากนั้นแทนที่จะกลับมาพิจารณาตีความมาตรา ๓ ตามที่รัฐบาลยื่นเป็น “ญัตติด่วน” และค้างไว้ตั้งแต่สัปดาห์ก่อน รัฐบาลเองก็ขอเลื่อนออกไปโดยไม่มีกำหนด


จดหมายจากพระปกเกล้าถึงพระยาพหล ทวงถามเรื่องการตีความรัฐธรรมนูญ ๑๐ ตุลาคม ๒๔๗๖
ผมคิดว่า ในส่วนของรัฐบาล (หรืออย่างน้อยคือตัวพระยาพหล) คงอยากจะลืมเรื่องการตีความมาตรา ๓ ไปเลย สำหรับกรณีถวัติ ก็ถือว่าได้ยื่นฟ้องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไปแล้ว ก็คงอยากปล่อยให้เป็นเรื่องในศาลไปเรื่อยๆ แต่เรื่องไม่ยอมหายไปง่ายๆ อย่างน้อยพระปกเกล้าไม่ทรงถือว่าเป็นเรื่องที่ควร “เลื่อน” ออกไปอย่างไม่มีกำหนดแบบรัฐบาล วันที่ ๑๐ ตุลาคม จึงทรงให้ราชเลขานุการในพระองค์มีจดหมายถึงพระยาพหลฉบับหนึ่ง ดังนี้
ที่ ๓๔๙/๑๖๖๕

กรมราชเลขานุการในพระองค์
หัวหิน

วันที่ ๑๐ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๗๖


เรียน พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี

มีพระราชดำรัสเหนือเกล้าฯว่า ตามที่ได้มีพระราชดำรัสแก่ท่านเมื่อมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทที่สวนไกลกังวลครั้งสุดท้าย ขอให้คณะรัฐมนตรีเสนอญัตติในสภาผู้แทนราษฎร ให้ลงมติแปลความหมายของความในมาตรา ๓ แห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อจะป้องกันการที่มีบุคคลบังอาจฟ้องร้องให้เป็นที่เสื่อมเสียพระบรมเดชานุภาพ ท่านได้รับสนองพระราชกระแสว่า จะรีบจัดการเป็นการด่วนนั้น เวลาก็ล่วงเลยมาหลายวันแล้ว ยังมิได้ทรงทราบผลว่าสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติประการใด การที่รัฐบาลได้ให้อัยยการฟ้องนายถวัติ ฤทธิเดชกับพวก ฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและกบฏนั้น ก็เป็นแต่แก้ปัญหาปัจจุบันฉะเพาะเรื่องเท่านั้น ตราบใดสภาผู้แทนราษฎรยังมิได้แปลความหมายในมาตรา ๓ แห่งรัฐธรรมนูญให้เด็ดขาดไปว่า บุคคลจะฟ้องพระมหากษัตริย์ได้หรือไม่ ก็ยังอาจมีเรื่องเช่นนี้ได้เสมอ ทรงพระราชดำริว่า ปัญหาเรื่องนี้เป็นปัญหาสำคัญที่สุดสำหรับพระเกียรติยศ ทรงหวังพระราชหฤทัยว่าสภาผู้แทนราษฎรจะถวายความเคารพโดยลงมติว่า ผู้ใดจะบังอาจฟ้องร้องพระมหากษัตริย์มิได้เป็นอันขาด แต่ถ้าหากสภาผู้แทนราษฎร ลงมติเปิดโอกาสให้บุคคลฟ้องพระมหากษัตริย์ได้แล้ว ก็จะเป็นการยากที่จะทรงรักษาพระเกียรติยศให้สมควรแก่ประมุขแห่งชาติ และจะน่าเสียใจอย่างยิ่ง

บัดนี้ ใกล้ถึงกำหนดเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพฯ เพื่อพระราชทานพระกฐินตามที่กำหนดไว้ว่าวันที่ ๑๑ เดือนนี้แล้ว ยังมิได้ทรงรับรายงานจากท่านเลย เพียงแต่ได้ทรงทราบจากหนังสือพิมพ์ข่าวว่าคณะรัฐมนตรีได้เสนอญัตตินี้แล้ว แต่สภาผู้แทนราษฎรลงมติให้เลื่อนไปพิจารณาคราวหลัง ซึ่งดูเหมือนหนึ่งว่าการพิจารณาพระราชบัญญัติต่างๆในวันนั้น สำคัญยิ่งกว่าพระเกียรติยศพระมหากษัตริย์ ยังไม่มีกำหนดว่าสภาจะลงมติเด็ดขาดเมื่อไร การที่จะเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพฯในเวลาที่ยังมิได้ทรงทราบฐานะของพระองค์โดยแน่ชัดเช่นนี้ ย่อมไม่พึงปรารถนา จึงโปรดเกล้าฯให้งดการเสด็จพระราชดำเนินกลับไว้ก่อน จนกว่าจะได้รับรายงานเป็นทางราชการว่าสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติแปลความในมาตรา ๓ แห่งรัฐธรรมนูญ ให้เป็นที่พอพระราชหฤทัยสมพระเกียรติยศแล้ว

วิบูลสวัสดิ์วงศ์
ราชเลขานุการในพระองค์

เห็นได้ชัดว่าทรงให้ความสำคัญกับประเด็นนี้มากกว่าที่รัฐบาลให้อย่างมาก ถึงกับทรงใช้เป็นข้ออ้างไม่เสด็จกลับมาพระราชทานกฐิน อย่างไรก็ตาม จดหมายฉบับนี้ถึงกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในเย็นวันที่ ๑๑ ตุลาคม นอกจากเจ้าหน้าที่ในกรมแล้ว ยังไม่ทันที่คนในรัฐบาลจะมีโอกาสรับรู้ ก็เกิดเหตุการณ์ใหญ่ชนิดคอขาดบาดตายขึ้นก่อน กบฏบวรเดชเริ่มขึ้นในเวลาเดียวกับที่จดหมายฉบับนี้มาถึงพอดี(๑๓)


