Wednesday, September 13, 2006

ความเป็นมาของคำว่า “นาถ” ใน “พระบรมราชินีนาถ”(*)



เราทุกคนได้เรียนรู้หรือถูกบอกเล่าสั่งสอนตั้งแต่เด็กๆว่า การที่พระราชินีทรงมีพระอภิไธยว่า “สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ” คือมีคำว่า “นาถ” ต่อท้าย (แปลว่าที่พึ่ง ผู้เป็นที่พึ่งพิง) ก็เพราะทรงเคยเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ใครที่รู้ประวัติศาสตร์หรือสนใจเรื่องประเภทนี้มากหน่อยก็อาจจะรู้เพิ่มเติมว่า ช่วงที่ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ คือช่วงที่ในหลวงทรงผนวชในปี ๒๔๙๙ เมื่อเร็วๆนี้ ผมได้อ่านพบเอกสารจำนวนหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งคิดว่าน่าสนใจพอจะเล่าสู่กันฟัง

เรื่องนี้ต้องเริ่มต้นจากการที่ในหลวงทรงแสดงพระราชประสงค์จะทรงผนวช (ซึ่งทำให้ต้องมีการตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์) ทรงแจ้งพระราชประสงค์ดังกล่าวแก่จอมพล ป พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ในระหว่างที่จอมพลเข้าเฝ้าเมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๔๙๙ ซึ่งบังเอิญเป็นวันที่มีการประชุมคณะรัฐมนตรี อันที่จริง ด้วยเหตุผลบางอย่าง จอมพลไปเข้าเฝ้ากลางการประชุม ครม.แล้วจึงกลับมาประชุมต่อ (ไม่ทราบว่าเพราะถูกเรียกกระทันหัน?) ตามบันทึกการประชุมของวันนั้น ดังนี้

วันนี้ (๑๒ ก.ย. ๙๙) มีการประชุมคณะรัฐมนตรีตามปกติ ณ ทำเนียบรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เริ่มประชุมเวลา ๙.๕๐ น.

อนึ่ง เมื่อเวลา ๑๐.๕๐ น. ท่านนายกรัฐมนตรีได้ไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท โดยมอบให้จอมพล ผิน ชุณหะวัณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร เป็นประธานแทน ครั้นถึงเวลา ๑๒.๔๐ น.ท่านนายกรัฐมนตรีได้กลับจากการไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทมาเป็นประธาน ในการประชุมต่อไป

คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเรื่องดั่งต่อไปนี้ จนถึงเวลา ๑๓.๕๐ น. จึงเลิกการประชุม.
………

๓๕. เรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงผนวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา

(นายกรัฐมนตรีเสนอว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสร์พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้แจ้งแก่คณะรัฐมนตรีว่า ในราวเดือนตุลาคมปีนี้ มีพระราชประสงค์จะทรงผนวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาตามราชประเพณี และมีพระราชประสงค์จะทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในระหว่างที่ทรงผนวช และโดยที่ขณะนี้พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ได้ดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรีอยู่แล้ว จึงเป็นผู้ที่เหมาะสมที่จะทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ด้วยประการทั้งปวง กับโปรดเกล้าฯมอบให้รัฐบาลจัดพระราชพิธีถวายด้วย

คณะรัฐมนตรีได้รับทราบเกล้าฯ ด้วยความชื่นชมที่จะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทรงผนวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยมอบหมายให้คณะรัฐมนตรีสนองราชภารกิจถวายในครั้งนี้)

มติ – เห็นชอบด้วยในการที่จะแต่งตั้งให้ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ประธานองคมนตรี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในระหว่างที่ทรงผนวชคราวนี้ โดยขอรับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

ส่วนการพระราชพิธีทรงผนวชนั้น มอบให้กระทรวงวัฒนธรรมเป็นเจ้าของเรื่อง ด้วยความร่วมมือจากสำนักพระราชวัง แต่งตั้งคณะกรรมการวางโครงการและจัดงานต่อไป ทั้งนี้ ถวายให้พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ทรงเป็นประธาน.(๑)

วันต่อมา จอมพล ป. ก็มีหนังสือถืงสภาผู้แทนราษฎรขอให้อนุมัติการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งต้องนับว่าเป็นการดำเนินการอย่างรวดเร็ว เพราะในหลวงยังไม่ทรงกำหนดวันผนวช
ที่พิเศษ ๑/๒๔๙๙

สภาผู้แทนราษฎร
๑๓ กันยายน ๒๔๙๙

เรื่อง ญัตติขอให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
กราบเรียน ประธานสภาผู้แทนราษฎร

ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราชกระแสมายังรัฐบาลว่า มีพระราชประสงค์จะทรงผนวช ในเดือนตุลาคม ศกนี้ และจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากรเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามความในมาตรา ๑๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ฉะนั้น จึงเสนอมาเพื่อสภาผู้แทนราษฎร จะได้พิจารณาให้ความเห็นชอบตามรัฐธรรมนูญต่อไป และขอให้พิจารณาเป็นการลับ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

จอมพล ป. พิบูลสงคราม
(ป. พิบูลสงคราม)
นายกรัฐมนตรี(๒)

