Wednesday, September 13, 2006

สมัชชาแห่งชาติ ๒๕๑๖ หรือ วิธีทำรัฐประหารโดยไม่ให้คนรู้ตัว



วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๑๖ ได้มีประกาศทางราชการฉบับหนึ่ง ดังนี้

ประกาศ
แต่งตั้งสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ
ภูมิพลอดุลยเดช ปร.

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหดิลธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า โดยที่สถานการณ์ปัจจุบันยังไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ และรากฐานการปกครองราชอาณาจักรก่อนที่จะได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญนั้นก็ยังไม่มั่นคงพอที่จะทรงวางพระราชหฤทัยได้ นอกจากนั้น ยังมีพระราชประสงค์ที่จะให้ประชาราษฎรได้เข้ามามีส่วนในการวางรากฐานแห่งการปกครองเสียแต่ต้นมือ ในการนี้จะต้องแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติขึ้นให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และโดยที่มีพระราชดำริว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาตินั้น ควรจะประกอบด้วยบุคคลผู้เป็นตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์ อาชีพ วิชาความรู้ ตลอดจนทรรศนะและแนวความคิดทางการเมืองให้มาก และกว้างขวางที่สุด

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งสมัชชาแห่งชาติขึ้น ประกอบด้วยบุคคลผู้มีรายนามท้ายประกาศพระบรมราชโองการนี้ และให้สมัชชาแห่งชาติประชุมกันเลือกบุคคลที่เหมาะสม จากสมาชิกสมัชชาแห่งชาติขึ้นจำนวนหนึ่งแล้วนำรายชื่อขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งบุคคลเหล่านั้นเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

ประกาศมา ณ วันที่ ๑๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๖ เป็นปีที่ ๒๘ ในรัชกาลปัจจุบัน

ผู้รับสนองพระบรมบรมราชโองการ
สัญญา ธรรมศักดิ์
นายกรัฐมนตรี

ตามด้วยรายชื่อสมาชิกสมัชชาแห่งชาติที่ได้รับแต่งตั้งตามประกาศนี้จำนวน ๒๓๔๖ รายชื่อ(๑)

ดูอย่างผิวเผิน ประกาศฉบับนี้ไม่แตกต่างจากประกาศทางราชการจำนวนมาก คือทำภายใต้พระปรมาภิไธย และมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการตอนท้าย ซึ่งในทางเป็นจริง ตามประเพณีการปกครองของไทยตั้งแต่หลัง ๒๔๗๕ เป็นต้นมา ก็หมายความว่า เป็นการกระทำหรือตัดสินใจของรัฐบาล (โดยรูปธรรมคือคณะรัฐมนตรี) อย่างไรก็ตาม ถ้าอ่านเนื้อความของประกาศอย่างละเอียด จะพบว่า มีบางตอนที่ชวนให้ประหลาดใจได้ เช่น ที่กล่าวว่า “สถานการณ์ปัจจุบัน . . . ยังไม่มั่นคงพอที่จะทรงวางพระราชหฤทัยได้” หรือ “มีพระราชประสงค์ที่จะให้ประชาราษฎร . . .” เป็นต้น ราวกับว่า นี่เป็นประกาศแบบเดียวกับสมัยก่อน ๒๔๗๕ ที่เกิดจากพระราชดำริของกษัตริย์ ไม่ใช่เกิดจากรัฐบาลที่เพียงทำในนามกษัตริย์

ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ตามประเพณีหลัง ๒๔๗๕ ประกาศซึ่งทำในนามกษัตริย์ เนื่องจากเป็นกษัตริย์ภายใต้กฏหมาย โดยเฉพาะคือภายใต้รัฐธรรมนูญ ประกาศนั้นจึงต้องมีการอ้างข้อกฎหมายด้วย (สมัยสมบูรณาสิทธิราชไม่ต้องอ้างเพราะพระราชดำริกษัตริย์คือกฎหมาย) แต่จะเห็นว่าประกาศฉบับนี้ทั้งฉบับ ไม่มีตอนใดเลยที่อ้างว่า “อาศัยอำนาจตาม . . .” หรือ “โดยคำแนะนำและยินยอมของ . . .” แต่กล่าวว่า “จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม . . .” โดยตรงเลย