กบฏบวรเดชอ้างกรณีถวัติฟ้องพระปกเกล้า ๑๑ ตุลาคม ๒๔๗๖
เมื่อกบฏบวรเดชยกกำลังเข้าประชิดกรุงเทพที่บางเขนเมื่อเย็นวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๔๗๖ นั้น ได้หยิบเอากรณีถวัติฟ้องพระปกเกล้า (ซึ่งความจริงเป็นเพียงข่าว) มาเป็นข้ออ้างอธิบายการกระทำของพวกเขาอย่างหนึ่งด้วย (อีกข้อหนึ่งคือการที่รัฐบาลเอาปรีดีกลับมาเป็นรัฐมนตรี) รัฐบาลตัดสินใจสู้กับกบฏ พร้อมกันนั้น ก็ได้ส่งโทรเลขฉบับหนึ่งลงวันที่ ๑๒ ตุลาคม ถึงพระปกเกล้าที่หัวหิน
ขอเดชะ ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม

ด้วยเมื่อเย็นวานนี้ ทหารช่างอยุธยาเคลื่อนมาถึงบางเขน และนครราชสีมาเคลื่อนมาถึงดอนเมือง เมื่อ ๑๔ นาฬิกาเศษวันนี้ พระแสงสิทธิการ นำหนังสือนายพันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม มายื่น มีใจความว่า คณะรัฐบาลนี้ปล่อยให้คนลบหลู่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และเอาหลวงประดิษฐมนูธรรมกลับเข้ามาเพื่อดำเนินการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ต่อไป จึงขอให้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งภายใน ๑ ชั่วโมง ถ้ามิฉะนั้นจะใช้กำลังบังคับ และจะเข้ายึดการปกครองชั่วคราว จนกว่าจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่ ซึ่งไม่มีนายทหารเข้าเกี่ยวข้องด้วย

โดยที่ข้อหาสองข้อนี้ไม่มีความจริง รัฐบาลได้รีบสั่งฟ้องผู้ลบหลู่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และได้วางหลักประกันไว้แล้วว่า หลวงประดิษฐมนูธรรมจะไม่เป็นคอมมิวนิสต์ดังที่ทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทอยู่แล้ว.....(๑๔)

คำขอของพระปกเกล้าผ่านรัฐบาลเข้าสู่สภาครั้งที่ ๓ (๒๓ พฤศจิกายน ๒๔๗๖)
หลังการกบฏสิ้นสุดลง เจ้าหน้าที่ในกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ตรวจพบจดหมายของราชเลขานุการในพระองค์ข้างต้น และได้เสนอให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรี (หลวงธำรง) รับรู้ ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า จดหมายฉบับดังกล่าว ได้นำไปสู่การตัดสินใจของคณะรัฐมนตรีอย่างไรหรือไม่ มีเพียงลายมือของเจ้าหน้าที่บันทึกไว้ว่า “เสนอเลขาธิการ หนังสือฉะบับนี้รับไว้ตั้งแต่วันที่ ๑๑ ตอนเย็น ตั้งใจไว้ว่าจะเสนอวันที่ ๑๒ แต่พอเกิดเรื่องจึงมิได้เสนอ เพิ่งได้ตรวจดูวันนี้ [ลงชื่อ] ชำนาญอักษร ๑๘/๗/๗๖” และ “เลขาธิการมีบัญชาให้รวมเรื่องไว้ [ลงชื่อ] ชำนาญอักษร ๑๘/๗/๗๖” (เดือน ๗ ตามปฏิทินเก่า คือตุลาคม)

ประมาณ ๑ เดือนต่อมา ในวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๔๗๖ รัฐบาลได้เสนอญัตติขอให้ตีความรัฐธรรมนูญมาตรา ๓ เข้าสู่สภาอีกเป็นครั้งที่ ๓ ครั้งนี้ รัฐบาลได้เตรียมร่างการตีความที่ต้องการให้สภาลงมติรับรองไว้ล่วงหน้า:

ญัตติตีความมาตรา ๓ แห่งรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรสยาม

สภาผู้แทนราษฎร มีอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ใช่ศาล ไม่มีอำนาจชำระคดีอาชญา หรือแพ่ง เกี่ยวแก่พระมหากษัตริย์

ในกรณีแพ่ง การฟ้องร้องในโรงศาล ให้ฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัง

ส่วนในกรณีอาชญา ซึ่งหากจะบังเอิญเกิดขึ้น ก็จะฟ้องพระมหากษัตริย์ไม่ได้ แต่สภามีอำนาจที่จะจัดการตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ เพื่อให้การเป็นไปโดยยุตติธรรมได้
ก่อนจะนำเสนอต่อสภา รัฐบาลยังได้ให้พระยานิติศาสตร์ไพศาล กับหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร ไปเข้าเฝ้าพระปกเกล้าที่สงขลา (ทรงย้ายที่ประทับไประหว่างเกิดกบฏ) กราบบังคมทูลเสนอร่างการตีความนี้ให้ทรงรับรองก่อน พระยานิติศาสตร์กับ “ท่านวรรณ” ได้โทรเลขผลของการเข้าเฝ้ามายังรัฐบาลในวันที่ ๒๓ นั้นเองว่า “ร่างญัตติตีความมาตรา ๓ นั้นโปรดแล้ว [ลงชื่อ] นิติศาสตร์ วรรณไวทยากร” (๑๕)

