Friday, October 27, 2006

“เราสู้” หลัง 6 ตุลา



คำชี้แจง:
คารวะนอบน้อม แด่สหาย
ผู้อุทิศชีพถวาย ต่อสู้
*

ข้อเขียนข้างล่างนี้ ผมทำขึ้นเป็น "ภาคผนวก" สำหรับบทความของผมเรื่อง "เราสู้: เพลงพระราชนิพนธ์การเมืองกับการเมืองปี 2518-2519" ฉบับปรับปรุงใหม่ (ฉบับพิมพ์ครั้งแรกใน ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง, 2545, หน้า 115-148) ตัวบทความผมได้แก้ไขเพียงเล็กน้อย แต่ส่วน "ภาคผนวก" นี้เป็นการเขียนใหม่เกือบทั้งหมด ทั้งบทความฉบับปรับปรุงและ "ภาคผนวก" ผมทำเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ยกเว้นข้อความบางส่วนของเชิงอรรถที่ 5 ข้างล่าง ที่เพิ่งเขียนเพิ่มเติมเมื่อเร็วๆนี้ ในที่สุด งานชิ้นนี้จะปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มใหม่ของผมชื่อ "เพราะทรงธรรมรัชย์ชัชวาลย์" : รวมบทความเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์และการเมืองไทยสมัยใหม่ ซึ่งอยู่ในระหว่างเตรียมต้นฉบับ
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
6 ตุลาคม 2549

* นี่คือ 2 บาทแรกในโคลงสี่สุภาพ 2 บทที่ โยธิน มหายุทธนา (ประวุฒิ ศรีมันตระ) เขียนสดุดี จิตร ภูมิศักดิ์ ตีพิมพ์ครั้งแรกใน กวีการเมือง (แนวร่วมนักศึกษาเชียงใหม่, 2517)



ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า บรรดาตำรวจและกลุ่มพลังฝ่ายขวาที่บุกโจมตีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเช้าวันที่ 6 ตุลา มีความเชื่อมั่นว่าปฏิบัติการของพวกเขาเป็นการกระทำเพื่อปกป้องราชบัลลังก์และเป็นการสนองพระราชดำริ ถ้าเพลง “เราสู้” ที่ทรงพระราชทานไว้ก่อนหน้านั้น ยังไม่สร้างความมั่นใจเพียงพอ พระราชกรณียกิจของพระราชวงศ์บางพระองค์ในวันที่ 6 และช่วงใกล้เคียง น่าจะทำให้หายสงสัยได้

ตอนเย็นวันที่ 6 หลังจากลูกเสือชาวบ้านซึ่งได้ชุมนุมบริเวณพระบรมรูปทรงม้าตั้งแต่เช้าเพื่อประนามนักศึกษาและผู้ที่พวกเขามองว่าสนับสนุนนักศึกษาในการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (ป๋วย อึ๊งภากรณ์ พรรคสังคมนิยม และรัฐมนตรีพรรคประชาธิปัตย์บางคน) พากันเคลื่อนขบวนบุกเข้าไปยังทำเนียบรัฐบาลแล้ว(1) ในหลวงทรงรับสั่งให้ ธรรมนูญ เทียนเงิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพและผู้นำประชาธิปัตย์ปีกขวาเข้าเฝ้า ทรงแสดงความห่วงใยที่ลูกเสือชาวบ้านเหล่านั้นจะได้รับความลำบากเรื่องที่พักและอาหาร หลังจากนั้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินมาพบลูกเสือเชาวบ้านที่ทำเนียบรัฐบาล ดังที่ ดาวสยาม รายงาน ดังนี้

โปรดเกล้าฯให้ธรรมนูญเฝ้าฯ

เมื่อเวลา 17.00 น.ของวันที่ 6 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้รับสั่งเรียกนายธรรมนูญ เทียนเงิน ผู้ว่าการกรุงเทพมหานครเข้าเฝ้าฯ ทรงรับสั่งเกี่ยวกับการที่ได้มีลูกเสือชาวบ้านจากต่างจังหวัดนับเป็นหมื่นๆคนได้มาชุมนุมนั้นอาจจะประสบปัญหาเกี่ยวกับอาหารและที่พัก ทรงรับสั่งให้นายธรรมนูญชี้แจงให้ลูกเสือชาวบ้านสลายตัว ในขณะนั้นเองสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมงกุฏราชกุมาร ได้เสด็จพร้อมกับนายธรรมนูญ เทียนเงิน มาที่ทำเนียบรัฐบาลและที่ชุมนุมลูกเสือชาวบ้านด้วย ได้ทรงมีพระราชดำรัสกับกลุ่มลูกเสือชาวบ้านที่มาชุมนุม

ดาวสยาม ได้นำพระราชดำรัสดังกล่าวมาตีพิมพ์ว่า
ข้าพเจ้าขอให้ทุกคนยิ้มแย้มและใจเย็นๆ ไม่มีอะไรที่แก้ไขไม่ได้ แต่ต้องค่อยแก้ค่อยไป บ้านเมืองตอนนี้กำลังต้องการความสามัคคีและกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่สำคัญ ฉะนั้นขอให้ทุกคนสลายตัวเสีย ถือว่าให้ของขวัญกับข้าพเจ้า ท่านเหนื่อยกันมามากแล้ว ขอให้กลับไปหลับนอนเสียให้สบาย ทุกคนโปรดทราบว่า สองล้นเกล้าฯทรงเป็นห่วง ไม่มีอะไรที่สองล้นเกล้าฯจะเสียใจเท่ากับพวกเราฆ่ากันเอง ขอให้ทุกคนโชคดี(2)
น่าสังเกตว่า ขณะนั้น เหตุการณ์ที่ธรรมศาสตร์สิ้นสุดลงแล้วหลายชั่วโมง และความรุนแรงที่ตำรวจ ลูกเสือชาวบ้าน และกลุ่มพลังฝ่ายขวาอื่นๆกระทำต่อนักศึกษาที่นั่น ได้เป็นที่รู้กันแล้ว (หนังสือพิมพ์ฉบับบ่ายทุกฉบับได้พาดหัว และรายงานข่าวแล้ว) ไม่ปรากฏว่าทรงมีพระราชดำรัสถึงเหตุการณ์ดังกล่าวแต่อย่างใด(3)


