Thursday, October 08, 2015

บันทึกการสนทนา หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์บอกทูตอเมริกันว่า พระอนุชาคือผู้ต้องสงสัยกรณีสวรรคตในหลวงอานันท์ (2491)





Thursday, June 21, 2012

คณะราษฎร กับ กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ: การพิจารณา (ไม่) แก้ไข มาตรา 98 และ 104 ในกฎหมายลักษณะอาชญา ร.ศ.127 (1)

This article is dedicated to all the friends who helped me get through the difficult time two years ago.


มองจากปัจจุบันที่มีกระแสความสนใจเรื่องกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกันอย่างสูงและจากภาพลักษณ์ที่ว่า 24 มิถุนายน 2475 เป็น "การปฏิวัติ" ที่ คณะราษฎร ทำการโค่นอำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของกษัตริย์, สิ่งที่ชวนให้สะดุดใจมากๆคือ การไม่ให้ความสำคัญของรัฐบาลคณะราษฎร หลัง 2475 ต่อสิ่งที่เรียกกันว่า กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (David Streckfuss กล่าวว่า "ถ้ามองในแง่ของตัวบทกฎหมาย การโค่นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีความสำคัญน้อยมาก รัฐบาลประชาธิปไตยที่ตั้งขึ้นใหม่ไม่ได้เลิก"


เมื่อคณะราษฎรขึ้นสู่อำนาจนั้น ประเทศสยามมี ประมวลกฎหมายลักษณะอาชญา ร.ศ.127 ใช้บังคับอยู่ ในประมวลกฎหมายนี้ มาตราที่ถือกันว่าคือ กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และเป็นเหมือน "บรรพบุรุษ" ของ มาตรา 112 ในประมวลกฎหมายอาญาปัจจุบัน คือ มาตรา 98 นอกจากนี้ ยังมีมาตรา ที่มีลักษณะเดียวกัน แต่เป็นเรื่องการ "หมิ่นประมาท" ราชวงศ์ชั้นรองลงมาอีก 1 มาตรา คือ มาตรา 100 ท้้ง 2 มาตรานี้ อาจจะกล่าวว่าได้ว่า ประกอบกันขึ้นเป็น "กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" ในขณะนั้น ทั้งคู่ อยู่ในหมวด

อย่างไรก็ตาม 

Tuesday, April 12, 2011

พูนศุข พนมยงค์ ให้สัมภาษณ์กรณีสวรรคต พฤษภาคม 2500



เดือนพฤษภาคม 2500 ทูตอังกฤษประจำสิงคโปร์ ได้รายงานไปยังลอนดอนว่า ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ได้ให้สัมภาษณ์นักข่าว นสพ The Observer ของอังกฤษที่นั่นว่า "หากนักข่าวต้องการรู้ความจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคตควรไปถามพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลปัจจุบัน"

(อ้างใน ณัฐพล ใจจริง, "การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)", วิทยานิพนธ์ปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2553, หน้า 218 ผมเข้าใจว่า อันที่จริง ท่านผู้หญิงพูนศุขน่าจะให้สัมภาษณ์ The Observer ไว้ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมหรือเมษายน เพราะในต้นเดือนเมษายนนั้น เธอได้เดินทางมาถึงไทย การสัมภาษณ์น่าจะทำในช่วงที่เดินทางผ่านสิงคโปร์ คุณวิมลพรรณ ปีตธวัชชัย ได้บอกผมว่า เธอได้ค้นคว้าตรวจสอบ The Observer ในช่วงนั้น แต่ไม่พบรายงานการสัมภาษณ์นี้ เธอจึงเดาว่า ทางการอังกฤษอาจจะขอร้องให้ The Observer ยับยั้งการตีพิมพ์รายงานการสัมภาษณ์ดังกล่าวได้ทัน อย่างไรก็ตาม ดร.ณัฐพล ใจจริง บอกผมว่า รายงานของทูตอังกฤษ อ้างถึงคำสัมภาษณ์ที่ตีพิมพ์ไปใน The Observer แล้ว)

ท่านผู้หญิงพูนศุข หมายความว่าอย่างไร?

ผมขออนุญาตไม่ตีความหรืออธิบายประโยคดังกล่าวของท่านผู้หญิงพูนศุขโดยตรง แต่จะขออธิบายว่า คำสัมภาษณ์ประโยคเดียวนี้ เกิดขึ้นภายใต้บริบทอะไร ที่สำคัญคือ จะชี้ให้เห็นว่า คำสัมภาษณ์นี้เป็นหลักฐานยืนยันอย่างชัดเจนถึงบางเรื่องอย่างไร

เช้ามืดยังไม่ทันรุ่งสางของวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2498 จำเลย 3 คนในคดีสวรรคต ได้ถูกนำตัวไปประหารชีวิต มีข่าวร่ำลือออกมาว่า ในนาทีสุดท้ายก่อนจะถูกนำตัวเข้าหลักประหารนั้น ชิต สิงหเสนี ซึ่งเป็นมหาดเล็กที่อยู่หน้าห้องบรรทมในหลวงอานันท์ และเป็นคนแรกที่ถูกตัดสินประหารชีวิตตั้งแต่ในศาลชั้นต้น (ซึ่งปล่อยอีก 2 จำเลย) ได้พูดคุยแบบสองต่อสอง กับเผ่า ศรียานนท์ อธิบดีตำรวจ มือขวาของจอมพล ป ที่ไปสังเกตการณ์การประหารชีวิต โดยที่ ชิต ได้ถือโอกาสที่ตัวเองกำลังจะถูกประหาร เล่า "ความลับ" ของ "กรณีสวรรคต" ให้เผ่าฟัง ว่าเกิดอะไรขึ้นจริงๆ ในเช้าวันนั้น มีเสียงลือว่า เผ่าได้ทำบันทึกเรื่องที่ชิตเล่าไว้ด้วย (ดูบทความของผมเรื่อง "50 ปี การประหารชีวิต 17 กุมภาพันธ์ 2498", ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 เมษายน-มิถุนายน 2548, หน้า 78 หรือดาวน์โหลดบทความในรูป pdf จากเว็บ นิติราษฎร์ ที่นี่)

ขณะนั้น การเมืองไทยกำลัง "ระอุ" ด้วยความขัดแย้งระหว่างผู้เป็นใหญ่ทางการเมืองแบบ "สามเส้า" (triumvirate) คือ ระหว่างจอมพล ป พิบูลสงคราม, เผ่า ศรียานนท์ และ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ อันที่จริง ถ้าพูดอย่างเข้มงวดแล้ว จอมพล ป แม้จะไม่ถึงกับไว้วางใจ เผ่า แบบสนิทเต็มร้อย (พุฒิ บูรณะสมภพ มือขวาคนหนึ่งของเผ่า เล่าให้ผมฟังว่า เผ่า เคยเสนอจอมพล ป จะ "เก็บ" สฤษดิ์ ให้ แต่จอมพล ไม่ยอม เพราะในที่สุด ก็ต้องการสฤษดิ์ ไว้คานอำนาจเผ่าเช่นกัน) แต่โดยรวมแล้ว จอมพล ป กับ เผ่า มีลักษณะเป็นพันธมิตรใกล้ชิด เรียกได้ว่า เป็นขั้วหรือกลุ่มเดียวกัน ที่บางครั้งเรียกกันว่า กลุ่ม "พิบูล-เผ่า" ในขณะที่ สฤษดิ์ แยกออกมาเป็นอีกขั้วหนึ่ง

สฤษดิ์ ในขณะนั้น เล่นการเมืองในลักษณะ "ตีสองหน้า" คือ หน้าหนึ่ง ก็ทำตัว "ก้าวหน้า" คบหาสมาคมและสนับสนุนฝ่ายซ้าย (ที่อยู่ใต้การนำของ พคท.) ในขณะนั้น นักเขียนฝ่ายซ้ายชื่อดังอย่าง จิตร ภูมิศักดิ์ และอีกหลายคน เรียกได้ว่า เป็น "ลูกจ้าง" ให้สฤษดิ์ โดยปริยาย เพราะเป็นนักเขียนประจำของ "สารเสรี" หนังสือพิมพ์ที่สฤษดิ์ออกทุนทำ

พร้อมกันนั้น สฤษดิ์ ก็สร้างสายสัมพันธ์กับกลุ่มการเมืองที่เรียกกันในสมัยนั้นว่าพวก "ศักดินา" โดยมีพรรคประชาธิปัตย์ของควง อภัยวงศ์ และพี่น้องปราโมช (เสนีย์, คึกฤทธิ์) เป็นตัวแทน "ออกหน้า" ที่สำคัญ แต่ยังมีราชวงศ์ชั้นสูง (พวกเจ้าและขุนนางเก่าจากสมัยก่อน 2475) อีกหลายคน ที่สำคัญที่สุดคือ พระองค์เจ้าธานีนิวัต ที่เป็นประธานองคมนตรี เคลื่อนไหวแบบหลบๆ ซ่อนๆ อยู่ด้วย

ถึงปี 2499 จอมพล ป และเผ่า เริ่มตระหนักว่า ไม่สามารถรับมือกับพันธมิตรสฤษดิ์-ศักดินา โดยเฉพาะการเข้มแข็งทางการเมืองที่มากขึ้นของกลุ่มศักดินา อันมีปัจจัยสำคัญประการหนึ่งคือ เป็นครั้งแรกในระยะประมาณ 20 ปีหลังการปฏิวัติ 2475 และการสละราชย์ของรัชกาลที่ 7 ที่ประเทศไทยมีพระมหากษัตริย์ประทับในประเทศอย่างถาวร (ในหลวงองค์ปัจจุบันทรงเสด็จกลับประเทศไทยอย่างถาวรในช่วงสิ้นปี 2494) และบทบาทที่ดูเหมือนจะเพิ่มมากขึ้นของสถาบันกษัตริย์และองค์พระมหากษัตริย์เอง เช่น ในวันกองทัพบก 25 มกราคม 2499 ในหลวงทรงมีพระราชดำรัสวิพากษ์การที่ทหาร - คือกลุ่มของจอมพล ป - เข้ามามีบทบาททางการเมือง ซึ่งเป็นพระราชดำรัสที่ฉีกประเพณีการปกครองแบบรัฐธรรมนูญที่สร้างขึ้นจากการปฏิวัติ 2475 ที่พระมหากษัตริย์ต้องไม่ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับการเมืองในที่สาธารณะ (ดร.หยุด แสงอุทัย นักกฎหมายมือหนึ่งของรัฐบาลในขณะนั้น ได้ออกปาฐกถาเชิงวิพากษ์วิจารณ์พระราชดำรัสนี้ จนถูกกล่าวหาว่า "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ")

ในปีนั้น จอมพล ป และ เผ่า จึงตัดสินใจหาทางติดต่อกับปรีดีที่ลี้ภัยอยู่ในประเทศจีน เพื่อชักชวนให้ปรีดีกลับประเทศ เพื่อร่วมมือกันต่อสู้กับกลุ่มศักดินา โดย "อาวุธ" สำคัญที่จะร่วมกันใช้ในการต่อสู้นี้ คือ การรื้อฟื้นคดีสวรรคตขึ้นใหม่ (ซึ่งสันนิษฐานได้ว่า การบอกเล่าก่อนถูกประหารของชิต ต่อเผ่า คงจะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญสำหรับการรื้อฟื้นนี้)

ในช่วงปี 2525 ผมได้มีโอกาสสัมภาษณ์คุณชิต เวชประสิทธิ์ ผู้ได้ชื่อว่าเป็น "ลูกศิษย์ปรีดี" คนหนึ่ง และเป็นอดีตหนึ่งในคณะทนายจำเลยคดีสวรรคต คุณชิตเล่าว่า จอมพล ป ได้ฝากข้อเสนอเรื่องร่วมมือกันสู้ศักดินา (ด้วยคดีสวรรคต) ให้เขาและ "ลูกศิษย์อาจารย์" อีกคนหนึ่งคือ ลิ่วละล่อง บุนนาค นำไปปรึกษาปรีดีที่จีน ตอนที่คุณชิตเล่าเรื่องนี้ให้ผมฟัง ข้อมูลนี้เป็นเรื่องที่แทบไม่มีคนรู้ ต่อมาในช่วงประมาณปี 2543 จึงมีผู้เผยแพร่จดหมายที่ปรีดีเขียนตอบสังข์ พัธโนทัย คนสนิทของจอมพล ป. ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2499 (เข้าใจว่า จอมพล ป คงใช้ให้สังข์เขียนเป็นจดหมายถึงปรีดี ฝากชิตและลิ่วละล่องไปด้วย ปรีดีจึงเขียนเป็นจดหมายตอบมายังสังข์) ในจดหมาย ปรีดีกล่าวตอนหนึ่งว่า "ผมเห็นว่าคุณได้บำเพ็ญบุญกุศลอย่างแรงในการที่คุณได้แจ้งให้ผมทราบถึงบันทึกของคุณเผ่า [ที่]ได้สอบถามปากคำคุณเฉลียว ชิต บุศย์ ก่อนถูกยิงเป้า ที่ยืนยันว่า ผู้บริสุทธิ์ทั้งสามรวมทั้่งผมไม่ได้มีส่วนพัวพันในกรณีย์สวรรคต" (ดูบทความ "50 ปี การประหารชีวิต" ของผมที่อ้างข้างต้น และ "ปรีดี พนมยงค์, จอมพล ป, กรณีสวรรคต และรัฐประหาร 2500" ใน ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง หน้า 30-35 ซึ่งผมได้เล่าเรื่องนี้เป็นครั้งแรกในปี 2539)

ช่วงสิ้นปี 2499 ถึงกลางปี 2500 มีข่าวลือแพร่สะพัดในพระนครเรื่องรัฐบาลจอมพล ป จะอนุญาตให้ปรีดีเดินทางกลับไทยเพื่อมาสู้คดีสวรรคต สถานทูตอเมริกันในไทยได้รายงานเรื่องนี้ไปยังวอชิงตันหลายครั้ง วอชิงตันแสดงความไม่พอใจและเตือนจอมพล ป ว่า สหรัฐไม่เห็นด้วยกับการให้ปรีดีกลับไทยเพื่อรื้อฟื้นคดีสวรรคตซึ่งจะกระทบกระเทือนต่อสถาบันกษัตริย์และเสถียรภาพทางการเมืองของไทย อย่างเป็นทางการจอมพลบอกวอชิงตันว่ารัฐบาลของเขาไม่ได้มีแผนการดังกล่าว แต่ข่าวลือก็ยังคงมีอยู่ และเข้มข้นสูงสุดในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2500 ทูตอเมริกันรายงานด้วยว่า แผนการจับมือกับปรีดีของจอมพลและเผ่า สร้างความไม่พอใจให้กับพระมหากษัตริย์ไทยอย่างมาก (ดูวิทยานิพนธ์ของณัฐพล ใจจริง บทที่ 8 หน้า 197-221)

เรื่องนี้มาประจวบกับความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลจอมพล ป กับสถาบันกษัตริย์ที่ปะทุขึ้นอย่างรุนแรงในช่วงเดือนพฤษภาคม เมื่อในหลวงภูมิพลที่เดิมทรงมีกำหนดการจะเสด็จไปในงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษที่รัฐบาลจัดขึ้นอย่างมโหฬารในเดือนนั้น ทรงงดการเสด็จอย่างกระทันหัน โดยทรงแจ้งกับรัฐบาลว่ามีพระอาการประชวร แต่ขณะเดียวกัน ทรงบอกทูตอังกฤษเป็นการส่วนพระองค์ว่า พระองค์มิได้ประชวรจนเสด็จไม่ได้ แต่ที่ไม่เสด็จเพราะไม่พอพระทัยที่รูปแบบการจัดงานของรัฐบาลออกมาในลักษณะที่ทำให้รัฐบาลมีความสำคัญเทียบเท่าหรือมากกว่าพระองค์ ทรงเห็นว่า รูปแบบการจัดงานควรออกมาในลักษณะที่ให้พระองค์เป็นศูนย์กลาง (ตัวบทรายงานพระราชดำรัสที่ทรงเล่าแก่ทูตอังกฤษในประเด็นนี้คือ The King … clearly resented the fact that it has been drawn up with a view to making the Government as important if not more so than the King himself around whom of course the celebration should have been centred. ดูคำแปลรายงานฉบับเต็มของทูตอังกฤษนี้ของผม พร้อมเอกสารแลกเปลี่ยนระหว่างรัฐบาลกับราชสำนักในเรื่องในหลวงทรงประชวรจริงหรือไม่ ได้ที่นี่)

ในเดือนมิถุนายน (ซึ่งเป็นทั้งช่วงครบรอบการสวรรคตของในหลวงอานันท์และการปฏิวัติ 2475) ท่ามกลางข่าวลือเรื่องปรีดีจะกลับและจะมีการรื้อฟื้นคดีสวรรคตนี้ ก็เกิดกรณที่นายสง่า เนื่องนิยม เจ้าของฉายา “ช้างงาแดง” ซึ่งขณะนั้นเป็นสมาชิกพรรค “ศรีอาริยเมตไตรย์” ของ เฉียบ ชัยสงค์ ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น “ลูกศิษย์ปรีดี” คนหนึ่ง และเพิ่งเดินทางกลับจากการลี้ภัยในจีนร่วมกับปรีดีในปี 2499 (หมายถึงเฉียบ ไม่ใช่สง่า ตัวสง่าเองนั้น ผมไม่แน่ใจว่า เป็นพวกปรีดีแค่ไหน) ขึ้นปราศรัย หรือ “ไฮด์ปาร์ค” ที่สนามหลวง พาดพิงถึงกรณีสวรรคตอย่างล่อแหลมมากๆ ปรากฏว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้ยกคำปราศรัยของสง่ามาโจมตีว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการทางกฎหมายกับสง่า แต่รัฐบาลจอมพล ป และเผ่า กลับไม่ทำอะไร นอกจากปรับเรื่องการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตเท่านั้น

ในวันที่ 24 มิถุนายน เมื่อ ปาล พนมยงค์ ลูกชายปรีดี เข้าพบจอมพล ป ที่วัดมหาธาตุเพื่อลาบวช จอมพลได้กล่าวกับปาลว่า “บอกคุณพ่อของหลานด้วยนะว่า ลุงอยากให้กลับมาช่วยลุงทำงานให้ชาติ ลุงคนเดียวสู้ศักดินาไม่ไหวแล้ว” ในเวลาไล่เรี่ยกัน ควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้บอกกับเสนีย์ ปราโมชว่า “จอมพล ป จะหาเรื่องในหลวง” (ย่อหน้านี้และย่อหน้าติดกันข้างบน เอาข้อมูลมาจาก ณัฐพล ใจจริง, หน้า 219-220 กรณีนายสง่านั้น ต่อมา เมื่อสฤษดิ์ร่วมกับกลุ่มศักดินาทำรัฐประหาร 16 กันยายน 2500 จึงเริ่มมีการดำเนินคดีฟ้องร้อง ดูคำพิพากษาหลังรัฐประหารลงโทษสง่าในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งให้รายละเอียดว่า นายสง่าพูดหรือทำอะไรบ้างบนเวที “ไฮด์ปาร์ค” ครั้งนั้น ใน สุพจน์ ด่านตระกูล, ข้อเท็จจริงกรณีสวรรคต, ฉบับพิมพ์ปี 2517, หน้า 265-267)

คำสัมภาษณ์ของท่านผู้หญิงพูนศุข ที่ยกมาในตอนต้นบทความ เกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์เช่นนี้เอง ในช่วงใกล้ๆ กัน ปรีดีเองก็ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ในจีน แล้วหนังสือพิมพ์ในฮ่องกงนำมารายงานว่า เขาได้ติดต่อกับบุคคลสำคัญในไทยเพื่อการเดินทางกลับมาต่อสู้คดีสวรรคต (อ้างใน ณัฐพล ใจจริง, หน้า 220)

อย่างไรก็ตาม ผมเห็นว่า คำสัมภาษณ์ประโยคเดียวของท่านผู้หญิงพูนศุขมีความสำคัญในแง่ที่นอกจากจะเป็นการยืนยันสนับสนุนหลักฐานต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ถึงความพยายามร่วมมือระหว่างปรีดีกับจอมพลและเผ่าที่จะรื้อฟื้นคดีสวรรคต ยังเป็นการยืนยันเด็ดขาดอย่างที่ไม่ต้องมีข้อสงสัยอีกแล้ว ถึงประเด็นหนึ่งที่เคยเป็นปัญหาว่า ปรีดีเองมีข้อสรุปเกี่ยวกับกรณีสวรรคตหรือไม่อย่างไร ดังที่ผมได้อธิบายไว้ในบทความหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ เป็นเวลาหลายสิบปี ที่ผู้สนใจกรณีสวรรคตมักจะตั้งคำถามว่า ปรีดีเองมีความเห็นอย่างไรแน่ ในสมัยที่เขาเป็นรัฐบาล – รวมถึงรัฐบาลหลวงธำรงที่เป็น “นอมินี” ของเขา – ท่าทีอย่างเป็นทางการของเขาคือ ในหลวงอานันท์ทรงยิงพระองค์เองโดยอุบัติเหตุ ในบทความดังกล่าว ผมได้ยกหลักฐานที่เพิ่งพบใหม่ คือบันทึกการเล่ากรณีสวรรคตของหลวงธำรงต่อทูตอเมริกัน มาแสดงว่า หลวงธำรงและปรีดี (ตามที่หลวงธำรงเล่า) มีข้อสรุปกรณีสวรรคตจริงๆ ที่เก็บเงียบไว้แตกต่างจากท่าทีที่พวกเขาแสดงออกอย่างเป็นทางการ (ดู “ข้อมูลใหม่กรณีสวรรคต: หลวงธำรงระบุชัด ผลการสอบสวนใครคือผู้ต้องสงสัยที่แท้จริง”, ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 7 ฉบับที่ 3 กรกฎาคม-กันยายน 2552, หน้า 60-73 หรือดาวน์โหลดบทความในรูป pdf จากเว็บ นิติราษฎร์ ที่นี่) อันที่จริง หลักฐานที่ผมยกมาก็น่าจะเพียงพอแล้ว แต่หากใครจะยังมีข้อสงสัยว่า นั่นเป็นเพียงการเล่าหรืออ้างของหลวงธำรงว่า ปรีดีคิดอย่างไร คำสัมภาษณ์ของท่านผู้หญิงพูนศุขต่อ The Observer เป็นการยืนยันว่า ปรีดีมีข้อสรุปกรณีสวรรคตแบบเดียวกับที่หลวงธำรงบอกทูตอเมริกันจริงๆ


