Friday, June 30, 2006

คำอธิบายกรณีสวรรคตของ “ท่านชิ้น”

หนังสือเล่มนี้ (๑ ศตวรรษ ศุภสวัสดิ์) เพื่อนคนหนึ่งนำมาให้ผมดูเมื่อ ๑-๒ ปีก่อน (ถ้าความจำผมไม่คลาดเคลื่อน) ตอนนั้น ด้วยความที่กำลังยุ่งๆอยู่ด้วยงานอื่น และความขี้เกียจ บวกกับการที่ในหลายปีหลังนี้ ความสนใจเรื่องสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ของผมลดน้อยลง ผมจึงพลิกอ่านแบบผ่านๆ แล้วคืนให้ไป จนเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ระหว่างกำลังรวบรวมข้อมูล (เอกสาร, สัมภาษณ์) เพื่อเขียนบทความเกี่ยวกับกรณีสวรรคตเรื่องใหม่ ผมได้รับการแนะนำจากญาติของผู้เกี่ยวข้องกับกรณีนี้โดยตรงท่านหนึ่ง (ขออนุญาตไม่บอกว่าใครเพื่อเป็นไปตามความต้องการส่วนตัวของท่าน) ว่าให้ลองอ่านหนังสือเล่มนี้ดู มีพูดถึงกรณีสวรรคต แรกทีเดียว ผมก็คิดว่า คงไม่ต่างจากที่เคยเห็นมาก่อน (เรื่อง “ท่านชิ้น” เล่าว่าในหลวงกับสมเด็จพระราชชนนีไม่ได้เชื่อว่าปรีดีมีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งบรรดาผู้สนับสนุนปรีดีเคยนำมาตีพิมพ์หลายครั้ง) แต่เมื่ออ่านแล้ว จึงพบว่าไม่ใช่ มีอะไรบางอย่างที่ “ใหม่” และน่าสนใจกว่า

หม่อมเจ้าศุภสวัสด์วงศ์สนิท สวัสดิวัฒน์ หรือ “ท่านชิ้น” ผู้เป็นพี่ชายต่างมารดาของพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระราชินีในรัชกาลที่ ๗ เป็นคนรุ่นเดียวกับปรีดี เกิดปีเดียวกัน อ่อนเดือนกว่าปรีดีเพียง ๓ เดือน (สิงหาคม ๒๔๔๓) หนังสือเล่มนี้ “ลูก-หลาน-เหลน” ของท่าน พิมพ์ให้เนื่องในโอกาส ๑ ศตวรรษของวันเกิด (ปีเดียวกับที่มีการฉลอง ๑ ศตวรรษปรีดีอย่างใหญ่โตนั่นแหละ) โดยรวบรวมเอางานเขียนของ “ท่านชิ้น” ในโอกาสต่างๆไว้ ที่น่าสนใจที่สุด คืองานที่เรียกว่า “จดหมายร้อยหน้า” คือ บันทึกที่ “ท่านชิ้น” เขียนส่งถึงในหลวงองค์ปัจจุบัน (รัชกาลที่ ๙) เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๔๙๐ คือเพียง ๑๒ เดือนหลังกรณีสวรรคต (วันที่ตามจดหมายปะหน้า แต่ “ท่านชิ้น” กล่าวว่าตัวบันทึกใช้เวลาเขียน “นานมาก”) ต้นฉบับซึ่งเป็นภาษาอังกฤษมีความยาวกว่า ๑๐๐ หน้า ทายาท “ท่านชิ้น” นำมาตีพิมพ์โดยไม่แปล มีความยาวกว่า ๖๐ หน้าในหนังสือ (ที่มีขนาดประมาณกระดาษ A๔)

ในบันทึกนี้ “ท่านชิ้น” ได้เล่าและวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองของสยามขณะนั้นในทัศนะของท่านให้ในหลวงฟัง พูดถึงกลุ่มและบุคคลที่มีบทบาทต่างๆ เช่น พูดถึงปรีดี ซึ่ง “ท่านชิ้น” มองว่าเป็นความหวังของเสรีนิยมประชาธิปไตยที่สำคัญที่สุดในขณะนั้น จึงควรได้รับการสนับสนุน แต่ไม่ได้หมายความว่า “ท่านชิ้น” จะเขียนอย่าง “เชียร์ลูกเดียว” อย่างที่เราได้เห็นจากบรรดา “ลูกศิษย์ลูกหา” ของปรีดี (สุพจน์ ด่านตระกูล ฯลฯ) “ท่านชิ้น” พูดถึงปรีดีแบบตรงไปตรงมาหลายประเด็น ทำให้น่าสนใจกว่ามาก

แต่ที่ผมจะเล่าในที่นี้ คือส่วนที่ “ท่านชิ้น” เขียนถึงกรณีสวรรคต โดยเฉพาะในส่วนที่ท่านเสนอทฤษฎีว่า ในหลวงอานันท์สิ้นพระชนม์อย่างไร ซึ่ง “ท่านชิ้น” สนับสนุนทฤษฎีว่า ในหลวงอานันท์ยิงพระองค์เองโดยอุบัติเหตุ

ก่อนอื่น ผมขอเสนอว่า กรณีสวรรคตนั้น แม้จะมีรายละเอียดในด้านต่างๆอย่างมากมายมหาศาล แต่ถึงที่สุดแล้ว มีประเด็นสำคัญที่เป็นเหมือน “ปมปริศนา” จริงๆ ที่สรุปได้เป็น ๔ ข้อต่อเนื่องกันดังนี้
(๑) ขณะเกิดเหตุ มีทางเข้าห้องบรรทมได้เพียงทางเดียวเท่านั้น (คือด้านเฉลียงหลัง) ซึ่งมีมหาดเล็ก ๒ คน นายบุศย์ ปัทมศริน และ นายชิต สิงหเสนี นั่งเฝ้าอยู่

(๒) ดังนั้น ถ้ามีผู้อื่น (นอกเหนือจากในหลวงอานันท์) เข้าไปในห้องบรรทม จะต้องผ่านมหาดเล็ก ๒ คนนี้

(๓) ลักษณะทางกายภายเกี่ยวกับการสวรรคต (ตำแหน่งบาดแผล, วิถีกระสุน, ความที่ทรงถนัดขวา และ ลักษณะพระวรกายของพระบรมศพ) บ่งชี้อย่างหนักแน่น จนแทบไม่อาจคิดเป็นอย่างอื่นว่า เป็นการยิงของผู้อื่น ไม่ใช่พระองค์เอง

(๔) แต่ มหาดเล็กทั้ง ๒ คน ยืนกรานอย่างไม่เคยลดละว่า ไม่มีผู้อื่น – ไม่ว่าใครทั้งสิ้น – ผ่านเข้าไปในห้องบรรทมในเช้าวันนั้นเลย
จะเห็นว่า ประเด็นสำคัญจริงๆ คือ ความขัดกันอย่างเด็ดขาดระหว่างข้อ ๓ กับ ๔ คือ ถ้าชิต-บุศย์ พูดความจริง (ไม่มีใครเข้าไป) ก็ต้องพยายามอธิบายให้ได้ว่า ทำไมลักษณะทางกายภาพ (บาดแผล ฯลฯ) จึงออกมาในรูปนั้น (การกระทำของผู้อื่น) นี่คือสิ่งที่ “ท่านชิ้น” พยายามทำในจดหมาย คือ ทรงพยายามอธิบายว่า แท้จริงแล้ว ลักษณะทางกายภาพต่างๆดังกล่าว สามารถ “ไปด้วยกันได้” หรือสนับสนุนทฤษฎียิงพระองค์เองเช่นกัน ถ้า “ท่านชิ้น” สามารถทำสำเร็จ ข้ออื่นๆ ที่เหลือก็สามารถ “ลงตัว” ได้
(ในทางกลับกัน บรรดาผู้นิยมเจ้า เน้นข้อ ๓ ข้างต้น และใส่ความไปให้ปรีดี และในที่สุด ก็จับ ชิต-บุศย์ ขึ้นศาล นั่นคือ ปฏิเสธข้อ ๔ คือกล่าวหาว่า ๒ คนนั้นโกหก ปล่อยให้มือสังหารเข้าไป ฯลฯ ควรกล่าวด้วยว่า แม้แต่ผู้สังเกตการณ์ที่ “เป็นกลาง” เช่น พวกหมอที่ถูกเชิญมาชันสูตรพระบรมศพ ก็อธิบายข้อ ๓ ไม่ได้ และส่วนใหญ่ พากันลงความเห็นว่า เป็นการกระทำของผู้อื่นเช่นเดียวกัน)
“ท่านชิ้น” ได้วาด “ฉาก” เหตุการณ์ว่าเกิดอะไรขึ้น เพื่อสนับสนุนทฤษฎีที่ว่า มีความเป็นไปได้ที่ ตำแหน่งบาดแผล, ฯลฯ จะเกิดจากการยิงพระองค์เอง ตามลำดับเป็นข้อๆ ดังนี้ (ผมขออนุญาตไม่ใช้ราชาศัพท์เป็นส่วนใหญ่ เพื่อให้อ่านเข้าใจกันง่ายๆชัดเจน – อย่าลืมว่า “ท่านชิ้น” เอง เขียนเป็นภาษาอังกฤษ)
๑. ในหลวงอานันท์ทรงเสวยยาถ่าย (น้ำมันละหุ่ง) และระหว่างที่รอให้ยาออกฤทธิ์ ทรงรู้สึกเบื่อๆ จึงนำปืนมาใส่กระสุนและขึ้นนกไว้ เตรียมจะทรงยิงนกยิงต้นไม้ทางหน้าต่างห้องบรรทม อย่างที่เคยทำมาก่อน
๒. แต่ยังไม่ทันที่จะทรงได้ยิง ยาถ่ายก็ออกฤทธิ์ ทรงรีบเข้าห้องน้ำ โดยที่ไม่มีโอกาสได้ปลดนกและถอดกระสุนปืน ทรงวางปืนไว้บนโต๊ะข้างหัวเตียงด้านซ้าย (ทรงคิดว่าอย่างไรเสียก็คงไม่มีใครอื่นเข้ามาในห้องบรรทม)
๓. เมื่อออกจากห้องน้ำ ทรงเวียนหัวและอ่อนเพลีย (ผลของยาถ่าย) จึงทรงตรงไปที่เตียงเลย
๔. ทรงล้มตัวลงนอน ถอดแว่นตาออก ทรงหลับตา เพื่อให้หายเวียนหัว โดยทรงลืมสนิทเรื่องปืน
๕. หลังจากที่ทรงเคลิ้มๆหลับไปประมาณ ๑๐ หรือ ๑๕ หรือ ๒๐ นาที ทรงนึกขึ้นได้เรื่องปืน ทรงทราบว่าควรต้องปลดนกและเอากระสุนออก ด้วยความชำนาญในปืน สามารถที่จะทรงทำได้แม้ปิดตา และด้วยความที่ทรงสบายอยู่กับการนอน จึงไม่อยากจะลุกขึ้นนั่งมาทำ ซึ่งเป็นนิสัยธรรมดาของคนหนุ่ม จึงทรงยื่นมือซ้ายออกไปหยิบปืนทั้งๆที่ยังทรงนอนอยู่ ตำแหน่งของปืนที่วางอยู่บนโต๊ะข้างเตียงอยู่ต่ำกว่าหัวไหล่ซ้ายของพระองค์เล็กน้อย ทรงเลื่อนมือซ้ายของพระองค์ลอดเข้าไปใต้ด้ามปืน ทรงช้อนปืนขึ้น ด้ามปืนอยู่ในอุ้งมือ นิ้วโป้งซ้ายของพระองค์วางแตะอยู่ที่ด้านนอกของที่ครอบไกปืน ปากกระบอกปืนหันไปทางเดียวกับนิ้วโป้ง ทรงหยิบปืนขึ้นในท่านี้ แล้วเหวี่ยงแขนกลับมา เพื่อยื่นปืนจากมือซ้ายไปให้มือขวา เพื่อจะทรงใช้มือขวาจับปืนเวลาถอดกระสุน ตามความถนัด จังหวะที่ทรงเหวี่ยงแขนซ้ายมาทางแขนขวานี้ ปืนที่ถืออยู่ในมือซ้าย ก็จะลอยอยู่เหนือพระองค์บริเวณใบหน้า ด้วยความบังเอิญ ปืนคงจะลื่น ทำท่าจะหลุดจากมือหล่นมายังใบหน้า โดยสัญชาตญาณ มือซ้ายจึงรีบคว้าปืนที่กำลังจะหล่นให้แน่นเข้า จังหวะนี้เอง นิ้วโป้งซ้าย คงจะหลุดเข้าไปในไกปืน และกดไกปืน ลั่นกระสุนออกมา แรงเหวี่ยงของการยิงทำให้แขนซ้ายถูกเหวี่ยงกลับไปข้างตัว และปืนก็หล่นอยู่ด้านข้างตัวทางซ้ายมือ พร้อมปลอกกระสุน (นั่นคือไปอยู่ในสภาพที่มีผู้มาพบ)
“ฉาก” เหตุการณ์นี้เป็นไปได้ หรือน่าเชื่อถือแค่ไหน?
ในบรรดาความพยายามที่จะอธิบายว่า ยิงพระองค์เอง ผมรู้สึกว่า คำอธิบายของ “ท่านชิ้น” นี้ฟังดูเข้าท่ากว่าของคนอื่นๆ จนผมซึ่งไม่เคยเชื่อทฤษฎียิงพระองค์เองต้องหยุดคิดอย่างมาก โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า ปืนจะถูกยิงด้วยพระองค์เองอย่างไร จึงทำให้เกิดตำแหน่งบาดแผล, วิถีกระสุน ฯลฯ เช่นนั้น ผมเองไม่รู้จักปืน ไม่เคยจับปืน (ยกเว้นปืนยาวโบราณๆสำหรับฝึก ร.ด. ดูเหมือนจะเพียงครั้งเดียว) แต่ “ท่านชิ้น” เป็นทหาร คงคิดแล้วว่าเป็นไปได้ ที่จะทำปืนลั่นในลักษณะดังกล่าว อย่างน้อยผมคิดว่า “ฉาก” ของ “ท่านชิ้น” มีความเป็นไปได้สูงกว่า “ฉาก” ของ Rayne Kruger ที่พยายามอธิบายใน กงจักรปีศาจ ว่า ทรงยิงพระองค์เองอย่างไร (โดยตั้งใจ คือ suicide) ให้มีบาดแผล ฯลฯ ออกมาเช่นนั้น (ดูในหน้า ๒๒๒-๒๒๓ ของฉบับภาษาอังกฤษ ครูเกอร์ วาด “ฉาก” ให้ทรงนั่งอยู่บนเตียงแล้วยิง – โดยส่วนตัว ผมคิดว่า เกือบเป็นไปไม่ได้เลยที่คนที่ยิงตัวเองอย่างจงใจ จะจับปืนและยิงตัวเองในท่าทางที่ครูเกอร์วาด)
อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่า ขณะที่เป็นไปได้ว่า ถ้าปืนลั่นในลักษณะที่ “ท่านชิ้น” เสนอ จะทำให้เกิดบาดแผล, วิธีกระสุน ฯลฯ อย่างที่พบจริง แต่ความเป็นไปได้ที่ปืนจะลั่นในลักษณะนั้น (หลุดมือขณะทรงหยิบด้วยมือข้างหนึ่งส่งให้อีกข้างหนึ่งระหว่างยังนอนอยู่) ขึ้นอยู่กับอนุกรมของเหตุการณ์หรือขั้นตอนต่างๆก่อนหน้านั้น ที่ต้องบังเอิญมากๆว่ามาเกิดทั้งชุดเช่นนั้น (ข้อ ๑ ถึง ๔ ของ “ท่านชิ้น” ข้างต้น)(๑)
“ท่านชิ้น” เอง เป็นคนแรกที่ยอมรับเลยว่า ทฤษฎีของท่านและ “ฉาก” ของเหตุการณ์ที่ท่านวาดนี้ อาจจะผิดทั้งหมดก็ได้ แต่ท่านมีแรงจูงใจอื่นประกอบด้วยที่เสนอ “ฉาก” และทฤษฎีเช่นนี้ (นอกเหนือจากความพยายามหาคำตอบว่าเกิดอะไรขึ้นจริงๆ) ในย่อหน้าที่ผมอ่านแล้วรู้สึกจับใจไม่น้อย “ท่านชิ้น” เขียนว่า
The above is my own personal theory after I have tried to think out how it happened. I do not guarantee that what I have said is infallible. I merely suggested a theory of my own conviction, which may be entirely wrong. Such a theory, however, lifted a great weight off my mind, because the King’s honour was saved, the Nation’s honour undamaged, and if we could all believe in it this way, misunderstanding, mistrust and maliciousness which had brought strife and instability to our country, would be lessened or even destroyed altogether, and our country could be united again and ready for the work of the reconstruction, and right all wrongs.
ตามคำบอกเล่าของลูกสาว ผลจากการที่ “ท่านชิ้น” ยืนยันทฤษฎียิงพระองค์เอง และปกป้องปรีดีว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ไม่เกี่ยวข้องนี้ ทำให้ท่านกลายเป็น “หมาหัวเน่า” ในหมู่พวกเจ้าและนิยมเจ้าไป กลายเป็นคน “ว่างงาน” ตั้งแต่อายุไม่ถึง ๕๐ คือพลอยตกอับไปพร้อมๆกับปรีดีด้วย จุดที่โดดเดี่ยวถึงขีดต่ำสุดเกิดขึ้น ….
กลางปี ๒๔๙๒ นั่นเอง พ่อต้องปวดหัวใจอย่างรุนแรงอีกครั้งหนึ่ง ในเดือนกรกฎาคมปีนั้น มีการจัดประชุมสามัคคีสมาคมเป็นครั้งแรกหลังสงคราม ที่โรงเรียนเซนต์จอห์น ที่เมืองเลเธอร์เฮด (Leatherhead) พ่อแม่พาลูกสาวทั้งสี่ไปร่วมงาน วันสุดท้ายเป็นวันงานเลี้ยงใหญ่ ทุกคนตื่นเต้นเป็นพิเศษ เมื่อท่านเอกอัครราชทูตหม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร เสด็จมาทรงร่วมงานเป็นแขกผู้มีเกียรติ พร้อมด้วยหม่อมหลวงบัว และธิดางามทั้งสอง – หม่อมราชวงศ์สิริกิตต์ และหม่อมราชวงศ์บุษบา ในวันนั้น ท่านทูตได้รับสั่งเชิญทุกๆคนไปร่วมงานที่สถานทูตในไม่กี่วันต่อมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ จะเสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมกรุงลอนดอน พวกเราตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่ง เมื่อได้ยินข่าวลือว่าอาจจะมีการประกาศหมั้น ระหว่างงานนี้ เราสังเกตเห็นพ่อเดินคุยกับท่านนักขัตรฯ พระญาติและพระสหายเก่า อยู่ที่สนามด้วยสีหน้าเคร่งเครียด รุ่งขึ้น พ่อเล่าให้พวกลูกๆฟังว่า ท่านนักขัตรฯขอไม่ให้พ่อไปร่วมงานเฝ้าฯพระเจ้าอยู่หัวที่สถานทูต เพราะกำลังกริ้วพ่อมาก ด้วยทรงเข้าพระทัยและทรงเชื่อว่าต้องเป็น “ท่านชิ้น” แล้ว ไม่ใช่ใครอื่นแน่ ที่ไปรายงาน ลอร์ดหลุยส์ เมานท์แบทเทน ว่า กรณีสวรรคตเป็นการเล่นปืนกันระหว่างพี่น้อง แล้วเกิดอุบัติเหตุ (กระสุนปืนพลาดไปถูกองค์พี่เข้าโดยบังเอิญ) ที่ทรงปักพระทัยว่าเป็นพ่อก็เพราะพ่อรู้จักคุ้นเคยกับลอร์ดหลุยส์ ทำงานเสรีไทยใต้บังคับบัญชาของลอร์ดหลุยส์ ระหว่างสงคราม
พ่อตลึงงันอย่างที่ไม่รู้ว่าจะอธิบายอย่างไรถูก เพราะความคิดเช่นนี้ไม่เคยเข้าหัวพ่อเลย พ่อเชื่อมั่นอยู่ตลอดเวลาว่า กรณีสวรรคตเป็นอุบัติเหตุโดยพระองค์เอง (หมายถึงพระเจ้าอยู่หัวอานันท์ฯ) ไม่มีการลอบปลงพระชนม์ใดๆทั้งสิ้น และปรีดีบริสุทธิ์
เรื่องที่ปรากฏออกมาก็เพราะ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัติฯ ทรงเดินทางไปพบลอร์ดหลุยส์ ที่ประเทศอินเดีย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๑ เพื่อทรงวางแผนให้พระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯไปทรงศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge) ดังที่พ่อเคยเสนอไว้ครั้งหนึ่ง แต่ลอร์ดหลุยส์ ขอให้เลื่อนกำหนดแผนดังกล่าวไปก่อน จนกว่าจะสืบสวนกรณีสวรรคตแจ่มแจ้งแล้ว
พ่อบอกกับพวกเราว่า ในเมื่อพ่อถูกขอร้องไม่ให้ไปในงานนี้ แต่ลูกอยากไปก็แล้วแต่ลูก แน่นอนว่าทุกคนพร้อมใจกันบอกว่า ในเมื่อพ่อไม่ไป เราก็ไม่ไปเหมือนกัน เป็นอันว่าเราพลาดคืนสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย ณ สถานทูตไทยในกรุงลอนดอน คนไทยในอังกฤษทุกคนได้ร่วมฉลองการประกาศพระพิธีหมั้น นอกจากเรา
(อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า ลักษณะ “หมาหัวเน่า” ดังกล่าวไม่ถึงกับยืนยาวตลอดไป เพราะในปี ๒๕๐๒ หลังจาก “ท่านชิ้น” ได้กลับมาลงหลักปักฐานอยู่ในเมืองไทย โดยการ “ทำไร่” ที่เพชรบุรีเป็นเวลาหลายปีแล้ว วันหนึ่ง ในหลวง พระราชินี ได้นำเสด็จเจ้าหญิงอเล็กซานตราแห่งเค้นท์ มาเสวยพระกระยาหารค่ำที่บ้านไร่ที่ชื่อ “สวนเสมา” ของ “ท่านชิ้น” ด้วย)(๒)

Tuesday, June 27, 2006

๕๐ ปีการประหารชีวิต ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘



เช้ามืดของวันพฤหัสบดีที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘ นักโทษชายที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำกลางบางขวาง ๓ คน ได้ถูกนำตัวไปยังหลักประหารของเรือนจำ นี่ไม่ใช่การประหารชีวิตธรรมดาๆ เพราะผู้ถูกประหารทั้งสาม คือ เฉลียว ปทุมรส ชิต สิงหเสนี และบุศย์ ปัทมศริน ผู้ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนลอบปลงพระชนม์ในหลวงอานันท์ รัชกาลที่ ๘ เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ หรือเกือบ ๙ ปีก่อนหน้านั้น

การสวรรคตของในหลวงอานันท์ เป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์สังคมและการเมืองไทย ถ้าเราไม่มองว่าสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้วในประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นเช่นนั้นเสมอไป เมื่อเปรียบเทียบกับความเป็นไปได้ว่าอาจจะเกิดสิ่งอื่นหรือในแบบอื่น เราก็จะเห็นผลสะเทือนของกรณีสวรรคตว่ามหาศาลเพียงใด พูดง่ายๆคือ ลองคิดว่า “หากไม่เกิดกรณีสวรรคต . . .” (ในบรรดาความเป็นไปได้ต่างๆที่อาจจะตามมาจากการไม่เกิดกรณีสวรรคต คือการสถาปนาอย่างมั่นคงของรัฐบาลพลเรือนและประชาธิปไตยรัฐสภา เป็นต้น) มองในแง่นี้ อาจกล่าวได้ว่า ไม่มีกรณีใดในประวัติศาสตร์ที่มีลักษณะขัดแย้งกันเอง (paradox) ระหว่างความสำคัญอันใหญ่หลวง กับ การเงียบงันไม่พูดถึง มากเท่ากับกรณีสวรรคตอีกแล้ว กรณีสวรรคตเป็นจุดสูงสุดของหัวข้อที่พูดไม่ได้ (ultimate tabooed subject)

เกี่ยวกับประเด็นนี้ ในทัศนะของผม ไม่เป็นความจริงทั้งหมดที่ว่า เรื่องเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ไม่สามารถพูดได้ในสังคมไทย ถ้าพิจารณาให้ดีจะพบว่า ไม่มีกรณีใดเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ก่อนกรณีสวรรคตที่เป็นหัวข้อต้องห้ามในลักษณะที่กรณีสวรรคตเป็น ผมขอเสนอว่า อันที่จริง ภาวะที่กลายเป็นหัวข้อที่พูดไม่ได้ของกรณีสวรรคต ก็ไม่ใช่สิ่งที่ต้องเกิดขึ้นเสมอไป แต่เป็นผลของบริบททางประวัติศาสตร์ คือสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ในขณะที่เกิดกรณีสวรรคตขึ้น น่าคิดว่า หากเหตุการณ์อย่างกรณีสวรรคตเกิดขึ้นในต้นทศวรรษ ๒๔๘๐ เมื่อคณะราษฎรยังมีความเข้มแข้งรวมหมู่ (collective political strength) สูงสุด ไม่มีศัตรูคู่แข่งที่สามารถท้าทายได้ (เพราะติดคุกหรือลี้ภัยหมด) และสามารถที่จะใช้ความเข้มแข็งนี้มารับมือกับเรื่องนี้ร่วมกัน (แบบเดียวกับศาลพิเศษ ๒๔๘๒ ที่ในทางปฏิบัติวินิจฉัยว่ารัชกาลที่ ๗ เป็นกบฏด้วยการบ่อนทำลายระบอบใหม่และช่วยเหลือกบฏบวรเดช)(๑) เหตุการณ์ที่ตามมาคงจะเป็นคนละอย่างและกรณีสวรรคตก็อาจจะไม่ได้มีสถานะดังที่เป็นอยู่ แต่ในความเป็นจริง บริบทของการเกิดกรณีนี้เป็นอีกอย่างหนึ่ง (การสิ้นสุดอำนาจของคณะราษฎร การแตกหักระหว่างพิบูลกับปรีดี และการเริ่มกลับมีบทบาทของกลุ่มที่เสียอำนาจไปเมื่อ ๒๔๗๕) กรณีสวรรคตจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นและสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่สร้างจารีตการพูดเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ไม่ได้ขึ้นมา

ในความเงียบเรื่องนี้ ผู้ที่ได้รับผลโดยตรงที่สุดก็คือ ผู้ที่ถูกประหารชีวิตไปเมื่อ ๕๐ ปีก่อนทั้ง ๓ คนนั่นเอง ในแง่หนึ่ง การรณรงค์เพื่อกู้ชื่อปรีดีจากการถูกใส่ความกรณีสวรรคตซึ่งสุพจน์ ด่านตระกูล เป็นผู้บุกเบิกตั้งแต่ทศวรรษ ๒๕๑๐ และหลังทศวรรษ ๒๕๒๐ ได้ประสบความสำเร็จ (คือเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าปรีดีไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสวรรคต) เป็นสิ่งชอบธรรม แต่ถึงที่สุดแล้ว สามารถอภิปรายได้ว่า ปรีดี พนมยงค์มีบทบาทต่อการเมืองไทยสมัยใหม่มากเกินกว่าที่จะกลบชื่อเขาได้ตลอดไป และปรีดีเองขณะที่ต้องสูญเสียอำนาจทางการเมืองและเสียชื่อเสียงเป็นเวลาหลายปี ก็ไม่ได้สูญเสียอย่างถึงที่สุด คือชีวิต ต่างกับผู้ถูกประหารทั้งสาม ลักษณะ “ให้ความสำคัญกับชนชั้นนำ” (elitist) ของสังคมไทยแสดงออกแม้ในกรณีนี้ (ผมตระหนักว่า การรณรงค์กู้ชื่อให้เฉพาะปรีดี มีประเด็นมากกว่าเรื่อง elitist นี้ แต่ลักษณะนี้เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์อย่างไม่ต้องสงสัย)

ในประเทศไทย ไม่มีประเพณีการแก้คำตัดสินที่ผิดของศาลฎีกา หรือรื้อฟื้นชื่อเสียงอย่างเป็นทางการให้กับผู้ที่ถูกตัดสินไปผิดๆ โดยเฉพาะถ้าคดีผ่านไปหลาย ๑๐ ปีอย่างกรณีนี้ แต่การที่เฉลียว ชิต และ บุศย์ ถูกตัดสินว่ามีส่วนในการลอบปลงพระชนม์ เป็นการตัดสินที่ผิดอย่างแน่นอน ในปี ๒๕๒๓ ปรีดีได้ตีพิมพ์สำนวนคำฟ้องที่เขาเขียนขึ้น ในคดีที่เขาเป็นโจทก์ฟ้องหมิ่นประมาทชาลี เอี่ยมกระสินธุ์กับพวก โดยให้ชื่อหนังสือที่ตีพิมพ์ว่า คำตัดสินใหม่ กรณีสวรรคต ร.๘ แน่นอนว่า นั่นเป็นการเรียกอย่างเกินจริง เพราะแม้แต่คำพิพากษาของศาลแพ่งในคดีนั้นเอง ก็เพียงแต่รับรองสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างปรีดีกับจำเลยเท่านั้น “คำตัดสินใหม่” ดังกล่าว จึงเป็นเพียงสำนวนคำฟ้องของปรีดีเอง อย่างไรก็ตาม ในสำนวนคำฟ้องนั้น ปรีดีได้เสนอประเด็นที่ฟังขึ้นว่า คำพิพากษาคดีสวรรคตควรถือเป็นโมฆะ เพราะทั้งศาลชั้นต้น และศาลฎีกา ได้ทำผิดกระบวนการพิจารณาคดีตามกฎหมาย(๒)

นอกเหนือจากขัดกับหลักกฎหมายแล้ว ในแง่สามัญสำนึก ทุกวันนี้มีใครบ้างที่ยังสติดี จะคิดว่าคนอย่างชิต สิงหเสนี ที่สืบเชื้อสายมาจากตระกูลที่รับใช้ราชวงศ์มาหลายชั่วคน ผู้ซึ่ง “ตอนที่ทรงพระเยาว์อยู่ ในหลวงรัชกาลที่ ๘ ทรงขี่ข้าพเจ้าเล่นต่างม้า” หรือคนอย่างบุศย์ ปัทมศริน ที่ “บางเวลาเข้าที่สรงแล้ว โปรดให้ข้าพเจ้าเช็ดพระวรกายทั่วทุกส่วน และบางทียังโปรดให้ข้าพเจ้าหวีพระเกษาถวาย” (๓) จะมีส่วนร่วมในแผนปลงพระชนม์? แล้วจะมีใครที่วาง “แผนปลงพระชนม์” ได้อย่างโง่เขลาเบาปัญญาเช่นนั้น? (กรณีเฉลียว ปทุมรส, เรย์น ครูเกอร์ ผู้เขียนกงจักรปีศาจ พูดถูกที่ว่า ไม่มีศาลประเทศตะวันตกที่ไหนจะไม่โยนการกล่าวหาที่ไม่มีหลักฐานเชื่อมโยงเฉลียวเข้ากับการสวรรคตเลยนี้ออกนอกศาลไป แม้แต่ศาลไทยในคดีนี้เอง หลังจากความพยายามทุกวิถีทางรวมทั้งสร้างพยานเท็จของฝ่ายโจทก์ ก็ยังไม่สามารถเอาผิดเฉลียวได้ทั้งในระดับศาลอาญาและศาลอุทธรณ์ ต้องรอมาจนถึงศาลฎีกา อาศัยตรรกะที่เหลือเชื่อมาสรุปว่าเฉลียวผิด)(๔)


การเมืองของความจำ: กรณีถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ
ผมขอเสนอว่า สิ่งหนึ่งที่แสดงว่าทุกวันนี้ ไม่มีใครที่สติดีจะคิดว่าผู้ถูกประหารชีวิตทั้งสามมีส่วนร่วมปลงพระชนม์ ก็คือการที่มีความพยายามจะปฏิเสธการเป็นผู้รับผิดชอบต่อความล้มเหลวที่จะช่วยชีวิตทั้งสามไว้ในโอกาสสุดท้าย คือในขั้นตอนการถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ (ซึ่งชวนให้นึกถึงกรณี ๖ ตุลาที่ในระยะหลัง หลายคนที่ดูเหมือนเคยมีบทบาทสนับสนุน – กระทิงแดง, จำลอง ศรีเมือง, สล้าง บุนนาค, ฯลฯ – พยายามปฏิเสธว่าไม่ได้มีบทบาทอย่างที่เข้าใจกันทั่วไป)

ในหนังสือชีวประวัติจอมพล ป. พิบูลสงคราม, อนันต์ พิบูลสงคราม ได้เขียนถึงกรณีสวรรคตว่า

ข้าพเจ้าจึงระงับใจไม่ได้ที่ต้องเรียนถามจอมพล ป. พิบูลสงคราม วันหนึ่งที่ประเทศญี่ปุ่นว่า ในฐานะที่เวลานั้นท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ เหตุใดท่านจึงไม่ขอพระราชทานอภัยโทษให้จำเลยสามคนที่ถูกศาลฎีกาพิพากษาประหารชีวิต ท่านตอบข้าพเจ้าทันทีอย่างหนักแน่นว่า “พ่อได้ขอพระราชทานอภัยโทษขึ้นไปถึงสามครั้ง ได้พยายามทำหน้าที่ของพ่อจนที่สุดแล้ว” ในอดีตที่ผ่านมา มีน้อยครั้งที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องเสียใจบ้างเมื่อทำอะไรไม่สำเร็จ แต่ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นครั้งใดที่ท่านจะเสียใจหนักยิ่งไปกว่าที่ข้าพเจ้ากำลังเห็นท่านครั้งนั้นขณะเมื่อได้ตอบคำถามของข้าพเจ้าจบ ด้วยใบหน้าที่เคร่งขรึมและสนเท่ห์ใจไม่เปลี่ยนแปลง(๕)
อันที่จริง โดยสามัญสำนึก ใครที่อ่านเรื่องเล่านี้แล้ว ควรจะต้องสงสัยว่า การขอพระราชทานอภัยโทษในคดีเดียวจะสามารถทำได้ “ถึงสามครั้ง” หรือ? แต่ตราบใดที่ไม่มีหลักฐานอื่น โดยเฉพาะที่เป็นลายลักษณ์อักษรมาโต้แย้งความจำ (หรือข้ออ้าง) ของจอมพล ป ก็คงทำได้เพียงตั้งข้อสงสัยเท่านั้น(๖)

อีกด้านหนึ่ง ในหนังสือ The Revolutionary King ซึ่งอาศัยข้อมูลจากการสัมภาษณ์ในหลวง พระราชวงศ์ และข้าราชสำนักจำนวนมาก, วิลเลียม สตีเวนสัน ได้เขียนบรรยายอย่างละเอียดถึงการประหารชีวิตเฉลียว ชิต และบุศย์ ในเช้ามืดวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘ (บทที่ ๑๕ Execution – การประหารชีวิต) แล้วได้ “ตัดภาพ” ไปที่พระราชวังไกลกังวล ดังนี้

King Bhumibol woke up with a jolt from a dream in which a black sun struggle to get out of the aerial roots of a Buddha bo tree and the White Raven’s wings glinted like metal as they flapped across the pond toward the study where, when he was in residence at Chtiralada, he had been lately preparing for his ordination as a monk and pondering Buddhist laws. He remembered the law that every action generates a force of energy that returns to us in like kind. He had been told nothing about the executions.