วันต่อมา คือวันที่ 7 ตุลาคม 2519, ตามบันทึกของวสิษฐ เดชกุญชร, “เวลาประมาณ 15.30 นาฬิกา ทูลกระหม่อมน้อยและทูลกระหม่อมเล็กเสด็จไปยังโรงพยาบาลตำรวจและโรงพยาบาลวชิระ เพื่อทรงเยี่ยมผู้ได้รับบาดเจ็บจากการจลาจลที่กำลังพักรับการรักษาพยาบาลอยู่ที่โรงพยาบาลทั้งสองแห่ง”(4) ถ้าวสิษฐเขียนแบบกำกวมให้สงสัยได้ว่า พระเจ้าลูกเธอ 2 พระองค์ทรงเยี่ยมเฉพาะฝ่ายที่บุกเข้าไปในธรรมศาสตร์เท่านั้น ไม่ใช่ฝ่ายนักศึกษาและผู้ชุมนุมในมหาวิทยาลัย (ซึ่ง “ได้รับบาดเจ็บจากการจลาจล” เช่นกัน) ใช่หรือไม่ เสียงปวงชน ฉบับวันที่ 9 ตุลาคม 2519 ได้ตีพิมพ์ภาพถ่ายที่ทั้ง 2 พระองค์ทรงกำลังก้มลงสอบถามอาการผู้บาดเจ็บที่กำลังนอนอยู่บนเตียงผู้หนึ่งด้วยพระพักตร์ห่วงใย พร้อมคำบรรยายภาพว่า “ทูลกระหม่อมทั้งสองพระองค์เสด็จเยี่ยมตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บจากการกวาดล้างที่ธรรมศาสตร์ ที่โรงพยาบาลตำรวจ เมื่อ 15.00 น. วันที่ 7 เดือนนี้ และพระราชทานเงินของมูลนิธิสายใจไทยให้ตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บทุกคน”(5)


สองสัปดาห์ต่อมา คือในวันที่ 20 ตุลาคม ได้มีพิธีบำเพ็ญกุศลและบรรจุศพนายเสมอ อ้นจรูญ ลูกเสือชาวบ้านคนหนึ่งที่บุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยในเช้าวันที่ 6 และเสียชีวิต (จากกระสุนของฝ่ายนักศึกษา?) โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ 2 พระองค์ เสด็จพระดำเนินทรงร่วมงานด้วย วันต่อมา ไทยรัฐ ตีพิมพ์บนหน้า 1 พระฉายาลักษณ์ทั้งสองพระองค์ในฉลองพระองค์ไว้ทุกข์ดำ กำลังทรงนั่งย่อพระวรกายลงสนทนากับครอบครัวของนายเสมออย่างใกล้ชิด พร้อมคำบรรยายภาพสั้นๆ (ในลักษณะที่หนังสือพิมพ์เรียกว่า “ภาพเป็นข่าว”) วันที่ 22 ตุลา ไทยรัฐ และ ไทยเดลี่ ตีพิมพ์พระฉายาลักษณ์ของ 2 พระองค์ในพระอริยาบทเดียวกันระหว่างทรงสนทนากับลูกเสือชาวบ้านที่มาร่วมงานและเฝ้ารับเสด็จในวันบรรจุศพนายเสมอ แต่อยู่ในหน้า 4 มีเพียง เดลินิวส์ ฉบับวันนั้น ที่นอกจากตีพิมพ์พระฉายาลักษณ์ในหน้า 1 แล้ว ยังรายงานข่าวในหน้าเดียวกัน ดังนี้:

ฟ้าหญิงฯ สดุดีศพ
ลูกเสือชาวบ้าน

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองเสด็จทรงบำเพ็ญพระกุศลและบรรจุศพ “นายเสมอ อ้นจรูญ” ลูกเสือชาวบ้านที่เสียชีวิตจากการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ จากเหตุการณ์จลาจล “6 ต.ค.” ที่วัดพระศรีมหาธาตุ ท่ามกลางลูกเสือชาวบ้านร่วมพิธีกว่า 5 พันคน ทรงสดุดีวีรกรรมว่าสมควรแก่การเชิดชูเป็นแบบอย่าง

เมื่อเวลา 15.00 น. (ที่ ๒๐) สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ เสด็จทรงบำเพ็ญพระกุศลและบรรจุศพ นายเสมอ อ้นจรูญ ลูกเสือชาวบ้านรุ่นที่ 5 ค่ายวังสราญรมย์ 206/3 กทม. 70 ณ ศาลาทักษิณาประดิษฐ์ วัดพระศรีมหาธาตุ เมื่อเสด็จมาถึง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการ พระสงฆ์ 39 รูป สวดมาติกาจบแล้ว เจ้าพนักงานลาดภูษาโยง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯเสด็จไปทอดผ้าแล้วทรงหลั่งทักษิโณทก

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา ทรงกล่าวสดุดีเกียรติคุณ นายเสมอ อ้นจรูญ ว่า “การปฏิบัติหน้าที่ครั้งนี้ [เป็นไปตาม] คำสัตย์ปฏิญาณที่ได้ปฏิญาณไว้กับลูกเสือชาวบ้าน สมควรแก่การเชิดชู เพื่อเป็นตัวอย่างแก่ลูกเสือชาวบ้านต่อไปในด้านมีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์” แล้วเสด็จไปที่หน้าหีบศพ ทรงหยิบดินห่อผ้าขาวดำวางบนพานที่ตั้งหน้าหีบศพ ทรงวางพวงมาลา

