Thursday, October 26, 2006

เมื่อ ถวัติ ฤทธิเดช เข้าเฝ้าขอขมา พระปกเกล้า


เหตุการณ์ที่ ถวัติ ฤทธิเดช ผู้ได้ชื่อว่า “ผู้นำกรรมกรรถราง”(๑) สมัย ๒๔๗๕ ทำการฟ้องร้องพระปกเกล้าต่อศาลในข้อหาหมิ่นประมาท ได้กลายเป็นเรื่องเล่าในเชิง “ตำนาน” ในหมู่ผู้สนใจการเมืองไทยมานาน อันที่จริง “ตำนาน” เรื่องนี้ ถึงกับมีการถูกนำไปอ้างกันในบทความของนักวิชาการด้านกฎหมายผู้มีชื่อเสียง ว่าเป็นสาเหตุให้เกิดการกำหนดข้อความมาตรฐานในรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆที่ว่า “ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆมิได้”(๒) (ซึ่งไม่จริง ทั้งในแง่ที่ว่าการ “ฟ้อง” นั้นเป็นสาเหตุของข้อความดังกล่าว และในแง่ตัว “ตำนาน” เอง) ในงานเกี่ยวกับถวัติ ฤทธิเดช ของศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ เมื่อเร็วๆนี้ ได้มีการเล่าซ้ำ “ตำนาน” นี้อีก(๓) ซึ่งผมได้เขียนบทความชี้ให้เห็นว่ามี “ความไม่จริง” และ “ความตกหล่น” ในเรื่องที่เล่าต่อๆกันมา (และศิโรตม์นำมาเล่าซ้ำ) ที่สำคัญบางประการ ด้านที่ไม่จริงคือ ถวัติไม่เคยฟ้องพระปกเกล้าต่อศาลในข้อหาหมิ่นประมาท เขาเพียงแต่ให้ข่าวหนังสือพิมพ์ว่า ได้เตรียมจะ “ฟ้อง” พระปกเกล้าต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยขอให้นายมังกร สามเสน สมาชิกสภาเป็นผู้ “ฟ้อง” แทน (คือเสนอญัตติต่อสภา ถวัติเสนอเองไม่ได้เพราะไม่ใช่สมาชิก) แต่มังกรไม่ยอมทำให้ และยังไม่ทันที่ถวัติจะดำเนินการอย่างไร ข่าวที่เขาให้กับหนังสือพิมพ์ก็กระตุ้นให้รัฐบาลสั่งกรมอัยการดำเนินการฟ้องร้องเขาต่อศาลในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ส่วนด้านที่ตกหล่นของเรื่องที่เล่ากันต่อๆมาคือ กรณีนี้ในที่สุด “ลงเอย” ด้วยการที่ถวัติ ได้เข้าเฝ้าขอขมาต่อพระปกเกล้า และได้ทำฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษอย่างเป็นทางการ ซึ่งพระปกเกล้าทรง “รับขมา” และ “พระราชทานอภัยโทษ” ให้ รัฐบาลจึงตกลงถอนฟ้องถวัติ(๔)

เมื่อผมเขียนบทความดังกล่าว ผมยังค้นไม่พบข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดการเข้าเฝ้าขอขมาพระปกเกล้า ของถวัติ นอกจากทราบว่า เกิดขึ้นประมาณวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๔๗๖ ที่สงขลา (พระปกเกล้าเสด็จไปที่นั่นเมื่อเกิดกบฏบวรเดชในเดือนตุลาคม) ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่รัฐบาลเองได้เสนอญัตติให้สภาตีความรัฐธรรมนูญมาตรา ๓ (“องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการ ผู้ใดจะละเมิดมิได้”) โดยรัฐบาลได้ส่ง ม.จ.วรรณไวทยากร และพระยานิติศาสตร์ไพศาลไปเข้าเฝ้าที่สงขลาในวันเดียวกับที่มีการตีความของสภา คือ ๒๓ พฤศจิกายน เพื่อขอให้ทรงรับรองร่างญัตติตีความที่รัฐบาลทำขึ้นก่อน แล้วรายงานผลการเข้าเฝ้าโดยทางโทรเลขมายังรัฐบาล เพื่อเสนอสภาว่าทรงรับรองร่างญัตติแล้ว ในบทความ ผมเขียนว่า “ถวัติน่าจะได้เข้าเฝ้าในเวลาที่ใกล้เคียงอย่างมากกับตัวแทนรัฐบาล ‘ท่านวรรณ’ และพระยานิติศาสตร์ไพศาล” แต่ “วันที่ [ถวัติ] เข้าเฝ้าแน่นอน ไม่เป็นที่ทราบ”

บัดนี้ ผมได้พบข้อมูลรายละเอียดการเข้าเฝ้าขอขมาพระปกเกล้าของถวัติเพิ่มเติม โดยผมเพิ่งทราบว่าหนังสือพิมพ์ประชาชาติรายวันในช่วงนั้น ได้ตีพิมพ์รายงานการเข้าเฝ้าครั้งนั้น ติดต่อกันถึง ๓ ฉบับคือ จากฉบับวันจันทร์ที่ ๒๗ ถึงฉบับวันพุธที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๔๗๖ รายงานดังกล่าวส่วนใหญ่มาจากการสัมภาษณ์ถวัติเอง แต่บางส่วนอาจจะเป็นการเล่าเสริมโดย “ท่านวรรณ” ผู้ทรงเป็นเจ้าของประชาชาติและทรงอยู่ในการเข้าเฝ้าของถวัติด้วย ทั้งนี้จากรายงานของประชาชาติ ทำให้เราได้ทราบแน่นอนแล้วว่า การเข้าเฝ้าของถวัติเกิดขึ้นพร้อมกับการเข้าเฝ้าของผู้แทนรัฐบาล (“ท่านวรรณ” และพระยานิติศาสตร์ไพศาล) คือเดินทางไปด้วยกัน แต่ถ้าดูจากรายงานแล้ว คงจะแยกกันเข้าเฝ้าเป็น ๒ รอบ คือผู้แทนรัฐบาลเข้าเฝ้าตามลำพังก่อน เพื่อปรึกษาเรื่องญัตติตีความต่อสภา (ส่วนนี้ไม่มีในรายงาน) แล้ว “ท่านวรรณ” จึงนำถวัติเข้าเฝ้าอีกรอบหนึ่ง ในลักษณะเป็นการทำ “พิธีกล่าวคำขอขมาโทษ”

