Saturday, July 21, 2007

สมบูรณาญาสิทธิราชในรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐



มาตรา ๒๒ ของรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ กำหนดว่า
ภายใต้บังคับมาตรา ๒๓ การสืบราชสมบัติให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗

การแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ เมื่อมีพระราชดำริประการใด ให้คณะองคมนตรีจัดทำร่างกฎมณเฑียรบาลแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลเดิม ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อมีพระราชวินิจฉัย เมื่อทรงเห็นชอบและทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ให้ประธานองคมนตรีดำเนินการแจ้งประธานรัฐสภาเพื่อให้ประธานรัฐสภาแจ้งให้รัฐสภาทราบ และให้ประธานรัฐสภาลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ และเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้

ในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุหรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ ให้วุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภาในการรับทราบตามวรรคสอง
มาตรา ๒๓ กำหนดว่า หากพระมหากษัตริย์ (องค์ก่อน) ทรงตั้งพระรัชทายาทไว้แล้วตามกฎมณเฑียรบาล เมื่อราชบัลลังก์ว่างลง ให้คณะรัฐมนตรีแจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบ เพื่อ “เรียกประชุมรัฐสภาเพื่อรับทราบและให้ประธานรัฐสภาอัญเชิญองค์พระรัชทายาทขึ้นทรงราชย์” ถ้าในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ได้ทรงตั้งรัชทายาทไว้ จึงให้คณะองคมนตรีเสนอพระนามผู้สืบราชสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาลต่อคณะรัฐมนตรี “เพื่อเสนอต่รัฐสภาเพื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบ”


การสืบราชสันตติวงศ์ไม่ใช่เรื่อง “ส่วนพระองค์” อย่างแน่นอน เพราะผู้ที่จะราชสืบสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์ จะมีฐานะเป็นประมุขของรัฐ และจะทรงมีพระราชอำนาจอื่นๆตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ (และที่ไม่ได้กำหนดไว้อีกด้วย) ที่สำคัญคือจะทรงเป็นผู้ “ทรงใช้อำนาจ (อธิปไตย) ทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล” ดังนั้น การสืบราชบัลลังก์และแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ จึงไม่อาจถือเป็นเรื่อง “ส่วนพระองค์” ได้ ตรงกันข้าม เป็นเรื่องสาธารณะที่สำคัญอย่างยิ่งยวดในระดับรากฐานของรัฐและระบอบการปกครอง

อันที่จริง แม้ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช ซึ่งไม่มีการแบ่งแยก “ส่วนพระองค์” กับ “ส่วนราชการแผ่นดิน” อย่างชัดเจน การสืบราชบัลลังก์และ/หรือ การแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลดังกล่าว ก็ไม่อาจนับเป็นเรื่อง “ส่วนพระองค์” ได้ แต่เนื่องจาก ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช พระมหากษัตริย์คือรัฐและกฎหมาย ทรงมีสิทธิ์ขาดในการตราหรือแก้ไขกฎหมายใดก็ได้ด้วยพระองค์เอง ดังนั้น แม้ว่า เรื่องที่มีลักษณะเป็น “ราชการแผ่นดิน” เช่นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ ก็ย่อมทรงสามารถกระทำได้ในลักษณะราวกับว่าเป็นเรื่อง “ส่วนพระองค์” ในแง่ที่ว่า ทรงมีสิทธิ์ขาดที่จะกระทำด้วยพระองค์เอง (กระนั้นก็ตาม ถ้าเป็นเรื่องการสืบราชบัลลังก์ ผู้จะขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ใหม่ ก็ยังมักจะต้องได้รับการเห็นชอบโดยนัยจากบรรดาเจ้านายชั้นสูงด้วยกัน)

แต่ในระบอบประชาธิปไตย หรือระบอบรัฐธรรมนูญ หรือระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) เป็นที่เข้าใจหรือยอมรับกันโดยทั่วไปว่า พระมหากษัตริย์ย่อมทรงอยู่ภายใต้ข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถทำอะไรด้วยพระองค์เองโดยเด็ดขาดอย่างเช่นในระบอบสมบูรณาญาสิทธราช โดยเฉพาะในแง่นิติบัญญัติ (การตราและแก้ไขกฎหมายต่างๆ) หน้าที่และอำนาจหลักย่อมอยู่กับรัฐสภา ไม่ใช่องค์พระมหากษัตริย์อีกต่อไป

แต่มาตรา ๒๒ วรรค ๒ และ ๓ ของรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ กลับมอบอำนาจในการแก้ไขกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ให้กับองค์พระมหากษัตริย์โดยเด็ดขาด รัฐสภามีหน้าที่เพียง “รับทราบ” การแก้ไขอันเป็นอำนาจเด็ดขาดของพระมหากษัตริย์นั้นเท่านั้น

