Wednesday, March 03, 2010

พระราชหัตถเลขาสละราชย์ ร.7: ชีวประวัติของเอกสารฉบับหนึ่ง

เขียนร่วมกับ ประจักษ์ ก้องกีรติ



ข้อความการเมืองที่รู้จักกันดีที่สุดในสังคมไทยปัจจุบันมีอยู่ 2 ข้อความคือ “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” และตอนหนึ่งในพระราชหัตถเลขาสละราชย์ของรัชกาลที่ 7 ที่ว่า
ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่สละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยฉะเพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร

สำหรับผู้ที่สนใจในปฏิกิริยาแรกๆที่มีต่อข้อความที่หนึ่ง ขอแนะนำให้อ่านความเห็นของ “นายผี” (อัศนี พลจันทร) ในบทกวีขนาดยาวเรื่อง “ความเปลี่ยนแปลง” ที่เขาแต่งเพื่อให้กำลังใจอุทธรณ์ พลกุลนักหนังสือพิมพ์ชื่อดังและญาติของเขาที่กำลังถูกจับในกรณีกบฏสันติภาพ 2495

ในที่นี้ เราจะพยายามสืบสาวให้เห็นว่า ข้อความที่สอง ที่เป็นตอนหนึ่งในพระราชหัตถเลขาสละราชย์ของรัชกาลที่ 7 ได้กลายมาเป็นที่รู้จักกันดีได้อย่างไร

ดังที่บทความเรื่อง “ร.7 สละราชย์” ข้างต้น ได้ชี้ให้เห็น, ความขัดแย้งที่ ร.7 มีต่อคณะราษฎรอันนำไปสู่การสละราชย์ในเดือนมีนาคม 2477 (2478 ตามปฏิทินปัจจุบัน) นั้น ไม่เกี่ยวกับประชาธิปไตยแต่อย่างใด แต่คือการที่ทรงพยายามต่อรองขอเพิ่มพระราชอำนาจของพระองค์เองในระดับที่คณะราษฎรไม่อาจยอมรับได้ เดิมทีเดียว ร.7 เพียงแต่ใช้การขู่สละราชย์เป็น “อาวุธ” ต่อรองเท่านั้น แต่เมื่อขู่มากๆเข้าแล้วอีกฝ่ายไม่ยอมทำตาม จึงต้องทรงสละราชย์จริงๆ

อย่างไรก็ตาม ในการที่ทรงนิพนธ์พระราชหัตถเลขาสละราชย์นั้น ร.7ทรงหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวถึงข้อเรียกร้องรูปธรรมของพระองค์ แต่ทรงหันเข้าหาหลักการประชาธิปไตยอันสูงส่งแทน (เช่น การที่รัฐบาลไม่ยอมให้พระองค์มีบทบาทในกระบวนการทางเมืองมากขึ้นกลายเป็น “คณะรัฐบาล…ไม่ยินยอม…ให้ราษฎรได้มีโอกาสออกเสียงก่อนที่จะเปลี่ยนหลักการและนโยบายสำคัญอันมีผลได้เสียแก่ราษฎร” ฯลฯ) ซึ่งทำให้พระราชหัตถเลขามีศักยภาพที่จะกลายเป็นเอกสารสำหรับใช้โฆษณาชวนเชื่อต่อต้านรัฐบาลไปทันที อันที่จริง อาจกล่าวได้ว่านั่นเป็นพระราชประสงค์ของพระองค์ด้วย เห็นได้จากการที่ทรงมีพระบรมราชโองการมายังรัฐบาลว่า “ขอให้ประกาศพระราชหัตถ?เลขาทรงสละราชสมบัตินั้นแก่ประชาชนให้ทราบทั่วกันด้วย” (หนังสือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ถึงพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา, 4 มีนาคม 2477)