ผมเห็นว่า รายงานการเข้าเฝ้าขอขมาพระปกเกล้าของถวัติ ฤทธิเดช ของประชาชาตินี้ เป็นเอกสารชั้นต้นที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ทั้งยังหาอ่านได้ยากและ (ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด) ไม่เคยมีการเผยแพร่ในที่ใดมาก่อนหลังการพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ๗๓ ปีก่อน จึงขอคัดลอกมาเผยแพร่ในที่นี้ อย่างไรก็ตาม ในฐานะนักประวัติศาสตร์ ผมควรกล่าวด้วยว่า ทั้งพระราชดำรัสของพระปกเกล้าและคำกราบบังคมทูลของถวัติ เราจะต้องถือเป็นเพียงถ้อยคำในเชิง “การสร้างความชอบธรรมให้ตนเอง” (self-justification) ซึ่งเป็นธรรมดาของทุกคน และไม่จำเป็นต้องตรงกับความจริงเสมอไป

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัญหาซึ่งเป็นหัวใจของกรณีนี้ คือ ในระบอบรัฐธรรมนูญ (ประชาธิปไตย) ราษฎรสามารถ “ฟ้อง” กษัตริย์ได้หรือไม่ และฟ้องต่อใคร พระราชดำรัสของพระปกเกล้าที่ทรงอธิบายเรื่องนี้ต่อถวัติ (ดูข้างล่าง) เช่นเดียวกับญัตติตีความมาตรา ๓ ของรัฐบาลในขณะนั้น (ซึ่งทรงให้ความเห็นชอบ) แท้จริงแล้ว หาได้แก้ปัญหานี้ให้ตกไปแต่อย่างใดไม่ ที่ทรงกล่าวว่า ตาม “หลักการแห่งลัทธิรัฐธรรมนูญเท่าที่เกี่ยวกับการฟ้องร้องพระมหากษัตริย์.....พระมหากษัตริย์ไม่ทรงอยู่ในฐานะที่บุคคลจะพึงฟ้องร้องได้” นั้น ต้องนับว่าไม่ถูกต้องครบถ้วน เพราะตาม “หลักการแห่งลัทธิรัฐธรรมนูญ” การที่กษัตริย์ถูกฟ้องร้องไม่ได้ ก็เพราะกษัตริย์ไม่ทรงสามารถทำอะไรด้วยพระองค์เองได้ แต่ต้องทำตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอและเห็นชอบเท่านั้น (ซึ่งแสดงออกด้วยการ “ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ”) ถ้าจะฟ้องร้องจึงให้ฟ้องร้องผู้เสนอและเห็นชอบนั้น แต่ในกรณี “พระบรมราชวินิจฉัยเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐมนูธรรม” นั้น พระปกเกล้าทรงเผยแพร่ในพระปรมาภิไธยของพระองค์เองผู้เดียว หาได้มีการให้ความเห็นชอบและลงนามรับสนองจากคณะรัฐมนตรีแต่อย่างใด ในแง่นี้ ถ้าพูดอย่างเข้มงวดแล้ว พระองค์ทรงทำผิดทั้ง “หลักการแห่งลัทธิ” และตัวบทของรัฐธรรมนูญ จึงย่อมสมควรถูกพิจารณา (“ฟ้องร้อง”) ได้ ซึ่งอาจจะต้องให้สภาผู้แทนราษฎรดำเนินการ ในร่างญัตติตีความมาตรา ๓ ของรัฐบาล ก็กล่าวอย่างกำกวมสับสนว่า “ในกรณีอาชญา ซึ่งหากจะบังเอิญเกิดขึ้น ก็จะฟ้องพระมหากษัตริย์ไม่ได้ แต่สภามีอำนาจที่จะจัดการตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ เพื่อให้การเป็นไปโดยยุตติธรรมได้” แต่ขณะเดียวกัน ก็กล่าวด้วยว่า “สภาผู้แทนราษฎร มีอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ใช่ศาล ไม่มีอำนาจชำระคดีอาชญา.....เกี่ยวแก่พระมหากษัตริย์” โดยไม่มีใครคิดจะอธิบายว่า “กรณีอาชญา” ที่อาจจะ “บังเอิญเกืดขึ้น” ได้นั้น ได้แก่กรณีอย่างไรบ้าง? และในเมื่อสภา “ไม่มีอำนาจชำระคดีอาชญา...เกี่ยวแก่พระมหากษัตริย์” ที่ “บังเอิญเกิดขึ้น” นั้นแล้ว จะ “จัดการตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ เพื่อให้การเป็นไปโดยยุตติธรรม” ได้อย่างไร?

อาจกล่าวได้ว่า กรณีถวัติ (พยายาม / ให้ข่าวว่าจะ) “ฟ้อง” พระปกเกล้าต่อสภา แต่กลับถูกฟ้องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนี้ ในที่สุดแล้ว ทั้งรัฐบาล พระปกเกล้า และถวัติ เอง ล้วนแต่ใช้วิธี “แก้ปัญหาแบบไทยๆ” คือ “ขอขมาและเลิกแล้วต่อกันไป” (ซึ่งความจริง “การขอขมา” ไม่ได้มีกำหนดอยู่ในกฎหมายใดๆ) แม้จะมีกิจกรรมในเชิง “แก้ปัญหาแบบตะวันตก” คือการเสนอให้สภาตีความรัฐธรรมนูญ แต่ความจริง เป็นเพียงการกระทำเชิงรูปแบบที่ผิวเผิน ไม่มีการอภิปรายญัตติตีความนั้นอย่างแท้จริงในสภาเลย ทุกคนลงมติเห็นชอบกับร่างที่รัฐบาลเสนอและพระปกเกล้าทรงรับรองแล้วนั้นอย่างง่ายๆรวดเร็ว ปัญหา “พระราชอำนาจ” ในระบอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และใหม่มาก จึงถูกปล่อยไว้เป็นมรดกปัญหาสำหรับประวัติศาสตร์ยุคต่อๆมา

ประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่งที่รายงานของประชาชาติข้างล่างเป็นหลักฐานช่วยยืนยันคือ หลัง ๒๔๗๕ สิ่งที่พระปกเกล้าทรงมีความกังวลห่วงใยอย่างยิ่งเหนืออื่นใด กระทั่งเป็นเรื่องใหญ่ที่ทรงหยิบยกขึ้นมาถามถวัติ คือ ความเป็นไปได้ที่จะมีผู้คิดหรือกระทำการเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบมหาชนรัฐ (“ริปับลิค”) คือเลิกล้มกษัตริย์ ควบคู่กับความกังวลนี้คือ การที่ราชสำนักจะเป็นผู้นำในการต่อต้านสังคมนิยม–คอมมิวนิสม์อย่างแข็งขันที่สุดเรื่อยมาตั้งแต่นั้น เพราะ ดังที่ผมเขียนไว้ในที่อื่นว่า
สำหรับราชสำนัก “คอมมิวนิสม์” เป็นอันตรายไม่ใช่ต่อรัฐธรรมนูญหรือรัฐสภา (ยิ่งไม่ต้องพูดถึงต่อ “ประชาธิปไตย”) มากเท่ากับต่อการดำรงอยู่ของสถาบันกษัตริย์เอง อันตรายของคอมมิวนิสม์เท่ากับอันตรายของสาธารณรัฐนิยม (Republicanism) เพราะหลัง ๒๔๗๕ เป็นที่ชัดเจนว่า ไม่มีกลุ่มการเมืองอื่นใดที่จะเสนอให้เลิกล้มสถาบันกษัตริย์ นับจากนี้ ข้อกล่าวหา “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” กับข้อกล่าวหาคอมมิวนิสต์จะเดินคู่ไปด้วยกัน จนบรรลุจุดสุดยอดในกรณีนองเลือด ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙(๕)
ต่อไปนี้ คือรายงานเรื่องถวัติ ฤทธิเดช เข้าเฝ้าขอขมา พระปกเกล้า ในประชาชาติ วันที่ ๒๗-๒๙ พฤศจิกายน ๒๔๗๖:


เมื่อวันพุธที่ ๒๒ เดือนนี้ นายถวัติ ฤทธิเดช ได้เดินทางออกจากกรุงเทพฯไปยังสงขลา เพื่อเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงประทับอยู่ที่นั้น. ในการไปเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวในครั้งนี้ นายถวัติมีความประสงค์จะไปขอขมาต่อพระองค์ ในฐานที่นายถวัติได้ยื่นฟ้องพระเจ้าอยู่หัวต่อสภาผู้แทนราษฎร. นายถวัติได้เดินทางกลับมาถึงกรุงเทพฯเมื่อวันเสาร์ที่ ๒๕.

ในวันรุ่งขึ้น คือเมื่อเช้าวันวาน เราได้ไปพบนายถวัติ ณะ ที่สำนักสมาคมกรรมกรรถราง ได้สนทนาซักถามนายถวัติถึงเรื่องที่ได้ไปเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวมาแล้ว. นายถวัติเล่าว่า พระเจ้าอยู่หัวทรงรับคำขอขมาโทษของนายถวัติ และยังได้ทรงแสดงพระราชอัธยาศัยไมตรีเสรีนิยม โดยทรงพระราชทานโอกาสแสดงพระราชปฏิสันฐานด้วยนายถวัติเปนเวลานานเกือบ ๑ ชั่วโมง. นายถวัติได้เล่าถึงเรื่องราวที่พระเจ้าอยู่หัวได้รับสั่งสนทนา และที่นายถวัติได้กราบบังคมทูลโต้ตอบพระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัว ให้เราฟังโดยละเอียด แต่ก่อนที่เราจะเขียนถึงเรื่องนี้ต่อไป เราขอลำดับเรื่องเกี่ยวโยงถึงกันให้ผู้อ่านของเราได้ทราบเสียชั้นหนึ่งก่อน.

เมื่อราวกลางเดือนกันยายน นายถวัติ ฤทธิเดช ได้ให้นายร้อยตำรวจตรีวาศ สุนทรจามร เปนทนายความเรียบเรียงคำฟ้องพระเจ้าอยู่หัว เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร ในกรณีบันทึกพระบรมราชวินิจฉัยเกี่ยวกับการโภคกิจ. นายถวัติอ้างว่า ข้อความบางตอนในเอกสารฉะบับนั้น เปนการกล่าวร้ายถึงตัวเขาโดยที่ไม่เปนจริง.

หนังสือพิมพ์บางฉะบับ ได้นำข่าวเรื่องนี้ออกเผยแพร่แก่มหาชน และหนังสือพิมพ์หลักเมืองได้ลงข่าวเรื่องนี้โดยพิศดาร จึ่งในเวลาต่อมาเจ้าของและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์หลักเมืองได้ถูกฟ้องในฐานร่วมมือกับนายถวัติและนายร้อยตำรวจตรีวาศ สุนทรจามรทนายความด้วย. การณ์ต่อมาปรากฏว่าศาลล่างได้รับคำฟ้องจำเลยทั้ง ๔ ไว้แล้วและลงความเห็นว่าคดีมีมูล จึ่งเสนอเรื่องให้ศาลสูงดำเนินคดีต่อไป ตามที่ได้ปรากฏข่าวในหนังสือพิมพ์เมื่อเร็วๆนี้.

ต่อมาได้มีผู้ให้คำแนะนำตักเตือนแก่นายถวัติว่า การกระทำที่นายถวัติได้แสดงออกมาแล้วนั้น ไม่ชอบด้วยเหตุผลในทางความสงบของบ้านเมือง ควรที่นายถวัติจะไปเฝ้ากราบบังคมทูลขอขมาโทษต่อองค์พระเจ้าอยู่หัวเสีย. นายถวัติลงความเห็นด้วย จึ่งได้ตกลงใจกระทำการดังกล่าวแล้ว.

ในการไปเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวครั้งนี้ ท่านวรรณไวทยากร วรวรรณ และเจ้าคุณนิติศาสตร์ไพศาล เปนผู้นำไป. เดิมทีกำหนดกันว่าจำเลยทั้ง ๔ คือ นายถวัติ ฤทธิเดช นายร้อยตำรวจตรีวาศ สุนทรจามร นาย ต. บุญเทียม และนายฉิม สินธุนาวา บรรณาธิการ จะไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพร้อมกัน แต่ในที่สุดก็ได้ไปเพียง ๒ คน คือ นายถวัติ และนาย ต. บุญเทียม ซึ่งเห็นว่าเปนการเพียงพอแล้ว.

นายถวัติไปถึงสงขลาในวันที่ ๒๓ เวลาเที่ยงเศษ ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวเวลาราว ๑๖ น.ในวันนั้นเอง พร้อมด้วยนาย ต. บุญเทียม. ท่านวรรณฯทรงนำคนทั้ง ๒ เข้าเฝ้า. เมื่อพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกมารับรอง คนทั้ง ๒ ก็คุกเข่าลงถวายพานดอกไม้ธูปเทียน ท่านวรรณฯทรงขานนามคนทั้ง ๒ และทรงกล่าวคำขอขมาโทษ.

ระหว่างที่ทรงประทับอยู่ที่สงขลานั้น พระเจ้าอยู่หัวทรงประทับอยู่ที่พระตำหนักของกรมหลวงลพบุรี ณ ที่บริเวณเขาน้อย เปนตำหนักที่กว้างขวางพากพูมพอใช้. ขณะที่ทรงเสด็จออกมาพบนายถวัตินั้น ทรงฉลองพระองค์กางเกงแพรดอกสีสด และทรงเสื้อกุยเฮงแพรขาว สีพระพักตร์ในขณะนั้นตามคำบอกเล่าที่เราได้รับทราบมาดูก็เปนการแสดงพระราชอัธยาศัยอันราบรื่นดีอยู่.