The public heard first through marketplace gossip. This allowed Phao a final touch of cruelty. The unsuspecting families continued their usual early morning routine of making the rounds to plead for their men’s lives. The dragged-out fight had beggared them. The bureaucratic processes required them to go on foot or bicycle from office to office. Finally they made their way to revisit the prisoners.

The man at the gate said, ‘It’s too early to pick them up.’ Senator Chaleo’s daughter misunderstood. She thought she had come too early to escort her father once more to freedom. The man corrected her: ‘You’re too early to pick up the bodies.’ Then she knew that all morning she had been trying to save the lives of the already dead. No official notification was issued. The king hurried back from Far-From-Worry when the rumours reached him. He had let the months pass without interfering with the due process of law, thinking he had won his demand for a strong and independent judiciary. In his silent rage, he saw how powerless he really was. He had insisted that every citizen had the right to petition him directly. Now he discovered that attempts to reach him by the scapegoats’ families had been stopped by courtiers subverted by Phao’s police.

Phao circulated reports that the king had approved the executions because he wanted to end speculation about his part in the murder. On Phao’s desk remained the last written appeals from the dead men for a king’s pardon. (๗)

ทำนองเดียวกับความจำของจอมพล ป อาจตั้งข้อสงสัยได้ว่า ข้าราชสำนักขณะนั้นจะถูก subverted (ดึงตัวไปเป็นพวก) โดยเผ่าได้หรือ? โดยเฉพาะสำนักราชเลขาธิการซึ่งต้องดูแลเรื่องนี้ และขณะนั้นอยู่ในการควบคุมของ ม.จ.นิกรเทวัญ เทวกุล ซึ่งทรงโปรดเกล้าแต่งตั้งด้วยพระองค์เองให้อยู่ในตำแหน่งราชเลขาธิการตั้งแต่ปี ๒๔๙๓ (จนถึงปี ๒๕๐๕ ซึ่งรวมที่ทรงโปรดเกล้าต่ออายุราชการ ๕ ครั้งจนครบตามระเบียบที่ต่อได้) แต่ก็เช่นเดียวกันกรณีความจำของจอมพล ป ที่ผ่านมายังไม่มีใครหาหลักฐานมาปฏิเสธสิ่งที่สตีเวนสันเขียน

ข้างล่างนี้ ผมขอนำเสนอหลักฐานเอกสารที่คิดว่าสามารถยืนยันได้อย่างเด็ดขาดว่าความจริงของกรณีนี้เป็นอย่างไร ดังนี้

หลังจากศาลฎีกาได้ตัดสินให้จำเลยทั้งสามมีความผิดต้องประหารชีวิต เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๔๙๗ แล้ว เกือบ ๒ สัปดาห์ต่อมา ได้มีการนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในลักษณะนี้:

๑๗. เรื่อง คำพิพากษาศาลฎีกา คดีนายเฉลียว ปทุมรส กับพวกจำเลย (กระทรวงมหาดไทยเสนอคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๔๙๗ เกี่ยวกับคดีอาญากรณีประทุษร้ายต่อพระองค์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลว่า นายเฉลียว ปทุมรส นายชิต สิงหเสนี และนายบุศย์ ปัทมศริน จำเลยได้สมคบกับพวกร่วมรู้ในการปลงพระชนม์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เป็นความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา ๙๗ ให้ลงโทษประหารชีวิตนายเฉลียว ปทุมรส นายชิต สิงหเสนี และนายบุศย์ ปัทมศริน จำเลย คดีถึงที่สุดแล้ว)

มติ ทราบ(๘)

วันที่ ๕ พฤศจิกายน จำเลยทั้งสามได้ทูลเกล้าถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ โดยยื่นผ่านกรมราชทัณท์(๙) แต่กว่าเรื่องจะขึ้นมาถึงระดับคณะรัฐมนตรีก็เป็นเวลา ๑ เดือนเต็ม วันที่ ๘ ธันวาคม ฎีกาของทั้งสามถูกนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ดังนี้

๙. เรื่อง นักโทษเด็ดขาดชาย เฉลียว ปทุมรส นักโทษเด็ดขาดชาย ชิต สิงหเสนี และนักโทษเด็ดขาดชาย บุศย์ ปัทมศริน ขอพระราชทานอภัยลดโทษ (กระทรวงมหาดไทยนำส่งฎีกาพร้อมด้วยเอกสาร การสอบสวนของนักโทษเด็ดขาดชาย เฉลียว ปทุมรส นักโทษเด็ดขาดชาย ชิต สิงหเสนี และนักโทษเด็ดขาดชาย บุศย์ ปัทมศริน เรือนจำกลางบางขวาง ต้องโทษฐานสมคบกันกระทำการประทุษร้ายต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๘ (พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล) กำหนดโทษประหารชีวิต ขอพระราชทานชีวิตให้คงไว้ มา

น.ช. เฉลียวฯ อ้างว่า ตนยังมีความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตลอดไป ไม่เคยคิดที่จะหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างใด ขณะนี้ ครอบครัวขาดผู้อุปการะ

น.ช. ชิตฯ อ้างว่า บรรพบุรุษในตระกูลของตน ซึ่งมีเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) เป็นต้นตระกูล ตลอดจนบิดา ได้เคยรับราชการสนองพระเดชพระคุณมาด้วยความจงรักภักดี ซื่อสัตย์สุจริต

ส่วน น.ช. บุศย์ฯ อ้างว่า ชีวิตของตนได้เติบโตขึ้นมา ก็โดยความอุปการะในพระบรมราชตระกูล ที่ได้ทรงชุบเลี้ยง การเข้ารับราชการจึงเป็นไปด้วยความจงรักภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้สอบสวนพิจารณาแล้ว ไม่เห็นควรจะพระราชทานอภัยลดโทษให้โดยอ้างว่า เรื่องนี้เป็นการประทุษร้ายแก่บุคคลสำคัญของประเทศ ตามหลักการของกระทรวงมหาดไทยซึ่งคณะรัฐมนตรีเห็นชอบด้วยแล้วนั้น จะไม่ขอพระราชทานอภัยโทษให้ ควรยกฎีกาเสีย)

มติ – เห็นชอบด้วยตามกระทรวงมหาดไทย ให้นำความถวายบังคมทูลได้(๑๐)

นี่คือหลักฐานยืนยันว่า จอมพล ป จำผิดหรืออ้างอย่างผิดๆ (คือโกหก) ว่า ตัวเองได้ช่วย “ขอพระราชทานอภัยโทษขึ้นไปถึงสามครั้ง” จะเห็นว่า ในความเป็นจริง คณะรัฐมนตรีได้นำฎีกาของทั้งสามขึ้นกราบบังคมทูล โดยมีความเห็นว่า “ไม่ควรจะพระราชทานอภัยลดโทษให้...[เพราะ]เรื่องนี้เป็นการประทุษร้ายแก่บุคคลสำคัญของประเทศ ตามหลักการของกระทรวงมหาดไทยซึ่งคณะรัฐมนตรีเห็นชอบด้วยแล้วนั้น จะไม่ขอพระราชทานอภัยโทษให้ ควรยกฎีกาเสีย”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมคิดว่าต้องย้ำทำความเข้าใจในที่นี้คือ ความเห็นของรัฐบาล (คณะรัฐมนตรี) นี้ เป็นเพียงการแสดงความเห็นตามระเบียบเมื่อมีนักโทษถวายฎีกา ไม่ได้หมายความว่าเป็นมติที่ผูกมัดต่อพระมหากษัตริย์ เพราะการอภัยโทษเป็นเอกสิทธิ์และพระราชอำนาจ (prerogative) ของพระมหากษัตริย์ และแม้รัฐบาลจะมีความเห็นในทางปฏิเสธฎีกาใด ก็ยังต้องนำฎีกานั้นขึ้นทูลเกล้าให้ทรงวินิจฉัย (๑๑)

ในกรณีคดีสวรรคต เข้าใจว่าสำนักคณะรัฐมนตรี (คือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี-สลค. ในปัจจุบัน) คงส่งฎีกาผ่านไปยังสำนักราชเลขาธิการ ภายในไม่กี่วันหลังการประชุมวันที่ ๘ ธันวาคม (ผมเดาจากการได้อ่านหลักฐานการทำงานของสลค.จำนวนมาก โดยเฉพาะการออกจดหมายต่างๆที่เป็นผลจากการลงมติของครม.) แต่กระบวนการทำงานเหล่านี้ ตัวนักโทษทั้งสามและญาติ (หรือสื่อมวลชน) ไม่รู้ พวกเขาเพียงแต่รู้ว่าได้ยื่นฎีกาไปตอนต้นเดือนพฤศจิกายน เมื่อถึงกลางเดือนมกราคม คือกว่า ๒ เดือนหลังการยื่นของพวกเขา (หรือ ๑ เดือนเศษหลังการพิจารณาของครม.) หนังสือพิมพ์บางฉบับก็เริ่มลงข่าวถามถึงความคืบหน้า(๑๒) สยามรัฐได้ไปสัมภาษณ์รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเอกเดช เดชประดิยุทธ ซึ่งยืนยันว่า “ฎีกาจำเลยคดีสวรรคตถึงในหลวงแล้ว”(๑๓) ยิ่งเมื่อเข้าเดือนกุมภาพันธ์ ดูเหมือนความสนใจของหนังสือพิมพ์จะเพิ่มขึ้น สยามรัฐรายงานข่าวว่า “ค.ร.ม.กำชับเจ้าหน้าที่ให้ปกปิด ผลการถวายฎีกาของจำเลยคดีสวรรคต ถ้ารั่วไหลจะเอาผิดแก่ผู้เกี่ยวข้อง” (ซึ่งตามหลักฐานที่มีอยู่ ไม่น่าจะจริง คือไม่ได้มีการกำชับอะไร)(๑๔) ใกล้กลางเดือน หนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกันรายงานยืนยันอีกว่ารัฐบาลถวายฎีกา และ “ราชเลขาธิการฝ่ายในได้ทูลเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้วด้วย”(๑๕) ขณะที่ สารเสรี พาดหัวตัวโตว่า “เผยฎีกาเฉลียว, ชิต, บุศย์มืดมนต์ ราชทัณฑ์ยังปิด” แต่เนื้อข่าวเพียงทบทวนความเป็นของคดีตั้งแต่ปี ๒๔๘๙ และสัมภาษณ์ญาติของจำเลยซึ่งกล่าวว่า “กำลังรอสดับตรับฟังผลของการถวายฎีกาอยู่ ทางบรรดาญาติก็ร้อนใจ ได้พยายามวิ่งเต้นติดต่อสอบถามผู้เกี่ยวข้องใกล้ชิดกับราชสำนัก แต่ก็ไม่มีใครอาจตอบได้”(๑๖)

ในความเป็นจริง หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติให้กราบบังคมทูลฎีกาขออภัยโทษได้เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคมแล้ว ก็ไม่มีการพิจารณาเรื่องคดีสวรรตในครม.อีกตลอด ๒ เดือนต่อมา ยกเว้นครั้งเดียวในปลายเดือนธันวาคมที่มีการเสนอให้รางวัลแก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับคดี (ซึ่งไม่มีผลต่อนักโทษทั้งสาม):

๑๘. เรื่อง ขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าและบำเหน็จให้เจ้าหน้าที่เกี่ยวกับกรณีสวรรคตเป็นกรณีพิเศษ (จอมพลผิน ชุณหะวัณ รองนายกรัฐมนตรีรายงานเสนอความดีความชอบข้าราชการซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับกรณีสวรรคต เพื่อขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จุลจอมเกล้า ให้รวมทั้งหมด ๒๖ ราย และเสนอขอเลื่อนบำเหน็จนอกจากบำเหน็จประจำปี ให้อีกคนละ ๑ ขั้น)

มติ – การขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้านั้น ให้รอไว้ก่อน จนกว่าจะถึงโอกาสอันควร ส่วนการขอเลื่อนบำเหน็จนั้น ให้ส่งกระทรวงเจ้าสังกัดพิจารณาต่อไป. (๑๗)

สรุปแล้ว ระหว่างต้นเดือนธันวาคม ๒๔๙๗ ถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ๒๔๙๘ ชะตากรรมของเฉลียว ชิต และบุศย์ อยู่กับราชสำนัก ในที่สุด ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันพุธที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘ คำตอบที่พวกเขารอคอยมากว่า ๓ เดือน (จากวันยื่นฎีกา) ก็มาถึงอย่างเป็นทางการ:

เนื่องจากท่านนายกรัฐมนตรีไปเยี่ยมเยียนราษฎรและข้าราชการต่างจังหวัดภาคใต้ คณะรัฐมนตรีจึงได้ตกลงให้ จอมพล ผิน ชุณหะวัณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานที่ประชุม เริ่มประชุมเวลา ๙.๕๐ น. เลิกประชุมเวลา ๑๒.๕๐ น.

๑. เรื่อง น.ช. เฉลียว ปทุมรส น.ช. ชิต สิงหเสนี และ น.ช. บุศย์ ปัทมศริน ทูลเกล้าฯถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ (ตามที่กระทรวงมหาดไทย ได้ส่งฎีกาของ น.ช. เฉลียว ปทุมรส น.ช. ชิต สิงหเสนี และ น.ช. บุศย์ ปัทมศริน แห่งเรือนจำกลางบางขวาง ต้องโทษฐานสมคบกันกระทำการประทุษร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล กำหนดโทษประหารชีวิต ขอพระราชทานอภัยลดโทษ พร้อมด้วยเอกสารการสอบสวนไปเพื่อดำเนินการ และท่านนายกรัฐมนตรี ได้นำความกราบบังคมทูลต่อไปแล้วนั้น บัดนี้ ราชเลขาธิการแจ้งมาว่า ความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว โปรดเกล้าฯให้ยกฎีกานี้)

มติ – ทราบ(๑๘)

อาจอธิบายได้ว่า การที่ในหลวง “โปรดเกล้าฯให้ยกฎีกานี้” ทรงอาศัยเหตุผลอย่างเดียวกับคณะรัฐมนตรีคือ “เป็นการประทุษร้ายแก่บุคคลสำคัญของประเทศ” (บนสมมุติฐานว่าการพิจารณาคดีและพิพากษาถูกต้องแล้ว) ซึ่งผมจะไม่แสดงความเห็นในที่นี้ แต่เห็นได้ชัดว่า สิ่งที่สตีเวนสันเขียนใน The Revolutionary King ที่ว่าในหลวงไม่ทรงทราบเรื่องฎีกาของ “แพะรับบาป” ทั้งสาม เพราะฎีกาถูกกักไว้ “บนโต๊ะเผ่า” ที่ว่าทรงทราบเรื่องภายหลังการประหารชีวิตแล้ว ทำให้ทรงกริ้วอย่างรุนแรง (rage) เหล่านี้ ล้วนไม่เป็นความจริง

ภายใน ๒๔ ชั่วโมงหลังจากคณะรัฐมนตรีรับทราบเรื่องนี้ ชีวิตของผู้ต้องโทษทั้งสามก็สิ้นสุดลง


วันก่อนการประหารชีวิต
พระราชโองการที่ราชเลขาธิการแจ้งมายังคณะรัฐมนตรี เข้าสู่ที่ประชุมในวันพุธที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ก็จริง แต่แน่นอนว่าเรื่องต้องมาถึงก่อนวันนั้น และต้อง “ออก” จากสำนักราชเลขาธิการก่อนหน้านั้นเล็กน้อย ช่วงนั้น ครม.ประชุมทุกวันจันทร์และพุธ การประชุมก่อนหน้านั้นคือ วันจันทร์ที่ ๑๔ ซึ่งยังไม่มีวาระนี้ ผมสงสัยว่าจดหมายแจ้งเรื่องระหว่าง ๒ หน่วยงานนี้ น่าจะอยู่ในช่วงวันที่ ๑๔ และ ๑๕ (ทั้งส่งและรับ อาจจะอยู่ในวันเดียวกัน) ปรากฏว่า ก่อนที่เรื่องจะเข้าสู่ที่ประชุมครม.ด้วยซ้ำ หนังสือพิมพ์รายวันเช้า ได้รู้เรื่องนี้ และตีพิมพ์เป็นข่าวใหญ่ พาดหัวตัวโตในหน้าแรก ของฉบับวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ (แสดงว่าน่าจะได้รับข่าววันที่ ๑๔):

ประหาร เฉลียว ชิต บุศย์
สั่งยกฎีกาจำเลยคดีสวรรคต
โดยมีพาดหัวตัวรอง และเนื้อหาของข่าวดังนี้

โปรดเกล้าฯให้ยกฎีกาจำเลยทั้งสาม
เป็นหน้าที่ราชทัณฑ์จะจัดการต่อไป

ฎีกากรณีสวรรคต ซึ่งผ่านระยะเวลามากว่า ๖๐ วัน ตามเงื่อนไขแห่งกฎหมาย ที่จำเลยทั้งสามได้ทำเรื่องราวขึ้นทูลเกล้าฯถวายฎีกา เพื่อขอให้ทรงวินิจฉัยลดหย่อนผ่อนโทษ ตามที่ศาลฎีกาได้พิพากษาให้ประหารชีวิตนั้น บัดนี้ ฎีกาของจำเลยได้ถูกยกเสียแล้ว

กระแสร์ข่าวจากวงในใกล้ชิดกับรัฐบาลซึ่งผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์นี้ทราบมา แจ้งว่าฎีกาที่จำเลยทั้งสาม คือ นายเฉลียว ปทุมรส นายบุศย์ ปัทมศรินทร์ นายชิต สิงหเสนีย์ จำเลยทำขึ้นทูลเกล้าฯถวายฎีกา ได้ผ่านการพิจารณาไปเป็นขั้นๆ ตั้งแต่อธิบดี เจ้ากระทรวง และคณะรัฐมนตรี
และคณะรัฐมนตรีนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯมีพระมหกรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯวินิจฉัย ให้ยกฎีกาจำเลยทั้งสามนั้นเสีย ทั้งนี้ โดยทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจให้เป็นไปตามบทกฎหมาย โดยศาลยุติธรรมได้พิจารณาคดีนี้ไปแล้วจนถึงศาลสูงสุด

ต่อจากนี้ อนาคตของจำเลยทั้ง ๓ จะเป็นไปตามหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ ตามคำพิพากษาของศาล โดยที่พ้นกำหนดเวลา ๖๐ วันมาแล้ว(๑๙)

ผลการลงข่าวของ เช้า ทำให้ญาติของผู้ต้องโทษทั้งสามอยู่ในอาการเสียใจสุดขีด ตามรายงานข่าวของ สยามนิกร ฉบับวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ภายใต้พาดหัวตัวใหญ่ "ภรรยาเฉลียวร่ำไห้ ..... ในหลวงยกฎีกาจำเลยสวรรคต เฉลียว-ชิต-บุศย์รอวันตายไม่มีหวังรอดแล้ว”:

ภรรยาเฉลียวว่าสามีเชื่อตัวเอง
คิดว่าคงได้พระราชทานอภัยแน่

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชวินิจฉัยให้ยกฎีกาของจำเลยในกรณีสวรรคตทั้งสาม คือนายเฉลียว ปทุมรส นายบุศย์ ปัทมศิรินทร์ และนายชิต สิงหเสนียแล้ว บุคคลทั้งสามจึงจะต้องถูกประหารชีวิตในเวลาอันใกล้นี้

ภรรยาของเฉลียวจำเลยผู้หนึ่งในคดีนี้เพิ่งทราบข่าวเมื่อเช้าวันที่ ๑๕ นี้เอง นางฉลวย ปทุมรส ร้องไห้สอื้นตลอดเวลา ร่างสั่นไปทั้งร่าง เมื่อพบกับผู้แทนสยามนิกรเมื่อเช้าวันที่ ๑๕ เดือนนี้
และว่าเพิ่งจะพบกับสามีครั้งสุดท้าย เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๑ เดือนนี้เอง “คุณเฉลียวพูดว่าไม่เป็นไรหรอก จนดิฉันคิดเสียว่าอย่างไรเสียก็คงจะพระราชทานอภัยโทษ คุณพูดว่าตัวเราไม่ทำผิดอะไร เมื่อพบกันครั้งสุดท้ายคุณก็มั่นใจคิดว่าไม่เป็นไร”

ญาติผู้ใหญ่ของคุณฉลวยอีกผู้หนึ่งกล่าวว่า เมื่อได้รับข่าว ทีแรกก็ยังไม่เชื่อว่าจะต้องถูกประหารจริง

ฉลวย ปทุมรส ใช้ผ้าเช็ดหน้าซับน้ำตาสอื้น เล่าให้ฟังต่อไปว่า “เคยมีเพื่อนๆมาแนะนำให้เขาหนี ถามว่าทำไมไม่หลบไปเสีย

“ความบริสุทธิ์ใจของตัวเองแท้ๆ คิดว่าเราบริสุทธิ์ก็คงไม่เป็นไรเลยไม่คิดหนี พูดกันตามความเป็นจริง เวลาที่ขึ้นศาลตั้งสามปี ถ้าคิดจะหลบหนีก็คงพ้น”

“คุณเฉลียวไม่เคยขออะไรมาเป็นพิเศษเลยค่ะ เมื่อวันศุกร์ที่พบกันก็เห็นเฉยๆ มั่นใจว่าจะไม่เป็นไร คุณเฉลียวในระหว่างรอพระราชวินิจฉัยของในหลวง ก็สบายพอควร”

“ดิฉันเพิ่งทราบข่าวเมื่อเช้านี้เอง เด็กที่อยู่ที่ธนาคารเขาโทรศัพท์ไปบอกน้องสาว ดิฉันเองไม่ได้อยู่บ้าน น้องสาวเขาทราบว่าดิฉันอยู่ที่ไหน เขาเลยโทรไปบอก”

“ดิฉันให้เด็กไปตามคุณบุญสม (ภรรยาคุณบุศย์) แล้ว แต่เด็กไม่พบ ไม่ทราบว่าไปไหน”

เมื่อผู้แทนสยามนิกรไปถึงบ้านคุณฉลวย ปทุมรสนั้น คุณฉลวยนัยตาแดงๆแต่กลั้นน้ำตาไว้เชิญให้ผู้แทนของเราเข้าไปนั่ง เมื่อเราถามว่า ได้ทราบข่าวหรือยัง เธออุตส่าห์ไปหยิบหนังสือพิมพ์ออกมาให้ดูและยังไม่ร้องไห้ ทั้งๆที่ตาแดง แสดงว่าเพิ่งจะเช็ดน้ำตาให้แห้งหายไปหยกๆ

ต่อเมื่อเธอกลับเข้าไปสวมแว่นตาดำกลับออกมาและเริ่มเล่าให้ฟังว่าเธอคิดว่าจะไม่เป็นไร เธอไม่เคยคาดคิดมาก่อนเลยว่าจะไม่พระราชทานอภัยโทษ นางฉลวยตัวสั่นไปทั้งร่าง สอื้นไห้เหมือนคนที่กลั้นน้ำตาไว้ และในที่สุด ไม่สามารถจะหักห้ามใจไว้ได้ เธอสอื้นและเช็ดน้ำตาตลอดเวลา

ในตอนเที่ยงนางฉลวยได้เดินทางไปกรมราชทัณฑ์และที่อื่นๆอีกหลายแห่ง “วันนี้ดิฉันไม่สบายใจเลยค่ะ ไม่สบายใจเลยค่ะ” เธอกล่าวย้ำครั้งแล้วครั้งเล่า

ชตากรรมของจำเลยคดีสวรรคตทั้งสาม ซึ่งผ่านการพิจารณาพิพากษาของศาลมาแล้วทั้งสามชั้น เพิ่งจะเป็นที่เปิดเผยจากวงการใกล้ชิดเมื่อเย็นวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์นี้เองว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยกฎีกาขอพระราชทานลดหย่อนโทษประหาร ทั้งนี้เพื่อที่จะได้เป็นการกอร์ปพระราชกรณียกิจให้เป็นไปตามบทกฎหมายซึ่งศาลสถิตย์ยุติธรรมได้ลงความเห็นอันชอบไว้แล้ว . . . . . (๒๐)

ขณะที่พิมพ์ไทยวันเดียวกัน พาดหัวว่า “ราชเลขาให้รอแถลงการณ์รัฐบาล ราชทัณฑ์ยังไม่ได้รับคำสั่งประหารเฉลียว ชิต บุศย์” และรายงานว่า ม.จ.นิกรเทวัญ เทวกุล ราชเลขาธิการ “ได้รับสั่งกับคนข่าวของเราว่าฎีกาของจำเลยทั้งสามคนนี้ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯถวายมาหลายวันแล้ว แต่ขณะนี้ยังไม่อาจแถลงอะไรอะไรให้ทราบได้ ‘รอฟังแถลงการณ์ของรัฐบาลก็แล้วกัน’”(๒๑)


การประหารชีวิต: ๑๒ ชั่วโมงสุดท้าย(๒๒)
ถึงตอนนี้ ทั้งผู้ต้องโทษและญาติคงหมดความหวังแล้ว เย็นวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ กรมราชทัณฑ์เริ่มเดินกลไกของการประหารชีวิต ประมาณ ๕ โมง เจ้าหน้าที่เรือนจำบางขวางได้ไปติดต่อกับภิกษุเนตร ปัญญาดีโพธิ์ เจ้าอาวาสวัดบางขวางที่อยู่ใกล้ๆกันว่าคืนนั้นขอนิมนต์ไปเทศน์ให้นักโทษที่จะถูกประหารชีวิตฟัง (โดยบอกด้วยว่าคือนักโทษคดีสวรรคต) เวลาเดียวกันที่เรือนจำ ผู้บัญชาการ (ขุนนิยมบรรณสาร) เรียกประชุมพัศดี ผู้คุมและพนักงานเรือนจำทั้งหมด สั่งให้เตรียมพร้อมประจำหน้าที่ นักโทษทั้งสามถูกนำตัวออกจากห้องขังมาทำการตีตรวนข้อเท้าตามระเบียบ เฉลียว ชิต และบุศย์ รู้ตัวทันทีว่ากำลังจะถูกประหารชีวิต ดูเหมือนว่าเฉลียวมีอาการปรกติ ขณะที่ชิตกับบุศย์ตื่นตระหนก จนเฉลียวต้องหันไปดุว่า “กลัวอะไร เกิดมาตายหนเดียวเท่านั้น” เฉลียวยังพูดหยอกล้อกับผู้ตีตรวนได้ หลังตีตรวนเสร็จ ทั้งสามถูกนำไปพิมพ์ลายนิ้วมือและตรวจโรคทำบันทึกสุขภาพ แล้วถูกพาไปที่ห้องขังชั่วคราว (ปรกติเป็นห้องเยี่ยมญาติ) ขณะนั้นเวลาประมาณ ๖ โมงเย็น ที่นั่นนอกจากมีผู้คุมเฝ้าดูอย่างใกล้ชิด เข้าประกบนักโทษคนต่อคนตลอดเวลาแล้ว ยังมีแพทย์คอยสังเกตและตรวจอาการเป็นระยะๆ (เพื่อป้องกันไม่ให้ป่วยเจ็บก่อนถูกประหาร) มีเสื่อปูให้นอน แต่ไม่มีใครนอน ราว ๑๙ นาฬิกา แพทย์ฉีดยาบำรุงหัวใจให้เฉลียว ๑ เข็ม แต่โดยทั่วไปเฉลียวยังสามารถพูดคุยกับผู้คุมได้ ขณะที่ชิตกับบุศย์มีอาการกอดอกซึมเศร้า เวลา ๒๒ นาฬิกา ผู้คุมเป็นพยานให้นักโทษทั้งสามเขียนพินัยกรรมหรือจดหมายฉบับสุดท้ายถึงญาติ