อันที่จริง ข้อกำหนดเช่นนี้ ขัดแย้งกับข้อกำหนดขั้นหลักการพื้นฐานที่กำหนดไว้ในมาตรา ๓ ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้เองว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้” ข้อความที่ว่า “ทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา” เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่า หมายถึง การทีรัฐสภาเป็นผู้มีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณา ตรา และแก้ไขกฎหมาย และพระมหากษัตริย์ทรงประกาศให้ใช้กฎหมายที่สภาเป็นผู้พิจารณานั้นในพระปรมาภิไธย (อาจอ้างได้ว่าข้อความที่ว่า “ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้” สามารถครอบคลุมถึงการให้อำนาจเด็ดขาดในการแก้ไขกฎมณเฑียรบาลแก่พระมหากษัตริย์และให้รัฐสภาเพียง “รับทราบ” เท่านั้น แต่การอ่านเช่นนี้ ก็เพียงทำให้การให้อำนาจเด็ดขาดนั้น “ไม่ขัด” กับมาตรา ๓ แต่ยังคงขัดกับหลักการของระบอบประชาธิปไตย/รัฐธรรมนูญ ที่อำนาจนิติบัญญัติ – อำนาจในการพิจารณาตราและแก้ไขกฎหมาย – ควรอยู่ที่รัฐสภา อยู่นั่นเอง)

ในทำนองเดียวกัน การที่มาตรา ๒๓ ให้อำนาจพระมหากษัตริย์ทรงตั้งรัชทายาท และเมื่อราชบัลลังก์ว่างลง ก็เพียงแต่ “เรียกประชุมรัฐสภาเพื่อรับทราบ” เท่านั้น ว่าพระมหากษัตริย์องค์ก่อนทรงกำหนดให้ใครเป็นกษัตริย์สืบต่อจากพระองค์ รัฐสภาไม่ต้องเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ก็เท่ากับเป็นการมอบอำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชแก่พระมหากษัตริย์ในการกำหนดรัชทายาทโดยสิ้นเชิง (เฉพาะกรณีที่ไม่ได้ทรงกำหนดรัชทายาทไว้ก่อน รัฐสภาจึงจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ แต่กรณีนี้ไม่มีความหมายอะไรในปัจจุบัน เพราะไม่เป็นจริง และยากจะจินตนาการว่าจะเกิดขึ้นได้ในยุคสมัยนี้)


กฎมณเฑียรบาลสืบราชสันตติวงศ์ในประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญ
ไม่เป็นเรื่องบังเอิญ ที่การให้อำนาจสิทธิ์ขาดแบบสมบูรณาญาสิทธิราชแก่พระมหากษัตริย์ในเรื่องเกี่ยวกับการสืบราชบัลลังก์และการแก้ไขกฎมณเฑียรบาลเช่นนี้ เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๓๔ (รัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ลอกมาตรา ๒๒ และ ๒๓ มาจากรัฐธรรมนูญ ๒๕๓๔) คือเกิดขึ้นในยุคหัวเลี้ยวหัวต่อที่อำนาจของกองทัพ (อำนาจแบบ “อำมาตยาธิปไตย”) ได้เสื่อมลง และเกิดการเติบโตขึ้นมาแทนที่ของอำนาจ ๒ แหล่งสำคัญ คือ อำนาจรัฐสภา-รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และอำนาจของสถาบันกษัตริย์ (ผมจะอภิปรายเรื่องนี้ในบทความเรื่อง “ทวิอำนาจ (Dual Power): คำอธิบายรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙”)

แต่การให้อำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์แก่พระมหากษัตริย์ในกรณีสืบราชบัลลังก์และกฎมณเฑียรบาลนี้ ความจริง อาจกล่าวได้ว่า ไมใช่เกิดขึ้นครั้งแรกที่รัฐธรรมนูญ ๒๕๓๔ เสียทีเดียว แต่ – ไม่ใช่เรื่องบังเอิญเช่นกัน – ที่รัฐธรรมนูญ ๒๔๙๒ ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ร่างโดยพวกนิยมเจ้า (royalists) หลัง ๒๔๗๕

ก่อนรัฐประหาร ๒๔๙๐ คือก่อนที่พวกนิยมเจ้าจะเริ่มกลับมามีอำนาจทางการเมืองบางส่วนอีกเป็นครั้งแรก มีรัฐธรรมนูญ ๓ ฉบับ คือ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕, ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ และ พฤษภาคม ๒๔๘๙ ทั้ง ๓ ฉบับนี้ มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการสืบราชสันตติวงศ์ตรงกัน คือ (ก) ให้เป็นไปตามนัยแห่งกฎมณเฑียรบาล ๒๔๖๗ แต่ “ด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร/รัฐสภา” และ (ข) ไม่มีข้อกำหนดเรื่องการแก้ไขกฎมณเฑียรบาลนั้นเอง เพราะเป็นที่เข้าใจกันโดยปริยายว่า เช่นเดียวกับกฎหมายอื่นๆ กฎมณเฑียรบาลย่อมแก้ไขได้ตามกระบวนการรัฐสภาในขณะนั้น

หมายความว่า รัฐธรรมนูญทั้ง ๓ ฉบับกำหนดให้การสืบราชสันตติวงศ์เป็นไปตามหลักการของระบอบใหม่ คือ องค์กรที่มาจากประชาชน (รัฐสภา) เป็นผู้กำหนดเห็นชอบ (ทั้งตัวบุคคลที่จะเป็นกษัตริย์และตัวกฎมณเฑียรบาล ที่อยู่ภายใต้อำนาจที่จะแก้ไขได้)

หลายคนคงไม่ทราบว่า การเลือกพระมหากษัตริย์ครั้งแรกหลัง ๒๔๗๕ คือ การเลือกพระองค์เจ้าอานันทมหิดล ขึ้นเป็นรัชกาลที่ ๘ นั้น ไม่ได้รับเสียงเป็นเอกฉันท์จากรัฐสภา (มีผู้อภิปรายและลงคะแนนไม่เห็นด้วย ๒ เสียง – ดูบทความของผมเรื่อง “ในหลวงอานันท์ขึ้นครองราชย์”) ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงอำนาจในการกำหนดประมุขรัฐโดยองค์กรที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน ซึ่งเป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยที่เข้าใจกันโดยทั่วไปทางสากล