ในแฟ้มเอกสารที่ผมอ่านพบจดหมายฉบับนี้ มีร่างจดหมายที่ไม่ใช้อีก ๒ ร่าง และมีบันทึกของกรมสารบรรณคณะรัฐมนตรีลงวันที่ ๑๒ กันยายน (วันเดียวกับที่ครม.ได้รับทราบพระราชประสงค์) ระบุว่าได้ร่างจดหมายเสร็จแล้ว ร่าง ๒ ฉบับที่ไม่ใช้ มีข้อความไม่ต่างจากจดหมายที่ใช้จริงข้างต้นนัก ยกเว้นแต่มีคำอธิบายขยายความประเภท “โปรดเกล้าฯว่า มีพระราชศรัทธาที่จะทรงผนวชเป็นพระภิกษุในพระบวรพุทธศาสนาตามราชประเพณี” และไม่มีการขอให้สภาประชุมพิจารณาแต่งตั้งผู้สำเร็จเป็นการลับเหมือนในจดหมายจริง

ปรากฏว่า สภาซึ่งประชุมในวันที่ ๑๓ กันยายนนั้นเอง ได้ผ่านมติเห็นชอบเรื่องตั้งกรมหมื่นพิทยลาภเป็นผู้สำเร็จราชการโดยไม่มีการอภิปราย(๓) วันต่อมา จอมพลจึงมีจดหมายกราบบังคมทูล ดังนี้
ที่ ร.ล. ๔๐๓๕/๒๔๙๙

สำนักคณะรัฐมนตรี
๑๔ กันยายน ๒๔๙๙

เรื่อง จะทรงผนวช และแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม

ตามที่พระราชทานพระราชกระแสแก่ข้าพระพุทธเจ้า เรื่องจะทรงผนวชนั้น

ข้าพระพุทธเจ้าได้เชิญพระราชกระแสแจ้งแก่คณะรัฐมนตรีแล้ว คณะรัฐมนตรีมีความชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง ในการที่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทจะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทรงผนวช และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัย มอบหมายพระราชภาระกิจอันสำคัญยิ่งในครั้งนี้ และจะได้สนองพระราชประสงค์ทุกประการ

สำหรับเรื่องการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั้น ข้าพระพุทธเจ้าได้เชิญพระราชกระแสไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎร เสนอสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์แล้ว

ส่วนการจัดพระราชพิธีที่จะทรงผนวชนั้น คณะรัฐมนตรีได้ลงมติมอบให้กระทรวงวัฒนธรรมเป็นเจ้าของเรื่องร่วมกับสำนักพระราชวัง จัดตั้งคณะกรรมการขึ้น พิจารณาวางโครงการและจัดงาน โดยเชิญ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากรทรงเป็นประธาน

ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสกราบบังคมทูลพระกรุณา มาเพื่อทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท

การจะควรประการใด สุดแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ขอเดชะ

ข้าพระพุทธเจ้า จอมพล ป. พิบูลสงคราม
(ป. พิบูลสงคราม)
นายกรัฐมนตรี

มีหลักฐาน (ดูพระราชหัตถเลขาที่อ้างข้างล่าง) ว่า จอมพล ป.ได้เข้าเฝ้าเพื่อปรึกษาหารือเรื่องจะทรงผนวช-ตั้งผู้สำเร็จราชการในวันเดียวกับที่มีจดหมายกราบบังคมทูลนี้ด้วย (๑๔ กันยายน) แต่ดูเหมือนไม่ได้ทรงมีพระราชประสงค์เพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับเรื่องนี้ (วันผนวช, ผู้จะทรงตั้งเป็นผู้สำเร็จ) แต่ ๓ วันต่อมา คือในวันที่ ๑๗ กันยายน จอมพล ป.ได้เข้าเฝ้าอีก (ไประหว่างการประชุมครม.) ครั้งนี้ ทรงกำหนดเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ ดังปรากฏในบันทึกการประชุม ครม.วันนั้น ดังนี้
วันนี้ (๑๗ กันยายน ๒๔๙๙) มีการประชุมคณะรัฐมนตรีตามปกติ ณ ทำเนียบรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เริ่มประชุมเวลา ๑๐.๓๐ น.

อนึ่ง เมื่อเวลา ๑๐.๕๕ น. ท่านนายกรัฐมนตรีได้ไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท โดยมอบให้ จอมพล ผิน ชุณหะวัณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร เป็นประธานแทน ครั้นถึงเวลา ๑๑.๓๕ น. ท่านนายกรัฐมนตรีได้กลับจากการไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท มาเป็นประธานในการประชุมต่อไป

คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเรื่องดั่งต่อไปนี้ จนถึงเวลา ๑๓.๔๐ น. จึงเลิกการประชุม

.........

๑๗. เรื่อง ๑) การทรงผนวชของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (ท่านนายกรัฐมนตรีเสนอว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯพระราชทานพระราชกระแสว่า

๑. ได้กำหนดจะทรงผนวชในวันที่ ๒๒ ตุลาคม และทรงลาผนวชในวันที่ ๕ พฤศจิกายน ศกนี้ ส่วนพิธีฤกษ์มิได้ทรงกำหนดไว้ เพราะทรงพระราชดำริว่า เป็นการทรงพระราชกุศล

๒. ตามที่สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบในการที่จะแต่งตั้งพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในระหว่างที่ทรงผนวชนั้น ทรงขอบใจ แต่เมื่อได้ทรงพระราชดำริอีกครั้งหนึ่ง เห็นว่า โดยมีแบบอย่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งสมเด็จพระอรรคมเหสีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินประพาสต่างประเทศ และโดยที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีก็ทรงมีพระชนมายุอันสมควรและทรงดำรงตำแหน่งสภานายิกาสภากาชาดไทย ซึ่งแสดงถึงพระปรีชาสามารถในอันที่จะรับพระราชภารกิจในคราวนี้ได้ จึงมีพระราชประสงค์ที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามความในมาตรา ๑๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