ความพยายามที่ล้มเหลว - ไม่ทันกาล
ในช่วง 2 เดือนเศษ จากเดือนกรกฎาคมถึงวันที่ 16 กันยายน 2500 เมื่อสฤษดิ์และกลุ่มศักดินาร่วมกันทำรัฐประหารโค่นจอมพล ป และเผ่าลง ข่าวลือเรื่องปรีดีจะกลับ และจะมีการรื้อฟื้นคดีสวรรคตดูจะเบาบางลง เราไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า ได้มีการดำเนินการอย่างไรในเรื่องนี้ แต่ในช่วงไม่กี่วันก่อนรัฐประหาร ทั้งจอมพลและเผ่าได้เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่า ได้ติดต่อและพบปะกับหลวงธำรงและดิเรก ชัยนาม คนสนิทของปรีดีในไทย เผ่ายังบอกนักการทูตอเมริกันว่า ธำรงและดิเรกติดต่อกับปรีดีอยู่เสมอ เขาบอกด้วยว่า ปรีดีต้องการให้มีการพิจารณาคดีสวรรคตใหม่โดยเสนอให้รัฐบาลออกเป็นพระราชบัญญัติเพื่อให้สามารถรื้อฟื้นคดีขึ้นใหม่ได้ (ณัฐพล ใจจริง, หน้า 229-230)

ขณะเดียวกัน ความตึงเครียดระหว่างจอมพล ป และเผ่า กับสถาบันกษัตริย์ยังดำเนินต่อไป ในระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของพรรคฝ่ายค้าน คือประชาธิปัตย์และสหภูมิ (พรรคของสฤษดิ์) ในช่วงสิ้นเดือนสิงหาคม ส.ส.ฝ่ายค้านคนหนึ่งอ้างว่า ได้ทราบจากแหล่งข่าวว่า ระหว่างการประชุมของฝ่ายรัฐบาลเมื่อต้นเดือนมีนาคมปีนั้น เพื่อพิจารณาประกาศภาวะฉุกเฉิน โดยมีนายทหารระดับสูงเข้าประชุมด้วย ที่ประชุมมีการเสนอให้จับพระมหากษัตริย์ ส.ส.ผู้นี้ยังอ้างว่า แหล่งข่าวของเขาในพรรครัฐบาล (เสรีมนังคศิลา) รายงานว่า ในการประชุมพรรคเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2498 เผ่าได้พูดต่อหน้าจอมพลว่า ในหลวงทรงช่วยเหลือพรรคประชาธิปัตย์ (รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร, วันที่ 29 สิงหาคม 2500, หน้า 1031-1033) ในวันเดียวกับที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลนั้นเอง สฤษดิ์ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคเสรีมนังคศิลา โดยกล่าวว่า เขา “ไม่อดทนกับแผนการต่อต้านกษัตริย์” ของจอมพลและเผ่า (ณัฐพล ใจจริง, หน้า 230)

ดังที่ทราบกันทั่วไป ในที่สุด สฤษดิ์ได้ทำการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2500 ในวันยึดอำนาจ ในหลวงภูมิพลทรงมีพระบรมราชโองการในพระปรมาภิไธยของพระองค์เองโดยไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ (รัฐธรรมนูญปี 2495 ที่ให้พระบรมราชโองการต้องมีผู้รับสนอง ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่) แต่งตั้งให้สฤษดิ์เป็นผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร และทรง “ขอให้ประชาชนทั้งหลายจงอยู่ในความสงบ และให้ข้าราชทุกฝ่าย ฟังคำสั่งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์” (ดู ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 74 ตอนที่ 76 วันที่ 16 กันยายน 2500, ฉบับพิเศษ หน้า 1 หรือดาวน์โหลดได้ที่นี่) นอกจากพระบรมราชโองการนี้แล้ว การสนับสนุนของสถาบันกษัตริย์ต่อรัฐประหารของสฤษดิ์ ยังได้รับการยืนยันจากหลักฐานร่วมสมัยทั้งของไทย, อเมริกันและอังกฤษ (ผู้สนใจรายละเอียดโปรดดู ณัฐพล ใจจริง, หน้า 223-247) สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งของการสนับสนุนนี้คือ เพื่อยับยั้งการร่วมมือระหว่างจอมพล ป-เผ่า กับปรีดีในการรื้อฟื้นคดีสวรรคตขึ้นใหม่ (รายงานซีไอเอในขณะนั้นสรุปว่า “เนื่องจากพระองค์ทรงกลัวแผนการของจอมพล ป ที่จะนำปรีดีกลับมาจากจีน”)


(เผยแพร่ครั้งแรก ประชาไท 22 ตุลาคม 2553)

ปัจฉิมลิขิต บทความ “พระบารมีปกเกล้า: พระสุรเสียงราชินีบนเวทีพันธมิตร”



วันที่ 12 สิงหาคม 2551 ผมได้เผยแพร่บทความเรื่อง "พระบารมีปกเกล้า: พระสุรเสียงราชินีบนเวทีพันธมิตร" ที่ประชาไทและที่อื่นๆ ขณะนั้น นัยยะความสำคัญของสิ่งที่บทความกล่าวถึง ยังไม่เป็นที่ตระหนักกันอย่างเต็มที่ ในบทความดังกล่าว ผมได้เล่าถึงการปรากฏของเทปบันทึกพระสุรเสียงของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถบนเวทีชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในช่วงวันเข้าพรรษา-อาสาฬหบูชา กลางเดือนกรกฎาคมปีนั้น โดยที่เทปบันทึกพระสุรเสียงนั้นเป็นเทปส่วนพระองค์ที่ไม่เคยเผยแพร่ที่ใดมาก่อน แต่สนธิ ลิ้มทองกุล ผู้นำกลุ่มพันธมิตร กลับสามารถนำมาเปิดให้ผู้ร่วมชุมนุมฟังได้อย่างประหลาด ยิ่งกว่านั้น สนฺธิยังได้เสนอการตีความเทปบันทึกพระสุรเสียงในลักษณะที่สอดคล้องสนับสนุนการต่อสู้ของกลุ่มพันธมิตรในขณะนั้น ที่กำลังจัดชุมนุมยืดเยื้อเพื่อโค่นรัฐบาลจากการเลือกตั้งของพรรคพลังประชาชน

บทความของผมยังเสนอด้วยว่า ลำพังเทปพระสุรเสียงส่วนพระองค์บนเวทีพันธมิตรก็นับว่าสำคัญอย่างมากแล้ว บันทึกและคำบอกเล่าของผู้นำพันธมิตรในช่วง 2 ปีก่อนหน้านั้น เกี่ยวกับการต่อสู้ของพันธมิตรในปี 2549 ที่นำไปสู่การรัฐประหาร 19 กันยา ก็ยิ่งทำให้เกิดคำถามมากขึ้น ได้แก่ บันทึกของคำนูญ สิทธิสมาน (ตุลาคม 2549) ที่กล่าวถึง “ผ้าพันคอสีฟ้า” ที่มีข้อความ “902...74...12 สิงหาคม 2549...แม่ของแผ่นดิน” ซึ่งคำนูญเล่าว่า มี “ท่านผู้ปรารถนาดี” มอบให้ผู้นำพันธมิตรในช่วงการชุมนุมไม่กี่วันก่อนรัฐประหาร และเงินจำนวน 2.5 แสนบาท ที่ “สุภาพสตรีสูงศักดิ์” และ “ผู้ใหญ่ที่ท่าน[สุภาพสตรีสูงศักดิ์]เคารพ” มอบให้ในช่วงเดียวกัน ซึ่งได้ทำให้ผู้นำพันธมิตร “มีความมั่นใจอย่างยิ่งว่าพวกเราจะประสบชัยชนะแน่นอน” และ “ความทรงจำที่จะไม่มีวันลืมเลือนไปจวบวันตายก็คือ ครั้งหนึ่งในชีวิต ประชาชนช่วยจ่ายเงินเดือนเราโดยตรง แผ่นดินช่วยจ่ายเงินเดือนพวกเราโดยตรง” ซึ่งต่อมา สนธิ ลิ้มทองกุล ได้กล่าวในระหว่างการอภิปรายในสหรัฐ เมื่อเดือนสิงหาคม 2550 ว่า “มีของขวัญชิ้นหนึ่ง มาจากราชสำนัก ผ่านมาทางท่านผู้หญิงบุษบา ซึ่งเป็นน้องสาวพระราชินี....ผมเข้าไปรับด้วยตัวเองกับท่านผู้หญิงบุษบา” และอีกครั้งบนเวทีพันธมิตรในเดือนมิถุนายน ปีต่อมาว่า “ผ้าพันคอนี้ ข้าราชบริพารในสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถได้เอามาให้พวกเราคืนนั้น แล้วบอกว่า พระองค์ท่านพระราชทานมา เป็นผ้าพันคอพระราชทาน

ดังที่ผมกล่าวข้างต้นแล้วว่า ขณะที่บทความของผมได้รับการเผยแพร่เมื่อ 2 ปีก่อน นัยยะความสำคัญของเรื่องเหล่านี้ยังไม่เป็นที่ตระหนักกันดี แม้แต่ในหมู่ผู้อ่านที่สนับสนุนรัฐบาลพรรคพลังประชาชนและเป็นปฏิปักษ์กับพันธมิตร หลายคนยังมองว่า เรื่องทั้งหมดนี้เป็นเพียงการกล่าวอ้างของผู้นำพันธมิตร (ผมไม่คิดว่า เรื่องใหญ่และสำคัญเช่นนี้ พวกเขาจะกล้ากล่าวอ้าง) แต่ไม่ถึง 2 เดือนต่อมา ก็เกิดเหตุการณ์ 7 ตุลาคม ที่ผู้ชุมนุมพันธมิตรปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจบริเวณหน้ารัฐสภาและกองบัญชาการตำรวจนครบาล โดยมีพันธมิตรเสียชีวิต 2 คน คือ น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ หรือ “น้องโบว์” และ พ.ต.ท.เมธี ชาติมนตรี หรือ “สารวัตรจ๊าบ”

สิ่งแรกที่น่าจะสร้างความรู้สึกตกใจคาดไม่ถึง ให้กับผู้ติดตามเหตุการณ์ในวันนั้น คือ ภายในชั่วโมงแรกๆของการปะทะ บนเวทีและทางสื่อพันธมิตร ได้ประกาศว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถทรงพระราชทานเงิน 1 แสนบาท รักษาพันธมิตรที่บาดเจ็บ ที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลวชิระพยาบาล(1) แม้ว่าในตอนเย็นวันนั้น จะมีรายงานข่าวจากโรงพยายาลรามาธิบดีทางสื่อพันธมิตรเองว่า ทรงพระราชทานเงินช่วยรักษาผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ที่เข้ารับการรักษาที่นั่น “อย่างเท่าเทียมกัน” แต่ก็ดูเหมือนจะไม่ได้หมายถึงว่า รักษาผู้บาดเจ็บทั้งที่เป็นพันธมิตรและเจ้าหน้าที่ เพราะดูเหมือนจะไม่มีเจ้าที่บาดเจ็บอยู่ที่นั่น(2) และใน 2 วันต่อมา ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีฆะระ รองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ได้แถลงว่า พระราชินีทรงติดตามข่าวเหตุการณ์ชุมนุมทางสถานีวิทยุโทรทัศน์และสิ่งพิมพ์ ทอดพระเนตรเห็นประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บและถูกนำส่งโรงพยาบาล ทรงสลดพระราชหฤทัยและทรงห่วงใยประชาชนทุกหมู่เหล่า "การพระราชทานความช่วยเหลือในครั้งนี้เป็นการช่วยเหลือประชาชนทุกคน โดยไม่แบ่งว่าเป็นฝ่ายใด เพราะประชาชนทุกคนนั้นคือพสกนิกรของพระองค์ทุกคน"(3) แต่ความจริง “ประชาชน” ในครั้งนั้นมีเฉพาะฝ่ายพันธมิตรเท่านั้น เพราะไม่ใช่การปะทะระหว่างประชาชนฝ่ายพันธมิตรกับประชาชนฝ่ายอื่น ที่เหลือที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์คือเจ้าหน้าที่รัฐ อย่างไรก็ตาม ในวันเดียวกัน มีรายงานข่าวว่า ทรงพระราชทานเงินช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บตามโรงพยาบาลต่างๆด้วย ถึงกระนั้น ผมคิดว่าการพระราชทานเงินช่วยเหลือครั้งแรกสุดในชั่วโมงแรกๆของเหตุการณ์ที่มีแต่ฝ่ายพันธมิตรบาดเจ็บ ก็ยังเป็นการกระทำที่มีนัยยะทางการเมืองที่สำคัญมาก(4)

ถ้าจะยังมีความไม่แน่นอนอยู่บ้าง เกี่ยวกับเรื่องเงินพระราชทานรักษาผู้บาดเจ็บในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 สิ่งที่เป็นเรื่อง “ช็อค” อย่างแท้จริงยังกำลังจะตามมา

วันที่ 9 ตุลาคม สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ได้ทรงพระราชทานพวงมาลามาร่วมเคารพศพ น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ หรือ “น้องโบว์” แต่ที่สำคัญที่สุดคือ วันที่ 13 ตุลาคม 2551 สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถได้ทรงเสด็จไปพระราชทานเพลิงศพให้ “น้องโบว์” ด้วยพระองค์เอง (โดยมีองคมนตรีหลายคน ผู้บัญชาการ 3 เหล่าทัพ ร่วมตามเสด็จ)(5) ในระหว่างงาน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ครอบครัวระดับปัญญาวุฒิเข้าเฝ้า มีพระราชปฏิสันถารด้วยโดยใกล้ชิด ทั้งยังทรงมีพระราชปฏิสันถารเป็นการส่วนพระองค์กับสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้นำพันธมิตรในที่นั้นด้วย นายจินดา ระดับปัญญาวุฒิ บิดา “น้องโบว์” ได้เปิดเผยว่าทรงมีรับสั่งกับครอบครัวเขาว่า
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับนางสาวอังคณา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับรู้เรื่องราวโดยตลอด รวมทั้งกรณีพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานทรัพย์ช่วยเหลือมาด้วย..... [อังคณา] เป็นเด็กดี ช่วยชาติ ช่วยรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์....ยังไงก็ต้องมางานนี้ เพราะ [อังคณา] ทำเพื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระองค์ [สมเด็จพระนางเจ้าฯ] ด้วย....เป็นห่วงพันธมิตรทุกคน ไว้จะฝากดอกไม้ไปเยี่ยมพันธมิตร(6)
แทบไม่จำเป็นต้องย้ำว่า น.ส.อังคณา ผู้ตาย (และสนธิ ลิ้มทองกุลเอง) เป็นส่วนหนึ่ง (และเป็นผู้นำ) ของกลุ่มการเมืองที่กำลังชุมนุมยืดเยื้อโดยมีเป้าหมายที่ประกาศเปิดเผยว่า เพื่อโค่นล้มรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมายในขณะนั้น ทั้งยังได้กำลังยึดครองทำเนียบรัฐบาล ซึ่งในแง่การบริหารราชการแผ่นดิน (คือไม่นับวังหรือวัด) ต้องถือเป็นสถานที่ราชการที่มีความสำคัญสูงสุด เป็นเวลากว่า 1 เดือนแล้ว

การเสด็จพระราชทานเพลิงศพ “น้องโบว์” และพระราชดำรัสที่บิดา “น้องโบว์” นำมาเปิดเผย เป็น “สันปันน้ำ” (watershed) สำคัญของวิกฤติการเมืองไทยครั้งนี้ ซึ่งได้ส่ง “คลื่นแห่งความตกใจ” (shock wave) ทางการเมือง อย่างกว้างขวางใหญ่โต

ในความเห็นของผม นี่คือปัจจัยผลักดันสำคัญที่สุดที่แท้จริงให้เกิด “จิตสำนึก” หรือ “อัตลักษณ์” ของ “ความเป็นเสื้อแดง” การชุมนุมมวลชนนับหมื่นที่พร้อมใจกันใส่เสื้อแดงเป็นครั้งแรก มีขึ้นในวันที่ 11 ตุลาคม 2551 (ที่เมืองทองธานี) ในท่ามกลางกระแสคลื่น shock wave เช่นนี้เอง แม้การชุมนุมครั้งแรกจะมีก่อนการเสด็จพระราชทานเพลิงศพ “น้องโบว์” แต่ข่าวเรื่องเงินพระราชทานช่วยพันธมิตรที่บาดเจ็บในเช้าวันที่ 7 ตุลาคม และพวงมาลาพระราชทานหน้าศพ “น้องโบว์” เป็นที่ทราบกันดีแล้ว(7) และเมื่อถึงการชุมนุมมวลชน “เสื้อแดง” ครั้งที่สอง ที่ใหญ่กว่าเดิม เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2551 (ที่สนามกีฬาราชมังคลา) “จิตสำนึก” เช่นนี้ก็ได้รับการทำให้เข้มข้นอย่างสูง จากเหตุการณ์วันที่ 13 ตุลาคม ซึ่งถึงตอนนั้นได้รับการ “ขนานนาม” กันในหมู่ “คนเสื้อแดง” ที่เพิ่งเกิดใหม่ว่าเป็น “วันตาสว่าง” (แห่งชาติ)

ผมตระหนักดีว่า ไอเดียของการใส่ “เสื้อแดง” เพื่อรณรงค์ทางการเมืองในหมู่ประชาชนที่ต่อต้านการรัฐประหาร 19 กันยา มีมาตั้งแต่ช่วงปี 2550 โดยเฉพาะในกลุ่มของสมบัติ บุญงามอนงค์ (“บ.ก. ลายจุด”) แต่การใส่ “เสื้อแดง” ในช่วงนั้น เป็นเพียงการกระทำในลักษณะ “ชั่วคราว” สั้นๆ ในคนกลุ่มเล็กๆ และก็ยังมีการ “เปลี่ยนสีเสื้อ” ไปตามกรณี (เช่น สีดำ ในระหว่างรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ คมช.) อันที่จริง ถ้าจะกล่าวว่า มี “สี” อะไรที่เป็นสีเสื้อซึ่งประชาชนที่คัดด้านรัฐประหารในปี 2550 ใส่กันมากที่สุด สีนั้นคือ “สีเหลือง” (แบบเดียวกับพันธมิตร)! ประเด็นที่ผมพยายามเสนอในที่นี้คือ เราต้องแยกพิจารณาระหว่าง “กำเนิด” (ในทาง “เทคนิค”) ของไอเดียนี้ กับสิ่งที่ต่อมาได้กลายเป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองขนาดใหญ่ที่มีคนเข้าร่วมด้วยหลายหมื่นหรือกระทั่งนับแสนคนทั่วประเทศ ที่พร้อมใจกัน “นิยามตัวเอง” (self-identification) ว่าเป็นพวกที่ไมใช่สีเหลือง (ซึ่งในหมู่พวกเขาจำนวนมากเคยนิยามตัวเอง) ปรากฏการณ์ทาง “การเมืองวัฒนธรรม” ขนาดมหึมาเช่นนี้ จะต้องมองบริบทที่มากกว่าการ “คิดค้น” ทางเทคนิคเรื่องการใส่สีเสื้อ (ที่มีมาก่อนเป็นปี) ดังกล่าว

ไม่เพียงแต่เรื่องการแสดงออกของ “อัตลักษณ์” ทางสีเสื้อที่ไม่ใช่สีเหลืองนี้ การแสดงออกในด้านอื่นๆ ก็เปลี่ยนไปอย่างสำคัญอย่างเห็นได้ชัดหลัง 13 ตุลาคม 2551 ใครที่ติดตามการแสดงความเห็นทางเว็บบอร์ดการเมืองโดยเฉพาะในกลุ่มคนที่เรียกได้ว่า “พวกเชียร์ทักษิณ” ก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงนี้ ความคิดหรือการแสดงออกที่ภายหลังถูกศัตรูทางการเมืองของพวกเขากล่าวหาว่า “หมิ่นสถาบัน” หรือ “ล้มเจ้า” นั้น หาใช่สิ่งที่มีอยู่อย่างแพร่หลายในคนกลุ่มนี้ตั้งแต่ต้นแต่อย่างใด อารมณ์ความรู้สึกทั้งในแง่ “ช็อค”, ผิดหวังรุนแรง, “น้อยเนื้อต่ำใจ”, ขณะเดียวกันก็มีด้านที่ “ฮึดสู้” อย่างท้าทาย (defiance) ผสมผสานกันไปในการแสดงออกของกลุ่ม “คนเสื้อแดง” ที่เพิ่ง “เกิดใหม่” นี้ บางส่วนถึงกับ “กระฉอก” (spilling over) เข้าไปในแวดวงสภาผู้แทนราษฎร เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของพรรคพลังประชาชน พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ กล่าวต่อสภาฯ เมื่อถูกตั้งกระทู้ถามเรื่องการยึดครองทำเนียบรัฐบาลของพันธมิตร “ผมต้องพูดเปิดอกกับท่านทั้งหลายว่า ทุกท่านที่อยู่ในห้องนี้ทราบดีว่า ม็อบนี้เป็นม็อบมีเส้น ถ้าเป็นม็อบธรรมดาจบไปแล้วครับ จบไปนานแล้ว(8) หรือเมื่อ ส.ส.พรรคพลังประชาชน-เพื่อไทย คนหนึ่งอ้างว่า สส.กลุ่ม “เพื่อนเนวิน” (กลุ่มที่ถอนตัวจากพรรคพลังประชาชน-เพื่อไทย ไปสนับสนุนประชาธิปัตย์ ทำให้ประชาธิปัตย์สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้) 2 คน บอกกับเขาว่า "รู้ไหม ขณะนี้กำลังสู้อยู่กับใคร สู้อยู่กับสถาบันไม่มีทางชนะหรอก"(9)

แต่ที่สะท้อน อารมณ์ความรู้สึกของ “คนเสื้อแดง” หลัง 13 ตุลาคม 2551 ได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุดจนเป็นที่กล่าวขวัญกันคือ คำปราศรัยสด (“ไฮด์ปาร์ค”) เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2551 ของณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ ที่พูดด้วยอารมณ์สะเทือนใจอย่างลึกซึ้ง “เมื่อเรายืนอยู่บนดิน เราจึงห่างไกลเหลือเกินกับท้องฟ้า ... ต้องแหงนคอตั้งบ่า แล้วเราก็รู้ว่า ฟ้าอยู่ไกล .... คนเสื้อแดง จะบอกดินบอกฟ้าว่า คนอย่างข้าฯก็มีหัวใจ ... คนเสื้อแดง จะถามดินถามฟ้าว่า ถ้าไม่มีที่ยืนให้สมคุณค่า..จะให้ข้าฯหาที่ยืนเองหรืออย่างไร...(10)


………….......………..