เมื่อพวกนิยมเจ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๙๒ แม้ว่าจะต้องยังคงหลักการของระบอบใหม่ที่ให้รัฐสภาเป็นผู้เห็นชอบการสืบราชบัลลังก์ ว่าใครควรเป็นกษัตริย์องค์ต่อไป (ข้อ ก ข้างต้น) แต่ได้กำหนดบทบัญญัติเพิ่มเติมเพื่อปกป้องกฎมณเฑียรบาล ๒๔๖๗ (คือเปลี่ยนข้อ ข ข้างต้น) ไว้ดังนี้ “การยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ จะกระทำมิได้” ความจริง การบัญญัติเช่นนี้ เป็นการละเมิดหลักการของระบอบประชาธิปไตย/รัฐธรรมนูญ ที่องค์กรด้านอำนาจนิติบัญญัติที่มาจากประชาชน คือรัฐสภา มีอำนาจในการตราหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไข (รวมทั้งยกเลิก) กฎหมายต่างๆ โดยไม่มีข้อยกเว้น เพราะในเมื่อรัฐธรรมนูญซึ่งถือเป็นกฎหมายสูงสุด เหนือกว่ากฎหมายใดๆ ยังสามารถแก้ไขได้ เหตุใดจึงจะห้ามการแก้ไขกฎหมายที่รองลงมาอย่างกฎมณเฑียรบาล ๒๔๖๗? บทบัญญัติเช่นนี้ ในทางปฏิบัติคือการให้การยอมรับ (ย้อนหลัง) แก่อำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชก่อน ๒๔๗๕ ให้เหนือกว่า อำนาจนิติบัญญัติของระบอบใหม่

รัฐธรรมนูญ ๒๔๙๒ เป็นแม่แบบให้กับรัฐธรรมนูญฉบับต่อมาที่ประกาศใช้ในปี ๒๔๙๕ ที่เรียกกันว่า รัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติม ๒๔๙๕ แม้รัฐธรรมนูญนี้จะถือเอาฉบับ ๑๐ ธันวา ๒๔๗๕ เป็นหลัก แล้ว “แก้ไข” ก็ตาม ในความเป็นจริง ส่วนที่เกี่ยวกับพระมหากษตริย์เป็นการนำเอาฉบับ ๒๔๙๒ มาใส่ไว้ทั้งหมด

รัฐธรรมนูญ ๓ ฉบับต่อมา คือฉบับ ๒๕๑๑, ๒๕๑๗ และ ๒๕๒๑ (ฉบับปี ๒๕๑๙ แม้จะเรียกว่า “รัฐธรรมนูญ” แต่มีลักษณะของ “ธรรมนูญการปกครอง” มากกว่า) ได้กำหนดการสืบราชสันตติวงศ์ไว้ว่า (ก) ให้เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาล “และประกอบด้วยความเห็นชอบของรัฐสภา” และ (ข) “การยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ ให้กระทำได้โดยวิธีการอย่างเดียวกันกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ” ในแง่นี้เท่ากับเป็นการลดด้านที่เป็นสมบูรณาญาสิทธิราชของรัฐธรรมนูญ ๒๔๙๒ และ ๒๔๙๕ ลง คือให้แก้ไขยกเลิกกฎมณเฑียรบาลได้ แม้จะให้ความสำคัญมากกว่าการแก้ไขยกเลิกกฎหมายทั่วไป

แต่รัฐธรรมนูญ ๒๕๓๔ และ ๒๕๔๐ (ดังที่ได้เห็นแล้ว) เป็นการก้าวกระโดดถอยหลังก้าวใหญ่ คือ ยกอำนาจในการกำหนดการสืบราชสันตติวงศ์และการแก้ไขกฎมฎเฑียรบาลทั้งหมดกลับคืนไปให้พระมหากษัตริย์ ราวกับในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช องค์กรรัฐที่มาจากประชาชน (รัฐสภา-คณะรัฐมนตรี) ไม่มีอำนาจในการกำหนดใดๆทั้งสิ้น

Archive ของ เคนเน็ธ-มาร์กาเร็ต แลนดอน, ต้นฉบับ The King and I และ บันทึกช่วยจำว่าด้วยกรณีสวรรคตและข่าวลือแผนการใหญ่ปี 2491 ของ ควง และ "พี่น้องปราโมช"