เมื่อถึงเวลาประชุมสภา หน้าที่การนำเสนอญัตติในนามรัฐบาลครั้งนี้ตกเป็นของปรีดี พนมยงค์ (เขาเพิ่งกลับจากการถูกบังคับให้ออกนอกประเทศระหว่างวิกฤติเค้าโครงการเศรษฐกิจ ถึงสยามเมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๔๗๖ และได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีวันที่ ๑ ตุลาคม จึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีถวัติฟ้องพระปกเกล้า-ตีความมาตรา ๓ ในตอนต้น) เขาเริ่มต้นอย่างน่าสนใจ ดังนี้
มีเรื่องที่จะเสนออีกเรื่องหนึ่งซึ่งข้าพเจ้าได้รับฉันทะจากคณะรัฐมนตรีให้มาแถลงให้ที่ประชุมทราบ คือเรื่องความบาดหมางและความมัวหมองต่างๆอันเกี่ยวกับเรื่องกบฏเกิดขึ้นครั้งนี้ เป็นเรื่องเร้าใจให้ข้าพเจ้าอยากแถลงความจริงต่อที่ประชุม เรื่องนี้พวกเราเองต้องการจะสมานสามัคคีปรองดองให้มีขึ้นในระหว่างราษฎรและถึงแม้ในพระมหากษัตริย์ก็เหมือนกัน เราพยายามป้องกันจนสุดความสามารถ และให้เกียรติยศอันสูงเพื่อมิให้พระองค์ได้ทรงรับความมัวหมองไปด้วย ฉะนั้นจึงเห็นว่าสภาฯนี้ควรจะตีความในมาตรา ๓ แห่งรัฐธรรมนูญ(๑๖)
ผมคิดว่า นี่คือคำอธิบายว่าเหตุใดครั้งนี้รัฐบาลจึงมีความจริงจังที่จะให้มีการตีความออกมา ต่างจาก ๒ ครั้งก่อนหน้านั้น พูดง่ายๆคือ กบฏบวรเดชทำให้รัฐบาลรู้สึกจำเป็นมากขึ้นที่จะต้องพยายามมีสัมพันธ์อันดีกับกษัตริย์ จึงหวังว่าการตีความนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างความสัมพันธ์นั้น แม้ปรีดีไม่ได้พูดออกมา แต่เราอาจกล่าวได้ว่า รัฐบาลรู้สึกสั่นคลอน (vulnerable) จากการกบฏ (หรืออย่างน้อยก็ตัวปรีดีเอง สังเกตคำของเขาที่ว่า “กบฏเกิดขึ้นครั้งนี้ เป็นเรื่องเร้าใจให้ข้าพเจ้าอยากแถลงความจริงต่อที่ประชุม”)

หลังจากนั้น ปรีดีได้อธิบายการตีความมาตรา ๓ ด้วยถ้อยคำที่ไม่ต่างกับร่างญัตติที่เตรียมไว้นัก ที่น่าสังเกตคือ แทบไม่มีการอภิปรายจากสมาชิกสภาเลย ความจริง ข้อเสนอของรัฐบาลถ้าอภิปรายซักถามกันจริงๆ น่าจะเห็นช่องว่างและปัญหาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่ว่า “ในกรณีอาชญา ซึ่งหากจะบังเอิญเกิดขึ้น ก็จะฟ้องพระมหากษัตริย์ไม่ได้ แต่สภามีอำนาจที่จะจัดการตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ เพื่อให้การเป็นไปโดยยุตติธรรมได้” นั้น หมายความว่าอย่างไร? คดีอาญาประเภทไหนบ้างที่อาจจะ “บังเอิญเกิดขึ้น” ได้? ในลักษณะใด? ถ้า “สภาไม่ใช่ศาล ไม่มีอำนาจชำระคดี” แล้วจะ “จัดการ...โดยยุตติธรรม” ด้วยวิธีใด? “ตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ” ในที่นี้ คืออย่างไร? ดูเหมือนว่าในสถานการณ์ขณะนั้น แทบทุกคนอยากจะช่วยรัฐบาล “สมานสามัคคีปรองดอง” กับพระมหากษัตริย์ และไม่ต้องการเพิ่มปัญหาด้วยการพิจารณาญัตตินี้อย่างละเอียดเข้มงวด ในความเป็นจริง ข้อเสนอตีความของรัฐบาลครั้งนี้ แทบไม่มีอะไรใหม่เลย ถ้าไม่นับเรื่องคดีแพ่งที่เพิ่มขึ้นมาว่าให้ฟ้องกระทรวงวัง ส่วนใหญ่ก็คือมาตรา ๖ ในรัฐธรรมนูญฉบับแรกนั่นเอง และไม่ต่างอะไรกับคำอธิบายของพระยามโนเมื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ๑๐ ธันวาเอง (ยกเว้นเรื่องให้สภา “จัดการ” ซึ่งกลับไปหามาตรา ๖ และเปลี่ยนจากพระคลังข้างที่เป็นกระทรวงวังในคดีแพ่ง)

ในที่สุด ที่ประชุมลงมติเป็นเอกฉันท์ตีความมาตรา ๓ ตามที่รัฐบาลเสนอ แต่ก่อนลงมติ มีผู้พาดพิงถึงกรณีถวัติ ฤทธิเดช ดังนี้
พระยาปรีดานฤเบศร์ ถามว่า มีความจำเป็นอย่างไรที่จะต้องตีความในที่นี้ เดี๋ยวนี้นายถวัติฟ้องในหลวงแล้วหรือยัง ถ้ายังจะไปตีความทำไม

หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ตอบว่า เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะให้ตีความ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องนี้อยากพูดถึงญัตติเดิม

พระยาปรีดานฤเบศร์ กล่าวว่า เรื่องฟ้องนายถวัติ ฤทธิเดช รัฐบาลได้ส่งฟ้อง

หลวงประดิษฐมนูธรรม กล่าวว่า นี่เป็นอีกปัญหาหนึ่ง ไม่เกี่ยวกับเรื่องที่สภาฯกำลังจะพิจารณาอยู่นี้

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ผู้ใดอยากจะทราบเรื่องนี้ เมื่อเลิกประชุมแล้ว ขอให้มาถามข้าพเจ้าได้โดยส่วนตัว เพราะไม่ต้องการจะแถลงในที่นี้


ถวัติเข้าเฝ้าขอพระราชทานอภัยโทษ ๒๕ (?) พฤศจิกายน ๒๔๗๖
ผมไม่ทราบว่าการพูดแบบปริศนาของพระยาพหลเรื่องถวัติถูกรัฐบาลฟ้อง ในที่ประชุมสภาวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน หมายความว่าอะไร แต่เมื่อไม่นานมานี้ ผมเพิ่งพบหลักฐานว่า แทบจะในเวลาเดียวกับที่รัฐบาลกำลังเสนอให้สภาตีความมาตรา ๓ เพื่อ “สมานสามัคคีปรองดอง” กับพระปกเกล้าหลังกบฏบวรเดชนี้ ถวัติเองได้ไปเข้าเฝ้าพระปกเกล้าถึงสงขลาเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษ วันที่เข้าเฝ้าแน่นอนไม่เป็นที่ทราบ แต่คงประมาณวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน หรือก่อนวันนั้นไม่กี่วัน เพราะมีจดหมายลงวันที่นั้นของราชเลขานุการในพระองค์ยืนยันเรื่องการเข้าเฝ้า
ที่ ส.ข. ๖๕/๒๔๗๖