เมื่อเสร็จพิธีกล่าวคำขอขมาโทษแล้ว พระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จเข้าข้างในซึ่งจัดไว้เปนที่รับรองแขก พร้อมกับมีพระราชดำรัสให้นายถวัติและนาย ต. บุญเทียม ตามเสด็จพระองค์เข้าไป โดยแสดงพระราชประสงค์ว่าใคร่จะรับสั่งสนทนาด้วย.

ภายในห้องที่ประทับนั้น ตามคำบอกเล่าของนายถวัติ ซึ่งมิได้ใช้ความสังเกตอย่างถี่ถ้วน ปรากฏว่ามีเก้าอี้ ๒ ตัว มีโต๊ะเล็กๆ ๑ ตัว มีพื้นปูลาดด้วยพรม เครื่องตกแต่งห้องมิได้เปนไปโดยวิจิตรตระการตา. มองออกไปทางประตู จะแลเห็นพวกข้าราชสำนักขวักไขว่อยู่บ้าง. นายถวัติเล่าว่า เมื่อพระเจ้าอยู่หัวยังมิได้เสด็จออก ได้แลเห็นมีผู้แอบมองดูนายถวัติตามช่องหน้าต่าง นายถวัติก็นึกครึ้มใจอยู่.

พระเจ้าอยู่หัวทรงประทับบนพระเก้าอี้ตัวหนึ่ง เก้าอี้คงว่างอยู่ตัวหนึ่ง นายถวัติ และนาย ต. บุญเทียม หมอบเฝ้าอยู่ ฉะเพาะพระพักตร์ตามแบบประเพณีไทยของเรา ห่างพระองค์พระเจ้าอยู่หัวราวหนึ่งศอกเศษ นอกจากคนทั้ง ๒ นี้แล้ว มิได้มีผู้ใดปะปนอีกภายในห้องที่ประทับนั้น. ท่านวรรณประทับอยู่ภายนอกห้อง แต่อยู่ในระยะที่จะทรงฟังพระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัวได้ถนัด.

เรื่องแรกที่พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสแก่นายถวัติก็คือ ทรงชี้แจงถึงหลักการแห่งลัทธิรัฐธรรมนูญเท่าที่เกี่ยวกับการฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ และคำชี้แจงของพระองค์นั้น นายถวัติเล่าว่าเดินทำนองเดียวกับที่ได้มีอยู่ในรายงานการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรครั้งสุดท้าย ดังที่ได้นำลงพิมพ์ในหนังสือของเราในวันนี้แล้ว ซึ่งปรากฏว่า พระมหากษัตริย์ไม่ทรงอยู่ในฐานะที่บุคคลจะพึงฟ้องร้องได้ พระเจ้าอยู่หัวยังได้รับสั่งว่า แม้ในประเทศซึ่งปกครองโดยระบอบมหาชนรัฐ (รีปับลิค) การฟ้องร้องประธานาธิบดีผู้เปนประมุข ก็ไม่เปนการที่จะพึงกระทำได้.

นายถวัติได้กราบบังคมทูลตอบว่า ตัวเขาเองจะได้จงใจกระทำการให้ออกนอกวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญนั้นหามิได้ การที่ได้ยื่นฟ้องพระเจ้าอยู่หัวนั้น ก็โดยที่สำคัญว่าเมื่อพระเจ้าอยู่หัวทรงอยู่ภายใต้กฎหมายแล้ว ก็คงทรงอยู่ในฐานะที่จะพึงฟ้องร้องได้ด้วย. อนึ่งนายถวัติมิได้มีความมุ่งหมายถึงกับจะเหนี่ยวพระองค์ให้ลงมาเกลือกกลั้วกับความผิดทางอาชญา. นายถวัติมีความประสงค์เพียงแต่จะพิศูจน์ว่า ถ้าความเข้าใจของเขาถูกต้องแล้ว ราษฎรจะฟ้องพระเจ้าอยู่หัวได้หรือไม่ ในเมื่อมีเหตุเพียงพอ. ความประสงค์ของนายถวัติอันนี้ ได้มีปรากฏอยู่ในคำให้การของเขาที่ได้ให้ไว้ต่อคณะกรรมการที่ได้ทำการไต่สวนปากคำเขาแล้ว. นายถวัติได้กราบบังคมทูลต่อไปว่า แลเมื่อได้มารับพระราชกระแสชี้แจงถึงหลักการแห่งลัทธิรัฐธรรมนูญจากพระเจ้าอยู่หัวแล้ว เขาก็ได้สำนึกว่า เขาเองได้สำคัญผิดไป โดยที่ยังหย่อนความรู้ในหลักการแห่งลัทธิรัฐธรรมนูญนั่นเอง แลการที่พระเจ้าอยู่หัวได้ทรงรับคำขอขมาโทษของเขาไว้นั้น นับว่าเปนพระมหากรุณาธิคุณยิ่งล้น.

พระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชดำรัสสืบต่อไปว่า พระองค์เองได้ยินมาว่า สมาคมกรรมกรรถรางที่ตั้งขึ้นนั้น ได้เรี่ยไรเงินจากกรรมกรคนละ ๑ บาท แล้วก็เอามาแบ่งปันกันในหมู่ผู้คิดการไม่กี่คน ซึ่งหมายถึงว่า มีนายถวัติเปนต้น. พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า วันนี้นายถวัติมาเฝ้าขอขมาโทษต่อพระองค์ท่านก็เหมาะแล้ว เพราะว่าถ้าถ้อยคำที่พระองค์ได้ทรงรับทราบมา ไม่เปนความจริง พระองค์ก็ทรงขอโทษต่อนายถวัติด้วย.

เมื่อเล่ามาถึงตอนนี้ นายถวัติพูดว่า “ผมมีความปลาบปลื้มในน้ำพระทัยของพระเจ้าอยู่หัวอย่างที่สุด. ท่านทรงขอโทษราษฎรของท่านเช่นนั้น แสดงว่าท่านทรงเปนสปอรตสแมนเต็มที่ แล้วผมได้ก้มลงกราบที่ฝ่าพระบาทของพระองค์ท่าน” เราสังเกตกิริยาการของนายถวัติเห็นว่า ในขณะนั้นนายถวัติเปนผู้ที่มีความจงรักภักดีต่อพระเจ้าอยู่หัวคนหนึ่ง.

ครั้นแล้วพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชดำรัสถึงเรื่องที่นายถวัติได้เคยมีหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทานเงินเพื่อเสียรัชชูปการ แต่พระเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงพระราชทานให้ตามความประสงค์ของนายถวัติ.