สามีภรรยา เคนเน็ธ และ มาร์กาเร็ต แลนดอน เป็นที่รู้จักในหมู่ผู้สนใจไทยศึกษา (กรณีมาร์กาเร็ต ประชาชนทั่วโลกที่สนใจหนัง) ด้วยหนังสืออันลือชื่อ 2 เล่ม (คนละเล่ม) สำหรับ เคนเน็ธ คือหนังสือ สยามระยะเปลี่ยนผ่าน (Siam in Transition) ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์การปฏิวัติ 2475 เล่มแรกๆ อันทีจริง หนังสือเล่มมนี้อาจถือเป็นความพยายามศึกษาเชิงวิชาการต่อ 2475 เป็นคร้งแรกไม่ว่าในภาษาใดก็ได้ (งานของหลวงวิจิตร และคนอื่นๆที่ออกมาในช่วงเดียวกันในภาษาไทย ผมคิดว่า ยังไม่อาจจัดเป็นงานวิชาการ (scholarly) ได้เสียทีเดียว) ที่สำคัญ ในภาคผนวกของหนังสือ คือ คำแปลภาษาอังกฤษฉบับเต็มของ "สมุดปกเหลือง" หรือ "เค้าโครงการเศรษฐกิจ" ของ ปรีดี พนมยงค์ (ฉบับแปลภาษาอังกฤษของเคนเน็ต แลนดอนนี้ มีอยู่ประโยคหนึ่ง ซึ่ง (เท่าที่ผมทราบ) ไม่เคยปรากฏในฉบับตีพิมพ์ภาษาไทยเท่าที่เคยมีการค้นพบกันมา (เข้าใจว่ารวมถึงแม้แต่ฉบับที่ปรากฏในบทความที่ดีมากของ ณัฐพล ใจจริง ที่สืบค้นประวัติการตีพิมพ์งานชิ้นนี้ในภาษาไทย) คือ ประโยคที่ว่า Why do you officials with salaries and pensions oppose the granting of salaries and pensions to the people? (ซึ่ง แลนดอน กล่าวว่า ปรากฏอยู่ตอนบนสุดของทุกหน้าของ "เค้าโครง" ที่เขาแปลมา)

มาร์กาเร็ต ดังที่รู้กันทั่วไป คือผู้เขียน Anna and the King of Siam หนังสือเกี่ยวกับชีวิตแหม่มแอนนา เลียวโนเวนส์ ซึ่งได้รับความสำเร็จอย่างมาก เป็น instant best-seller หนังสือขายดีทันควัน ที่ถูกทำเป็นทั้งละคอนเวที และหนัง (หนังคน 3 เวอร์ชั่น, หนังการ์ตูน 1 เวอร์ชั่น) โดยเฉพาะที่รู้จักกันมากที่สุดคือภายใต้ชื่อ The King and I

เคนเน็ต เพอรี่ แลนดอน (Kenneth Perry Landon) เกิดเมื่อเดือนมีนาคม 1903 ในเพนน์ซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา ส่วน มาร์กาเร็ต (นามสกุลเดิม Mortenson) เกิดในเดือนกันยายนปีเดียวกันที่รัฐ ทั้งคู่ได้พบกันเมื่อศึกษาอยู่ที่วิทยาลัยวีตัน (Wheaton College) ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาทางศาสนาของโปรแตสแตนท์นิกายเพรสไบทาเรียน (Presbyterian) ในรัฐอิลลินอยซ์ เคนเน็ตเรียนอยู่ที่วีตัน 3 ปี เมื่อจบในปี 1924 เขาได้ศึกษาต่อระดับปริญญาโททางเทววิทยา (Master of Theology) ที่พริ้นซ์ตัน ทั้งคู่หมั้นกันในปีนั้น และในปี 1926 ก็แต่งงานกัน แล้วทั้งคู่ก็เดินทางมาเป็นมิชชันนารีเผยแพร่ศาสนาที่ประเทศสยาม โดยลงหลักปักฐานอยู่ที่จังหวัดตรัง

ระหว่างอยู่ที่ตรัง มาร์กาเร็ตได้เป็นครูและต่อมาครูใหญ่โรงเรียนสตรีที่นั่น (ในระหว่างนั้นเองที่เธอสนใจและค้นคว้าเกี่ยวกับชีวิตของ แอนนา เลียวโนเวนส์ แหม่มสอนภาษาในราชสำนักรัชกาลที่ 4) ส่วนเคนเน็ตนอกจากเผยแพร่ศาสนาในจังหวัดตรังแล้ว ยังเดินทางไปจัดตั้งโบสถ์ในอีกหลายจังหวัดด้วย

ในระหว่างที่เดินทางกลับเพื่อพักผ่อนที่สหรัฐในปี 1937-38 พวกเขาได้ตัดสินใจว่าจะไม่กลับสยามอีก (โดยทิ้งบ้านและข้าวของที่ตรัง) ภายในปีเดียวนั้นเอง เคนเน็ตได้ทุ่มเรียนรายวิชา, สอบ และทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกกับมหาวิทยาลัยชิคาโกเสร็จ วิทยานิพนธ์ของเขาได้รับการตีพิมพ์ในปีต่อมา (1939) ภายใต้ชื่อ Siam in Transition

ปีเดียวกัน (1939) เคนเน็ตได้งานเป็นอาจารย์สอนปรัชญาที่วิทยาลัยเอิร์ลแฮม (Earlham) ในรัฐอินเดียน่า แต่ใน 1941 เขาได้รับการเรียกตัวจาก พ.อ. วิลเลียม โดโนแวน (William Donovan) บุรุษผู้เป็นตำนาน (เจ้าของฉายา "Wild Bill") ในฐานะผู้ให้กำเนิด CIA ให้ไปช่วยงานที่กระทรวงการต่างประเทศในวอชิงตัน โดยขอร้องว่าประธานาธิบดีรูสเวลต์ต้องการตัวเคนเน็ตโดยด่วนเพื่อไปช่วยงานด้านการข่าวและวิเคราะห์เกี่ยวกับญี่ปุ่นในอินโดจีนและประเทศไทย