อย่างไรก็ตาม ในสมัยนั้น (ธันวาคม ๒๕๑๖) ความประหลาดของเนื้อความของประกาศดังกล่าว ไม่ได้ถูกตั้งเป็นข้อสังเกตโดยทั่วไป มีการพูดถึงความประหลาดของการแต่งตั้งสมัชชาแห่งชาตินี้ในแง่ของรัฐบาลอยู่บ้าง – คือตีความว่านี่เป็นเรื่องของรัฐบาล – ดังจะได้เห็นต่อไป แต่ไม่มีใครพูดถึงความประหลาดในส่วนที่พาดพิงถึงพระมหากษัตริย์นี้ ในความเป็นจริง การแต่งตั้งสมัชชาแห่งชาติปี ๒๕๑๖ เป็นเหตุการณ์สำคัญอย่างยิ่งครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของระบอบการเมืองไทยหลัง ๒๔๗๕ โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับสถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในระบอบการเมืองนั้น


การเปลี่ยนรัฐบาลเมื่อ ๑๔ ตุลา: ปัญหาในแง่กฎหมาย
หลังการปะทะระหว่างนักศึกษาประชาชนกับทหารตำรวจบนท้องถนนในหลายจุดของกรุงเทพในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ในตอนค่ำวันนั้น ก็มีประกาศว่าจอมพลถนอม กิตติขจร ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมีการตั้งสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นแทน ดังนี้

ประกาศ
แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี
ภูมิพลอดุลยเดช ปร.

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี ตามประกาศลงวันที่ ๑๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕ แล้วนั้น

บัดนี้ จอมพล ถนอม กิตติขจร ได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ และทรงพระราชดำริว่า นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นผู้ที่สมควรไว้วางพระราชหฤทัยที่จะให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๔ แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๑๕ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีบริหารราชการแผ่นดินตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ ๑๔ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๖ เป็นปีที่ ๒๘ ในรัชกาลปัจจุบัน

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ทวี แรงขำ
รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(๒)

ขณะเกิตเหตุการณ์ ๑๔ ตุลานั้น รัฐธรรมนูญปี ๒๕๑๕ (ที่เรียกว่า “ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร”) ซึ่งออกโดยคณะรัฐประหาร ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ยังใช้บังคับอยู่ มาตรา ๑๔ ของรัฐธรรมนูญฉบับนั้นระบุว่า “พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง และรัฐมนตรีตามที่นายกรัฐมนตรีถวายคำแนะนำ และมีจำนวนตามสมควรประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน” ขณะที่มาตรา ๑๘ วรรคสอง ระบุว่า “การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ให้ประธานสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ”

การลาออกของถนอม และการแต่งตั้งสัญญา เป็นนายกแทน เป็นไปตามรัฐธรรมนูญเพียงใด? เนื่องจากรัฐธรรมนูญ ๒๕๑๕ เขียนโดยคณะรัฐประหารในลักษณะที่ให้เป็นการ “ชั่วคราว” คือมีระบุให้คณะรัฐมนตรีเสนอร่างรัฐธรรมนูญใหม่แก่สภานิติบัญญัติ ดังนั้นจึงไม่มีบทกำหนดเกี่ยวกับการพ้นตำแหน่งของตัวนายกรัฐมนตรี (ซึ่งเท่ากับไม่มีกำหนดเกี่ยวกับการเปลี่ยนรัฐบาล) พูดง่ายๆคือ คาดหวังว่าคนที่เป็นอยู่ (ถนอม) จะอยู่ไปจนมีรัฐธรรมนูญใหม่ มีแต่บทกำหนดเกี่ยวกับการพ้นตำแหน่งของรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล (มาตรา ๑๔ วรรคสอง “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งตามที่นายกรัฐมนตรีถวายคำแนะนำให้”)