๓. ทรงพระราชดำริว่า ในการทรงผนวชนั้น มีพระราชประสงค์จะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลโดยเคร่งครัด จึงจะไม่ทรงออกรับบิณฑบาตร เพราะประชาชนมีจำนวนมากจะทรงโปรดได้ไม่ทั่วถึงกัน)

มติ – รับทราบเกล้าฯ และเห็นชอบด้วยในการที่จะแต่งตั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยขอรับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

๒) ตั้งคณะกรรมการเตรียมงานในการทรงผนวช ....... (๔)
ผมพบหลักฐานที่ทำให้เชื่อว่า ในการเข้าเฝ้าวันที่ ๑๗ ซึ่งทรงแจ้งให้จอมพล ป.ทราบถึงการเปลี่ยนพระทัยเรื่องผู้สำเร็จราชการ จากกรมหมื่นพิทยลาภเป็นสมเด็จพระราชินีนั้น นอกจากได้ทรงมีพระราชดำรัสถึง “แบบอย่าง” การที่รัชกาลที่ ๕ ทรงตั้งพระราชินีเป็นผู้สำเร็จราชการแล้ว ยังได้ทรงรับสั่งถึงการที่พระราชืนีซึ่งได้รับการแต่งตั้งครั้งนั้น ได้รับการเฉลิมพระนามเพิ่มคำว่า “นาถ” ด้วย หลักฐานดังกล่าวคือ ในวันเดียวกันนั้นเอง โดยคำสั่งของจอมพล ป. เลขาธิการคณะรัฐมนตรีฝ่ายบริหารได้สอบถามไปยังกองประกาศิตในเรื่องนี้:
นารถ – จะต้องตั้งอีกหรือไม่

ในการแต่งตั้งสมเด็จพระบรมราชินีเป็นผู้สำเร็จฯนั้น ใคร่ขอทราบราชประเพณี จะต้องเติม นารถ เมื่อใด – เป็นโดยตั้งแต่งหรือประกาศอีก

[ลงชื่อ] ช่วง [?]
17 กย 99(๕)

ถ้าในหลวงไม่ได้ทรงรับสั่งเรื่อง “นาถ” ด้วยพระองค์เองในวันนั้น จอมพล ป. ก็คงไม่ทราบ และคงไม่ได้สั่งให้สอบถาม ซึ่งกองประกาศิตได้ทำหนังสือตอบในวันต่อมาว่า (เน้นคำตามต้นฉบับ)
เรื่อง ทรงตั้งสมเด็จพระบรมราชินีนารถ สำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์ ในรัชกาลที่ 5
เสนอ ล.ธ.ร. ฝ่ายบริหาร

ตามที่ประสงค์จะทราบว่า ในการตั้งสมเด็จพระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั้น ราชประเพณีจะต้องเติมคำว่า นาถ (สมเด็จพระบรมราชินีนาถ) เมื่อใด เป็นไปโดยตั้งแต่งหรือประกาศอีก ประการใดนั้น

ผมได้ตรวจราชกิจจานุเบกษา เมื่อรัชกาลที่ 5 จะเสด็จฯประพาสประเทศยุโรป ร.ศ. 116 (พ.ศ. 2440) เมื่อวันที่ 21 มีนาคม ร.ศ. 115 (พ.ศ. 2439) ได้ทรงตราพระราชกำหนดผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน รัตนโกสินทร์ ศก 115 ขึ้น มีความในมาตรา 2 ว่า “ระหว่างเวลาที่ไม่ได้เสด็จประทับอยู่ในกรุงสยามนี้ ให้สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนารถ อันเป็นพระราชชนนีแห่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช มกุฏราชกุมารนั้น เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์ กับทั้งให้มีที่ประชุมอันหนึ่งเป็นที่ปฤกษาด้วย” ประกอบด้วย ประกาศในการที่ออกพระนามสมเด็จพระบรมราชินีนารถ ลงวันที่ 1 เมษายน ร.ศ. 116 ซึ่งมีความในข้อ 1 ว่า “ตั้งแต่ วันที่ 21 มีนาคม ร.ศ. 115 ไปจนถึงเวลาที่ได้เสด็จพระราชดำเนินออกจากพระนคร แลเวลาเสด็จฯกลับคืนยังพระนคร ถ้าจะใช้บัตรหมายออกพระนามสมเด็จพระนางเจ้าพระอรรถราชเทวีนั้น ก็ให้ใช้ได้เป็นสามอย่างดันี้ (1) ว่า สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนารถ (2) ว่า สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนารถ (3) ว่า สมเด็จพระบรมราชินีนารถ ฯลฯ” ดั่งนี้ ก็เห็นได้ชัดว่า สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอรรถราชเทวีได้เป็นสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนารถ ตามพระราชกำหนดผู้สำเร็จราชการแผ่นดินที่ทรงตราขึ้นนั้น

สมเด็จพระบรมราชินีนารถ พระองค์นี้ คงทรงพระปรมาภิไธยสืบมาตลอดรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 6 ได้ทรงเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนารถ พระบรมราชชนนี เมื่อ พ.ศ. 2453