ประมาณตี ๒ เริ่มขั้นตอนประหารชีวิตจริง (ก่อนหน้านั้นอาจเรียกว่าเป็นขั้นตอนการเตรียม) หัวหน้ากองธุรการเรือนจำอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้นักโทษทั้งสามฟัง และแจ้งว่า “บัดนี้ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ยกฎีกาของจำเลยทั้งสามแล้ว โดยพระองค์ได้ทรงขอให้คดีดำเนินไปตามตัวบทกฎหมาย ดังที่ศาลสถิตย์ยุติธรรมชั้นสูงได้ตัดสินไปแล้ว”(๒๓) ขั้นตอนนี้ใช้เวลาประมาณ ๑ ชั่วโมงเศษ นักโทษทั้งสามนั่งฟังโดยสงบเป็นปรกติ(๒๔) หลังจากนั้น ภิกษุเนตร (ซึ่งดูเหมือนจะมาถึงตั้งแต่ตี ๒) ได้เทศน์ให้นักโทษทั้งสามฟังใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง ตามคำบอกเล่าของพระเนตรภายหลังเหตุการณ์ ระหว่างการเทศน์เฉลียวมีอาการปรกติ ยังสามารถนำอาราธนาศีลได้ ชิตนั่งสงบขณะที่บุศย์กระสับกระส่าย เมื่อเทศน์จบแล้ว ระหว่างที่พระเนตรกำลังจิบน้ำชาและพูดคุยกับนักโทษ บุศย์ซึ่งมีอาการโศกเศร้าที่สุดและหน้าตาหม่นหมองตลอดเวลา บอกกับพระเนตรว่า “เรื่องของผมไม่เป็นความจริง ไม่ควรเลย” และพูดถึงแม่ที่ตายไปแล้วว่าเป็นห่วง ตายนานแล้วยังไม่ได้ทำศพ ส่วนเฉลียวดูเหมือนทำท่าจะสั่งเสียบางอย่างกับพระเนตร (“กระผมจะเรียนอะไรกับพระเดชพระคุณฝากไปสักอย่าง”)(๒๕) แต่ยังไม่ทันได้พูดอะไร พอดีกับ เผ่า ศรียานนท์ พร้อมด้วยบริวารเกือบ ๑๐ คน (เช่น หลวงแผ้วพาลชน ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และตำรวจ “อัศวิน” อรรณพ พุกประยูร, พันศักดิ์ วิเศษภักดี และพุฒ บูรณะสมภพ) เดินทางมาถึงและเข้ามานั่งในห้องที่เก้าอี้ด้านหลังพระเนตร (เผ่าอยู่ในชุดสูทสากลหูกระต่าย สวมหมวกแบเร่ต์สีแดง) เฉลียวเห็นเข้าก็เอ่ยขึ้นว่า “อ้อ คุณเผ่า” หลังจากนี้พระเนตรก็กลับวัด ไม่ทันเห็นว่าเผ่ากับนักโทษได้พูดอะไรกันหรือไม่

หลังพระเทศน์ นักโทษถูกนำกลับห้อง ทางเรือนจำจัดอาหารมื้อสุดท้ายให้ แต่ไม่มีใครกิน เวลาประมาณ ๔.๒๐ น. เฉลียวถูกนำตัวเข้าสู่หลักประหารเป็นคนแรก โดยอยู่ในท่านั่งงอขา (เข้าใจว่าหลักประหารเป็นรูปกางเขน แกนด้านขวางซึ่งอยู่ใกล้พื้นสำหรับนั่ง) หันหลังให้ที่ตั้งปืนกลของเพชรฆาต ห่างจากปืนกลประมาณ ๕ เมตร นักโทษถูกมัดเข้ากับหลักประหาร มือทั้งสองพนมถือดอกไม้ธูปเทียนไว้เหนือหัวมีผ้าขาวมัดไว้ และมีผ้าขาวผูกปิดตา ด้านหน้านักโทษเป็นกองดิน ด้านหลังเป็นฉากผ้าสีน้ำเงิน บังระหว่างนักโทษกับเพชรฆาต บนฉากผ้ามีวงกลมสีขาวเป็นเป้าสำหรับเพชรฆาต ซึ่งตรงกับบริเวณหัวใจของนักโทษ เมื่อได้เวลา เพชรฆาตประจำเรือนจำ (นายเหรียญ เพิ่มกำลังเมือง) ก็ยิงปืนกลรัวกระสุน ๑ ชุด จำนวน ๑๐ นัด เสร็จแล้วแพทย์เข้าไปตรวจดูนักโทษเพื่อยืนยันว่าเสียชีวิต หลังการประหารเฉลียวประมาณ ๒๐ นาที ชิตก็ถูกนำตัวมาประหารเป็นคนต่อไปในลักษณะเดียวกัน เมื่อถึงคราวบุศย์ (ห่างจากชิตประมาณ ๒๐ นาทีเช่นกัน เขามีโรคประจำตัวเป็นลมบ่อย และเป็นลมอีกก่อนถูกนำเข้าหลักประหารเล็กน้อย ต้องช่วยให้คืนสติก่อน) เพชรฆาตยิงเสร็จ ๑ ชุดแล้ว ตรวจพบว่าบุศย์ยังมีลมหายใจ จึงยิงซ้ำอีก ๒ ชุด โดยยิงรัว ๑ ชุด แล้วตามด้วยการยิงทีละนัดจนหมดอีก ๑ ชุด (ผลการยิงถึง ๓๐ นัดนี้ทำให้เมื่อญาติทำศพ พบว่าเหลือเพียงร่างที่แหลกเหลวและมือขาดหายไป)(๒๖) ก่อนประหาร เผ่าให้หลวงแผ้วพาลชน ดูหน้าชิตกับบุศย์อีกครั้งให้แน่ใจว่าใช่ทั้งคู่จริง เมื่อยิงเสร็จแต่ละคน เผ่ายังเข้าไปดูศพด้วยตัวเองทุกคน หลังการประหาร ศพทั้งสามถูกนำมาวางบนเสื่อที่ปูด้วยผ้าขาว หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งอ้างว่า เผ่ายืนจ้องศพที่วางเรียงกันสักครู่ ทำท่าคล้ายขออโหสิกรรม แล้วพูดว่า “ลาก่อนเพื่อนยาก”(๒๗)

ตอนสายวันนั้น กระทรวงมหาดไทยได้ออกแถลงการณ์ฉบับหนึ่ง ดังนี้

แถลงการณ์ของกระทรวงมหาดไทย

ตามที่ศาลฎีกาได้พิพากษาลงโทษประหารชีวิตนายเฉลียว ปทุมรส นายชิต สิงหเสนีย์ และนายบุศย์ ปัทมะศิรินทร์ จำเลยในคดีต้องหาว่าประทุษร้ายต่อองค์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล และจำเลยทั้งสามได้ทูลเกล้าฯถวายฎีกา ขอพระราชทานอภัยโทษนั้น

บัดนี้ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ยกฎีกาของจำเลยทั้งสามเสีย ทางราชทัณฑ์จึงได้นำตัวจำเลยทั้งสาม ไปประหารชีวิตตามคำพิพากษา ในวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘ เวลา ๐๕.๐๐ น. ณ เรือนจำกลางบางขวาง ต่อหน้าคณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วยผู้บัญชาการเรือนจำกลางบางขวางเป็นประธานกรรมการ ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี นายแพทย์เชื้อ พัฒนเจริญ และนายหลอม บุญอ่อน รักษาการในตำแหน่งหัวหน้าแผนกควบคุมเรือนจำกลางบางขวางเป็นกรรมการ ตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทยเป็นการเสร็จไปแล้ว จึงขอแถลงมาให้ทราบทั่วกัน

กระทรวงมหาดไทย
วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘(๒๘)

ตำนานนักโทษเล่า “ความลับ” กรณีสวรรคตให้เผ่าฟังในนาทีสุดท้าย
การปรากฏตัวของเผ่าที่การประหารชีวิตคดีสวรรคต ไม่ใช่เป็นไปตามหน้าที่ (จึงไม่มีชื่อเขาอยู่ในแถลงการณ์กระทรวงมหาดไทย) แต่นอกจากจะมาสังเกตการณ์แล้ว ที่จะกลายเป็นปัญหาสำคัญต่อมาคือเขาได้ทำอะไรที่นั่นอีกบ้างหรือไม่? พิมพ์ไทย รายงานว่า หลังพระเทศน์แล้ว เผ่าได้เข้าไปพบปะพูดคุยกับนักโทษทั้ง ๓ คนที่ห้องขังประมาณ ๑๐ นาที เพื่อปลอบใจ(๒๙) ขณะที่ เช้า ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวที่นำข่าวในหลวงทรงยกฎีกาของจำเลยมาเปิดเผยได้ก่อน ได้รายงานการพูดคุยระหว่างเผ่ากับนักโทษคนหนึ่ง (เฉลียว) ในลักษณะชวนตื่นเต้นอย่างมาก ภายใต้การพาดหัวว่า “เฉลียวขอพบเผ่าแฉความลับทั้งหมดก่อนประหาร”

เมื่อเจ้าหน้าที่ผูกตาเรียบร้อยแล้ว นายเฉลียวได้ขอร้องต่อเจ้าหน้าที่ ขอให้ได้พบกับนายพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์เป็นการด่วน ดังนั้น เจ้าหน้าที่จึงรีบแจ้งไปยัง พล.ต.อ.เผ่า ถึงความประสงค์ครั้งนี้ ซึ่งพล.ต.อ.เผ่า ก็ได้รีบไปพบกับนายเฉลียวโดยด่วน

จากการพบกับพล.ต.อ.เผ่า ก่อนถึงวาระสุดท้ายของนายเฉลียวครั้งนี้ ปรากฏว่าได้ใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ ๑๐ นาที นายเฉลียวได้กล่าวคำอำลา ส่วนถ้อยคำที่นายเฉลียวได้บอกแก่พล.ต.อ.เผ่า ก่อนที่นายเฉลียวจะอำลาจากโลกนี้ไปนั้นเป็นความลับ รู้สึกว่า พล.ต.อ.เผ่า มีความสนใจเป็นอย่างมาก(๓๐)

นี่คือจุดเริ่มต้นหรือต้นตอของข่าวลือที่แพร่หลายในช่วงใกล้ถึงปี “กึ่งพุทธกาล” (๒๕๐๐) ในทำนองที่ว่า เผ่าได้รู้ “ความลับ” ของกรณีสวรรคต ซึ่งจำเลย (จะเป็นคนเดียวหรือทั้ง ๓ คนก็ตาม) ได้เล่าให้ฟังก่อนตาย บางครั้งลือกันในทำนองว่าเผ่าได้ทำบันทึก “ความลับ” ที่ได้รับการบอกมานี้ไว้ด้วย ข่าวลือนี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อความเป็นใหญ่ระหว่างกลุ่มการเมือง ๓-๔ กลุ่มในขณะนั้น คือ พิบูล, เผ่า, สฤษดิ์ และพวกนิยมเจ้า ดังที่ผมได้เคยเล่าไว้ในที่อื่นแล้วว่า ก่อนหน้าสฤษดิ์จะทำรัฐประหารในเดือนกันยายน ๒๕๐๐ ไม่นาน จอมพล ป ได้แอบติดต่อกับปรีดีในจีน เพื่อขอคืนดีด้วย เพื่อหาทางร่วมมือกันในการต่อสู้กับบทบาทและอิทธิพลของพวกนิยมเจ้าที่เพิ่มมากขึ้นและมีแนวโน้มจะให้การสนับสนุนแก่สฤษดิ์ โดยจอมพล ป สัญญาว่าจะรื้อฟื้นคดีสวรรคตขึ้นพิจารณาใหม่ เขาได้ใช้ให้คนสนิทคือสังข์ พัธโนทัย เป็นผู้ดำเนินการ ฝากข้อความไปถึงปรีดี (มีทนาย ๒ คนที่อยู่ในกลุ่มผู้สนับสนุนปรีดีเป็นคนถือจดหมายของสังข์ไปจีน)(๓๑) เมื่อไม่นานมานี้ ได้มีการตีพิมพ์เผยแพร่จดหมายตอบของปรีดี ถึงสังข์ ลงวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๔๙๙ แสดงความยินดีในท่าทีขอคืนดีของจอมพล ป ในจดหมายนี้ ปรีดีได้ยืนยันโดยอ้อม (เพราะฟังจากสังข์มาอีกต่อหนึ่ง) ถึงการมีอยู่ของบันทึกกรณีสวรรคตของเผ่าว่า “ผมเห็นว่าคุณได้บำเพ็ญบุญกุศลอย่างแรงในการที่คุณได้แจ้งให้ผมทราบถึงบันทึกของคุณเผ่า ได้สอบถามปากคำคุณเฉลียว ชิต บุศย์ ก่อนถูกยิงเป้าที่ยืนยันว่า ผู้บริสุทธิ์ทั้งสามรวมทั้งผมไม่ได้มีส่วนพัวพันในกรณีย์สวรรคต”(๓๒)


หลังการประหารชีวิต
แม้ว่าคงแทบไม่เหลือความหวังว่าสามีจะรอดพ้นการถูกประหารชีวิต แต่บุญสม ปัทมศริน ก็ยังมาที่เรือนจำเพื่อเยี่ยมบุศย์ในเช้าวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ โดยไม่รู้มาก่อนว่า เขาได้ถูกประหารชีวิตไปแล้ว (เข้าใจว่าเป็นประเพณีหรือระเบียบทางราชการไทย ที่ไม่ประกาศเวลาประหารชีวิตล่วงหน้าไม่ว่ากรณีใด ไม่ใช่เฉพาะกรณีนี้) เธอเพิ่งได้รับการบอกเล่าจากเจ้าหน้าที่เรือนจำเมื่อมาถึงที่นั่นว่า สามีกับพวกถูกประหารแล้ว

“ดิฉันทราบโดยบังเอิญเมื่อเช้านี้เอง เมื่อรู้ก็รีบไปบอกภรรยาคุณเฉลียว แกก็เพิ่งทราบเหมือนกัน ถึงกับเป็นลมเป็นแล้งไปหลายพัก ต่อจากนั้น ดิฉันก็ไปพบภรรยาคุณชิต ไม่พบแก พบแต่ลูกสาว ซึ่งมารับด้วย นี่แกก็คงยังไม่รู้เรื่องแน่”

นางบุญสมเล่าอย่างเศร้าหมองต่อไปว่า เธอพบกับนายบุศย์ครั้งสุดท้ายในวันเยี่ยมเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว นายบุศย์ได้สั่งซื้อของมากอย่างผิดปกติ ทั้งๆที่เธอและนายบุศย์ก็ยังไม่ทราบว่า จะมีเหตุการณ์ที่ร้ายแรงเกิดขึ้น

“ดิฉันก็ได้จ่ายของให้แกครบทุกอย่าง และจะนำมาให้วันนี้อยู่ทีเดียว โธ่ไม่น่าเลยนะคะ จะตายทั้งทีขอเห็นใจกันหน่อยก็ไม่ได้”(๓๓)

จากตอนสายถึงบ่ายของวันนั้น เมื่อข่าวการประหารชีวิตแพร่ออกไป ญาติ ประชาชน และผู้สื่อข่าว ก็ทะยอยกันมารออยู่บริเวณด้านประตูเหล็กสีแดงที่ใช้สำหรับขนศพผู้ถูกประหารชีวิตออกนอกเรือนจำ จนเนืองแน่นบริเวณ บางส่วนไปรออยู่ในลานวัดบางแพรกหลังเรือนจำ ซึ่งปรกติศพผู้ถูกประหารจะถูกขนไปฝากไว้ บ่าย ๒ โมง ชูเชื้อ สิงหเสนี ภรรยาชิต นั่งรถมาถึงลานวัด ร้องไห้เสียใจอย่างหนัก “ดิฉันเพิ่งรู้เรื่องเมื่อเที่ยงกว่านี้เอง กำลังไปจ่ายของให้เขาอยู่ทีเดียว พอกลับบ้าน คนบอกถึงได้รู้เรื่อง” ส่วนฉลวย ปทุมรส หลังจากรู้ข่าวแล้ว เสียใจจนเป็นลมหลายครั้ง ทำให้ไม่สามารถมารับศพด้วยตัวเอง ให้น้องสาวมารับแทน

ประมาณบ่าย ๓ โมง เจ้าหน้าที่เรือนจำเริ่มขนศพของทั้งสามที่บรรจุในโลงออกมาจากเรือนจำทางประตูแดง โดยให้นักโทษ ๖ คนเป็นผู้แบกครั้งละโลง ชูเชื้อ ร้องไห้ ผวาเข้าไป โดยมีลูกสาว ๒ คนคอยช่วยพยุง ศพของเฉลียวถูกนำไปไว้ที่วัดสระเกศ ของชิตที่วัดจักรวรรดิ และบุศย์ ที่วัดมงกุฏ ตามระเบียบราชการ ห้ามญาติจัดงานศพอย่างเอิกเกริกให้กับผู้ที่ถูกประหารชีวิต

เมื่อเสียชีวิต เฉลียว ปทุมรส มีอายุ ๕๒ ปี ชิต สิงหเสนี ๔๔ ปี บุศย์ ปัทมศริน ๕๐ ปี แต่ทั้ง ๓ คนถูกจับไร้อิสรภาพตั้งแต่ปลายปี ๒๔๙๐



ภาคผนวก ๑ : การปูนบำเหน็จข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับคดีสวรรคต
ดังที่กล่าวในบทความ หลังการตัดสินของศาลฎีกา แต่ในระหว่างที่รอผลการขอพระราชทานอภัยโทษอยู่นั้น จอมพลผิน ชุณหะวัณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ “รายงานเสนอความดีความชอบข้าราชการซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับกรณีสวรรคต เพื่อขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จุลจอมเกล้า ให้รวมทั้งหมด ๒๖ ราย และเสนอขอเลื่อนบำเหน็จนอกจากบำเหน็จประจำปี ให้อีกคนละ ๑ ขั้น” ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๔๙๗ แต่ที่ประชุมลงมติว่าเรื่องการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์นั้น “ให้รอไว้ก่อน จนกว่าจะถึงโอกาสอันควร” ส่วนการเลื่อนบำเหน็จ “ให้ส่งกระทรวงเจ้าสังกัดพิจารณาต่อไป” ปรากฏว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ ๑๙ ตุลาคมปีต่อมา ผินได้เป็นตัวตั้งตัวตีเสนอเรื่องการเลื่อนบำเหน็จให้พิจารณาอีก ดังบันทึกการประชุมต่อไปนี้

๒๕. เรื่อง การพิจารณาปูนบำเหน็จข้าราชการผู้มีความชอบเกี่ยวกับกรณีสวรรคต (เนื่องจากกระทรวงการคลังขออนุมัติเลื่อนเงินเดือนให้ พล.ต.ต.เนื่อง อาขุบุตร รองอธิบดีกรมศุลกากร เพื่อเป็นบำเหน็จความชอบที่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีเกี่ยวกับกรณีสวรรคตแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๘ เป็นกรณีพิเศษอีก ๑ ขั้น ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๔๙๘ ท่านรองนายกรัฐมนตรี (จอมพลผิน ชุณหะวัณ) ได้พิจารณาแล้ว มีคำสั่งว่า มีข้าราชการที่มีส่วนร่วมดำเนินคดีนี้หลายท่านด้วยกัน จึงให้สอบถามไปยังทุกๆแห่งก่อน เพื่อจะได้รวมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเสียในคราวเดียวกัน

บัดนี้ กระทรวงเจ้าสังกัดของข้าราชการดั่งกล่าวได้รับรายงานมา ดั่งนี้ –

กระทรวงกลาโหม ได้พิจารณาปูนบำเหน็จความชอบเกี่ยวกับกรณีสวรรคตฯ แก่ข้าราชการกลาโหมเป็นพิเศษนอกเหนือจากบำเหน็จความชอบประจำปีตามปกติแล้วทุกคน เว้น พ.ต.หลวงเสนานิติการ คือ ๑)พล.ต.ไสว ดวงมณี ๒)พล.จ.หลวงคล้ายบรรลือฤทธิ์ ๓)พล.จ.บุลเดช รูปะสุต ๔)พ.อ.โพ อุณหเลขกะ ๕)ร.อ.ณรงค์ สายทอง

ส่วน พ.ต.หลวงเสนานิติการ ยังมิได้รับบำเหน็จ เนื่องจากขณะกรทำความชอบในกรณีนี้ เป็นนายทหารนอกราชการ ไม่มีหลักเกณฑ์ที่จะปูนบำเหน็จเลื่อนขั้นเงินเดือนให้ได้

กระทรวงคมนาคม ขุนประสิทธิเทพไปรษณีย์ กระทรวงคมนาคมพิจารณาความดีความชอบให้แล้ว

กระทรวงมหาดไทย ก.กรมตำรวจ มีข้าราชการได้รับบำเหน็จพิเศษ ดั่งนี้ ๑)นายพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ๒)นายพลตำรวจโท พระพินิจชนคดี ๓)นายพลตำรวจตรี หลวงแผ้วพาลชน ๔)นายพลตำรวจจัตวา บรรลือ เรืองตระกูล ๕)นายพลตำรวจจัตวา ใหญ่ ฤกษ์บุตร ๖)นายพันตำรวจเอก จำรัส โรจนจันทร์ ๗)นายพันตำรวจเอก เฉียบ สุทธิมณฑล ๘)นายพันตำรวจโท นายราชภักดี ๙)นายพันตำรวจโทพยงค์ สมิติ ๑๐)นายพันตำรวจตรี ธารา ธารวณิช ๑๑)นายพันตำรวจตรี ยุทธพงษ์ พงษ์สวัสดิ์ ๑๒)นายพันตำรวจตรี สิทธิ กระแสร์เวชช์ ๑๓)นายพันตำรวจโท ปาน ปุณฑริก

ข. กรมอัยการ ๑)หลวงอรรถปรีชาธนูปการ ๒)นายเล็ก จุณณานนท์ ๓)หลวงอรรวินิจเนตินาท ๔)นายกมล วรรณประภา ๕)นายเสถียร สัตยเลขา

ค. ที่ปรึกษากระทรวงมหาดไทย ได้พิจารณาความดีความชอบให้แก่ข้าราชการ คือ ๑)หลวงการุณย์นราทร ๒)นายทวี เจิญพิทักษ์ ๓)นายยง เหลืองรังษี ๔)หลวงกำจรนิติสาร

ท่านรองนายกรัฐมนตรี (จอมพล ผิน ชุณหะวัณ) พิจารณาแล้ว มีคำสั่งว่า เป็นเรื่องของหลายกระทรวง ให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา

มติ – ให้ระงับการขอเสียได้.(๓๔)



ภาคผนวก ๒ : จอมพล ป. กับโทษประหารชีวิต
ดังที่ผมได้ชี้ให้เห็นในบทความข้างต้น ความทรงจำหรือข้ออ้างของจอมพล ป. ที่ว่า เขาได้พยายามช่วยชีวิตจำเลยคดีสวรรคตทั้ง ๓ ด้วยการถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้ถึง ๓ ครั้งนั้น ไม่เป็นความจริง อย่างไรก็ตาม ผมได้พบข้อมูลเล็กๆน่าสนใจขิ้นหนึ่ง ซึ่งแม้จะไม่เกี่ยวกับการประหารชีวิตจำเลยในคดีสวรรคตทั้ง ๓ โดยตรง แต่ก็อาจจะมีนัยยะที่พาดพิงถึงกันได้ นั่นคือ ในปลายปี ๒๔๙๓ ในระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งหนึ่ง จอมพล ป. ได้เสนอให้ยกเลิกโทษประหารชีวิต น่าเสียดายว่า ช่วงนั้น คณะรัฐมนตรีไม่มีการจัดทำรายงานการประชุมโดยละเอียด มีเพียง “หัวข้อการประชุม” ซึ่งสรุปประเด็นที่พิจารณาและมติอย่างสั้นๆ ดังนี้

๑. เรื่อง โทษประหารชีวิต (ท่านนายกรัฐฒนตรีพิจารณาเห็นว่าโทษประหารชีวิตเป็นโทษที่ร้ายแรงที่สุด ควรจะได้เลิกเสีย จึงเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอรับหลักการออกกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ)

มติ ให้ส่งกระทรวงยุติธรรมพิจารณา.(๓๕)

ผมไม่แน่ใจว่า การที่จอมพลเสนอให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตนี้ ด้วยเหตุผลอะไร เท่าที่ผมทราบ เขาไม่เคยพูดถึงเรื่องนี้ทั้งในที่สาธารณะและในเอกสารภายในของรัฐบาล ทั้งในเวลานั้นและเวลาต่อมา และเป็นไปได้ว่า ขณะที่เขาเสนอ เขาอาจคิดถึงการลงโทษสำหรับคดีอาญาทั่วๆไป ไม่ได้คิดถึงคดีใดคดีหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ที่ชวนให้สะดุดใจก็คือ สำหรับคดีการเมือง ขณะนั้นคดีที่จำเลยต้องเผชิญกับโทษร้ายแรงถึงขั้นประหารชีวิต ก็มีเพียงคดีสวรรคตเท่านั้น (คดีกบฏอย่างกบฏเสนาธิการ ๑ ตุลาคม ๒๔๙๑ และกบฏวังหลวง ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒ เมื่อมีการดำเนินคดีก็ไม่ถึงขั้นเสนอโทษประหารชีวิต รวมทั้งกบฏแมนฮัตตัน ๒๔๙๔ หรือกบฏ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๙๕ ในเวลาต่อมาด้วย) ในปี ๒๔๙๓ คดีสวรรคตยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาสชั้นต้น จอมพลเองได้ขึ้นเป็นพยานโจทก์ในปีนั้นด้วยซ้ำ ดังนั้น คงยากที่เขาจะลืมหรือไม่คิดถึงนัยยะของการเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับคดีสวรรคตเสียเลย แต่ในทางกลับกัน ขณะนั้นจอมพลก็ไม่เคยมีท่าทีไปในทางที่ตีความได้ว่าเป็นห่วงต่อจำเลยในคดีสวรรคต คำให้การต่อศาลของเขา ตามรายงานข่าวหนังสือพิมพ์ ออกมาในลักษณะที่ปรักปรำฝ่ายจำเลยโดยอ้อม (ต่อปรีดีมากกว่าต่อตัว ๓ จำเลย)(๓๖)

ผมไม่มีหลักฐานว่า หลังการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งนั้นแล้ว กระทรวงยุติธรรมได้นำเรื่องโทษประหารชีวิตไปพิจารณาตามมติคณะรัฐมนตรีหรือไม่ หรือคณะรัฐมนตรีเองได้นำเรื่องนี้กลับเข้าพิจารณาอีกหรือไม่ หรือมีมติในที่สุดอย่างไร ปัจจุบันรายงาน (หรือหัวข้อ) การประชุมคณะรัฐมนตรีของปี ๒๔๙๔ และ ๒๔๙๕ ตลอดทั้ง ๒๔ เดือน ได้หายไปจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ในระหว่างเวลานั้นยังมีการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญและเปลี่ยนรัฐบาลอีกด้วย แต่ที่แน่นอนคือ ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๔๙๔ ให้ประหารชีวิตชิต สิงหเสนี และศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๔๙๖ ให้ประหารชิต และบุศย์ ปัทมศริน นั่นคือ ถึงปลายปี ๒๔๙๖ หรือ ๒ ปีหลังการประชุมครม.ดังกล่าว โทษประหารชีวิตก็ยังคงมีอยู่

แต่ในต้นปี ๒๔๙๗ ได้มีการหยิบยกปัญหาโทษประหารชีวิตขึ้นมาพิจารณาในคณะรัฐมนตรีอีก ที่น่าสนใจคือ การหยิบยกครั้งนี้เกิดขึ้นเนื่องจากการมีความคิดเห็นที่ขัดแย้งกันระหว่างรัฐบาลกับในหลวง ในประเด็นที่ว่าควรมีการให้อภัยลดโทษประหารชีวิตแก่นักโทษบางรายหรือไม่ หัวข้อการประชุมคณะรัฐมนตรี ได้บันทึกเรื่องนี้ไว้ ดังนี้ (เน้นความของผม)

๒๓. เรื่อง โทษประหารชีวิต และเรื่องนักโทษเด็ดขาดชาย ชด พุ่มไสว และนักโทษเด็ดขาดชาย เลี้ยน เสือหัวย่าน ขอพระราชทานอภัยลดโทษ (เนื่องจากราชเลขาธิการแจ้งว่า
ตามที่กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานอภัยลดโทษให้แก่นักโทษเด็ดขาดชายชด พุ่มไหว ซึ่งต้องโทษฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา กำหนดโทษประหารชีวิต และนักโทษเด็ดขาดชาย เลี้ยน เสือหัวย่าน ต้องโทษฐานชิงทรัพย์และฆ่าเจ้าทรัพย์ตาย กำหนดโทษประหารชีวิต ลดลงเป็นจำคุกตลอดชีวิตทั้งสองรายนั้น

ความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว มีพระราชกระแสว่า เหตุผลที่อ้างมาเพื่อขอพระราชทานอภัยลดโทษให้แก่นักโทษเด็ดขาดชายทั้งสองรายนี้ ดูยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะพิจารณาเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาของศาลได้ กฎหมายเรื่องการลงโทษประหารชีวิตก็ได้มีมาในประเทศไทยเป็นเวลาช้านานและสืบต่อเนื่องมาจนบัดนี้ เมื่อมีกฎหมายบังคับอยู่ ถ้าจะลดหย่อนผ่อนโทษตามเหตุผลที่อ้างมานี้ ก็จะกระทบกระเทือนระดับการวางโทษของศาล

อนึ่ง ในเรื่องนี้ได้มีพระราชกระแสใคร่ทรงทราบข้อนโยบายเกี่ยวกับโทษประหารชีวิตเพื่อประกอบพระราชดำริอีกด้วย

ท่านนายกรัฐมนตรีได้พิจารณาแล้วเห็นว่า นโยบายเกี่ยวกับโทษประหารชีวิตก็ไม่มีอะไรนอกจากว่าใคร่ขอให้เลิกโทษประหารชีวิต และได้ขอให้เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาจัดทำอธิบายนโยบายในเรื่องนี้ประกอบด้วยตัวอย่างซึ่งมีในต่างประเทศ ซึ่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาได้จัดทำบันทึกเรื่องโทษประหารชีวิตเสร็จแล้วเสนอมา

คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นว่า โทษประหารชีวิตนั้นในหลักการยังไม่สมควรยกเลิกกฎหมายขณะนี้ แต่ได้มีนโยบายว่า ในเวลาปรกติจะไม่ลงโทษประหารชีวิตแก่ผู้ที่มีความรู้น้อยและโฉดเขลาเบาปัญญา จึงได้ขอพระราชทานอภัยลดโทษเป็นการแปลงโทษจากประหารชีวิตเป็นจำคุกตลอดชีวิต และการลงโทษเบาลงนั้นก็เป็นการเมตตาในทางมนุษยธรรม ซึ่งฝ่ายตุลาการก็คงจะเป็นที่ชื่นชมยินดี

อย่างไรก็ดี คณะรัฐมนตรีเห็นว่า พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ พระองค์ทรงเจริญพระเมตตากรุณาแก่ประชาชนของพระองค์อยู่เป็นนิจ จึงได้กราบบังคมทูลขอพระมหากรุณามา หากจะทรงโปรดวินิจฉัยเป็นอย่างอื่นแล้ว ก็เป็นพระราชอำนาจ สำหรับเรื่องนี้ ก็สุดแต่จะทรงพระมหากรุณา รัฐบาลก็พร้อมที่จะปฏิบัติตามพระราชประสงค์)

มติ เห็นชอบด้วย ให้นำความกราบบังคมทูลต่อไป(๓๗)

น่าสังเกตว่า ถ้าบันทึกการประชุมอย่างย่อๆนี้ถูกต้อง ตัวจอมพล ป.เอง พูดถึงความเห็นของเขาต่อโทษประหารชีวิตในลักษณะทั่วไปครอบคลุมหมด ไม่มีข้อยกเว้น (ดูประโยคที่ผมขีดเส้นใต้) แม้ว่าคณะรัฐมนตรีของเขาดูเหมือนจะไม่คิดไปไกลเท่าเขา (ดูย่อหน้าถัดมา) ถ้าจอมพลมีความเห็นเช่นนั้นจริงๆ ถึงจุดนั้น (มกราคม ๒๔๙๗) คงยากที่พูดว่าเขาไม่คิดถึงกรณีสวรรคตด้วยเลย (แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ เราไม่อาจสรุปได้เด็ดขาดจากหลักฐานที่มีอยู่)

เดือนเศษต่อมา ในหลวงทรงให้ราชเลขาธิการอัญเชิญพระราชกระแสตอบรัฐบาลในเรื่องนี้ ขอให้สังเกตภาษาที่ทรงใช้ ผมคิดว่า ไม่เป็นปัญหาเลยว่าข้อความของรัฐบาลประเภท “คณะรัฐมนตรีเห็นว่า พระมหากษัตริย์...ทรงเจริญพระเมตตากรุณาแก่ประชาชนของพระองค์อยู่เป็นนิจ...” ไม่เป็นที่ต้องพระราชหฤทัยนัก ดูเหมือนจะทรงอ่านในลักษณะที่ตรงข้ามกับความหมายตามตัวอักษรของข้อความเลยทีเดียว:

7. เรื่องการขอพระราชทานอภัยโทษ (โทษประหารชีวิต) (ราชเลขาธิการได้เชิญพระราชกระแสเกี่ยวกับเรื่องการขอพระราชทานอภัยโทษมาว่า พระองค์ใช่ว่าจะมีพระราชหฤทัยเหี้ยมโหด ไม่มีความเมตตาปราณีแก่เพื่อนมนุษย์ และมีพระราชประสงค์จะให้ประหารชีวิตคนก็หาไม่ ที่ได้ทรงทักท้วงไปก็เพราะทรงเห็นว่าเรื่องควรจะได้รับการพิจารณาโดยรอบคอบและโดยมีเหตุผลจริงๆ เพื่อการได้ดำเนินไปตามตัวบทกฎหมายไม่เสียระดับเป็นการรั้งเหนี่ยวมิให้เกิดอาชญากรรมอันอุกฤษฎ์ดังนี้มากขึ้น อย่างไรก็ดี เมื่อทางรัฐบาลได้กราบบังคมทูลนโยบายในเรื่องนี้ขึ้นมา และทั้งยังยืนยันขอให้พระราชทานอภัยโทษจากโทษประหารชีวิตเป็นทางแผ่พระราชเมตตาโดยอ้างว่านักโทษทั้ง 3 นี้ กระทำความผิดไปโดยโฉดเขลาเบาปัญญาฉะนี้แล้วก็ทรงพร้อมที่จะพระราชทานอภัยโทษลดลงตามที่เสนอขอพระมหากรุณามาเท่าที่อยู่ในพระราชอำนาจจะทรงทำได้ โดยเฉพาะนักโทษเด็ดขาดชาย ขาวทองคำ ก็เป็นอันทรงพระมหากรุณาให้ลดโทษจากประหารชีวิตเป็นจำคุกตลอดชีวิต ส่วนนักโทษเด็ดขาดชาย ชด พุ่มไหว กับนักโทษเด็ดขาดชาย เลี้ยน เสียหัวย่าน นั้นข้องพระราชหฤทัยว่าจะไม่อยู่ในพระราชอำนาจที่จะทรงสั่งการพระราชทานอภัยลดโทษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้เพราะผ่านพ้นกำหนดเวลา 60 วัน ทรงเกรงว่าถ้าทรงสั่งไปจะเป็นการขัดกับบทกฎหมายนั้น

คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นว่า บทกฎหมายเกี่ยวแก่เรื่องนี้ คือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 262 ตามบทกฎหมายนี้เห็นว่าเป็นบทบัญญัติที่กำหนดเวลาไว้ว่าให้นำตัวไปประหารชีวิตได้เมื่อใด มิใช่เป็นบทบัญญัติที่ห้ามมิให้มีการพระราชทานอภัยโทษ เมื่อพ้นหกสิบวันแล้ว ฉะนั้นเมื่อยังมิได้มีการนำตัวไปประหารชีวิตเมื่อพ้นหกสิบวันแล้ว ก็ยังพระราชทานอภัยโทษให้ได้อยู่ ไม่ขัดต่อกฎหมายเพราะความประสงค์ของมาตรา 262 นี้เป็นแต่ให้อำนาจฝ่ายบริหารที่จะนำตัวไปประหารชีวิตได้ในเมื่อพระมหากษัตริย์ไม่มีพระบรมราชโองการมาภายในเวลาที่กำหนด สำหรับเรื่องนี้รัฐบาลกำลังติดต่อกับพระมหากษัตริย์และรอฟังพระบรมราชวินิจฉัยอยู่ จึงยังมิได้นำตัวไปประหารชีวิต เมื่อมาตรา 262 ไม่บังคับให้ต้องนำตัวไปประหารชีวิตเมื่อพ้นหกสิบวัน เป็นแต่อนุญาตให้นำตัวไปประหารชีวิตได้ จึงยังทรงมีพระราชอำนาจที่จะพระราชทานอภัยโทษได้)

มติ ให้นำความกราบบังคมทูลไปตามนัยดังกล่าวนี้

อนึ่ง ให้ถือเป็นหลักการว่านักโทษเด็ดขาดที่ต้องโทษประหารชีวิตนั้น ให้ขอพระราชทานอภัยลดโทษลงเป็นตลอดชีวิต และให้ถือหลักว่า ไม่มีการลดโทษให้อีกในทุกกรณี และในทางนโยบายนั้นยังไม่ยกเลิกกฎหมายว่าด้วยโทษประหารชีวิต.(๓๘)

จะเห็นว่า ตามมตินี้ คณะรัฐมนตรี “ถือเป็นหลักการ” ว่า โทษประหารชีวิตให้ขอพระราชทานอภัยลดโทษเหลือเป็นจำคุกตลอดชีวิต แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ยกเลิกโทษประหารชีวิต ในทางปฏิบัติ เมื่อถึงปลายปีนั้นที่มีการพิจารณาฏีกาขอพระราชทานอภัยโทษของจำเลยคดีสวรรคต คณะรัฐมนตรีจึงอ้างได้ว่า “เรื่องนี้เป็นการประทุษร้ายแก่บุคคลสำคัญของประเทศ ตามหลักการของกระทรวงมหาดไทยซึ่งคณะรัฐมนตรีเห็นชอบด้วยแล้วนั้น จะไม่ขอพระราชทานอภัยโทษให้” (ผมไม่เคยเห็นบันทึกการพิจารณา “เห็นชอบด้วย” ของคณะรัฐมนตรีต่อ “หลักการของกระทรวงมหาดไทย” ที่ว่านี้)

ในส่วนของราชสำนักนั้น ผมคิดว่า กรณีนี้ทำให้เราทราบว่า ในหลวงทรงให้ความสนพระทัยและทรงพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนในฏีกาขอพระราชทานอภัยลดโทษประหารชีวิต แม้ในคดีอาญาธรรมดา

Saturday, June 17, 2006

ในหลวงอานันท์ขึ้นครองราชย์ตามลำดับขั้นของกฎมณเฑียรบาลหรือเพราะปรีดีสนับสนุน?



วิวาทะเรื่องในหลวงอานันท์ขึ้นครองราชย์ในปี ๒๔๗๗ (ปฏิทินเก่า) เพราะทรงอยู่ลำดับแรกสุดตามหลักการสืบสันตติวงศ์ของกฎมณเฑียรบาลอยู่แล้ว หรือเพราะการสนับสนุนของรัฐบาลคณะราษฎรในขณะนั้นโดยเฉพาะของปรีดี พนมยงค์ เป็น “ผลพลอยได้” (byproduct) ของการวิวาทะเรื่องกรณีสวรรคต ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ โดยฝ่ายที่สนับสนุนปรีดีเสนอว่า คณะราษฎรโดยเฉพาะปรีดีเองเป็นผู้สนับสนุนให้อัญเชิญพระองค์เจ้าอานันท์ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์หลังจากรัชกาลที่ ๗ (ซึ่งทรงไม่มีรัชทายาท) สละราชสมบัติ ทั้งๆที่พระองค์เจ้าอานันท์อาจจะมิได้อยู่ในลำดับแรกของการสืบราชบัลลังก์ตามกฎมณเฑียรบาล การเสนอเช่นนี้มีนัยยะว่า เพราะฉะนั้น ปรีดีจึงไม่มีเหตุอันใดที่จะเกี่ยวข้องกับการสวรรคต ขณะเดียวกันฝ่ายนิยมเจ้า (Royalists) กลับยืนกรานว่า พระองค์เจ้าอานันท์ทรงอยู่ในลำดับแรกสุดของการสืบสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาลอยู่แล้ว ผู้สนับสนุนปรีดีจึงไม่สามารถอ้างเรื่องนี้เป็นความดีความชอบของปรีดีได้


ปรีดีเล่าการเลือกพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๘
ปรีดีเองไม่เคยเข้าร่วมการถกเถียงเรื่องนี้โดยตรง แต่ในปี ๒๕๑๕ เขาได้ตีพิมพ์บทความเรื่อง “ความเป็นไปบางประการในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์”(๑) ซึ่งให้ข้อมูลสำคัญบางประการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ โดยเขาได้กล่าวถึงการเลือกพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่หลังจากรัชกาลที่ ๗ สละราชย์เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๔๗๗

ปรีดีเล่าว่า “คณะรัฐมนตรีได้ปรึกษากันในระหว่างเวลา ๕ วันตั้งแต่วันที่ ๒ ถึงวันที่ ๗ มีนาคม เพื่อพิจารณาว่าเจ้านายในพระราชวงศ์จักรีพระองค์ใดสมควรที่รัฐบาลจะเสนอขอความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเป็นพระมหากษัตริย์องค์ต่อไป” เขากล่าวว่าการพิจารณาได้ถือเอา “นัย” ของกฎมณเฑียรบาลเป็นหลักตามที่รัฐธรรมนูญ ๒๔๗๕ กำหนด (“มาตรา ๙ การสืบราชสมบัติ ท่านว่าให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. ๒๔๖๗ และประกอบด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร”)

หลักการของกฎมณเฑียรบาล ๒๔๖๗ ถ้าพูดตามภาษาสามัญคือ ในกรณีที่กษัตริย์องค์ก่อนมิได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดไว้ ให้นับลำดับขั้นของการเลือกผู้เป็นกษัตริย์องค์ใหม่ ดังนี้ (เฉพาะเพศชาย) ลูกหรือหลานของกษัตริย์องค์ก่อนตามลำดับยศของมารดา (นับลูก-หลานสลับกัน คือ ลูกคนที่ ๑ จากเมียหลวง, ลูกของลูกคนนั้นทีละคนตามอายุ, ลูกคนที่ ๒ จากเมียหลวง, ลูกของลูกคนที่ ๒ นั้นทีละคนตามอายุ, หมดลูก-หลานจากเมียหลวง จึงไปที่ลูก-หลานจากเมียรองๆ แบบเดียวกัน) หากไม่มี ให้เลือกน้องชายร่วมมารดาของกษัตริย์องค์ก่อนที่อายุมากสุด หากน้องชายดังกล่าวไม่มีชีวิตแล้ว ให้เลือกลูกของน้องชายองค์นั้น ถ้าไม่มี ให้เลื่อนไปที่น้องชายร่วมมารดาของกษัตริย์องค์ก่อนที่อายุถัดลงไปหรือลูกของน้องชายนั้น สลับกันไปตามลำดับ หากไม่เหลือน้องชายร่วมมารดาของกษัตริย์องค์ก่อนและลูกอยู่เลย จึงไปที่พี่ชายหรือน้องชายต่างมารดาของกษัตริย์องค์ก่อนเรียงตามยศมารดา และลูกของพี่ชายหรือน้องชายนั้น(๒) โดยหลักการนี้ ปรีดีอ้างว่า (ส่วนที่เน้นของผม)
คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาในประเด็นแรกว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงมีพระเชษฐาร่วมพระราชชนนี ที่มีพระราชโอรสทรงพระชนม์ชีพอยู่ คือ

(๑) พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ซึ่งเป็นพระโอรสของสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถที่ทรงเป็นรัชทายาทในรัชกาลที่ ๖ ครั้นแล้วจึงพิจารณาคำว่า “โดยนัย” แห่งกฎมณเฑียรบาล ๒๔๖๗ นั้น พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ จะต้องยกเว้นตามมาตรา ๑๑ (๔) แห่งกฎมณเฑียรบาลนั้นหรือไม่เพราะพระมารดามีสัญชาติเดิมเป็นชาวต่างประเทศ ซึ่งตามตัวบทโดยเคร่งครัดกล่าวไว้แต่เพียงยกเว้นผู้สืบราชสันตติวงศ์ที่มีพระชายาเป็นคนต่างด้าว (ขณะนั้นพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ยังไม่มีชายาเป็นนางต่างด้าว) รัฐมนตรีบางท่านเห็นว่าข้อยกเว้นนั้นใช้สำหรับรัชทายาทองค์อื่น แต่ไม่ใช้ในกรณีสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถซึ่งขณะที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯสถาปนาเป็นรัชทายาทนั้นก็ทรงมีพระชายาเป็นนางต่างด้าวอยู่แล้วและทรงรับรองเป็นสะใภ้หลวงโดยถูกต้อง แต่ส่วนมากของคณะรัฐมนตรีตีความคำว่า “โดยนัย” นั้น ย่อมนำมาใช้ในกรณีที่ผู้ซึ่งจะสืบสันตติวงศ์มีพระมารดาเป็นนางต่างด้าวด้วย

(๒) พระองค์เจ้าวรานนท์ฯ เป็นพระโอรสของสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชฯที่เป็นพระเชษฐาร่วมพระราชชนนีของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ แต่รัฐมนตรีเห็นว่าพระมารดาของพระองค์เจ้าวรานนท์ฯเป็นคนธรรมดาสามัญ ซึ่งเป็นหม่อมชั้นรองของสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นั้น ที่ทรงมีพระชายาเป็นหม่อมเจ้าได้รับพระราชทานเสกสมรสแต่ไม่มีพระโอรส ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจึงได้ผ่านการพิจารณาพระองค์เจ้าวรานนท์ฯ

ผมจะข้ามปัญหาว่าการพิจารณาเป็นไปในลักษณะที่ปรีดีเล่าจริงหรือไม่ไปก่อน แต่จากที่ปรีดีเล่านี้มีข้อที่ควรสังเกตสำคัญ ๒ ประการ คือ

ประการแรก อันที่จริง ถ้านับตามกฎมณเฑียรบาลอย่างเข้มงวดแล้ว เจ้านายสายของพระปกเกล้า ควรถือว่าสิ้นสุดที่พระองค์ เพราะทรงเป็นองค์สุดท้องของพระชนนี ทรงไม่มีน้องชายแล้ว ตามกฎมณเฑียรบาล สายเดียวกันคือร่วมมารดาเดียวกันของกษัตริย์องค์ก่อน ให้เริ่มนับที่น้องชาย ไม่ใช่ย้อนกลับไปที่พี่ชาย(๓) เพราะถือว่าพี่ชายถูก “ผ่าน” มาแล้ว (ดังนั้น ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดที่พระปกเกล้าได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ก่อนพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์และพระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช ซึ่งเป็นลูกของพี่ชายพระองค์ ก็ควรถือว่า “ผ่านแล้วผ่านเลย” ไม่ต้องกลับไปพิจารณาอีก) เมื่อหมดน้องชายร่วมมารดาและลูกของน้องชายนั้นแล้ว จึงให้เริ่มนับที่พี่ชายหรือน้องชายต่างมารดา(๔) ปรีดีเองไม่อธิบายว่าเหตุใดรัฐบาลขณะนั้นจึง (ตามที่เขาเล่า) ย้อนกลับไปพิจารณาลูกของ “พระเชษฐาร่วมพระราชชนนี” ของพระปกเกล้า (จักรพงษ์กับจุฑาธุช) อีก ถ้าถือตามกฎมณเฑียรบาลจริงๆ แต่สุพจน์ ด่านตระกูลจะพยายามให้ความชอบธรรมของการย้อนไปพิจารณาพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ดังจะได้เห็นต่อไป

ประการที่สอง ไม่เป็นความจริงดังที่ปรีดีเขียนว่า “ตามตัวบทโดยเคร่งครัดกล่าวไว้แต่เพียงยกเว้นผู้...ที่มีพระชายาเป็นคนต่างด้าว” เพราะความจริงกฎมณเฑียรบาลได้ระบุไว้ชัดเจนว่าถ้ามีมารดาเป็นคนต่างด้าวก็ไม่สามารถเป็นกษัตริย์ได้ เพียงไม่ใช่ในมาตรา ๑๑ (๔) ที่ห้ามผู้มีเมียต่างด้าวเป็นกษัตริย์ดังที่ปรีดีอ้าง(๕) แต่ในมาตรา ๑๒ ซึ่งมีข้อความทั้งหมดดังนี้ “ท่านพระองค์ใดตกอยู่ในเกณฑ์มีลักษณะบกพร่องดังกล่าวมาแล้วในมาตรา ๑๑ แห่งกฎมณเฑียรบาลนี้ไซร้ ท่านว่าพระโอรสอีกทั้งบรรดาเชื้อสายโดยตรงของท่านพระองค์นั้น ก็ให้ยกเสียจากลำดับการสืบราชสันตติวงศ์ด้วยทั้งสิ้น” พูดแบบภาษาสามัญคือ ถ้าใครมีเมียต่างด้าวเป็นกษัตริย์ไม่ได้ตามมาตรา ๑๑ (๔) ลูกๆทั้งหมดก็เป็นกษัตริย์ไม่ได้ ซึ่งพูดแบบกลับกันก็เท่ากับว่า ลูกๆเหล่านั้นที่มีแม่ต่างด้าวเป็นกษัตริย์ไม่ได้นั่นเอง ดังนั้น ถ้าดู “ตามตัวบทโดยเคร่งครัด” จุลจักรพงศ์น่าจะเป็นไม่ได้ เพราะพ่อมีเมียต่างด้าว (หรือพระองค์ทรงมีแม่ต่างด้าว) ปัญหาอยู่ที่ว่า การที่พ่อมีเมียต่างด้าว ทำให้พ่อถูกยกเว้นตามมาตรา ๑๑ (๔) หรือไม่? ถ้าถูกยกเว้น แน่นอนว่า จุลจักรพงษ์ย่อมถูกยกเว้นตามมาตรา ๑๒ ไปด้วยโดยอัตโนมัต แต่ถ้าพ่อไม่ถูกยกเว้นตามมาตรา ๑๑ (๔) จะถือว่าจุลจักรพงษ์ก็ควรไม่ถูกยกเว้นตามมาตรา ๑๒ ด้วยหรือไม่? ผมจะได้แสดงให้เห็นต่อไปข้างหน้าว่า เพื่อจะตอบปัญหานี้ จะต้องเข้าใจภูมิหลังสำคัญบางประการเกี่ยวกับความสัมพันธ์ภายในราชวงศ์สมัยรัชกาลที่ ๖

ปรีดีเล่าต่อไปว่า เมื่อได้ตัดกรณีจุลจักรพงษ์และวรานนท์ธวัชออกแล้ว คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาพระเชษฐาและพระอนุชาต่างมารดาของรัชกาลที่ ๗ และพระโอรสของพระเชษฐาอนุชาเหล่านั้น โดยได้ตัดกรณีกรมพระนครสวรรค์วรพินิตออก เพราะ “เสด็จไปประทับในต่างประเทศตามคำขอร้องของคณะราษฎร คณะรัฐมนตรีจึงไม่พิจารณาถึงพระองค์ท่านและพระโอรสของพระองค์ท่านซึ่งมีอยู่หลายพระองค์” แต่ได้พิจารณากรณีพระโอรสของพระเชษฐาต่างมารดาอีก ๒ พระองค์ คือ ของเจ้าฟ้ามหิดลฯ กับของเจ้าฟ้ายุคลฯ ดังนี้
ในระหว่างสมเด็จเจ้าฟ้าทั้งสองพระองค์นั้น พระมารดาของสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมราชเทวีซึ่งทรงศักดิ์สูงกว่าพระมารดาของสมเด็จเจ้าฟ้ายุคลฯ แต่ในชั้นพระโอรสของสมเด็จเจ้าฟ้าแต่ละพระองค์ดังกล่าวนั้น พระโอรสของสมเด็จเจ้าฟ้ายุคลฯมีพระมารดาเป็นพระองค์เจ้าหญิง ส่วนพระโอรสในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ มีพระมารดา คือหม่อมสังวาลย์ (เรียกพระนามในขณะนั้น) แต่ก็ได้รับพระราชทานเสกสมรสเป็นสะใภ้หลวงโดยชอบแล้ว และสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นั้นก็ได้ทรงยกย่องให้เป็นพระชายาคนเดียวของพระองค์ โดยคำนึงถึงสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ที่ได้ทรงทำคุณประโยชน์แก่ราษฎรและเป็นเจ้านายที่บำเพ็ญพระองค์เป็นนักประชาธิปไตยเป็นที่เคารพรักใคร่ของราษฎรส่วนมาก คณะรัฐมนตรีจึงเห็นชอบพร้อมกันเสนอสภาผู้แทนราษฎร ขอความเห็นชอบที่จะอัญเชิญพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดล....ขึ้นทรงราชย์
จะเห็นว่า แม้ปรีดีไม่ได้กล่าวตรงๆ แต่สามารถตีความจากการเล่าของเขาได้ว่า ในหลวงอานันท์ขึ้นครองราชย์ เพราะการสนับสนุนของคณะราษฎร มากกว่าเพราะทรงเป็นลำดับแรกสุดตามกฎมณเฑียรบาลอยู่แล้ว


ไข่มุกด์ ชูโต กับ สุพจน์ ด่านตระกูล
ขณะที่ปรีดีเสนออย่างเป็นนัย สุพจน์ ด่านตระกูล ได้ชี้ชัดลงไปว่า ในหลวงอานันท์ขึ้นครองราชย์เพราะคณะราษฎรและปรีดีเองสนับสนุน เพราะถ้าถือตามกฎมณเฑียรบาล ควรจะได้แก่เจ้านายองค์อื่นไม่ใช่พระองค์

สุพจน์นำเสนอความเห็นของเขาในระหว่างการวิวาทะกับไข่มุกด์ ชูโต ในปี ๒๕๓๐ ก่อนหน้านั้น คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มอบหมายให้ไข่มุกด์ ออกแบบและปั้นหล่อพระบรมรูปในหลวงอานันท์เพื่อประดิษฐานที่โรงพยาบาลจุฬา เมื่อถึงพระราชพิธีเปิดในปลายเดือนพฤษภาคม ๒๕๒๙ ไข่มุกด์ได้ใช้ทุนส่วนตัวพิมพ์หนังสือเล่มเล็กๆที่เขียนเอง ชื่อ พระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลของปวงชนชาวไทย ออกแจกจ่าย แรงผลักดันให้ทำเช่นนั้นเป็นเรื่องที่เดาได้ไม่ยากจากข้อความบางตอนของหนังสือ นั่นคือ ไข่มุกด์กำลังไม่พอใจอย่างมากต่อกระแสฟื้นฟูเกียรติภูมิของปรีดีในช่วงไม่กี่ปีนั้น(๖) ในส่วนที่เกี่ยวกับการขึ้นครองราชย์ของในหลวงอานันท์ ไข่มุกด์กล่าวว่า
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ขณะนั้นดำรงพระยศเป็น “พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดล” ทรงอยู่ในลำดับที่ 1 ในการสืบราชสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาล รัฐบาลและรัฐสภาจึงอัญเชิญขึ้นครองราชย์ เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 8 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ การที่มาลำเลิกโจทเจ้า ว่าตนเป็นผู้สนับสนุนให้ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ จึงเป็นการมิถูกมิควร
ในหนังสือที่เขาตีพิมพ์ออกมาโต้ไข่มุกด์ สุพจน์ ด่านตระกูล เสนอว่า ถ้าถือตามกฎมณเฑียรบาล ผู้ที่สมควรขึ้นเป็นกษัตริย์รัชกาลที่ ๘ คือพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ อันที่จริง สุพจน์อ้างว่าถ้าถือตามกฎมณเฑียรบาลจริงๆ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ต้องได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ตั้งแต่เมื่อรัชกาลที่ ๖ สวรรคตในปี ๒๔๖๘ แล้ว คือ จะต้องได้เป็นรัชกาลที่ ๗ แทนที่จะเป็นพระปกเกล้า

วิธีการให้เหตุผลของสุพจน์เป็นดังนี้(๗) เมื่อรัชกาลที่ ๖ สวรรคต ตามกฎมณเฑียรบาล ถ้ากษัตริย์ไม่มีลูกหรือหลานของพระองค์เอง ให้เลือกน้องชายร่วมมารดาของกษัตริย์ที่อายุถัดจากกษัตริย์ไป ถ้าน้องชายผู้นั้นไม่มีชีวิตแล้ว ให้เลือกลูกชายของน้อยชายผู้นั้น น้องชายร่วมมารดาที่ถัดจากรัชกาลที่ ๖ คนแรกคือเจ้าฟ้าจักรพงษ์ บิดาของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ กฎมณเฑียรบาลห้ามผู้มีชายาต่างด้าวเป็นกษัตริย์ แต่สุพจน์อ้างว่า ชายาของเจ้าฟ้าจักรพงษ์ได้รับการรับรองจากรัชกาลที่ ๖ ให้เป็นสะใภ้หลวง และเจ้าฟ้าจักรพงษ์เองก่อนสิ้นพระชนม์ (๒๔๖๓) ก็ทรงได้รับการสถาปนาเป็นรัชทายาทของรัชกาลที่ ๖ กฎมณเฑียรบาล ๒๔๖๗ ที่ห้ามคนมีชายาต่างด้าวเป็นกษัตริย์ยังออกมาภายหลังเจ้าฟ้าจักรพงษ์สิ้นพระชนม์อีกด้วย เหตุผลเหล่านี้ รวมกันแล้วหมายความว่า เจ้าฟ้าจักรพงษ์ไม่ได้ถูกตัดสิทธิ์เป็นกษัตริย์ตามกฎมณเฑียรบาล เมื่อเป็นเช่นนั้น ลูกของพระองค์คือ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ก็ควรต้องเป็นอันดับแรกที่จะได้เป็นกษัตริย์ต่อจากรัชกาลที่ ๖ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์เองขณะที่รัชกาลที่ ๖ สวรรคต ก็ยังไม่มีชายาต่างด้าว

สุพจน์เสนอว่า เหตุที่พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ไม่ได้เป็นรัชกาลที่ ๗ ทั้งๆที่ควรได้เป็นตามกฎมณเฑียรบาล ก็เพราะในวันที่รัชกาลที่ ๖ สวรรคตนั้น (๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๖๘) บรรดาเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ได้ประชุมกัน โดยมีสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธ์วงศ์วรเดชเป็นประธานที่ประชุม และมีเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรควรพินิตเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ ที่ประชุมได้ลงมติยกราชบัลลังก์ให้เจ้าฟ้าประชาธิปก เป็นพระปกเกล้ารัชกาลที่ ๗ แทน(๘) เมื่อรัชกาลที่ ๗ สละราชย์ในปี ๒๔๗๗ ความชอบธรรมที่จะเป็นกษัตริย์ตามกฎมณเฑียรบาลของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ก็ยังคงอยู่ทุกประการ


รัชกาลที่ ๖-เจ้าฟ้าจักรพงษ์-พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์
แต่สิ่งที่สุพจน์ (และปรีดี) ไม่ทราบคือ เมื่อรัชกาลที่ ๖ ตั้งให้เจ้าฟ้าจักรพงษ์น้องชายเป็นรัชทายาทนั้น ตั้งโดยเงื่อนไขว่า เจ้าฟ้าจักรพงษ์ต้องยอมรับการตัดสิทธิ์ลูกชายคือพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ในการขึ้นเป็นกษัตริย์ในอนาคต และก่อนสวรรคต รัชกาลที่ ๖ ได้กำหนดเป็นพินัยกรรมให้เจ้าฟ้าประชาธิปกเป็นกษัตริย์องค์ต่อไป นั่นคือ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์หมดสิทธิ์ในการเป็นกษัตริย์และถูก “ข้าม” มาโดยถูกต้องตามธรรมเนียมของราชสำนัก ยิ่งกว่านั้นกฎมณเฑียรบาลที่ออกในปี ๒๔๖๗ แม้จะหลังจากเจ้าฟ้าจักรพงษ์สิ้นพระชนม์แล้ว ยังค่อนข้างแน่นอนว่ามีเจตนารมณ์ที่จะใช้ห้ามกรณีของเจ้าฟ้าจักรพงษ์และพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ด้วยนั่นเอง (คือ “บังคับย้อนหลัง” ในบางความหมาย) เหตุผลข้อนี้เป็นเหตุผลเสริม เพราะเพียงเหตุผลเรื่องการตกลงระหว่างรัชกาลที่ ๖ กับเจ้าฟ้าจักรพงษ์ บวกกับเรื่องพินัยกรรมของรัชกาลที่ ๖ ก็เพียงพอแล้วที่จะถือว่าพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์หมดสิทธิ์ไปแล้วตามกฎมณเฑียรบาล ซึ่งให้อำนาจเด็ดขาดแก่กษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่ ที่จะกำหนดให้ใครเป็นหรือยกเว้นไม่ให้ใครเป็นกษัตริย์องค์ต่อไป และเมื่อเป็นเช่นนั้น ถึงคราวที่รัชกาลที่ ๗ สละราชย์ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ จึงไม่มีสิทธิ์ที่จะเป็นกษัตริย์รัชกาลที่ ๘ อีก

ผมจะอธิบายเรื่องเหล่านี้ตามลำดับ ดังต่อไปนี้


หลักฐานใหม่ : “ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖” ของ “ราม วชิราวุธ” และ เอกสารใน หจช.
ในปี ๒๕๔๕ ศิลปวัฒนธรรม ได้ตีพิมพ์งานลักษณะบันทึกความทรงจำเรื่อง ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ ซึ่งรัชกาลที่ ๖ ทรงพระราชนิพนธ์ในนาม “ราม วชิราวุธ” ในงานที่น่าสนใจอย่างยิ่งนี้ รัชกาลที่ ๖ ทรงเล่าถึงเหตุการณ์ในราชสำนักในช่วงไม่กี่เดือนก่อนและหลังการสวรรคตของรัชกาลที่ ๕ คือช่วงครึ่งหลังของปี ๒๔๕๓

บันทึกนี้เป็นหลักฐานอย่างชัดเจนไม่อาจปฏิเสธได้ ถึงความรู้สึกบาดหมางขมขื่นอย่างมากที่รัชกาลที่ ๖ มีต่อเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ “น้องชายเล็ก” ของพระองค์ (และต่อการที่ “เสด็จแม่” ทรงรัก “น้องชายเล็ก” มากกว่าพระองค์) เพราะแม้จะทรงเขียนบันทึกนี้ในปี ๒๔๖๗ คือ ๔ ปีหลังการสิ้นพระชนม์ของเจ้าฟ้าจักรพงษ์ หรือถึง ๑๔ ปีหลังเหตุการณ์ที่ทรงเล่าก็ตาม แต่ความรู้สึกบาดหมางขมขื่นนี้ยังแสดงออกอย่างรุนแรงเกือบตลอดทั้งบันทึก(๙)

เฉพาะประเด็นการตั้งรัชทายาทนั้น ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ สามารถได้รับการยืนยันความถูกต้องและขยายความในรายละเอียดจากเอกสารชั้นต้นชุดหนึ่งที่เก็บอยู่ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ (ส่วนใหญ่ได้แก่ลายพระราชหัตถ์ของเจ้าฟ้าจักรพงษ์และเจ้านายบางคนที่เกี่ยวข้อง)(๑๐) อาศัยหลักฐาน ๒ ชุดนี้ประกอบกัน ผมขอเล่าเรื่องการตั้งเจ้าฟ้าจักรพงษ์เป็นรัชทายาทในต้นรัชกาลที่ ๖ ดังต่อไปนี้


รัชกาลที่ ๖ ตั้งจักรพงษ์เป็นรัชทายาท ภายใต้เงื่อนไขไม่ให้จุลจักรพงษ์เป็น
เพียง ๒ วันหลังการสวรรคตของรัชกาลที่ ๕ รัชกาลที่ ๖ ได้เรียกประชุมพิเศษเจ้านายชั้นสูงบางคน ผู้เข้าร่วมประชุม (ตามการเล่าของพระองค์เอง) คือ “น้องชายเล็ก, กรมหลวงนเรศร์, กรมขุนสรรพสิทธิ์, กรมหลวงเทววงศ์, กรมขุนสมมต, กรมหลวงดำรง, และกรมหมื่นนครชัยศรี” นอกจาก “กิจการบางเรื่อง” แล้ว ยังทรงนำปัญหารัชทายาทขึ้นปรึกษาด้วย(๑๑) ทรงเล่าภายหลังว่า “การที่ปัญหาเรื่องตั้งรัชทายาทได้เกิดเปนเรื่องเร่งร้อนขึ้นนั้น เพราะน้องชายเล็กเธอรบเร้าฉันนัก, และเสด็จแม่ก็ได้ทรงช่วยรบเร้าด้วย” เห็นได้ชัดว่า ทรงตัดสินพระทัยมาก่อนการประชุม ที่จะทำตามการ “รบเร้า” ของ “น้องชายเล็ก” และ “เสด็จแม่” เพราะทรงแจ้งต่อที่ประชุมว่า
(๑) ความมั่นคงของพระราชวงศ์จักรีนี้ ก็คือความมั่นคงของกรุงสยาม