รับสั่งว่า “ฉันเข้าใจว่า แกขอเงินฉัน ๖ บาท ก็โดยมีความประสงค์จะให้เลิกเก็บเงินรัชชูปการ ฉันจะให้แกอย่างไรได้ เพราะถ้าฉันให้แก ฉันก็จะต้องให้แก่คนทุกๆคนที่มาแสดงความขัดข้องต่อฉันว่า ไม่สามารถจะเสียเงินรัชชูปการได้ ถ้าฉันไม่ให้ทั่วไป ดูก็ไม่เปนธรรม ฉันจึ่งได้งดเสีย. คนอย่างแกน่ะ ถ้าขอมาให้เข้าลู่ทางแล้ว ทำไมฉันจะไม่ให้ อย่าว่าแต่ ๖ บาทเลย ขอมา ๑๐๐ บาทฉันก็จะให้แก”

พระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำรัสว่า พระองค์ได้ทรงวางหลักในเรื่องพระราชทานเงินไว้ ๒ ข้อ ข้อ ๑. พระราชทานให้แก่พระญาติพระวงศ์ ข้อ ๒. ในเมื่อรัฐบาลของพระองค์ดำริการที่จะช่วยเหลือคนยากจน พระองค์ก็จะทรงพระราชทานทุนทรัพย์ช่วยเหลือตามควร หรือตามที่รัฐบาลได้เสนอขอมา และข้อ ๓. พระราชทานแก่ผู้ที่ทำความดีความชอบ เปนประโยชน์ใหญ่ยิ่งแก่บ้านเมือง ตามที่พระองค์มีพระราชดำริเห็นเปนการสมควร.

ในส่วนปัญหาเรื่องเงินรัชชชูปการ พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า ในสมัยราชาธิปตัยอำนาจสิทธิ์ขาดนั้น พระองค์เองก็ทรงมีพระราชดำริใคร่จะให้เลิกอยู่เหมือนกัน หากติดขัดด้วยผู้บริหารการบ้านเมืองในเวลานั้นแสดงความขัดข้องว่า ถ้าเลิกเก็บเงินรัชชูปการเสียแล้ว การเงินของรัฐบาล จะไม่ดำเนิรไปโดยสดวก เพราะว่าคนมั่งมี มีจำนวนน้อย ฉะนั้น จึ่งต้องเก็บเงินรัชชูปการพึ่งคนจนไปก่อน.

นายถวัติเห็นว่า พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งสนทนาด้วยพระราชอัธยาศัยไมตรี จึ่งได้กราบทูลว่า การเก็บเงินรัชชูปการนั้น เมื่อเปนการจำเปนแล้ว นายถวัติก็เห็นสมควร. นายถวัติไม่เห็นด้วยในข้อที่ว่า ทั้งๆที่ปรากฏว่าคนบางคนไม่มีเงินจะเสีย ยังจะต้องถูกปรับและถูกจับกุม. นายถวัติได้กราบทูลให้พระเจ้าอยู่หัวทรงทราบว่า การจับกุมผู้ไม่เสียเงินรัชชูปการไปทำงานโยธานั้น ก็เท่ากับเปนการช่วยเลี้ยงดูชาวจีนนั้นเอง เพราะผู้ที่ถูกจับกุมโดยมาก เปนจีน และคนจีนเหล่านี้พอใจอย่างยิ่ง ที่จะทำงานเพื่อแลกอาหารไปวันหนึ่งๆ. ตามที่นายถวัติทราบมานั้นว่า เมื่อพ้นกำหนดเกณฑ์ทำงานแล้ว เจ้าหน้าที่ได้ออกหนังสือรับรองให้แก่คนเหล่านี้ นายถวัติว่าได้พบจีนบางคน นำหนังสือรับรองของเจ้าหน้าที่ไปขายให้แก่ผู้ที่ยังไม่เสียรัชชูปการเปนราคา ๓ บาท แล้วจีนผู้ขายก็เตรียมพร้อมสำหรับการถูกจับอีก. การณ์เปนอยู่ดังนี้ไม่น้อย นายถวัติจึงเห็นว่า ควรงดการจับกุมผู้ไม่เสียเงินรัชชูปการไปทำงานโยธา.

เมื่อนายถวัติเล่าเรื่องอันน่าขบขันนี้จบลง พระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชดำรัสว่า “ก็ในจดหมายที่แกเขียนถึงฉันนั้น ไม่เห็นแกบอกมาโดยละเอียดอย่างนี้เลย”

ครั้นแล้ว ได้ทรงมีพระราชดำรัสต่อไปว่า พระองค์มิได้ทรงถือพระองค์ว่าทรงเปนเทวดาเลย. พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์ที่จะรับทราบข่าวสารทุกข์สุขดิบจากประชาราษฎรของพระองค์เปนเนืองนิจ และในขณะเดียวกันทรงมีพระทัยใคร่ที่จะช่วยเหลือประชาราษฎรของพระองค์ตามควรแก่โอกาศด้วย. โดยเหตุฉะนี้ พระเจ้าอยู่หัวจึ่งพระราชทานโอกาสแก่นายถวัติไว้ว่า ถ้ามีกรณีอันจะพึงกราบบังคมทูลแล้วไซร้ ก็ขอให้มีหนังสือบอกมาโดยละเอียด หรือนายถวัติจะมาเฝ้าเล่าเรื่องราวถวายด้วยตัวเอง ก็ทรงมีความยินดีต้อนรับ.

พระเจ้าอยู่หัวได้ทรงปรารภความเปนไปในการเมืองของประเทศสยามที่สำคัญบางประการแก่นายถวัติด้วย ในวันนี้หน้ากระดาษและเวลาได้บังคับให้เราเสนอพระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัวได้แต่เพียงเท่านี้ เพราะฉะนั้นจึ่งขอให้ท่านคอยอ่านตอนต่อไปในวันพรุ่งนี้อีกครั้งหนึ่ง.

ข้อความที่เราได้เรียบเรียงเสนอท่านผู้อ่านแต่เมื่อวันวานนั้น เราได้ทราบว่ามีผู้สนใจในพระคารมของพระเจ้าอยู่หัวไม่น้อย แต่ความจริงพระคารมที่เราจะเสนอต่อไปในวันนี้ ยังมีคุณค่าน่าฟังยิ่งขึ้นไปกว่า

เมื่อพระเจ้าอยู่หัวได้มีรับสั่งว่า พระองค์มิได้ถือหรือเข้าพระทัยว่าพระองค์เปนเทวดาแล้ว พระเจ้าอยู่ก็ได้ทรงมีพระราชดำรัสถามนายถวัติเปนการเปิดเผยว่า ได้มีข่าวแว่วมาถึงพระกรรณของพระองค์ว่า ได้มีผู้คิดอ่านจะเปลี่ยนการปกครองของประเทศสยาม จากระบอบรัฐธรรมนูญซึ่งมีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย เปนระบอบมหาชนรัฐ (ริปับลิค) ตามข่าวนั้นว่า นายถวัติก็เปนผู้นำในความคิดนี้ด้วยผู้หนึ่ง ก็แหละความข้อนี้ยังจะจริงเท็จประการใด.