นอกจากนี้ เข้าใจว่าจะได้ทรงแจกจ่ายพระราชหัตถเลขาไปยังหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆในอังกฤษเพื่อให้มีการตีพิมพ์เผยแพร่ทันทีด้วย เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศหัวหน้าคณะผู้แทนรัฐบาลที่ไปเจรจากับร.7มีโทรเลขแจ้งมายังกรุงเทพเมื่อวันที่ 3 มีนาคม ว่า “ได้มีหนังสือพิมพ์ในประเทศอังกฤษบางฉะบับ เช่น หนังสือพิมพ์ Times ได้ลงข่าวมีข้อความอันไม่เป็นผลดี (Unfavourable) แก่รัฐบาลอยู่มาก ทั้งยังได้ลงข้อความในพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติโดยถี่ถ้วนอีกด้วย” ทำให้คณะผู้แทนต้องแถลงแก้ข่าวแก่หนังสือพิมพ์และสำนักข่าวต่างๆ

จึงไม่น่าแปลกที่รัฐบาลขณะนั้นจะพยายามควบคุมการเสนอข่าวเกี่ยวกับการสละราชสมบัติของหนังสือพิมพ์ในประเทศสยามเองอย่างเข้มงวด ให้ตีพิมพ์เฉพาะเอกสารที่รัฐบาลส่งให้เท่านั้น (ดู “เรื่องประชุมหนังสือพิมพ์” ประชาชาติรายวัน 8 มีนาคม 2477 และบทบรรณาธิการแสดงความไม่พอใจในการควบคุมข่าวนี้ของรัฐบาลใน ประชาชาติรายวัน 12 และ 14 มีนาคม 2477)

โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวพระราชหัตถเลขาสละราชย์ทั้งฉบับนั้น รัฐบาลเพิ่งให้มีการตีพิมพ์ในเดือนพฤษภาคม 2478 (คือสองเดือนหลังการสละราชย์ เพราะขณะนั้นเริ่มปีใหม่ในเดือนเมษายน) โดยพิมพ์อยู่ในหนังสือที่รวบรวมเอกสารทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาต่อรองระหว่างตัวแทนรัฐบาลกับ ร.7 (แถลงการณ์เรื่องพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ. โรงพิมพ์ศรีกรุง, 2478) แน่นอนว่า ไม่ว่า ร.7 จะทรงร่างพระราชหัตถเลขาสละราชย์ให้ออกมาดีกับพระองค์และไม่ดีกับรัฐบาลเพียงไร แต่เมื่อนำมารวมกับเอกสารอื่นๆในกรณีนี้ ก็เป็นไปได้ที่ผู้อ่านจะเห็นว่าในความขัดแย้งนี้ ร.7ทรงเป็นฝ่ายที่เรียกร้องพระราชอำนาจให้แก่พระองค์เองอย่างไม่มีเหตุผล ศักยภาพของการเป็นเอกสารต่อต้านรัฐบาลของพระราชหัตถเลขาก็ถูก “กลบ” ไปโดยปริยาย

ในทางกลับกัน ประวัติศาสตร์ของ “พลัง” การเมืองที่เพิ่มมากขึ้นของพระราชหัตถเลขาสละราชย์ ก็คือประวัติศาสตร์ของการที่เอกสารนี้ถูกดึงให้แยกออกมาจากเอกสารอื่นๆที่เป็น “ภูมิหลัง” (backgrounds) และห้อมล้อมอยู่ในปี 2478 จนในที่สุด คือการดึงเอาเฉพาะข้อความเพียง 2-3 บรรทัด ออกมาจากตัวเอกสารทั้งฉบับ (“ข้าพเจ้ามีความเต็มใจ…โดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร”) นั่นเอง