ความจริง ตอนแรก เคนเน็ตไม่ได้สนใจที่จะทำงานเป็นข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศอย่างถาวร แต่ในที่สุด เขาได้ใช้ชีวิตอยู่ที่กระทรวงตลอดช่วงสงครามโลกและเริ่มต้นสงครามเย็นจนถึงเกษียณในปี 1965 ระหว่างนั้น ในปี 1954 เขาถูกยืมตัวไปช่วยงาน สภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่ทำเนียบขาวของประธานาธิบดีไอเซนฮาว ทำหน้าที่เกี่ยวกับการแปรนโยบายเป็นการปฏิบัติ (policy implementation) เขาได้เดินทางมาที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายครั้ง ครั้งหนึ่งในปี 1960 เขาได้พบปะกับโงดินห์เดียม ประธานาธิบดีของรัฐเวียดนามใต้ด้วย ปี 1961 รัฐบาลใหม่ (เคเนดี้) ให้ความสนใจกับปัญหาคอมมิวนิสต์และการต่อต้านการก่อการร้าย (counter-insurgency) มีการตั้งหลักสูตรสัมมนาฝึกอมรมความรู้ด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และการต่อต้านการก่อการร้าย ให้แก่ทูตประจำประเทศต่างๆ นายทหาร และเจ้าหน้าที่รัฐบาลอเมริกันระดับสูง ซึ่งเคนเน็ตก็ได้ทำหน้าที่เป็นผู้บรรยายของการสัมมนาอบรมนี้อย่างสม่ำเสมอ

พร้อมกับที่เคนเน็ตเริ่มงานที่กระทรวงการต่างประเทศ มาร์กาเร็ตก็ได้ทำต้นฉบับหนังสือแอนนาเสร็จ และได้ตีพิมพ์ Anna and the King of Siam ในปี 1942 ได้รับความสำเร็จอย่างสูง ขายได้เกือบ 8 แสนเล่มเฉพาะในสหรัฐและอังกฤษ ในปี 1946 ทเวนตี้เซนจูรี่ฟ็อกซ์ ได้นำไปสร้างเป็นหนัง นำแสดงโดย เร็กซ์ แฮริสัน และ ไอรีน ดันน์ ต่อมาภายหลัง รอเจอร์กับแฮมเมอร์สไตน์นักทำละคอนเพลงชื่อดังก็นำไปทำเป็นละคอนเพลง The King and I ที่มีชื่อเสียง

หลังออกจากงานกระทรวงต่างประเทศ เคนเน็ตได้เป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยอเมริกัน (American University) จนถึงอายุ 71 (1974) จึงเกษียณอีกครั้ง

เคนเน็ต แลนดอน ถึงแก่กรรมในเดือนสิงหาคม 1993 มาร์กาเร็ต ถึงแก่กรรมตามกันไปในอีกเพียง 3 เดือนเศษต่อมา (ธันวาคม)



แนะนำ Arichive ของ เคนเน็ต และ มาร์กาเร็ต แลนดอน

เคนเน็ตและมาร์กาเร็ต แลนดอน ได้ยก archive ส่วนตัวของพวกเขาให้กับวิทยาลัยวีตัน สถานศึกษาเก่าของพวกเขา (ผมหาคำแปลคำว่า archive ที่ถูกใจไม่ได้ เพราะคำว่า "จดหมายเหตุ" ฟังดูชอบกล เพราะสิ่งที่อยู่ใน archive มีมากกว่าเอกสาร รวมถึงรูปถ่าย เทปบันทึกเสียง เป็นต้น จึงขออนุญาตทับศัพท์)

ใน archive มีขนาดใหญ่โตมากทีเดียว คือมีความยาวถึงหลายสิบฟุต ซึ่งผู้สนใจและขยันพอ น่าจะสามารถใช้เป็นแหล่งข้อมูลทำวิทยานิพนธ์หรือบทความดีๆได้หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประเทศสยาม (มีไดอารี่ของ เคนเน็ต ช่วงที่อยู่สยาม ปี 1929-1930 และ 1934 "รายงาน" และ จดหมายเวียนถึงเพื่อนในช่วงนั้น), เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (เอกสารของเคนเน็ต สมัยทำงานกระทรวงต่างประเทศ และ สภาความมั่นคง)

และ มีหลายกล่องที่เก็บเอกสาร และ materials ต่างๆเกี่ยวกับ Anna and the King of Siam อยู่ด้วย เฉพาะส่วนที่เป็นต้นฉบับ คือ

VI. Literary Work (Margaret Landon)
- A. Manuscripts
- - 3. Manuscripts, Books

ต่อไปนี้คือหัวข้อและคำอธิบายสั้นๆ ของ materials ที่เป็นต้นฉบับ

Box VI A 3:1a, Anna and the King of Siam (First Box)
[Consists of an early (incomplete?) typescript of “Anna”, with chapter pagination starting afresh. It contains many revisions, edits, additions, in ML’s hand. Some chapters may contain multiple (later) typescripts.]
1. Untitled Biography
2. Book Cover for "Anna and The King of Siam"
3-50. Manuscript Fragments, Chapters 1-33
51. Capitalization of Proper Nouns
52. French Names
53. Siamese Words Used
54. Spelling
55. Spelling of Names on the Map

Box VI A 3:1b (Second Box)
Galleys for Anna and the King

Box VI A 3:2, Anna and the King of Siam
Manuscript (typescript) submitted to John Day Publishers, 40 Folders