ได้คัดพระราชกำหนดผู้สำเร็จราชการแผ่นดินกับประกาศในการที่ออกพระนามสมเด็จพระบรมราชินีนารถ ดั่งกล่าว เสนอมาด้วยแล้ว

[ลงชื่อ อ่านไม่ออก]
หัวหน้ากองประกาศิต
18 ก.ย. 99

ตอนท้ายจดหมายนี้ มีลายมือจอมพล ป. เขียนว่า “ทราบ. ขอบใจ. [ลงชื่อ] ป.พิบูลสงคราม 20 ก.ย. 99”

ถ้าสมมุติฐานของผมถูกต้องที่ว่า ในหลวงทรงมีพระราชดำรัสเรื่องการเฉลิมพระนามพระราชินีโดยเพิ่มคำว่า “นาถ” ตาม “แบบอย่าง” สมัยรัชกาลที่ ๕ พร้อมกับที่ทรงเปลี่ยนพระทัยเรื่องผู้สำเร็จราชการ ก็หมายความว่า เป็นไปได้อย่างยิ่งว่า เหตุผลที่ทรงเปลี่ยนพระทัยตั้งสมเด็จพระราชินีเป็นผู้สำเร็จราชการ ก็เพื่อจะทรงเฉลิมพระนามสมเด็จพระราชินีโดยเพิ่มคำว่า “นาถ” นั่นเอง พูดอีกอย่างหนึ่งคือ พระราชประสงค์ที่จะเฉลิมพระนามพระราชินีโดยเพิ่มคำว่า “นาถ” เป็นสาเหตุให้พระราชินีทรงได้รับแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการตั้งแต่ต้น ไม่ใช่ว่า เนื่องจากพระราชินีทรงเคยได้รับแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแล้ว จึงทำให้ทรงได้รับการเฉลิมพระนามเพิ่มคำว่า “นาถ” อย่างที่เข้าใจกันทั่วไป

ผมคิดว่าการตีความเช่นนี้ของผมถูกต้อง การอภิปรายของสมาชิกสภาบางคนเมื่อเรื่องนี้ถูกเสนอเข้าสภา ก็เป็นไปในทางสนับสนุนการตีความนี้ ดังจะได้เห็นต่อไป

เหตุใดในหลวงจึงทรงมีพระราชประสงค์จะเฉลิมพระนามพระราชินีโดยเพิ่มคำว่า “นาถ” ถึงกับทรงขอให้เปลี่ยนมติรับรองกรมหมื่นพิทยลาภเป็นผู้สำเร็จราชการซึ่งได้ผ่านสภาไปแล้ว? ก่อนที่จะเสนอคำอธิบายเรื่องนี้ ผมขอให้สังเกตประเด็นน่าสนใจบางประการคือ การเฉลิมพระนามในลักษณะนี้สมัยรัชกาลที่ ๕ เอง ตอนแรก รัชกาลที่ ๕ ทรงตั้งพระทัยและมีพระราชโองการให้มีลักษณะชั่วคราวเท่านั้น “ตั้งแต่ วันที่ ๒๑ มีนาคม ร.ศ. ๑๑๕ ไปจนถึงเวลาที่ได้เสด็จพระราชดำเนินออกจากพระนคร แลเวลาเสด็จฯกลับคืนยังพระนคร ถ้าจะใช้บัตรหมายออกพระนาม สมเด็จพระนางเจ้าพระอรรคราชเทวี....” (๖) จนกระทั่งรัชกาลที่ ๖ ได้ประกาศเฉลิมพระปรมาภิไธยให้พระมารดาใหม่ในปี ๒๔๕๓ จึงทำให้การเรียกพระนามเช่นนี้มีลักษณะถาวร

ที่สำคัญ ขณะที่ในการเฉลิมพระนามพระราชินีปัจจุบัน จะมีการพาดพิงถึงการเฉลิมพระนามลักษณะนี้ว่าเป็น “ราชประพณี” ในความเป็นจริง การปฏิบัตินี้ต้องนับว่ามีลักษณะของสิ่งที่นักวิชาการบางคนเรียกว่า “ประเพณีประดิษฐ์” หรือ “ประเพณีที่เพิ่งสร้าง” (invented tradition) กล่าวคือ แท้จริงแล้ว หาได้เป็น “ประเพณี” หรืออะไรบางอย่างที่ทำซ้ำๆกันมาเป็นเวลานานไม่ เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นใหม่ แต่พยายามนำเสนอให้ดูเป็นสิ่งเก่าแก่ปฏิบัติกันเป็นประจำมาช้านาน จะเห็นว่ามีการเฉลิมพระนามเช่นนี้เพียงครั้งเดียวในสมัยรัชกาลที่ ๕ คือทั้งไม่ใช่เก่าแก่และไม่ใช่ทำกันมาหลายครั้งตามความหมายของคำว่า “ประเพณี” จริงๆ

ประการสุดท้าย ในหลวงน่าจะไม่ทรงทราบ “แบบอย่าง” เรื่องนี้ด้วยพระองค์เอง เพราะทรงไม่ใช่คนร่วมสมัยรัชกาลที่ ๕ (และไม่ใช่สิ่งที่ปฏิบัติกันบ่อยจนเป็นประเพณี) พูดง่ายๆคือ ไอเดียหรือพระราชดำริเรื่องตั้งพระราชินีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพื่อจะได้ทรงเฉลิมพระนามคำว่า “นาถ” นี้ หาใช่ไอเดียหรือพระราชดำริของพระองค์แต่แรกไม่ (จึงทำให้ต้องเกิดการเปลี่ยนพระทัย) เป็นไปได้อย่างยิ่งว่า อาจจะทรงทราบหรือได้รับการเสนอจาก “พระองค์เจ้าธานี” หรือกรมหมื่นพิทยลาภนั่นเอง