ช่วงเวลาประมาณ 10 ปีหลังจากร.7สละราชย์และในหลวงอานันท์ซึ่งยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะขึ้นครองราชย์โดยที่ยังทรงพำนักอยู่ในต่างประเทศ เป็นช่วงเวลาที่กลุ่มผู้ปกครองใหม่มีอำนาจอย่างแท้จริงขณะที่กลุ่มนิยมเจ้ามีฐานะตกต่ำทางการเมืองที่สุด อย่างไรก็ตามระหว่างปลายสงครามโลกครั้งที่สองและหลังสงครามใหม่ๆ ที่ปรีดี พนมยงค์ได้เป็นใหญ่ทางการเมืองแทนจอมพล ป. ส่วนหนึ่งเพราะต้องการสร้างความสามัคคีเพื่อ “ต่อต้านญี่ปุ่น” ปรีดีได้จัดการหรือเปิดทางให้มีการรื้อฟื้นสถานะของพวกนิยมเจ้าขึ้นทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เช่น อภัยโทษผู้ที่ถูกขังตั้งแต่คดีกบฏบวรเดช ที่สำคัญที่สุดคือการปล่อยและคืนฐานันดรศักดิ์ให้แก่ กรมขุนชัยนาท นเรนทร รวมทั้งการกราบบังคมทูลเชิญให้ในหลวงอานันท์เสด็จนิวัตพระนคร (ปรีดีเสนอให้ทรงประทับในประเทศอย่างถาวร แต่ทรงยืนยันจะกลับไปศึกษาต่อ ทรงสวรรคตก่อนเดินทางกลับเพียงไม่กี่วัน) ประกอบกับการเริ่มเข้ามามีบทบาททางการเมืองของคนอย่างม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช (เพราะปรีดีเองเรียกมา) และม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ในอีกไม่กี่ปีหลังจากนั้น และการที่คนอย่างนายควง อภัยวงศ์แยกตัวออกไปเข้ากับพวกนี้ (เพราะผิดหวังที่ปรีดีไม่สนับสนุนให้เป็นนายกฯอีกครั้ง)

ภายใต้บรรยากาศเช่นนี้ เริ่มมีการพูดถึงร.7 และความขัดแย้งที่ทรงมีต่อคณะราษฎรในแง่ที่เป็นผลดีต่อพระองค์ขึ้นเป็นครั้งแรก (ก่อนหน้านี้ในปี 2482 คำพิพากษาของศาลพิเศษที่รัฐบาลตั้งขึ้น ได้กล่าวโจมตีพระองค์อย่างรุนแรง) ในปี 2489 เปรมจิตร วัชรางกูร ได้ตีพิมพ์สารคดีการเมืองชื่อ พระปกเกล้ากับชาติไทย โดยเขียนคำอุทิศว่า “ความดีของเรื่องนี้ ถ้าหากจะมีข้าพเจ้าขออุทิศถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ผู้อาภัพของชาติไทย” และคำนำว่า “แม้พระองค์จะทรงกระทำความดี จะทรงเจตนาดีต่อประเทศชาติสักเพียงใดก็ตาม แต่เหตุการณ์ทางการเมืองในสมัยนั้นและสมัยต่อมาบีบบังคับอยู่ หามีใครอาจเผยออกได้ไม่ ภายหลังที่พระองค์ได้ทรงสละราชสมบัติแล้ว ก็ยังมีเสียงกล่าวร้ายต่อพระองค์อยู่เสมอ” ในตัวหนังสือ เปรมจิตรยังได้โจมตีว่ารัฐบาลคณะราษฎรปกครองประเทศในลักษณะเผด็จการ บีบคั้นเสรีภาพของพลเมือง และร.7เป็นผู้ทรงขอร้องให้รัฐบาลสมัยนั้นปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เขาได้นำเอาพระราชหัตถเลขาสละราชย์มาตีพิมพ์ทั้งฉบับด้วย

อย่างไรก็ตาม ตราบเท่าที่ปรีดีหรือแม้แต่จอมพลป. หรืออดีตผู้นำคณะราษฎรคนใดคนหนึ่ง ยังเป็นใหญ่ทางการเมือง อาจกล่าวได้ว่า การรื้อฟื้นพระเกียรติร.7 อย่างรอบด้านเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เพราะจะกระทบโดยตรงถึงผู้นำเหล่านี้ ต้องรอจนหลังจากสฤษดิ์ทำรัฐประหารปี 2501 และดำเนินนโยบายรื้อฟื้นสถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์อย่างขนานใหญ่