มี materials อื่นๆ เช่น ที่เกี่ยวกับ การทำหนัง ทำละคอนเพลง ไปจนถึง บทความที่มาร์กาเร็ตเขียนเองเกี่ยวกับเรื่องนี้ และ reviews ต่างๆด้วย ที่น่าสนใจอีกกลุ่มหนึ่งคือ "บันทึกจากการค้นคว้าเกี่ยวกับ แอนนา เลียวโนเวนส์" (Research Notes on Anna Leonowens) เท่าที่นับได้มีอยู่ถึง 7 กล่อง จาก ฺBox VI C 4:1 ถึง Box VI C 4:7

(น่าสนใจว่า มีหัวข้ออย่าง Mongkut, Torture and Death in His Reign ด้วย)

นอกจากนี้ ยังมี secondary materials (คือของผู้อื่นที่มาร์กาเร็ตรวบรวมไว้) เกี่ยวกับเรื่อง Anna รวมทั้งพวก รูปภ่าย จำนวนมาก

ในปี 1949 มาร์กาเร็ต ได้ตีพิมพ์หนังสืออีกเล่มหนึ่งชื่อ Never Dies The Dream เกี่ยวกับประสบการณ์ชีวิตของเธอเอง แต่ไม่ประสบความสำเร็จในแง่ความนิยมของผู้อ่านนัก ใน archive มี materials ของหนังสือเล่มนี้เช่นกัน

มาร์กาเร็ต ยังได้เขียนต้นฉบับหนังสืออีก 2 เล่ม ชื่อ Long Ago and Far Away ซึ่งเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สยาม มีความยาวถึง 15 บท และ Malayan History ความยาว 23 บท เกี่ยวกับประวัติศาสตร์มลายู ทั้งสองเล่ม ไม่ได้รับการตีพิมพ์

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ หากสนใจ โปรดดูหัวข้อรายการของ archive ทั้งหมดได้ที่นี่ ดูแบ็กกราวน์ของ archive และประวัติย่อของ เคนเน็ตและมาร์กาเร็ต แลนดอน ที่นี่ และฟัง บันทึกเสียง "ประวัติศาสตร์บอกเล่า" ของ เคนเน็ต และ มาร์กาเร็ต พร้อมภาพประกอบ ได้ที่นี่





บันทึกช่วยจำของ เคนเน็ต แลนดอน เกี่ยวกับ กรณีสวรรคต และข่าวลือเรื่องแผนการใหญ่ของ ควง และ "พี่น้องปราโมช"

บันทึกนี้ แลนดอน ในฐานะเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศที่เชี่ยวชาญเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ทำขึ้นเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 1948 (พ.ศ. 2491) คือไม่กี่เดือนหลังรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน ในระหว่างนั้น คณะรัฐประหารของพิบูล-ผิน-เผ่า ยังคงปล่อยให้พวกนิยมเจ้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่นำโดยควง อภัยวงศ์ และพี่น้องตระกูลปราโมช (เสนีย์-คึกฤทธิ์) จัดตั้งรัฐบาล มีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2491 ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2491 ควงก็ได้รับการเลือกเป็นนายกฯจากสภา (มีวุฒิแต่งตั้งจากคณะรัฐประหารและ "อภิรัฐมนตรี" กึ่งหนึ่ง) และ ครม.ของเขาได้รับการรับรองจากสภาฯเมื่อวันที่ 5 มีนาคม (นี่คือกลุ่มเหตุการณ์ที่ย่อหน้าแรกในบันทึกพาดพิงถึงว่ากำลังจะเกิดขึ้น)

ในขณะนั้น ประเด็นที่ยังคงมีความสำคัญยิ่งทางการเมืองในพระนคร และเป็นเรื่องใหญ่ที่ทหารและพวกนิยมเจ้าใช้มาอ้างในการทำรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งแรกในประวัติศาสตร์ระบอบการปกครองใหม่(1) ก็คือ "กรณีสวรรคตในหลวงอานันท์"

ในขณะนั้น ข่าวลือต่างๆเกี่ยวกับกรณีนี้ ยังคงแพร่หลายในพระนคร แต่ขณะที่ข่าวลือเรื่องกรณีสวรรคต เมื่อเกิดเหตุการณ์ใหม่ๆ (9 มิถุนายน 2489) พุ่งเป้าไปที่การเล่นงานปรีดี พนมยงค์ (เพราะปล่อยโดยพวกนิยมเจ้าเป็นส่วนใหญ่) อาจกล่าวได้ว่า หลังรัฐประหาร หรือหลังจากปรีดีถูกโค่นแล้ว และเวลาผ่านไประยะหนึ่ง ข่าวลือที่เป็นในเชิงพุ่งเป้าไปในทางตรงข้ามกลับเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะในหมู่ผู้สังเกตการณ์ต่างประเทศ คือวงการทูตประเทศต่างๆ และผู้สื่อข่าวต่างชาติ (การพบปะสนทนาเรื่องกรณีสวรรคต ระหว่าง พระองค์เจ้าธานีนิวัต ประธานองคมนตรี กับ ลอร์ดหลุยส์ เมาท์แบตเต้น ที่อินเดีย ที่ปรีดี พาดพิงถึง ก็เกิดขึ้นในช่วงนี้เอง)

ในบริบทนี้เองที่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นั้นเอง ได้เกิดข่าวลือในพระนครว่า ควงและพี่น้องปราโมช กำลังวางแผนการใหญ่ ที่จะให้มีการออกประกาศเกี่ยวกับกรณีสวรรคต ซึ่งเกี่ยวข้องไปถึงองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระองค์เจ้าจุมภฎพงษ์บริพัตร ราชโอรสองค์ใหญ่ของกรมพระนครสวรรค์ ผู้อยู่ในอันดับที่ 4 ของการครองราชย์ต่อจากรัชกาลที่ 7 (ดูแผนภูมิที่ผมเคยเผยแพร่ก่อนหน้านี้)