ในโอกาสนี้ ทั้งสองพระองค์ เสด็จเยี่ยมลูกเสือชาวบ้านกว่า 5,000 คน ซึ่งเดินทางมาจากจังหวัดใกล้เคียง ที่มาเฝ้ารับเสด็จอย่างคับคั่งตามพระอัธยาศัยด้วย

สำหรับวีรกรรมของนายเสมอ ที่ได้ปฏิบัติจนถึงแก่เสียชีวิต คือ เมื่อวันที่ 6 ต.ค.นี้ เวลา 08.00 น. นายเสมอได้ติดตามตำรวจเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บจากการต่อสู้ ถูกฝ่ายผู้ก่อการไม่สงบระดมยิงมาจากด้านข้างหอประชุมใหญ่ ได้รับบาดเจ็บสาหัสและสียชีวิตในเวลาต่อมา
แม้มิได้ทรงอ้างอิงถึงเพลง “เราสู้” แต่การที่เจ้าฟ้าสิรินธรทรงสดุดีพฤฒิการณ์ของนายเสมอ (และโดยนัยคือลูกเสือชาวบ้านคนอื่น) ที่ธรรมศาสตร์ในเช้าวันที่ 6 ตุลา ว่าเป็น “การปฏิบัติหน้าที่” ที่ “สมควรแก่การเชิดชูเพื่อเป็นตัวอย่าง” นับว่าสอดคล้องกับเนื้อหาของเพลงอย่างมาก (เปรียบเทียบคำที่ทรงใช้ “ปฏิบัติหน้าที่” กับ “หน้าที่เรา” ในเพลง)(6)

ไม่กี่เดือนต่อมา การเชื่อมโยงระหว่างเพลงพระราชนิพนธ์ “เราสู้” กับ “การปฏิบัติหน้าที่” ในลักษณะเดียวกัน (ต่อต้านภัยของราชบัลลังก์) จะแสดงออกให้เห็นโดยตรง คือในงานพระราชทานเพลิงศพเจ้าหน้าที่ผู้เสียชีวิตจากการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ ซึ่งในสมัยที่ยังมีการต่อสู้ด้วยอาวุธในชนบทของ พคท. เป็นหนึ่งในงานประจำปีที่ทางราชการให้ความสำคัญมากที่สุด ในหลวงและพระราชินีทรงเสด็จพระราชดำเนินด้วยพระองค์เองทุกครั้งตั้งแต่ครั้งแรกในปี 2512 สำหรับปี 2520 ซึ่งเป็นปีแรกหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา และมีขึ้นในวันที่ 29 มีนาคม ทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ได้จัดพิมพ์หนังสือที่ระลึกของงานเช่นทุกปี โดยแยกเป็น 2 เล่ม เล่มหนึ่งเป็นรายชื่อและรูปถ่ายผู้เสียชีวิต, หมายกำหนดการงานพระราชทานเพลิงศพ, และคำไว้อาลัยต่างๆ อีกเล่มหนึ่ง เป็นบทความต่อต้านคอมมิวนิสม์ล้วนๆ มี 3 เรื่อง คือ “’ยิ่งปราบยิ่งมาก จริงหรือ?” (โจมตีพรรคคอมมิวนิสต์ไทย), “รอบบ้าน เมืองเรา” (โจมตีประเทศคอมมิวนิสต์อินโดจีน) และ “เนื่องจาก…6 ตุลาคม 2519” ซึ่งแก้ต่างให้กับการฆ่าหมู่และปราบปรามขบวนการนักศึกษาในวันนั้น

ที่น่าสนใจคือ ปกหน้าของหนังสือเล่มหลังนี้ นอกจากมีชื่อหนังสือซึ่งเหมือนกับเล่มแรกว่า ที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพเจ้าหน้าที่ผู้เสียชีวิตเนื่องจากปฏิบัติหน้าที่ราชการในการรักษาความมั่นคงภายใน แล้ว ยังมีรูปวาดแผนที่ประเทศไทย มีทหารตำรวจในเครื่องแบบ 3 คนถือปืนในท่าคล้ายกับกำลังเผชิญหน้าศัตรู (รูปทหารตำรวจเป็นรูปถ่าย แปะทับลงบนรูปวาด) ด้านบนสุดของรูป (เหนือรูปทหารตำรวจและแผนที่) เป็นตัวหนังสือขนาดใหญ่ ซึ่งมีสีแบบธงชาติ (3 สี 5 แถบ) ว่า “เราสู้” ในหน้าแรกสุดของหนังสือ เป็นเนื้อเพลงพระราชนิพนธ์ “เราสู้” โดยมีกระดาษใสบางๆ พิมพ์พระปรมาภิไธยย่อ “ภปร” ปิดทับ ข้างล่างเนื้อเพลงมีคำบรรยายว่า “ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่บรรดาผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติ” หลังจากนั้นเป็นเวลาหลายปี หนังสือที่ระลึกงานนี้ (เล่มบทความ) จะมีเนื้อเพลง “เราสู้” ในหน้าแรกเสมอ(7)

ความเชื่อมโยงระหว่างเพลง “เราสู้”-สถาบันกษัตริย์-การต่อต้านคอมมิวนิสม์ (หรือต่อต้านสิ่งที่ดูเป็นการ “คุกคาม” ต่อสถาบันกษัตริย์เหมือนคอมมิวนิสม์) จะแสดงออกให้เห็นอีกอย่างน่าสนใจยิ่งในเหตุการณ์สำคัญในปลายเดือนกันยายน 2520 นั่นคือ กรณีระเบิดหน้าที่ประทับที่จังหวะยะลา(8)