หนังสือประเภทสารคดีการเมือง 2 เล่มที่ตีพิมพ์ในปี 2505 คือ ประวัติศาสตร์ไทยในระบอบประชาธิปไตย 30 ปี ของ สิริ เปรมจิตต์ และ แผ่นดินสมเด็จพระปกเกล้า ของ วิชัย ประสังสิต เป็นตัวอย่างของงานที่เขียนถึง ร.7 อย่างเชิดชูนับตั้งแต่ยุคสฤษดิ์เป็นต้นมา ทั้งคู่ได้เอาพระราชหัตถเลขาสละราชย์มาตีพิมพ์ทั้งฉบับ วิชัยได้ย้ำถึงความเป็นนักประชาธิปไตยที่แท้จริงของพระองค์และกล่าวว่า “พระองค์ได้ทรงสละราชสมบัติในเมื่อพระองค์ทรงเห็นว่า รัฐบาลสมัยนั้นไม่อาจอำนวยความผาสุกให้แก่ประชาชนได้สมพระหฤทัยของพระองค์” ซึ่งเป็นการอธิบายที่ตรงกับ ร.7เองในพระราชหัตถเลขาสละราชย์ เขายังได้เสนอให้รัฐบาลสมัยนั้นสร้างพระบรมราชานุสาว-รีย์ ร.7 ไว้ให้ประชาชนเคารพสักการะในฐานะที่ทรงวางรากฐานประชาธิปไตยจนประเทศไทยเจริญรุ่งเรืองสืบมา

หลังการตายของสฤษดิ์ พันธมิตรระหว่างราชสำนักกับรัฐบาลทหารเริ่มแตกสลายลง (นี่เป็นกระบวนการสำคัญที่น่าจะมีการศึกษา ซึ่งจะนำไปสู่ความเข้าใจการเกิดของ “ขบวนการ 14 ตุลา”) แต่มรดกการเชิดชูสถาบันกษัตริย์ของสฤษดิ์ไม่ได้สูญหายตามไปด้วย แต่กลับ “มีชีวิตเป็นอิสระ” ของตัวเองขึ้นมา ยิ่งกว่านั้น พร้อมๆกับการเริ่มกระแสความไม่พอใจรัฐบาลทหารในหมู่ปัญญาชนในเมืองในช่วงปลายทศวรรษ 2500 ต่อต้นทศวรรษ 2510 การยกย่องสถาบันกษัตริย์ (ซึ่งการยกย่อง ร.7 เป็นส่วนหนึ่ง) ก็ได้เริ่มมีนัยยะของการโจมตีรัฐบาลทหารควบคู่กันไปด้วย คำที่ ร.7ทรงวิจารณ์คณะราษฎรจึงถูกยืมมาใช้เป็นคำวิจารณ์รัฐบาลทหารของปัญญาชนในสมัยนั้นไปด้วย

ในปี 2508 จงกล ไกรฤกษ์ ตีพิมพ์ ตัวตายแต่ชื่อยัง โดยมีพระยาศราภัยพิพัฒน์เขียนคำนำให้ ในคำนำนี้เองที่ข้อความ “ข้าพเจ้ามีความเต็มใจ….โดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร” ได้ถูกหยิบยกแยกออกมาจากตัวพระราชหัตถเลขาสละราชย์ทั้งฉบับเป็นครั้งแรก พระยาศราภัยฯเขียนว่า (การเน้นข้อความเป็นของพระยาศราภัยฯเองทั้งหมด)
ข้าพเจ้ายังต้องขอบคุณอีกเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญยิ่งยวด…ที่นำเอาพระราชหัตถเลขาสละราชบัลลังก์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมาพิมพ์ไว้ด้วย ข้าพเจ้าอ่านหลายครั้งแล้วมีความตื้นตันและขนลุกซ่าทุกครั้ง

เมื่อทรงเห็นว่ารัฐบาลไทยในสมัยนั้นมิได้ปฏิบัติถูกต้องตามทำนองคลองธรรมประชาธิปไตย อาศัยแต่พระราชกฤดาภินิหารเป็นเครื่องกำบังหน้าบริหารราชการประเทศ เพื่อประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้องเท่านั้น จึงทรงสละราชสมบัติเสียดีกว่า ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งที่ทรงไว้ว่า

“ข้าพเจ้าเห็นว่าคณะรัฐบาลและพวกพ้อง ใช้วิธีการปกครองซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักการของเสรีภาพในตัวบุคคล และหลักความยุติธรรมตามความเข้าใจและยึดถือของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่สามารถที่จะยินยอมให้ผู้ใด คณะใดใช้วิธีการปกครองอย่างนั้นในนามของข้าพเจ้าต่อไปได้ ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรทั่วไป ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติและออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์แต่บัดนี้เป็นต้นไป ฯลฯ”

