Friday, November 16, 2007

วิวาทะกับ จอน อึ๊งภากรณ์ ว่าด้วยปัญหา ป๋วย อึ๊งภากรณ์ กับ ระบอบสฤษดิ์



หมายเหตุ ดังที่ผู้อ่านเว็บบอร์ดนี้ได้ทราบ เมื่อเร็วๆนี้ ผมได้โพสต์กระทู้เกี่ยวกับปัญหาว่าจะอธิบายการที่ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ทำงานรับใช้ระบอบสฤษดิ์ อย่างไร (ซึ่งเป็นปฏิกิริยาต่อเนื่องจากที่มีผุ้อื่นโพสต์กระทู้อภิปราย บทบาทของ ดร.ป๋วย และ ท่าทีของ “สังคมไทย” มีต่อ ดร.ป๋วย) เมื่อไม่กี่วันมานี้ อ.จอน อึ๊งภากรณ์ ได้กรุณาโพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นต่อกระทู้ของผม ผมเห็นว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นน่าสนใจ จึงขอนำทั้งข้อความของ อ.จอน และการตอบของผม มาโพสต์ แยกเป็นกระทู้ใหม่ ต่างหากในที่นี้


ข้อความของ จอน อึ๊งภากรณ์

ผมต้องยอมรับว่าผมเองไม่รู้คำตอบของคำถามที่อจ.สมศักดตั้งขึ้น เพราะผมไม่รุ้จักคุณพ่อมากนักในแง่การทำงานและความคิดในการทำงานในสมัยนั้น ผมเลยขอตั้งข้อสังเกตุ (เดาจากการที่จำคำพูดในครอบครัวบางส่วนได้บ้าง)แค่ว่า

1. คุณพ่อเคยแยกแยะมาตลอดระหว่างการรับราชการกับการรับตำแหน่งทางการเมืองภายไต้เผด็จการ และไม่คิดว่าคุณพ่อจะถือตำแหน่งผวก.ธนาคารชาติเป็นตำแหน่งทางการเมือง

2. เท่าที่ทราบคุณพ่อเคยแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมากับ จอมพลสฤษดิ์ในบางครั้งเพื่อพยายามยับยั้งการกอบโกยผลประโยชน์ที่ใหญ่โต

3. คุณพ่อก็ปุถุชน มีดีมีเสียมีแข็งมีอ่อน มีกล้าและขี้ขลาด และเป็นคนที่เปลี่ยนแปลงในทางดีขึ้นได้ ไม่ค่อยได้หลงตัวเองนัก เพราะมีเมียที่คอยเตือนสติเสมอ

4. ความจริงคุณแม่ผมเป็นคนที่เข้มแข็งทางความคิดเชิงอุดมการ และการยึดหลักการมากกว่าคุณพ่อและมีอิทธิพลต่อความคิดของคุณพ่อพอสมควร (คุณแม่คิดแบบสังคมนิยมประชาธิปไตย แต่คุณพ่อคิดแบบ
เสรีนิยมประชาธิปไตย)

5. คุณพ่อเป็นคนมองจอมพลสฤษดิ์ในแง่ดีบางส่วน (คิดว่ามองดีกว่าจอมพลป.และจอมพลเผ่าแน่นอน เช่นเดียวกับที่มองจอมพลถนอมดีกว่าจอมพลประภาสและพันเอกณรงค์ และเท่าที่รู้คุณพ่อไม่เคยมองจอมพลถนอมเป็นคนที่มีสันดานเลว) คิดว่าคุณพ่อมองจอมพลสฤษดิ์เป็นเผด็จการที่กอบโกย แต่เปิดโอกาสให้กลุ่มคนที่ดีๆได้มีโอกาสในการทำงานด้านการพัฒนาประเทศตามแนวคิดของพวกเขา