ประมาณ 4 โมงเย็น วันที่ 22 กันยายน 2520 ขณะที่ในหลวง พร้อมด้วยพระราชินี และพระเจ้าลูกเธอ 2 พระองค์ กำลังทรงเป็นองค์ประธานในพิธีพระราชทานรางวัลแก่โรงเรียนปอเนอะ และพระราชทานธงประจำรุ่นลูกเสือชาวบ้าน ที่สนามโรงพิธีช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ระหว่างที่ผู้ว่าราชการจังหวัดกำลังอ่านรายงานถวาย ได้เกิดการระเบิดขึ้น 2 ครั้งติดต่อกันในบริเวณที่ลูกเสือชาวบ้านซึ่งมาร่วมพิธีประมาณ 3 หมื่นคน กำลังชุมนุมเข้าเฝ้าอยู่ (ภายหลังรัฐบาลแถลงว่า ระเบิดลูกแรกห่างจากปะรำพิธีที่ทรงประทับ 55 เมตร ลูกที่สอง 110 เมตร มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 47 คน) หลังจากเกิดความชุลมุนบริเวณนั้นและพระราชพิธีชะงักลงชั่วครู่ โดยที่ดูเหมือนว่าตลอดเวลาในหลวงทรงประทับยืนอยู่กับที่ โดยมีเจ้าหน้าที่เข้ายืนล้อมรอบให้การอารักขา(9) ในหลวงได้ทรงงานต่อไป โดยมีพระราชดำรัสกับผู้มาร่วมในพิธี เดลินิวส์ เป็นหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวที่รายงานว่าเกิดอะไรขึ้นจากที่เกิดเหตุ ไม่ใช่จากการถ้อยคำในแถลงการณ์ของรัฐบาล (ดูเหมือนเพราะเป็นฉบับเดียวที่เมินเฉยต่อการขอร้องของตำรวจ)(10) ดังนี้
ในหลวงทรงมีพระราชดำรัสถึงพสกนิกรที่อยู่ในเหตุการณ์ที่จังหวัดยะลา ขอให้ทุกคนมีจิตใจเข้มแข็งไม่ตื่นเต้นต่อสถานการณ์ เปิดหูเปิดตาให้ดี ก็สามารถขจัดอันตรายเหล่านั้นได้ คนไทยไม่ว่าอยู่ภาคไหนมีจิตใจอย่างเดียวกัน คือรักษาความสงบ ใครก่อความไม่สงบเราก็ต้องป้องกัน และทรงชมเชยลูกเสือชาวบ้าน ที่ปฏิบัติตนได้อย่างดีตามที่ฝึกไว้ ขอให้ทุกคนมีความเข้มแข็ง ปลอดภัย และมีความสำเร็จทุกประการ . . . . (11)

เมื่อจบคำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ ซึ่งประทับอยู่ในโรงพิธี ทรงร้องเพลง “เราสู้” นำ จากนั้น เสียงเพลง “เราสู้” ก็กระหึ่มขึ้นมาจากเสียงของประชาชน ลูกเสือชาวบ้าน ทหาร ตำรวจ ทุกคนสงบนิ่งร้องเพลง ด้วยความตั้งใจ ลืมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อจบจากเพลง “เราสู้” เสียงเพลง “ศึกบางระจัน” ก็ติดตามมาอีกอย่างพร้อมเพรียง จากนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ฟ้าหญิงทั้งสองพระองค์ เสด็จลงจากโรงพิธีทรงเยี่ยมเยียนพสกนิกรที่เข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งไปทรงเยี่ยมผู้บาดเจ็บที่โรงพยาบาลจังหวัดยะลา เมื่อเวลา 18.55 น. ทรงเยี่ยมเยียนผู้บาดเจ็บ ที่รับการรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลดังกล่าว และทรงมีพระราชปฏิสันถานกับนายแพทย์ไพบูลย์ เวชสาน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเป็นเวลานานพอสมควร ก่อนที่จะเสด็จพระราชดำเนินกลับที่ประทับ
สิ่งที่ชวนสะดุดใจที่สุดคือ ในยาม “หน้าสิ่วหน้าขวาน” อย่างยิ่งเช่นนั้น พระเจ้าลูกเธอ 2 พระองค์ทรงระลึกถึงเพลง “เราสู้” ก่อนอื่นใด และทรงร้องนำเพลงนี้ขึ้น ผมคิดว่า เราสามารถพูดได้ว่า เมื่อเกิดระเบิดขึ้น คงไม่มีใครนึกทันทีว่าเป็นฝีมือของ “มุสลิมแยกดินแดน” ดังที่จะถูกสรุปในเดือนต่อมา (เมื่อมีการจับผู้ต้องหามุสลิม 4 คน) และพระเจ้าลูกเธอทั้ง 2 พระองค์ ตลอดจนในหลวง พระราชินี ไม่ต้องพูดถึงคนอื่นๆในที่นั้น อาจจะนึกถึงศัตรูที่เพลง “เราสู้” ถูกสร้างขึ้นมาให้เป็นเสมือนอาวุธในการต่อสู้ คือพวกคอมมิวนิสต์ก็ได้ (อย่างน้อย เหตุการณ์ร้ายในภาคใต้ที่เกี่ยวกับพระราชวงศ์ ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อต้นปีนั้น คือกรณีหม่อมเจ้าวิภาวดี รังสิต ถูกยิงสิ้นชีพตักษัยในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ขณะทรงประทับเฮลิคอปเตอร์บินอยู่เหนือบ้านเหนือคลอง อำเภอเวียงสระ สุราษฎร์ธานี ก็เป็นฝีมือของพวกคอมมิวนิสต์)(12)