ผู้ที่ได้อ่านพระราชหัตถเลขาฉบับนี้เป็นครั้งแรก ตื้นตันและเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ถึงน้ำตาไหลเป็นจำนวนมาก ยิ่งกว่าเวลาเสด็จสวรรคตที่ประเทศอังกฤษเสียอีก
นี่เป็นครั้งแรกที่มีการคัดข้อความเพียงบางส่วนจากพระราชหัตถเลขาสละราชย์มาอ้างอิง แม้ข้อความที่คัดมาจะไม่ตรงกับข้อความที่รู้จักกันดีในภายหลัง เพราะพระยาศราภัยพิพัฒน์เอาข้อความจากหลายย่อหน้ามาเชื่อมต่อกันเอง (ประโยค “ข้าพเจ้า…แก่ราษฎรทั่วไป” ถูกพิมพ์ด้วยตัวใหญ่พิเศษ)

ทั้งพระยาศราภัยฯและจงกล ไกรฤกษ์เป็นอดีตผู้ต้องขังคดีกบฏบวรเดช งานประเภทบันทึกความทรงจำของคนเหล่านี้ได้รับการตีพิมพ์ก่อน 14 ตุลาไม่นาน (ที่สำคัญอีกกรณีหนึ่งคืองานของนิมิตรมงคล นวรัตน์ อดีตนักโทษคดีบวรเดชเช่นกัน) และได้รับความสนใจจากปัญญาชนรุ่นใหม่ที่ต้องการเรียนรู้ประวัติศาสตร์การเมืองสมัย 2475 แต่ไม่สามารถหาความรู้ได้จากแหล่งอื่น เพราะยังไม่มีงานทางวิชาการสำเร็จรูปให้อ่านกันอย่างในปัจจุบัน ยิ่งกว่านั้นในเวลาใกล้กันนี้ ยังเป็นช่วงเดียวกับที่ปัญญาชนรุ่นใหม่ 2 คนที่เติบโตขึ้นมาในครอบครัวและสภาพแวดล้อมแบบนิยมเจ้าแต่ได้รับการศึกษาฝึกฝนทางวิชาการสมัยใหม่แบบตะวันตกเริ่มก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญทางสังคม: สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และ ชัยอนันต์ สมุทวณิช

สุลักษณ์แม้จะไม่ได้เขียนเรื่องร.7โดยตรง แต่งานของเขาในช่วงนี้มีลักษณะนิยมเจ้าแอนตี้คณะราษฎรอย่างชัดเจน และในปี 2511 สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ที่เขาเป็นบรรณาธิการได้ตีพิมพ์บทความของ ทองต่อ กล้วยไม้ ณ อยุธยา เรื่อง “พระปกเกล้าฯสละราชสมบัติ” หลังจากพูดถึงเหตุการณ์ทางการเมืองก่อนสละราชสมบัติแล้ว ทองต่อกล่าวว่า
ดังนั้น เมื่อพระองค์ทรงเห็นว่ารัฐบาลและพวกพ้องใช้วิธีการปกครองไม่ตรงกับหลักการของพระองค์ พระองค์ก็ไม่ทรงสามารถยินยอมให้ผู้ใด คณะใดใช้วิธีการปกครองอย่างนั้นในพระนามของพระองค์ได้ ในพระราชหัตถเลขาทรงสละราชสมบัติ ได้ทรงแถลงข้อความไว้ตอนหนึ่งน่าจับใจยิ่งว่า

“ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่สละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยฉะเพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร”

และเมื่อพระองค์ทรงเห็นว่า พระราชประสงค์ของพระองค์ที่จะให้มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงไม่สำเร็จ และเมื่อพระองค์ไม่สามารถจะคุ้มครองประชาชนได้ต่อไปแล้ว พระองค์ก็ทรงมีน้ำพระทัยกล้าหาญเด็ดเดี่ยวและเสียสละยิ่ง ด้วยการสละราชสมบัติ เพื่อเปิดหนทางให้ผู้เหมาะสมกว่ามาทำหน้าที่แทนพระองค์ต่อไป
นี่เป็นครั้งแรกที่ข้อความจากพระราชหัตถเลขาสละราชย์ปรากฏขึ้นในรูปแบบที่ที่รู้จักกันดีในปัจจุบัน โดยเฉพาะเป็นการปรากฏตัวใน สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ซึ่งมีอิทธิพลสูงสุดในหมู่ปัญญาชนสมัยนั้นก็ยิ่งมีความสำคัญอย่างมหาศาล