หลังวันที่ 13 ตุลาคม 2551 ไม่ปรากฏข่าวสารทางสาธารณะเรื่องพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถในส่วนที่เกี่ยวกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอีก กลุ่มพันธมิตรเองได้ยุติการชุมนุมยืดเยื้อที่รวมถึงการยึดครองทำเนียบรัฐบาลและ (ตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน) สนามบินสุวรรณภูมิ ในวันที่ 3 ธันวาคม 2551 หลังจากรัฐบาลพรรคพลังประชาชนของสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และพรรคพลังประชาชนเอง สิ้นสุดลงตามคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ในช่วงวันเฉลิมพระชนม์พรรษาปีต่อมา สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ ชิงชัย อุดมเจริญกิจ ศิลปินนักวาดรูปที่ร่วมชุมนุมกับพันธมิตรและเสียมือขวาในระหว่างเหตุการณ์ 7 ตุลาคม พร้อมภรรยา เข้าเฝ้าเพื่อทูลเกล้าฯถวายภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระองค์ ที่ชิงชัยวาดด้วยมือซ้ายที่เขาหัดใช้แทนมือขวา ทรงรับสั่งต่อชิงชัยว่า “เก่งมาก”(11)

อีก 1 ปีต่อมา ในเรื่องที่ไม่ได้เกี่ยวกับกลุ่มพันธมิตรโดยตรง แต่เกี่ยวกับ “คนเสื้อแดง” ที่เป็นปฏิปักษ์กับพันธมิตร ในต้นเดือนสิงหาคม 2553 ได้มีผู้เผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ต ภาพถ่ายพระราชหัตถเลขาของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ถึง นภัส ณ ป้อมเพ็ชร แสดงความชื่นชมที่ นภัส เขียนจดหมายเปิดผนึกถึง CNN วิพากษ์วิจารณ์การรายงานข่าวของ CNN ระหว่างเหตุการณ์ที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมของ “คนเสื้อแดง” ที่ราชประสงค์ในเดือนพฤษภาคม ว่าเป็นการรายงานข่าวที่ให้ร้ายรัฐบาลและเข้าข้าง “คนเสื้อแดง” อย่างไม่ถูกต้อง ในจดหมายที่เริ่มเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ตในเย็นวันที่ 16 พฤษภาคม (คือยังอยู่ในช่วงที่การปราบปรามของรัฐบาลเริ่มดำเนินไป 2-3 วัน และห่างจากวันที่ยุติ 3 วัน)(12) นภัสได้โจมตี “คนเสื้อแดง” อย่างรุนแรงหลายตอน เช่นกล่าวว่า “คนเสื้อแดง” ได้ “terrorised and harmed innocent civilians” ทำให้ชาวกรุงเทพเช่นเธออยู่ในภาวะ “state of constant terror and anxiety” ว่าจะถูกพวกนั้นโจมตีหรือปาระเบิดเข้าใส่ การกระทำของ “คนเสื้อแดง” เข้าข่าย “terrorist activities” ฯลฯ ในพระราชหัตถเลขาถึง นภัส ลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2553 (คือ 2 เดือนหลังเหตุการณ์ยุติและความเสียหายต่างๆเป็นที่ทราบแน่นอนแล้ว) สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถทรง “รู้สึกภูมิใจ” ที่นภัส “ยืนขึ้นทำหน้าที่ของคนไทยตอบโต้นักข่าวต่างชาติอย่างองอาจ...ทำให้ประชาคมโลกที่ได้อ่านจดหมายของคุณต้องทบทวนความเชื่อถือที่มีต่อ CNN” ทรง “ชื่นชมยิ่งที่คุณช่วยฟื้นฟูภาพลักษณ์ของประเทศชาติ



เขียนเสร็จ
12 สิงหาคม 2553

(เผยแพร่ครั้งแรก ประชาไท 12 สิงหาคม 2553)

Wednesday, March 03, 2010

พระราชหัตถเลขาสละราชย์ ร.7: ชีวประวัติของเอกสารฉบับหนึ่ง

เขียนร่วมกับ ประจักษ์ ก้องกีรติ



ข้อความการเมืองที่รู้จักกันดีที่สุดในสังคมไทยปัจจุบันมีอยู่ 2 ข้อความคือ “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” และตอนหนึ่งในพระราชหัตถเลขาสละราชย์ของรัชกาลที่ 7 ที่ว่า
ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่สละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยฉะเพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร

สำหรับผู้ที่สนใจในปฏิกิริยาแรกๆที่มีต่อข้อความที่หนึ่ง ขอแนะนำให้อ่านความเห็นของ “นายผี” (อัศนี พลจันทร) ในบทกวีขนาดยาวเรื่อง “ความเปลี่ยนแปลง” ที่เขาแต่งเพื่อให้กำลังใจอุทธรณ์ พลกุลนักหนังสือพิมพ์ชื่อดังและญาติของเขาที่กำลังถูกจับในกรณีกบฏสันติภาพ 2495

ในที่นี้ เราจะพยายามสืบสาวให้เห็นว่า ข้อความที่สอง ที่เป็นตอนหนึ่งในพระราชหัตถเลขาสละราชย์ของรัชกาลที่ 7 ได้กลายมาเป็นที่รู้จักกันดีได้อย่างไร

ดังที่บทความเรื่อง “ร.7 สละราชย์” ข้างต้น ได้ชี้ให้เห็น, ความขัดแย้งที่ ร.7 มีต่อคณะราษฎรอันนำไปสู่การสละราชย์ในเดือนมีนาคม 2477 (2478 ตามปฏิทินปัจจุบัน) นั้น ไม่เกี่ยวกับประชาธิปไตยแต่อย่างใด แต่คือการที่ทรงพยายามต่อรองขอเพิ่มพระราชอำนาจของพระองค์เองในระดับที่คณะราษฎรไม่อาจยอมรับได้ เดิมทีเดียว ร.7 เพียงแต่ใช้การขู่สละราชย์เป็น “อาวุธ” ต่อรองเท่านั้น แต่เมื่อขู่มากๆเข้าแล้วอีกฝ่ายไม่ยอมทำตาม จึงต้องทรงสละราชย์จริงๆ

อย่างไรก็ตาม ในการที่ทรงนิพนธ์พระราชหัตถเลขาสละราชย์นั้น ร.7ทรงหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวถึงข้อเรียกร้องรูปธรรมของพระองค์ แต่ทรงหันเข้าหาหลักการประชาธิปไตยอันสูงส่งแทน (เช่น การที่รัฐบาลไม่ยอมให้พระองค์มีบทบาทในกระบวนการทางเมืองมากขึ้นกลายเป็น “คณะรัฐบาล…ไม่ยินยอม…ให้ราษฎรได้มีโอกาสออกเสียงก่อนที่จะเปลี่ยนหลักการและนโยบายสำคัญอันมีผลได้เสียแก่ราษฎร” ฯลฯ) ซึ่งทำให้พระราชหัตถเลขามีศักยภาพที่จะกลายเป็นเอกสารสำหรับใช้โฆษณาชวนเชื่อต่อต้านรัฐบาลไปทันที อันที่จริง อาจกล่าวได้ว่านั่นเป็นพระราชประสงค์ของพระองค์ด้วย เห็นได้จากการที่ทรงมีพระบรมราชโองการมายังรัฐบาลว่า “ขอให้ประกาศพระราชหัตถ?เลขาทรงสละราชสมบัตินั้นแก่ประชาชนให้ทราบทั่วกันด้วย” (หนังสือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ถึงพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา, 4 มีนาคม 2477)

นอกจากนี้ เข้าใจว่าจะได้ทรงแจกจ่ายพระราชหัตถเลขาไปยังหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆในอังกฤษเพื่อให้มีการตีพิมพ์เผยแพร่ทันทีด้วย เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศหัวหน้าคณะผู้แทนรัฐบาลที่ไปเจรจากับร.7มีโทรเลขแจ้งมายังกรุงเทพเมื่อวันที่ 3 มีนาคม ว่า “ได้มีหนังสือพิมพ์ในประเทศอังกฤษบางฉะบับ เช่น หนังสือพิมพ์ Times ได้ลงข่าวมีข้อความอันไม่เป็นผลดี (Unfavourable) แก่รัฐบาลอยู่มาก ทั้งยังได้ลงข้อความในพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติโดยถี่ถ้วนอีกด้วย” ทำให้คณะผู้แทนต้องแถลงแก้ข่าวแก่หนังสือพิมพ์และสำนักข่าวต่างๆ

จึงไม่น่าแปลกที่รัฐบาลขณะนั้นจะพยายามควบคุมการเสนอข่าวเกี่ยวกับการสละราชสมบัติของหนังสือพิมพ์ในประเทศสยามเองอย่างเข้มงวด ให้ตีพิมพ์เฉพาะเอกสารที่รัฐบาลส่งให้เท่านั้น (ดู “เรื่องประชุมหนังสือพิมพ์” ประชาชาติรายวัน 8 มีนาคม 2477 และบทบรรณาธิการแสดงความไม่พอใจในการควบคุมข่าวนี้ของรัฐบาลใน ประชาชาติรายวัน 12 และ 14 มีนาคม 2477)

โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวพระราชหัตถเลขาสละราชย์ทั้งฉบับนั้น รัฐบาลเพิ่งให้มีการตีพิมพ์ในเดือนพฤษภาคม 2478 (คือสองเดือนหลังการสละราชย์ เพราะขณะนั้นเริ่มปีใหม่ในเดือนเมษายน) โดยพิมพ์อยู่ในหนังสือที่รวบรวมเอกสารทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาต่อรองระหว่างตัวแทนรัฐบาลกับ ร.7 (แถลงการณ์เรื่องพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ. โรงพิมพ์ศรีกรุง, 2478) แน่นอนว่า ไม่ว่า ร.7 จะทรงร่างพระราชหัตถเลขาสละราชย์ให้ออกมาดีกับพระองค์และไม่ดีกับรัฐบาลเพียงไร แต่เมื่อนำมารวมกับเอกสารอื่นๆในกรณีนี้ ก็เป็นไปได้ที่ผู้อ่านจะเห็นว่าในความขัดแย้งนี้ ร.7ทรงเป็นฝ่ายที่เรียกร้องพระราชอำนาจให้แก่พระองค์เองอย่างไม่มีเหตุผล ศักยภาพของการเป็นเอกสารต่อต้านรัฐบาลของพระราชหัตถเลขาก็ถูก “กลบ” ไปโดยปริยาย

ในทางกลับกัน ประวัติศาสตร์ของ “พลัง” การเมืองที่เพิ่มมากขึ้นของพระราชหัตถเลขาสละราชย์ ก็คือประวัติศาสตร์ของการที่เอกสารนี้ถูกดึงให้แยกออกมาจากเอกสารอื่นๆที่เป็น “ภูมิหลัง” (backgrounds) และห้อมล้อมอยู่ในปี 2478 จนในที่สุด คือการดึงเอาเฉพาะข้อความเพียง 2-3 บรรทัด ออกมาจากตัวเอกสารทั้งฉบับ (“ข้าพเจ้ามีความเต็มใจ…โดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร”) นั่นเอง

ช่วงเวลาประมาณ 10 ปีหลังจากร.7สละราชย์และในหลวงอานันท์ซึ่งยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะขึ้นครองราชย์โดยที่ยังทรงพำนักอยู่ในต่างประเทศ เป็นช่วงเวลาที่กลุ่มผู้ปกครองใหม่มีอำนาจอย่างแท้จริงขณะที่กลุ่มนิยมเจ้ามีฐานะตกต่ำทางการเมืองที่สุด อย่างไรก็ตามระหว่างปลายสงครามโลกครั้งที่สองและหลังสงครามใหม่ๆ ที่ปรีดี พนมยงค์ได้เป็นใหญ่ทางการเมืองแทนจอมพล ป. ส่วนหนึ่งเพราะต้องการสร้างความสามัคคีเพื่อ “ต่อต้านญี่ปุ่น” ปรีดีได้จัดการหรือเปิดทางให้มีการรื้อฟื้นสถานะของพวกนิยมเจ้าขึ้นทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เช่น อภัยโทษผู้ที่ถูกขังตั้งแต่คดีกบฏบวรเดช ที่สำคัญที่สุดคือการปล่อยและคืนฐานันดรศักดิ์ให้แก่ กรมขุนชัยนาท นเรนทร รวมทั้งการกราบบังคมทูลเชิญให้ในหลวงอานันท์เสด็จนิวัตพระนคร (ปรีดีเสนอให้ทรงประทับในประเทศอย่างถาวร แต่ทรงยืนยันจะกลับไปศึกษาต่อ ทรงสวรรคตก่อนเดินทางกลับเพียงไม่กี่วัน) ประกอบกับการเริ่มเข้ามามีบทบาททางการเมืองของคนอย่างม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช (เพราะปรีดีเองเรียกมา) และม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ในอีกไม่กี่ปีหลังจากนั้น และการที่คนอย่างนายควง อภัยวงศ์แยกตัวออกไปเข้ากับพวกนี้ (เพราะผิดหวังที่ปรีดีไม่สนับสนุนให้เป็นนายกฯอีกครั้ง)

ภายใต้บรรยากาศเช่นนี้ เริ่มมีการพูดถึงร.7 และความขัดแย้งที่ทรงมีต่อคณะราษฎรในแง่ที่เป็นผลดีต่อพระองค์ขึ้นเป็นครั้งแรก (ก่อนหน้านี้ในปี 2482 คำพิพากษาของศาลพิเศษที่รัฐบาลตั้งขึ้น ได้กล่าวโจมตีพระองค์อย่างรุนแรง) ในปี 2489 เปรมจิตร วัชรางกูร ได้ตีพิมพ์สารคดีการเมืองชื่อ พระปกเกล้ากับชาติไทย โดยเขียนคำอุทิศว่า “ความดีของเรื่องนี้ ถ้าหากจะมีข้าพเจ้าขออุทิศถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ผู้อาภัพของชาติไทย” และคำนำว่า “แม้พระองค์จะทรงกระทำความดี จะทรงเจตนาดีต่อประเทศชาติสักเพียงใดก็ตาม แต่เหตุการณ์ทางการเมืองในสมัยนั้นและสมัยต่อมาบีบบังคับอยู่ หามีใครอาจเผยออกได้ไม่ ภายหลังที่พระองค์ได้ทรงสละราชสมบัติแล้ว ก็ยังมีเสียงกล่าวร้ายต่อพระองค์อยู่เสมอ” ในตัวหนังสือ เปรมจิตรยังได้โจมตีว่ารัฐบาลคณะราษฎรปกครองประเทศในลักษณะเผด็จการ บีบคั้นเสรีภาพของพลเมือง และร.7เป็นผู้ทรงขอร้องให้รัฐบาลสมัยนั้นปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เขาได้นำเอาพระราชหัตถเลขาสละราชย์มาตีพิมพ์ทั้งฉบับด้วย

อย่างไรก็ตาม ตราบเท่าที่ปรีดีหรือแม้แต่จอมพลป. หรืออดีตผู้นำคณะราษฎรคนใดคนหนึ่ง ยังเป็นใหญ่ทางการเมือง อาจกล่าวได้ว่า การรื้อฟื้นพระเกียรติร.7 อย่างรอบด้านเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เพราะจะกระทบโดยตรงถึงผู้นำเหล่านี้ ต้องรอจนหลังจากสฤษดิ์ทำรัฐประหารปี 2501 และดำเนินนโยบายรื้อฟื้นสถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์อย่างขนานใหญ่

หนังสือประเภทสารคดีการเมือง 2 เล่มที่ตีพิมพ์ในปี 2505 คือ ประวัติศาสตร์ไทยในระบอบประชาธิปไตย 30 ปี ของ สิริ เปรมจิตต์ และ แผ่นดินสมเด็จพระปกเกล้า ของ วิชัย ประสังสิต เป็นตัวอย่างของงานที่เขียนถึง ร.7 อย่างเชิดชูนับตั้งแต่ยุคสฤษดิ์เป็นต้นมา ทั้งคู่ได้เอาพระราชหัตถเลขาสละราชย์มาตีพิมพ์ทั้งฉบับ วิชัยได้ย้ำถึงความเป็นนักประชาธิปไตยที่แท้จริงของพระองค์และกล่าวว่า “พระองค์ได้ทรงสละราชสมบัติในเมื่อพระองค์ทรงเห็นว่า รัฐบาลสมัยนั้นไม่อาจอำนวยความผาสุกให้แก่ประชาชนได้สมพระหฤทัยของพระองค์” ซึ่งเป็นการอธิบายที่ตรงกับ ร.7เองในพระราชหัตถเลขาสละราชย์ เขายังได้เสนอให้รัฐบาลสมัยนั้นสร้างพระบรมราชานุสาว-รีย์ ร.7 ไว้ให้ประชาชนเคารพสักการะในฐานะที่ทรงวางรากฐานประชาธิปไตยจนประเทศไทยเจริญรุ่งเรืองสืบมา

หลังการตายของสฤษดิ์ พันธมิตรระหว่างราชสำนักกับรัฐบาลทหารเริ่มแตกสลายลง (นี่เป็นกระบวนการสำคัญที่น่าจะมีการศึกษา ซึ่งจะนำไปสู่ความเข้าใจการเกิดของ “ขบวนการ 14 ตุลา”) แต่มรดกการเชิดชูสถาบันกษัตริย์ของสฤษดิ์ไม่ได้สูญหายตามไปด้วย แต่กลับ “มีชีวิตเป็นอิสระ” ของตัวเองขึ้นมา ยิ่งกว่านั้น พร้อมๆกับการเริ่มกระแสความไม่พอใจรัฐบาลทหารในหมู่ปัญญาชนในเมืองในช่วงปลายทศวรรษ 2500 ต่อต้นทศวรรษ 2510 การยกย่องสถาบันกษัตริย์ (ซึ่งการยกย่อง ร.7 เป็นส่วนหนึ่ง) ก็ได้เริ่มมีนัยยะของการโจมตีรัฐบาลทหารควบคู่กันไปด้วย คำที่ ร.7ทรงวิจารณ์คณะราษฎรจึงถูกยืมมาใช้เป็นคำวิจารณ์รัฐบาลทหารของปัญญาชนในสมัยนั้นไปด้วย

ในปี 2508 จงกล ไกรฤกษ์ ตีพิมพ์ ตัวตายแต่ชื่อยัง โดยมีพระยาศราภัยพิพัฒน์เขียนคำนำให้ ในคำนำนี้เองที่ข้อความ “ข้าพเจ้ามีความเต็มใจ….โดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร” ได้ถูกหยิบยกแยกออกมาจากตัวพระราชหัตถเลขาสละราชย์ทั้งฉบับเป็นครั้งแรก พระยาศราภัยฯเขียนว่า (การเน้นข้อความเป็นของพระยาศราภัยฯเองทั้งหมด)
ข้าพเจ้ายังต้องขอบคุณอีกเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญยิ่งยวด…ที่นำเอาพระราชหัตถเลขาสละราชบัลลังก์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมาพิมพ์ไว้ด้วย ข้าพเจ้าอ่านหลายครั้งแล้วมีความตื้นตันและขนลุกซ่าทุกครั้ง

เมื่อทรงเห็นว่ารัฐบาลไทยในสมัยนั้นมิได้ปฏิบัติถูกต้องตามทำนองคลองธรรมประชาธิปไตย อาศัยแต่พระราชกฤดาภินิหารเป็นเครื่องกำบังหน้าบริหารราชการประเทศ เพื่อประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้องเท่านั้น จึงทรงสละราชสมบัติเสียดีกว่า ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งที่ทรงไว้ว่า

“ข้าพเจ้าเห็นว่าคณะรัฐบาลและพวกพ้อง ใช้วิธีการปกครองซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักการของเสรีภาพในตัวบุคคล และหลักความยุติธรรมตามความเข้าใจและยึดถือของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่สามารถที่จะยินยอมให้ผู้ใด คณะใดใช้วิธีการปกครองอย่างนั้นในนามของข้าพเจ้าต่อไปได้ ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรทั่วไป ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติและออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์แต่บัดนี้เป็นต้นไป ฯลฯ”