ในความเห็นของผม เราควรมองว่าการตั้งพระราชินีเป็นผู้สำเร็จราชการและเฉลิมพระนามเพิ่มคำว่า “นาถ” ไม่ใช่การทำตาม “ประเพณี” แต่มีลักษณะของการพยายาม “กลับไปหารัชกาลที่ ๕” (Return to Chulalongkorn) คือทำอะไรแบบที่รัชกาลที่ ๕ เคยทำ เช่นเดียวกับที่สมัยต้นรัชกาลที่ ๗ เคยพยายามมาก่อน(๗) (อันที่จริง การออกบวชขณะเป็นกษัตริย์ก็เป็นการทำแบบรัชกาลที่ ๕ ซึ่งเป็นกษัตริย์พระองค์เดียวสมัยกรุงเทพที่เคยทำมาก่อนในปี ๒๔๑๖ เป็นเวลา ๑๕ วัน เท่ากับจำนวนวันที่ในหลวงปัจจุบันจะทรงผนวช) เป็นวิธีฟื้นฟูสถานะและเกียรติยศของสถาบันกษัตริย์หลังจากช่วงตกต่ำหรือวิกฤติ กรณีรัชกาลที่ ๗ คือหลังจากปัญหาภายในราชสำนักของรัชกาลที่ ๖ ส่วนกรณีรัชกาลปัจจุบันคือ หลังจากช่วงตกต่ำของสถาบันจากการปฏิวัติ ๒๔๗๕ และการสละราชย์ของ ร.๗ ซึ่งทำให้ประเทศไทยไม่มีพระมหากษัตริย์ในทางปฏิบัติเป็นเวลาเกือบ ๒๐ ปี (ไม่มีกษัตริย์ประทับอย่างถาวรในประเทศระหว่างปลายปี ๒๔๗๗ ถึงปลายปี ๒๔๙๔)

ความพยายามฟื้นฟูเกียรติยศของสถาบันครั้งนี้เริ่มอย่างจริงจังในช่วงประมาณกลางทศวรรษ ๒๔๙๐ ในระยะแรกๆ หลายอย่าง เป็นสิ่งที่คนภายนอกยังมองไม่เห็น แต่เป็นความสัมพันธ์ภายในระหว่างพระมหากษัตริย์กับรัฐบาล เริ่มมีการสร้างระเบียบแบบแผนความสัมพันธ์นี้ใหม่หลังจากหายไปเป็นเวลานาน ผมกำลังหมายถึงตั้งแต่เรื่องประเภท การส่งหนังสือกราบบังคมทูลที่ต้องเริ่มต้นด้วย “ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม” และถ้อยคำในหนังสือที่ต้องเป็นราชาศัพท์ต่อกษัตริย์โดยตรง ไม่ใช่เพียงราชาศัพท์ระดับที่ใช้กับผู้สำเร็จราชการ ไปจนถึงการเข้าเฝ้ารับทราบพระราชดำริต่างๆโดยตรง เช่น กรณีจอมพล ป. ที่ไปเข้าเฝ้าระหว่างการประชุม ครม.ดังที่เห็นข้างต้น ในความเห็นของผม เรื่องที่ดูเหมือนจะเล็กๆ และเป็นเพียงรูปแบบหรือพิธีกรรมเหล่านี้ มีความสำคัญในแง่กลไกการทำงานภายในของรัฐบาล (the inner working of government) สำหรับผม สิ่งที่ชวนสะดุดใจจากการอ่านเอกสารติดต่อระหว่างรัฐบาลกับราชสำนักช่วงนี้ คือ การที่ฝ่ายหลังอ้างอิงถึง “ราชประเพณี” ที่เคยปฏิบัติในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช เพื่อขอให้รัฐบาลปฏิบัติตาม เพื่อรองรับเหตุการณ์เกี่ยวกับราชสำนักซึ่งได้ขาดหายไปตั้งแต่ก่อน ๒๔๗๕ แต่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่อีก (ราวกับว่าการเคยผ่าน ๒๔๗๕ มา ไม่ควรเป็นเหตุผลไม่ให้ปฏิบัติแบบเดิมๆ) กรณีตั้งพระราชินีเป็นผู้สำเร็จและเฉลิมพระนาม “นาถ” เป็นตัวอย่างหนึ่ง กรณีอื่นที่อ่านพบได้แก่เรื่องเงินปีของพระโอรสธิดา เช่น ในจดหมายจากราชเลขาธิการถึงนายกรัฐมนตรี เรื่องเงินปีสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ลงวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๔๙๔ ได้เริ่มต้นว่า (การเน้นคำของผม)
ด้วยพระวรวงศ์เธอฯ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มีรับสั่งว่า ตามราชประเพณีแต่ก่อนๆมา เมื่อมีการประสูติพระราชโอรสหรือพระราชธิดา ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ขึ้นในบัญชีเงินปีพระบรมวงศานุวงศ์ และพระราชทานเงินปีสุดแล้วแต่ฐานะ ส่วนเงินปีพระบรมวงศานุวงศ์นั้น ในรัชกาลที่ ๕ กำหนดพระราชทานทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายในเมื่อปีสุดท้าย (ร.ศ. ๑๒๙) เป็นเงิน ๑,๑๓๗,๘๒๐ บาท และในรัชกาลต่อๆมา ก็ได้ลดลงตามสถานะการณ์จนถึงรัชกาลปัจจุบันนี้ เงินปีพระบรมวงศานุวงศ์ คงได้รับจากรัฐบาลปีละ ๒๑๗,๓๙๖ บาท กับรัฐบาลได้เพิ่มให้ในปี ๒๔๙๔ นี้อีก ๖๙,๓๑๙ บาท รวมเป็นเงิน ๒๘๕,๗๑๕ บาท..... (๘)
หรือเรื่องเงินปีของพระราชินีในปีเดียวกัน:
ด้วยสำนักราชเลขาธิการแจ้งมาว่า พระวรวงศ์เธอฯ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มีรับสั่งว่า เมื่อวันที่รองนายกรัฐมนตรีได้เข้าเฝ้าพระองค์ท่านเพื่อปรึกษาข้อราชการต่างๆนั้น ได้ทรงหารือถีงเรื่องที่สมควรจะถวายเงินปีพระบรมวงศานุวงศ์ แด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ในฐานะที่ได้ทรงรับสถาปนาขึ้นเป็นพระราชวงศ์อันทรงศักดิ์ถึงตำแหน่งพระอัครมเหษี เพราะเมื่อรัชกาลก่อนๆก็เคยได้ถวายมาแล้วตามราชประเพณี ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีก็มีความเห็นชอบด้วยแล้วว่า สมควรที่รัฐบาลจะตั้งทูลเกล้าฯถวาย.... (๙)
นอกจากนั้นยังมีกรณีพิธีกรรมต่างๆที่ล้อมรอบการประสูติพระโอรสธิดา (ครั้งสุดท้ายที่มีการประสูติพระเจ้าลูกเธอคือปลายรัชกาลที่ ๖ ถ้าเป็นพระเจ้าลูกยาเธอต้องย้อนไปถึงรัชกาลที่ ๕) ตั้งแต่การตั้งผู้นำรัฐบาล-รัฐสภาเป็นสักขีการประสูติ: “เนื่องในการที่จะประสูติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ ๑.ประธานองคมนตรี ๒.นายกรัฐมนตรี ๓.ประธานสภาผู้แทนราษฎร ๔.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ ๕.เลขาธิการพระราชวัง หรือผู้ที่ปฏิบัติราชการแทนในตำแหน่งดังกล่าวขณะพระประสูติกาล เป็นสักขีในการประสูติ”(๑๐) ไปจนถึงการที่รัฐบาลประกาศให้เป็นวันหยุดราชการและชักธงทุกครั้งที่มีการประสูติ ซึ่งทำให้ไม่จำกัดเฉพาะการติดต่อภายในระหว่างรัฐบาลกับราชสำนักเท่านั้น หลังปี ๒๔๙๗ การพยายามฟื้นฟูเกียรติยศและสถานะของสถาบันกษัตริย์นี้เริ่มมีลักษณะของการเมืองโดยตรง คือการเข้าแทรกแซงอย่างเป็นฝ่ายกระทำ (active intervention) ของพระมหากษัตริย์ในกิจการสาธารณะมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งกับรัฐบาล