6. สมัยนั้นคุณพ่อมีพรรคพวกเพื่อนร่วมงานที่มีคุณภาพพอสมควรและซื่อสัตย์สุจริตทั้งในธ.ชาติและกระทรวงคลังและหน่วยราชการอื่นที่คุณพ่อเคยทำงาน ผมคิดว่าข้าราชการในตำแหน่งสำคัญสมัยนั้น
หลายคนมีอุดมการและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์(ไม่ขายตัว)เหนือชั้นกว่าข้าราชการไทยสมัยนี้(โดยเฉลี่ย)อย่างสิ้นเชิง

7. ผมไม่รู้ว่าคุณพ่อทราบข้อมูลและตระหนักแค่ไหนต่อบทบาทการฆ่าและจำคุกนักโทษการเมืองของจอมพลสฤษดิ์ แต่ก็คงต้องทราบพอสมควรและก็คงไม่เห็นด้วยกับการกระทำแบบนั้นแน่นอน เพราะคุณพ่อเชื่อมั่นคงในเรื่องกระบวนการยุติธรรมและสิทธิของผู้ต้องหาตลอดจนเสรีภาพทาวความคิดและอุดมการ แม้ว่่าคุณพ่อจะไม่ชอบ"คอมิวนิสต์" ก็ตาม

ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ก็ไม่ได้เป็นการตอบคำถามอจ.ใสมศักดิ์เพียงแต่เอาแผ่นจิ๊กซอร์บางแผ่นวางบนกระดานและบางแผ่นอาจจะเบี้ยวก็ได้เพราะผมเองก็ไม่ได้รับรู้อะไรมากเกี่ยวกับความคิดและการทำงานของคุณพ่อในสมัยนั้น

โดย : จอน อึ๊งภากรณ์ (203.150.14.161) เมื่อ : 28/08/2004 02:27 AM


เรียน อ.จอน

ต้องขอขอบคุณอย่างสูงที่กรุณาโพสต์ข้อความข้างต้น นับว่าเป็นข้อความที่ intelligent ที่สุดในบรรดาข้อความตอบต่อกระทู้ที่โพสต์มา

ก่อนอื่นผมเห็นด้วย ว่าข้อความที่อ.จอน โพสต์ไม่ใช่การตอบผมในความหมายที่เป็นการ "ตอบ" ระหว่างคน 2 คน ที่ อ.ใช้คำว่าเป็นการสร้าง "ภาพต่อ" ผมเข้าใจว่า อ.กำลังจะพูดทำนองว่า (ซึ่งผมเห็นด้วยอย่างเต็มที่) นี่เป็นการอภิปรายปัญหาร่วมกันทางสาธารณะอย่างหนึ่ง และผมเชื่อว่า อ.ย่อมทราบดีว่า ในฐานะที่ ดร.ป๋วย เป็นบุคคลสำคัญที่บทบาทอย่างสูงในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และการรับรู้ (perception) และท่าทีของ "สังคม" ต่อ ดร.ป๋วย ก็เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรมการเมือง และภูมิปัญญาร่วมสมัย การอภิปรายเรื่องนี้ จึงเป็นประเด็นทางสาธารณะที่สำคัญต่อการเข้าใจประวัติศาสตร์ร่วมสมัย ไม่ใช่ประเด็น "ส่วนตัว" แต่อย่างใด (สมัยหนึ่งที่ พล.อ.ชาติชาย เป็นนายกรัฐมนตรี ผมได้ยินเพื่อนบางคนยกประเด็นว่า ในหมู่นักทำกิจกรรมบางคน มีความลำบากใจที่จะ หยิบยกปัญหาบทบาทของชาติชาย โดยเฉพาะในกรณี 6 ตุลา ขึ้นมาพูด เพราะ "เกรงใจ" อ.โต้ง ซึ่งเป็นที่รักของนักทำกิจกรรม ผมเองตอนนั้นไม่อยู่เมืองไทย จึงไม่ได้ร่วมคุยเรื่องนี้ด้วย แต่ก็เห็นว่า ความลำบากใจ หรือ "เกรงใจ" ในลักษณะนี้ไม่ถูกต้อง)