นายถวัติได้ฟังรับสั่งดังนี้ก็ตกตลึงไป ได้กราบบังคมทูลตอบด้วยความสัตย์จริงใจว่า “ข้าพระพุทธเจ้ามิได้เคยคิดการดั่งเช่นที่ได้มีข่าวมาถึงพระองค์เช่นนั้นเลย”

พระเจ้าอยู่หัวมิได้ตรัสว่ากระไรถึงถ้อยคำของนายถวัติ แต่หากได้ทรงมีพระราชดำรัสต่อไปว่า “ฉันเองจะไม่ขัดขวาง ในการที่ประเทศสยามจะเปลี่ยนการปกครองเปนริปับลิค ถ้าว่าประชาราษฎรนิยมและเห็นว่าถึงเวลาอันควรแล้ว และประชาราษฎรของฉันโดยทั่วไป มีความรู้พอที่จะดำเนินการไปได้”

แต่พระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่า ในชั้นนี้เวลายังไม่สุกพอ ที่พระราชบัลลังก์จะไร้เสียซึ่งพระมหากษัตริย์ ประชาราษฎรของพระองค์ยังไม่ได้รับการศึกษาเพียงพอที่จะดำเนินการปกครองตามระบอบมหาชนรัฐได้. ได้รับสั่งในที่สุดว่า “ตามความเห็นของฉัน เห็นว่า ในเวลานี้ยังเปนไปไม่ได้.”

นายถวัติ ฤทธิเดช ได้กราบบังคมทูลสนองพระราชปรารภว่า ไม่แต่พระองค์พระเจ้าอยู่หัวเท่านั้นที่ทรงเห็นว่าเปนไปไม่ได้ แม้คนโดยมากก็มีความคิดเห็นเช่นเดียวกับพระองค์. นายถวัติได้กราบทูลย้ำว่า เขามิได้เคยดำริการอันปราศจากเหตุผลนี้ และภายในขอบเขตต์ที่หูตาของเขาได้สอดส่องไปถึง เขาก็มิเคยได้สดับข่าวถึงเรื่องที่จะมีผู้คิดเปลี่ยนแปลงการปกครองเปนริปับลิคเลย. นายถวัติยังได้กราบทูลด้วยว่า “การมีพระเจ้าอยู่หัวเปนประมุขของชาติแต่เพียงองค์หนึ่งเช่นนี้ ข้าพระพุทธเจ้าเชื่อว่าประชาชนมิได้รู้สึกเปนการหนักหนาอะไรสักนิดเดียว และประชาชนทั่วไปก็เห็นว่า เขาควรจะมีพระเจ้าอยู่หัวเปนประมุขของชาติ”

โดยเหตุที่นายถวัติได้กราบทูลหนักแน่นด้วยความมั่นคงทั้งกิริยาการและน้ำเสียงเช่นนี้ ดูเหมือนจะทำให้พระเจ้าอยู่หัวทรงมีความมั่นพระทัยในถ้อยคำของนายถวัติยิ่งขึ้น ดังนั้น จึ่งได้ทรงเล่าถึงความรู้สึกส่วนพระองค์ให้นายถวัติฟังต่อไป. พระเจ้าอยู่หัวทรงเข้าพระทัยว่า คนไทยทั่วไปยังมีความนิยมเลื่อมใสในพระมหากษัตริย์อยู่ เมื่อรับสั่งถึงตอนนี้ได้ทรงอ้างเหตุการณ์ประกอบ โดยทรงเล่าให้นายถวัติฟังถึงเรื่องที่ชาวสงขลาได้มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท. ในขณะที่เข้ามาเฝ้านั้น นอกจากชาวเมืองนั้นจะได้ก้มลงหมอบกราบแทบฝ่าพระบาทตามแบบประเพณีไทยแล้ว ยังได้ยกมือทั้งสองของเขาขึ้นลูบศีร์ษะเปนการแสดงความเคารพอย่างสูงสุดอีก. พระเจ้าอยู่หัวได้ตรัสถึงเรื่องนี้ด้วยพระกิริยาอันแสดงความพอพระราชหฤทัย พลางยกพระหัตถ์ทั้งสองขึ้นลูบพระเกศา เปนท่าประกอบให้นายถวัติเห็นได้ประจักษ์.

พระเจ้าอยู่หัวได้รับสั่งถึงเรื่องนี้ในตอนสุดท้ายว่า “ถึงลิเกของเราเดี๋ยวนี้ก็ยังนิยมเรื่องที่มีพระมหากษัตริย์อยู่. แกก็คงจะได้ยินเขาร้องกันบ้างไม่ใช่หรือว่า ปางพระองค์ผู้ทรงศรี พระภูมี พระราชา” เมื่อได้ทรงอ้างกลอนลิเกท่อนนี้ให้นายถวัติฟังแล้ว พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงแย้มพระสรวล.

นายถวัติได้กราบทูลรับรองอีกครั้งหนึ่งว่า ประชาชนมีความเลื่อมใสในพระมหากษัตริย์ ทั้งีนี้ได้รวมทั้งตัวเขาเองด้วย. นายถวัติได้ย้อนไปพูดถึงเรื่องที่เขาได้เคยมีหนังสือกราบบังคมทูลขอความกรุณาต่อพระเจ้าอยู่หัวในเรื่องเงินรัชชูปการและค่าเช่าห้องซึ่งอยู่ในความดูแลรักษาของพระคลังข้างที่. นายถวัติทูลว่า ตามที่ได้มีหนังสือรบกวนมานั้นด้วยความยากจนขัดสนจริงๆ นายถวัติเองไม่ได้ทำการงานที่เปนอาชีพแน่นอน ได้กระทำกิจโดยมากในทางช่วยเหลืออุ้มชูคนยากจน และในการกระทำกิจดั่งว่านั้นก็ไม่เคยเรียกร้องผลประโยชน์ตอบแทนจากคนเหล่านี้เลย. แม้กิจการของสมาคมกรรมกรรถรางที่นายถวัติได้ช่วยเหลืออุ้มชูอยู่อย่างเต็มที่นั้น นายถวัติก็มิได้เคยรับผลประโยชน์แม้แต่น้อย ถึงกระนั้นก็ยังมีผู้แต่งความว่า นายถวัติได้กินเงินเดือนของสมาคมเดือนละ ๘๐ บาท ซึ่งไม่เปนความจริง. นายถวัติได้กราบทูลให้พระเจ้าอยู่หัวทรงทราบว่า ค่าอาหารการกินของนายถวัติที่เปนเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิตอยู่ในทุกวันนี้ ก็ได้อาศัยพึ่งพาจากเพื่อนฝูง ที่ได้ช่วยเหลือเจือจานให้ปันตามสมควร.