(๒) พระราชวงศ์จักรีจะมั่นคงอยู่ได้ ก็โดยมีทายาทมั่นคงที่จะได้เปนผู้ดำรงวงศ์ตระกูลต่อไป

(๓) ในขณะนั้นตัวของฉันยังไม่ได้มีเมียและไม่มีลูก และเพื่อตั้งอยู่ในความไม่ประมาทควรต้องตั้งใครคน ๑ เปนทายาทไปพลางก่อน

(๔) ในการที่จะเลือกทายาททั้งนี้ ก็จำจะต้องพิจารณาเปนข้อต้นว่า พระบรมราโชบายแห่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกได้มีทรงแนะไว้พอจะเปนที่สังเกตได้อย่างไรบ้างหรือไม่ ... เมื่อตัวฉันเองกลับเข้ามาจากศึกษาที่ประเทศยุโรปใน พ.ศ. ๒๔๔๕, ฉันได้รับพระราชทานพระชัยนวโลหะในพระที่นั่งไพศาล, ต่อหน้าเจ้านายเปนอันมาก, เมื่อพระราชทานพระชัยองค์นั้น ทูลกระหม่อมได้มีพระราชดำรัสว่า.....บัดนี้ได้ทรงตั้งแต่งให้ฉันเปนพระยุพราชรัชทายาทแล้ว จึ่งพระราชทานพระชัยองค์นั้นไว้ให้เปนสวัสดิมงคลสืบไป, แต่ทรงกำชับว่าให้พึงเข้าใจว่าพระราชทานไว้สำหรับพระราชโอรสของเสด็จแม่ทุกคน, เมื่อใครเปนผู้มีอายุมากที่สุดในพวกพี่น้องก็ให้เปนผู้รักษาพระชัยองค์นั้นไว้จนกว่าจะสิ้นอายุ, แล้วจึ่งให้รับรักษากันต่อๆลงไป

(๕) เหตุดังนั้นฉันจึ่งเห็นว่าควรตั้งให้น้องชายเล็กเปนรัชทายาทของฉันชั่วคราวจนกว่าฉันเองจะได้มีลูก
ทรงเล่าว่า ในที่ประชุมไม่มีผู้ใดโต้แย้ง นอกจากกรมหลวงดำรงได้เสนอว่า ควรประกาศต่อองคมนตรีสภาด้วย อย่างไรก็ตาม หลังการประชุม ๒ วัน คือในวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๔๕๓ กรมหลวงดำรงได้ขอเข้าเฝ้าโดยเฉพาะในที่ระโหฐาน และแจ้งต่อพระองค์ว่าในหมู่องคมนตรีจะมีผู้คัดค้านการตั้งน้องชายเล็กเป็นรัชทายาท “ในส่วนตัวเธอเองนั้นไม่มีใครรังเกียจ แต่เขาพากันรังเกียจเรื่องเมีย [หม่อมคัทริน]” ซึ่งรัชกาลที่ ๖ ได้ชี้แจงว่าได้พูดกับ “น้องชายเล็ก” แล้ว
พูดกับตัวเธอเองโดยตรงๆเปนที่เข้าใจกันโดยชัดแจ้งว่า อย่างไรๆก็จะให้ลูกของเธอเปนเจ้าฟ้าไม่ได้ เพราะเมียของเธอไม่ใช่เจ้า, เล็กเองได้พูดตอบว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งแกล้า, ซึ่งพูดกันตรงๆก็คือว่าได้ทรงชิงเปนพระเจ้าแผ่นดิน, ก็มิได้ทรงตั้งพระราชโอรสพระองค์หนึ่งพระองค์ใดเปนรัชทายาท, เพราะไม่อยากทรงประพฤติให้แผกผิดไปจากราชประเพณี ตัวของน้องชายเล็กจะทำให้แผกผิดไปอย่างไรได้
กรมหลวงดำรงจึงเสนอว่า
ถ้าจะป้องกันมิให้มีเหตุที่คนจะเก็บเอาไปอ้างได้ว่ามีความร้าวรานในพระราชวงศ์ ควรให้ฉัน [รัชกาลที่ ๖] เขียนเปนหนังสือลับเก็บไว้ในห้องอาลักษณ์ แสดงความปรารถนาของฉันที่ให้น้องชายเล็กเปนรัชทายาท, กับให้น้องชายเล็กเขียนคำปฏิญญาไว้ด้วย ว่าจะไม่ตั้งลูกของเธอเปนรัชทายาทต่อตัวเธอ และให้เก็บหนังสือปฏิญญานั้นไว้ด้วยกันกับหนังสือของฉัน
รัชกาลที่ ๖ ทรงรับจะไปพิจารณา หลังจากนั้น ทรงเรียกเจ้าฟ้าจักรพงษ์เข้าพบในที่ระโหฐานเช่นกันและเล่าเรื่องที่กรมหลวงดำรงตรัสให้ฟัง เจ้าฟ้าจักรพงษ์ทรงกล่าวว่า “ได้ทราบเค้าจากเสด็จแม่ว่า ผู้ที่จะคัดค้านในการตั้งเธอเปนรัชทายาทอย่างแขงแรงนั้นคือ...........” ศิลปวัฒนธรรม เซ็นเซอร์ชื่อผู้คัดค้านออก แต่จากหลักฐานแวดล้อม (ดูข้างหน้า) เข้าใจว่าหมายถึง “กรมสวัสดิ์” (กรมพระสวัสดิวัฒนวิศิษฎ์ พระบิดาพระนางเจ้ารำไพพรรณี) เจ้าฟ้าจักรพงษ์ทรงกล่าวต่อไปว่า “การที่จะให้เธอทำหนังสือปฏิญญานั้น เธอจะได้ทำตามที่ฉันปรารถนา” แต่ทรงตั้งเงื่อนไขว่า ขอให้รัชกาลที่ ๖ ประกาศตั้งพระองค์เป็นรัชทายาทโดยเปิดเผย อย่าทำเป็นหนังสือลับ (ดังข้อเสนอของกรมหลวงดำรง) ทรงอ้างว่า ถ้าทำเป็นหนังสือลับ แล้วรัชกาลที่ ๖ สวรรคต หากเสนาบดีเลือกผู้อื่นเป็นกษัตริย์แทน จะเท่ากับบังคับให้พระองค์ “ต้องคัดค้านหรือถึงแก่ต่อสู้จนสุดกำลัง” เพื่อให้เป็นไปตาม “ความประสงค์” ของรัชกาลที่ ๖ ในหนังสือลับนั้น รัชกาลที่ ๖ บอกว่าจะไปคิดดูก่อน

วันต่อมา (๒๘ ตุลาคม) รัชกาลที่ ๖ ทรงได้รับจดหมายจากเจ้าฟ้าจักรพงษ์
ส่งคำปฏิญญาเรื่องที่จะไม่ให้ลูกเปนรัชทายาทนั้นเข้าไปให้ฉัน, แต่ในหนังสือหาได้ทำแต่เพียงคำปฏิญญาอย่างเช่นที่ฉันได้ขอให้ทำเท่านั้นไม่, มีกล่าวข้อความอื่นๆเปนคำอธิบายชี้แจงมาด้วย, ซึ่งฉันเสียใจที่ได้อ่านถ้อยคำบางแห่งรุนแรงมากอยู่ สำแดงปรากฏว่าน้องชายเล็กมีความโกรธเคืองผู้ที่ระแวงสงสัยในตัวของเธอ.
ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ มีต้นฉบับลายพระหัตถ์ จดหมายของเจ้าฟ้าจักรพงษ์ลงวันที่ ๒๘ ตุลาคมนี้ ซึ่งทรงเขียนเป็นภาษาอังกฤษ (ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ ไม่ได้ระบุว่าเป็นภาษาอังกฤษ) พร้อม “คำปฏิญญา” ที่เป็นภาษาไทย ๑ ฉบับ เป็นลายพระหัตถ์เช่นกัน ในจดหมาย ทรงยืนยันเช่นที่ได้กล่าวด้วยวาจาวันก่อนหน้านั้นว่า ทรงทำ “คำปฏิญญา” จะไม่ตั้งลูกชายเป็นรัชทายาท ภายใต้เงื่อนไขว่ารัชกาลที่ ๖ จะประกาศตั้งพระองค์เป็นรัชทายาทอย่างเปิดเผย มิเช่นนั้น ทรงขอ “คำปฏิญญา” ดังกล่าวคืน ทรงอ้างซ้ำว่า ถ้าการตั้งพระองค์เป็นรัชทายาททำเป็นควมลับ แล้วเสนาบดีเลือกผู้อื่นเป็นกษัตริย์เมื่อรัชกาลที่ ๖ สวรรคต พระองค์ก็จะต้องใช้กำลังเพื่อรักษาสิทธิของพระองค์ (In order to enforce my right, I shall have to use force of arms.) ทรงจบจดหมายว่า กรมหลวงดำรง (ผู้เสนอให้ตั้งรัชทายาทเป็นความลับ) “ลืมไปว่า ในเร็ววัน มหาอำนาจยุโรปก็จะต้องถามว่า ใครคือรัชทายาทของสยาม พวกเขาจะไม่ยอมนิ่งเงียบอยู่นาน เพราะในทุกประเทศในโลก จะต้องมีรัชทายาทเสมอ” (very soon European Powers will ask who is the heir in Siam, they will not keep silence for long, for in every country in the world there must be always an heir)

ใน “คำปฏิญญา” ที่แนบมาด้วย เจ้าฟ้าจักรพงษ์ทรงเขียนว่า
ตามที่มีพระราชปรารภว่า ในขณะนี้ยังหามีพระราชโอรส อันจะเปนผู้รับตำแหน่งรัชทายาทนั้นไม่....จะทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯกำหนดให้ข้าพระพุทธเจ้าเปนรัชทายาทไว้ชั่วคราว ในขณะที่ยังไม่มีพระราชโอรสนี้ แต่มีบุคคลบางคนบังอาจออกความเห็นสงไสยในพระราชปรีชาญาณอันประเสริฐ อวดอ้างกล่าวว่าตนยังเห็นมีทางอันตรายแก่บ้านเมือง เนื่องด้วยเรื่องบุตรภรรยาของข้าพระพุทธเจ้า จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ข้าพระพุทธเจ้าทำคำชี้แจงถวายในเรื่องนี้ เพื่อเปนพยานให้บุคคลทั่วไปเห็นประจักษ์แจ่มแจ้งว่า พระราชวินิจฉัยใดๆที่จะพึงมี ย่อมได้ทรงพระราชดำริห์โดยรอบคอบแล้วทุกอย่าง แสดงอยุ่ในทางที่ถูกเสมอไม่มีผิด …..

บุตรข้าพระพุทธเจ้าที่มีอยู่แล้วในเวลานี้ มีมารดาเปนคนสามัญ เพราะฉนั้นตามราชประเพณีในพระบรมราชวงษ์ ไม่สามารถจะมียศเป็นเจ้าฟ้าได้เป็นอันขาดไม่ว่าในเวลาใด เมื่อเป็นเจ้าฟ้าไม่ได้เช่นนั้นแล้ว ก็ไม่สามารถจะเป็นรัชทายาทได้เหมือนกัน เพราะยังมีเจ้าฟ้าพระองค์อื่นอยู่ .....

เมื่อมีตัวอย่างอันชัดเจนอยู่ฉนี้แล้ว ที่ข้าพระพุทธเจ้าจะบังอาจไปคิดทำอย่างอื่น ให้ผิดเพี้ยนไปกับพระราชประเพณีอันประเสริฐนั้น เชื่อด้วยเกล้าว่า คงจะเปนที่มั่นพระราชหฤไทยในใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท ว่าข้าพระพุทธเจ้าไม่มีนิไสยที่จะกระทำได้ หรือคนโดยมากทั่วไปก็คงไม่เห็น เว้นแต่คนโง่เขลาสันดานหยาบ ที่มีน้ำจิตรเต็มไปด้วยความหมิ่นประมาทต่อข้าพระพุทธเจ้าเท่านั้น จะคิดเห็นเปนอย่างอื่นไปได้ .....

ข้าพระพุทธเจ้าขอตั้งสัตยาธิฐาน ด้วยน้ำจิตรอันสุจริตจงรักภักดีต่อใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท ขอคุณพระรัตนไตร แลสิ่งซึ่งเปนใหญ่เปนประธานในสกลโลกย์ จงอภิบาลบำรุงรักษา ให้ใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท ทรงพระเจริญพระชนมายุยิ่งยืนนาน ทั้งมีพระราชโอรส เปนรัชทายาทที่จะสืบสนองพระองค์ได้นั้นเสียโดยเร็วพลัน แต่ถ้าแม้บังเกิดมีเหตุที่จะกระทำให้ข้าพระพุทธเจ้าต้องตั้งรัชทายาทต่อไปแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าจะตั้งให้ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนครราชสิมา พระราชอนุชา แลน้องรักร่วมพระชนนี ของข้าพระพุทธเจ้านั้น เปนรัชทายาทโดยทันควันมิได้รั้งรอ.

ความข้อนี้ข้าพระพุทธเจ้ายินดีที่จะกระทำสัจสาบาล น่าพระโกษ สมเด็จพระบรมชนกนารถพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แลฉะเพาะพระภักตร พระมณีรัตนปฏิมากร ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ว่าข้าพระพุทธเจ้ากล่าวด้วยน้ำใสใจจริง แลขอปฏิบัติตามวาจาเปนแน่แท้ ขอให้บรรดาผู้ที่สงไสยในสัจวาจาของข้าพระพุทธเจ้า จงรับทุกข์ตามบาปกรรมของตน ที่บังอาจคิดหมิ่นประมาทในเพื่อนมนุษย์ โดยไม่มีหลักฐานนั้นเทอญ.(๑๒)
วันเดียวกันนั้น รัชกาลที่ ๖ ทรงเรียกประชุมพิเศษเจ้านายชั้นสูงคณะเดิมอีก แต่ครั้งนี้ไม่มี “น้องชายเล็ก” อยู่ด้วย ทรงเล่าว่า “สังเกตตามเสียงของท่านเจ้านายผู้ใหญ่นั้น ดูออกจะปรารถนาเปนอันมากให้ทำไปเปนการเงียบๆ เพื่อจะมิให้มีช่องผู้ใดคัดค้าน” แต่รัชกาลที่ ๖ ทรงเห็นว่า “การที่จะทำเปนทางลับเช่นที่ว่านั้นจะไม่เปนผลดีอย่างใด, เท่ากับไม่ได้ทำ” ในที่สุด ตกลงว่าจะประกาศในท่ามกลางเสนาบดีสภา รัชกาลที่ ๖ จึงเสนอว่า ต้องให้เสนาบดีลงนามเป็นพยานไว้ด้วย แต่ “ที่ประชุมยังออกจะอึ้งๆอยู่ ฉันก็มิได้ขะยั้นขะยอต่อไป” แล้วทรงมอบหนังสือปฏิญญาของเจ้าฟ้าจักรพงษ์ให้กรมหลวงเทววงศ์ไปเจรจากับเจ้าฟ้าจักรพงษ์ให้แก้ไข

วันต่อมา รัชกาลที่ ๖ ทรงบันทึกว่า บางกอกไทมส์ ได้ “ลงข่าวว่าฉันได้เลือกน้องชายเล็กเปนรัชทายาท ข่าวนี้ใครจะเปนผู้นำไปลงก็ไม่ทราบ”(๑๓) วันที่ ๓๐ ตุลาคม เจ้าฟ้าจักรพงษ์มีจดหมายถึงรัชกาลที่ ๖ เล่าเรื่องที่กรมหลวงเทววงศ์ไปพบตามที่รัชกาลที่ ๖ สั่ง (เพื่อขอให้แก้ไขหนังสือปฏิญญา) ต่อไปนี้คือการเล่าของรัชกาลที่ ๖ ถึงข้อความในจดหมาย (การเน้นคำของรัชกาลที่ ๖)
ตามความในจดหมายนั้นสันนิษฐานได้ว่า ความเห็นมิได้ลงคลองกัน น้องชายเล็กกล่าวต่อไปด้วยว่า การแตกร้าวนั้นถ้ามีก็จำจะต้องปราบปรามให้สูญสิ้นไป, แต่ที่จะคิดปิดบังไว้นั้นเห็นว่าอย่างไรๆก็ปิดไม่มิดชิดได้ “เพราะใครๆก็ย่อมทราบอยู่เกือบจะทั่วกันแล้ว ว่าใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทได้ทรงเลือกให้ข้าพระพุทธเจ้าเปนรัชทายาท” (ทำไมจึ่งทราบกันขึ้นแพร่หลายโดยรวดเร็วเช่นนั้นก็ออกจะน่ารู้อยู่บ้าง) ในจดหมายนั้นมีข้อความเล่าต่อไปอีกว่า มีผู้รู้และกล่าวว่ากรมหลวงเทววงษ์กับกรมสวัสดิ์ไม่เห็นชอบด้วย จึ่งได้วานให้กรมหลวงดำรงเข้าไปหาฉัน เพื่อพูดจาไกล่เกลี่ยให้ฉันกลับความคิด. ความอันนี้น้องชายเล็กว่า กรมนครชัยศรีเปนผู้เล่าให้เธอฟัง และกรมนครชัยศรีได้ทรงทราบข่าวนั้นมาจากข้าในกรมของท่าน, เพราะฉนั้นน้องชายเล็กจึ่งเห็นว่า ถ้าแม้ไม่มีคำสั่งของฉันเปนหลักฐานทางราชการ “คนคงจะพากันกล่าวว่า พระราชายอมแพ้และกลับความคิด” (ข้อนี้คือจะหนุนให้ฉันเกิดมานะ) ในท้ายจดหมายของเธอนั้น น้องชายเล็กได้กล่าวอ้างว่ากรมนครชัยศรีมีความเห็นพ้องกับเธอและว่าได้สำแดงด้วยพระวาจาว่าไม่พอพระทัยในความประพฤติและถ้อยคำของท่านพวกเสนาบดีผู้ใหญ่ และอ้างว่ากรมนครชัยศรีได้กล่าวด้วยว่า “ส่วนการแตกร้าวนั้น, ในกรุงเทพฯนี้เท่านั้นก็มีดาบปลายปืนอยู่แปดพันแล้ว

ตามข้อความที่มีมาในจดหมายฉบับนี้แสดงอัธยาศัยของน้องชายเล็กอย่างชัดเจน ว่าเปนผู้ที่นึกอะไรแล้วก็จะต้องเอาอย่างใจของตน เมื่อใครคัดค้านก็นึกออกแต่ทางที่จะใช้กำลังและอำนาจกำราบเท่านั้น และฉันยังไม่สู้จะยอมเชื่อว่ากรมนครชัยศรี ผู้ที่นับว่ามีสติปัญญาฉลาดจะแสดงตนเปนคนรุนแรงไปทีเดียวเช่นที่น้องชายเล็กอ้าง.
อันที่จริง จดหมายของเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฉบับวันที่ ๓๐ ตุลาคมนี้ เขียนเป็นภาษาอังกฤษเช่นเดียวกับฉบับก่อนหน้านั้น เนื้อหาสำคัญเหมือนกับที่รัชกาลที่ ๖ ทรงเล่าข้างต้น แต่มีรายละเอียดมากกว่า เช่น เจ้าฟ้าจักรพงษ์ทรงยกตัวอย่างรัสเซียว่ากษัตริย์ที่ปกครองด้วยความเข้มแข็งและความกลัว จึงประสบความสำเร็จ และยุให้รัชกาลที่ ๖ ใช้วิธีเดียวกัน คือแสดงความเข้มแข็งและทำให้คนกลัวก่อน จึงทำให้คนรักภายหลัง นอกจากนี้ยังทรงกล่าวถึงกรมสวัสดิ์และผู้คัดค้านการตั้งพระองค์เป็นรัชทายาทด้วยถ้อยคำรุนแรงว่า “ขี้ขลาด” (cowardly) “บังอาจตั้งข้อสงสัยในพระราชปัญญา” ของรัชกาลที่ ๖ (dares to question your wisdom) และเสนอให้รัชกาลที่ ๖ กำจัด (stamped out) ความเห็นคัดค้านพระองค์ด้วยวิธีการทุกอย่าง ท้ายจดหมายที่อ้างกรมนครชัยศรี (Chira จากพระนาม “จิรประวัติวรเดช”) ทรงเขียนว่า “Chira is of my opinion and he says his heart aches at the thought of all the nonsense the Elder Ministers are doing and saying, as for dissension he says there are 8 thousand bayonets in Bangkok city.”

เนื่องจากรัชกาลที่ ๖ ไม่ทรงเชื่อนักว่ากรมนครชัยศรีจะ “แสดงตนเปนคนรุนแรงไปทีเดียวเช่นที่น้องชายเล็กอ้าง” จึงทรงมีจดหมายไปถาม วันต่อมา (๓๑) กรมนครชัยศรีมีจดหมายตอบ (เป็นภาษาอังกฤษ) ไม่ระบุลงไปว่าสนับสนุนฝ่ายใด แต่ดูเหมือนจะโน้มเอียงไปทางเจ้าฟ้าจักรพงษ์ และขอเข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์เพื่ออธิบายรายละเอียด(๑๔) ซึ่งรัชกาลที่ ๖ ทรงให้เข้าเฝ้าในวันนั้น กรมนครชัยศรีได้บอกรัชกาลที่ ๖ ตามที่ทรงบันทึกไว้ใน ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ ว่า
ข้อใหญ่ใจความผู้ที่คัดค้านตะขิดตะขวงและหนักใจอยู่ก็ด้วยเรื่องน้องชายเล็กมีเมียเปนชาวยุโรป ผลที่อาจจะบังเกิดได้จากข้อนี้ก็คือ เปนที่น่าหวดหวั่นอยู่ว่า ชาวยุโรปอาจจะทำทางเข้าดลใจน้องชายเล็กให้เขวไปได้ แต่ถึงแม้ว่าน้องชายเล็กจะได้ปฏิญญารับรองโดยมั่นคงว่าจะไม่ยกลูกขึ้นเปนรัชทายาท ก็ไม่เปนเครื่องป้องกันในข้อที่เธอจะฟังคำแนะนำของชาวยุโรป ถ้าเธอจะอยากฟัง และถ้าแม้ว่าจะข้ามตัวน้องชายเล็กเสียทีเดียว, ยกเอาน้องเอียดขึ้นตั้งเปนรัชทายาท, จะแก้ข้อวิตกอันนั้นให้สูญสิ้นไปได้ลงหรือ? กรมนครชัยศรีเห็นว่าไม่ได้, เพราะอย่างไรๆ น้องชายเล็กก็คงจะต้องรับราชการอยู่ในตำแหน่งสำคัญ, และอาจที่จะเชื่อฟังปล่อยให้ฝรั่งจูงเขวไปจนเสียราชการก็ได้เหมือนกัน
สรุปแล้ว ดูเหมือนกรมนครชัยศรีจะเห็นว่า อันตรายเรื่องเจ้าฟ้าจักรพงษ์จะถูกฝรั่งชักจูงนั้น แม้ไม่ตั้งเป็นรัชทายาทก็หนีไม่พ้น ดังนั้น จึงน่าจะตั้งเป็นรัชทายาทได้โดยไม่เอาเหตุผลข้อนี้มาพิจารณา (ผมคิดว่านี่เป็นการให้เหตุผลที่ออกจะแปลก ยกเว้นแต่กรมนครชัยศรีจะมีสมมุติฐานว่า เจ้าฟ้าจักรพงษ์จะได้เป็นเพียงรัชทายาทเท่านั้น ไม่ถึงเป็นกษัตริย์ เพราะอย่างไรเสีย วันข้างหน้า รัชกาลที่ ๖ คงจะมีพระโอรสเองแน่ๆ ไม่เช่นนั้น การถูกฝรั่งจูงโดยได้เป็นกษัตริย์กับไม่ได้เป็นกษัตริย์ ย่อมต่างกันอย่างมหาศาล)

วันรุ่งขึ้น (๑ พฤศจิกายน ๒๔๕๓) รัชกาลที่ ๖ ทรงยกเรื่องการตั้งรัชทายาทขึ้นปรึกษาในที่ประชุมเจ้านายชั้นสูงอีก “เปนอันตกลงว่าให้มีพระราชกฤษฎีกาในเสนาบดีสภา และให้เสนาบดีลงนามเปนพยานไว้ทุกคน”(๑๕) กรมนครชัยศรีทำหน้าที่ไปบอกผลการประชุมให้เจ้าฟ้าจักรพงษ์ทราบ วันต่อมา กรมนครชัยศรีมีจดหมายถึงรัชกาลที่ ๖ ว่า เจ้าฟ้าจักรพงษ์เห็นชอบกับข้อตกลงของที่ประชุมทุกประการ และว่าเจ้าฟ้าจักรพงษ์เสนอให้แจ้งข่าวเรื่องนี้แก่ Bangkok Times อย่าง “กึ่งราชการ” ซึ่งรัชกาลที่ ๖ ไม่ทรงขัดข้อง(๑๖) (มีการร่าง “ข่าว” เป็นภาษาอังกฤษสำหรับ Bangkok Times แต่ไม่ปรากฏว่ามีการตีพิมพ์เรื่องนี้แต่อย่างใด)(๑๗)

หลังจากตกลงกันได้ในหมู่เจ้านายชั้นสูงรวมทั้งกับเจ้าฟ้าจักรพงษ์เองแล้ว รัชกาลที่ ๖ ทรงมีจดหมายถึง “กรมสวัสดิ์” (กรมพระสวัสดิวัฒนวิศิษฎ์) “ชี้แจงความประสงค์ของฉันและบอกไปด้วยว่าน้องชายเล็กเต็มใจที่จะปฏิญญาว่าจะไม่ให้ลูกของเธอเปนรัชทายาท” ทรงอธิบายสาเหตุว่า “ที่ฉันมีจดหมายไปถึงกรมสวัสดิ์เช่นนี้ ก็เพราะน้องชายเล็กได้บ่นและฟ้องอยู่แทบมิได้เว้นแต่ละวันว่ากรมสวัสดิ์พูดเช่นนั้นกล่าวเช่นนี้, ฉันเกรงจะทำให้เปนเรื่องอื้อฉาวใหญ่โตมากไป, จึ่งตั้งใจที่จะให้สงบเรื่อง. กรมสวัสดิ์มีลายพระหัตถ์ตอบฉันยืดยาว” (ศิลปวัฒนธรรมเซ็นเซอร์พระนาม “กรมสวัสดิ์” ออก ผมใส่คืนในที่นี้) ต้นฉบับจดหมายตอบยาว ๘ หน้า ลงวันที่ ๔ พฤศจิกายน ของกรมพระสวัสดิ์ ยังมีเก็บอยู่ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ(๑๘) ในจดหมาย กรมพระสวัสดิ์ทรงคัดค้านการตั้งเจ้าฟ้าจักรพงษ์เป็นรัชทายาทอย่างรุนแรง ทรงเริ่มต้นด้วยการกล่าวว่า เข้าใจดีที่รัชกาลที่ ๖ มีเมตตาต่อน้องชายและต้องการแสดงความกตัญญูต่อพระชนนี แต่การตั้งรัชทายาทเช่นนี้
ไม่เหนว่าจะเฃ้าแบบอย่างต่างประเทศฤาแบบไทที่ดีก็ไม่มี นอกจากธรรมเนียมตั้งวังน่าซึ่งได้ทรงประกาศเลิกเสียเด็ดฃาดแล้ว เหนด้วยเกล้าฯว่าเป็นอกาโล premature เปนการไม่ควรแก่ราชการ impolitic เปนการปลูกเพาะพืชแห่งความระส่ำระสายหวาดหวั่นแก่ชาวพระนคร เปนเหตุเคลือบแคลงระแวงไหวแก่นานาประเทศ
กรมพระสวัสดิ์อ้างว่า เจ้านายผู้ใหญ่อื่นๆก็เห็นเช่นเดียวกับพระองค์เพียงแต่ไม่มีใครกราบบังคมทูล หลังจากนั้น กรมพระสวัสดิ์ได้โจมตีเจ้าฟ้าจักรพงษ์ที่อ้างว่าการตั้งรัชทายาทเป็นการตั้งอยู่ในความไม่ประมาท (“อัประมาท”) ดังนี้
เปนแต่สักว่าขึ้นชื่ออัประมาทพอเปนที่อ้างเอามากำบัง Ambition เท่านั้น ความทะเยอทะยานทุรนทุราย ถือเอาฃ้อราชการฃองพระราชวงศ์ฃองแผ่นดิน ว่าเปนการส่วนตนไปเสียท่าเดียว จนลืมละอายลืมกลัวบาป ออกน่าคร่าแรงโต้ต้านดึงดัน ราวกะว่าออกประจนประจันบานต่อสัตรู การต่อสู้ที่มิได้เลือกอาวุธตรงฤาอาวุธคต ใช้หมดสุดแต่จะได้ทั้งไทแลฑูต ทิ่มแทงไม่เลือกที่ว่าจะถูกเบื้องบนฤาใต้สะเอว เรวเปนได้ท่า ช้าเปนเสียการเช่นนี้ เปนที่สยดสยองเกล้าเศร้าสลดใจนัก
กรมพระสวัสดิ์กล่าวต่อไปว่า ตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ สวรรคต ก็เหลือแต่รัชกาลที่ ๖ เท่านั้น ที่จะ “กำราบ [เจ้าฟ้าจักรพงษ์] ให้ละพยส ร้ายกลายเปนดี”

สุดท้าย กรมพระสวัสดิ์เสนอว่า ถ้า “เพียงแต่ Question of Principle อย่างเดียว” (เข้าใจว่าหมายถึงการที่ควรมีหลักเกณฑ์เรื่องรัชทายาทไว้เพื่อความไม่ประมาท) ก็สามารถหาทางออกได้ ๒ ทาง คือ (๑) รัชกาลที่ ๖ แสดงพระราชประสงค์ไว้ว่า หากเกิด “เหตุฉุกเฉินอันไม่พึงปรารถนาจะมีขึ้น” (คือทรงสวรรคต) โดยที่ไม่ทรงมีพระราชโอรส ก็ให้ราชสมบัติสืบทาง “สมเด็จพระราชอนุชาทั้งหลายร่วมพระอุทร” โดยให้ “สมเด็จพระชนนี...ทรงมีอำนาจเลือกสรรพระองค์” หรือ (๒) “ใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท...โปรดเกล้าฯพระราชทานพระราชโอวาทประศาสน์แด่สมเด็จพระอนุชาทั้งหลาย ให้มีพระชายาตามมูลนิติธรรมขัตติยประเพณี อย่างนี้เป็นราชกรณีย์ เพื่อทรงบำรงพระราชวงศ์ให้ดำรงสถาพรสถานหนึ่ง เปนประเพณีอันดีของไทแลต่างประเทศ” พูดง่ายๆคือ กรมพระสวัสดิ์เสนอให้รัชกาลที่ ๖ สั่งให้บรรดาน้องชาย รวมทั้งเจ้าฟ้าจักรพงษ์หาเมียที่ถูกต้องตามประเพณี คือเป็นขัตติยะด้วยกัน (เพื่อจะได้มีลูกเป็น “อุภโตสุชาติ”)!