ผู้ที่ได้อ่านพระราชหัตถเลขาฉบับนี้เป็นครั้งแรก ตื้นตันและเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ถึงน้ำตาไหลเป็นจำนวนมาก ยิ่งกว่าเวลาเสด็จสวรรคตที่ประเทศอังกฤษเสียอีก
นี่เป็นครั้งแรกที่มีการคัดข้อความเพียงบางส่วนจากพระราชหัตถเลขาสละราชย์มาอ้างอิง แม้ข้อความที่คัดมาจะไม่ตรงกับข้อความที่รู้จักกันดีในภายหลัง เพราะพระยาศราภัยพิพัฒน์เอาข้อความจากหลายย่อหน้ามาเชื่อมต่อกันเอง (ประโยค “ข้าพเจ้า…แก่ราษฎรทั่วไป” ถูกพิมพ์ด้วยตัวใหญ่พิเศษ)

ทั้งพระยาศราภัยฯและจงกล ไกรฤกษ์เป็นอดีตผู้ต้องขังคดีกบฏบวรเดช งานประเภทบันทึกความทรงจำของคนเหล่านี้ได้รับการตีพิมพ์ก่อน 14 ตุลาไม่นาน (ที่สำคัญอีกกรณีหนึ่งคืองานของนิมิตรมงคล นวรัตน์ อดีตนักโทษคดีบวรเดชเช่นกัน) และได้รับความสนใจจากปัญญาชนรุ่นใหม่ที่ต้องการเรียนรู้ประวัติศาสตร์การเมืองสมัย 2475 แต่ไม่สามารถหาความรู้ได้จากแหล่งอื่น เพราะยังไม่มีงานทางวิชาการสำเร็จรูปให้อ่านกันอย่างในปัจจุบัน ยิ่งกว่านั้นในเวลาใกล้กันนี้ ยังเป็นช่วงเดียวกับที่ปัญญาชนรุ่นใหม่ 2 คนที่เติบโตขึ้นมาในครอบครัวและสภาพแวดล้อมแบบนิยมเจ้าแต่ได้รับการศึกษาฝึกฝนทางวิชาการสมัยใหม่แบบตะวันตกเริ่มก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญทางสังคม: สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และ ชัยอนันต์ สมุทวณิช

สุลักษณ์แม้จะไม่ได้เขียนเรื่องร.7โดยตรง แต่งานของเขาในช่วงนี้มีลักษณะนิยมเจ้าแอนตี้คณะราษฎรอย่างชัดเจน และในปี 2511 สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ที่เขาเป็นบรรณาธิการได้ตีพิมพ์บทความของ ทองต่อ กล้วยไม้ ณ อยุธยา เรื่อง “พระปกเกล้าฯสละราชสมบัติ” หลังจากพูดถึงเหตุการณ์ทางการเมืองก่อนสละราชสมบัติแล้ว ทองต่อกล่าวว่า
ดังนั้น เมื่อพระองค์ทรงเห็นว่ารัฐบาลและพวกพ้องใช้วิธีการปกครองไม่ตรงกับหลักการของพระองค์ พระองค์ก็ไม่ทรงสามารถยินยอมให้ผู้ใด คณะใดใช้วิธีการปกครองอย่างนั้นในพระนามของพระองค์ได้ ในพระราชหัตถเลขาทรงสละราชสมบัติ ได้ทรงแถลงข้อความไว้ตอนหนึ่งน่าจับใจยิ่งว่า

“ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่สละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยฉะเพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร”

และเมื่อพระองค์ทรงเห็นว่า พระราชประสงค์ของพระองค์ที่จะให้มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงไม่สำเร็จ และเมื่อพระองค์ไม่สามารถจะคุ้มครองประชาชนได้ต่อไปแล้ว พระองค์ก็ทรงมีน้ำพระทัยกล้าหาญเด็ดเดี่ยวและเสียสละยิ่ง ด้วยการสละราชสมบัติ เพื่อเปิดหนทางให้ผู้เหมาะสมกว่ามาทำหน้าที่แทนพระองค์ต่อไป
นี่เป็นครั้งแรกที่ข้อความจากพระราชหัตถเลขาสละราชย์ปรากฏขึ้นในรูปแบบที่ที่รู้จักกันดีในปัจจุบัน โดยเฉพาะเป็นการปรากฏตัวใน สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ซึ่งมีอิทธิพลสูงสุดในหมู่ปัญญาชนสมัยนั้นก็ยิ่งมีความสำคัญอย่างมหาศาล

สามปีต่อมา ชัยอนันต์และคณะตีพิมพ์ สัตว์การเมือง ซึ่งเป็นรวมบทความทางวิชาการเกี่ยวกับการเมืองไทยตั้งแต่สมัย 2475 ถึงปีนั้น บทความในเล่มของชัยอนันต์เอง “การปูพื้นฐานการปกครองแบบประชาธิปไตยในสมัยราชาธิปไตย” นำเอาพระราชหัตถเลขาสละราชย์ทั้งฉบับมาตีพิมพ์เป็นภาคผนวก ข้อสรุปพื้นฐานของเขาที่ว่า ร.7ได้พยายามสถาปนาประชาธิปไตยแล้วอย่างค่อยเป็นเป็นไป เพราะทรงเข้าใจดีว่าราษฎรไทยยังไม่พร้อม แต่คณะราษฎรกลับมาชิงลงมือยึดอำนาจเสียก่อน (รัฐประหารไม่ใช่ปฏิวัติ) อ้างว่าเพื่อประชาธิปไตยแต่กลับใช้อำนาจเผด็จการ จึงทรงทนไม่ได้สละราชย์เพื่อประท้วงนั้น ไม่แตกต่างจากสารคดีการเมืองนิยมเจ้าทั้งหลายที่กล่าวถึงข้างต้น สิ่งที่แตกต่างออกไป (ซึ่งมีความสำคัญ) คือ เป็นครั้งแรกที่วิธีการแบบวิชาการสมัยใหม่ (methodology) เช่น การวิพากษ์หลักฐาน ถูกนำมาใช้สนับสนุนข้อสรุปแบบนี้

สัตว์การเมือง ของชัยอนันต์ เป็นจุดเริ่มต้นของงานวิชาการเกี่ยวกับ 2475 ที่มีลักษณะนิยมเจ้าแอนตี้คณะราษฎร ซึ่งครอบงำวงวิชาการสมัยใหม่ของไทย (ซึ่งโดยตัวเองเป็นสิ่งใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น) ตลอดช่วงทศวรรษ 2510 ถึงต้นทศวรรษต่อมา ซึ่งรวมถึงงานของชัยอนันต์เองอีกจำนวนมากและงานของสุวดี เจริญพงศ์, สนธิ เตชานันท์, วัลย์วิภา จรูญโรจน์ และ เบนจามิน เอ แบ็ตสัน (ในภาษาอังกฤษ ฉบับภาษาไทยเพิ่งได้รับการตีพิมพ์เมื่อเร็วๆนี้) งานศึกษา 2475 ในแนวใหม่ที่เชียร์คณะราษฎรและปรีดี เพิ่งขึ้นมาครอบงำหลังกลางทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา

ภายใต้บรรยากาศทางภูมิปัญญาแบบนิยมเจ้าในต้นทศวรรษ 2510 เช่นนี้เอง จึงไม่น่าแปลกใจที่นักกิจกรรมนักศึกษาที่ต่อต้านรัฐบาลในขณะนั้นจะรับเอาพระราชหัตถเลขาสละราชย์มาเป็น “เสียง” ของตน จุดสุดยอดมาถึงเมื่อธีรยุทธ บุญมีกับกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญนำเอาข้อความ “ข้าพเจ้ามีความเต็มใจ…โดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร” มาตีพิมพ์เป็นหน้าปกจุลสารเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่พวกเขาเดินแจกจนถูกจับในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2516 (เป็นไปได้หรือไม่ที่ธีรยุทธกับเพื่อนจะอ่านเจอและเอามาจากบทความของทองต่อ?)

ใบปลิวที่ธีรยุทธกับเพื่อนแจกพร้อมกับจุลสาร ขึ้นต้นว่า
พี่น้องประชาชนไทยที่รัก

นับตั้งแต่ครั้งเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ.2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราชปณิธานอย่างแน่ชัดว่า

“ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่สละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยฉะเพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร”

แต่ตลอด 41 ปีที่ผ่านมา อำนาจหาได้เคยตกถึงมือประชาชนไม่ คนไทยยังไม่ได้มีส่วนร่วมในการต่อสู้เพื่อสิทธิ เสรีภาพและผลประโยชน์ของตนอย่างแท้จริง การละเมิดสิทธิ เสรีภาพและผลประโยชน์ของประชาชนยังปรากฏขึ้นทั่วๆไป อันทำความยุ่งยากเดือดร้อนอดอยากแร้นแค้นให้เกิดแก่พี่น้องชาวไทยนานัปการ
ท้ายใบปลิวคือชื่อผู้ร่วมเรียกร้องรัฐธรรมนูญ 100 คน

ความยิ่งใหญ่ (ทั้งในเชิงขนาดและผลสะเทือน) ของเหตุการณ์ 14 ตุลาทำให้หลายอย่างที่มีส่วนสัมพันธ์กับมันทั้งโดยตรงโดยอ้อมถูกยกระดับให้มีความสำคัญเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองอย่างถาวรทั้งๆที่ก่อนหน้านี้อาจจะไม่เคยมีความหมายมากเท่าไร เช่น ถนนราชดำเนิน, อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย, และข้อความจากพระราชหัตถเลขาสละราชย์ อาจกล่าวได้ว่าในบรรดาผลลัพท์ทั้งหลายของ 14 ตุลา ผลลัพธ์อย่างหนึ่งซึ่งต้องถือเป็น historical irony (การประชดประชันทางประวัติศาสตร์) ก็คือการสถาปนาข้อความนี้ให้กลายเป็นสัญลักษณ์หรือคำขวัญประชาธิปไตยไป

หลังจาก 14 ตุลา การปรากฏตัวของข้อความดังกล่าวก็เป็นเพียงการยืนยันหรือสร้างความมั่นคงให้กับความเป็นสัญลักษณ์นี้ เช่น แม้แต่ใน วารสารอมธ.ฉบับพิเศษ 14 ตุลาคม วันมหาปิติ ปี 2517 (ซึ่งได้รับอิทธิพล พคท.!) หรือในเดือนมกราคม 2518 เมื่อกรมไปรษณีย์โทรเลข พิมพ์แสตมป์ชุด 14 ตุลาคมรำลึก ออกจำหน่ายซึ่งมีอยู่ 4 รูป คือ แสตมป์ 75 สต. เป็นรูปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย, 2 บาท และ 2.75 บาทเป็นภาพปั้นนูนที่เป็นส่วนล่างของปีกอนุสาวรีย์, และแสตมป์ 5 บาทเป็นภาพพานรัฐธรรมนูญและมีข้อความ “ข้าพเจ้ามีความเต็มใจ…โดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร” พิมพ์ซ้อนทับลงไป

วันที่ 10 ธันวาคม 2523 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพระราชพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พระปกเกล้าที่หน้ารัฐสภา ซึ่งเป็นพระบรมรูปขนาดหนึ่งเท่าครึ่งพระองค์จริงในฉลองพระองค์และบนพระนั่งแบบเดียวกับที่ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญในปี 2475 ทุกประการ ที่ฐานของพระบรมราชานุสาวรีย์คือข้อความ “ข้าพเจ้ามีความเต็มใจ…โดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร” โดยไม่มีพระราชประวัติจารึกไว้เลย ต่างจากพระบรมราชานุสาวรีย์อื่นๆ

พระบรมราชานุสาวรีย์ ร.7 นี้เป็นผลมาจาก 14 ตุลาอย่างชัดเจนเพราะเมื่อมีการเสนอให้สร้างครั้งแรกในปี 2512 คณะรัฐมนตรีสมัยนั้นไม่เคยนำเรื่องเข้าพิจารณาเลย จนในเดือนมกราคม 2517 สมาชิกสภานิติบัญญัติที่เกิดขึ้นจาก 14 ตุลา (ที่รู้จักกันในนาม “สภาสนามม้า”) จำนวนหนึ่งได้เสนอให้สร้างอีก และรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ (ที่มาจาก 14 ตุลาเช่นกัน) ลงมติเห็นชอบและให้สำนักเลขาธิการรัฐสภาเป็นเจ้าของเรื่องดำเนินการจนสำเร็จมีพระราชพิธีเปิดได้ในสมัยรัฐบาลเปรม

หลังจากนี้แล้วข้อความจากพระราชหัตถเลขาสละราชย์ดังกล่าวได้ถูกนำไปอ้างอิงอย่างแพร่หลายในงานเขียนต่างๆจำนวนมากจนไม่สามารถ (และไม่จำเป็น) ที่จะรวบรวมมาไว้ในที่นี้ได้หมด ข้างล่างเป็นเพียงบางตัวอย่างที่สำคัญ:

ในหนังสือ อนุสสติ 60 ปีประชาธิปไตย ซึ่งพิมพ์ขึ้นในวาระครบรอบ 60 ปีของการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 และบังเอิญเป็นช่วงที่สังคมไทยเพิ่งผ่านเหตุการณ์ 17 พฤษภาคม 2535 ได้เพียงเดือนเดียว ความพยายามที่จะเชื่อมโยงเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเข้ากับประวัติศาสตร์กว่าครึ่งศตวรรษที่แล้วเห็นได้อย่างชัดเจนจากการที่ผู้จัดพิมพ์ได้อัญเชิญพระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2535 มาพิมพ์ไว้เป็น “อนุสสติ” ในหน้าแรกๆของหนังสือ. แต่แทนที่จะมีข้อความของคณะราษฎรที่เป็นผู้เริ่มต้น “60 ปีประชาธิปไตย”, ในหน้าแรกก่อนพระราชกระแสของ 2 พระองค์ดังกล่าวกลับเป็นข้อความ “ข้าพเจ้ามีความเต็มใจ…” จากพระราชหัตถเลขาสละราชย์ของ ร.7

ห้าปีต่อมา ในหน้า 2 ของ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับประชาชน ที่สภาร่างรัฐธรรมนูญตีพิมพ์แจกจ่าย มีภาพ ร.7 กำลังพระราชทานรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 เหนือภาพเขียนว่า “2475 ราชประชาสมาสัย” ใต้ภาพคือข้อความ “ข้าพเจ้ามีความเต็มใจ…” เช่นเดียวกับการรณรงค์ “ปฏิรูปการเมือง” โดยทั่วไป, ไม่มีการอ้างอิงถึงคณะราษฎรแต่อย่างใด

แน่นอนว่า ถึงตอนนี้ข้อความดังกล่าวได้ถูกแยกออกจากพระราชหัตถเลขาสละราชย์ซึ่งโดยตัวเองก็ถูกแยกออกจากข้อเท็จจริงของการต่อรองขอเพิ่มอำนาจที่ ร.7 ทำต่อรัฐบาลคณะราษฎรในปี 2477 โดยสิ้นเชิงแล้ว เราจึงพบว่า ในปี 2538 เมื่อนักวิชาการคนหนึ่ง (ธีรภัทร เสรีรังสรรค์) ไปสัมภาษณ์ท่านผู้หญิงพูนสุข พนมยงค์ว่า “แล้วที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯมีข้อเขียนที่เกี่ยวกับทรงสละราชสมบัติที่ว่า พระองค์ท่านยินดีที่มอบอำนาจให้กับประชาชนใช่ไหมครับ มิได้ให้แก่คณะใด บุคคลใด ทางคณะราษฎรหรืออาจารย์ปรีดี ท่านมีความคิดเห็นอย่างไรบ้างครับ?” ท่านผู้หญิงก็สามารถตอบด้วยความจริงใจอย่างยิ่งว่า “ก็เห็นด้วยนะคะ ยังเอาหลักนี้มาใช้” (!?) หรือในเดือนพฤษภาคม 2543 ในระหว่างงานฉลอง 100 ปีปรีดี พนมยงค์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในรายการอ่านบทกวีสดุดีปรีดี พนมยงค์ โดยเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ มีการฉายสไลด์ประกอบ หนึ่งในภาพสไลด์ก็คือข้อความที่เขียนขึ้นเพื่อโจมตีปรีดีกับคณะนั่นเอง: “ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิม….”!

ร.7 สละราชย์: ราชสำนัก, การแอนตี้คอมมิวนิสม์ และ 14 ตุลา



วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 (ตามปฏิทินเก่า คือปี 2478 ตามปฏิทินปัจจุบัน) พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์องค์ที่เจ็ดแห่งราชวงศ์จักรีได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชหัตถเลขาประกาศสละราชสมบัติ จากบ้านพักในประเทศอังกฤษที่ทรงลี้ภัยพระองค์เองไปพำนักในขณะนั้น การสละราชสมบัตินับเป็นเหตุการณ์สุดท้ายในห่วงโซ่ของเหตุการณ์ในวิกฤตทางการเมืองที่เริ่มต้นเมื่อสองปีก่อนหน้านั้นอันเนื่องจากการเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์)

พระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติซึ่งมีความยาวเพียงไม่กี่หน้านั้นเอง ได้กลายเป็นเอกสารคลาสสิกของประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ชิ้นหนึ่ง ข้อความ 3-4 บรรทัดในตอนท้ายของพระราชหัตถเลขาที่ว่า “ข้าพ¬เจ้ามีความเต็มใจที่สละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยฉะเพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร” ได้กลายมาเป็นเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย อันที่จริง เราสามารถกล่าวได้ว่านี่เป็นหนึ่งในสองข้อความการเมืองที่รู้จักกันดีที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ (อีกหนึ่งคือ “เราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”)

พลังทางการเมืองของข้อความนี้ได้ถึงจุดสุดยอดในอีก 38 ปีให้หลัง ในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2516 เมื่อนักเคลื่อนไหวการเมืองที่เรียกตัวเองว่า “กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ” นำโดยธีรยุทธ บุญมี ได้เดินแจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญไปตามท้องถนนในกรุงเทพ ที่หน้าปกของจุลสารเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่พวกเขาเดินแจกไปด้วย คือข้อความนี้ ตีพิมพ์อย่างเด่นชัดด้วยตัวอักษรสีขาว บนพื้นสีดำ ด้วยลายเส้นเลียนแบบลายมือ “โบราณ” เน้นย้ำการเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมและสถาบันแบบจารีต

โดยการทำเช่นนี้ “สาร” ที่ธีรยุทธกับพวก “สื่อ” ออกไปโดยไม่มีการประกาศคือ บัดนี้พวกเขาจะขอทวงเอาสิ่งที่มีคนแย่งชิงไปจากพระมหากษัตริย์อย่างไม่ชอบธรรม - อย่าง “ชิงสุกก่อนห่าม” ตามที่ปัญญาชนจำนวนมากสมัยนั้นมอง การปฏิวัติ 2475 - คืนมา และที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ผู้ที่พวกเขากำลังทวง - รัฐบาลทหารในปี 2516 - ก็คือผู้สืบทอดการแย่งชิงนั้น คือ “ลูกหลาน” ของผู้ก่อการ 2475 หรือในทางกลับกัน ผู้ก่อการ 2475 ก็คือ “บรรพบุรุษ” ของรัฐบาลทหาร 2516 (ในทางเทคนิค คำว่า “ทรราช” ที่ใช้เรียกผู้นำรัฐบาลในสมัยนั้น – ผมกำลังพูดถึงคำไทยไม่ใช่ tyrant - มีคำแปลที่เป็นด้านกลับของคำว่า “มหาราช” พระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ประเสริฐ ในระหว่างการเดินขบวน 14 ตุลามีบางคนไปเขียนข้อความใต้พระบรมฉายาลักษณ์ที่ถูกอัญเชิญมานำหน้าขบวนว่า “ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตปราบทรราช”)

ในความหมายหนึ่ง เหตุการณ์ 14 ตุลา คือการที่ “ราษฎร” โดยการนำของนักศึกษาไปชิงเอาพระราชอำนาจนั้นมา “ถวายคืน” ได้สำเร็จ เพราะหลังเหตุการณ์ ทั้งนายกรัฐมนตรี (นายสัญญา ธรรมศักดิ์) คณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติ (“สภาสนามม้า”) ล้วนแต่เป็นสิ่ง “พระราชทาน” – อำนาจในการแต่งตั้งเสนาบดีทั้งปวงที่เป็นของพระมหากษัตริย์ “อยู่แต่เดิม” ได้กลับเป็นของพระมหากษัตริย์โดยแท้จริงอีกเป็นครั้งแรกนับแต่ปี 2475 (และจะเป็นครั้งเดียวเท่านั้น แม้แต่ 6 ตุลา 2519 ก็ไม่ใช่)

ในความเป็นจริง การสละราชย์ของร.7 ที่เป็นแรงบันดาลใจให้นักศึกษา 14 ตุลาต่อสู้กับรัฐบาลทหารนั้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยแต่อย่างใด ไม่แม้แต่ในความหมายแคบที่เป็นการแอนตี้เผด็จการทหารด้วยซ้ำ เหตุการณ์นี้, ดังที่ได้กล่าวข้างต้น, ต้องนับเป็นเหตุการณ์สุดท้ายของบรรดาเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นลูกโซ่มาจากการเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติของปรีดีในปี 2476

แผนเศรษฐกิจของปรีดีนั้นไม่ได้มีลักษณะเป็นมาร์กซิสต์/คอมมิวนิสต์ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าแผนดังกล่าว ไม่ “ซ้าย” หรือไม่ “รุนแรง” แบบที่พวกมาร์กซิสต์/คอมมิวนิสต์เป็นที่รู้จักกัน ในทางตรงกันข้าม ด้วยเหตุที่ไม่ได้เป็นมาร์กซิสต์/คอมมิวนิสต์นี่เอง ที่แผนของปรีดีมีความ “ซ้าย” และ “รุนแรง” เป็นพิเศษ นั่นคือ การเสนอให้บังคับชาวนารวมหมู่ (forced collectivization) และยกเลิกกรรมสิทธิ์เอกชนในที่ดินของพวกเขาทั้งหมด ซึ่งไม่มีมาร์กซิสต์/คอมมิวนิสต์ที่ไหนในโลกขณะนั้นเสนอกัน นี่เป็นเรื่องกลับตาลปัตรอย่างหนึ่งของวิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้นจากแผนเศรษฐกิจของปรีดี เรื่องกลับตาลปัตรที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ แม้เค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดีจะไม่ใช่มาร์กซิสต์ แต่ผลสะเทือนที่เกิดจากการเสนอเค้าโครงฯกลับมีความสำคัญอย่างใหญ่หลวงต่อพัฒนาการของลัทธิคอมมิวนิสม์ไทย. ในความเป็นจริง นี่คือจุดเริ่มต้นที่แท้จริงของขบวนการแอนตี้คอมมิวนิสต์ของประเทศสยาม ขณะที่คอมมิวนิสต์ “ตัวจริง” คือบรรดาสหายชาวจีนและเวียดนามได้ปฏิบัติงานในประเทศนี้เป็นเวลาหลายปีก่อนหน้าเค้าโครงฯ พวกเขาอยู่ในสถานะ “ชายขอบ” ของการเมืองกระแสหลักมากเกินกว่าที่จะกระตุ้นให้เกิดการตอบโต้อย่างเฉียบขาดจากอำนาจรัฐ ซึ่งมักถือว่าพวกเขาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาชนกลุ่มน้อย เค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดีไม่เพียงนำมาซึ่ง “พระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์” – ฉบับแรกของกฎหมายแบบเดียวกันอีกหลายฉบับ – แต่ยังรวมถึงพฤติกรรมทางการเมืองบางอย่างที่จะกลายเป็นแบบฉบับของการรณรงค์ต่อต้านคอมมิวนิสต์ตลอดระยะครึ่งศตวรรษต่อมา.