แต่ไม่ว่าจะทรงนึกถึงใครหรือไม่ ผมคิดว่า เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่าเพลง “เราสู้” มีลักษณะที่เรียกว่า “กินใจ” ต่อพระเจ้าลูกเธอทั้ง 2 พระองค์ (และน่าจะต่อในหลวงพระราชินีและคนอื่นๆในที่นั้น) ทำไม? ผมคิดว่า “เราสู้” ถ่ายทอดความรู้สึกของการกำลังถูกคุกคามอย่างหนัก ระเบิดที่ดังขึ้นติดกัน 2 ครั้ง เหมือนกับการ “ขู่ฆ่าล้างโคตร” อย่างเป็นรูปธรรม ขณะเดียวกัน แม้เพลงจะกล่าวว่า “ก็ไม่หวั่น” แต่ผมคิดว่า เราสามารถตั้งคำถามได้ว่า “เราสู้” นอกจากสะท้อนความรู้สึกถูกคุกคามแล้ว ยังสะท้อนความรู้สึกตกใจกลัวด้วยหรือไม่? คงจำได้ว่า เมื่อทรงเผยแพร่กลอน “เราสู้” ครั้งแรกในช่วงวันปีใหม่ 2519 นั้น ทรงมีพระราชดำรัสเตือนพร้อมๆกันว่า “ไม่ควร. . .ตื่นตกใจจนเกินไป”(13) อาจกล่าวได้ว่า “เราสู้” เป็นการพยายามช่วยให้ไม่ “ตื่นตกใจ” หรืออย่างน้อยก็ไม่ “ตื่นตกใจจนเกินไป” นั่นเอง ผมคิดว่านี่เป็นความจริงไม่เฉพาะแต่ในเหตุการณ์ระเบิดที่ยะลาเท่านั้น แต่รวมถึงตั้งแต่ปี 2518 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เพลง “เราสู้” ถือกำเนิดขึ้น (ในรูปพระราชดำรัส) ภูมิหลังของเพลงนี้คือคลื่นความตระหนกในหมู่ชนชั้นนำไทย อันเนื่องมาจากกระแสสูงในประเทศไทยและชัยชนะในประเทศเพื่อนบ้านของขบวนการฝ่ายซ้าย

“ไม่ต้องกลัว” เป็นประเด็นที่ทรงย้ำอีกในพระราชดำรัสที่เป็นผลสืบเนื่องโดยตรงมาจากเหตุการณ์ระเบิดที่ยะลา กล่าวคือ ในวันที่ 31 ตุลาคม 2520 ได้พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายอารมย์ รัตนพันธุ์ ครูช่วยราชการส่วนการศึกษาองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา เข้าเฝ้าที่ศาลาดุสิตาลัย เพื่อรับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ โดยมีลูกเสือชาวบ้าน “หลายร้อยคน” (เข้าใจว่าจากจังหวัดเดียวกัน) ร่วมเข้าเฝ้าด้วย โอกาสนี้ได้ทรงมีพระราชดำรัสซึ่งทำให้เราได้ทราบเรื่องของ “ครูอารมย์” ว่าเป็นผู้มีบทบาทช่วยทำให้ผู้มาร่วมพิธีพระราชทานธงในขณะที่เกิดระเบิด อยู่ในความสงบ หายจากการแตกตื่นตกใจ (จึงได้รับพระราชทานเหรียญดังกล่าว) ซึ่งเรื่องนี้ไม่มีการรายงานในหนังสือพิมพ์เมื่อเกิดเหตุเลย (ไม่มีแม้แต่ชื่อ อารมย์ รัตนพันธุ์) ในหลวงทรงมีพระราชดำรัสนี้เป็นเวลาถึงเกือบ 1 ชั่วโมง ไม่เพียงแต่ทรงเล่าเหตุการณ์ระเบิดเท่านั้น ยังทรงให้คำอธิบายความหมายบางตอนของเพลง “เราสู้” เป็นครั้งแรก (และครั้งเดียว) ด้วย(14)
ก่อนอื่นขอแสดงความยินดี ต่อครูอารมย์ รัตนพันธุ์ ที่สามารถมารถมารับเหรียญรัตนาภรณ์ ต่อหน้าพี่น้องลูกเสือชาวบ้านจำนวนหลายร้อยคนในวันนี้ และขอเพิ่มเติมพฤติการณ์ต่างๆที่ได้เกิดขึ้นเป็นลำดับในวันนั้น ที่ยะลา

ตอนแรก ได้มีพิธีมอบรางวัลแก่โรงเรียนราษฎร์สอนศาสนา ซึ่งถือกันว่าเป็นพิธีการที่ทำประจำปี สำหรับให้รางวัลแก่โรงเรียนที่ปฏิบัติที่ทำการสอนดีที่ทางกระทรวงศึกษาได้สนับสนุน . . . . นอกจากนั้น ต่อไป ก็มีพิธีเกี่ยวข้องกับการมอบเข็มแก่กรรมการอิสลาม ซึ่งเป็นประเพณีว่า ผู้ที่ปฏิบัติในฐานะเป็นหัวหน้าของชาวอิสลามก็ได้รับเข็มเพื่อเป็นเครื่องหมาย . . . . .