อย่างไรก็ตาม ได้มีข่าวอกุศลอันร้ายแรงว่า การกระทำของนายถวัติในบางประการนั้น ได้รับความสนับสนุนจากบุคคลในคณะรัฐบาลและยังมีเสียงต่อไปว่า นายถวัติได้รับผลประโยชน์จากรัฐบาลอีกด้วย. คำเล่าลือทำนองนี้แต่ละล้วนเปนข้อที่จะนำมาซึ่งความแตกร้าวทั้งสิ้น นายถวัติได้กราบทูลปฏิเสธอย่างรุนแรงว่า ไม่มีมูลความจริงเลยสักนิดเดียว.

เมื่อนายถวัติเล่าถึงความเปนไปในชีวิตของเขาจบลง ดูทีพระเจ้าอยู่หัวก็จะทรงมีความเชื่อถือถ้อยคำของนายถวัติอยู่. ได้ทรงปรารภว่า เมื่อความจริงเปนดั่งที่นายถวัติได้กราบทูลให้ทรงทราบแล้ว พระองค์ก็มีความพอพระทัย และทรงคาดหมายว่า ถ้ากระนั้นข่าวต่างๆที่แว่วมาเข้าพระกรรณของพระองค์ ก็คงมาจากทางที่มั่นหมายยุแหย่จะให้เกิดขึ้นซึ่งความปั่นป่วนร้าวราน ได้รับสั่งแก่นายถวัติโดยฉะเพาะว่า “ตัวแกก็ดูมีสมัคร์พรรคพวกและมีผู้เชื่อถืออยู่ไม่น้อย ขอให้ช่วยชี้แจงพูดจาให้เปนที่เข้าใจกันเสีย อย่าให้เกิดความกินแหนงแคลงใจ หรือเกิดความเกลียดชังกันขึ้นในระหว่างคนต่างชั้นต่างฐานะ จงเอาใจสมัคร์สมานคนจนและคนมั่งมี ให้มีไมตรีจิตต์ต่อกัน”

พระเจ้าอยู่หัวดูทีจะทรงเปนห่วงใยในปัญหาเรื่องนี้อยู่มิใช่น้อย ได้ตรัสย้ำถึงความสมัคร์สมานสามัคคีอยู่หลายตอน นายถวัติก็ได้กราบทูลให้พระเจ้าอยู่หัวทรงทราบความตื้นลึกหนาบางต่างๆจนปรากฏว่าเปนที่พอพระทัย. พระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัวและคำกราบบังคมทูลของนายถวัติในเรื่องนี้ ล้วนเปนสิ่งนำมาซึ่งความเข้าใจอันดีต่อกันระหว่างคนทั้งมวล. ขอให้ท่านคอยอ่านข้อความโดยละเอียดต่อไปอีกครั้งหนึ่งในวันพรุ่งนี้.


นายถวัติ ฤทธิเดช คงจะได้สังเกตเห็นว่า พระเจ้าอยู่หัวอยู่ข้างจะมีความเปนห่วงใยในปัญหาเรื่องความสมัคร์สมานสามัคคีระหว่างคนทุกชั้นทุกเหล่าอยู่มิใช่น้อย จึ่งได้กราบทูลถึงความจริงใจในส่วนตัวเขาพร้อมทั้งความรู้สึกของเหล่าคนยากคนจนทั่วไปให้พระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบ. นายถวัติได้กราบทูลว่าในการที่เขาได้แสดงตัวเปนผู้นำของเหล่ากรรมกรนั้นจะได้เปนไปโดยความมักใหญ่ใฝ่สูง ใคร่จะรวบรวมอำนาจมาใส่ตัวเองก็หามิได้ กิจการที่เขาได้กระทำมา เท่าที่เกี่ยวกับเหล่ากรรมกร ก็มีความมุ่งหมายเพียงแต่จะรับใช้หรือโอบอุ้มคนยากคนจนตามแต่จะทำได้ เขามีความมุ่งหมายเพียงแต่จะให้คนยากคนจน สามารถที่ยังชีวิตอยู่ได้ ตามเกณฑ์แห่งมนุษยภาพ กล่าวคือให้ได้มีงานทำพอเปนเครื่องแลกเปลี่ยนอุปโภคบริโภค สำหรับประทังชีพ และด้วยความมุ่งหมายอันนี้ ก็ใคร่จะได้รับความประคับประคองส่งเสริมจากคนมั่งมีทั่วไป.

อนึ่งนายถวัติได้กราบทูลให้พระเจ้าอยู่ได้ทรงทราบว่า อันเหล่าคนยากจนนั้น แต่เพียงอาหารการกินยังมิทั่วท้อง จะอาจเอื้อมไปหมกมุ่นครุ่นคิดถึงการใหญ่ เช่นการบ้านเมืองกระไรได้ ตามปรกติคนยากจนย่อมจะคารวะนอบน้อมคนมั่งมีอยู่เปนนิจ แม้ได้รับการแสดงความปราณีอารีอารอบสักเล็กน้อย ก็จะชื่นใจไปนาน หากจะได้แสดงความขุ่นเคืองบ้างในบางคราว ก็คงจะเปนโดยได้รับความกดขี่อย่างไม่เปนธรรม หรือต้องถูกทอดทิ้งอย่างเหลือที่จะทนได้จริงๆ เพราะฉะนั้นถ้าการณ์ได้เปนไปโดยพอเหมาะพอควรแล้ว ก็เปนที่วางใจได้ว่า คนยากจนจะดำรงชีวิตอยู่ด้วยความสงบเงียบที่สุด. นายถวัติเชื่อแน่ว่า ความปั่นป่วนร้าวรานทั้งหลายที่ได้เกิดขึ้นแล้วนั้น มิได้มาจากที่ต่ำเลย แต่หากได้ยุกันมาปั่นกันมาจากที่สูงทั้งสิ้น เปนเหตุให้เกิดความกระทบกระเทือนมาถึงหมู่ชนชั้นต่ำซึ่งมิได้เคยมีความคิดเห็นเปนการใหญ่โดยอะไรเลย.

เมื่อพระเจ้าอยู่หัวทรงเข้าพระทัยในความเปนไปเหล่านี้แล้ว ก็ทรงมีความโสมนัสยินดี และตรัสย้ำถึงความสมัคร์สมานสามัคคี ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์เปนอย่างสำคัญ ที่จะผูกมัดรัดรึงหมู่ชนทั่วไป.