การลาออกของถนอมในวันที่ ๑๔ ตุลาจึงไม่ใช่สิ่งที่รัฐธรรมนูญ ๒๕๑๕ คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม ไม่อาจกล่าวว่าเป็นสิ่งที่ “ผิด” รัฐธรรมนูญแต่อย่างใด ดังนั้น การที่ทรงแต่งตั้งสัญญาเป็นแทน ก็สามารถกล่าวได้ว่า เป็นไปตามมาตรา ๑๔ จริง (รัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุว่า ต้องทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของสภาหรือของใคร แม้ว่าการระบุให้ประธานสภาเป็นผู้รับสนองฯ ตามประเพณีควรหมายถึงตามคำแนะนำของสภา แต่เนื่องจากสภาเองเป็นสภาแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร จึงเป็นที่เข้าใจกันโดยปริยายว่า ถึงที่สุดแล้ว คณะรัฐประหารเป็นผู้ “แนะนำ” ให้ทรงแต่งตั้ง เมื่อหัวหน้าคณะรัฐประหารคือถนอม-ประภาสต้องเสียตำแหน่งไป พระราชอำนาจในการจะทรงตั้งนายกรัฐมนตรีโดยไม่ต้องทำตามคำแนะนำของใครตามรัฐธรรมนูญนี้ ที่เคยเป็นเพียงอำนาจในนาม จึงกลายเป็นอำนาจจริงไป) แต่น่าสังเกตว่า การลงนามรับสนองพระบรมราชโองการของทวี แรงขำ น่าจะผิดรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๘ วรรคสอง ที่ระบุให้ประธานสภาเท่านั้นเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ เหตุใดจึงไม่สามารถให้ พลตรีศิริ ศิริโยธิน ประธานสภาเป็นผู้ลงนามได้? ดูเหมือนว่าเขากำลังอยู่ในต่างประเทศ ซึ่งถ้าเป็นสถานการณ์ปรกติ ถนอมแม้จะลาออกย่อมสามารถรักษาการณ์ในตำแหน่งนายกต่อไป จนกว่าศิริจะกลับมาลงนามรับสนองพระบรมราชโองการตั้งสัญญาโดยถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ เห็นได้ชัดว่า ไม่มีพระราชประสงค์จะรอเช่นนั้น(๓)

แน่นอน ในสถานการณ์ตอนนั้น การที่ทรงแต่งตั้งสัญญาเป็นนายก ได้รับการต้อนรับอย่างยินดีจากนักศึกษาประชาชนผู้ร่วมคัดค้านถนอม-ประภาสเป็นส่วนใหญ่ และไม่มีใครสนใจเกี่ยวกับปัญหาเชิงกฎหมายแบบนี้ (รัฐธรรมนูญ ๒๕๑๕ เป็นสิ่งที่พวกเขาไม่ยอมรับตั้งแต่แรกอยู่แล้ว) เรื่องนี้รวมไปถึงกรณีแต่งตั้งสมัชชาแห่งชาติ (และสภานิติบัญญัติใหม่ที่ได้มาจากสมัชชาแห่งชาติ) ที่ผมจะพูดถึงต่อไปด้วย แม้ว่าในกรณีหลังนี้ การ “ผิดรัฐธรรมนูญ” จะมีลักษณะรุนแรง ยิ่งกว่ากรณีแต่งตั้งสัญญา (ที่ให้ทวีลงนาม แทนที่จะเป็นศิริ) การที่ผมยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูด ประเด็นไม่ใช่อยู่ที่ว่าเป็นเรื่องการ “ผิดรัฐธรรมนูญ” คือไม่ใช่ปัญหาในแง่กฎหมาย แม้ว่าผมจะคิดว่าปัญหานี้มีความน่าสนใจอยู่มาก แต่ที่สำคัญคือ ลักษณะ “ซ่อนเร้น” ของการ “ผิดรัฐธรรมนูญ” นั้น หรือถ้าจะพูดอีกอย่างหนึ่งคือ ลักษณะซ่อนเร้นของการ “รัฐประหาร” นั้น เพราะถ้าเรานิยามว่ารัฐประหารหมายถึงการยึดหรือเปลี่ยนอำนาจสูงสุดของรัฐ (รัฐบาลหรือรัฐสภา) ด้วยวิธีการนอกบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในขณะนั้น กรณีสมัชชาแห่งชาติก็เป็นการ “รัฐประหาร” ที่คนไม่รู้ตัว ยิ่งกว่านั้นการ “รัฐประหาร” ครั้งนี้ไม่ใช่การผิดรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในขณะนั้นเท่านั้น (เหมือนการรัฐประหารครั้งอื่นๆก่อนและหลังจากนั้นส่วนใหญ่) แต่เป็นการผิดระบอบการปกครองแบบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญที่การปฏิวัติ ๒๔๗๕ พยายามสร้างขึ้น(๔)