ประการแรกที่สุดคือ บทบาทที่โดดเด่นของราชสำนัก (พระมหากษัตริย์, สมาชิกในพระราชวงศ์ และผู้ใกล้ชิด) แม้ว่าฝ่ายต่อต้านเค้าโครงการของปรีดี หรือ “คอมมิวนิสม์” จะมาจากหลายส่วน แต่ราชสำนักคือส่วนที่มีบทบาทแข็งขันที่สุด. นี่เป็นความจริงนับตั้งแต่นั้นมาจนถึงต้นทศวรรษ 1980 อันเป็นยุคสิ้นสุดของขบวนการคอมมิวนิสต์ในไทย. ยิ่งกว่านั้น การแอนตี้คอมมิวนิสต์ของราชสำนัก โดยเปรียบเทียบกับกลุ่มอื่นๆ จะมีลักษณะเด่นที่คงเส้นคงวาและไม่หยุดหย่อนมากกว่า. การคัดค้านเค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดีโดยพระยาทรงสุรเดช และการรณรงค์ต่อต้านคอมมิวนิสม์ของจอมพลป.และสฤษดิ์ในเวลาต่อมามัก “ปะปน” อยู่กับการต่อสู้แย่งชิงอำนาจของพวกเขากับกลุ่มปกครองอื่น (พระยาทรงฯกับปรีดีและหลวงพิบูล, จอมพลป.กับปรีดี, สฤษดิ์กับจอมพลป.) ซึ่งบางครั้งถึงกับนำไปสู่การที่สองคนหลัง (จอมพลป.กับสฤษดิ์) หันมา “จีบ” คอมมิวนิสต์เสียเองด้วยซ้ำ. พระมหากษัตริย์ (พระปกเกล้าฯและรัชกาลปัจจุบัน) และบรรดาผู้ใกล้ชิด, อาจเพราะความที่ “อยู่เหนือการเมือง” ของพระองค์, มีแนวโน้มที่จะมีลักษณะ “เป็นตัวตน” (embodiment) ของอุดมการณ์หลักที่แอนตี้คอมมิวนิสม์แบบบริสุทธิ์ ไม่มีสิ่งอื่น “เจือปน” มากกว่า

ประการที่สอง ในระหว่างวิกฤตการณ์เค้าโครงการเศรษฐกิจ แม้ว่าปรีดีจะพยายามอย่างเต็มที่ที่จะลากเส้นแบ่งระหว่าง “สังคมนิยม” กับ “คอมมิวนิสม์” และยืนกรานว่าเขาเสนอสิ่งแรกไม่ใช่สิ่งหลัง ในสายตาของราชสำนัก ไม่มีความแตกต่างระหว่างทั้งสอง เกือบสี่สิบปีต่อมา เสนีย์ ปราโมช นักการเมืองนิยมเจ้าคนสำคัญกล่าวว่า “เราไม่เคยเลิกสงสัยได้เลยว่าปรีดีเป็นคอมมิวนิสต์” (Jayanta Kumar Rey, ed., Portraits of Thai Politics, 1972, p. 171) ฝ่ายซ้ายหลังจากปรีดีจำนวนมากก็พยายามยืนยันแบบเดียวกันและไร้ผล คำขวัญอันอื้อฉาวของฝ่ายขวากลางทศวรรษ 1970 ที่ว่า “สังคมนิยมทุกชนิดคือคอมมิวนิสต์นั่นเอง” มีต้นตำรับจาก “พระบรมราชวินิจฉัยเค้าโครงการเศรษฐกิจ” ของพระปกเกล้าฯนั่นเอง

ประการสุดท้าย สำหรับราชสำนัก “คอมมิวนิสม์” เป็นอันตรายไม่ใช่ต่อรัฐธรรมนูญหรือรัฐสภา (ยิ่งไม่ต้องพูดถึงต่อ “ประชาธิปไตย”) มากเท่ากับต่อการดำรงอยู่ของสถาบันกษัตริย์เอง อันตรายของคอมมิวนิสต์เท่ากับอันตรายของสาธารณรัฐนิยม (republicanism) เพราะหลัง 2475 เป็นที่ชัดเจนว่าไม่มีกลุ่มการเมืองอื่นใดที่จะเสนอให้เลิกล้มสถาบันพระกษัตริย์ นับจากนี้ ข้อกล่าวหา “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” กับข้อกล่าวหาคอมมิวนิสต์จะเดินคู่ไปด้วยกัน จนบรรลุจุดสุดยอดในกรณีนองเลือด 6 ตุลาคม 2519

ความกลัวคอมมิวนิสม์-สาธารณรัฐนิยมของราชสำนักที่ควบคู่กันไปนี้ ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในจดหมายและบันทึกส่วนพระองค์ที่พระปกเกล้าฯทรงมีถึงนายเจมส์ แบ๊กซเตอร์ ที่ปรึกษารัฐบาลไทยด้านการคลังชาวอังกฤษในต้นเดือนสิงหาคม 2476 นี่เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาที่ขึ้นมามีอำนาจหลังจากรัฐประหาร 20 มิถุนายน 2476 ไล่พระยามโนปกรณ์กับพวกออกไปแล้ว กำลังพยายามขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตนำนายปรีดี พนมยงค์กลับประเทศ (ปรีดีถูกพระยามโนฯบีบให้ออกนอกประเทศหลังเกิดวิกฤติเค้าโครงการเศรษฐกิจตอนต้นปี) และรับตำแหน่งในรัฐบาลอีก ในทางเปิดเผย พระปกเกล้าฯทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตทั้งสองกรณี แต่ในจดหมายถึงแบ๊กซเตอร์ ทรงแสดงความเชื่อว่าปรีดีต้องการให้สยามกลายเป็น “สาธารณรัฐสังคมนิยม…โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” และกำลังวางแผนที่จะทำลายพระราชวงศ์และหลอกล่อให้พระองค์เองสละราชสมบัติ ในทัศนะของพระองค์ สมาชิกสายพลเรือนของคณะราษฎรยกย่องบูชาปรีดีอย่างหลับหูหลับตา “ชนชั้นที่ตื่นตัวทางการเมืองชนชั้นเดียวของสยามโน้มเอียงไปทางคอมมิวนิสม์”, ทรงกล่าวกับแบ๊กซเตอร์. ขณะที่กองทัพแม้ว่าจะจงรักภักดีต่อราชบัลลังก์ก็ขาดหลักการและผู้นำที่เข้มแข็ง ปรีดีจึงเป็นผู้ควบคุมในทางเป็นจริงและใช้พระยาพหลฯบังหน้า ทรงแสดงความผิดหวังที่บรรดา “ผู้นิยมระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ” (constitutional monarchists) ไม่ยอมทำอะไร พวกเขาพึงพอใจกับการปล่อยให้เป็นภาระของพระองค์และการแทรกแซงของต่างชาติที่จะ “ปกป้องประเทศจากคอมมิวนิสม์” แต่ทรงตั้งข้อสังเกตว่า “ภัยอันแท้จริงของคอมมิวนิสม์อาจจะผลักดันให้คนพวกนี้ลงมือทำอะไรบางอย่าง ซึ่งบางทีคงจะสายเกินไป”

อันที่จริง การตระเตรียมกบฏด้วยอาวุธกำลังดำเนินไปในขณะนั้นจริงๆ หลวงโหมรอนรานอดีตนายทหารมณฑลทหารบกที่หนึ่งในช่วงก่อน 2475 - เขากำลังตามเสด็จอยู่ที่พระราชวังไกลกังวลในวันที่ 24 มิถุนา - และหนึ่งในผู้วางแผนกบฏ เล่าในภายหลังว่า ถึงเดือนกันยายน 2476 การเตรียมการกบฏ “ได้รวบรัดเข้าไปมากแล้ว” (ดู หลวงโหมรอนราน, เมื่อข้าพเจ้าก่อการกบฏ, 2492, น. 62) เพียง 11 วันหลังจากปรีดีเดินทางกลับสยามการกบฏก็เริ่มขึ้น (11 ตุลาคม 2476) นำโดยพระองค์เจ้าบวรเดชอดีตเสนาบดีกลาโหม (พ.ศ. 2471-2474) ทหารหัวเมืองจำนวนหนึ่งเดินทัพเข้ากรุงเทพ. ประโยคแรกสุดของคำขาดที่ฝ่ายกบฏยื่นต่อรัฐบาลเผยให้เห็นความกลัวคอมมิวนิสม์-สาธารณรัฐนิยมของพวกเขา: “รัฐบาลนี้ได้ปล่อยให้คนหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและนำหลวงประดิษฐ์มนูธรรมกลับมาดำเนินนโยบายคอมมิวนิสต์” (รวบรวมคำแถลงการณ์และประกาศต่างๆซึ่งรัฐบาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ประกาศแก่ข้าราชการฝ่ายทหาร, พลเรือนและราษฎรทั่วไป. โรงพิมพ์ศรีกรุง, 2476, น. 12) เช่นเดียวกัน ข้อเรียกร้องข้อแรกใน 6 ข้อของคำขาดฉบับที่สอง เรียกร้องให้รัฐบาลทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้สยามมีพระมหากษัตริย์ปกครอง “ชั่วกัลปาวสาน” (เป็นความจริงที่ว่าฝ่ายกบฏใช้คำว่า “พระมหากษัตริย์ปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญ” แต่ประโยคดังกล่าวทั้งประโยคและคำขาดทั้งฉบับให้น้ำหนักกับคำแรกมากกว่าคำหลังอย่างไม่ต้องสงสัย ยิ่งกว่านั้น ยังไม่แน่ชัดว่าฝ่ายกบฏหมายถึงรัฐธรรมนูญแบบไหนถ้าพวกเขายึดอำนาจสำเร็จ หลวงโหมรอนราญเขียนไว้ในบันทึกความทรงจำของเขาว่า “จะได้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เหมาะสม และถวายพระราชอำนาจแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” (หลวงโหมรอนราญ, น. 61-2) การกบฏถูกปราบปรามพ่ายแพ้โดยทหารรัฐบาลที่นำโดยหลวงพิบูลสงคราม

สามเดือนต่อมา พระปกเกล้าฯเสด็จออกนอกประเทศ สุดท้ายไปพำนักที่อังกฤษ โดยที่ยังทรงวิตกกังวลเรื่องภัยคอมมิวนิสม์-สาธารณรัฐนิยมต่อไป ปลายปี 2477 ทรงเริ่มใช้สิ่งที่ทรงบรรยายต่อเจมส์ แบ๊กซเตอร์ว่าเป็น “อาวุธที่ร้ายแรงที่สุด” ของพระองค์ ซึ่งได้ทรง “ใช้อย่างได้ผลมาหลายครั้งแล้ว” นั่นคือ การขู่ว่าจะสละราชย์ “เพื่อให้ได้ผลจริงๆ”, ทรงกล่าวกับแบ๊กซเตอร์, พระองค์จะต้อง “สามารถหลีกไปพักในที่ซึ่งปลอดภัยบางแห่ง” ถ้าทรงขู่สละราชย์ในกรุงเทพจะ “ได้ผลไม่ถึงครึ่ง”

เมื่อได้รับคำขู่จะสละราชย์ รัฐบาลก็ส่งผู้แทนคณะหนึ่งไปเจรจากับพระปกเกล้าฯที่อังกฤษ ทรงรับสั่งกับคณะผู้แทนว่า ความขัดแย้งหลักในขณะนั้นคือ “ระหว่างพวก Socialist และ Anti-Socialist” (ดู แถลงการณ์เรื่องพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ. โรงพิมพ์ศรีกรุง, 2478, น. 34 ทรงใช้ทับศัพท์ภาษาอังกฤษ) ก่อนหน้านั้นเคยรับสั่งกับแบ๊กซเตอร์ว่า “การต่อสู้หลักคือต่อต้านคอมมิวนิสม์” ข้อเรียกร้องอย่างเป็นทางการที่พระองค์ระบุในพระราชบันทึก 2 ฉบับแรกถึงรัฐบาล สะท้อนให้เห็นถึงความกลัวคอมมิวนิสม์-สาธารณรัฐนิยมอีกครั้ง (แถลงการณ์…ทรงสละราชสมบัติ, น. 152-3; ทรงขีดเส้นใต้เอง):
ถ้าหากจะให้ฉันดำรงตำแหน่งต่อไป ต้องขอให้
1. เลิกความระแวงสงสัย …….
2. ให้บุคคลต่างๆในรัฐบาลเลิกกล่าวร้ายทับถมการงานของพระราชวงศ์จักรี และของรัฐบาลเก่าและขอให้ปราบปรามผู้ที่ดูถูกพระราชวงศ์จักรีอย่างเข้มงวด
3. ต้องแสดงความเคารพนับถือในองค์พระมหากษัตริย์โดยชัดเจน
4. พยายามระงับความไม่สงบต่างๆ โดยตัดต้นไฟ ซึ่งฉันเห็นว่ามีอยู่ 2 อย่างดังนี้
ก. ความกลัวว่ารัฐบาลจะดำเนินโครงการเศรษฐกิจแบบ Socialist อย่างแรง….
ก่อนหน้านั้น ในระหว่างที่ทรงให้คณะผู้แทนเข้าเฝ้าในวันที่ 12 ธันวาคม 2477 พระปกเกล้าฯทรงแสดงความไม่พอพระทัยเกี่ยวกับข้อเสนอของปรีดีและซิม วีระไวทยะในระหว่างการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญปี 2475 ที่ให้ผู้มีบรรดาศักดิ์ทั้งหลายถวายบรรดาศักดิ์คืน ทรงรับสั่งว่า “ที่เป็นมาแล้ว มีผู้ซึ่งหันทางไปในทาง Republic เป็นต้นว่าให้เลิกเหรียญตรา ซึ่งใน monarchy เขาต้องมี” (ในการอภิปรายครั้งนั้น เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2475 ปรีดีกล่าวว่าเขาได้เสนอเรื่องนี้ตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆแต่ได้รับการคัดค้านอย่างมากจากพระยามโนปกรณ์ พระยามโนฯยืนยันเรื่องที่ปรีดีเล่า แล้วร่วมกับพระยาศรีวิสารวาจา อภิปรายคัดค้านข้อเสนอนี้อย่างแข็งขัน กล่าวว่าเป็นการ “กักขฬะ” แม้แต่พระยาพหลฯก็แสดงความไม่เห็นด้วยกับปรีดี “เป็นการไม่ดี พระมหากษัตริย์อาจจะถือว่าเราจองหอง” ในที่สุด นายซิมซึ่งเป็นผู้เสนอญัตติอย่างเป็นทางการ ยอมถอนญัตตินั้น)

หลังจากพระราชบันทึก 2 ฉบับแรกข้างต้นแล้ว ทรงมีพระราชบันทึกถึงรัฐบาลอีก 2 ฉบับ โดยที่ทรงเปลี่ยนข้อเรียกร้องไปที่ปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจมองว่าเป็นการที่พระองค์ทรงพยายามจะช่วงชิงป้องกันอันตรายของสาธารณรัฐนิยมล่วงหน้า (ไม่ได้ทรงพูดถึง Socialist โดยตรงอีก) บันทึกช่วยจำทั้งสองขอให้รัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเพิ่มอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการเลือกผู้ที่จะเป็นสมาชิกแต่งตั้งของรัฐสภา ที่เรียกกันว่า “สมาชิกประเภทที่ 2” จำนวนครึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาทั้งหมด และในการวีโต้กฎหมายที่ผ่านสภาแล้ว (เช่น “ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ทรงทักท้วงพระราชบัญญัติฉบับใดลงมา สภาผู้แทนราษฎรเป็นอันต้องยุบไปเองในคราวเดียวกัน”) พระราชบันทึก 2 ฉบับหลังนี้ ยังพยายามให้มีการเพิ่มบทบาททางการเมืองให้ข้าราชการของระบอบเก่า (ก่อน 2475): สมาชิกประเภทที่ 2 ควรมีอายุเกิน 35 ปี และเคยมีตำแหน่งหน้าที่การงานระดับสูงในรัฐบาลมาก่อน. พวกเขาควรได้รับอนุญาตให้ตั้งพรรคการเมืองได้ ในทางกลับกัน ข้าราชการประจำของกองทัพทั้งหมดต้องเลิกเกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งเท่ากับเป็นการยุบเลิกรัฐบาลคณะราษฎรโดยปริยาย เพราะสมาชิกคณะราษฎรส่วนใหญ่มาจากข้าราชการประจำโดยเฉพาะจากกองทัพ เป็นธรรมดาที่ข้อเรียกร้องของพระปกเกล้าฯเหล่านี้ รัฐบาลไม่สามารถยอมรับได้ แต่ก็พยายามจะปฏิเสธไปอย่างสุภาพที่สุด

ในการเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญในลักษณะนี้ รัชกาลที่ 7 ทรงเปลี่ยนท่าทีทางการเมืองของพระองค์ชนิด 180 องศาอย่างชัดเจน เพราะทรงเป็นเสมือนผู้ร่วมร่างรัฐธรรมนูญฉบับธันวาคม 2475 มาด้วยพระองค์เองในสมัยที่พระยามโนฯเป็นนายกรัฐมนตรี บัดนี้ทรงอ้างว่าความจริงทรงไม่พอพระทัยรัฐธรรมนูญตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว แต่ทรงยอมให้ผ่านไปเพื่อความรวดเร็ว ซึ่งเป็นคำอธิบายที่ไม่น่าเชื่อ รัฐธรรมนูญฉบับธันวาคม 2475 ได้ฟื้นฟูพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์อย่างมาก และขอเพียงให้คนที่เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ที่ทรงว่ากล่าวได้ พระมหากษัตริย์ก็จะทรงมีพระราชอำนาจที่เป็นจริงได้ แน่นอนว่าในขณะที่คนอย่างพระยามโนฯเป็นนายกฯ พระปกเกล้าฯย่อมไม่ทรงต้องกังวล ไม่ใช่ตัวรัฐธรรมนูญ หากแต่คือการตกจากอำนาจไปของพระยามโนฯต่างหาก ที่เป็นสาเหตุทำให้พระองค์ทรงไม่สบายพระทัยอย่างกะทันหัน

ยกตัวอย่างเช่น ประเด็นการมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทแต่งตั้ง ตรงข้ามกับความเข้าใจอย่างกว้างขวางในต้นทศวรรษ 1970 ว่าพระปกเกล้าฯทรงคัดค้านเชิงหลักการ ที่มีการแต่งตั้ง สส.ถึงครึ่งสภา (ซึ่งเป็นสิ่งที่คนสมัยก่อน 14 ตุลาไม่พอใจ อันเนื่องมาจากวิธีที่รัฐบาลทหารในสมัยพวกเขาเองแต่งตั้งเจ้าหน้าที่รัฐอย่างคอรัปชั่น) ในความเป็นจริง เห็นได้ชัดจากพระราชบันทึกของพระองค์ว่า สิ่งที่ทรงต้องการ ไม่ใช่การยกเลิกสส.แต่งตั้ง แต่คืออำนาจที่จะทรงแต่งตั้งคนพวกนี้เอง (นี่เป็นข้อเรียกร้องที่เหมือนกับข้อเรียกร้องในคำขาดฉบับที่สองของพระองค์เจ้าบวรเดช: “การเลือกตั้งผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ต้องถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลือก”) หากพระยามโนฯยังอยู่ในอำนาจ “ปัญหารัฐธรรมนูญ” แบบนี้ก็จะไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาเลย (ดูโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระราชบันทึกฉบับที่ 4 ใน แถลงการณ์…ทรงสละราชสมบัติ, น. 179-80)

ประเด็นที่แสดงให้เห็นการ “เปลี่ยนพระทัย” ของร.7 อย่างชัดเจนที่สุด คือ เรื่องสิทธิตั้งพรรคการเมือง ซึ่งอีกเช่นกัน เป็นประเด็นที่คนสมัยต้นทศวรรษ 1970 รู้สึกอย่างมาก