นายถวัติได้กราบทูลว่า ในการที่จะช่วยคนจนนั้น ถ้าได้เพ่งเล็งถึงเหล่ากสิกรก่อนอื่น ก็จะเหมาะแก่ความต้องการ. เท่าที่เปนมาแล้ว ชาวนาได้รับความเดือดร้อนเพราะเหตุมีคนกลางมาคอยตัดตอนกินแรงของเขาอยู่ ถ้าจัดการให้ชาวนาได้ติดต่อโดยตรงกับท่านที่มั่งมีหรือท่านเจ้าของทุนได้แล้ว ฐานะของชาวนาก็จะดีขึ้น.

พระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชดำรัสตอบนายถวัติว่า ในเรื่องช่วยชาวนา รัฐบาลก็ได้กระทำอยู่เปนนิจแล้ว โดยได้ขยายการจัดตั้งสหกรณ์ตามที่ได้ดำริเห็นสมควร ดั่งนี้ก็เปนการช่วยเหลือชาวนา เปนอันดีอยู่มิใช่หรือ.

นายถวัติถวายความเห็นว่า ตามความเปนจริงที่เขาได้ทราบมานั้น การจัดตั้งสหกรณ์ตั้งแต่ต้นมา ไม่ได้ทำประโยชน์ให้แก่ชาวนาที่ยากจนอย่างจริงจังเลย เพราะว่าผู้ที่จะกู้เงินจากสหกรณ์ได้ ก็จะต้องเปนผู้ที่มีหลักฐาน และผู้ที่มีหลักฐานนั้นเองได้กู้เงินจากสหกรณ์มาให้ชาวนาที่ยากจนกู้อีกทอดหนึ่ง เปนการหาผลประโยชน์และกินแรงคนยากจนนั้นเอง ถ้าได้จัดการอย่างใดอย่างหนึ่งให้ชาวนาได้ติดต่อโดยตรงกับรัฐบาล เปนต้น ในเรื่องที่นาได้แล้ว นั่นแหละนายถวัติจึ่งจะเห็นว่า จะเปนผลดีแก่ชาวนาขึ้นบ้าง.

ความเห็นของนายถวัติในตอนท้ายนี้ พระเจ้าอยู่หัวจะทรงเข้าพระทัยอย่างไรก็ตาม แต่ได้มีรับสั่งว่า ถ้ารัฐบาลจะเข้าควบคุมจัดการในเรื่องที่นา รัฐบาลก็จะต้องไม่กระทำโดยวิธีบังคับซื้อ. ได้ทรงปรารภว่า ที่นาของพระองค์เองที่มีอยู่ ก็ไม่อยากจะได้ไว้เหมือนกัน อยากจะให้มีผู้มาซื้อไปเสีย. แต่การซื้อขายนั้นก็จะต้องเปนไปตามปรกติวิสัยที่นิยมกันอยู่.

รับสั่งในตอนสุดท้ายว่า “ฉันเองไม่ใช่เปนคนโลภหรือหวงแหนในทรัพย์สมบัติอะไร ท้องของฉันก็เล็กนิดเดียว คงจะไม่ต้องการอาหารการกินกี่มากน้อย”

นายถวัติได้กราบทูลว่า เขาเองก็ไม่มีความประสงค์ที่จะให้มีการซื้อขายอันผิดไปจากปรกติวิสัยที่นิยมกันอยู่. เขาเพียงแต่ขอให้ได้มีการจัดการโดยทางใดทางหนึ่งเพื่อปลดเปลื้องเสียซึ่งการกินแรงจากชาวนาที่ยากจน ดั่งที่ได้เปนมาแล้ว หรือยังไม่เปนการดีขึ้นในทุกวันนี้.

เมื่อใกล้จะได้เวลาอันควรที่จะจบการสนทนา พระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชดำรัสแสดงความจริงในพระราชหฤทัยให้นายถวัติทราบว่า พระองค์เองมิได้ทรงมีความคิดอาลัยในสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่พระองค์ได้ทรงสละให้แล้ว เพื่อการปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญ แม้ว่าจะมีผู้เห็นผิดเปนชอบดำริการที่จะนำสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาถวายกลับคืนให้แด่พระองค์อีก พระเจ้าอยู่หัวก็จะไม่ทรงมีความนิยมยินดีด้วย และถึงอย่างไรก็จะไม่ยอมรับไว้เปนอันขาด เพราะพระองค์เองมีความพอพระราชหฤทัยเปนอย่างยิ่งแล้ว ในระบอบการปกครองที่ใช้ดำเนินการอยู่ในเวลานี้.

อนึ่งพระเจ้าอยู่หัว ยังได้ตรัสย้ำถึงความสมัคร์สมานสามัคคีเปนคำรบสุดท้ายอีกด้วย. ได้ทรงขอให้นายถวัติรำลึกถึงความจำเปนในความข้อนี้ และขอให้กระทำการประสานไมตรีจิตต์ระหว่างคนทั่วไปให้บังเกิดผลอันงดงามอย่างดีที่สุดที่จะทำได้ พลางผินพระพักตร์ไปทางนาย ต. บุญเทียม และมีพระราชดำรัสว่า หนังสือพิมพ์ก็สำคัญอยู่ จงกระทำการด้วยความรอบคอบระมัดระวัง จงหลีกเลี่ยงเสียซึ่งการลงข่าว ที่จะเปนช่องทางให้เกิดความปั่นป่วนร้าวรานขึ้น. จงตั้งใจสมัคร์สมานสามัคคีไมตรีภาพให้เปนอยู่โดยทั่วไป และอย่างแน่นแฟ้นรัดรึง.

เมื่อรับสั่งจบลง พระเจ้าอยู่หัวทรงลุกขึ้นจากพระเก้าอี้ นายถวัติและนาย ต. บุญเทียม ก็กราบลงแทบฝ่าพระบาท ครั้นแล้วพระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จเข้าข้างใน เปนอันการเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวของคนทั้งสองได้เสร็จสิ้นลง.

การที่พระเจ้าอยู่หัวทรงรับคำขอขมาโทษของคนทั้งสองไว้นั้น นับว่าเปนการส่วนพระองค์ ไม่เกี่ยวกับทางการบ้านเมือง เพราะฉะนั้นคนทั้งสองจึ่งยังคงเปนจำเลยในคดีที่อัยยการได้ยื่นฟ้องอยู่ และถ้าอัยยการไม่ถอนฟ้อง ศาลก็คงจะดำเนินการพิจารณาคดีต่อไปเปนปรกติ. แต่เมื่อปรากฏว่า พระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงถือโทษจำเลยแล้ว เราก็หวังว่า ทางบ้านเมืองจะได้กรุณาถอนฟ้องจำเลยในคดีนี้ทั้ง ๔ คน.