สามปีต่อมา ชัยอนันต์และคณะตีพิมพ์ สัตว์การเมือง ซึ่งเป็นรวมบทความทางวิชาการเกี่ยวกับการเมืองไทยตั้งแต่สมัย 2475 ถึงปีนั้น บทความในเล่มของชัยอนันต์เอง “การปูพื้นฐานการปกครองแบบประชาธิปไตยในสมัยราชาธิปไตย” นำเอาพระราชหัตถเลขาสละราชย์ทั้งฉบับมาตีพิมพ์เป็นภาคผนวก ข้อสรุปพื้นฐานของเขาที่ว่า ร.7ได้พยายามสถาปนาประชาธิปไตยแล้วอย่างค่อยเป็นเป็นไป เพราะทรงเข้าใจดีว่าราษฎรไทยยังไม่พร้อม แต่คณะราษฎรกลับมาชิงลงมือยึดอำนาจเสียก่อน (รัฐประหารไม่ใช่ปฏิวัติ) อ้างว่าเพื่อประชาธิปไตยแต่กลับใช้อำนาจเผด็จการ จึงทรงทนไม่ได้สละราชย์เพื่อประท้วงนั้น ไม่แตกต่างจากสารคดีการเมืองนิยมเจ้าทั้งหลายที่กล่าวถึงข้างต้น สิ่งที่แตกต่างออกไป (ซึ่งมีความสำคัญ) คือ เป็นครั้งแรกที่วิธีการแบบวิชาการสมัยใหม่ (methodology) เช่น การวิพากษ์หลักฐาน ถูกนำมาใช้สนับสนุนข้อสรุปแบบนี้

สัตว์การเมือง ของชัยอนันต์ เป็นจุดเริ่มต้นของงานวิชาการเกี่ยวกับ 2475 ที่มีลักษณะนิยมเจ้าแอนตี้คณะราษฎร ซึ่งครอบงำวงวิชาการสมัยใหม่ของไทย (ซึ่งโดยตัวเองเป็นสิ่งใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น) ตลอดช่วงทศวรรษ 2510 ถึงต้นทศวรรษต่อมา ซึ่งรวมถึงงานของชัยอนันต์เองอีกจำนวนมากและงานของสุวดี เจริญพงศ์, สนธิ เตชานันท์, วัลย์วิภา จรูญโรจน์ และ เบนจามิน เอ แบ็ตสัน (ในภาษาอังกฤษ ฉบับภาษาไทยเพิ่งได้รับการตีพิมพ์เมื่อเร็วๆนี้) งานศึกษา 2475 ในแนวใหม่ที่เชียร์คณะราษฎรและปรีดี เพิ่งขึ้นมาครอบงำหลังกลางทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา

ภายใต้บรรยากาศทางภูมิปัญญาแบบนิยมเจ้าในต้นทศวรรษ 2510 เช่นนี้เอง จึงไม่น่าแปลกใจที่นักกิจกรรมนักศึกษาที่ต่อต้านรัฐบาลในขณะนั้นจะรับเอาพระราชหัตถเลขาสละราชย์มาเป็น “เสียง” ของตน จุดสุดยอดมาถึงเมื่อธีรยุทธ บุญมีกับกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญนำเอาข้อความ “ข้าพเจ้ามีความเต็มใจ…โดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร” มาตีพิมพ์เป็นหน้าปกจุลสารเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่พวกเขาเดินแจกจนถูกจับในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2516 (เป็นไปได้หรือไม่ที่ธีรยุทธกับเพื่อนจะอ่านเจอและเอามาจากบทความของทองต่อ?)