ในเดือนมกราคม 2475 (2476 ตามปฏิทินปัจจุบัน) หลวงวิจิตรวาทการ อดีตเลขานุการสถานทูตไทยในปารีส พยายามจัดตั้งพรรคการเมืองชื่อ “คณะชาติ” ขึ้น เขาได้ไปปรึกษากับปรีดีและได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายหลัง ผู้นำรัฐบาลคนอื่นรวมทั้งพระยามโนฯก็สนับสนุน อย่างไรก็ตาม เมื่อพระยามโนฯนำเรื่องนี้ขึ้นทูลเกล้าฯขอคำปรึกษาจากพระปกเกล้าฯ ทรงมีหนังสือถึงพระยามโนฯเมื่อวันที่ 31 มกราคม ว่า
ตามที่มีบุคคลได้ตั้งสมาคมคณะการเมือง [หมายถึงสมาคมคณะราษฎร] และขออนุญาตตั้งขึ้นอีกนั้น ข้าพเจ้ามีความวิตกเป็นอันมาก ด้วยเกรงว่าจะเป็นเหตุกระทบกระเทือนถึงความสงบสุขของประชาชน …. ประเทศสยามซึ่งพึ่งจะมีรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ ยังหาถึงเวลาสมควรที่จะมีคณะการเมืองเช่นเขาไม่ ด้วยประชาชนส่วนมากยังไม่เข้าใจวิธีการปกครองแบบรัฐธรรมนูญเสียเลย …. ข้าพเจ้าจึงเห็นว่า ในเวลานี้อย่าให้มีสมาคมการเมืองเลยจะดีกว่า แต่โดยเหตุที่บัดนี้รัฐบาลได้ยอมอนุญาตให้มีสมาคมคณะราษฎรเสียแล้ว จึ่งเป็นการยากที่จะกีดกันห้ามหวงมิให้มีคณะการเมืองขึ้นอีกคณะหนึ่งหรือหลายคณะได้ อย่างดีที่สุดข้าพเจ้าเห็นว่าสมควรที่จะเลิกสมาคมคณะราษฎรและคณะอื่นทีเดียว….
พระยามโนฯจึงเรียกหลวงวิจิตรฯไปพบและขอให้เลิกล้มแผนการตั้งพรรคชาติเสีย โดยสัญญาว่าจะยุบเลิกสมาคมคณะราษฎรให้เป็นการแลกเปลี่ยน ซึ่งต่อมาก็ได้ทำจริงในระหว่างวิกฤตเค้าโครงการเศรษฐกิจ มีแต่ภายหลังการสิ้นอำนาจของพระยามโนฯและความพ่ายแพ้ของกบฎบวรเดชเท่านั้น ที่พระปกเกล้าฯทรงรู้สึกถึงความจำเป็นต้องอนุญาตให้ราษฎรตั้งพรรคการเมืองได้อย่างกะทันหันและทรงรวมเอาข้อเรียกร้องนี้ไว้ในพระราชบันทึกฉบับที่ 3 ของพระองค์ รัฐบาลสมัยนั้นได้ตอบด้วยการเตือนให้ทรงระลึกถึงหนังสือถึงพระยามโนฯของพระองค์เองข้างต้น ซึ่งพระปกเกล้าฯก็ทรงอธิบายตอบกลับมาดังนี้ (ขอให้สังเกตวิธีที่ทรงบิดผันข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุผลก่อนหน้านั้นของพระองค์)
ข้าพเจ้าชอบที่จะให้มีคณะพรรคการเมืองขึ้น [?!] จดหมายของข้าพเจ้ามีถึงพระยามโนฯนั้น ได้เขียนไปในคราวที่รัฐบาลในครั้งนั้นไม่ยอมอนุญาตให้คณะชาติตั้งขึ้น [?!] ข้าพเจ้าจึงแนะนำไปว่า ถ้าคณะชาติไม่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นแล้ว ก็ควรที่จะเลิกล้มคณะราษฎรเสียเหมือนกัน…. ณ บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่จะอนุญาตให้คณะพรรคการเมืองจัดตั้งขึ้นโดยเปิดเผย
เป็นที่ชัดเจนว่าแรงกระตุ้นที่แท้จริงที่ทำให้พระปกเกล้าฯทรงเรียกร้องให้ตั้งพรรคการเมืองได้ในระหว่างการเจรจาเรื่องการสละราชย์นั้น ไม่ใช่หลักการประชาธิปไตยที่เป็นนามธรรมอะไร แต่เป็นความพยายามของพระองค์ที่จะเปิดเวทีการเมืองขึ้นใหม่ให้กับบรรดาผู้ที่จงรักภักดีต่อพระองค์ หลังจากพวกเขาถูกเบียดออกจากรัฐบาลแล้ว

โดยสรุป ข้อเรียกร้องทุกประเด็นของร.7 คือความพยายามต่อรองเพิ่มอำนาจให้แก่พระองค์เองและแวดวงของพระองค์ และลดหรือแยกสลายอำนาจของรัฐบาลในขณะนั้น ซึ่งฝ่ายหลังก็เข้าใจเรื่องนี้ดี จึงปฏิเสธไป

จดหมายส่วนพระองค์ถึงเจมส์ แบ๊กซเตอร์ ในช่วงนี้ส่อให้เห็นว่า ร.7 ทรงถือเอาการขู่สละราชย์เป็นเพียง “เครื่องมือ” หรือยุทธวิธีต่อรองอย่างหนึ่ง (“my strongest weapon”) จากหลักฐานชิ้นเดียวกัน ผมเชื่อว่าเมื่อทรงเริ่มใช้การขู่สละราชย์ครั้งหลังสุดนี้ พระองค์ไม่ได้ทรงคิดจะสละราชย์จริงๆ แต่ทรงประเมินประสิทธิภาพของ “อาวุธ” นี้สูงเกินไป (“effectively used several times already”) จึงทรงผลักการต่อรองและตัวพระองค์เองไปสู่จุดอับ ทำให้ทรงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องสละราชย์จริงๆ

วันที่ 2 มีนาคม 2477 ทรงลงพระปรมาธิไธยในพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติซึ่งทรงนิพนธ์ขึ้นอย่างยอดเยี่ยม. หลีกเลี่ยงข้อเท็จจริงที่ว่าข้อเรียกร้องรูปธรรมและความขัดแย้งที่พระองค์ทรงมีกับรัฐบาลล้วนเกี่ยวข้องกับความพยายามเพิ่มอำนาจของราชสำนักและความหวาดกลัวคอมมิวนิสม์อย่างขาดเหตุผลไม่ตรงกับสภาพความเป็นจริงของพระองค์เอง, ร.7 ทรงหันเข้าหาหลักการประชาธิปไตยอันสูงส่ง. ในพระราชหัตถเลขาสละราชย์ การที่รัฐบาลไม่ยอมให้พระองค์มีบทบาทในกระบวนการเมืองมากขึ้นกลายเป็น “คณะรัฐบาล…ไม่ยินยอม…ให้ราษฎรได้มีโอกาสออกเสียงก่อนที่จะเปลี่ยนหลักการและนโยบายสำคัญอันมีผลได้เสียแก่ราษฎร” และอื่นๆ. ด้วยลักษณะที่เป็นนามธรรมเช่นนี้เองที่ทำให้พระราชหัตถเลขาสละราชย์สามารถปรากฏต่อสายตาของขบวนการนักศึกษาต้นทศวรรษ 1970 ในฐานะเอกสารที่ “สอดคล้องอย่างยิ่ง” กับความเรียกร้องต้องการและสถานการณ์ของพวกเขาที่ความจริงแล้วแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง

Saturday, September 06, 2008

พระบารมีปกเกล้า : พระสุรเสียงราชินีบนเวทีพันธมิตร


หมายเหตุ : หากบทความนี้มีประโยชน์ต่อสาธารณะประการใด ขอมอบเป็นการแสดงความนับถือต่อ ผศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และ คุณจิตรา คชเดช



ช่วงวันอาสาฬหบุชาที่ผ่านมา ที่การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยบริเวณสะพานมัฆวาณ ได้เกิดเหตุการณ์ซึ่งผมเห็นว่าน่าสนใจและมีความสำคัญอย่างมาก นั่นคือ สนธิ ลิ้มทองกุล ผู้นำพันธมิตร ได้นำเทปบันทึกพระสุรเสียงของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ มาเปิดให้ร่วมชุมนุมฟัง หลังจากนั้น ได้เสนอการ “ตีความ” เนื้อหาในบันทึกพระสุรเสียงนั้น ผมเห็นว่า ในทุกด้านที่เพิ่งกล่าวมานี้ – ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาในบันทึกพระสุรเสียง, การตีความของสนธิ และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบันทึกพระสุรเสียงเท่าที่มีการเปิดเผยหรือที่แม้ไม่มีการเปิดเผยแต่เป็นคำถามที่ย่อมเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ – เหล่านี้ ล้วนมีความน่าสนใจและสำคัญทั้งสิ้น ยิ่งเมื่อพิจารณาโดยคำนึงถึงภูมิหลังบางอย่างเกี่ยวกับการชุมนุมของพันธมิตรที่ผ่านมา (เช่นกรณี “ผ้าพันคอสีฟ้า”) ดังที่ผมจะอภิปรายต่อไป

แต่ก่อนอื่น ผมขอเล่าเหตุการณ์ดังกล่าว ดังต่อไปนี้ โดยผมจะจำกัดการแสดงความเห็นของผมให้น้อยที่สุด จะเน้นเฉพาะการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์เท่านั้น

ค่ำวันพุธที่ 16 กรกฎาคม ในระหว่างการปราศัยประจำวันนั้น สนธิได้กล่าวต่อผู้ร่วมชุมนุมว่า (การถอดเทปและเน้นคำเป็นของผม
พี่น้องครับ วันพรุ่งนี้เป็นวันอาสาฬหบูชา อยากให้พี่น้องมากันเยอะๆ พรุ่งนี้ผมมีดีวีดีเทปเสียง พิเศษสุด พี่น้องรู้มั้ยว่า สมเด็จพระนางเจ้าเรานี้ สอนธรรมะด้วย แต่พระองค์ท่านไม่เคยแสดงออกในที่สาธารณะ เทปธรรมะที่เราได้นั้นเป็นเทปธรรมะที่สมเด็จพระนางเจ้า สอนอยู่ในวัง สอนกับข้าราชบริพาร สง่างาม สวยงาม ลึกซึ้ง พรุ่งนี้ผมจะเอามาเปิดให้ฟัง 2 เรื่อง เรื่องแรกคือเรื่อง “มหามิตร” เรื่องที่สอง คือ เรื่อง “ปาฏิหาริย์ของพระธรรมวินัย” ซึ่งทั้ง 2 เรื่องนั้นประยุกต์เข้าได้กับชีวิตจริงอย่างยิ่ง พรุ่งนี้พี่น้องมากัน เราจะเวียนเทียนพรุ่งนี้ เราไม่เดินเวียนเทียน พี่น้องเอาเทียนมาคนละเล่ม เราจะจุดเทียนหลังจากที่ฟังเทปของสมเด็จพระนางเจ้าเสร็จ เราจะจุดเทียนเพื่อทำเป็นพุทธบูชา และขณะเดียวกัน เราจะจุดเทียนเพื่อถวายพระพรให้กับสมเด็จพระนางเจ้า ล่วงหน้า ก่อนวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 12 สิงหาคม พี่น้องอย่าลืมนะครับพรุ่งนี้ [เสียงปรบมือ](1)
วันต่อมาวันอาสาฬหบูชา พฤหัสที่ 17 กรกฎาคม ช่วงประมาณ 19 นาฬิกา สนธิในชุดเสื้อขาวกางเกงขาวได้ขึ้นไปบนเวที เขาเริ่มต้นด้วยการประกอบพิธีจุดธูปเทียนไหว้พระและนำสวดมนต์ (บนเวทีมีการจัดโต๊ะหมู่บูชาพระ จอผ้าขนาดใหญ่ด้านหลังเวทีได้รับการฉายภาพนิ่งพระพุทธรูปขนาดใหญ่) หลังจากนั้น เขาได้ชี้แจงว่า ไม่สามารถนิมนต์พระรูปใดมาเทศน์ได้ โดยเฉพาะ ว.วชิระเมธี (ซึ่งมีข่าวก่อนหน้านี้ว่า อาจจะมาปรากฏตัว) “ท่านบอกว่า พระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่แจ้งท่านมาว่า ไม่ควรมาขึ้นเวที เพราะนี่เป็นเวทีการเมือง” สนธิ กล่าวต่อไปว่า
ผมก็เลยเผอิญโชคดี เหมือนกับว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง ธรรมะจัดระเบียบ ได้เทปดีวีดี ซึ่งเป็นพระสุรเสียงขององค์สมเด็จพระนางเจ้า ที่พระองค์ท่านได้อัดเทป เป็นการส่วนพระองค์ โดยที่ไม่มีใครอยู่ด้วย พระองค์อัดเสียงของพระองค์ท่านเอง ในเรื่องของพระอานนท์ พระอนุชา กระผมได้เลือกมา 2 ตอน ให้พ่อแม่พี่น้องได้เห็นกันนะครับ ได้ฟังกัน ตอนนึงคือเรื่อง “มหามิตร” ซึ่งประเดี๋ยวกระผมจะเปิดให้พ่อแม่พี่น้องฟัง ขอให้ตั้งใจฟังกันนิดนึง ขอให้ใช้ความสงบ 17 นาที ดื่มด่ำกับพระสุรเสียงของพระองค์ท่าน และขณะเดียวกัน ก็สามารถที่จะเข้าใจ ในเรื่องราวต่างๆที่พระองค์ท่านเล่าให้ฟัง เสร็จแล้วผมเองจะมาขยายความ ในความหมายของ “มหามิตร” ที่พระองค์ท่านได้ตรัสออกมานะครับ ซี่ง “มหามิตร” อันนี้สามารถประยุกต์เข้ากับเหตุการณ์บ้างเมืองในปัจจุบันได้อย่างสมบูรณ์แบบ เป็นเรื่องที่น่ามหัศจรรย์มาก

อันที่ 2 นั้น ผมจะขึ้นเวทีอีกครั้งตอนหลังเที่ยงคืน ก็คือช่วงล่วงเวลาเข้าวันเข้าพรรษา ก็จะเอาเทป ที่สมเด็จพระนางเจ้า ไม่เคยเผยแพร่ออกไปที่ไหนเลย มาเปิดให้ฟัง คือเรื่อง “ความมหัศจรรย์ของพระธรรมวินัย” ซึ่งนัยยะของ “ความมหัศจรรย์พระธรรมวินัย” ที่พระองค์ท่านได้อ่านให้พวกเราฟังนั้น ก็มีความหมายทางการเมืองสูงส่ง ผมอ่านแล้ว ผมฟังแล้ว ผมมหัศจรรย์มากว่า ทำไมมันทันสมัยเช่นนี้ พี่น้องต้องตั้งใจฟัง เพราะว่า 2 เรื่องนี้ อธิบายความเหตุการณ์ในบ้านเมืองได้หมด ทั้งๆที่เป็นเรื่องที่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสเอาไว้เมื่อ 2500 กว่าปีที่แล้ว แต่ว่ามาประยุกต์เหตุการณ์ได้ลงตัวอย่างแม่นยำที่สุด ทั้งๆที่เป็นเรื่องพระธรรมวินัยนะครับ(2)
น่าสังเกตว่า คำอธิบายของสนธิในครั้งนี้เรื่องความเป็นมาของเทปพระสุรเสียง อาจจะแตกต่างกับคำอธิบายของเขาในวันก่อนหน้านั้น คือจากเดิมที่กล่าวว่า “เป็นเทปธรรมะที่สมเด็จพระนางเจ้า สอนอยู่ในวัง สอนกับข้าราชบริพาร” กลายมาเป็น “พระองค์ท่านได้อัดเทป เป็นการส่วนพระองค์ โดยที่ไม่มีใครอยู่ด้วย พระองค์อัดเสียงของพระองค์ท่านเอง” ซึ่งถ้าเป็นกรณีหลังนี้ ก็จะยิ่งชวนให้ถามว่า พระสุรเสียงที่ทรง “อัดเทปเป็นการส่วนพระองค์ โดยไม่มีใครอยู่ด้วย” นั้น สามารถมาอยู่ในมือของสนธิได้อย่างไร?

หลังจากนั้น สนธิได้อธิบายความสำคัญของวันอาสาฬบูชา และความหมายของอริยสัจสี่และมรรคแปด (ซึ่งเขาได้ถือโอกาสโจมตีสมัครและ “นักการเมืองขี้ฉ้อ” ว่าทำผิดพระธรรมคำสอนเหล่านี้ทีละข้อๆอย่างไร) ทั้งหมดนี้ใช้เวลาเกือบ 10 นาที แล้วสนธิได้วกกลับมาที่เทปพระสุรเสียงอีกครั้ง(3)
พี่น้องครับ เดี๋ยวตั้งใจฟังเสียงสมเด็จพระนางเจ้า ซัก 10 กว่านาทีนะครับ อยากจะขอความสงบนิดนึงนะครับ ขอความกรุณา อย่าพูดเล่นกัน เพราะว่า ถ้าเราตั้งใจฟัง เหมือนกับเราปฏิบัติธรรมไปด้วย วันนี้วันอาสาฬหบูชา การตั้งใจฟังของเรา แล้วซึมซับ ซึมทราบ คำพูดสมเด็จพระนางเจ้า ซึ่งพระองค์ท่าน เอามาจากหลักธรรม อันนี้เนี่ย มันยิ่งกว่าการไปเดินเวียนเทียนรอบอุโบสถ ถูกมั้ยถูกพี่น้อง นะครับ เพราะฉะนั้นแล้ว เดี๋ยวผมอาจจะต้องดับไฟ แล้วก็เปิดดีวีดีให้เห็น แล้วก็ฟังเสียงให้ดีๆ พอจบแล้ว กระผมจะขออนุญาตขึ้นมาหาพ่อแม่พี่น้องอีกครั้งนึง เพื่อขยายความในรายละเอียดที่สมเด็จพระนางเจ้า ทรงมีพระเมตตาเปล่งพระสุรเสียงออกมา นะครับ เชิญครับ พ่อแม่พี่น้องครับ
จากนั้น จอผ้าหลังเวทีได้เปลี่ยนเป็นภาพนิ่งที่มีพระบรมฉายาลักษณ์พระราชินีพร้อมคำบรรยายดังนี้
บันทึกเทปพระสุรเสียง
สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ
ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล
อ่านหนังสือธรรมะ “พระอานนท์ พุทธอนุชา”
เนื่องในวโรกาสทรงครองอิสริยยศ
สมเด็จพระราชินี ปีที่ ๕๔
เมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๔๗
พร้อมกันนั้น ก็มีเสียงดนตรีบรรเลงแบบ “อินโทร” สั้นๆดังขึ้น ไม่ถึง 1 นาที (บอกไม่ได้ว่าเป็นดนตรีที่มาพร้อมดีวีดีหรือเป็นดนตรีที่จัดโดยเวทีพันธมิตรเอง) ตามด้วยพระสุรเสียง กินเวลาประมาณ 16 นาทีเศษ(4)

พระสุรเสียงนั้นเป็นพระสุรเสียงที่ทรงอ่านหนังสือเล่มหนึ่งจริงๆ ซึ่งจะเรียกว่าเป็น “หนังสือธรรมะ” ก็อาจจะพอได้ แต่อันที่จริง งานเรื่อง พระอานนท์ พุทธอนุชา ที่ทรงอ่าน “อัดเทปเป็นการส่วนพระองค์ โดยไม่มีใครอยู่ด้วย” นี้ เป็นเรื่องแต่งหรือนิยาย ของ วศิน อินทสระ (วศินเองเรียกงานของเขาว่า “ธรรมนิยาย”) งานนี้ได้รับการตีพิมพ์เป็นตอนๆใน สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ แล้วรวมพิมพ์เป็นเล่มครั้งแรก กลางปี 2509(5) และได้รับการพิมพ์ซ้ำเรื่อยมาจนปัจจุบัน (ฉบับที่ผมเคยเห็นล่าสุดคือ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 9 ปี 2540) เป็นงานที่เรียกได้ว่า “ป๊อบปูล่า” (ได้รับความนิยม) มากทีเดียวในหมู่ผู้สนใจพุทธศาสนา ทุกวันนี้ มีการนำตัวบทงานนี้ทั้งเล่มขึ้นเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับศาสนาพุทธหรือเว็บไซต์ส่วนตัวหลายแห่ง ยิ่งกว่านั้น ยังมีการบันทึกเสียงอ่านงานนี้ในลักษณะคล้ายๆอ่านบทละคร มีการใส่ดนตรีและเสียงประกอบเป็นแบ็คกราวน์บางตอน (เช่นเสียง “ช้างวิ่ง” ในตอน “มหามิตร”) แต่ใช้ผู้อ่านคนเดียวทั้งหมด เสียงอ่านนี้สามารถฟังและดาวน์โหลดได้ฟรีทางเว็บไซต์เช่นกัน(6)