ขอกลับมาที่การแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการ หลังจากคณะรัฐมนตรีรับทราบเรื่องที่ทรงเปลี่ยนพระทัยแล้ว วันต่อมา จอมพล ป.ก็ทำหนังสือด่วนถึงประธานสภาขอให้มีการพิจารณาญัตตินี้อีกครั้ง:
ด่วนมาก
ที่ สผ. ๔๑๐๐/๒๔๙๙

สำนักคณะรัฐมนตรี
๑๘ กันยายน ๒๔๙๙


เรื่อง ญัตติขอให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
กราบเรียน ประธานสภาผู้แทนราษฎร
อ้างถึง หนังสือที่ สร.๙๕๕๑/๒๔๙๙ ลงวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๔๙๙

ตามที่แจ้งว่าในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๓ กันยายน ๒๔๙๙ สภาผู้แทนราษฎรได้ปรึกษาให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั้น ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว

บัดนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชกระแสว่า ตามที่สภาผู้แทนราษฎร ให้ความเห็นชอบในการที่จะแต่งตั้ง พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในระหว่างที่ทรงผนวชนั้น ทรงขอบพระราชหฤทัย แต่เมื่อได้ทรงพระราชดำริอีกครั้งหนึ่ง เห็นว่า เคยมีแบบอย่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมเด็จพระอรรคมเหษี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินประพาสต่างประเทศ และโดยที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ก็ทรงมีพระชนมายุอันสมควร และทรงดำรงตำแหน่งสภานายิกา สภากาชาดไทย ซึ่งแสดงถึงพระปรีชาสามารถ ในอันที่จะรับพระราชภารกิจในคราวนี้ได้ จึงมีพระราชประสงค์ที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามความในมาตรา ๑๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

จึงกราบเรียนมาเพื่อจะได้นำเสนอสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาให้ความเห็นชอบตามรัฐธรรมนูญต่อไป และขอให้พิจารณาลับ

ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง
จอมพล ป. พิบูลสงคราม
(ป. พิบูลสงคราม)
นายกรัฐมนตรี