ใบปลิวที่ธีรยุทธกับเพื่อนแจกพร้อมกับจุลสาร ขึ้นต้นว่า
พี่น้องประชาชนไทยที่รัก

นับตั้งแต่ครั้งเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ.2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราชปณิธานอย่างแน่ชัดว่า

“ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่สละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยฉะเพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร”

แต่ตลอด 41 ปีที่ผ่านมา อำนาจหาได้เคยตกถึงมือประชาชนไม่ คนไทยยังไม่ได้มีส่วนร่วมในการต่อสู้เพื่อสิทธิ เสรีภาพและผลประโยชน์ของตนอย่างแท้จริง การละเมิดสิทธิ เสรีภาพและผลประโยชน์ของประชาชนยังปรากฏขึ้นทั่วๆไป อันทำความยุ่งยากเดือดร้อนอดอยากแร้นแค้นให้เกิดแก่พี่น้องชาวไทยนานัปการ
ท้ายใบปลิวคือชื่อผู้ร่วมเรียกร้องรัฐธรรมนูญ 100 คน

ความยิ่งใหญ่ (ทั้งในเชิงขนาดและผลสะเทือน) ของเหตุการณ์ 14 ตุลาทำให้หลายอย่างที่มีส่วนสัมพันธ์กับมันทั้งโดยตรงโดยอ้อมถูกยกระดับให้มีความสำคัญเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองอย่างถาวรทั้งๆที่ก่อนหน้านี้อาจจะไม่เคยมีความหมายมากเท่าไร เช่น ถนนราชดำเนิน, อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย, และข้อความจากพระราชหัตถเลขาสละราชย์ อาจกล่าวได้ว่าในบรรดาผลลัพท์ทั้งหลายของ 14 ตุลา ผลลัพธ์อย่างหนึ่งซึ่งต้องถือเป็น historical irony (การประชดประชันทางประวัติศาสตร์) ก็คือการสถาปนาข้อความนี้ให้กลายเป็นสัญลักษณ์หรือคำขวัญประชาธิปไตยไป

หลังจาก 14 ตุลา การปรากฏตัวของข้อความดังกล่าวก็เป็นเพียงการยืนยันหรือสร้างความมั่นคงให้กับความเป็นสัญลักษณ์นี้ เช่น แม้แต่ใน วารสารอมธ.ฉบับพิเศษ 14 ตุลาคม วันมหาปิติ ปี 2517 (ซึ่งได้รับอิทธิพล พคท.!) หรือในเดือนมกราคม 2518 เมื่อกรมไปรษณีย์โทรเลข พิมพ์แสตมป์ชุด 14 ตุลาคมรำลึก ออกจำหน่ายซึ่งมีอยู่ 4 รูป คือ แสตมป์ 75 สต. เป็นรูปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย, 2 บาท และ 2.75 บาทเป็นภาพปั้นนูนที่เป็นส่วนล่างของปีกอนุสาวรีย์, และแสตมป์ 5 บาทเป็นภาพพานรัฐธรรมนูญและมีข้อความ “ข้าพเจ้ามีความเต็มใจ…โดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร” พิมพ์ซ้อนทับลงไป

วันที่ 10 ธันวาคม 2523 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพระราชพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พระปกเกล้าที่หน้ารัฐสภา ซึ่งเป็นพระบรมรูปขนาดหนึ่งเท่าครึ่งพระองค์จริงในฉลองพระองค์และบนพระนั่งแบบเดียวกับที่ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญในปี 2475 ทุกประการ ที่ฐานของพระบรมราชานุสาวรีย์คือข้อความ “ข้าพเจ้ามีความเต็มใจ…โดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร” โดยไม่มีพระราชประวัติจารึกไว้เลย ต่างจากพระบรมราชานุสาวรีย์อื่นๆ

พระบรมราชานุสาวรีย์ ร.7 นี้เป็นผลมาจาก 14 ตุลาอย่างชัดเจนเพราะเมื่อมีการเสนอให้สร้างครั้งแรกในปี 2512 คณะรัฐมนตรีสมัยนั้นไม่เคยนำเรื่องเข้าพิจารณาเลย จนในเดือนมกราคม 2517 สมาชิกสภานิติบัญญัติที่เกิดขึ้นจาก 14 ตุลา (ที่รู้จักกันในนาม “สภาสนามม้า”) จำนวนหนึ่งได้เสนอให้สร้างอีก และรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ (ที่มาจาก 14 ตุลาเช่นกัน) ลงมติเห็นชอบและให้สำนักเลขาธิการรัฐสภาเป็นเจ้าของเรื่องดำเนินการจนสำเร็จมีพระราชพิธีเปิดได้ในสมัยรัฐบาลเปรม