กรมราชเลขานุการในพระองค์
สงขลา

วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๗๖


ราชเลขานุการในพระองค์ เรียน นายกรัฐมนตรี

ด้วยนายถวัติ ฤทธิเดช กับ นาย ต. บุญเทียม ได้มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ขอพระราชทานอภัยโทษ ในการที่ได้หมิ่นพระบรมเดชนุภาพนั้น ทรงพระราชดำริว่า นายถวัติ ฤทธิเดช เข้าใจผิดในเรื่องรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นของใหม่ และนาย ต. บุญเทียม มิได้มีเจตนาร้าย เพราะฉะนั้นไม่มีพระราชประสงค์ที่จะเอาโทษแก่นายถวัติ ฤทธิเดช กับพวก และได้ทรงรับการขมาแล้ว คณะรัฐบาลจะจัดการให้มีพระราชหัตถเลขาพระราชทานอภัยโทษโดยทันทีเมื่อศาลวินิจฉัยความเรื่องนี้แล้ว หรือจะจัดการโดยวิธีใดก็แล้วแต่จะเห็นสมควร วิธีที่จะจัดการอย่างใดนั้น ขอให้อยู่ในความรับผิดชอบของรัฐบาลโดยแน่ชัด และอย่าอ้างว่า โปรดเกล้าฯให้จัดดังนั้น และถ้าให้หนังสือพิมพ์ลงข้อความให้ถูกต้องชัดเจนด้วยจะเป็นการดีมาก

พระพิจิตรราชสาส์น [?]
ลงนามแทน ราชเลขานุการในพระองค์

ผมไม่แน่ใจว่าควรอธิบายจังหวะก้าวนี้ของถวัติอย่างไร เพราะไม่มีหลักฐานนอกจากนี้เหลืออยู่ (กรณี ต.บุญเทียม ผมก็ไม่มีข้อมูลว่าได้ไปทำอะไรไว้ ทำให้ต้องมาขออภัยโทษด้วย) น่าสังเกตด้วยว่า ถวัติน่าจะได้เข้าเฝ้าในเวลาที่ใกล้เคียงอย่างมากกับตัวแทนรัฐบาล “ท่านวรรณ” และพระยานิติศาสตร์ไพศาล


รัฐบาลไม่ยอมถอนฟ้องถวัติ ปลายธันวาคม-ต้นมกราคม ๒๔๗๖
อย่างไรก็ตาม แม้ถวัติจะประสบความสำเร็จในการได้รับอภัยโทษจากรัชกาลที่ ๗ แต่รัฐบาลเองกลับไม่ยอมเลิกล้มการฟ้องเขาในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ดังที่บันทึกไว้ในรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีปลายเดือนต่อมา:
๑๙. เรื่องนายถวัติ ฤทธิเดช ขอทราบว่ารัฐบาลจะถอนฟ้องคดีเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือไม่ (เนื่องจากรายงานประชุมครั้งที่ ๔๙/๒๔๗๖ ข้อ ๑๕)

ปรึกษาเรื่องนายถวัติ ฤทธิเดช ยื่นหนังสือขอทราบว่ารัฐบาลจะถอนฟ้องคดีเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือไม่ เพราะได้ไปเฝ้าทูลฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานอภัยโทษ และได้ทรงรับขมาแล้ว

ที่ประชุมตกลงว่าให้คงดำเนินคดีในศาลต่อไป เพราะถ้าถอนฟ้องจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี และอาจเกิดความไม่สงบได้ เมื่อศาลพิพากษาลงโทษแล้วพระราชทานอภัยโทษให้ก็ได้ ให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรีเรียกตัวนายถวัติ ฤทธิเดชมาเจรจาเพื่อฟังคารมดูก่อน(๑๗)
ปรากฏว่าเลขาธิการคณะรัฐมนตรี หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้เรียกถวัติมาเจรจา “ฟังคารมดูก่อน” ซึ่งหลวงธำรงได้รายงานกลับให้ที่ประชุมทราบในสัปดาห์ต่อมา
๑๓. เรื่องนายถวัติ ฤทธิเดช ขอทราบว่ารัฐบาลจะถอนฟ้องคดีเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือไม่ (เนื่องจากรายงานประชุมครั้งที่ ๓/๒๔๗๖ สมัยที่ ๒ ข้อ ๑๙)

นายเรือเอกหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เสนอว่า ตามที่ที่ประชุมนี้ตกลงให้เจรจากับนายถวัติ ฤทธิเดช ในเรื่องที่ขอทราบว่ารัฐบาลจะถอนฟ้องคดีเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือไม่ ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าให้คงดำเนินคดีในศาลต่อไปนั้น ได้เรียกนายถวัติ ฤทธิเดชมาเจรจาแล้ว นายถวัติว่า ถ้าแม้รัฐบาลจะให้ดำเนินคดีต่อไปแล้ว นายถวัติไม่ต้องการ เพราะวิธีนี้ไม่เป็นการชอบธรรม และถ้าแม้รัฐบาลจะใช้วิธีนี้ต่อนายถวัติแล้ว นายถวัติก็จะขอเป็นจำเลยทางศาลและจะเป็นโจทก์ฟ้องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทางสภาต่อไป

หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ทรงขอรับเรื่องนี้ไปพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

ที่ประชุมตกลงอนุมัติ(๑๘)


รัฐบาลยอมยุติเรื่องโดยให้ถวัติทำฏีกาขออภัยโทษอย่างเป็นทางการ ต้นมกราคม ๒๔๗๖
ผมคิดว่าในทางปฏิบัติ ต่อให้ถวัติทำตามคำขู่ที่ว่า ถ้ารัฐบาลไม่ถอนฟ้อง เขา “จะเป็นโจทก์ฟ้องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทางสภาต่อไป” จริง ก็คงไม่ได้ผลอะไรนัก เพราะยากจะเป็นไปได้ว่าสภาจะเปลี่ยนใจมารับฟังเรื่องของเขา ในแง่นี้ คำขู่ของเขาคงไม่ทำให้รัฐบาลวิตกอะไร แต่รัฐบาลคงต้องการให้เรื่องนี้จบๆไปมากกว่า จึงได้เปลี่ยนใจเรื่องถอนฟ้อง ควรกล่าวด้วยว่า ถวัติเอง ขณะที่ขู่ว่าจะฟ้องพระปกเกล้าอีก อันที่จริง ได้ทำการติดต่อกับพระปกเกล้า ทำนองทวงถามว่า ในเมื่อทรงให้อภัยโทษเขาแล้ว จะไม่ให้อภัยโทษเรื่องคดีที่เขากำลังถูกฟ้องศาลด้วยหรือ (ซึ่งความจริงถวัติย่อมทราบว่าคดีเป็นเรื่องของรัฐบาลไม่ใช่ของพระปกเกล้า) ทำให้พระปกเกล้าต้องสั่งกระทรวงวังให้สอบถามมายังรัฐบาล
ที่ ๘๗/๑๗๙๒