สภาผู้แทนซึ่งเปิดประชุมในวันนั้นได้นำเรื่องเข้าพิจารณาเป็นการลับ อารีย์ ตันติเวชกุล ส.ส.นครราชสีมา เปิดการอภิปรายว่า “พระราชดำริครั้งนี้ กระผมไม่ได้มีความปรารถนาที่จะคัดค้านแต่ประการใด” แต่ได้ตั้งคำถามว่าต้องลงมติเลิกมติเดิม (ตั้งกรมหมื่นพิทยลาภ) หรือไม่ และการที่พระราชินีจะเป็นผู้สำเร็จย่อมหมายความว่าต้องมาปฏิญาณต่อสภา “ในฐานะที่เราเป็นบุคคลภายใต้รัฐธรรมนูญ ภายใต้จักรีวงศ์ เป็นการสมควรหรือไม่ที่เราจะให้สมเด็จพระราชินีเสด็จมาที่นี่เพื่อมาสาบาลพระองค์ต่อหน้าพวกเราซึ่งเป็นข้าราชบริพาร” ผมคิดว่า การอภิปรายของอารีย์ต่อไปนี้ยืนยันว่า ได้มีการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการหรือเป็นที่รู้กันในหมู่ ส.ส.ถึงสาเหตุที่ทรงเปลี่ยนพระทัยให้ตั้งพระราชินีเป็นผู้สำเร็จแทน ก็เพื่อการเฉลิมพระนามเพิ่มคำว่า “นาถ” นั่นเอง (การเน้นคำของผม):
เท่าที่มีพระราชดำรัสให้นำความมาปรึกษาต่อสภาเพื่อจะแต่งตั้งสมเด็จพระราชินีขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการนั้น ข้าพเจ้าได้กราบเรียนแต่แรกแล้วว่าข้าพเจ้าไม่ขัดข้องประการใด เพราะรู้สึกว่าการครั้งนี้เป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระราชินีด้วย จะได้เป็นสมเด็จพระราชินีนาถตามประวัติศาสตร์มีอยู่แล้ว และเป็นไปตามพระราชอัธยาศัย(๑๑)
จอมพล ป.ได้ลุกขึ้นอภิปราย สำหรับเรื่องพระราชินีต้องมาปฏิญาณต่อสภานั้น เขากล่าวว่าเช้าวันนั้น “ผมได้ขอถือโอกาสไปเฝ้ากราบบังคมทูล [ในหลวง] ท่านก็บอกว่าท่านทราบแล้ว และสมเด็จพระบรมราชินีท่านมีพระราชประสงค์จะเสด็จมาปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญทุกประการ” ประเด็นที่น่าสนใจในการอภิปรายของจอมพล อยู่ที่การพยายามชี้แจงว่าทำไมต้องเสนอญัตติเดียวกันเป็นครั้งที่ ๒ โดยเขาเริ่มด้วยการออกตัวยอมรับเป็นผู้ทำ “ความผิด” เสียเอง คำอธิบายของเขามีดังนี้
เรื่องที่ต้องมาเสนอเป็นครั้งที่ ๒ นั้น ความจริง อยากจะขอรับสารภาพว่าเป็นความผิดของนายกรัฐมนตรีเอง วันแรกที่ได้ไปเฝ้า ท่านก็ทรงพระราชดำรัสถามว่าควรจะเป็นใครที่จะเป็นผู้สำเร็จราชการฯ ผมก็กราบบังคมทูลบอกว่าควรจะเป็นกรมหมื่นพิทยลาภฯ เพราะว่าเคยทรงมาแล้ว และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ไม่ได้ทรงว่ากระไร ผมจึงสำคัญผิดว่า ท่านทรงโปรดที่จะให้กรมหมื่นพิทยลาภฯเป็น ก็จึงมาเสนอคณะรัฐมนตรี และก็นำเสนอต่อสภามา แต่ว่าความจริงนั้นท่านยังไม่ได้ทรงตกลงว่าจะเอากรมหมื่นพิทยลาภฯ ภายหลังเมื่อได้กราบทูลต่อไป ท่านจึงได้บอกว่าอยากจะให้สมเด็จพระราชินีได้ทรงเป็น ก็ได้นำเสนอสภานี้มาอีก เพราะฉะนั้น ความผิดใดๆที่ต้องมาเสนอเป็นครั้งที่ ๒ เป็นความผิดของผมคนเดียวที่สำคัญผิด ก็ขอประทานโทษด้วย
ในความเห็นของผม คำอธิบายของจอมพลในที่นี้ไม่น่าเชื่อถือนัก เมื่อดูจากบันทึกการประชุมคณะรัฐมนตรีที่อ้างข้างต้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นการเปลี่ยนพระทัยของในหลวง คือทรงพระราชดำริให้กรมหมื่นพิทยลาภเป็นในตอนแรก (“มีพระราชประสงค์....กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร....เป็นผู้ที่เหมาะสม”) แต่เปลี่ยนพระทัย (“แต่เมื่อได้ทรงพระราชดำริอีกครั้งหนึ่ง”) ให้พระราชินีเป็นแทน ถึงแม้เราจะสมมุติว่า เหตุการณ์เป็นอย่างที่จอมพลเล่าให้สภาฟัง คือในหลวง “ไม่ได้ทรงว่ากระไร” จริงๆ เมื่อจอมพลเสนอกรมหมื่นพิทยลาภ (ซึ่งในความเห็นของผม ไม่น่าเป็นไปได้ที่จะ “ไม่ได้ทรงว่ากระไร” เลย) ก็ยังควรหมายความว่าในตอนแรกทรงเห็นชอบด้วยแล้ว จะเรียกว่าจอมพล “สำคัญผิด” หรือ “ความจริงนั้นท่านยังไม่ได้ทรงตกลง” ไม่ได้ (ยิ่งถ้ามีการเข้าเฝ้าอีกครั้งในวันที่ ๑๔ กันยายน แต่ในหลวงไม่ได้ทรงแสดงพระราชประสงค์ใหม่ให้ตั้งผู้อื่น จนกระทั่งการเข้าเฝ้าในวันที่ ๑๗)