รัชกาลที่ ๖ ทรงมีจดหมายตอบกรมพระสวัสดิ์ (ตามที่ทรงบันทึกไว้ใน ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖) ว่า “ฉันได้ตริตรองดูตลอดแล้ว, เห็นว่าการที่มีรัชทายาทเปนตัวตนปรากฏอยู่นั้นจะเปนเครื่องทำให้มั่นคง, ....การที่จะตั้งน้องชายเล็กเปนรัชทายาทนี้ ก็มิใช่จะตั้งแต่งเปนพิธีรีตองอะไร, เปนแต่ทำหนังสือแสดงความประสงค์ไว้ และทำต่อหน้าพยานอันมีหลักฐานเท่านั้น. ไม่เกี่ยวแก่การเพิ่มอิศริยยศอันใดเลย” ทรงขอให้กรมพระสวัสดิ์ “อย่า...วุ่นวายให้เปนเหตุแตกร้าว”

ขณะที่กรมพระสวัสดิ์เป็นฝ่ายเงียบสงบไปได้หลังจากนั้น รัชกาลที่ ๖ ทรงบันทึกถึงฝ่าย “น้องชายเล็ก” ว่า
แต่น้องชายเล็กเธอตั้งใจเสียแน่นอนว่าจะไม่ยอมให้ฉันเฉื่อยชาเสียในเรื่องที่ตัวเธอสนใจอยู่มากเช่นนั้น. พอเวลาบ่ายวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน, เมื่อเสร็จงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้วหนึ่งวันเท่านั้น, [เน้นตามต้นฉบับ] ฉันก็ได้รับจดหมายจากน้องชายเล็กฉบับ ๑ ......
ต้นฉบับจดหมายดังกล่าวมีเก็บอยู่ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ความจริง ส่วนใหญ่ของจดหมายเป็นการหารือเรื่องอื่น แต่ในท้ายจดหมาย (๓ หน้า ใน ๑๐ หน้า) เจ้าฟ้าจักรพงษ์ทรงเขียนว่า
อนึ่ง ในที่สุดแล้ว ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสกราบบังคมทูลความที่เกี่ยวไปทางส่วนตัวคือ เมื่อคืนนี้อุปทูตรูเซียมาเยี่ยมเยียนไปรเวต เล่าว่า กรมสวัสดิ์เที่ยวประกาศในหมู่ฝรั่งว่า ข้าพระพุทธเจ้าไม่สามารถจะเปนรัชทายาทได้ แลอ้างพระบาฬีตามหนังสือสังสกฤตออกมาให้ฝรั่งดู ฝรั่งก็ลือกระฉ่อน ว่าต้องให้เอียดเล็ก [เจ้าฟ้าอัษฎางเดชาวุธ กรมขุนนครราชสีมา] เปนแทน แต่เอียดเล็กนั้นก็เหลวไหลนัก ใช้ไม่ได้ ต้องเอาติ๋ว [เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทรชาไชย] จึงได้มีพระบรมราชโองการเรียกติ๋วกลับจากยุโรป ซึ่งลงหนังสือพิมพ์ด้วย คงจะได้ทอดพระเนตรเห็น แลฝรั่งเรือมหาจักรีบอกเล่ากับคนที่คลับว่าเดือนน่า เรือมหาจักรีจะออกไปรับติ๋วที่สิงคโปร์ การเปนได้ถึงเพียงนี้ ต้องขอพระบารมี มีพระบรมราชโองการ ให้เจ้าน่าที่ลงหนังสือพิมพ์แก้ไขความลือเช่นนี้ แลบอกความจริงเสียสักที การที่ปิดความจริงนั้น ไม่ใช่ทำให้คนพูดน้อยลงเลย ทำให้พูดมากขึ้น เพราะต่างคนต่างเดาได้ตามใจ ถ้ามีความจริงแน่นอนแล้ว จะลือแก้ความจริงอย่างไรได้ ถ้าปล่อยกันเล่นให้สนุกพิ์อยู่เช่นนี้ ไม่ช้าบางที ข้าพระพุทธเจ้าจะต้องไปต่อยปากกรมสวัสดิ์สักพัก ๑(๑๙)
ไม่มีหลักฐานว่ารัชกาลที่ ๖ ทรงตอบจดหมายนี้อย่างไร (ใน ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ ทรงบันทึกเพียงว่า “ฉันได้รีบตอบตักเตือนไปให้เหนี่ยวรั้งสติไว้บ้าง”) แต่ที่น่าสนใจคือ ในบันทึกส่วนพระองค์ ทรงมีปฏิกิริยา ดังนี้
ฉันเองก็ไม่อยากจะเปนผู้แก้แทนกรมสวัสดิ์, แต่ฉันเห็นว่าข่าวที่มองสิเออร์ เอ็ลเตะก๊อฟ [อุปทูตรัสเซีย] นำเอาไปเล่าให้น้องชายเล็กนั้นอาจจะเปนข่าวคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง ไม่มากก็น้อย ฉันนึกไม่ออกเลยว่า กรมสวัสดิ์จะเอา “หนังสือสันสกฤต” อะไรไปพลิกให้ฝรั่งดู ไม่เห็นเข้าเรื่องอะไรเลย จดหมายของน้องชายเล็กฉบับลงวันที่ ๑๔ พฤศจิกายนนั้น ถ้าจะว่าแสดงอะไรให้ปรากฏก็ต้องว่าแสดงกระแสร์อุบายของน้องชายเล็กเองให้ปรากฏ, สรุปได้เปนข้อๆคือ.- (๑) ปรารถนาให้ฉันตกลงเลือกตัวเธอเปนรัชทายาทเสียโดยเร็ว, จะได้ตัดทางที่คนจะโต้แย้งได้ต่อไป, (๒) ประกาศในองคมนตรีสภาแล้ว จึ่งคิดให้โฆษณาในหนังสือพิมพ์, และที่ว่าจะให้ลงเปน “กึ่งราชการ” นั้นก็คือจะได้เลือกบอกข่าวแต่ที่ต้องการให้แพร่หลาย, ส่วนข้อที่จะไม่ให้ลูกเปนรัชทายาทต่อนั้น จะได้งำเสีย, (๓) อ้างนามชาวยุโรปว่ากล่าวเช่นนั้นเช่นนี้, สำหรบให้เห็นเปนการใหญ่และซึ่งเขาทึ่งกันมากฉันจะได้ตกใจและเร่งร้อนขึ้น(๒๐)

การประชุมเสนาบดี วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๔๕๓ ตั้งรัชทายาท
ในที่สุด ในที่ประชุมเสนาบดีวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๔๕๓ รัชกาลที่ ๖ ก็ทรงนำเรื่องการตั้งรัชทายาทเข้าสู่วาระประชุมอย่างเป็นทางการ ตามที่รายงานการประชุมครั้งนั้นได้บันทึกไว้ ดังนี้

ราชการจร

๑. เรื่องตั้งรัชทายาท มีพระราชดำรัสว่า ในที่สุดนี้ จะขอแสดงความตั้งใจในเรื่องรัชทายาทให้ที่ประชุมฟัง แล้วโปรดเกล้าฯให้พระยาศรีสุนทรอ่านพระราชกระแส ซึ่งว่าด้วยโปรดเกล้าฯให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนพิษณุโลกประชานารถดำรงพระยศตำแหน่งรัชทายาทในระหว่างที่ยังไม่มีพระราชโอรสนี้แล้ว

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนพิษณุโลกทรงอ่านคำปฏิญาณ กราบบังคมทูลตลอดแล้ว

มีพระราชดำรัสว่า ตามที่ทรงตั้งรัชทายาทนี้ ขออย่าให้เข้าผิดไป เหมือนหนึ่งว่าตั้งว่าน่า การที่ทำไว้เช่นนี้ เปนแต่เพียงชี้ทางไว้ สำหรับเหตุการ กับซึ่งหวังใจว่าจะไม่มี แต่หากเกิดมีขึ้นเท่านั้น การอื่นๆไม่มีเปลี่ยนแปลงอะไร วางอยู่อย่างเดิมทั้งสิ้น

แล้วทรงเซ็นพระราชหัตถเลขา แลโปรดเกล้าฯให้เสนาบดีลงพระนามแลนามในพระราชหัตถเลขากระแสพระบรมราชโองการนั้นไว้เปนสำคัญ

หมดราชการแล้ว เสด็จขึ้นเวลา ๒ ทุ่มกับ ๕ นาที(๒๑)

เอกสาร ๒ ฉบับที่รายงานการประชุมกล่าวถึง คือ พระราชกระแสตั้งรัชทายาท ที่ให้พระยาศรีสุนทรอ่าน (ซึ่งใน ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ ทรงเรียกว่า “พระราชกฤษฎีกา” โดยตลอด) และคำปฏิญาณของเจ้าฟ้าจักรพงษ์ มีอยู่ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ(๒๒) เอกสารฉบับแรก “พระราชกฤษฎีกาตั้งรัชทายาท” ซึ่งรัชกาลที่ ๖ ทรงร่างเอง(๒๓) เริ่มต้นว่า

ขอแจ้งความแก่พระบรมวงศานุวงษ์ แลข้าราชการซึ่งมาประชุมกัน ณ ที่นี้

ด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมชนกนารถ ทรงพระราชดำริถึงความมั่นคง ในการปกครองพระราชอาณาจักร ที่จะให้เปนการเรียบร้อยปราศจากเหตุการทั้งปวง จึงทรงตั้งพระราชโอรสให้ดำรงตำแหน่งรัชทายาท

บัดนี้ ข้าพเจ้าได้รับศิริราชสมบัติสืบสนองพระองค์สมเด็จพระบรมชนกนารถโดยเรียบร้อย ตามกระแสพระราชดำริห์ที่ได้ทรงตั้งไว้ จึงมารลึกถึงพระราชดำริห์ของสมเด็จพระบรมชนกนารถอันเปนการดีการชอบอย่างยิ่ง ได้เห็นผลดีแล้วนั้น สมควรที่จะดำเนินตาม ถึงแม้ว่าจะเปนเวลาแรก ข้าพเจ้าพึ่งรับศิริราชสมบัติก็ดี เพื่อจะให้เปนความไม่ประมาท จึ่งเห็นว่า สมควรที่จะมีผู้ซึ่งจะเปนรัชทายาทสืบพระราชสันตติวงษ์ ขึ้นไว้มิให้เว้นว่างเพื่อให้เปนความมั่นคงในการปกครองพระราชอาณาจักรสืบไปตามราชประเพณีที่มีมาแต่ก่อน ผู้ที่จะสืบราชสันตติวงษ์โดยเรียบร้อยก็ย่อมจะเปนพระราชโอรสเปนปรกติ แต่บัดนี้ข้าพเจ้ายังไม่มีบุตร จึ่งเปนการที่จะต้องพิจารณาว่าผู้ใดเปนผู้สมควรที่จะเปนรัชทายาท .........

หลังจากนั้น ได้กล่าวถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ ในระยะแรกที่ยังไม่มีการตั้งพระราชินี ถ้าพระชายาใดมีลูกเป็นเจ้าฟ้า ก็ทรงยกย่องขึ้นเป็นพระบรมราชเทวี “เมื่อทรงตั้งข้าพเจ้าเป็นรัชทายาท ก็ทรงยกสมเด็จพระราชชนนีขึ้นเปนแต่สมเด็จพระอรรคราชเทวีเท่านั้น เปนอันทรงยกขึ้นตามพระราชโอรสธิดา ไม่เป็นพระราชินี” เมื่อเสด็จยุโรปครั้งแรกจึงทรงตั้งเป็นสมเด็จพระบรมราชินีนารถ “เปนการทำให้มั่นคงว่าเปนพระราชินีแท้” พระราชโอรสของพระบรมราชินีนารถจึงเป็นพระราชโอรสของพระอรรคมเหษีตามพระราชประเพณี (“พูดกันตามภาษาคนก็คือ เปนลูกเมียหลวง”)(๒๔)

“พระราชกฤษฎีกา” ได้อ้างเหตุการณ์ที่แสดงว่า รัชกาลที่ ๕ ทรงมีพระราชดำริว่า ในเรื่องรัชทายาทนั้น หากรัชกาลที่ ๖ ไม่มีลูกชายของตัวเอง ก็ควรให้น้องชายร่วมมารดาสืบราชสมบัติต่อไป เช่น เมื่อทรงพระราชทานพระไชยนวโลหะให้เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ (รัชกาลที่ ๖) ก็ทรง “พระราชทานให้น้องชายเล็ก...รับด้วย” หรือ เมื่อทรงสั่งเรื่องจัดการพระบรมศพว่า ให้เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธเป็นผู้สรงน้ำทรงเครื่อง ถ้าเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธอยู่ต่างประเทศก็ให้เจ้าฟ้าจักรพงษ์ทำ(๒๕) เป็นต้น ต่อจากนั้น จึงเป็นข้อความที่เป็นหัวใจของ “พระราชกฤษฎีกา” คือการตั้งเจ้าฟ้าจักรพงษ์เป็นรัชทายาทพร้อมเงื่อนไข :
จึ่งเห็นว่าในเวลานี้ ต้องให้น้องร่วมพระราชชนนีเปนรัชทายาท ไม่มีอย่างอื่น เว้นแต่ข้าพเจ้ามีบุตรจึงให้บุตรเปนรัชทายาทต่อไป เพราะฉนั้นในเวลานี้ ข้าพเจ้าขอกำหนดไว้ว่า ให้น้องที่เกิดแต่สมเด็จพระบรมราชินีนารถอันเปนน้องร่วมอุทร เปนรัชทายาทตามลำดับอายุพรรษกาล จำเดิมด้วยน้องชายเล็ก เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมขุนพิษณุโลกประชานารถ ผู้เปนน้องมีอายุพรรษารองตัวข้าพเจ้านี้ลงไป อนึ่งตามพระราชประเพณีนิยมมาแต่โบราณกาลมีอยู่ว่า ผู้ที่จะดำรงศิริราชสมบัติ ควรที่จะต้องเปนอุภโตสุชาติ จึ่งจะเปนที่นิยมนับถือของประชาชนทั่วกัน เพราะฉนั้น ข้าพเจ้าขอกำหนดไว้ต่อไปว่า ถ้าแม้มีเหตุการอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะไม่พึงปรารถนา เปนต้นว่าถ้าแม้ข้าพเจ้าจะไม่มีบุตร แลน้องข้าพเจ้าจะได้เปนผู้สืบสันตติวงษ์ต่อไป อย่าให้น้องผู้นั้นเลือกตั้งบุตรของตน ซึ่งมิได้เปนอุภโตสุชาติเปนรัชทายาทต่อไปเลย ขอจงให้น้องผู้มีอายุพรรษารองตนลงไปเปนรัชทายาท เหมือนเช่นที่ข้าพเจ้าได้เลือกไว้ในครั้งนี้เถิด ขอให้ท่านทั้งหลาย บันดาที่ได้มาประชุมในที่นี้ทราบความประสงค์ไว้ อย่าให้เปนการเข้าใจผิดไปในภายน่า(๒๖)
หลายปีต่อมา รัชกาลที่ ๖ ทรงอธิบายข้อความส่วนที่เกี่ยวกับ “อุภโตสุชาติ” ข้างบนนี้ (คือตั้งแต่ “อนึ่งตามพระราชประเพณี........”) ว่า
มีได้ด้วยความมุ่งหมายที่จะป้องกันมิให้น้องชายเล็กเลือกเอาลูกที่เกิดด้วยหม่อมคัทรินเป็นรัชทายาทต่อไป อันที่จริงการที่ลงข้อความข้อนี้ไว้ในพระราชกฤษฎีกาก็ดี, หรือการบังคับให้น้องชายเล็กเขียนคำปฏิญญาก็ดี, ย่อมรู้สึกกันอยู่ว่าอาจที่จะไม่มีผลอะไรเลยก็ได้ เพราะถ้าต่างว่าฉันตายลง และน้องชายเล็กเธอได้เสวยราชย์, ดูก็ไม่เห็นมีอะไรที่จะเปนข้อห้ามมิให้น้องชายเล็กเธอสถาปนาหม่อมคัทรินขึ้นเปนเจ้าและทำให้ลูกเปนอุภโตสุชาติขึ้นโดยวิธีนั้น ว่ากันตามกฎมณเฑียรบาล ใครเปนลูกพระอัคระมเหษีก็ต้องเรียกว่าเปนอุภโตสุชาติอยู่เอง มิใช่ว่าพระมเหษีนั้นจะต้องได้เปนเจ้ามาโดยกำเนิดก็หามิได้. แต่ครั้นจะกล่าวตรงๆ ว่าไม่ยอมให้ลูกฝรั่งเปนรัชทายาทก็อาจที่จะเกิดเปนเรื่องฉาวขึ้น และใครๆที่รู้จักน้องชายเล็กอยู่แล้วย่อมรู้อยู่ว่า สิ่งใดที่เกี่ยวไปถึงตัวของเธอแล้ว เธออาจสละกุศโลบายทั้งหมดแล้ว แลใช้อุบายอย่างใดๆ สุดแท้แต่จะได้ผลสมปรารถนาของเธอ, และในเรื่องเลือกตั้งรัชทายาทนั้นก็ได้สังเกตเห็นรำไรอยู่แล้ว, จึ่งได้เห็นกันว่าทำไปให้แล้วเสียคราว ๑ ดีกว่าที่จะรอให้มีพวกทูตต่างประเทศถามหรือเตือนขึ้น(๒๗)
ในงานเดียวกันนี้ ทรงบันทึกว่ามีผู้ร่วมลงนามเป็นพยานใน “พระราชกฤษฎีกา” ตั้งรัชทายาทดังกล่าว ดังนี้(๒๘)
๑. เสนาบดีกระทรวงกระลาโหม - สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช
๒. ผู้บัญชาการทหารเรือ – สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์วรพินิต
๓. เสนาธิการทหารบก – สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนพิษณุโลกประชานาถ
๔. เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ – พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนเรศวรฤทธิ์
๕. เสนาบดีกระทรวงวัง – พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ ๖. เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ – พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงเทววงศ์วโรปการ
๗. เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย – พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ
๘. ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ – พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นนครชัยศรีสุระเดช
๙. เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม – หม่อมเจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนเรศวรฤทธิ์
๑๐. เสนาบดีกระทรวงธรรมการ – เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (ม.ร.ว.คลี่ สุทัศน์ ณ กรุงเทพ)
๑๑. เสนาบดีกระทรวงนครบาล – เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)
๑๒. เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ – พระยาวงศานุประพัทธ์ (ม.ร.ว.สท้ายกลาง สนิทวงศ์ ณ กรุงเทพ)
๑๓. สภาเลขาธิการ – พระยาศรีสุนทรโวหาร (กมล สาลักษณ์)
กรมขุนสมมตอมรพันธ์, ราชเลขาธิการ, กับกรมหมื่นจันทบุรีนฤนาถ, เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ, ประชวรจึ่งมิได้เสด็จในที่ประชุมนั้นด้วย
ในส่วน “คำปฏิญญา” ของเจ้าฟ้าจักรพงษ์ มีข้อความดังนี้
ขอเดชะ

ด้วยทรงพระราชปรารภว่า ในเวลาที่ยังไม่มีพระราชโอรสอันเป็นรัชทายาทตามพระราชประเพณีอยู่ แลทรงพระราชดำริห์คำนึงถึงการแผ่นดิน ซึ่งยังไม่มีพระราชกฤษฎีกาไว้ ให้ชัดเจนแน่นอนว่าผู้ใดเปนรัชทายาท ก็ไม่เปนการถาวรมั่นคง แลมีพระราชประสงค์จะทรงตั้งอยู่ในอัปประมาทธรรมแล้ว จึงทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ กำหนดให้ข้าพระพุทธเจ้าเปนรัชทายาทไว้ชั่วคราว ในขณะที่ยังไม่มีพระราชโอรส ตามความในพระราชหัตถเลขา แสดงพระราชประสงค์ สำหรับสืบสันตติวงษ์นั้น พระเดชพระคุณเป็นล้นเกล้าฯหาที่สุดมิได้

ข้าพระพุทธเจ้า ขอพระราชทานกระทำสัตย์ปฏิญญาณ ทูลเกล้าฯถวายไว้ว่า ข้าพระพุทธเจ้ามีความเต็มใจเห็นชอบตามกระแสพระราชดำริห์นั้นทุกประการ แลข้าพระพุทธเจ้าเต็มใจปฏิบัติตามพระบรมราโชวาท ในพระราชหัตถเลขาที่กล่าวมาข้างต้นนี้ทุกข้อทุกประการ มีข้อสำคัญคือว่า ในการซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าพระพุทธเจ้าเปนรัชทายาทอยู่นี้ ถ้าใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทมีพระราชโอรสเมื่อใด ข้าพระพุทธเจ้าจะไม่เปนรัชทายาทเมื่อนั้น อนึ่งถ้าแม้จะมีเหตุการณ์อันไม่เปนที่พึงปรารถนาเลยนั้นเกิดขึ้น คือเป็นต้นว่า ใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทจะไม่มีพระราชโอรสแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าจะต้องรับสืบราชสันตติวงษ์ต่อไปเมื่อใดๆ ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานทูลเกล้าฯถวายปฏิญญานไว้ว่า ในเวลาที่ข้าพระพุทธเจ้ายังไม่มีบุตรซึ่งเป็นอุภโตสุชาติแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าจะให้น้องที่รักทั้งหลายซึ่งร่วมพระราชชนนีเป็นรัชทายาท ตามความในพระบรมราโชวาทที่กล่าวมาข้างต้นนี้ แลข้าพระพุทธเจ้าจะไม่กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง
ซึ่งจะให้เกิดเป็นผลเสมอเหมือนว่าฝ่าฝืนต่อข้อความตามพระบรมราโชวาท แลคำสัจปฏิญญาณของข้าพระพุทธเจ้านี้เป็นอันขาด

ควรมิควรสุดแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ข้าพระพุทธเจ้า(๒๙)
ใน ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ ทรงบันทึกไว้ว่า หลังจากได้มี “พระราชกฤษฎีกาตั้งรัชทายาท” นี้แล้ว “ฉันรู้สึกโล่งมาก เพราะได้เกิดความเบื่อหน่ายระอาในความยุ่งเหยิงอันได้บังเกิดขึ้นเพราะเรื่องนั้นมากมายเหลือประมาณ, มัวแต่ฟังคำโต้ของฝ่ายโน้น แล้วฟังคำแย้งของฝ่ายนี้ จนแทบไม่มีเวลาหรือสมองเหลือสำหรับที่จะคิดการอื่นๆอีก” ทรงเล่าว่า ในวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๔๕๓ หลังการประชุมนั้นเอง ได้ทรงบันทึกไว้ในสมุดจดหมายเหตุรายวันของพระองค์ว่า “ยังมีความหวังต่อไปอีก, ซึ่งมิได้กล่าวในที่ประชุม คือ......ที่พระเจ้าแผ่นดินสวรรคตลงโดยมิได้เลือกรัชทายาทไว้กลับไม่มีบทกฎหมายอันใดที่จะพลิกจะอ้างสำหรับจัดการเรื่องรัชทายาทนั้นเลย......เพราะฉนั้นอย่างไรๆ......ต่อไปข้างน่าจะต้องมีเปนพระราชกฤษฎีกากำหนดไว้อย่างใดอย่าง ๑ ในเรื่องนี้” นี่คือข้อความจริงๆที่ทรงบันทึกไว้ในปี ๒๔๕๓ อย่างไรก็ตาม ทรงอธิบายใน ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ ซึ่งทรงเขียนในปี ๒๔๖๗ ว่า
ความคิดของฉันได้มีอยู่เช่นนี้ตั้งแต่เมื่อฉันได้เปนพระเจ้าแผ่นดินขึ้นใหม่ๆ และฉันมิได้ลืมความคิดนั้นเลย, เปนแต่เมื่อยังมิได้แลเห็นโอกาสอันเหมาะที่จะออกกฎหมายอย่างที่ว่านั้นก็ยังระงับๆไว้, มาจนถึง พ.ศ. ๒๔๖๖ ตอนปลายปีมีเหตุเตือนใจให้ฉันรำลึกขึ้นได้ถึงความคิดอันนั้น, จึ่งได้มาจับบทดำริห์และร่างกฎหมายนั้น อันจะได้ใช้เปนนิติธรรมสำหรับการสืบราชสันตติวงศ์เปนระเบียบต่อไป

กฎมณเฑียรบาล ๒๔๖๗ และการ “ข้าม” จุลจักรพงษ์ ไปที่อัษฎางค์
กฎหมายที่ทรงกล่าวถึงก็คือ กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. ๒๔๖๗ ที่เรารู้จักกันในปัจจุบันนั่นเอง อะไรคือ “เหตุเตือนใจ” ให้รัชกาลที่ ๖ “รำลึกขึ้นได้ถึงความคิด” ที่จะมีกฎหมายเช่นนี้ หลังจากทรงมีความคิดดังกล่าวครั้งแรกก่อนหน้านั้นถึง ๑๓ ปี? ผมไม่สามารถบอกได้ แต่มีข้อสังเกตว่าในช่วง ๕ ปีสุดท้ายของรัชกาล (๒๔๖๓-๖๘) ทรงหมกมุ่นกับปัญหารัชทายาท เพราะไม่ทรงมีพระราชโอรส และมีหลายเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องรัชทายาทเกิดขึ้นในช่วงนี้ เริ่มตั้งแต่เจ้าฟ้าจักรพงษ์สิ้นพระชนม์อย่างกระทันหันเมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๔๖๓(๓๐) หลังจากนั้นรัชกาลที่ ๖ จึงทรงสถาปนาลูกชายเจ้าฟ้าจักรพงษ์ซึ่งเดิมเป็นเพียงหม่อมเจ้า ให้เป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ปีเดียวกัน (ประเด็นนี้เป็นปัญหาในหมู่เจ้า ดังจะได้เห็นต่อไป ความจริง คาดกันว่าจะ ทรงสถาปนาให้เป็นเพียง พระวรวงศ์เธอ ไม่ใช่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ)(๓๑)

อีกไม่กี่เดือนต่อมา ในวันที่ ๘ พฤศจิกายน รัชกาลที่ ๖ ทรงประกาศหมั้นกับ ม.จ.หญิง วัลลภาเทวี แต่เพียง ๔ เดือนต่อมา ก็ทรงประกาศยกเลิกหมั้น เดือนกันยายน ๒๔๖๔ ทรงประกาศหมั้นกับ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ (เพิ่งสถาปนาจากหม่อมเจ้า ในเดือนเมษายน) แต่ปีถัดมา ก็ทรงแยกกันอยู่ เดือนตุลาคม ๒๔๖๔ ตั้งคุณเปรื่อง สุจริตกุล เป็นพระสุจริตสุดา เดือนมกราคม ๒๔๖๔ (ปฏิทินเก่า) ตั้งคุณประไพ น้องคุณเปรื่อง เป็นพระอินทรามณี ปีต่อมา สถาปนาพระอินทรามณีเป็น “พระวรชายา” และต่อมาก็ยกเป็น “พระบรมราชินี” อย่างไรก็ตาม ในเดือนกันยายน ๒๔๖๘ ได้เปลี่ยนให้เป็น “พระวรราชายา” เท่านั้น เดือนตุลาคม ๒๔๖๘ สถาปนาเจ้าจอมสุวัทนา เป็น พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี(๓๒) แต่ในที่สุด ดังที่ทราบกันดี แม้จะทรง “มี (เปลี่ยน) เมียหลายคน” ภายในเวลาสั้นๆดังกล่าว ความพยายามจะมีพระโอรสก็ล้มเหลว พระนางเจ้าสุวัทนาให้กำเนิดพระธิดาก่อนรัชกาลที่ ๖ สวรรคตเพียง ๒ วัน

ก่อนหน้านั้น ในเดือนกรกฎาคม ๒๔๖๖ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก น้องชายร่วมมารดาองค์ที่ ๓ สิ้นพระชนม์ และในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๔๖๗ (ปฏิทินเก่า) เจ้าฟ้าอัษฎางเดชาวุธ น้องชายร่วมมารดาองค์ที่ ๒ สิ้นพระชนม์ เกี่ยวกับกรณีหลังนี้ มีหลักฐานแน่ชัดว่า รัชกาลที่ ๖ ทรงถือว่าหลังการสิ้นพระชนม์ของเจ้าฟ้าจักรพงษ์ เจ้าฟ้าอัษฎางค์คือรัชทายาทองค์ต่อไป นั่นคือ ทรง “ข้าม” พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ตามที่ทรงประกาศและทำการตกลงไว้กับเจ้าฟ้าจักรพงษ์ในปี ๒๔๕๓ จริงๆ หลักฐานดังกล่าวคือ จดหมายถึงพระยาจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์ (ลออ ไกรฤกษ์ ต่อมาคือเจ้าพระยามหิธร) ราชเลขาธิการ ๑ เดือนเศษหลังเจ้าฟ้าจักรพงษ์สิ้นพระชนม์ ดังนี้ (ส่วนที่เน้นของผม)(๓๓)
ท่าวาสุกรี
วันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๔๖๓

ถึง พระยาจักรปาณี

น้องชายเอียด (อัษฎางค์) บัดนี้ตกอยู่ในตำแหน่งรัชทายาทแล้วจำเป็นจักต้องรู้ราชการทั่วๆไปทุกแผนก, และข้าได้บอกกับตัวเธอเองให้ได้ทราบแล้วว่าจะต้องเริ่มศึกษา

เพราะฉะนั้น เจ้าจงไปพบพูดจาหาฤากับตัวเธอให้เป็นที่เข้าใจกันแล้วและจัดหนังสือราชการไปให้ศึกษา ในชั้นต้นให้เธอได้อ่านและทราบหนังสือราชการปะรจำวัน รวมทั้งคำสั่งต่างๆตามที่มี, ทั้งที่เป็นเรื่องธรรมดาและเรื่องพิเศษ ต่อไปเมื่อเธอเอาใจใส่อยากจะทราบเรื่องใดโดยละเอียดพิสดารก็จงจัดการหาหนังสือไปให้อ่าน, และขอมอบให้เจ้าเป็นผู้อธิบายชี้แจงวิธีดำเนินการเพื่อให้เธอเข้าใจแจ่มแจ้งด้วย เมื่อพอชินในทางการตามระเบียบแล้ว จึ่งค่อยเลือกคดีที่เป็นหลักสำคัญของราชการให้อ่านเพื่อทราบไว้, มีสัญญาที่สยามได้ทำไว้กับอังกฤษและฝรั่งเศษ, และเรื่องกำกับตรวจตราข้าวเป็นต้น

การที่ให้เจ้าทำเช่นนี้ย่อมจะเพิ่มภาระส่วนตัวเจ้าขึ้นอีกส่วน ๑ แต่ข้าเชื่อว่าเจ้าคงจะเต็มใจรับใช้ในงานนี้อีกด้วยเช่นในงานอื่นๆ

ราม ร./
เหตุการณ์ต่างๆที่มีนัยยะเกี่ยวกับปัญหารัชทายาทข้างต้น เป็น “เหตุเตือนใจ” ให้รัชกาลที่ ๖ ทรงระลึกถึงความคิดที่จะมีกฎหมายว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์หรือไม่? ทรงกล่าวอย่างเจาะจงว่า “มีเหตุเตือนใจ” เมื่อ “พ.ศ. ๒๔๖๖ ตอนปลายปี” เอกสารชั้นต้นจำนวนหนึ่งเกี่ยวกับการร่างกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ยังมีเก็บอยู่ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ รวมทั้งลายพระราชหัตถเลขาร่างแรกสุดของกฎหมายดังกล่าว ซึ่งรัชกาลที่ ๖ ทรงร่างด้วยพระองค์เอง ลงวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๔๖๖ หรือปลายปี ๒๔๖๖ ตามปฏิทินเก่า(๓๔) เหตุการณ์ที่บรรยายข้างต้นที่เกิดก่อนวันดังกล่าวแต่ใกล้เคียงที่สุด คือการสิ้นพระชนม์ของเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลกในเดือนกรกฎาคม ๒๔๖๖ (เจ้าฟ้าจุฑาธุชทรงมีพระโอรส ๑ องค์ คือ พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช ซึ่งไม่ได้เป็นอุภโตสุชาติ) เป็นไปได้หรือไม่ที่จะทรงหมายถึงเหตุการณ์นี้? ถ้าเรายึดตามคำว่า “ปลายปี” อย่างเคร่งครัด ก็ไม่น่าจะใช่ เพราะกรกฎาคมตามปฏิทินเก่าเป็นช่วงต้นปี