วันที่ ๒ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๗๖

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัง เรียน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี

ด้วยนายถวัติ ฤทธิเดช ทูลเกล้าฯถวายหนังสือว่า เรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและกบฏตามที่ขอพระราชทานอภัยโทษแล้ว ส่วนคดีจะยังมีพระราชประสงค์ให้ศาลดำเนินการต่อไปหรือจะพระราชทานอภัยโทษ มีความพิศดารดังสำเนาที่ส่งมาด้วยแล้ว โปรดเกล้าฯให้ข้าพเจ้านำขึ้นปรึกษาคณะรัฐมนตรีว่า จะควรตอบอย่างไร และมีพระราชกระแสว่า ความจริง การที่ถอนฟ้องคดีหรือดำเนินการไปอย่างไรนั้น เป็นหน้าที่ของรัฐบาลจะจัดการ ไม่ใช่พระราชธุระ

ฉะนั้นจึ่งเรียนมา เพื่อนำเข้าปรึกษาในการประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป

ขอแสดงความนับถือ
เจ้าพระยาวรพงศ์(๑๙)

ในที่สุด เรื่องถวัติถูกนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้งในวันที่ ๙ มกราคม ๒๔๗๖ โดยรัฐบาลตัดสินใจยุติเรื่องด้วยการให้ถวัติทำฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษอย่างเป็นทางการ (การเข้าเฝ้าขอและรับพระราชทานอภัยโทษที่สงขลาของถวัติไม่เป็นทางการ) เพื่อจะได้ให้ลงพระปรมาภิไธยประกาศให้อภัยโทษก่อนคดีสิ้นสุด
๑๐. เรื่อง การอภัยโทษนายถวัติ ฤทธิเดช

ปรึกษาเรื่องราชเลขานุการในพระองค์ เชิญพระราชกระแสมาว่า นายถวัติ ฤทธิเดช กับ นาย ต. บุญเทียม ได้ไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทขอพระราชทานอภัยโทษในการที่ได้หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทรงพระราชดำริว่า นายถวัติ ฤทธิเดช เข้าใจผิดในเรื่องรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นของใหม่ และนาย ต. บุญเทียม มิได้มีเจตนาร้าย จึ่งไม่มีพระราชประสงค์ที่จะเอาโทษแก่นายถวัติ ฤทธิเดช กับพวก และได้ทรงรับการขมาแล้ว คณะรัฐบาลจะจัดการต่อไปอย่างไรก็แล้วแต่จะเห็นสมควร แต่ต้องเป็นไปในความรับผิดชอบของรัฐบาลโดยแน่ชัด

ที่ประชุมตกลงว่า คดีที่นายถวัติ ฤทธิเดชกับพวกเป็นจำเลย ต้องหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนี้ เป็นคดีความผิดสภาพมหาชน ซึ่งกรมอัยยการเป็นโจทก์ มิได้เกี่ยวด้วยเอกชนใดๆเลย จึ่งเป็นคดีซึ่งถ้าจะเทียบกับกฎหมายอังกฤษแล้วก็อยู่ในเกณฑ์ที่จะพระราชทานอภัยโทษได้ และการพระราชทานอภัยโทษนั้น ถ้าเทียบกับกฎหมายอังกฤษแล้ว จะพระราชทานก่อนศาลพิพากษาลงโทษก็ได้

เมื่อความปรากฏว่าไม่มีพระราชประสงค์ที่จะเอาโทษแก่นายถวัติ ฤทธิเดช กับพวก และได้ทรงรับการขมาแล้ว ประการหนึ่ง และบัดนี้นายถวัติ ฤทธิเดช กับพวก ก็ได้ทูลเกล้าฯถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษตามทางการแล้วอีกประการหนึ่ง จึ่งเห็นด้วยว่าสมควรจะได้รับพระราชทานอภัยโทษได้ ให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาเพื่อทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทต่อไป(๒๐)
เฉพาะประเด็นที่รายงานการประชุมกล่าวว่า ถวัติ “ได้ทูลเกล้าถวายฎีกา...ตามทางการแล้ว” นั้น ผมเข้าใจว่าเป็นการเขียนแบบล่วงหน้า (ตัวรายงานการประชุมทำขึ้นจริงหลังวันประชุม) เพราะผมพบหลักฐานการทำฎีกาดังกล่าวหลังวันประชุมนี้ คือในวันต่อมา (๑๐ มกราคม) ดูเหมือนว่า หลังประชุมคณะรัฐมนตรีเรื่องนี้แล้ว เลขาธิการ ครม.ได้จัดการนัดแนะให้ถวัติไปพบ ม.จ.วรรณไวทยากร เพื่อให้ทรงช่วยทำฎีกาอย่างเป็นทางการ ดังที่ “ท่านวรรณ” ทรงเล่าในจดหมายถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี:
ด่วน

กระทรวงการต่างประเทศ
วังสราญรมย์, กรุงเทพฯ

วันที่ ๑๐ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๗๖

เรียน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี

หนังสือที่ น.๗๔๘๕/๒๔๗๖ ลงวันที่ ๙ เดือนนี้ ว่าได้นัดให้นายถวัติ ฤทธิเดช กับนายร้อยตำรวจตรี วาศ สุนทรจามร ไปพบกับข้าพเจ้าในวันที่ ๑๑ เดือนนี้นั้น ได้รับทราบแล้ว