งานที่สามในวันนั้น ก็คืองานมอบธงประจำรุ่นของลูกเสือชาวบ้าน ซึ่งท่านทั้งหลายที่เป็นลูกเสือชาวบ้านก็ทราบดีว่า ทำกันอย่างไร มีการมอบธงตามปกติ เสร็จแล้วก็มีการปฏิญาณตนตามความมุ่งหมายของลูกเสือชาวบ้านที่จะทำประโยชน์ ความสำคัญของลูกเสือชาวบ้านคือการกระทำตนให้มีประโยชน์แก่ส่วนรวม เพื่อความสงบสุข เพื่อความสามัคคี ปรองดอง เข้าใจกันดี ก็เกิดความก้าวหน้า ความปลอดภัยได้แน่นอน หลังจากมอบธงแล้ว เป็นธงที่ 9 ผู้ที่ถือธงก็กำลังกลับไปเข้าที่ ก็เกิดเสียงระเบิดขึ้นมา(15) เสียงระเบิดนั้น ในจิตใจของคนไม่ได้เห็นระเบิดก็เกิดการฉงนขึ้นมา ตอนแรกก็นึกว่าเป็นการจุดพลุ เพราะว่าบางทีก็นึกว่าถือว่า อาจจะถือว่า การได้รับมอบแล้ว เสร็จสรรพเรียบร้อย ก็ถือว่าต้องมีการยิงสลุด ในที่นี้ก็อาจถือว่าเป็นการยิงพลุ ซึ่งที่ว่าฉงนก็เพราะว่าไม่มีอยู่ในกำหนดการ แต่ต่อมาไม่ช้าไม่นานก็เห็นคนที่อยู่ทางซ้ายมือ วิ่งจากปะรำที่เป็นที่เยี่ยมราษฎร ซึ่งเต็มไปด้วยคนนับแล้วเป็นคนหลายหมื่นคน ก็วิ่งมาถึงกลางสนามหลังแถวของลูกเสือชาวบ้านที่ตั้งอยู่ นอกจาก 9 รุ่นนั้น ก็มีรุ่นพี่อีกประมาณ 20 รุ่น ทั้งหมด ก็เห็นคนที่วิ่งมาแล้วมานอนราบ ก็เห็นว่ามีอะไรผิดปกติแน่นอน และผู้ที่อยู่ทางปะรำทางซ้ายมือของเรานี้ ก็ลงหมอบเหมือนกัน ในเวลานั้น ทำให้ทุกคนก็คงต้องตระหนกตกใจอยู่ไม่มากก็น้อย ทำให้งานชงักไปสักครู่หนึ่ง แต่นายอารมย์ รัตนพันธุ์ ในฐานะวิทยากรก็ได้สั่งทางไมโครโฟนให้ตรง และให้แสดงรหัส ลูกเสือในแถวที่เริ่มจะอลเวงเล็กน้อย ต้องบอกความจริงว่าไม่ใช่ว่าลูกเสือชาวบ้านอยู่โดยไม่ได้ตกใจ ก็ตกใจเหมือนกัน แต่โดยที่มีคำสั่งให้ยืนตรง และให้แสดงรหัส ทำสัตย์ปฏิญาณ แถวนั้นก็ตรง และเข้าระเบียบขึ้นโดยทันใด และการเปล่งเสียงปฏิญาณตนก็หนักแน่นเป็นพิเศษ ทำให้จิตใจของลูกเสือชาวบ้านทุกคนมีความกล้า มีความมั่นใจ ฉะนั้น ข้อนี้เป็นข้อสำคัญ เพราะว่าไม่ได้เสียเวลา ปฏิบัติตามสิ่งที่ควรปฏิบัติ ตามที่สมควรที่จะปฏิบัติ และให้ผล หลังจากปฏิญาณตนก็ได้มีการร้องเพลงให้จิตใจเข้มแข็ง และไม่ใช่เพื่อปลุกใจเท่านั้นเอง แต่เพื่อที่จะให้เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจรวมทั้งเจ้าหน้าที่ลูกเสือชาวบ้านอื่นๆ ออกไปปฏิบัติการไปช่วยให้ประชาชนที่กำลังแตกตื่นกลับคืนไปสู่ที่ ทหารออกไปทันที ไปตรวจดูที่เกิดระเบิด ทางเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลก็ได้นำผู้ป่วยบาดเจ็บจำนวนหลายสิบคนไปโรงพยาบาลโดยเร็ว เข้าใจว่า การปฏิบัติโดยฉับพลันโดยเร็ว และตั้งใจจริง ทำให้ผู้ที่บาดเจ็บสาหัสที่สุดไม่เสียชีวิต หลังจากที่ร้องเพลงแล้ว ก็มีเวลาให้เจ้าหน้าที่ที่จะทำความเรียบร้อยขึ้นปลอบใจประชาชน ความจริง ประชาชนทั้งหลายนั้นเขาแตกตื่นเป็นธรรมดา แต่เมื่อเขาเห็นลูกเสือชาวบ้านและเจ้าหน้าที่เข้มแข็ง ก็ทำให้มีความไว้วางใจ และมีความสงบขึ้น

ต่อจากนั้น ข้าพเจ้าก็ได้พูดกับลูกเสือชาวบ้านในทำนองว่า พวกเราได้ฝึกมาดี . . . วันนั้นได้บอกกับลูกเสือชาวบ้านที่อยู่ในที่นั้นว่า วันนี้เราเจอของจริง ไม่ใช่ของเล่นๆ ไม่ใช่การฝึก โดยมากเขาว่ากัน ลูกเสือชาวบ้านชอบเล่น ขี้เล่น เอะอะก็รำวง เอะอะก็มีการแสดง ล้อกันไปล้อกันมา วันนี้เป็นของจริง คือมีเหตุการณ์ แต่เหตุการณ์นั้นเราต้องพิจารณาให้ดี พิจารณาโดยเฉียบพลัน ไม่ใช่โอ้เอ้ๆ ต้องพิจารณาว่า เมื่อกี้มีอะไร ก็บอกเขาว่ามีระเบิดเกิดขึ้น ก็ได้ยินกันทุกคน มีความอลเวง ก็เห็นกันทุกคน แต่เรายังไม่ทราบว่า เหตุจากอะไร หรือมีความเสียหายอะไรมากน้อยแค่ไหน วิธีที่ดีที่แน่นอนที่จะทำให้ไม่เกิดเสียงคือผลเสียยิ่งกว่าควรจะเป็นได้ ก็คือจะต้อง มีความเข้มแข็ง มีการเปิดหูเปิดตา อย่างให้เห็นอะไรๆแจ้งชัด ถ้าเกิดตกใจก็ตาม กลัวก็ตาม โกรธก็ตาม ก็ทำให้ไม่สามารถที่จะมีตาสว่าง ไม่สามารถที่จะคิดอะไรอย่างแจ่มแจ้ง เมื่อคิดอะไรไม่ออก เมื่อคิดอะไรไม่แจ่มแจ้ง อันตรายมาสู่เราทันที ถ้าเรามีความเข้มแข็งจริงๆ เราจะเห็นทุกอย่าง เราจะเหมือนเป็นคนที่เหมือนมีกำลังมากกว่าปกติ ถ้าเราพยายามที่จะมีความใจเย็น