รัฐบาลพระราชทานกับรัฐสภาคณะรัฐประหารแต่งตั้ง
หลังจากคณะทหารของผิน-เผ่าและจอมพล ป. ทำรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ช่วงแรกได้ให้พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพวกนิยมเจ้า (Royalists) จัดตั้งรัฐบาลโดยควง อภัยวงศ์เป็นนายก จนถึงวันที่ ๖ เมษายน ๒๔๙๑ จึงบังคับ (ที่เรียกกันว่า “จี้”) ให้ควงกับพวกลาออก แล้วตั้งรัฐบาลของคณะทหารเองให้จอมพล ป เป็นนายก อย่างไรก็ตาม ในระหว่าง ๕ เดือนนั้น รัฐบาลควงได้ดำเนินการบางอย่างที่เป็นการสร้างอำนาจทางการเมืองของพวกนิยมเจ้า ซึ่งได้กลายเป็นเหมือน “หอกข้างแคร่” ตกทอดให้กับรัฐบาลของคณะทหารที่เข้ามาแทน ได้แก่ แต่งตั้งวุฒิสมาชิก จัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ทำให้ประชาธิปัตย์ได้เสียงข้างมาก) และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งแม้จะประกาศใช้หลังจากรัฐบาลนิยมเจ้าถูก “จี้” ออกไปแล้ว (คือประกาศใช้ในปี ๒๔๙๒) แต่เนื่องจากบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญนั้นกำหนดให้วุฒิสภาและสภาผู้แทนที่เลือกตั้งไปแล้วสมัยรัฐบาลควง อยู่ในตำแหน่งต่อไปจนครบวาระ (๖ และ ๔ ปี) รัฐบาลของจอมพล ป และคณะรัฐประหารที่เข้ามารับตำแหน่งจึงต้องเผชิญกับรัฐสภาที่พวกนิยมเจ้ามีบทบาทนำ รัฐธรรมนูญ ๒๔๙๒ ยังห้ามข้าราชการประจำซึ่งเป็นฐานอำนาจของคณะรัฐประหาร ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย สร้างความลำบากในการครองอำนาจโดยตรงของคณะรัฐประหาร

อาจกล่าวได้ว่า สถานการณ์ทางการเมืองหลัง ๑๔ ตุลา มีส่วนคล้ายกับสถานการณ์หลังปี ๒๔๙๑ แต่สลับกัน คือในหลวงทรงแต่งตั้งสัญญาเป็นนายก จัดตั้ง “รัฐบาลพระราชทาน” ประกอบด้วยผู้ที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยหรือมีความใกล้ชิดกับแวดวงราชสำนัก แต่ขณะเดียวกัน สภานิติบัญญัติซึ่งตั้งขึ้นจากรัฐธรรมนูญปี ๒๕๑๕ ของกลุ่มถนอม-ประภาส ยังคงอยู่ ที่สำคัญ รัฐธรรมนูญ ๒๕๑๕ ไม่มีบทบัญญัติให้ยุบสภาเลย มีเพียงข้อกำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงตั้งสมาชิกสภาได้ทั้งชุดเมื่อครบตามวาระ ๓ ปี หรือเป็นรายบุคคลถ้ามีผู้พ้นสภาพก่อนวาระ(๕) (เราจะกลับมาที่ประเด็นสำคัญนี้อีกครั้งเมื่อพิจารณาถึงข้ออ้างในการตั้ง “สมัชชาแห่งชาติ”)

ความแตกต่างสำคัญระหว่างหลังปี ๒๔๙๑ กับหลัง ๑๔ ตุลาคือ พวกนิยมเจ้าที่มีบทบาทนำในสภาปี ๒๔๙๑ ยังเป็นกลุ่มการเมืองที่เอาการเอางาน แต่ถนอม-ประภาสซึ่งเป็นผู้ตั้งสภาที่ตกทอดมาถึงหลัง ๑๔ ตุลาเป็นกลุ่มที่สูญเสียอำนาจทางการเมือง ผู้นำต้องหนีไปต่างประเทศ และอำนาจนำในกองทัพก็เปลี่ยนไปอยู่ในมือของกลุ่มกฤษณ์ สีวะราแล้ว (สมาชิกสภาของถนอม-ประภาสส่วนใหญ่เป็นทหารที่ยังต้องขึ้นกับระบบบังคับบัญชา) กล่าวได้ว่าแม้เป็นสภาที่กลุ่มถนอม-ประภาสตั้งไว้ ก็ไม่ได้มีท่าทีจะเป็น “หอกข้างแคร่” ให้กับ “รัฐบาลพระราชทาน” แต่อย่างใด