เรื่องนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่า ถ้าจัดการให้เสร็จได้ก่อนเสด็จไปในวันที่ ๑๒ จะเปนการการสดวก เพราะว่าถ้าจะตกไปอยู่ในพระวินิจฉัยของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แล้ว อาจจะเนิ่นช้าไปได้ ข้าพเจ้าจึงได้เชิญนายถวัติ ฤทธิเดช กับนายร้อยตำรวจตรี วาศ สุนทรจามร มาพบข้าพเจ้าในวันนี้ และได้ทำความตกลงกันแล้ว คือให้นายถวัติ ฤทธิเดช ทำฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งนายถวัติ ได้ทำขึ้น และข้าพเจ้าตรวจดู เห็นว่าเป็นอันใช้ได้แล้ว จึงได้ส่งมาในที่นี้พร้อมกับร่างหนังสือเจ้าคุณนายก เพื่อกราบบังคมทูลในเรื่องนี้ด้วย ขอคุณหลวงได้เตรียมพระราชหัตถเลขาพระกรุณา จะได้ทรงมีเวลาพระราชทานพระราชวินิจฉัยก่อนวันที่ ๑๒

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
วรรณไวทยากร วรวรรณ

วันต่อมา พระยาพหลได้มีหนังสือถึงพระปกเกล้า (คงจะเป็น “ร่างหนังสือเจ้าคุณนายก” ที่ “ท่านวรรณ” กล่าวถึงในจดหมายข้างต้น) ทูลเกล้าถวายฎีกาของถวัติ พร้อมร่างพระราชหัตถเลขาพระราชทานอภัยโทษที่เลขาธิการคณะรัฐมนตรีเตรียมไว้ หลังจากได้รับ พระปกเกล้าทรงลงพระปรมาภิไธยในร่างนั้น แล้วส่งกลับมาให้รัฐบาล พร้อมข้อเสนอใหม่บางอย่าง:
ที่ ๖๔๐/๒๔๕๔

กรมราชเลขานุการในพระองค์

วันที่ ๑๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๗๖

เรียน พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี

ตามหนังสือที่ ก.๗๖๐๕/๒๔๗๖ ลงวันที่ ๑๑ เดือนนี้ว่า คดีนายถวัติ ฤทธิเดช กับพวก หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งไม่มีพระราชประสงค์จะเอาโทษ ได้ทรงรับการขมาแล้ว บัดนี้นายถวัติ ฤทธิเดช กับพวกได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษตามทางการด้วยแล้ว คณะรัฐมนตรีเห็นควรพระราชทานอภัยโทษ แม้ศาลยังมิได้พิพากษาก็ดี ท่านจะเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ดังในร่างพระราชหัตถเลขาอภัยโทษนั้น ความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว

โปรดเกล้าฯว่า ในเรื่องนี้ ได้พระราชทานพระราชกระแสแล้วว่า ไม่มีพระราชประสงค์จะเอาโทษ ฉะนั้น จะจัดการอย่างไร ก็สุดแล้วแต่รัฐบาลจะเห็นควร ไม่ทรงขัดข้อง และได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชหัตถเลขาพระราชทานอภัยโทษในวันนี้ด้วยแล้ว ดังเชิญมาพร้อมหนังสือนี้

อนึ่งมีพระราชกระแสว่า ทรงพระราชดำริเห็นควรเสนอต่อรัฐบาลด้วยว่า คดี ม.ร.ว.อักษรศิลป์ สิงหรา ออกจะคล้ายกันกับเรื่องนี้ ม.ร.ว.อักษรศิลป์ สิงหรา ได้ขอพระราชทานอภัยโทษแล้ว แต่ได้โปรดเกล้าฯให้ตอบว่า คดียังอยู่ในศาลจึงให้รอไว้ก่อน ทรงเห็นว่า ม.ร.ว.อักษรศิลป์ สิงหรา ควรได้รับพระราชทานอภัยโทษด้วย มิฉะนั้น คณะรัฐบาลจะถูกติเตียนว่าเลือกที่รักมักที่ชักและขาดความยุตติธรรม ไม่มีพระราชประสงค์จะเอาโทษแก่ ม.ร.ว.อักษรศิลป์ สิงหรา แต่ก็ต้องถูกลงโทษจำคุกมานานพอใช้แล้ว ทรงเห็นเป็นการสมควรอย่างยิ่ง ที่จะให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษเสียด้วย พร้อมกับนายถวัติ ฤทธิเดช กับพวกนี้

อาทิตย์
ลงนามแทน ราชเลขานุการในพระองค์

เมื่อรับจดหมายนี้ เจ้าหน้าที่กรมเลขาธิการ ครม.ได้บันทึกว่า “มีพระราชกระแสเรื่อง ม.ร.ว.อักษรศิลป์ ด้วย เสนอนายกรัฐมนตรี [ลงชื่อ] ชำนาญอักษร ๑๒/๑๐/๗๖” ซึ่งเมื่อพระยาพหลได้รับ ก็มีคำสั่งว่า “ให้ทำขึ้นเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาก่อน จึงจะลงนามสนองพระบรมราชโองการ [ลงชื่อ] พระยาพหลฯ ๑๒ ม.ค. ๗๖”


ไม่มีประกาศอภัยโทษ เรื่องลงเอยด้วยการถอนฟ้องนั่นเอง ปลายมกราคม ๒๔๗๖
อย่างไรก็ตาม ผมไม่พบว่ามีการนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแต่อย่างใด (รายงานการประชุมครม.ช่วงนี้ยังมีอยู่ครบ) ยิ่งกว่านั้น ผมไม่พบว่าได้มีการประกาศพระบรมราชโองการให้อภัยโทษแก่ถวัติซึ่งพระปกเกล้าทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วนั้นในราชกิจจานุเบกษาด้วย ผมอยากจะเดาว่า ประเด็นเรื่องอภัยโทษ ม.ร.ว.อักษรศิลป์ ที่พระปกเกล้าทรงเสนอขึ้นใหม่ อาจทำให้พระยาพหลหรือผู้นำรัฐบาลบางคน (ไม่ใช่ ครม.เพราะไม่มีการนำเสนอ) เปลี่ยนใจเรื่องประกาศเป็นพระบรมราชโองการให้อภัยโทษถวัติ แล้วหันมาใช้วิธีสั่งให้อัยการถอนฟ้องแทน พวกเขาอาจจะถือได้ว่า พระปกเกล้าเองทรงมีพระราชกระแสว่า “จะจัดการอย่างไร ก็สุดแล้วแต่รัฐบาลจะเห็นควร ไม่ทรงขัดข้อง” (หรือมิเช่นนั้น พวกเขาก็อาจจะมีความเห็นภายหลังว่า การอภัยโทษขณะคดีไม่สิ้นสุดไม่ควรทำหรือทำไม่ได้) ดังจดหมายต่อไปนี้ จากเลขาธิการ ครม.ถึงรัฐมนตรีมหาดไทย
ที่ ข.๘๐๘๔/๒๔๗๖

กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
วันที่ ๒๒ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๗๖


เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

ด้วยนายถวัติ ฤทธิเดช กับพวก ได้ทูลเกล้าฯถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ในคดีที่อัยยการเป็นโจทก์ ฟ้องหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัยยการจัดการระงับคดีเรื่องนี้แล้ว ดั่งพระราชหัตถเลขาสั่งท้ายฎีกา ซึ่งได้เชิญมาพร้อมกับหนังสือนี้ เพื่อท่านจักได้ดำเนินการต่อไป

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์
เลขาธิการคณะรัฐมนตรี

ความจริงที่หลวงธำรงเขียนว่า “โปรดเกล้าฯให้อัยยการจัดการระงับคดีเรื่องนี้แล้ว” นั้นไม่ตรงนัก ดังที่เห็นแล้ว ทรงลงพระปรมาภิไธยให้อภัยโทษต่างหาก เนื่องจากเราไม่มีฎีกาที่ถวัติทำถวาย (โดยความช่วยเหลือของ “ท่านวรรณ”) เราจึงไม่ทราบว่าพระปกเกล้าเขียนท้ายฎีกานั้นว่าอย่างไร แต่เดาจากจดหมายราชเลขานุการในพระองค์ วันที่ ๑๑ มกราคม น่าจะเพียงทรงเขียนทำนองว่า “ไม่มีพระราชประสงค์จะเอาโทษ” เท่านั้น ไม่ถึงกับเจาะจงว่าให้อัยยการถอนฟ้อง (เพราะทรงเห็นว่า “จะจัดการอย่างไร ก็สุดแล้วแต่รัฐบาล” มากกว่า)

ผมไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับกรณีนี้อีก แต่เข้าใจว่า อัยการก็คงถอนฟ้องไปในปลายเดือนมกราคม ๒๔๗๖ และเรื่องคงยุติเช่นนั้น


ข้อสังเกตบางประการจากกรณี ถวัติ ฤทธิเดช ฟ้อง พระปกเกล้า
โดยส่วนตัว ผมไม่มีคำอธิบายกรณี ถวัติ ฤทธิเดช ฟ้อง พระปกเกล้า นี้ ผมรู้สึกว่าหลักฐานที่มีอยู่ไม่เพียงพอจะบอกว่าได้ว่า ถวัติทำเพราะอะไร? (ไม่ใช่ฟ้องศาลอย่างที่เป็นตำนาน เพียงพยายามยื่นฟ้องต่อสภาแต่ยื่นไม่สำเร็จ ในที่สุด เรื่องนี้เป็นเพียงข่าวจะยื่นฟ้องต่อสภาเท่านั้น) แล้วทำไมเขาจึงไปขอพระราชทานอภัยโทษ? ความสนใจของผมอยู่ที่ปัญหาเชิงกฎหมายและเชิงหลักการเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่กษัตริย์เป็นประมุข” ซึ่งกรณีนี้เสนอขึ้นมามากกว่า แต่ดังที่เห็นแล้วว่า แม้ในขณะที่เกิดเหตุการณ์ ปัญหานี้ไม่ได้รับความสนใจหรือถกเถียงกันจริงจังเท่าใดนัก ภายหลังต่อมา เมื่อนักวิชาการเขียนเรื่องนี้หรือเขียนเกี่ยวกับถวัติ ก็สนใจที่จะนำเสนอในเชิงตำนานผู้กล้า (heroic tale) เป็นสำคัญ ต่อไปนี้ ผมจะขออภิปรายเพื่อแสดงให้เห็นประเด็นทางกฎหมายและทางหลักการที่ผมสนใจอย่างสั้นๆ

ผมคิดว่า รัฐบาลในขณะนั้นพูดถูกว่า โดยหลักการ รัฐที่มีกษัตริย์เป็นประมุข และทำในนามกษัตริย์ (“รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”, “ศาลของ...”) กษัตริย์ถูกฟ้องไม่ได้ แต่หลักการนี้วางอยู่บน (หรือต้องถูกกำกับโดย) หลักการอีกข้อหนึ่งคือ กษัตริย์ไม่สามารถทำอะไรได้เอง คือทำอะไรโดยไม่มี “ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ” ไม่ได้ ผมคิดว่า คำอธิบายเรื่องนี้ของรัฐบาลได้บดบังประเด็นสำคัญนี้ไป เพราะไปเน้นเรื่อง “รัฐบาล-ศาลของพระเจ้าอยู่หัว” และเรื่องความแตกต่างระหว่างคดีแพ่งกับคดีอาญา ความจริงทั้งคดีแพ่งและอาญา ฟ้องกษัตริย์ไม่ได้ทั้งคู่ ประเด็นไม่เกี่ยวกับว่าเป็นแพ่งหรืออาญา ที่ฟ้องไม่ได้เพราะ “กษัตริย์ไม่สามารถทำผิดได้” เนื่องจากไม่สามารถทำอะไรได้เองหรือตามอำเภอใจตัวเอง และดังนั้น ก็ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบหรือถูกฟ้องได้ (แม้แต่เรื่องการพูดต่อสาธารณะ พระราชดำรัสต่างๆต้องผ่านการเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี นี่คือสิ่งที่ปฏิบัติจริงในสมัยนั้น) คือจะทำอะไรต้องมีผู้รับสนอง และผู้รับสนองนี้ แท้จริง คือผู้อนุญาตให้ทำ ดังนั้น ถ้าการกระทำนั้นผิด ผู้นั้นจึงควรเป็นผู้ถูกฟ้อง แม้จะทำในนามกษัตริย์ก็ตาม