เท่าที่ผมเคยเห็น มีเหตุการณ์เล็กๆเหตุการณ์หนึ่งที่ใกล้เคียงกับช่วงปลายปี ๒๔๖๖ ที่ทรงร่างกฎหมายมณเฑียรบาล คือ ทรงมีจดหมายส่วนพระองค์ถึงพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ซึ่งกำลังทรงศึกษาอยู่ที่อังกฤษ ลงวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๔๖๖ แนะนำเรื่องการใช้ชีวิตว่า อย่าได้ “ปล่อยตัวให้เผลอละเลิงเหลวไหล”(๓๕) เป็นไปได้หรือไม่ที่การเขียนจดหมายดังกล่าว จะเป็น “เหตุเตือนใจ” ให้ทรงนึกถึงความคิดที่จะมีกฎหมายสืบราชสันตติวงศ์เมื่อ ๑๓ ปีก่อนหน้านั้น เมื่อมีปัญหาความขัดแย้งเรื่องตั้งรัชทายาทกับ “น้องชายเล็ก” พ่อของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์? ในที่นี้ ผมพียงแต่คาดเดา ไม่สามารถยืนยันได้

ร่างกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ของรัชกาลที่ ๖ ถูกส่งไปให้กรรมการร่างกฎหมายพิจารณา กรรมการ (ซึ่งประกอบด้วยคนไทย ๔ คน ชาวต่างประเทศ ๒ คน) ได้เรียกประชุม ๒ ครั้ง ในวันที่ ๓๑ มกราคม และ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๖ ผลการพิจารณา นอกจากปรับปรุงถ้อยคำบางจุดแล้ว ได้เสนอให้เพิ่มเติมข้อกำหนดใน ๔ มาตราเพื่อให้รัดกุมขึ้น(๓๖) ไม่กี่วันต่อมา ร่างที่ถูกแก้ไขเพิ่มเติมของกรรมการถูกนำขึ้นทูลเกล้า รัชกาลที่ ๖ ทรงมีจดหมายลงวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๖ แสดงความเห็นชอบกับข้อเสนอของกรรมการ และสั่งให้กรรมการแปลร่างเป็นภาษาอังกฤษ “เพื่อจะได้ประกาศกฎมณเฑียรบาลนั้นในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๗” ผมไม่ทราบว่าเหตุใดจึงทรงกำหนดเวลาประกาศหลังจากนั้นนานถึง ๙ เดือน (แต่ไม่คิดว่าเป็นปัญหาความยากในการแปลเป็นภาษาอังกฤษ) ในที่สุด กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ก็ถูกประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๔๖๗

ประเด็นที่ต้องพิจารณาในที่นี้คือ ข้อกำหนดของกฎมณเฑียรบาลเรื่องผู้ถูกยกเว้นจากลำดับสืบราชสันตติวงศ์ มาตรา ๑๑ (๔) “มีพระชายาเป็นนางต่างด้าว กล่าวคือ นางที่มีสัญชาติเดิมเป็นชาวประเทศอื่นนอกจากชาวไทยโดยแท้” ถือว่าครอบคลุมถึงกรณีเจ้าฟ้าจักรพงษ์หรือไม่ และที่ต่อเนื่องกันคือ มาตรา ๑๒ “ท่านพระองค์ใดตกอยู่ในเกณฑ์มีลักษณะบกพร่องดังกล่าวมาแล้วในมาตรา ๑๑ แห่งกฎมณเฑียรบาลนี้ไซร้ ท่านว่าพระโอรสอีกทั้งบรรดาเชื้อสายโดยตรงของท่านพระองค์นั้น ก็ให้ยกเสียจากลำดับสืบราชสันตติวงศ์ด้วยทั้งสิ้น” จะครอบคลุมถึงพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์หรือไม่

ดังที่เราได้เห็นตอนต้นว่า สุพจน์ ด่านตระกูล เสนอว่า กฎมณเฑียรบาลออกหลังจากเจ้าฟ้าจักรพงษ์ได้รับการสถาปนาเป็นรัชทายาท และหลังจากหม่อมคัทรินได้รับการรับรองเป็นสะใภ้หลวง มาตรา ๑๑ (๔) จึงไม่มีผลบังคับต่อเจ้าฟ้าจักรพงษ์ แต่สุพจน์เองไม่ทราบเรื่องข้อตกลงระหว่างรัชกาลที่ ๖ กับ “น้องชายเล็ก” ที่ให้ยกเว้นพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์จากลำดับการสืบสันตติวงศ์ ดังนั้น หากสมมุติว่าสุพจน์พูดถูกว่า มาตรา ๑๑ (๔) ไม่ครอบคลุมถึงเจ้าฟ้าจักรพงษ์ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ก็ยังควรต้องถูกถือว่า ได้รับการห้ามโดยข้อตกลงนั้น คือเข้าข่ายตามมาตรา ๑๑ (๖) “เป็นผู้ที่ได้ถูกประกาศยกเว้นออกเสียจากลำดับสืบราชสันตติวงศ์” อยู่นั่นเอง (ขอให้นึกถึงการที่รัชกาลที่ ๖ ทรง “ข้าม” พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ไปที่เจ้าฟ้าอัษฎางค์ดังกล่าวข้างต้นด้วย)

แต่ผมเชื่อว่า สุพจน์พูดผิดในกรณีมาตรา ๑๑ (๔) ด้วย หลักการเรื่องกฎหมายไม่สามารถเอาผิดย้อนหลังนั้น หมายถึงกรณีที่การกระทำใด ไม่มีกฎหมายระบุว่าเป็นความผิดในขณะกระทำ จะใช้กฎหมายซึ่งออกภายหลังที่กำหนดให้การกระทำนั้นผิด มาบังคับเอาผิดย้อนหลังไม่ได้ ซึ่งในกรณีนี้ ผมเชื่อว่าไม่ใช่ เพราะไม่ใช่เรื่องการกระทำผิด แต่เป็นเรื่องการกำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิ์หรือไม่มีสิทธิ์เป็นกษัตริย์ ยิ่งกว่านั้น การที่เจ้าฟ้าจักรพงษ์ทรงสิ้นพระชนม์ไปแล้ว สถานะความเป็นองค์รัชทายาทย่อมหมดไปด้วย มาตรา ๑๑ (๔) จึงควรครอบคลุมพระองค์ได้ (หากยังมีพระชนม์ชีพและยังเป็นรัชทายาทอยู่ ปัญหาบังคับย้อนหลังอาจเกิดขึ้นได้) ผมเห็นว่า ในการร่างกฎมณเฑียรบาลข้อนี้ รัชกาลที่ ๖ เองหรือกรรมการร่างกฎหมายไม่ได้คิดว่าจะบังคับย้อนหลังไม่ได้ (ไม่มีเหตุผลอะไรให้คิด) ต้องไม่ลืมว่า นี่คือสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เจตนารมณ์ของกษัตริย์คือกฎหมาย ๑๐ กว่าปีก่อน กษัตริย์อาจจะยอมรับว่าผู้มีเมียเป็นฝรั่งสามารถเป็นรัชทายาทได้ชั่วคราว (ผมสงสัยว่า รัชกาลที่ ๖ หรือเจ้านายคนอื่นๆ จริงจังเพียงใด ที่จะคิดถึงขั้นให้จักรพงษ์เป็นกษัตริย์หากยังมีเมียฝรั่ง) แต่ขณะนี้ (๒๔๖๗) กษัตริย์ทรงเห็นว่า ใครที่มีเมียฝรั่ง ไม่มีสิทธิ์เป็นกษัตริย์ ก็ย่อมถือเป็นกฎหมาย “บังคับ” ได้ แม้แต่กับคนที่ตายไปแล้วและโดยเฉพาะกับลูกหลานของผู้นั้น (เพราะอย่างไรนี่ก็ไม่ใช่การเอาผิดและทำโทษย้อนหลังจริงๆ) ยิ่งในกรณีรัชกาลที่ ๖ ในบริบทของภูมิหลังที่เราเห็นแล้วข้างต้นเรื่องความขัดแย้งกับเจ้าฟ้าจักรพงษ์ ผมเชื่อว่า เกือบจะแน่นอนว่าทรงร่างมาตรา ๑๑ (๔) โดยตั้งใจให้ครอบคลุมกรณีเจ้าฟ้าจักรพงษ์ และดังนั้นก็ทรงตั้งใจให้มาตรา ๑๒ ครอบคลุมพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ด้วย อันที่จริง เมื่อดูจากภูมิหลังของปัญหานี้ เป็นไปได้อย่างยิ่งว่า ขณะที่รัชกาลที่ ๖ ร่าง ๒ มาตรานี้ น่าจะมีพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ (ที่ยังอยู่) และเจ้าฟ้าจักรพงษ์ (ที่สิ้นพระชนม์แล้ว) อยู่ในใจด้วยซ้ำ(๓๗)


การประชุมวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๖๘ พินัยกรรมรัชกาลที่ ๖ ให้ประชาธิปกเป็นกษัตริย์
๑ ปีต่อมา รัชกาลที่ ๖ สวรรคต ในวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๖๘ เวลาตีหนึ่ง ๔๕ นาที เวลาประมาณตี ๒ เจ้านายชั้นผู้ใหญ่ได้ประชุมพิเศษเพื่อพิจารณาปัญหาผู้สืบราชบัลลังก์ นี่คือการประชุมที่สุพจน์ ด่านตระกูลอ้างว่ากรมพระนครสวรรค์ผลักดันให้เจ้าฟ้าประชาธิปกขึ้นเป็นรัชกาลที่ ๗ ข้ามพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ แต่ความจริง รายงานการประชุมครั้งสำคัญนี้ ซึ่งยังมีอยู่ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ทั้งยังเคยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่แล้ว ได้ปฏิเสธเรื่องเล่านี้ ที่สำคัญ ในการประชุมนี้ ได้มีการอ่านพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ ๖ ที่กำหนดให้เจ้าฟ้าประชาธิปกเป็นกษัตริย์ พระราชหัตถเลขานี้ก็เคยถูกตีพิมพ์เผยแพร่มาแล้วเช่นเดียวกัน

รายงานการประชุม วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๖๘ มีข้อความสำคัญ ดังนี้(๓๘)

การประชุมพิเศษ

เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๖๘ เวลา ๑.๔๕ ก.ท. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จสู่สวรรคต ในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ครั้นเวลาประมาณ ๒.๐๐ ก.ท. พระบรมวงศ์ผู้ใหญ่กับท่านเสนาบดี ประชุมกันในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยตามราชประเพณี มีผู้เข้าประชุมคือ

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช,
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต,
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา,
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นราชศักดิสโมสร,
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิวิธวรณปรีชา,
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิประพันธพงศ์,
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ,
สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัตติวงศ์,
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัฒน์วิศิษฎ์,
พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระจันทรบุรีนฤนาถ,
พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงกำแพงเพชรอัครโยธิน,
พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสิงหวิกรมเกรียงไกร,
พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร,
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศุภโยคเกษม เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ,
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไตรทศประพันธ์ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ,
มหาอำมาตย์นายก เจ้าพระยายมราช เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย,
มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาอภัยราชา เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม,
มหาเสวกเอก เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี เสนาบดีกระทรวงวัง,
มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ เสนาบดีกระทรวงคมนาคม, จางวางเอก เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการ,
มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาพลเทพ เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ,
นายพลเอก เจ้าพระยาบดินทร์เดชานุชิต เสนาบดีกระทรวงกระลาโหม,
มหาเสวกเอก เจ้าพระยามหิธร ราชเลขาธิการ,
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต สภาเลขานุการ จดรายงานประชุม

สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนสุโขทัยธรรมราชา ผู้เป็นประธานในที่ประชุมรับสั่งว่า บัดนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จสวรรคตลง ได้ทรงแสดงพระราชประสงค์ในเรื่องการข้างหน้าไว้แก่เสนาบดีกระทรวงวัง ซึ่งจะได้แสดงต่อที่ประชุมบัดนี้

เรื่องรัชทายาท เสนาบดีกระทรวงวังอ่านแถลงการณ์และสำเนาพระราชหัตถเลขาใจความว่า มีพระราชประสงค์ให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชาได้เสด็จเถลิงราชสมบัติสืบต่อจากพระองค์ นอกจากจะทรงมีพระราชโอรสไว้ก็ย่อมพระราชโอรสจะได้รับราชสมบัติ และถ้าเป็นเช่นนั้นก็ให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสุโขทัยธรรมราชาทรงสำเร็จราชการระหว่างพระเจ้าแผ่นดินทรงพระเยาว์.

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดชรับสั่งว่า พระราชประสงค์ข้อนี้ ก็แจ่มแจ้งดูไม่มีปัญหาอะไรที่จะสงสัย : จึงผู้เป็นประธานรับสั่งถามความเห็นที่ประชุมว่า จะรับรองปฏิบัติตามพระราชประสงค์หรือไม่

เสนาบดีมหาดไทยว่า ไม่มีข้อขัดข้องอันใด ควรรับรอง.

ผู้เป็นประธานรับสั่งขอให้ที่ประชุมใคร่ครวญดูให้ดีอีกครั้งว่าอย่างใดจะเป็นทางดีทางเจริญสำหรับบ้านเมืองที่สุด ถ้าท่านผู้ใดไม่เต็มใจ ก็จะไม่ทรงรับราชสมบัติ แต่ถ้าไม่มีใครไม่เต็มใจก็เป็นอันต้องทรงน้อมตามความเห็นของที่ประชุมรับรัชทายาท.

ท่านเสนาบดี (ขุนนาง) ได้ลงนั่งกราบถวายบังคม ๓ ครั้งพร้อมกัน.
เป็นอันยุติปัญหาข้อนี้.

เรื่องการพระบรมศพ ...........................................

เลิกประชุมเวลา ๒ ก.ท. ล่วงแล้ว

รายงานการประชุมนี้แสดงให้เห็นว่าการเล่าเรื่องการประชุมวันสวรรคตของสุพจน์ ด่านตระกูล ที่ผมอ้างถึงตอนต้นบทความนี้ คลาดเคลื่อนในแง่ข้อเท็จจริงระดับรองจำนวนหนึ่ง เช่น ประธานที่ประชุม (คือเจ้าฟ้าประชาธิปก ไม่ใช่กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช) หรือตำแหน่งของกรมหลวงนครสวรรค์ขณะนั้น (ซึ่งไม่ใช่เป็นทั้งเสนาบดีกระทรวงกลาโหมและกระทรวงมหาดไทย)(๓๙) แต่ที่สำคัญคือ ไม่มีข้อความที่แสดงว่าเจ้าฟ้าประชาธิปกได้ขึ้นครองราชย์เพราะบทบาทผลักดันของกรมหลวงนครสวรรค์ ถึงขั้นที่ฝ่ายหลังได้ลงนั่งกราบฝ่ายแรกขอให้รับเป็นกษัตริย์ แต่เพราะรัชกาลที่ ๖ ทรงมีพระราชหัตถเลขาสั่งไว้ อย่างไรก็ตาม “ตำนาน” เรื่องนครสวรรค์ลงนั่งกราบให้ประชาธิปกรับเป็นกษัตริย์นี้ มีความเป็นมาที่น่าสนใจ ผมจะกลับมาเรื่องนี้ข้างล่าง

พระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ ๖ ซึ่งเสนาบดีกระทรวงวังอ่านให้ที่ประชุมฟัง อยู่ในรูปของบันทึก (entry) ใน “สมุดจดหมายเหตุรายวัน” ในทางปฏิบัติก็คือพระราชพินัยกรรมนั่นเอง(๔๐) มีข้อความดังนี้

หนังสือสั่งเสนาบดีวัง
เรื่องสืบสันตติวงศ์แลตั้งพระอัฐิ
(ดูรายวันน่า ๑๖๑)

ฃ้าพเจ้ามาล้มเจ็บลงคราวนี้ รู้สึกอำนาจแห่งวัยธรรม, ไม่ควรประมาท,มีกิจการบางอย่างที่ฃ้าพเจ้าเป็นห่วง, จึ่งอยากจะสั่งไว้เสียให้รู้สึกโล่งใจ,จึ่งฃอสั่งเสนาบดีกระทรวงวัง ดังต่อไปนี้ :-

ฃ้อ ๑ ถ้าถึงเวลาที่ฃ้าพเจ้าล่วงลับไป, แม้ฃ้าพเจ้าไม่มีบุตร์ชาย,ฃ้าพเจ้าฃอมอบให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมฃุนสุโขทัยธรรมราชาสืบสันตติวงศ์, ให้ฃ้ามหม่อมเจ้าวรานนท์ธวัช ในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมฃุนเพชรบูรณอินทราไชยนั้นเสียเถิด, เพราะ หม่อมเจ้า วรานนท์ธวัชมีมารดาที่ไม่มีชาติสกุลอย่างใด. เกรงจะไม่เปนที่เคารพแห่งพระบรมวงศานุวงศ์, ฃ้าราชการ,และอาณาประชาชน

ฃ้อ ๒ ถ้าเมื่อฃ้าพเจ้าสิ้นชีวิตไป สุวัทนายังมีครรภ์อยู่, ฃอให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมฃุนสุโขทัยธรรมราชาเปนผู้สำเร็จราชการไปก่อน จนกว่าลูกฃ้าพเจ้าจะประสูติ. ถ้าประสูติเปนหญิง ก็ให้เปนไปตามฃ้อ ๑ ถ้าประสูติเปนชาย ก็ให้เปนไปตามข้อ ๓ ข้างล่างนี้

ฃ้อ ๓ ถ้าเมื่อฃ้าพเจ้าสิ้นชีวิตไป มีลูกชายอยู่ แต่อายุยังไม่ครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์, ฃ้าพเจ้าฃองแสดงความปราร์ถนาว่า ให้เลือกสมเด็จเจ้าฟ้ากรมฃุนสุโขทัยธรรมราชา เปนผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามกฎมณเฑียรบาล

(นี่เป็นคำสั่ง (ห้าม) อีกชั้น ๑ .- ถ้าเสนาบดีจะคิดเลือกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเปนผู้สำเร็จราชการต่างพระองค์, ให้เสนาบดีกระทรวงวังคัดค้านด้วยประการทั้งปวงจนสุดกำลัง, เพราะฃ้าพเจ้าได้สังเกตเห็นมาว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์นี้ไม่มีศาสนา, ไม่มีศีล, ไม่มีธรรม, วัน ๑ อาจพูดอย่างหนึ่ง, อีกวันหนึ่งอาจกลับกลอกเสียก็ได้, และฃ้าพเจ้าจะไม่ลืมเลย ว่าพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์นี้ลิเอาราชอาณาเฃตต์ฃองพระราชวงศ์จักรีไปฃายฝรั่งเสีย ๓-๔ คราวแล้ว. ถ้าให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์นี้เปนผู้สำเร็จราชการ ลูกฃ้าพเจ้าอาจไม่มีแผ่นดินอยู่ก็ได้

ฃ้อ ๔ ต่อไปภายหน้า คงจะมีเหตุเรื่องตั้งพระบรมอัฐิ, คือจะเอาองค์ใดฃึ้นมาตั้งคู่กับฃ้าพเจ้า ฃ้าพเจ้าขอสั่งเด็ดขาดไว้เสียแต่บัดนี้ ห้ามมิให้เอาพระอัฐิ............ขึ้นมาตั้งเคียงข้าพเจ้าเป็นอันขาด เพราะตั้งแต่ได้มาเป็นเมียข้าพเจ้า ก็ได้มาบำรุงบำเรอน้ำใจข้าพเจ้าเพียง ๑ เดือนเท่านั้น ต่อแต่นี้มาหาแต่ความร้อนใจหรือรำคาญมาสู่ข้าพเจ้า อยู่เนืองนิตย์ ถ้าจะเอาผู้ใดตั้งคู่กับข้าพเจ้า ก็น่าจะตั้งอัฐิสุวัทนา ซึ่งถ้าเขามีลูกชายแล้วก็ไม่เป็นปัญหาเลย

คำสั่งนี้มอบไว้แก่เสนาบดีกระทรวงวังในตำแหน่ง ฉนั้นถ้าเสนาบดีกระทรวงวังจำเป็นต้องย้ายตำแหน่งหรือถึงอสัญกรรม ก็ให้มอบคำสั่งนี้ให้แก่เสนาบดีใหม่ ควรให้รู้กัน ๒ คนว่าเก็บไว้ที่ไหน เพื่อเสนาบดีเกิดมีเหตุฉุกละหุกขึ้น ผู้ที่รุ้อีกคน๑ จะได้มอบคำสั่งนี้แก่คนใหม่

พระราชวังพญาไท
วันที่ ๘ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๖๘
ราม วชิราวุธ ปร. (๔๑)
พระราชหัตถเลขานี้มีขึ้นในวันที่ ๘ กันยายน ๒๔๖๘ ดังที่ทราบกันดีว่า ๒ เดือนเศษต่อมา พระนางเจ้าสุวัทนาทรงให้ประสูติพระธิดา (วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน คือ ๒ วันก่อนสวรรคต) ดังนั้น ข้อ ๒ และ ๓ จึงตกไปโดยปริยาย เหลือเพียงข้อ ๑ ซึ่งสั่งไว้ชัดเจนให้ประชาธิปกเป็นกษัตริย์ โดยข้ามวรานนท์ธวัช ซึ่งตามกฎมณเฑียรบาลต้องอยู่ในลำดับที่จะเป็นกษัตริย์ก่อนประชาธิปก เพราะเป็นลูกของพี่ชายของประชาธิปกคือเพชรบูรณอินทราไชย (เจ้าฟ้าจุฑาธุช) ในพระราชหัตถเลขานี้ไม่เอ่ยถึงจุลจักรพงศ์เลย ผมคิดว่า ไม่มีปัญหาว่า เป็นเพราะรัชกาลที่ ๖ ทรงถือว่าจุลจักรพงษ์ได้ถูกยกเว้นไปแล้วตามกฎมณเฑียรบาล มาตรา ๑๑ (๔) และ ๑๒ (ถ้ามิใช่ตั้งแต่เมื่อทรงทำข้อตกลงกับ “น้องชายเล็ก” ตอนต้นรัชกาล)(๔๒)


เรื่องเล่าเกี่ยวกับนครสวรรค์ลงนั่งกราบประชาธิปก
จะเห็นว่าลำพังหลักฐานร่วมสมัยที่เป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับการประชุมเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ตอนตี ๒ ของวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๖๘ คือ รายงานการประชุมที่จดโดยพระองค์เจ้าธานีนิวัตข้างต้น ไม่ได้แสดงให้เห็นอะไรมากไปกว่า : มีการอ่านพินัยกรรมของรัชกาลที่ ๖ ซึ่งกำหนดให้เจ้าฟ้าประชาธิปกเป็นกษัตริย์องค์ต่อจากพระองค์, เจ้าฟ้าประชาธิปกทรงถามที่ประชุมว่าเห็นชอบตามพินัยกรรมหรือไม่, กรมพระยาภาณุพันธ์และเจ้าพระยายมราช (เสนาบดีมหาดไทย) กล่าวว่า ไม่มีปัญหาอะไร ควรรับรองตามพินัยกรรม, เจ้าฟ้าประชาธิปกขอให้ที่ประชุมใคร่ครวญอีก ว่าหากมีผู้ใดไม่เห็นด้วยก็จะไม่ทรงรับ แต่ถ้าไม่มีก็เป็นอันต้องรับเป็นกษัตริย์องค์ต่อไป, ถึงจุดนี้ พระองค์เจ้าธานีทรงบันทึกว่า “ท่านเสนาบดี (ขุนนาง) ได้ลงนั่งกราบถวายบังคม ๓ ครั้งพร้อมกัน. เป็นอันยุติปัญหาข้อนี้” ขอให้สังเกตว่า ทรงเจาะจงบันทึกในวงเล็บว่า “ขุนนาง” ซึ่งน่าจะหมายความว่า เฉพาะเสนาบดีที่เป็นขุนนางเท่านั้น (๘ คน) ที่ “ลงนั่งกราบถวายบังคม ๓ ครั้งพร้อมกัน” แต่เสนาบดีที่เป็นเจ้า (๒ พระองค์) และเจ้าองค์อื่นๆที่ไม่ได้เป็นเสนาบดี (๑๔ พระองค์) ไม่ได้ลงนั่งกราบแต่อย่างใด

หลังจากเหตุการณ์คืนนั้นกว่า ๒๐ ปี (อันที่จริงคือระหว่าง ๒๓ ถึง ๔๔ ปี) ผู้อยู่ในเหตุการณ์บางคนหรือผู้ใกล้ชิดผู้อยู่ในเหตุการณ์บางคน ได้เล่า “ความทรงจำ” ของตนเองหรือของผู้อยู่ในเหตุการณ์ที่ตนใกล้ชิดต่อสาธารณะ เนื่องจากเรื่องที่เล่ามี “สีสัน” มากกว่ารายงานการประชุม (ซึ่งอย่างไรเสียก็เพิ่งได้รับการเผยแพร่ต่อสาธารณะในวงแคบๆครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๒๔ เท่านั้น) ทำให้ “เรื่องเล่า” กลายเป็นสิ่งที่ผู้คนยึดถือกันมากกว่า ผมไม่ได้กำลังยืนยันว่า “เรื่องเล่า” ต้องไม่จริงเสมอไปเมื่อเปรียบเทียบกับ “รายงานการประชุม” เพราะ “รายงานการประชุม” เองก็เป็นงานเขียนอย่างหนึ่ง “ผู้เขียน” รายงานการประชุมสามารถเลือกที่จะบันทึกหรือไม่บันทึกบางด้านของเหตุการณ์ (การประชุม) ทั้งโดยจงใจและไม่จงใจได้เช่นกัน แต่โดยทั่วไป อาจกล่าวได้ว่า โอกาสที่หลักฐานประเภทรายงานการประชุมจะบันทึกสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นเลย มีน้อยกว่า “ความทรงจำ” (โดยเปรียบเทียบ)

คนแรกที่เล่า “ความทรงจำ” เรื่องการประชุมคืนวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๖๘ คือ ม.จ.หญิงประสงค์สม บริพัตร พระชายาเจ้าฟ้าบริพัตร ในบันทึกที่ทำขึ้นในปี ๒๔๙๑ แต่ตีพิมพ์ในปี ๒๔๙๙ ทรงเขียนว่า(๔๓)
วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๔๖๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯสวรรคต ทางราชการเรียกประชุมพระราชวงศ์และเสนาบดี เพื่อปรึกษาราชการแผ่นดิน มีสมเด็จเจ้าฟ้าภาณุพันธ์ฯเป็นประธาน ที่ประชุมตกลงถวายราชสมบัติแก่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสุโขทัยธรรมราชาเป็นพระเจ้าแผ่นดินสืบสันตติวงศ์ต่อไป เมื่อเป็นที่ตกลงกันแล้ว ทูนหม่อมได้เสด็จลงจากเก้าอี้ ประทับคุกเข่าลงถวายบังคมพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ ๓ ครั้ง และกราบบังคมทูลว่า จะทรงใช้สอยในราชการสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็จะฉลองพระเดชพระคุณในราชการสิ่งนั้นทุกอย่าง แต่ขอพระราชทานเลิกคิด “ขบถ” เสียที เพราะได้รับหน้าที่นี้มา ๑๕ ปีแล้ว เบื่อเต็มที พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ทรงพระสรวล มีพระราชดำรัสว่า อนุญาตให้เลิกได้ ทั้งนี้คงเคยทรงได้ยินข่าวที่คนชอบลือว่า ทูนหม่อมทรงคิดขบถอยู่ร่ำไปในรัชกาลที่ ๖
เราได้แต่สันนิษฐานว่า เรื่องที่เล่านี้ ม.จ.หญิงประสงค์สม ทรงรับฟังมาจากพระสามีโดยตรง แต่ก็ยืนยันเด็ดขาดไม่ได้ เพราะอาจจะทรงฟังจากผู้อื่นที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับพระสามีก็ได้ ทรงถ่ายทอดตรงกับที่ได้รับฟังมาหรือไม่ ก็ไม่อาจยืนยันได้ ขอให้สังเกตว่า ตามการเล่านี้ เจ้าฟ้าบริพัตรทรงลุกจากเก้าอี้ คุกเข่ากราบเจ้าฟ้าประชาธิปก “เมื่อเป็นที่ตกลงกันแล้ว” นั่นคือ หลังจากที่ประชุมตกลงให้เจ้าฟ้าประชาธิปกเป็นกษัตริย์แล้ว ไม่ใช่คุกเข่ากราบก่อนเพื่อขอให้เป็น และประธานที่ประชุมก็ได้แก่เจ้าฟ้าภาณุพันธ์ ไม่ใช่เจ้าฟ้าประชาธิปกเองตามรายงานประชุม (อย่างน้อยในประเด็นสุดท้ายนี้ รายงานการประชุมน่าจะถูกต้องมากกว่า)

ในปี ๒๔๙๙ นั้นเอง หลวงจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์ (วิสุทธิ์ ไกรฤกษ์) ได้ตีพิมพ์ชีวประวัติเจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์) ผู้เป็นพ่อ ซึ่งเป็นราชเลขาธิการในวันสวรรคตรัชกาลที่ ๖ และได้เข้าร่วมประชุมวันนั้นด้วย (ดูรายงานการประชุมข้างต้น) หลวงจักรปาณีเขียนในตอนหนึ่งว่า(๔๔)
ในเดือนธันวาคม [sic] ๒๔๖๘ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงมีพระกรุณาธิคุณล้นเกล้าฯ แกเจ้าพระยามหิธรและครอบครัว ได้เสด็จสวรรคตเมื่อพระชนม์มายุเกือบจะครบ ๔๘ พรรษา ยังความวิปโยคอันยิ่งใหญ่มาสู่ท่านและครอบครัว เจ้าพระยามหิธรได้เฝ้าดูพระอาการอยู่จนถึงวาระสุดท้ายและเล่าว่า เมื่อเสด็จสวรรคตและมีการถวายบังคมพระบรมศพตามราชประเพณีแล้ว สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิตซึ่งเป็นเจ้านายที่มีอาวุโสที่สุดในเวลานั้น ได้จูงพระกรและกอดพระสอเจ้าฟ้าประชาธิปกกรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา ออกทรงพระราชดำเนินกลับไป กลับมาหลายเที่ยวเพื่อตรัสซ้อมความเข้าใจกันบางประการ ครั้นแล้วกรมพระนครสวรรค์ก็ทรุดพระองค์ลงกราบพระบาทกรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา ถวายราชสมบัติ เจ้านายและข้าราชการซึ่งอยู่ที่นั่นก็พากันกราบถวายบังคมสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่โดยพร้อมเพรียงกัน
เช่นเดียวกับการเล่าของ มจ.หญิงประสงค์สม การเล่าของหลวงจักรปาณีเป็นการถ่ายทอดความทรงจำของผู้อื่น (น่าจะของเจ้าพระยามหิธร) อีกต่อหนึ่ง ข้อเท็จจริงระดับรองบางอย่างเรารู้แน่ว่าคลาดเคลื่อน (เจ้านายอาวุโสที่สุดในคืนนั้นคือเจ้าฟ้าภาณุพันธ์ไม่ใช่กรมหลวงนครสวรรค์) ในส่วนที่เกี่ยวกับการ “ทรุดลงกราบ” นั้น ในเรื่องเล่านี้ เกิดขึ้นก่อนในเรื่องเล่าของ ม.จ.หญิงประสงค์สม และดูราวกับว่า เป็นการที่กรมหลวงนครสวรรค์ “ถวายราชสมบัติ” ให้เจ้าฟ้าประชาธิปกจริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจากในเรื่องเล่าของหลวงจักรปาณีนี้ ไม่มีการเอ่ยถึงพินัยกรรมรัชกาลที่ ๖ ที่ให้เจ้าฟ้าประชาธิปกเป็นกษัตริย์เลย ซึ่งต้องนับว่าเป็นการตกหล่นคลาดเคลื่อนที่สำคัญมาก (เรื่องเล่าของ ม.จ.หญิงประสงค์สม อย่างน้อย ยังให้การ “คุกเข่ากราบ” เกิดขึ้นหลังจาก “ตกลงกันแล้ว” ให้ประชาธิปกเป็นกษัตริย์ และการ “คุกเข่ากราบ” ก็เกี่ยวกับข่าวลือขบถของกรหลวงนครสวรรค์ในอดีต มากกว่าการตกลงว่าใครควรเป็นกษัตริย์) อาจกล่าวได้ว่า เรื่องเล่าในฉบับ (version) ของหลวงจักรปาณี-เจ้าพระยามหิธร นี้ คือต้นแบบสำคัญที่สุดของเรื่องเล่าทำนอง “นครสวรรค์ลงนั่งกราบขอให้ประชาธิปกรับเป็นกษัตริย์” ที่สุพจน์ ด่านตระกูล และนักเขียนสารคดีการเมืองหลายคนนำมาเล่าต่อ