ในความเป็นจริง ตลอดระยะ ๑ เดือนเต็มๆหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาเกือบไม่มีใครพูดถึงสภานี้ เพราะทุกคนคาดว่ารัฐบาลสัญญาจะเร่งร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้เสร็จและเสนอให้สภารับรองบังคับใช้โดยเร็ว จะได้มีการเลือกตั้งสภาใหม่ตามรัฐธรรมนูญใหม่ ในระยะดังกล่าวสภาก็ประชุมกันไปเช่นเคย ทั้งยังได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติที่รัฐบาลสัญญาเสนอเช่น พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนักเรียนนักศึกษาในเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา โดยไม่มีปัญหาอะไร (ผมพูดเช่นนี้ ไม่ใช่ต้องการบอกว่าสภานี้ดี แต่ต้องการชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงเท่านั้น)


การสร้างกระแสล้มสภา
แต่แล้วในวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๑๖ หนังสือพิมพ์ประชาธิปไตยได้รายงานข่าวในหน้า ๑ (ไม่ใช่ข่าวใหญ่สุด) ว่ามี “ชมรมบัณฑิต” ทำจดหมายเปิดผนึกถึงสมาชิกสภานิติบัญญัติผ่านประชาธิปไตย ขอให้พิจารณาตัวเองลาออกจากตำแหน่ง โดยให้เหตุผล ๔ ข้อ คือ

(๑) เท่าที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติไม่เคยมีทีท่าว่าสามารถปฏิบัติงานเพื่อชาติและประชาชนอย่างแท้จริง เพราะมีสมาชิกกลุ่มใหญ่ยืนอยู่ข้างฝ่ายทรราชย์อย่างแข็งขัน

(๒) เมื่อผู้แต่งตั้งสมาชิกสภาฯเป็นบุคคลที่ประชาชนไม่พึงปรารถนา จึงเป็นเหตุให้ประชาชนไม่ไว้วางใจ แม้ว่าสมาชิกบางคนอาจเป็นคนดี แต่เมื่อทำงานเป็นกลุ่มก็พลอยทำให้ประชาชนมีความข้องใจอยู่ตลอดไป

(๓) เพื่อแสดงว่าเป็นผู้สำนึกในมารยาทของนักการเมืองที่มีอุดมการเพื่อประชาธิปไตย และรับผิดชอบต่อการกระทำที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานที่เคยทำประโยชน์ให้บุคคลที่ประชาชนไม่พึงปรารถนา จึงควรพร้อมใจกันลาออก เพื่อเปิดโอกาสให้รัฐบาลชุดนี้ แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดใหม่ ผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนย่อมจะได้รับเลือกเข้ามาอีก

(๔) ในสายตาของประชาชน สมาชิกสภานิติบัญญัติเป็นหุ่นให้กลุ่มผู้เป็นศัตรูของประชาชนอยู่ตลอดเวลา แม้บุคคลเหล่านั้นออกจากเมืองไทยไปแล้ว แต่ก็ยากที่จะประชาชนจะเชื่อถือได้(๖)

ไม่มีหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นรายงานเรื่องนี้ ในความเป็นจริง นี่คงเป็นเพียง “จดหมายจากผู้อ่าน” ของใครบางคนเพียงคนเดียวถึงหนังสือพิมพ์ฉบับเดียว ซึ่งเป็นเรื่องปรกติ ที่น่าประหลาดคือการที่ประชาธิปไตยเลือกทำ “จดหมายจากผู้อ่าน” ฉบับเดียวนี้ให้เป็นข่าว โดยที่เจ้าของจดหมายนั้น ผู้ใช้ชื่อว่า “ชมรมบัณฑิต” คือใครก็ไม่มีการอธิบายหรือระบุตัวตนเลยทั้งในรายงานข่าวครั้งแรกนี้หรือครั้งต่อๆมา (ในรายงานครั้งแรก ประชาธิปไตยขึ้นต้นในลักษณะบอกสถานที่เกิดข่าวว่า “ธรรมศาสตร์ – ๒๔ พฤศจิกายน / กรรมการชมรมบัณฑิต . . .” แต่คำว่า “ธรรมศาสตร์” ในที่นี้ คงจะเป็นเพียง “ที่อยู่” ที่ผู้เขียนจดหมายเปิดผนึกดังกล่าวใส่ไว้เท่านั้น (วันที่คือวันที่ขึ้นต้นจดหมาย) จนถึงทุกวันนี้ผมก็ยังหาข้อมูลไม่ได้ว่า “ชมรม” ดังกล่าวคือใคร