แต่ถ้าในกรณีที่กษัตริย์ทำอะไรเอง โดยไม่มีผู้รับสนองหรือผู้อนุญาต แล้วการกระทำนั้นผิด ไม่ว่าจะอาญาหรือแพ่งก็ตาม ก็ต้องถือว่ากษัตริย์ทำผิดตั้งแต่ต้น ในแง่ทำอะไรเอง (ล้ำเกินขอบเขตที่จะทำได้ในฐานะกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ) อาญาหรือแพ่งไม่มีความสำคัญต่อเรื่องนี้ คือ ถ้าการกระทำนั้นมีผลกระทบในทางอาญา แต่ถ้ามีผู้รับสนอง การฟ้อง ความจริงก็ไม่จำเป็นต้องฟ้องสภา ฟ้องศาลอาญาก็ได้ แต่ฟ้องผู้รับสนอง ไม่ใช่ฟ้องกษัตริย์ ในทางกลับกัน ถึงเป็นความผิดทางแพ่ง ถ้าไม่มีผู้รับสนอง ก็ไม่ใช่ต้องฟ้องกระทรวงวัง เพราะความผิดเป็นเรื่องอื่นตั้งแต่ต้น (คือการไม่มีผู้รับสนอง) จะฟ้องกระทรวงวังก็ไม่สามารถทำได้ ผมพูดเช่นนี้ ไม่ใช่พูดลอยๆ แต่มีกรณีที่เกิดขึ้นจริง คือในปี ๒๔๘๒ รัฐบาลมาค้นพบย้อนหลังว่า ในช่วงปี ๒๔๗๕-๒๔๗๗ ที่พระปกเกล้ายังเป็นกษัตริย์นั้น ทรงแอบโยกย้ายทรัพย์สินในกรมพระคลังข้างที่จำนวนหนึ่งไปไว้ในบัญชีธนาคารส่วนพระองค์ในต่างประเทศ โดยไม่มีผู้รับสนอง (คือทรงทำเอง ไม่มีใครอนุญาต) รัฐบาลจึงได้ดำเนินการฟ้องร้องทางศาลแพ่ง (ฟ้องในฐานะเป็นเอกชน เพราะสละราชย์แล้ว) แต่สมมุติว่า การค้นพบนี้เกิดขึ้นในระหว่างที่ยังทรงเป็นกษัตริย์ล่ะ? ความผิดในลักษณะแพ่งของพระปกเกล้าที่เป็นกษัตริย์นี้ จะให้ฟ้องพระคลังข้างที่หรือกระทรวงวังหรือ? ฟ้องพระคลังข้างที่ว่ากษัตริย์ยักยอกเงินพระคลังข้างที่โดยพระคลังข้างที่ไม่รู้? จะเห็นว่า ถึงเป็นความผิดทางแพ่ง ถ้าความผิดนั้น เกิดขึ้นโดยไม่มีผู้รับสนอง คือเกิดขึ้นเพราะกษัตริย์ทำอะไรไปเอง เรื่องก็ไม่เกี่ยวกับว่าต้องฟ้องพระคลังข้างที่หรือกระทรวงวังต่อศาลแพ่ง แต่จะต้องพิจารณาก่อนว่า ควรจะปฏิบัติอย่างไรกับการที่กษัตริย์ทำผิดด้วยการทำอะไรไปเองเช่นนี้ ใครจะพิจารณา? ผมคิดว่า ในกรณีเช่นนี้ (ซึ่งแม้จะมีต้นตอมาจากคดีลักษณะแพ่ง) คงต้องให้สภาพิจารณา

สรุปแล้ว ในความเห็นของผม ถ้ามีผู้รับสนอง ไม่ว่าจะแพ่งหรืออาญาก็ฟ้องไม่ได้ และไม่จำเป็นที่จะต้องแยกระหว่างฟ้องศาลในคดีแพ่งกับฟ้องสภาในคดีอาญา (แบบที่รัฐบาลสมัยนั้นอธิบาย) ฟ้องศาลได้ทั้งคู่ แต่ฟ้องผู้รับสนองไม่ใช่กษัตริย์ ในทางกลับกัน ถ้าไม่มีผู้รับสนอง ก็ควรให้ฟ้องสภา ไม่ว่าคดีนั้นเป็นลักษณะใด เพราะต้องให้วินิจฉัยว่ากษัตริย์ทำผิดหรือไม่ ที่ละเมิดขอบข่ายอำนาจของตนในฐานะกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ เมื่อมองเช่นนี้ จะเห็นว่า สิ่งที่เป็นจุดเริ่มต้นของกรณีถวัติฟ้องพระปกเกล้าคือ “พระบรมราชวินิจฉัยเค้าโครงการเศรษฐกิจ” นั้น พระปกเกล้าทำไปโดยไม่ได้ผ่านการเห็นชอบจากใคร ไม่มีใครลงนามรับสนองพระบรมราชโองการในเอกสารนั้น (ถ้ามีผู้ลงนามรับสนอง ถวัติก็ไม่มีสิทธิ์ฟ้องพระปกเกล้า แต่ต้องฟ้องพระยา มโนหรือใครก็ตามที่ลงนามรับสนองนั้นแทน) ในแง่นี้ ทรงทำผิดหรือทำเกินขอบเขตอำนาจในฐานะกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ (ต้องไม่ลืมว่า เรากำลังพูดถึงเอกสารที่โฆษณาเผยแพร่สู่สาธารณะในนามกษัตริย์ ไม่ใช่การแลกเปลี่ยนความเห็นกันภายใน ระหว่างกษัตริย์กับรัฐบาล ถ้าเป็นเพียงการแลกเปลี่ยนความเห็นภายใน คือพระปกเกล้าเขียนวิจารณ์ปรีดี แล้วอภิปรายกันภายใน ก็ย่อมทรงทำได้ ไม่เกินขอบเขต) มองในแง่นี้ ต้องกล่าวว่าเป็นความ irony ที่ว่า ความผิดฐาน “หมิ่นประมาท” ซึ่งถวัติคิดจะฟ้องพระปกเกล้าต่อสภานั้น แท้จริง เป็นความผิดที่เล็กกว่าความผิดจริงๆ ที่พระปกเกล้าทรงทำ (คือทำอะไรด้วยพระองค์เอง) ความผิดหลังนี้ เป็นความผิดในเชิงหลักการใหญ่ของระบอบการปกครองหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕(๒๑)