หลังจากนี้แล้วข้อความจากพระราชหัตถเลขาสละราชย์ดังกล่าวได้ถูกนำไปอ้างอิงอย่างแพร่หลายในงานเขียนต่างๆจำนวนมากจนไม่สามารถ (และไม่จำเป็น) ที่จะรวบรวมมาไว้ในที่นี้ได้หมด ข้างล่างเป็นเพียงบางตัวอย่างที่สำคัญ:

ในหนังสือ อนุสสติ 60 ปีประชาธิปไตย ซึ่งพิมพ์ขึ้นในวาระครบรอบ 60 ปีของการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 และบังเอิญเป็นช่วงที่สังคมไทยเพิ่งผ่านเหตุการณ์ 17 พฤษภาคม 2535 ได้เพียงเดือนเดียว ความพยายามที่จะเชื่อมโยงเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเข้ากับประวัติศาสตร์กว่าครึ่งศตวรรษที่แล้วเห็นได้อย่างชัดเจนจากการที่ผู้จัดพิมพ์ได้อัญเชิญพระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2535 มาพิมพ์ไว้เป็น “อนุสสติ” ในหน้าแรกๆของหนังสือ. แต่แทนที่จะมีข้อความของคณะราษฎรที่เป็นผู้เริ่มต้น “60 ปีประชาธิปไตย”, ในหน้าแรกก่อนพระราชกระแสของ 2 พระองค์ดังกล่าวกลับเป็นข้อความ “ข้าพเจ้ามีความเต็มใจ…” จากพระราชหัตถเลขาสละราชย์ของ ร.7

ห้าปีต่อมา ในหน้า 2 ของ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับประชาชน ที่สภาร่างรัฐธรรมนูญตีพิมพ์แจกจ่าย มีภาพ ร.7 กำลังพระราชทานรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 เหนือภาพเขียนว่า “2475 ราชประชาสมาสัย” ใต้ภาพคือข้อความ “ข้าพเจ้ามีความเต็มใจ…” เช่นเดียวกับการรณรงค์ “ปฏิรูปการเมือง” โดยทั่วไป, ไม่มีการอ้างอิงถึงคณะราษฎรแต่อย่างใด

แน่นอนว่า ถึงตอนนี้ข้อความดังกล่าวได้ถูกแยกออกจากพระราชหัตถเลขาสละราชย์ซึ่งโดยตัวเองก็ถูกแยกออกจากข้อเท็จจริงของการต่อรองขอเพิ่มอำนาจที่ ร.7 ทำต่อรัฐบาลคณะราษฎรในปี 2477 โดยสิ้นเชิงแล้ว เราจึงพบว่า ในปี 2538 เมื่อนักวิชาการคนหนึ่ง (ธีรภัทร เสรีรังสรรค์) ไปสัมภาษณ์ท่านผู้หญิงพูนสุข พนมยงค์ว่า “แล้วที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯมีข้อเขียนที่เกี่ยวกับทรงสละราชสมบัติที่ว่า พระองค์ท่านยินดีที่มอบอำนาจให้กับประชาชนใช่ไหมครับ มิได้ให้แก่คณะใด บุคคลใด ทางคณะราษฎรหรืออาจารย์ปรีดี ท่านมีความคิดเห็นอย่างไรบ้างครับ?” ท่านผู้หญิงก็สามารถตอบด้วยความจริงใจอย่างยิ่งว่า “ก็เห็นด้วยนะคะ ยังเอาหลักนี้มาใช้” (!?) หรือในเดือนพฤษภาคม 2543 ในระหว่างงานฉลอง 100 ปีปรีดี พนมยงค์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในรายการอ่านบทกวีสดุดีปรีดี พนมยงค์ โดยเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ มีการฉายสไลด์ประกอบ หนึ่งในภาพสไลด์ก็คือข้อความที่เขียนขึ้นเพื่อโจมตีปรีดีกับคณะนั่นเอง: “ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิม….”!