Monday, September 11, 2006

ความพยายามเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชชนนีที่สวิตเซอร์แลนด์เพื่อสืบพยานคดีสวรรคต ๒๔๙๒



เป็นเวลาหลายเดือนในปี ๒๔๙๒ กรมอัยการ ซึ่งขณะนั้นสังกัดกระทรวงมหาดไทยในรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ใช้ความพยายามที่จะจัดการให้ศาล อัยการ และจำเลยในคดีสวรรคต เดินทางไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชชนนีที่สวิตเซอร์แลนด์ เพื่อขอพระราชทานคำให้การในฐานะพยานฝ่ายโจทก์ ความพยายามนี้ในที่สุด หมดความจำเป็นในกรณีสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องจากพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศไทยเป็นระยะเวลาสั้นๆในต้นปีต่อมา เพื่อทรงประกอบพระราชพิธีสำคัญ คือ ถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวงอานันท์, อภิเษกสมรส และฉัตรมงคล และในระหว่างที่ทรงอยู่ในประเทศไทย ได้ทรงให้ศาลและคู่ความเข้าเฝ้า และพระราชทานคำให้การในฐานะพยานโจทก์เมื่อวันที่ ๑๒ และ ๑๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ ส่วนกรณีพระราชชนนี รัฐบาลได้ดำเนินการต่อไป จนในที่สุด มีการเข้าเฝ้ารับพระราชทานคำให้การที่สวิตเซอร์แลนด์ในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน โดยมีเพียงศาลและฝ่ายอัยการโจทก์เท่านั้นที่ได้เดินทางไปเข้าเฝ้า(๑)

ในระยะแรกที่รัฐบาลติดต่อขอเดินทางไปเข้าเฝ้าเพื่อสืบพยานสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่สวิตเซอร์แลนด์นั้น ทางราชสำนักโดยคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้แสดงความไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลทั้งเรื่องปัญหาอำนาจของศาลไทยที่จะทำการสืบพยานนอกประเทศ และเหตุผลเกี่ยวกับสถานะของพระมหากษัตริย์ ผมเห็นว่า จดหมายโต้ตอบระหว่างรัฐบาลกับคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในกรณีดังกล่าวมีความน่าสนใจ จึงขอนำมาเสนอในที่นี้

ภูมิหลัง : ความพยายามอัญเชิญเสด็จกลับประเทศไทยในปี ๒๔๙๑
แต่ก่อนอื่น เพื่อที่จะเข้าใจความเป็นมาของการที่รัฐบาลหรือกรมอัยการขณะนั้นต้องพยายามให้มีการไปเข้าเฝ้าที่สวิตเซอร์แลนด์ในปี ๒๔๙๒ เราควรมองย้อนหลังไปที่ปีก่อนหน้านั้น ซึ่งมีความพยายามอีกอย่างหนึ่งของรัฐบาลที่จะอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับประเทศไทย เพื่อประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก (ฉัตรมงคล) โดยมีการวางหมายกำหนดการไว้ว่าจะให้มีขึ้นในต้นเดือนมีนาคม ๒๔๙๒ แต่ในที่สุด สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแสดงพระราชประสงค์ที่จะไม่เสด็จกลับในช่วงนั้น

(ยังไม่เสร็จ)