อีกกว่า ๑๐ ปีต่อมา (หรือกว่า ๔๐ ปีหลังเหตุการณ์จริง) พระองค์เจ้าธานีผู้ทรงจดรายงานการประชุมคืนสวรรคตรัชกาลที่ ๖ เอง ได้ทรงเล่าเหตุการณ์คืนนั้น (ทรงเรียกพระองค์เองว่า “พ่อ” ในที่นี้) ดังนี้(๔๕)
การสืบราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้า เสด็จสวรรคตในกลางดึกวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๔๖๘ ขณะนั้นเจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่ประทับฟังพระอาการอยู่พร้อมเพรียงในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย สมเด็จพระบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ผู้ทรงเป็นประมุขพระบรมราชวงศ์ ทรงเรียกประชุมเสนาบดีและพระบรมวงศ์บรรดาทีประทับอยู่ในพระที่นั่ง มีพระดำรัสว่า บัดนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จสวรรคตไปแล้ว จึ่งจะขอปรึกษาที่ประชุมในเรื่องการสืบราชสมบัติ ตรัสให้เสนาบดีกระทรวงวังผู้รักษาพระราชพินัยกรรม เชิญพระราชพินัยกรรมนั้นขึ้นอ่านในที่ประชุม ความว่า การสืบราชสมบัตินั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้า มีพระราชประสงค์ว่า ถ้าพระราชกุมารในพระครรภ์พระนางเจ้าสุวัทนาประสูติออกมาเป็นพระราชโอรสก็ใคร่จะให้ได้ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดิน แต่ถ้าเป็นพระราชธิดาก็ใคร่ให้ราชสมบัติตกอยู่แก่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอร่วมพระราชชนนี ซึ่งมีเหลืออยู่พระองค์เดียวตามนัยแห่งกฎมณเฑียรบาลฉบับสุดท้ายในเวลานั้น เจ้านายพระบรมวงศ์ทรงแสดงพระดำริเห็นชอบด้วยดุษณีภาพ แต่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชาทรงขัดข้อง ด้วยพระองค์อ่อนพระชนมายุและอ่อนความเคยชินกับราชการ ขอถอนพระองค์เพื่อเจ้านายที่ทรงมีพระชันษามากกว่า สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิตทรงแถลงว่า เป็นการสมควรยิ่งที่ราชสมบัติจะตกแก่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชาตามพระราชประสงค์ของพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ก่อน ส่วนที่ทรงหนักพระทัยว่าขาดความรู้ความเคยชินแก่ราชการนั้น เจ้านายทุกพระองค์พร้อมที่จะช่วยประคับประคองให้ทรงครองแผ่นดินราบรื่นตลอดไป ขณะนี้ท่านเสนาบดีนอกจากที่เป็นพระบรมวงศ์คือ เสนาบดีกระทรวงพระคลัง การต่างประเทศ มหาดไทย ยุติธรรม คมนาคม วัง เกษตราธิการ ศึกษาธิการ มุรธาธร ก็ลงจากเก้าอี้ถวายบังคมตามราชประเพณีแด่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา พ่อคนเดียวในที่ประชุมนั้นไม่ต้องแสดงกิริยาอย่างใดเพราะเป็นเพียงเลขาธิการของที่ประชุม กับมีสมุหราชองครักษ์ (เจ้าพระยารามราฆพ) ยืนอยู่ห่างๆมิได้มีส่วนในการประชุม
มองอย่างผิวเผิน เรื่องเล่าของพระองค์เจ้าธานีมีลักษณะคล้ายกับเรื่องเล่าของ มจ.ประสงค์สม หรือหลวงจักรปาณี แต่หากอ่านโดยละเอียด จะพบว่า ความจริง เนื้อหาเรื่องเล่านี้ใกล้เคียงและสอดคล้องกับรายงานการประชุมที่พระองค์เองทรงจดเมื่อกว่า ๔๐ ปีก่อนหน้านั้นไม่น้อย ที่สำคัญคือการพูดถึงพินัยกรรมของรัชกาลที่ ๖ ที่ให้เจ้าฟ้าประชาธิปกเป็นกษัตริย์องค์ต่อไป และการยืนยันว่า ผู้ที่ “ลงจากเก้าอี้ถวายบังคม” มีเฉพาะ “เสนาบดีนอกจากที่เป็นพระบรมวงศ์” ซึ่งแน่นอนว่า ไม่รวมกรมหลวงนครสวรรค์ อย่างไรก็ตาม นอกจากเรื่องประธานที่ประชุมซึ่งไม่ตรงกับรายงานแล้ว พระองค์เจ้าธานียังได้ทรงเพิ่ม “รายละเอียด” หรือ “สีสัน” สำคัญ ๒ ประการที่มากกว่าที่ทรงจดในรายงานประชุม คือ ลักษณะลังเลพระทัยของเจ้าฟ้าประชาธิปกที่แสดงออกมากกว่าในรายงานประชุม (ในรายงานประชุมมีบ้างไม่มาก) และบทบาทของกรมหลวงนครสวรรค์ในฐานะเป็นผู้พูดสนับสนับให้เอาชนะความลังเลพระทัยนั้น (ซึ่งในรายงานการประชุมไม่มีเลย) ๒ ประเด็นนี้มีส่วนเสริมให้เกิด “ตำนาน” เรื่อง “นครสวรรค์ลงนั่งกราบให้ประชาธิปกรับเป็นกษัตริย์” แม้ว่าเรื่องเล่าของพระองค์เจ้าธานีเอง จะไม่ตรงกับ “ตำนาน” ดังกล่าว

จะเห็นว่าเรื่องเล่าทั้ง ๓ ฉบับ (versions) ดังกล่าว มีส่วนไม่ตรงหรือกระทั่งขัดแย้งกันเอง ไม่นับที่ไม่ตรงหรือขัดแย้งกับรายงานการประชุม ตัวอย่างที่น่าสนใจของการ “แก้ปัญหา” นี้ของนักเขียนสารคดีการเมืองบางคน คือกรณี “นายหนหวย” ซึ่งใช้วิธีนำเอาทั้งรายงานการประชุมและเรื่องเล่าใน versions ต่างๆมา “ตัดต่อ” รวมกัน แล้วใส่คำพูดที่เขาเขียนเองเพิ่มเติมเข้าไป! (๔๖)

อันที่จริง เรื่องนครสวรรค์กราบประชาธิปกในคืนสวรรคตนี้ ยังมีอีก version หนึ่ง ซึ่งแม้จะเขียนก่อนเรื่องเล่าอื่นๆที่เพิ่งยกมาทั้งหมด คือเขียนเมื่อพ.ศ. ๒๔๘๖ แต่เพิ่งได้รับการเผยแพร่ไม่นานมานี้ (๒๕๔๒-๔๓) จึงไม่มีผลต่อการเล่าเรื่องของสุพจน์หรือของนักเขียนสารคดีการเมืองเกี่ยวกับรัชกาลที่ ๗ ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล พระธิดาของสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงเล่าไว้ใน สิ่งที่ข้าพเจ้าได้พบเห็น ว่า(๔๗)
ฉนั้น ในเวลาที่กำลังใจคนยุ่งอยู่นี้, ทูลกระหม่อมบริพัตรฯผู้ซึ่งมีคนนับถือมากอยู่ในเวลานั้น (เพราะกำลังเกลียดในหลวง ร.๖) ทั้งทรงเป็นพี่ผู้ใหญ่ที่ทูลกระหม่อมประชาธิปกฯทรงนับถือเองด้วย, ก็เชิญเสด็จทูลกระหม่อมประชาธิปกฯไปที่มุมพระที่นั่งอมรินทร์ฯทางหนึ่ง แล้วตรัสถามตรงๆว่า – “จะให้.......มีอำนาจเพียงไร?” ทูลกระหม่อมประชาธิปกฯตอบว่า – “ไม่ได้คิดว่าจะให้มีอำนาจ, หรือให้เกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างไรเลย!” ทูลกระหม่อมบริพัตรฯตรัสย้ำว่า “แน่หรือ?” ทูลกระหม่อมประชาธิปกฯตรัสรับว่า – “แน่!” ทูลกระหม่อมบริพัตรฯก็ทูลว่า – “ถ้าเช่นนั้นก็ยอมเป็นข้า!” แล้วก็ทรุดพระองค์ลงหมอบกราบ เป็นอันว่าทั้งสองพระองค์พี่น้องซึ่งแก่กว่ากันถึง ๑๒ ปี ได้เป็นที่ปรองดองกันแล้ว.
ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ผู้เป็นเจ้าของต้นฉบับ สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น ได้เซ็นเซอร์พระนามในเรื่องเล่าข้างต้นนี้ แล้วแทนที่ด้วย “.............” ซึ่งผมสงสัยว่า น่าจะหมายถึง กรมพระสวัสดิวัฒนวิศิษฎ์ (พระบิดาพระนางเจ้ารำไพพรรณี หรือ “พ่อตา” ของพระปกเกล้า) อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าเรื่องเล่าของ ม.จ.พูนพิศมัย นี้ไม่เกี่ยวกับการที่เจ้าฟ้าประชาธิปกไม่เต็มใจจะรับเป็นกษัตรย์และเจ้าฟ้าบริพัตรต้องถึงกับก้มลงกราบเพื่อขอร้องให้เป็น

ในแง่ที่เกี่ยวกับการวิวาทะเรื่องในหลวงอานันท์ขึ้นครองราชย์ จะเห็นว่า หากเราสมมุติว่าเรื่องเล่าเกี่ยวกับเจ้าฟ้าบริพัตรลงนั่งกราบเจ้าฟ้าประชาธิปกเป็นความจริงตามเรื่องเล่า version ใดก็ตาม ก็ไม่เกี่ยวกับประเด็นการ “ข้าม” พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์เลย เพราะพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ไม่เคยอยู่ในการพิจารณาของเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ในขณะนั้นเลย และไม่เคยอยู่ในการพิจารณาของรัชกาลที่ ๖ (พินัยกรรม) เองด้วย


พระปกเกล้ากับพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์
สรุปแล้ว โดยบรรทัดฐานทางกฎหมายของสมบูรณาญาสิทธิราช, พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ทรงหมดสิทธิ์เป็นกษัตริย์ตั้งแต่ช่วงเปลี่ยนจากรัชกาลที่ ๖ เป็นรัชกาลที่ ๗ แล้ว ทั้งนี้ตาม (ก) เจตนารมย์ของรัชกาลที่ ๖ และข้อตกลงระหว่างรัชกาลที่ ๖ กับเจ้าฟ้าจักรพงษ์ ให้ข้ามจุลจักรพงษ์, (ข) การ “ข้าม” จริงๆ ไปที่เจ้าฟ้าอัษฎางค์ หลังจักรพงษ์สิ้นพระชนม์ (ค) กฎมณเฑียรบาลมาตรา ๑๑ (๔) และมาตรา ๑๒, และ (ง) พระราชพินัยกรรมรัชกาลที่ ๖ ที่ให้เจ้าฟ้าประชาธิปกเป็นกษัตริย์ต่อจากพระองค์ โดยเฉพาะข้อหลังสุด เพราะกษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่มีสิทธิที่จะตั้งใครเป็นกษัตริย์องค์ต่อไปก็ได้ และเมื่อประชาธิปกได้ขึ้นครองราชย์แล้ว ในกรณีที่ประชาธิปกไม่มีลูก ตามกฎมณเฑียรบาล มาตรา ๙ (๘) ผู้อยู่ในอันดับแรกที่จะได้ขึ้นครองราชย์ต่อเป็นรัชกาลที่ ๘ ก็ต้องเริ่มนับที่น้องชายร่วมมารดาของประชาธิปก (ถ้ามี) ไม่ใช่ย้อนไปที่พี่ชายร่วมมารดาและลูกของพี่ชายอีก คือไม่ใช่ย้อนไปที่ จักรพงษ์-จุลจักรพงษ์ หรือ จุฑาธุช-วรานนท์ธวัช อีก แม้จะสมมุติว่าย้อนได้ ทั้ง ๒ กรณีก็ยังต้องถือว่าถูกห้ามตามกฎมณเฑียรบาลไปแล้ว กรณีจักรพงษ์-จุลจักรพงษ์ ห้ามตามมาตรา ๑๑ (๔) และ ๑๒ ดังกล่าว กรณีวรานนท์ธวัช ห้ามในพระราชพินัยกรรม ตามมาตรา ๗ วรรคสอง (“อนึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงไว้ซึ่งพระบรมเดชานุภาพและพระราชสิทธิที่จะทรงประกาศยกเว้นเจ้านายเชื้อพระบรมราชวงศ์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งออกเสียจากลำดับสืบราชสันตติวงศ์ได้”)

ในหมู่เจ้านายชั้นสูงน่าจะรู้หรือเข้าใจกันในเรื่องพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์หมดสิทธิ์ไปแล้วนี้ดี ใน เกิดวังปารุสก์ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์เองทรงอ้างจดหมายจากพระปกเกล้าที่มีถึงพระองค์ฉบับหนึ่งในเดือนมกราคม ๒๔๗๑ (ปฏิทินเก่า) ดังนี้ (ต้นฉบับจดหมายเป็นภาษาอังกฤษ แปลเป็นไทยโดยพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ หรือ “จ.จ.” ในข้อความข้างล่าง)
แกอาจจะอยากทราบว่าความรู้สึกของฉันที่มีต่อแกนั้นเป็นอย่างไร ฉันบอกได้ทันทีว่าความรู้สึกของฉันต่อแกในฐานะญาติ ในฐานะเป็นอาย่อมมีแต่ความรัก และฉันจะพยายามทุกวิธีที่จะให้แกได้รับความเจริญ แต่ยังมีความรู้สึกอีกด้านหนึ่ง คือความรู้สึกที่ฉันมีต่อแกในฐานะที่ฉันเป็นพระเจ้าแผ่นดินและแกเป็นพระราชวงศ์ ฉันจะพูดกับแกตรงๆและหวังว่าแกจะพยายามเข้าใจความคิดของฉัน ฉันรู้สึกสะอิดสะเอียนอย่างยิ่งที่จะต้องเอามาพูด แต่เป็นการจำเป็นและแกก็รู้ตัวอยู่ดี คือแกเป็นครึ่งชาติ และเพราะเหตุนั้นจึงถูกยกเว้นจากการสืบราชสมบัติ คนบางคนเขาว่าการถือเลือดต่างชาติกันนั้นเป็นของเหลวไหลไม่เป็นสาระ แต่ที่จริง ความรู้สึกมันก็ยังมีอยู่ ฉันจึงต้องขอบอกแกว่า ฉันเห็นด้วยสนับสนุนอย่างเต็มที่ในการที่แกถูกยกเว้น จนถึงกับมีคนเขารู้กันอยู่แล้ว ว่าฉันแคยพูดอย่างเปิดเผยว่า ถ้าแกพยายามคบคิดที่จะขึ้นราชบัลลังก์ไทย ฉันจะยิงแกด้วยมือของฉันเอง เอาสิ ฉันขอบอกย้ำอีกแก่ตัวแกเอง เพราะฉันเห็นว่า (การคบคิดกระทำเช่นนั้น – จ.จ.) จะเป็นของที่ทนไม่ได้ ฉันรู้ดีว่าแกไม่เคยทำผิดอะไร มันเป็นเรื่องความผิดของพ่อมาตกแก่ลูก พ่อแกทำความผิดอย่างใหญ่หลวง และฉันมีความอับอายที่สุด แกอาจจะว่าฉันยกย่องพระเจ้าวรวงศ์เธออื่นๆอย่างดิบดีกว่าแก ฉันรับว่าฉันทำเช่นนั้นเพราะแกถูกยกเว้นจากการสืบราชสมบัติ และฉันจะทำอย่างเดียวกันกับ............. [วรานนท์ธวัช ? – สมศักดิ์] ฉันไม่ต้องการให้แกได้เข้าเฝ้าพระเจ้ายอร์ช (แห่งอังกฤษ – จ.จ.) เพราะแกไม่อยู่ในขอบเขตสืบสันตติวงศ์ ฐานะของแกในเมืองไทยคือ เป็นเจ้านายและเป็นหลานแท้ๆของฉัน แต่ต้องถูกยกเว้นจากได้ขึ้นราชบัลลังก์โดยไม่มีปัญหา เดี๋ยวนี้เราต่างคนต่างรู้ใจกันดีแล้ว ถ้าแกกลืนถ้อยคำของฉันได้ก็จะดีไป.

ฉันเองเห็นว่าพระเจ้าอยู่หัวองค์ก่อน (พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว – จ.จ.) ท่านทำผิด ในการที่ทรงตั้งแกเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ เพราะท่านได้ตั้งพระทัยจะยกเว้นแกมาแต่แรก การเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอมีแต่จะทำให้ฐานะของแกครึ่งๆกลางๆ แต่เดี๋ยวนี้แก้ไขไม่ได้เสียแล้ว(๔๘)
เป็นเรื่องเชิง irony (ผกผันกลับตาลปัตร) อย่างยิ่ง ที่พระปกเกล้าเอง ขณะที่ทรงตระหนักและทรงย้ำเรื่องพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ “ถูกยกเว้นจากการสืบราชสมบัติ” ไปแล้ว กลับทรงแสดงลักษณะหมกมุ่น (obsession) ต่อความเป็นไปได้ที่จุลจักรพงษ์จะเป็นกษัตริย์ ถึงขั้นที่ทรงเป็นผู้หยิบยกขึ้นมาพูดเสียเองอยู่เสมอๆ ทั้งก่อนและหลัง ๒๔๗๕ ผมจะอภิปรายการที่ทรงยกความเป็นไปได้นี้ขึ้นมาพูดกับคณะราษฎร (แม้จะทรงทำในเชิงประชด) ข้างล่าง ในที่นี้ ขอยกอีกตัวอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นก่อน ๒๔ มิถุนา

พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์เล่าว่า ในช่วงใกล้จะมีงานฉลอง ๑๕๐ ปีราชวงศ์จักรี (เมษายน ๒๔๗๕) พระปกเกล้าทรงมีจดหมายถึงพระองค์ฉบับหนึ่ง ลงวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๕ (ปฏิทินเก่า) เล่าถึงวิกฤตทางการเงินร้ายแรงของรัฐบาลขณะนั้น และข่าวลือเรื่องจะมีการปฏิวัติในช่วงที่มีงานฉลอง ดังตอนหนึ่งของจดหมายว่า “หมู่นี้มีข่าวลือถึงการจะฆ่าคนสำคัญกันอยู่เรื่อยๆ แม้เด็กนักเรียนผู้หญิงตามโรงเรียนก็คุยถกกัน ฟังเสียงดูผู้ที่จะถูกฆ่าคือทูลหม่อมชาย [กรมพระนครสวรรค์ – สมศักดิ์] กับกรมกำแพงฯ เพราะว่าเป็นตัวตั้งตัวตีของคณะเจ้า ซึ่งถูกหาว่าเป็นผู้ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ ข่าวลือว่าจะฆ่ากันวันนั้นวันนี้ แต่ว่าจะต้องเกิดขึ้นก่อนพิธี ๑๕๐ ปี” พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ทรงเล่าถึงจดหมายรัชกาลที่ ๗ ต่อไปว่า
จากนี้ท่านก็ทรงเป็นห่วงเรื่องที่ข้าพเจ้าอาจจะอยากเป็นพระเจ้าแผ่นดินอีก เป็นของแปลกมาก เพราะข้าพเจ้าไม่เคยอยากเป็นและไม่เคยแสดงความประสงค์เช่นนั้นแก่ผู้ใด แต่เมื่อทูลหม่อมอา แม้ท่านจะทรงมีกังวลอื่นๆที่สำคัญอย่างมากมาย ก็ยังทรงหวนกลับไปนึกถึงเรื่องนี้อยู่เสมอ ทำให้อดนึกไม่ได้ว่าน่าจะต้องมีผู้ใดคอยเพ็ดทูลท่านอยู่เสมอว่าข้าพเจ้าอยากเป็น ถ้ามีจริงดังนั้นข้าพเจ้าเห็นว่าผู้นั้นทำผิด ไปเฝ้ารบกวนท่านในเรื่องเหลวไหล เมื่อท่านทรงมีพระราชภาระอันสำคัญยิ่งอยู่แล้ว ท่านทรงไว้ในลายพระราชหัตถ์ต่อไปว่า

“ฉันต้องยอมรับว่าฉันเกรงกลัวว่าแกอาจจะเป็นเครื่องกีดขวาง เฉพาะอย่างยิ่งถ้าแกมีนิสัยมักใหญ่ใฝ่สูง ในทางที่ไม่สมควรแก่ตัวแก แต่ซึ่งฉันเคยนึกว่าแกอาจจะทำได้ ฉันรู้สึกว่าสายวงศ์ของแกจะนำมาซึ่งความไม่เที่ยงไม่แน่นอน และความยุ่งเหยิงที่จะทำให้พระราชวงศ์ขาดความมั่นคง..........เมื่อคราวแกกลับมากรุงเทพฯ เพราะฉันรับรองแกอย่างดี เลยถึงกับมีคนลือกันว่า ฉันจะตั้งแกเป็นรัชทายาทปีหน้า แกคงจะเดาได้ว่า ใครเป็นผู้นำข่าวลือนี้มาเล่าให้ฉันฟัง.......... ตั้งแต่ฉันได้พบแกคราวที่แล้ว ฉันก็ค่อยสบายใจขึ้น บัดนี้ฉันเชื่อแล้วว่าแกคงจะไม่ยอมปล่อยให้ความมักใหญ่ใฝ่สูงทำให้แกทำการบ้าอะไรที่จะให้เกิดการวิวาทขึ้นในประเทศและภายในพระราชวงศ์............... แต่ฉันหวังว่าแกจะไม่ยอมให้ใครยุแหย่ให้แกเปลี่ยนใจ”

ข้อที่ข้าพเจ้าไม่เคยเข้าใจเลยก็คือ หากว่าข้าพเจ้าบ้าพอที่จะคบคิดชิงราชบัลลังก์จริงๆแล้ว ข้าพเจ้าจะไปหาใครที่ไหนมาช่วยทำการอันสำคัญนั้น(๔๙)

พระองค์เจ้าอานันท์เป็นอันดับแรกต่อจากพระปกเกล้า
หากตัดพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์และพระองค์เจ้าวรานนท์ธวัชออกแล้ว (และในกรณีที่พระปกเกล้าไม่ได้เจาะจงเลือกใครเป็นพิเศษ) ลำดับการสืบราชสันตติวงษ์ต่อจากพระปกเกล้า ตามกฎมณเฑียรบาล มาตรา ๙ (๑๑) ก็ต้องย้ายไปที่ “สมเด็จพระเชษฐาและสมเด็จพระอนุชาต่างพระชนนี หรือพระโอรสของสมเด็จพระเชษฐาและสมเด็จพระอนุชานั้นๆ” คือย้ายไปตามลำดับยศของพระชนนีของสมเด็จพระเชษฐาหรือสมเด็จพระอนุชานั้น (พูดตามภาษาสามัญคือย้ายไปที่ลูกของเมียรองๆของรัชกาลที่ ๕ เพราะสายลูกเมียหลวง คือ พระมงกุฏเกล้า-จักรพงษ์-จุฑาธุช-ประชาธิปก หมดแล้ว) ซึ่งในลำดับแรกสุดก็คือ เจ้าฟ้ามหิดล เพราะเป็นลูกของสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี ในเมื่อเจ้าฟ้ามหิดลสิ้นพระชนม์แล้ว ลำดับถัดไปก็ได้แก่โอรสของพระองค์คือพระองค์เจ้าอานันท์นั่นเอง ในแง่นี้ ต้องยอมรับว่า ฝ่ายนิยมเจ้า (Royalists) พูดถูกว่า พระองค์เจ้าอานันท์เป็นอันดับแรกของการสืบราชสันตติวงศ์ต่อจากพระปกเกล้า ตามกฎมณเฑียรบาล แต่การให้เหตุผลโต้แย้งของสุพจน์และปรีดี ก็ยังอาจจะมีส่วนถูกครึ่งหนึ่งได้ เพราะความเป็นจริงก็คือ หลัง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ การเลือกผู้จะขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับกฎมณเฑียรบาลเพียงปัจจัยเดียวเท่านั้น การสนับสนุนของรัฐบาลและปรีดีจึงยังอาจเป็นปัจจัยสำคัญของการขึ้นครองราชย์ของในหลวงอานันท์ก็เป็นได้


การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ กับปัญหากษัตริย์รัชกาลที่ ๘
กล่าวได้ว่า ตั้งแต่วินาทีแรกของการยึดอำนาจ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ปัญหากษัตริย์รัชกาลที่ ๘ ก็ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญโดยอัตโนมัต เพราะหากพระปกเกล้าไม่ให้ความร่วมมือ ไม่รับเป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ และในกรณีที่คณะราษฎรยังต้องการให้มีกษัตริย์เป็นประมุขต่อไป ปัญหานี้ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ ในประกาศคณะราษฎรที่ปรีดีเป็นผู้ร่าง มีข้อความตอนหนึ่งว่า
ส่วนผู้เป็นประมุขของประเทศนั้น คณะราษฎรไม่ประสงค์ทำการแย่งชิงราชสมบัติ ฉะนั้น จึงได้ขออัญเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ นอกจากด้วยความเห็นของสภาผู้แทนราษฎร คณะราษฎรได้แจ้งความประสงค์นี้ให้กษัตริย์ทราบแล้ว เวลานี้ยังอยู่ในความรับตอบ ถ้ากษัตริย์ตอบปฏิเสธหรือไม่ตอบภายในกำหนดโดยเห็นแก่ส่วนตนว่าจะถูกลดอำนาจลงมาก็จะได้ชื่อว่าทรยศต่อชาติ และก็เป็นการจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองอย่างแบบประชาธิปไตย กล่าวคือประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้เลือกขึ้นอยู่ในตำแหน่งตามกำหนดกาลเวลา
พูดง่ายๆคือ คณะราษฎรประกาศ (ขู่) ว่า ถ้าพระปกเกล้าไม่ให้ความร่วมมือเป็นประมุขในระบอบใหม่ จะเปลี่ยนประมุขของประเทศเป็นประธานาธิบดี แต่ในจดหมายฉบับแรกที่คณะราษฎรมีถึงพระปกเกล้า กลับมีข้อความตอนหนึ่งดังนี้
คณะราษฎรไม่ประสงค์จะแย่งชิงราชสมบัติแต่อย่างใด ความประสงค์อันยิ่งใหญ่ ก็เพื่อจะมีธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จึงขอเชิญใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทกลับคืนสู่พระนคร ทรงเป็นกษัตริย์ต่อไป โดยอยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน ซึ่งคณะราษฎรได้สร้างขึ้น ถ้าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทตอบปฏิเสธก็ดี หรือไม่ตอบภายใน ๑ ชั่วนาฬิกานับแต่ได้รับหนังสือนี้ก็ดี คณะราษฎรก็จะได้ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน โดยเลือกเจ้านายพระองค์อื่นที่เห็นสมควรขึ้นเป็นกษัตริย์
เท่าที่ผมทราบ ไม่เคยมีการค้นพบหลักฐานหรือเสนอคำอธิบายอย่างชัดเจนโต้แย้งไม่ได้ว่า ผู้ก่อการเตรียมจะจัดการอย่างไรกันแน่กับปัญหาประมุขของประเทศ หากพระปกเกล้าไม่ยอมร่วมมือจริงๆ จะเปลี่ยนเป็นประธานาธิบดีตามประกาศ หรือจะหาเจ้านายองค์อื่นขึ้นเป็นกษัตริย์แทนตามจดหมาย และจะให้ใครเป็นประธานาธิบดีหรือกษัตริย์ดังกล่าว โดยส่วนตัวผมเชื่อว่า ทางเลือกเรื่องประธานาธิบดีน่าจะไม่ใช่ทางเลือกที่จริงจัง เพราะถ้าดูจากธรรมนูญการปกครองแผ่นดินที่ร่างเตรียมไว้ ยังกำหนดให้มีกษัตริย์ (แต่ถ้าเช่นนั้นทำไมปรีดีจึงเขียนเรื่องประธานาธิบดีในประกาศ โดยไม่เอ่ยถึงทางเลือกเรื่องเจ้านายอื่นเลย ดูเหมือนไม่เคยมีใครอธิบายได้เด็ดขาดเช่นกัน นอกจากพูดกันทำนองว่าเป็นเพียงการขู่ จึงจงใจเขียนให้ดูรุนแรง)

๖ วันหลังการยึดอำนาจ พระยามโน, พระยาพหล และปรีดี ได้เข้าเฝ้าพระปกเกล้า ในการพบเพื่อสนทนากันอย่างจริงจังครั้งแรกนี้ (พระปกเกล้า : “อยากจะสอบถามความบางข้อและบอกความจริงใจ”) ทรงยกปัญหาผู้สืบราชสมบัติแทนพระองค์ขึ้นมาพูดกับผู้นำใหม่ ดังนี้
อีกอย่าง ๑ อยากจะแนะนำเรื่องสืบสันตติวงศ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าและพระพุทธเจ้าหลวง ได้เคยทรงพระราชดำริจะออกจากราชสมบัติ เมื่อทรงพระชราเช่นเดียวกัน ในส่วนพระองค์พระเนตร์ก็ไม่ปกติ คงทนงานไปไม่ได้นาน เมื่อการณ์ปกติแล้ว จึ่งอยากจะลาออกเสีย ทรงพระราชดำริเห็นว่าพระโอรสสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนเพ็ชรบูรณ์ [พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช – สมศักดิ์] ก็ถูกข้ามมาแล้ว ผู้ที่จะสืบสันตติวงศ์ต่อไป ควรจะเป็นพระโอรสสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์ ตั้งกรมขุนชัยนาทเป็น Regent ก็สมควร จะได้เป็นการล้างเก่าตั้งต้นใหม่ เพราะพระองค์จะทรงเป็นกษัตริย์นานไปก็จะไม่มีผู้นับถือ หรือคณราษฎรจะเห็นควรกล่าวแก้ไขประกาศนั้นเสียเพียงใดหรือไม่ก็สุดแล้วแต่จะเห็นควร(๕๐)
ประโยคสุดท้าย ทรงหมายถึงประกาศคณะราษฎร ซึ่งโจมตีพระองค์และราชวงศ์อย่างรุนแรง และเป็นประเด็นใหญ่ที่สุดที่ทรงยกขึ้นมาพูดในวันนั้น การเชื่อมโยงประเด็นเรื่องกษัตริย์รัชกาลใหม่กับแถลงการณ์ชวนให้สงสัยว่า พระองค์จริงจังมากเพียงใดเรื่องการลาออกในขณะนั้น หรือเพียงแต่เป็นปฏิกิริยาเชิง “น้อยพระทัย” ต่อประกาศ จุดที่น่าสนใจในที่นี้คือการที่ทรงระบุว่าพระองค์เจ้าอานันท์คือลำดับแรกของการสืบสันตติวงศ์ (เช่นเดียวกับพินัยกรรมของรัชกาลที่ ๖ ก่อนหน้านี้ การที่ทรงเอ่ยถึงเฉพาะพระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช ไม่เอ่ยถึงจุลจักรพงษ์ ก็เพราะถือว่าองค์หลังถูกตัดสิทธิ์ตามกฎมณเฑียรบาลไปแล้ว ขณะที่วรานนท์ธวัช ไม่ได้ถูกตัดสิทธิ์ตามข้อกำหนดของกฎมณเฑียรบาลโดยตรง แต่ถูกสั่งให้ข้ามโดยรัชกาลที่ ๖) (๕๑)