มองในแง่หนึ่ง การที่สนธิเสนอว่า “การตั้งใจฟังของเรา แล้วซึมซับ ซึมทราบ คำพูดสมเด็จพระนางเจ้า ซึ่งพระองค์ท่าน เอามาจากหลักธรรม อันนี้เนี่ย มันยิ่งกว่าการไปเดินเวียนเทียนรอบอุโบสถ” ถือเป็นการทำให้ไขว้เขวเข้าใจผิดได้ (misleading) เพราะความจริง เนื้อหาของพระสุรเสียงนี้ ไม่ใช่ “คำ” ของพระองค์เองที่ทรง “เอามาจากหลักธรรม” เป็นแต่เพียงทรงอ่านหนังสือ ซึ่งแม้จะเป็นงานที่พยายามนำเสนอ “หลักธรรม” แต่ถ้ากล่าวอย่างเข้มงวดแล้ว ก็เป็นเพียงเรื่องแต่งหรือนิยาย ซี่งความถูกต้องแน่นอน (authenticity) ของ “หลักธรรม” ที่สอดแทรกอยู่นั้น ยังเป็นเรื่องที่ชวนสงสัยได้ (problematic) ความเป็นนิยายหรือเรื่องแต่งของ พระอานนท์ พุทธอนุชา นี้ วศิน อินทสระ ได้อธิบายเชิงยอมรับไว้ในคำนำของการพิมพ์รวมเล่มครั้งแรกว่า (ขีดเส้นใต้เน้นคำของผม):
เรื่องพระอานนท์ พุทธอนุชา เนื้อหาของเรื่องจริงๆ มีไม่มากนัก ที่หนังสือเล่มใหญ่ขนาดนี้ เพราะการเพิ่มเติมเสริมต่อของข้าพเจ้า ในทำนองธรรมนิยามอิงชีวประวัติ ข้าพเจ้าชี้แจงข้อนี้สำหรับท่านที่ไม่คุ้นกับเรื่องของศาสนานัก อาจจะหลงเข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องที่มีหลักฐานทางตำราทั้งหมด สำหรับท่านที่คงแก่เรียนในทางนี้อยู่แล้ว ย่อมทราบดีว่าตอนใดเป็นโครงเดิม และตอนใด แห่งใด ข้าพเจ้าเพิ่มเติมเสริมต่อขึ้น นอกจากนี้ยังมีหลายตอนที่ข้าพเจ้าสร้างเรื่องขึ้นเอง เพียงแต่เอาพระอานนท์ไปพัวพันกับเหตุการณ์นั้นๆ เพื่อให้นิยายเรื่องนี้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และเห็นว่าไม่เป็นทางเสียหายแต่ประการใด
นี่ไม่ได้หมายความว่า เทปพระสุรเสียงที่สนธินำมาเปิดนี้จะไม่น่าสนใจหรือไม่สำคัญ อันที่จริงอาจจะยิ่งน่าสนใจและสำคัญขึ้นไปอีก แต่ไม่ใช่ในฐานะหลักฐานว่า “สมเด็จพระนางเจ้าเรานี้ สอนธรรมะ” (ดูคำปราศรัยสนธิวันที่ 16 ที่ยกมาตอนต้น) อย่างไรก็ตาม การประเมินความสำคัญของเทปพระสุรเสียงนี้มีข้อจำกัด เนื่องจากข้อมูลที่มีอยู่ไม่ชัดเจน ตั้งแต่ปัญหาพื้นๆ เช่น ที่ว่าทรงอ่าน “บำเพ็ญพระราชกุศล...เนื่องในวโรกาสทรงครองอิสริยยศสมเด็จพระราชินี ปีที่ 54” นั้น เหตุใดจึงเป็นวันที่ 12 สิงหาคม 2547 ไม่ใช่วันที่ 28 เมษายน (วันอภิเษกสมรส)? หรือในทางกลับกัน ถ้านับวันที่ 12 สิงหาคม 2547 เป็นหลัก เหตุใดจึงไม่กล่าวว่า เป็นการ “บำเพ็ญพระราชกุศล...เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา”? แต่ปัญหาสำคัญจริงๆคือ สภาพการณ์ที่ทำให้เทปนี้มาอยู่ในมือสนธิ เช่น จะใช่แบบเดียวกับที่เขาเคยอ้างว่าได้ “ผ้าพันคอสีฟ้า” มาหรือไม่? เป็นต้น (ดูประเด็นนี้ข้างหน้า) ซึ่งจะมีผลต่อการตีความนัยยะของเนื้อหาของพระสุรเสียง

แต่ก่อนอื่น ขอให้เรามาพิจารณาที่ตัวเนื้อหานั้นเอง ในเทปพระสุรเสียงที่สนธินำมาเปิดช่วงแรก พระราชินีทรงอ่าน พระอานนท์ พุทธอนุชา บทที่ 4 “มหามิตร” ทั้งบท แต่ส่วนที่สำคัญจริงๆ ผมคิดว่า คือส่วนแรกสุดของบท ดังนี้(7)
พูดถึงความจงรักภักดี และความเคารพรักในพระผู้มีพระภาค พระอานนท์มีอยู่อย่างสุดพรรณนา ยอมสละแม้แต่ชีวิตของท่านเพื่อพระพุทธเจ้าได้ อย่างเช่นครั้งหนึ่ง พระเทวทัตร่วมกับพระเจ้าอชาตศัตรู วางแผนสังหารพระจอมมุนี โดยการปล่อยนาฬาคิรีซึ่งกำลังตกมันและมอมเหล้าเสีย ๑๖ หม้อ ช้างนาฬาคิรียิ่งคะนองมากขึ้น

วันนั้นเวลาเช้า พระพุทธองค์มีพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ เข้าสู่นครราชคฤห์เพื่อบิณฑบาต ในขณะที่พระองค์กำลังรับอาหารจากสตรีผู้หนึ่งอยู่นั้น เสียงแปร๋นแปร๋นของนาฬาคิรีดังขึ้น ประชาชนที่คอยดักถวายอาหารแด่พระผู้มีพระภาค แตกกระจายวิ่งเอาตัวรอด ทิ้งภาชนะอาหารเกลื่อนกลาด พระพุทธองค์เหลียวมาทางซึ่งช้างใหญ่กำลังวิ่งมาด้วยอาการสงบ พระอานนท์พุทธอนุชาเดินล้ำมายืนเบื้องหน้าของพระผู้มีพระภาค ด้วยคิดจะป้องกันชีวิตของพระศาสดาด้วยชีวิตของท่านเอง

"หลีกไปเถิด - อานนท์ อย่าป้องกันเราเลย" พระศาสดาตรัสอย่างปกติ

"พระองค์ผู้เจริญ!" พระอานนท์ทูล "ชีวิตของพระองค์มีค่ายิ่งนัก พระองค์อยู่เพื่อเป็นประโยชน์แก่โลก เป็นดวงประทีปของโลก เป็นที่พึ่งของโลก ประดุจโพธิ์และไทรเป็นที่พึ่งของหมู่นก เหมือนน้ำเป็นที่พึ่งของหมู่ปลา และป่าเป็นที่พึ่งอาศัยของสัตว์จตุบททวิบาท พระองค์อย่าเสี่ยงกับอันตรายครั้งนี้เลย ชีวิตของข้าพระองค์มีค่าน้อย ขอให้ข้าพระองค์ได้สละสิ่งซึ่งมีค่าน้อยเพื่อรักษาสิ่งซึ่งมีค่ามาก เหมือนสละกระเบื้อง เพื่อรักษาไว้ซึ่งแก้วมณีเถิดพระเจ้าข้าฯ"

"อย่าเลย อานนท์! บารมีเราได้สร้างมาดีแล้ว ไม่มีใครสามารถปลงตถาคตลงจากชีวิตได้ ไม่ว่าสัตว์ดิรัจฉาน หรือมนุษย์ หรือเทวดา มาร พรหมใดๆ"

ขณะนั้นนาฬาคิรี วิ่งมาจวนจะถึงองค์พระจอมมุนีอยู่แล้ว เสียงร้องกรีดของหมู่สตรีดังขึ้นเป็นเสียงเดียวกัน ทุกคนอกสั่นขวัญหนี นึกว่าครั้งนี้แล้วเป็นวาระสุดท้ายที่เขาจะได้เห็นพระศาสดา ผู้บริสุทธิ์ดุจดวงตะวัน พระพุทธองค์ทรงแผ่เมตตาซึ่งทรงอบรมมาเป็นเวลายืดยาวนานหลายแสนชาติสร้านออกจากพระหฤทัยกระทบเข้ากับใจอันคลุกอยู่ด้วยความมึนเมาของนาฬาคิรี ช้างใหญ่หยุดชะงักเหมือนกระทบกับเหล็กท่อนใหญ่ ใจซึ่งเร่าร้อนกระวนกระวาย เพราะโมหะของมันสงบเย็นลง เหมือนไฟน้อยกระทบกับอุทกธารา พลันก็ดับวูบลง มันหมอบลงแทบพระมงคลบาทของพระศาสดา พระพุทธองค์ทรงใช้ฝ่าพระหัตถ์อันวิจิตร ซึ่งกำลังมาด้วยบุญญาธิการลูบศีรษะของพญาช้าง พร้อมด้วยตรัสว่า

"นาฬาคิรีเอย! เธอถือกำเนิดเป็นดิรัจฉานในชาตินี้ เพราะกรรมอันไม่ดีของเธอในชาติก่อนแต่งให้ เธออย่าประกอบกรรมหนัก คือทำร้ายพระพุทธเจ้าเช่นเราอีกเลย เพราะจะมีผลเป็นทุกข์แก่เธอตลอดกาลนาน"
นาฬาคิรีสงบนิ่งอยู่ครู่หนึ่ง แล้วใช้งวงเคล้าเคลียพระชงฆ์ของพระผู้มีพระภาค เหมือนสารภาพผิด ความมึนเมาและตกมันปลาสนาการไปสิ้น

นี่แล พุทธานุภาพ !!

ประชาชนเห็นเป็นอัศจรรย์ พากันสักการบูชาพระศาสดาด้วยดอกไม้และของหอมจำนวนมาก

พระพุทธเจ้า=ในหลวง, เทวทัต/อชาตศัตรู/ช้างเมาตกมัน/ภิกษุผู้ไม่บริสุทธิ์=ทักษิณ?
ไม่เป็นการยากที่จะเห็นว่าประเด็น (theme) สำคัญของนิยายตอนนี้ คือความจงรักภักดี พร้อมจะเสียสละแม้แต่ชีวิตตนเองของพระอานนท์ เพื่อป้องกันภัยทีกำลังจะมีต่อพระพุทธเจ้า ปัญหาคือ “ความหมายของ ‘มหามิตร’ ที่พระองค์ท่าน [พระราชินี] ได้ตรัสออกมา….สามารถประยุกต์เข้ากับเหตุการณ์บ้างเมืองในปัจจุบันได้อย่างสมบูรณ์แบบ” ดังที่สนธิอ้างหรือไม่? และการ “ประยุกต์” (ตีความ) ดังกล่าว ถ้าทำได้จริง เป็นเรื่องของสนธิและพันธมิตรเองเท่านั้นหรือไม่? หรือจะเกี่ยวข้องกับคำถามที่ยังไม่มีคำตอบว่าเทปพระสุรเสียงที่ทรงบันทึก “เป็นการส่วนพระองค์....ไม่เคยเผยแพร่ออกไปที่ไหนเลย” มาอยู่ในมือและเผยแพร่ในการชุมนุมของพันธมิตรได้อย่างไร?

สนธิก้าวขึ้นเวทีอีกครั้งหลังเทปพระสุรเสียงอ่าน “มหามิตร” จบลง (จอภาพหลังเวทีเปลี่ยนกลับเป็นรูปพระพุทธรูป) เขาเริ่มต้นด้วยการสดุดีความ “รู้ลึก” ในพุทธศาสนาของพระราชินี ดังนี้
พ่อแม่พี่น้องครับ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เป็นผู้ซึ่งรู้ลึกในเรื่องพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ท่านทรงสนใจในพุทธศาสนาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทำบุญตักบาตร ทรงบาตรทุกเช้า ตกค่ำสวดมนต์ไหว้พระ พระรัตนตรัย ทรงจัดดอกไม้ที่ห้องพระด้วยพระองค์เอง ตั้งแต่ยังเป็นเด็กจนกระทั่งทุกวันนี้ พระองค์ท่านสนใจพุทธศาสนาโดยมีหลัก 3 ประการที่พระองค์ท่านยึดถือและปฏิบัติ ประการแรก พระองค์ท่านทรงเทิดทูนองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เป็นผู้ประทานองค์ความรู้และความรู้ทางด้านพระพุทธศาสนาให้พระองค์ท่านมาตลอด ประการที่สอง พระองค์ใฝ่ใจในการฟังเทปธรรมะ ตลอดจนสนทนาธรรม กับพระมหาเถระ พระอริยสงฆ์ ไม่ว่าจะเป็นองค์หลวงตามหาบัวญาณสัมปันโน สมเด็จญาณ พระองค์ท่านให้สร้างที่พักของสมเด็จญาณ ในป่าข้างๆพระราชวัง ภูพิงค์ราชนิเวศน์ และภูพานราชนิเวศน์ เพื่อให้สมเด็จพระสังฆราชไปปฏิบัติธรรม และพระองค์ท่านจะได้เสด็จไปสนทนาธรรมด้วย พระองค์ท่านสนใจในหนังสือธรรมะ อนุสาวรีย์พระองค์ท่านชอบเสด็จไปเยือนตลอดเวลาก็คือ พิพิธภัณฑ์ของหลวงปู่มั่น หลวงปู่ฟั่น หลวงปู่วัน 3 ประการนี้ทำให้แม่ของแผ่นดินองค์นี้มีความรู้ลึกซึ้งในหลักธรรมของพุทธศาสนา
ทั้งหมดนี้เหมือนเป็นเหตุผลรองรับให้กับการชักชวนผู้ฟังในประโยคถัดไป
พี่น้องครับ เรื่อง “มหามิตร” ที่พระองค์ท่านได้เปล่งพระสุรเสียง เล่าให้พวกเราฟังนั้น นัยยะที่แท้จริงอยู่ตรงไหน พี่น้องฟังให้ดีๆ
หลังจากนั้น สนธิได้สรุปและอ่านจาก “มหามิตร” ตอนที่พระอานนท์เข้าขวางหน้าช้างนาฬาคีรี (ย่อหน้าที่พระอานนท์ทูลพระพุทธเจ้าที่ผมขีดเส้นใต้เน้นคำข้างบน) แล้วเปรียบเทียบว่าเหมือนกับการเคลื่อนไหวของพันธมิตรโดยตรง:
การเสียสละเพื่อมิตร เสียชีวิตเพื่อคนที่เราจงรักภักดี เหมือนอะไร? เหมือนกับที่พวกเราประชาชนคนไทยแสดงความจงรักภักดีต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินี..... พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่มีจากร้อยพ่อพันแม่ ต่างเผ่าต่างพันธุ์ แต่เรามาร่วมกันทำความดี ใช่มั้ย เพื่อถวายความจงรักภักดีให้กับองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ปรบมือให้กับตัวเองหน่อยเถอะครับ [ผู้ชุมนุมปรบมือ]
ตอนท้าย สนธิได้นำผู้ชุมนุมจุดเทียน “ถวายเป็นพระพรให้กับองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และที่สำคัญ ถวายพระพรล่วงหน้าให้กับองค์สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เนื่องในพระราชสมภพในวันที่ 12 สิงหาคมนี้”


การเชื่อมโยงเรื่องเล่าโดยพระสุรเสียงพระราชินีเข้ากับการชุมนุมพันธมิตรของสนธิ มีขึ้นอีกครั้งในเวลาเที่ยงคืน คราวนี้ สนธิได้เปิดเทปพระสุรเสียงอ่าน พระอานนท์ พุทธอนุชา บทที่ชื่อ “ความอัศจรรย์แห่งธรรมวินัย” (บทที่ 21 ในหนังสือ พระสุรเสียงที่นำมาเปิดเป็นเพียงช่วงที่ทรงอ่านตอนกลางของบทเท่านั้น) ดังนี้(8)
วันหนึ่งเป็นวันอุโบสถ พอพระอาทิตย์ตกดิน พระสงฆ์ทั้งมวลก็ประชุมพร้อมกัน ณ อุโบสถาคาร เพื่อฟังพระโอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งพระพุทธองค์ทรงแสดงเองทุกกึ่งเดือน พระมหาสมณะเจ้าเสด็จสู่โรงอุโบสถ แต่ประทับเฉยอยู่ หาแสดงพระโอวาทปาฏิโมกข์ไม่ เมื่อปฐมยามแห่งราตรีล่วงไปแล้ว พระอานนท์พุทธอนุชาจึงนั่งคุกเข่าประนมมือถวายบังคมแล้วกราบทูลว่า

"พระองค์ผู้เจริญ! บัดนี้ปฐมยามแห่งราตรีล่วงไปแล้ว ภิกษุทั้งหลายคอยนานแล้ว ขอพระองค์โปรดทรงแสดงปาฏิโมกข์เถิด"

แต่พระพุทธองค์ก็ยังทรงเฉยอยู่ เมื่อมัชฌิมยามแห่งราตรีล่วงไปแล้ว พระอานนท์ก็ทูลอีก แต่ก็คงประทับเฉย ไม่ยอมทรงแสดงพระโอวาทปาฏิโมกข์ เมื่อย่างเข้าสู่ปัจฉิมยาม พระอานนท์จึงทูลว่า

"พระองค์ผู้เจริญ! บัดนี้ปฐมยามและมัชฌิมยามล่วงไปแล้ว ขอพระองค์อาศัยความอนุเคราะห์แสดงโอวาทปาฏิโมกข์เถิด"

พระมหามุนีจึงตรัสว่า "ดูก่อนอานนท์! ในชุมนุมนี้ภิกษุผู้ไม่บริสุทธิ์มีอยู่ อานนท์! มิใช่ฐานะตถาคตจะแสดงปาฏิโมกข์ในท่ามกลางบริษัทอันไม่บริสุทธิ์" ตรัสอย่างนี้แล้วก็ประทับเฉยต่อไป

พระมหาโมคคัลลานะ อัครสาวกเบื้องซ้าย นั่งเข้าฌานตรวจดูว่าภิกษุรูปใดเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์อันเป็นที่รังเกียจของพระศาสดา เมื่อได้เห็นแล้ว จึงกล่าวขึ้นท่ามกลางสงฆ์ว่า "ดูก่อนภิกษุ! ท่านออกไปเสียเถิด พระศาสดาเห็นท่านแล้ว" แม้พระมหาเถระจะกล่าวอย่างนี้ ถึง ๓ ครั้ง ภิกษุรูปนั้นก็ไม่ยอมออกไปจากชุมนุมสงฆ์ พระมหาโมคคัลลานะจึงลุกขึ้นแล้วดึงแขนภิกษุรูปนั้นออกไป
ถึงจุดนี้ คงไม่เป็นการยากที่จะเดาว่า สนธิจะอธิบายพระสุรเสียงตอนนี้ให้เข้ากับเหตุการณ์ปัจจุบันอย่างไร เขากล่าวทันทีหลังพระสุรเสียงจบลงว่า
พ่อแม่พี่น้องครับ ธรรมะข้อนี้มีนัยยะสำคัญมากที่สุด ที่ผมอยากจะมากล่าวกับพ่อแม่พี่น้อง และขอให้พ่อแม่พีน้องตั้งใจฟังนั้น เพราะว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยก่อนพุทธกาล กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พุทธศักราช 2551 นั้นเหมือนกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นทรงเปรียบเหมือนพระพุทธเจ้า ..... การที่พระพุทธเจ้าไม่แสดงโอวาทปาฏิโมกข์นั้น ก็เพราะว่าในบรรดาบริษัทพระภิกษุที่นั่งอยู่นั้น มีภิกษุองค์หนึ่งซึ่งทุศีล เปรียบเสมือนสังคมซึ่งมีคนไม่ดีอยู่...ต้องรอจนกว่าเราเนี่ยต้องกำจัดเอาคนไม่ดีหรือคนชั่วออกไปซะ.... กรณีนี้ ที่ประชุมสงฆ์มีเพียงพระสงฆ์ที่ทุศีลอยู่เพียงรูปเดียว พระพุทธเจ้าก็ไม่แสดงธรรมแล้ว ทีนี้เกิดอะไรขึ้น? พระโมคคัลลานะ อัครสาวกทางซ้าย...พระพุทธเจ้าทรงมีอัครสาวก 2 ข้าง ซ้ายและขวา พระสาลีบุตรอยู่ขวา พระโมคคัลลานะอยู่ซ้าย พระโมคคัลลานะ คือพระผู้มีฤทธิ์มีปาฏิหาริย์ ถ้าพระพุทธเจ้าต้องการให้สร้างปาฏิหาริย์ หรือให้ใช้ฤทธิ์ พระองค์ท่านก็จะบอกให้พระโมคคัลลานะเป็นคนทำนะครับ พระโมคคัลลานะอัครสาวกเบื้องซ้ายเป็นผู้คลี่คลายปัญหา ... พี่น้องครับ จะเห็นได้ชัดว่า พระพุทธเจ้าทรงทราบดีอยู่แล้วว่าภิกษุรูปนั้นเป็นใคร แต่พระองค์ทรงนิ่งเงียบถึง 3 ครั้ง เพราะ ข้อแรก ให้โอกาสแก่ภิกษุรูปนั้นกลับตัวกลับใจ แต่ภิกษุทุศีลไม่เข้าใจ และคิดว่าการนิ่งเฉยของพระองค์ คือพระองค์ทรงเมตตาแล้วมองไม่เห็นความชั่วของตัวเอง ข้อที่สอง พี่น้องฟังให้ดีๆ พระองค์ไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะดำเนินการด้วยพระองค์เอง หน้าที่ในการกำจัดภิกษุทุศีล จึงตกอยู่กับพระมหาโมคคัลลานะที่เป็นบุคคลใกล้ชิดพระองค์และเป็นผู้มีฤทธิ์มาก ดังนั้น ผู้มีฤทธิ์มากสามารถจัดการกับคนชั่วแทนพระองค์ได้ เมื่อมองมาในสังคมไทย.....เราจำได้มั้ยถึงพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่บอกว่า เราต้องกีดกันไม่ให้คนชั่วเข้ามามีอำนาจใช่มั้ย เราต้องให้คนดีเข้ามาปกครองประเทศ เราต้องกำจัดคนชั่ว ถามว่าใครจะเป็นผู้มีหน้าที่กำจัดคนไม่ดีออกไป คำตอบคือต้องเป็นผู้มีฤทธิ์มาก เพราะพระเจ้าอยู่หัวก็เหมือนกับสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ต้องนิ่งเฉย พระองค์ไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะมาบอกว่า “ออกไป” หน้าที่นี้ ต้องตกอยู่ที่ผู้มีฤทธิ์ ใช่มั้ย? วันนี้ ผู้มีฤทธิ์นั่งอยู่ที่ไหน? [สนธิขึ้นเสียงตะโกนถาม มีเสียงผู้ชุมนุมตะโกนรับ “ที่นี่”] อยู่ที่ไหน? [“ที่นี่”] อยู่ที่ไหน? [“ที่นี่”] นอกจากผู้มีฤทธิ์ที่นี่แล้ว ทหารก็เป็นผู้มีฤทธิ์เช่นกัน ใช่มั้ย? เพราะฉะนั้นแล้ว ทำไมถึงมีผู้มีฤทธิ์เพียงกลุ่มเดียวเท่านั้นเอง ที่กระทำตนเป็นพระโมคคัลลานะ? ต้องมีพระโมคคัลลานะอีกองค์หนึ่ง ใช่มั้ย ที่เข้ามากำจัดคนชั่วออกไปเช่นกัน? เราต้องกำจัดคนชั่ว แม้มีเพียงคนเดียวก็ต้องเอาออกไป ใช่มั้ยพี่น้อง และนี่คือหลักธรรม ...........