เพราะฉะนั้น ตอนนั้นที่ร้องเพลงว่าเราสู้ ในที่นั้นก็เลยร้องเพลงว่าเราสู้ แล้วต่อไปเมื่อลงไปเยี่ยมลูกเสือชาวบ้าน เขาก็บอกว่าเราสู้ แต่ขอชี้แจงคำว่าเราสู้ว่าคืออะไร เพราะโดยมากเข้าใจผิด ในเพลงมีว่า เราสู้ เราสู้ทีนี่ ไม่ถอย คือสู้ที่นี่ แต่ว่าเราไม่ได้ถอย แต่เราไม่ได้รุกรานไปที่ไหน เราสู้ ในทางกายเราสู้อยู่ตรงนี้ หมายความว่า เราไม่ถอยไปทางไหน ใครจะมาไล่เราไม่ได้ เป็นสิทธิของเราที่อยู่ที่นี่ แต่ในทางใจนั้นสำคัญกว่า ในทางใจนั้น เราสู้ที่นี่ สู้ตรงนี้ ไม่ได้หมายความว่า เราจะไปคว้าเอาปืนหรือลูกระเบิดมาขว้างใส่คนอื่น สู้ด้วยใจนี้สำคัญ คือสู้ด้วยความใจเย็น ใจที่หนักแน่น สู้ที่นี่ สู้ตรงนี้ ถ้ามีอะไรอันตรายเข้ามาถึงเรา เราจะตัดสินใจได้ถูก ก็ไม่นึกว่าครูอารมย์นี่ สู้ที่นี่ สู้ตรงนี้จริงๆ เพราะว่าเห็นอะไรชัดเจน ถ้าเห็นอะไรที่ควรจะทำ ไม่ใช่ทำอะไรโดยหัวเสีย อันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ ที่อยากจะอธิบายมานานแล้วว่า คำว่าสู้ที่นี่ สู้ตรงนี้ แปลว่าอะไร รวมทั้งคำว่าสู้จนตาย คำว่าสู้จนตายนี่ ดูท่าทางแล้วมันไม่ค่อยจะดี คล้ายๆว่าเราสู้แล้ว ถ้าใครมาตีเรา เราก็ตาย ขอให้ได้ชื่อว่าสู้จนตาย ความจริง สู้ที่นี่ สู้ตรงนี้ ทั้งทางกาย ทั้งทางใจ เราไม่ต้องถามจุดมุ่งหมายของการสู้ คือสู้ที่นี่ สู้ตรงนี้ ตามสิทธิของเรา ทั้งทางกาย ทั้งทางใจ สู้จนเราตายเอง ไม่ใช่ใครมาฆ่าเรา เพราะเราเหนียว เราจะเหนียวได้ก็ด้วยใจสู้ เราใจสู้จริงๆ ใจสู้ที่มั่นคง ใจสู้ที่มั่นคงนี้ก็คือสู้ทางใจนี้ หมายความว่ามีกำลังใจที่เข้มแข็ง . . . . ตอนที่ลงไปเยี่ยมลูกเสือ ก็ได้ทำการปฏิบัติตามที่ได้ปฏิบัติมาทุกครั้ง คือ ไปปลายแถวแล้วเดินมาทักทายปราศัยผู้ที่เป็นประธานรุ่นหรือผู้ที่ถือธง ผู้ที่นั่งอยู่ ทักทั้งผู้ใหญ่ทั้งเด็กว่าเป็นยังไงบ้าง สบายดีหรือเปล่า ก็ไปเจอ ไปถามคุณยายว่า ยายนะกลัวไหม เขาบอกดิฉันไม่กลัว ดิฉันไม่กลัว แล้วก็พวกเราสู้ทั้งนั้น ก็ต้องบอกเขาว่าสู้นี่อย่างที่สู้ตะกี้นะถูกต้อง แล้วก็มีคนหนึ่งเขาถาม แล้วคุณละกลัวหรือเปล่า ก็เป็นคำถามที่ดีเหมือนกัน เพราะว่าเป็นของธรรมดา กลัวกันได้ เราถามเขาว่ากลัวไหม เขาก็ถามเราว่ากลัวไหม เป็นสิ่งที่น่ารัก เป็นสิ่งที่เขาเป็นห่วงเป็นไยว่าเราจะกลัว จะตกใจ ก็ไม่ทราบว่าจะตอบเขาอย่างไร ก็บอกว่า ก็ดูเอาเอง เมื่อตะกี้ก็ยืนอยู่ข้างบน เราก็เห็นทุกคน ทุกคนก็เห็นเรา หมายความว่า เราให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ก็ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องกลัวเลย . . .
ในทัศนะของผม ประเด็นสำคัญของพระราชาธิบายเพลง “เราสู้” ข้างต้นก็คือเรื่อง “ไม่ต้องกลัว” นี่เอง (ขอให้สังเกตที่ทรงใช้คำว่า “ไม่กลัว” หรือ “ใจที่เข้มแข็ง” หลายครั้ง) ที่ทรงแนะให้ “สู้ด้วยใจ” ไม่ใช่ “ไปคว้าเอาปืนหรือลูกระเบิดมาขว้างใส่คนอื่น” นั้น ไม่ได้หมายความว่าจะทรงปฏิเสธสิ่งเหล่านี้ “สู้ที่นี่ สู้ตรงนี้ ทั้งทางกาย ทั้งทางใจ” นั่นคือไม่ได้ทรงปฏิเสธการสู้ “ทางกาย” หรือสู้ด้วยกำลังและอาวุธ กับฝ่ายที่ “ขู่ฆ่าล้างโคตร” มิเช่นนั้น คงไม่ “ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทาน [เพลง “เราสู้”] แก่บรรดาผู้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติ” ซึ่งก่อนอื่นก็หมายถึงทหารตำรวจที่ต่อสู้ด้วยอาวุธกับคอมมิวนิสต์ (ประโยคที่เพิ่งอ้างได้รับการตีพิมพ์ควบคู่กันเสมอกับบทเพลง “เราสู้” ที่ทางราชการพิมพ์ออกเผยแพร่อย่างกว้างขวางในสมัยนั้น) และมิเช่นนั้น เราคงไม่สามารถเข้าใจท่าทีของราชสำนักต่อเหตุการณ์ 6 ตุลาดังกล่าวข้างต้น