วันต่อมา ไม่มีหนังสือพิมพ์ฉบับใดหยิบ “ข่าว” นี้มารายงาน แต่ประชาธิปไตยติดตามเรื่องด้วยการไปสัมภาษณ์ มารุต บุนนาค ซึ่งเป็นนายกสมาคมทนายความและ ๑ ในสมาชิกสภานิติบัญญัติชุดที่กำลังอยู่ในตำแหน่งด้วย มารุตกล่าวว่าจะทำหนังสือถึงประธานสภาขอให้มีการเรียกประชุมสมาชิกสภาเป็นกรณีพิเศษเพื่อพิจารณาข้อเรียกร้องของ “ชมรมบัณฑิต” เขากล่าวว่า “ถ้าจะมีการลาออกก็จะต้องลาออกกันทั้งหมด แล้วให้รัฐบาลชุดปัจจุบันแต่งตั้งของตนขึ้นใหม่ ถ้าลาออกเพียงคนหรือสองคนก็ไม่มีประโยชน์” เพื่อสนับสนุนเรื่องนี้เขาเองจะหยุดรับเงินเดือนสมาชิกสภา ประชาธิปไตยยังได้สัมภาษณ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งกล่าวว่า “ไม่มีความเห็น ถ้าประธานสภาจะนำเรื่องนี้เข้าประชุมพิจารณา ก็จะไม่ออกความเห็น”(๗) ในวันนั้น (๒๖) มารุตได้ทำหนังสือถึงประธานสภาตามที่พูดจริงๆ ครั้งนี้หนังสือพิมพ์ทุกฉบับรายงานข่าว(๘)

เมื่อถึงวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ซึ่งจะมีการประชุมสภาประจำสัปดาห์ตามปรกติ ประชาธิปไตยฉบับเช้าวันนั้นได้รายงานจากแหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยว่า สมาชิกสภาส่วนใหญ่ได้มีการประชุมตกลงกันแล้วว่าจะลาออก และจะลงมติเช่นนั้นในการประชุมปรึกษาเรื่องนี้ในบ่ายวันนั้น(๙) แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ตรงกับการรายงานล่วงหน้านี้ กล่าวคือหลังการประชุมตามวาระปรกติแล้ว


พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช พระมหากษัตริย์มีอำนาจตัดสินใจทำอะไรเกี่ยวกับการเมืองการปกครองได้เอง เพราะทรงเป็นรัฐและกฎหมายเอง การยึดอำนาจเมื่อ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ มีจุดมุ่งหมายที่จะดึงเอาอำนาจดังกล่าวมาไว้กับรัฐบาลที่ ในทางทฤษฎี มาจากประชาชน พระมหากษัตริย์ซึ่งผู้ก่อการตกลงให้มีอยู่ต่อไป จึงทรงเหลือเพียง (ในทางทฤษฎีเช่นกัน) บทบาทให้คำปรึกษาและทักท้วงรัฐบาลอย่างจำกัด ไม่ทรงทำอะไรได้ด้วยพระองค์เองอีกต่อไป กลไกสำคัญในเรื่องนี้อย่างหนึ่งคือการ “รับสนองพระบรมราชโองการ” ซึ่งเป็นเครื่องบอกว่า ไม่ได้ทรงทำเอง แต่เป็นการกระทำของรัฐบาลหรือรัฐสภา เพียงแต่ทำในนามพระมหากษัตริย์เท่านั้น (หรือพูดในทางกลับกันคือเป็นการกระทำของพระมหากษัตริย์เพียงในนามเท่านั้น) หรือในกรณีที่เป็นเรื่องซึ่งทรงริเริ่มทำ ก็เป็นสิ่งที่รัฐบาล (ของประชาชน) รับรองอนุญาตให้ทำได้ นี่คือความหมายทางหลักการแท้จริงดั้งเดิมของการ “รับสนองพระรบรมราชโองการ” ดังที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญปฏิวัติฉบับแรก (๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕) ว่า

(ยังไม่เสร็จ)