และเมื่อมีสภาชิกอภิปรายปัญหาการต้องเลิกมติเดิมหรือไม่มากเข้า ซึ่งอาจชวนให้รู้สึกว่าเป็นความยุ่งยากที่รัฐบาลก่อขึ้น จอมพลก็ลุกขึ้นชี้แจงอีกครั้งอย่างน่าสนใจว่า “ผมก็รู้สึกว่า ท่านสมาชิกก็ย้ำว่ารัฐบาลทำผิดๆ มันเลยไป ความจริงรัฐบาลไม่ได้ทำผิดอะไรเลย ผมอยากจะว่าอย่างนั้น แต่ว่าเมื่อท่านอยากจะว่าทำผิดก็ไม่เป็นไร รัฐบาลนี้ก็จะถวายเป็นราชพลี ไม่เป็นไรหรอก” (ขีดเส้นใต้ของผม) ในที่สุด สภาได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ยกเลิกมติเดิมและให้แต่งตั้งพระราชินีเป็นผู้สำเร็จราชการ

วันเดียวนั้นเอง ในหลวงได้ทรงมีพระราชหัตถเลขามายังรัฐบาล ยืนยันเรื่องวันที่จะทรงออกผนวชและการตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อย่างเป็นทางการ:

พระที่นั่งอัมพรสถาน
วันที่ ๑๘ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๙๙

ถึง นายกรัฐมนตรี

ตามที่ฉันได้ปรึกษาหารือท่านเมื่อวันที่ ๑๔ และ ๑๗ กันยายน ศกนี้ ในเรื่องที่ฉันมีความจำนงจะอุปสมบทนั้น บัดนี้ ฉันได้ตกลงกำหนดที่จะอุปสมบทในวันที่ ๒๒ ตุลาคม ศกนี้ และจะอุปสมบทอยู่ประมาณ ๑๕ วัน ส่วนการตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั้น ก็ได้ปรึกษาท่าน และท่านก็ได้เห็นสอดคล้องด้วยแล้ว จึงขอแต่งตั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามมาตรา ๑๗ แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในระยะเวลาที่ฉันครองสมณเพศอยู่

[ลงพระปรมาภิไธย] ภูมิพลอดุลยเดช ปร

พระราชหัตถเลขาถูกเสนอให้ครม.รับทราบวันที่ ๑๙(๑๒) วันถัดมารัฐบาลจึงได้แจ้งกำหนดวันผนวชที่ทรงยืนยันในพระราชหัตถเลขาแก่ประธานสภา(๑๓) วันเดียวกันพระราชินีได้เสด็จมาปฏิญาณต่อสภา (พิธีปฏิญาณมีขึ้นก่อนการประชุมจริง) แต่ก่อนหน้านั้น คือในวันที่ ๑๘ ประธานสภาได้จัดทำประกาศแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการ ถวายให้ในหลวงทรงลงพระปรมาภิไธยเรียบร้อยไปแล้ว(๑๔) ประกาศฉบับดังกล่าวซึ่งตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาจึงไม่ได้ระบุวันที่ในหลวงจะทรงผนวชและพระราชินีจะทรงเป็นผู้สำเร็จราชการไว้(๑๕)

หลังจากในหลวงทรงผนวชแล้ว ทางราชสำนักดูเหมือนจะไม่ได้ดำเนินการทันทีเรื่องการเฉลิมพระนามพระราชินี เพิ่มคำ “นาถ” ตามที่ตั้งใจไว้แต่แรก แต่รอให้ถึงโอกาสวันพระราชสมภพในหลวงจึงได้เสนอขอความเห็นชอบจากรัฐบาล ผมยังค้นไม่พบเอกสารที่เกี่ยวข้อง (หนังสือติดต่อต่างๆ) แต่คิดว่าไม่เป็นที่น่าสงสัยว่าเรื่องนี้เป็นการริเริ่มดำเนินการของราชสำนัก แม้ว่าในการเสนอเข้าสู่ที่ประชุมครม.จะทำในนามจอมพล ป. (สำนักพระราชวังและสำนักราชเลขาธิการอยู่ในความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรีโดยตำแหน่ง):

๑. เรื่อง เฉลิมพระอภิไธยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (ท่านนายกรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นว่า ตามราชประเพณีเมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีได้ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เคยมีประกาศให้ออกพระนามว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ได้ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในระหว่างที่ทรงผนวช ได้ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจแทนพระองค์ด้วยพระปรีชาสามารถ สนองพระราชประสงค์เป็นที่เรียบร้อย เป็นการสมควรที่จะได้เฉลิมพระอภิไธยให้เชิดชูพระเกียรติยศยิ่งขึ้น โดยประกาศให้ออกพระนามว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ)

มติ – เห็นชอบด้วย ให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาไปได้.(๑๖)

หนึ่งสัปดาห์ต่อมา “ประกาศเฉลิมพระอภิไธย สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี” ลงวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๔๙๙ ซึ่งมีข้อความเหมือนๆกับที่นำเสนอครม.ข้างต้น ได้รับการตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา(๑๗)