เพลง “เราสู้” ได้รับการ “ใช้งาน” อย่างแพร่หลายในช่วงไม่กี่ปีแรกของทศวรรษ 2520 แต่พร้อมๆกับการเสื่อมถอยและสิ้นสุดของขบวนการปฏิวัติฝ่ายซ้ายในประเทศและต่างประเทศในกลางทศวรรษนั้น การ “ใช้งาน” ดังกล่าว ก็เริ่มลดน้อยและสิ้นสุดลงตามไปด้วย (เช่นเดียวกับเพลงปลุกใจของฝ่ายขวาอื่นๆ เช่น หนักแผ่นดิน) หนังสือ ที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพเจ้าหน้าที่ผู้เสียชีวิตเนื่องจากปฏิบัติหน้าที่ราชการในการรักษาความมั่นคงภายใน เลิกตีพิมพ์บทเพลงนี้ไปในปี 2529(16) ทุกวันนี้ กล่าวได้ว่า แม้จะเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ แต่ “เราสู้” ก็ไม่ถูกนำมาแสดงหรือกระจายเสียงอีก (น่าสังเกตว่า แม้แต่ในวิกฤตการณ์ภาคใต้ปัจจุบัน ก็ไม่มีความพยายามจะรื้อฟื้นเพลงนี้ขึ้นมา ในโอกาสที่ทรงพระราชทานพระราชเสาวณีย์เกี่ยวกับวิกฤตการณ์นี้เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2547 สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้ทรงโปรดเกล้าให้พิมพ์การ์ดที่มีเนื้อเพลง “ความฝันอันสูงสุด” แจกแก่ผู้มาเข้าเฝ้าทุกคน)(17) อย่างไรก็ตาม ด้วยความบังเอิญ จังหวัดหนึ่งทางภาคอีสานได้ช่วยทำให้ “เราสู้” ไม่ถึงกับสูญหายไปจากชีวิตสาธารณะอย่างสิ้นเชิง อย่างน้อยก็ในมุมเล็กๆมุมหนึ่งของประเทศ ด้วยการทำให้ “เราสู้” ที่เคยเป็นเพลง กลายเป็น “ถาวรวัตถุ” ขนาดใหญ่ที่เคลื่อนย้ายไม่ได้ขึ้นมา

กลางปี 2522 ถนนยุทธศาสตร์สายละหานทราย-ตาพระยา ที่รัฐบาลดำเนินการสร้างเป็นเวลาเกือบ 6 ปีภายใต้การโจมตีขัดขวางอย่างดุเดือดของฝ่ายคอมมิวนิสต์ ได้สำเร็จลง กองอำนาวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดบุรีรัมย์ (กอ.รมน.จว.บร.) จึงตกลงให้สร้างอนุสาวรีย์เพื่อเป็นที่ระลึกแก่ทหารตำรวจและพลเรือนฝ่ายรัฐบาลที่เสียชีวิตในการต่อสู้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์ระหว่างการสร้างทาง ที่ริมถนนสายดังกล่าว บริเวณบ้านโนนดินแดง ดำบลโนนดินแดง อำเภอละหานทราย (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอโนนดินแดง) มีพิธีวางศิลาฤกษ์อนุสาวรีย์เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2522 ใช้เวลาสร้าง 1 ปี ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2523 (ทั้ง 2 พิธี มีเปรม ติณสูลานนท์ เป็นประธาน วันที่ 26 สิงหาคม เป็นวันเกิดเปรม) ในระหว่างนั้น กอ.รมน.จว.บร. ได้ดำเนินการเพื่อตั้งชื่ออนุสาวรีย์ ดังที่บรรยายไว้ในหนังสือที่ระลึกพิธีเปิด ดังนี้

เราสู้ : ชื่ออนุสาวรีย์พระราชทาน

. . . . . .
ชื่อพระราชทาน

การที่ประชาชนและเจ้าหน้าที่ของทางราชการทั้งฝ่ายพลเรือน ตำรวจและทหารผนึกกำลังกันเข้าร่วมต่อสู้ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ซึ่งขัดขวางการก่อสร้างเส้นทางยุทธศาสตร์สายสำคัญด้วยความรักสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ด้วยความห้าวหาญและเสียสละ จนสามารถสร้างทางได้สำเร็จ และเปิดการสัญจรไปมาได้ เป็นการรวมพลังกันเข้าต่อสู้เพื่อรักษาแผ่นดินไทย และเกียรติศักดิ์ของชาวไทยไว้ด้วยชีวิต เป็นปรากฏการณ์ทำนองเดียวกับเนื้อเพลงพระราชนิพนธ์ “เราสู้” ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานแก่บรรดาผู้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติ ทั้งเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ที่รู้จักและนิยมกันอย่างแพร่หลายในหมู่พสกนิกร กอ.รมน.จว.บร. ได้ติดต่อราชเลขาธิการ เพื่อนำความกราบบังคมทูลให้ทรงทราบ และขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตใช้ชื่อ “เราสู้” เป็นชื่อของอนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นใหม่ กอ.รมน.จว.บร. ได้รับแจ้งจากราชเลขาธิการว่า ได้นำความกราบบังคมทูลทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว มีพระบรมราชานุญาตให้ใช้ชื่อ “เราสู้” เป็นชื่อของอนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นใหม่ ณ บ้านโนนดินแดง อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ได้ตามที่ขอไป การที่ทรงมีพระบรมราชาณุญาตให้ใช้ชื่อ “เราสู้” เป็นชื่ออนุสาวรีย์ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าฯแก่ กอ.รมน.จว.บร. และชาวบุรีรัมย์(18)
จนทุกวันนี้ “เราสู้” เป็นเพียงอนุสาวรีย์เดียวที่เกิดจากสงครามสมัยใหม่ของไทยไม่ว่าจะเป็นสมรภูมิในประเทศหรือนอกประเทศ ที่มี “ชื่อพระราชทาน”(19)