บันทึกช่วยจำของเคนเน็ต แลนดอน ข้างล่างนี้ เขียนขึ้นเพื่อวิเคราะห์ข่าวลือที่ว่านี้ (ซึ่งดูเหมือนสถานทูตอเมริกันจะถือเป็นเรื่องน่าเชื่อถือ หรือไม่ก็น่าสนใจ หรือสำคัญ พอที่จะรายงาน) ในคำแปลบันทึกช่วยจำของผม (และในภาพถ่ายบันทึกช่วยจำที่โพสต์ให้ดูประกอบ) ผมเองได้เซ็นเซอร์ข้อความบางตอนออก เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกกล่าวหาว่าผิดกฎหมายได้ ( โดยเฉพาะในบริบทปัจจุบัน ใครที่สนใจ ลองดูหน้า 176 ของหนังสือที่โปรเจ้า-แอนตี้ปรีดีอย่างสุดๆ ของสรรใจ แสงวิเชียร และ วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย เรื่อง กรณีสวรรคต 9 มิถุนายน 2489 แล้วลองนึกเปรียบเทียบว่า ถ้ามีการเขียนเช่นนี้ในปัจจุบันจะทำได้หรือ? ระดับของการพูดถึงและอภิปรายเรื่องนี้ได้ เปลี่ยนแปลงไปในทางที่จำกัดแคบลงจนไม่เหลืออะไรเลยในปัจจุบัน เพียงไม่กี่ทศวรรษนี้เอง)


คำแปล
(ส่วนที่ใส่เครื่องหมาย [........] คือข้อความที่ผมเซ็นเซอร์)
บันทึกช่วยจำ

ขณะนี้รัฐบาลสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส และจีน ได้ตกลงเห็นชอบร่วมกันว่า หาก ควง อภัยวงศ์ ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรี และหากรัฐบาลของเขาได้รับเสียงสนับสนุนจากรัฐสภา ตัวแทนของรัฐบาลแต่ละประเทศดังกล่าวที่กรุงเทพก็จะให้การรับรองแก่รัฐบาลควงอย่างเป็นทางการ และความสัมพันธ์กับรัฐบาลสยามก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติต่อไป [ความสัมพันธ์ปกติถูกพักไว้หลังรัฐประหาร - สมศักดิ์] รัฐบาลของทั้งสี่ประเทศยังตกลงร่วมกันว่า หากคนอื่นที่ไม่ใช่ควงได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลของสี่ประเทศก็จะปรึกษาหารือกัน ก่อนที่จะให้การรับรองรัฐบาลสยามอย่างเป็นทางการ

รายงานล่าสุดเกี่ยวกับการลอบปลงพระชนม์ในหลวงอานันท์ ที่ว่า ควง กำลังเตรียมตัวที่จะประกาศว่า [........] ; ว่าในหลวงภูมิพลจะทรง [........] และว่า พระองค์เจ้าจุมภฏ จะทรง [........] ได้ทำให้เกิดเป็นปัจจัยใหม่ขึ้นมาในสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งอาจสร้างความปั่นป่วนอย่างถึงราก การแบ่งขั้วการเมืองในขณะนี้

ในปี 1945 [ที่ถูกควรเป็นปี 1944 มากกว่า - สมศักดิ์] ควง ได้รับการดันขึ้นสู่อำนาจทางการเมืองโดย ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งตอนนี้กำลังลี้ภัยในต่างประเทศ ความทะเยอทะยานของควงทำให้เกิดแตกหักกับปรีดีภายในเวลา 9 เดือน ในเดือนพฤศจิกายน 1947 ควงได้รับการดันขึ้นสู่อำนาจทางการเมืองอีก คราวนี้โดย พิบูล หลังจากพิบูลยึดอำนาจรัฐบาลจากปรีดีด้วยการรัฐประหาร เช่นเดียวกับปรีดี พิบูลคิดว่าควงจะเป็นเบี้ยที่เต็มใจและผู้ติดตามที่ว่านอนสอนง่าย แต่ดูเหมือนว่า อีกครั้งที่ควงเองกำลังเดินหมากการเมืองด้วยความทะเยอทะยานของตัวเอง ซึ่งอาจนำไปสู่การแตกหักกับพิบูล