พี่น้องครับ พระธรรมวินัย [?] เรื่องการไม่แสดงโอวาทปาฏิโมกข์ถึง 3 ครั้งอธิบายความได้ชัด พระพุทธเจ้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เหมือนพระพุทธเจ้า พระองค์ท่านไม่ได้อยู่สถานะที่จะไปบอกว่าคนนี้ดี คนนี้ชั่ว ใช่มั้ยใช่ แต่พระองค์ทรงทราบด้วยพระทัยของพระองค์เอง ใช่มั้ย ใครทำชั่วอยู่ รัฐบาลทำชั่วอยู่ รัฐมนตรีทำชั่วอยู่ ถวายสัตย์ต่อหน้าพระองค์ท่าน แล้วก็ตระบัดสัตย์วันรุ่งขึ้นทันที อย่าคิดว่าพระองค์ท่านไม่รู้ พระองค์ท่านรู้ แต่ไม่ได้อยู่ในสถานภาพที่พระองค์ท่านจะทำเช่นนั้น เหมือนพระพุทธเจ้าเช่นกัน ใช่มั้ยใช่ พระพุทธเจ้าเมื่อพึ่งพระโมคคัลลานะ เราไม่ได้ถูกแต่งตั้งให้เป็นทหารเสือพระราชา ทหารเสือพระราชินี แต่เราต้องทำหน้าที่เป็นทหารเสือพระราชา ทหารเสือพระราชินี ใช่มั้ยใช่ พี่น้อง และนี่คือหน้าที่ที่พวกเราได้ทำกัน เหมือนกับสมัยก่อนพุทธกาล ที่พระโมคคัลลานะได้ทำแทนพระพุทธเจ้า พวกเราก็ทำแทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ใช่มั้ยใช่ [เสียงผู้ชุมนุมปรบมือ]
แน่นอน ประเด็น (theme) ที่สนธิพูดนี้ ว่าพวกเขากำลัง “สู้เพื่อในหลวง” ไม่ใช่สิ่งใหม่ การเรียกร้องให้ทหาร “ออกมากำจัดคนชั่ว แทนในหลวง” ก็ไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่การได้เทปพระสุรเสียงอ่าน พระอานนท์ พุทธอนุชา ที่ดูเหมือนจะมีเนื้อหาไปในทำนองนี้พอดี (ขับไล่ “ภิกษุผู้ไม่บริสุทธิ์” ออกไปจากที่ประชุมสงฆ์เบื้องพระพักตร์ “พระพุทธเจ้า”) คงจะทำให้ประเด็นนี้มีพลังหรือความหมายมากขึ้นอีกในสายตาของพันธมิตรเอง คงเพิ่มกำลังใจและความหวังในการต่อสู้ให้กับพวกเขาไม่มากก็น้อย ใครก็ตามที่ให้เทปนี้กับสนธิ หวังให้เกิดผลในลักษณะนี้ใช่หรือไม่?


จาก “ผ้าพันคอสีฟ้า” ถึง พระสุรเสียงราชินีบนเวทีพันธมิตร
ลำพังการที่สนธิและเวทีพันธมิตรสามารถเปิดเทปพระสุรเสียงที่ทรงบันทึก “เป็นการส่วนพระองค์...ไม่เคยเผยแพร่ออกไปที่ไหนเลย” ก็นับเป็นเรื่องที่น่าสนใจและมีความสำคัญมากอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเทปพระสุรเสียงนั้นมีเนื้อหาที่ดูเหมือนจะ “ประยุกต์เข้ากับเหตุการณ์บ้านเมืองปัจจุบัน” ได้ ในแบบที่สนธิทำ การ “ประยุกต์” (ตีความ) เนื้อหาในเทปดังกล่าว เป็นของผู้เปิดเทป คือสนธิเองเท่านั้น หรือของผู้ให้เทปด้วย? ใครเป็นผู้ให้เทปแก่สนธิ?

แต่ทั้งหมดนี้ ยิ่งเพิ่มความน่าสนใจและความสำคัญขึ้น ถ้าเราพิจารณาควบคู่ไปกับภูมิหลังบางอย่างของเหตุการณ์เกี่ยวกับพันธมิตรในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา

ในช่วงเดือนกันยายน 2549 ก่อนการรัฐประหารไม่กี่วัน จู่ๆผู้นำพันธมิตรที่เคยปรากฏตัวในเสื้อเหลือง “เราจะสู้เพื่อในหลวง” ก็ปรากฏตัวต่อสาธารณะโดยมีผ้าพันคอสีฟ้าผืนหนี่งพันอยู่รอบคอด้วย ในหนังสือ ปรากฏการณ์สนธิ จากเสื้อสีเหลืองถึงผ้าพันคอสีฟ้า ซึ่งตีพิมพ์ทันทีหลังการรัฐประหาร (สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์, ตุลาคม 2549) คำนูญ สิทธิสมาน ได้อธิบายเรื่องนี้ ดังนี้(9)
เรากำหนดให้แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในเวลา 19.00 น. ค่ำวันที่ 15 กันยายน 2549 ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะในวันน้นรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรคอนเสิร์ตการเมืองครั้งที่ 16 จัดขึ้นที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่อยู่ติดๆกันเป็นอาคารเดียว

เวลา 19.00 น. วันศุกร์ที่ 15 กันยายน 2549 แม้แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยทุกคน ยกเว้น พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ที่เดินทางกลับไปปฏิบัติภารกิจที่โรงเรียนผู้นำกาญจนบุรี จะสวมใส่เสื้อสีต่างกันไป แต่ทุกคนมีเหมือนกันอยู่อย่าง

ต่างพันผ้าพันคอสีฟ้า!

เฉพาะคุณสนธิ ลิ้มทองกุล จะอยู่ในเสื้อสีเหลือง พันผ้าพันคอสีฟ้า ในทุกครั้งที่ปรากฏตัวต่อสื่อมวลชนนับจากนั้น ไม่ว่าจะที่สุราษฎร์ธานี เกาะสมุย หรือสนามบินดอนเมือง

ผ้าพันคอสีฟ้าเป็นการแต่งการที่ไม่ได้วางแผนมาก่อน

แต่เมื่อมีท่านผู้ปรารถนาดีที่ไม่ประสงค์จะให้ออกนามและหน่วยงานนำผ้าพันคอสีฟ้ามาให้จำนวน 300 ผืน เมื่อเวลาประมาณ 18.00 น. วันนั้น ทั้งคุณสนธิ ลิ้มทองกุล และแกนนำอีก 3 คนที่อยู่ ณ ที่นั้น คือ คุณพิภพ ธงไชย, คุณสมศักดิ์ โกศัยสุข และอาจารย์สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ต่างพร้อมใจกันนำขึ้นมาพันคอทันที ดูเหมือนผู้สื่อข่าวก็สังเกตเห็นในเวลาแถลงข่าว แต่ไม่มีใครถามถึงความหมาย เพียงแต่มีอยู่คนหนึ่งถามขึ้นว่าจะนัดหมายให้ประชาชนพันผ้าพันคอสีฟ้ามาร่วมชุมนุมใหญ่ในอีก 5 วันข้างหน้าหรือเปล่า คำตอบที่ได้รับก็คือ ไม่จำเป็น แต่งกายอย่างไรมาก็ได้ ขอให้มากันมากๆก็แล้วกัน

แต่เมื่อคุณสนธิ ลิ้มทองกุล พันผ้าพันคอสีฟ้าในทุกครั้งที่แถลงข่าวนับจากวันนั้นเป็นต้นมา โดยเฉพาะพันให้ส่วนที่เป็นมุมสามเหลี่ยมหันมาอยู่ด้านหน้า แบบคาวบอยตะวันตก ไม่ใช่แบบลูกเสือ ก็ทำให้สื่อมวลชนสนใจเป็นพิเศษ โดยเฉพาะไอทีวี ได้โคลสอัพผ้าพันคอผืนนั้นมาออกจอในช่วงข่าวภาคค่ำเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2549 ด้วย

ถ้าสังเกตสักหน่อย ก็จะอ่านได้ว่า

902
74
12 สิงหาคม 2549
แม่ของแผ่นดิน


ผ้าพันคอสีฟ้าผืนนี้ พวกเราที่เป็นทีมงานเก็บไว้คนละผืนสองผืน และนัดหมายกันไว้ว่าจะพร้อมใจกันพันในวันชุมนุมใหญ่ วันพุธที 20 กันยายน 2549 เสื้อสีเหลือง "เราจะสู้เพื่อในหลวง" + ผ้าพันคอสีฟ้า "902..." ขณะเดียวกันคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ได้สั่งตัดผ้าพันคอสีฟ้าแบบใกล้เคียงกัน ต่างกันแต่เนื้อผ้า และไม่มีคำ "902" เท่านั้น เตรียมออกจำหน่ายจ่ายแจกแก่ประชาชนที่จะมาร่วมชุมนุมในวันนั้น

เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ทำให้คุณสนธิ ลิ้มทองกุล มีความมั่นใจอย่างยิ่งว่าพวกเราจะประสบชัยชนะแน่นอน

ศรัทธาที่มีอย่างเต็มเปี่ยมมาโดยตลอดกว่า 1 ปียิ่งล้นฟ้าสุดจะพรรณนา

…………………………..

เย็นวันที่ 4 กันยายน 2549 คุณสนธิ ลิ้มทองกุล ได้รับการประสานทางโทรศัพท์จากสุภาพสตรีสูงศักดิ์ท่านหนึ่งให้ไปพบณที่พำนักของท่านไม่ไกลจากบ้านพระอาทิตย์มากนัก เมื่อไปพบ ท่านได้แจ้งว่าตัวท่านและคณะของท่านรวมทั้งผู้ใหญ่ที่ท่านเคารพ ขอให้กำลังใจ ขอขอบใจที่ได้กระทำการปกป้องชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ อย่างกล้าหาญมาโดยตลอด และขอให้มั่นใจว่าธรรมจะต้องชนะอธรรม ก่อนกลับออกมา ท่านได้ฝากของขวัญจากผู้ใหญ่ที่ท่านเคารพใส่มือคุณสนธิ ลิ้มทองกุล

เป็นกระเป๋าผ้าไทยลายสีม่วงทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดประมาณกระเป๋าสตางค์ของสุภาพสตรีที่เห็นทั่วไปในงานศิลปาชีพ

เมื่อนั่งกลับออกมา คุณสนธิ ลิ้มทองกุล เปิดดูพบว่า เป็นธนบัตรใหม่เอี่ยมมูลค่ารวม

250,000 บาท !

เป็นอีกครั้งหนึ่ง ที่ทำให้คุณสนธิ ลิ้มทองกุล มีความมั่นใจอย่างยิ่งว่าพวกเราจะประสบชัยชนะแน่นอน !

ศรัทธาที่มีอย่างเต็มเปี่ยมมาโดยตลอดกว่า 1 ปียิ่งล้นฟ้าสุดจะพรรณนา

ไม่ว่าอนาคตข้างหน้าจะอย่างไรก็ตาม ความทรงจำที่จะไม่มีวันลืมเลือนไปจวบวันตายก็คือ ครั้งหนึ่งในชีวิต ประชาชนช่วยจ่ายเงินเดือนเราโดยตรง แผ่นดินช่วยจ่ายเงินเดือนพวกเราโดยตรง

ช่างเป็นชีวิตช่วงที่บรรเจิดเพริดแพร้วยิ่งนัก !

ภาพและคำบรรยายจาก ปรากฏการณ์สนธิ จากเสื้อสีเหลืองถึงผ้าพันคอสีฟ้า ของ คำนูญ สิทธิสมาน



อีกเกือบ 1 ปีต่อมา สนธิได้เดินทางไปสหรัฐอเมริกา รายการ “ยามเฝ้าแผ่นดิน” ทาง ASTV ได้นำเทปการพูดของเขากับคนไทยที่นั่น มาออกอากาศเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2550 ตอนหนึ่งของการพูด สนธิได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นมาของ “ผ้าพันคอสีฟ้า” ดังนี้(10)
เราสามารถที่จะรวมคนได้เป็นหมื่น หลายครั้งเป็นแสน พวกนี้ก้อ เห็นแล้วสิ เฮ้ย ไอ้เจ๊กแซ่ลิ้ม มันใช้ได้เว้ย ก็เข้ามาอยู่ข้างหลัง ตอนนี้ก็เริ่มแล้วสิ พลเอกสุรยุทธโทรมา พลเอกสนธิให้คนใกล้ชิดโทรมา ในวัง ในวังนี่มีเยอะ เส้นสายในวัง ทุกคนสนิทหมด (เสียงคนฟังหัวเราะ) แม่งสนิทกันชิบหายเลย 'ผมนี่ถึงเลยนะ ผมนี่คุณไม่ต้องพูดเลยว่าถึงไม่ถึง คุณมีอะไรคุณพูดมา รับรองถึงหู พระกรรณ' ผมไม่สนใจหรอก เสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็เลยเริ่มมาหนุนหลังขบวนการเรา...

จนกระทั่ง มีสัญญาณบางสัญญาณมาถึงผม จู่ๆ ผมสู้อยู่ ก็มีของขวัญชิ้นหนึ่ง มาจากราชสำนัก ผ่านมาทางท่านผู้หญิงบุษบา ซึ่งเป็นน้องสาวพระราชินี ปรากฏว่าผมแค่ได้รับวันเดียว ผมเข้าไปรับด้วยตัวเองกับท่านผู้หญิงบุษบา โทรศัพท์มาหาผมเต็มเลย ป๋าเปรมให้คนสนิทโทรมา พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ทุกคนโทรมาหมด ถามว่า จริงหรือเปล่า ....
สุดท้าย ในระหว่างวันแรกๆของการชุมนุมยืดเยื้อครั้งนี้ที่สะพานมัฆวาณ สนธิได้ปรากฏตัวพร้อม “ผ้าพันคอสีฟ้า” (และหมวกคาวบอย) อีก เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีมหาดไทยขณะนั้น ได้พูดเสียดสีว่า สนธิ “แอ๊กอาร์ต” ในการปราศรัยบนเวทีพันธมิตรเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2551 สนธิจึงตอบโต้กลับว่า(11)
เมื่อวานนี้ เค้าพูดแดกดันผม ซึ่งผมไม่สนใจหรอก แต่เผอิญ มันไปพาดพิงผ้าพันคอสีฟ้าผม ผมก็จะเล่าให้เค้าฟัง .... ผ้าพันคอสีฟ้านั้น ผมได้รับมา ก่อนเหตุการณ์วันที่ 19 กันยายน วันที่เราเปิดแถลงข่าวและชุมนุมกันครั้งสุดท้าย ที่หอประชุมใหญ่ธรรมศาสตร์ จำได้มั้ย ผ้าพันคอนี้ ข้าราชบริพารในสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถได้เอามาให้พวกเราคืนนั้น แล้วบอกว่า พระองค์ท่านพระราชทานมา เป็นผ้าพันคอพระราชทาน ไอ้เบื๊อก ! เป็นผ้าพันคอพระราชทานเนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พุทธศักราช 2549 คุณเฉลิม คุณจะพูดจาอะไร คุณระวังปากคุณหน่อย อย่าทะลึ่ง !

เปรม: ความรู้ประวัติศาสตร์อังกฤษที่แย่ หรือ กุญแจไขประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย?
สนธิหรือคำนูญไม่ใช่ผู้เดียว ที่กล่าวพาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ (ในที่นี้คือพระราชินี) ในบริบทของการเล่ากระบวนการที่นำไปสู่การรัฐประหาร 19 กันยา แม้แต่เปรม ก็เคยพูดอะไรที่ชวนให้คิดไปในทางเดียวกันได้

หลังรัฐประหารและการตั้งรัฐบาลสุรยุทธ จุลานนท์ ไม่กี่สัปดาห์ ขณะที่ความชอบธรรมของรัฐบาลสุรยุทธ ยังเป็นปัญหาอย่างมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2549 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้ไปกล่าวปาฐกถาที่สถาบันเทคโนโลยี่พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง โดยมีพลเอกสรยุทธ จุฬานนท์ ในฐานะนายกสภามหาวิทยาลัยของสถาบันดังกล่าวร่วมนั่งฟังอยู่ด้วย ตอนหนึ่ง เปรมได้เปรียบเทียบยกย่อง สุรยุทธ ว่าเหมือนกับวินสตัน เชอร์ชิล นายกรัฐมนตรีสมัยสงครามโลกครั้งที่สองของอังกฤษ(12)
ทุกคนต้องรู้จักมิสเตอร์วินสตัน เชอร์ชิล เป็นนายกฯของอังกฤษ สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ที่มาที่ไปก็คล้ายๆ กับคุณสุรยุทธ คือไม่ได้เป็นผู้แทนราษฎร แต่ถูกเชิญมาเพราะควีนเห็นว่าเหมาะสม คุณเชอร์ชิลพูดเรื่องเสียสละ ที่แสดงให้เห็นว่าจำเป็นต้องเสียสละเพื่อชาติบ้านเมือง นายกฯสุรยุทธก็เหมือนกัน คล้ายกับเชอร์ชิล มาเป็นนายกฯโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่เพื่อชาติบ้านเมือง
ความรู้ประวัติศาสตร์อังกฤษของเปรม อยู่ในระดับที่เรียกได้ว่า “สอบตก” เพราะความจริง เชอร์ชิล ได้รับเลือกเป็นผู้แทนราษฎรเป็นเวลานานติดต่อกันถึง 40 ปี รวมทั้งในระหว่างสงครามโลก(13) มิหนำซ้ำ ขณะที่เขาขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น อังกฤษมีกษัตริย์ (คิง) เป็นประมุข ไม่ใช่ราชินี (ควีน) คือ พระเจ้าจอร์ชที่หก แต่การที่เปรมแสดงความรู้น้อยเรื่องประวัติศาสตร์อังกฤษนี้ เพราะเขาอาจจะมัวแต่กำลังนึกถึงปัจจุบันของอังกฤษ (“ควีน” เป็นประมุข) แล้วเลยนึกไปถึงปัจจุบันของไทยกรณีการตั้งรัฐบาลรัฐประหาร ใช่หรือไม่?


“ผ้าพันคอสีฟ้า” - เทปพระสุรเสียง กับกรณี “พระสมเด็จเหนือหัว” และ “36 แผนที่ชีวิตพ่อ”
ถ้านับจากการปรากฏครั้งแรกของ “ผ้าพันคอสีฟ้า” ในเดือนกันยายน 2549 การเปิดเผยข้อมูลของคำนูญในเดือนต่อมา (ซึ่งรวมเรื่องเงินสด 250,000 บาท) จนถึงการพูดของสนธิที่สหรัฐอเมริกาและถ่ายทอดมาไทยในเดือนสิงหาคม 2550 และล่าสุดการยืนยันของสนธิอีกครั้งที่เวทีพันธมิตรในต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ปริศนากรณี “ผ้าพันคอสีฟ้า” (และเงินสด 2.5 แสนบาท) ก็มีอายุประมาณ 2 ปีแล้ว

การปรากฏขึ้นอย่างประหลาด ของเทปพระสุรเสียงพระราชินีบนเวทีพันธมิตร มีแต่เพิ่มความเข้มข้นให้ปริศนานี้ ระดับ “ความเงียบ” ที่ตอบสนองต่อเรื่องทั้งหมดนี้ ของสื่อมวลชน, นักวิชาการ และ “สังคม” โดยรวม นับว่าถึงขั้นที่เรียกตามสำนวนฝรั่งว่า “ความเงียบที่ดังแสบแก้วหู” (deafening silence)

ทั้งหมดนี้ ชวนให้นึกถึงกรณีที่เกิดขึ้นในระยะเวลาเดียวกันและอาจกล่าวได้ว่า มีบางด้านคล้ายกัน คือ กรณี “พระสมเด็จเหนือหัว” ปลายปี 2550 หลังจากมีการประชาสัมพันธ์การจัดสร้างพระดังกล่าวเพียงไม่กี่สัปดาห์ เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับราชสำนักได้ลงมืออย่างรวดเร็วที่จะปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับราชสำนัก และให้ดำเนินการทางกฎหมายต่อผู้จัดสร้าง (หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับราชสำนัก ที่ได้รับการรายงานข่าวคือ สำนักพระราชวัง แต่มีการระบุชื่อท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ รองราชเลขาธิการ ซึ่งสังกัดสำนักราชเลขาธิการ)

กรณีสนธิ-พันธมิตร กับ “ผ้าพันคอสีฟ้า” (และเงินสด 2.5 แสนบาท) และ “เทปพระสุรเสียง” จะเกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายใดหรือไม่ อาจจะเป็นเรื่องไม่ชัดเจนนัก แต่การชี้แจงในเชิงข้อเท็จจริง ไม่น่าจะอยู่นอกเหนือหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยราชการที่ใกล้ชิดกับราชสำนัก ถ้าไม่คิดเปรียบเทียบกับกรณี “พระสมเด็จเหนือหัว” อาจจะเปรียบเทียบกับกรณี “36 แผนที่ชีวิตพ่อ” ที่แม้จะเป็นเพียงการเผยแพร่ทางเว็บไซต์และอีเมล์ สำนักราชเลขาธิการโดยราชเลขาธิการเอง ได้มีจดหมายชี้แจงอย่างเป็นทางการว่า เป็น “การแอบอ้าง”(14)

ยกเว้นแต่ว่า . . . . . .