พิบูลขัดแย้งอย่างมากกับข้อเสนอของควงที่ว่าในหลวงภูมิพล [........] และที่ให้ พระองค์เจ้าจุมภฏ [........] อาจจะเป็นความจริงที่ว่า ในหลวงภูมิพล [........] ผมเองได้เสนอความเป็นไปได้เช่นนี้ในบันทึกช่วยจำฉบับหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ก่อนหน้านี้. กล่าวในทางการเมือง ไม่เป็นสิ่งสำคัญว่า ในหลวงภูมิพล [........] หรือไม่ หากจุดมุ่งหมายเบื้องหลังการ [........] คือการจัดการให้ พระองค์เจ้าจุมภฏ [........] เพราะเรื่องนี้ก็จะเป็นเพียงความพยายามอย่างจงใจของควงที่จะฟื้นฟูอำนาจที่เคยมีอยู่ก่อน [2475] ของสถาบันกษัตริย์ และสถาปนาให้ควงเองและพี่น้องปราโมชเป็นผู้นำของคณะนิยมเจ้าและของประเทศสยาม ดูเหมือนควงและพี่น้องปราโมชหวังว่า พวกเขาจะสามารถรักษาอำนาจตัวเองไว้ได้หากพระองค์เจ้าจุมภฏทรง [........] เพราะพระองค์เจ้าจุมภฏเป็นบุคคลผู้มีวุฒิภาวะ [ประสูติ 2447 - สมศักดิ์] และมีทรัพย์สมบัติไม่น้อย ทรงมีประสบการณ์เกี่ยวกับการเมืองในราชสำนักเป็นเวลานาน มีผู้สนับสนุนพระองค์จำนวนมากในหมู่ชาวไทยและจีนในประเทศสยาม และทรงได้รับการผลักดันจากพระชายาผู้มีความทะเยอทะยาน ซึ่งในฐานะธิดาผู้หลักแหลมของอดีตเสนาบดีต่างประเทศของสยามผู้ชาญฉลาดที่สุดคนหนึ่ง [หมายถึง มรว.พันทิพย์ ธิดาคนแรกของพระองค์เจ้าไตรทศพันธ์ กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย - สมศักดิ์] ทรงมีความคุ้นเคยเป็นอย่างดีกับเกมการเมืองทั้งภายในประเทศและกับต่างประเทศ

สถานการณ์ปัจจุบันถูกทำให้ปั่นป่วนทางการเมืองเพิ่มขึ้นอีกจากบทบาทคอร์รัปชั่นของหลวงกาจสงครามผู้ให้การสนับสนุนควง และผู้ควบคุมกำลังทหารบางส่วนสำคัญไว้ด้วย การปฏิบัติแบบคอร์รัปชั่นของหลวงกาจสร้างความไม่พอใจให้กับพิบูล ซึ่งถือว่าการคอร์รัปชั่นเช่นนี้เป็นอภิสิทธิ์ของเขาเองและต้องการให้ลูกน้องอย่างหลวงกาจ ได้รับส่วนแบ่งในการโกงกินน้อยกว่าเขา ยิ่งกว่านั้น เนื่องจากพิบูลเองคอร์รัปชั่นจนรวยแล้ว จึงสามารถแสดงท่าทีเป็นผู้มีคุณธรรมต่อกรณีคอร์รัปชั่นของหลวงกาจได้ เพื่อสร้างชื่อเสียงให้แก่ตัวเองทั้งในประเทศและต่อต่างชาติ

พิบูลกับปรีดีเป็นคู่ปฏิปักษ์ทางการเมืองในคณะพรรคเดียวกัน ทั้งคู่คัดค้านการรื้อฟื้นอำนาจให้สถาบันกษัตริย์พอๆกัน พวกเขาไม่มีปัญหากับกษัตริย์องค์ปัจจุบัน เพราะยังทรงพระเยาว์และไม่มีบริวารส่วนพระองค์ หมากครั้งนี้ของควงอาจทำให้พิบูลกับปรีดีหันมาคืนดีกันเพราะกลัวต่อความเป็นไปได้ [specter] ที่พระองค์เจ้าจุมภฏ [........] ควงกับพวกกำลังพยายามสร้างคณะการเมืองอีกคณะหนึ่งที่ต่างออกไปจากคณะที่แตกออกเป็นพวกปรีดีและพวกพิบูล [หมายถึงคณะราษฎ - สมศักดิ์] ควงไม่มีทางประสบความสำเร็จหากเขาได้รับการสนับสนุนเพียงจากหลวงกาจและกำลังทหารที่หลวงกาจคุม และจากพระองค์เจ้าจุมภฏและบริวารพวกนิยมเจ้า การสนับสนุนจากพิบูลเป็นสิ่งจำเป็นหากควงอยากจะมีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ

หากเค้าลางในขณะนี้ของการหันมาคืนดีกันระหว่างพิบูลกับปรีดียังคงมีต่อไป เราก็อาจจะได้เห็นสถานการณ์พัฒนาไปเป็นแบบเดียวกับเดือนธันวาคม 1938 เมื่อ พิบูลกับปรีดี รู้สึกว่า ต้องการอีกฝ่ายหนึ่ง และร่วมมือกันจัดต้งรัฐบาลผสมขึ้นมา

ความเห็นต่อท้ายเพิ่มเติม
ดังที่ทราบกันดี specter เรื่องพระองค์เจ้าจุมภฏกับแผนการใหญ่ของควงกับพี่น้องปราโมช ที่ แลนดอน พูดถึงนี้ ไม่ได้ปรากฏเป็นจริง แต่เป็นเรื่องน่าสนใจไม่น้อย ที่ "ฉาก" ที่ใกล้เคียงกับที่ แลนดอน พูดนี้ คือ specter ในลักษณะเดียวกัน (แต่เกี่ยวข้องกับคนละ actor) ได้ปรากฏขึ้นจริงๆในอีก 9 ปีต่อมา และพิบูลกับปรีดี ได้พยายามหันมาคืนดีกันจริงๆ แต่สายเกินไป (ดูบทความเรื่อง "ปรีดี, จอมพล ป., กรณีสวรรคต และรัฐประหาร 2500" และ "จุดเปลี่ยน 2500" ของผม)



ดูเพิ่มเติม : ข่าวลือเรื่องควงและพี่น้องปราโมชวางแผนสถาปนาให้พระองค์เจ้าจุมภฏเป็นกษัตริย์ ในปี 2491