ยิ่งกว่านั้น ผมต้องขอขอบคุณและแสดงความนับถือชื่นชมอย่างจริงใจ ในความตรงไปตรงมา และเคารพต่อข้อเท็จจริงของ อ.จอน นับเป็นเรื่องหาได้ไม่ง่ายในการพูดถึงคุณพ่อตัวเองในลักษณะนี้ โดยเฉพาะในบางประเด็นที่ผมจะพูดถึงต่อไป

ผมเชื่อว่า ผู้อ่านที่มีวิจารณาญาณย่อมไม่เพียงแต่รู้สึกดีใจแบบผมในการโพสต์ของ อ.จอน ครั้งนี้ แต่ย่อมสามารถอ่านและชั่งน้ำหนัก และคิดต่อได้เอง ในที่นี้ ผมเพียงอยากหยิบยกมาประเด็นมาอภิปรายเพิ่มเติมคือ

ผมคิดว่า จุดที่สำคัญ (และคือจุดที่ผมยกย่องที่อ.จอนพูดขึ้นมาดังกล่าว) คือ ข้อ 5 ที่ อ.จอนกล่าวว่า "คุณพ่อเป็นคนมองจอมพลสฤษดิ์ในแง่ดีบางส่วน (คิดว่ามองดีกว่าจอมพลป.และจอมพลเผ่าแน่นอน .." นี่ไม่ใช่ประเด็นที่คนรุ่นหลัง โดยเฉพาะรุ่นนี้ (แม้แต่นักวิชาการจำนวนมาก) จะทราบกัน และเป็นประเด็นที่สำคัญมาก ที่ผมพยายามเสนอมาตลอด ไม่เพียงแต่ในกระทู้นี้ คือ การที่ปัญญาชนคนสำคัญๆของไทย สมัย 2500 หลายคนมีสิ่งที่ในทัศนะของผม เป็น "มายาคติ" (illusion) ต่อจอมพลสฤษดิ์ โดยเปรียบเทียบกับ ป. และ เผ่า พูดแบบง่ายๆ คนสมัยนั้น จำนวนมากไม่เพียงแต่ เกลียดเผ่า (เกลียดจอมพล ป. มักจะเป็นการพ่วงกับการเกลียดเผ่า) แต่ยังมีความรู้สึกว่าสฤษดิ์ "ดี" อย่างน้อยในบางด้านที่สำคัญ ผมย้ำคำ "ที่สำคัญ" เพราะไม่มีใครระดับปัญญาชน จะนึกว่าสฤษดิ์ "ดี" ในเรื่อง "เล็กๆ" ประเภทนิสัยส่วนตัว ฯลฯ คือพูดง่ายๆว่า เห็นว่า สฤษดิ์ "ดี" ในเชิงนโยบาย ในเชิงการเมืองบางอย่าง ซึ่งยิ่งทำให้ (ในความเห็นของผม) illusion ที่ว่านี้ ไม่เพียงแต่ อันตราย เท่านั้น ยังแย่มากขึ้นด้วย

บางด้านที่สำคัญ ที่ปัญญาชนเหล่านี้ (ดร.ป๋วย, จิตร ภูมิศักดิ์, และอีกหลายคน) เห็นว่า สฤษดิ์ "ดี" มีหลากหลาย แล้วแต่ แต่ละคน ถ้าเป็นฝ่ายซ้ายหน่อย ก็จะมองว่า สฤษดิ์ สามารถเป็น "นัสเซอร์เมืองไทย" คือ "ขุนศึก" ที่ทำการต่อสู้กับ "จักรวรรดินิยมและศักดินานิยม" (แบบ นัสเซอร์ ของอียิปต์สมัยนั้น) ถ้าเป็นปัญญาชนทางขวาหน่อย ก็อาจจะมองว่า สฤษดิ์ ดี เพราะ "ปกป้องสถาบัน" (เรื่องนี้ปรีดีเองเคยเขียนถึง ผมขอทำ “เชิงอรรถ” ในที่นี้ด้วยว่า (1) ปัจจุบันมักจะ identify ป๋วย กับ ปรีดี แต่ในกรณีการประเมินเปรียบเทียบระหว่าง สฤษดิ์ กับ เผ่า-ป. นี้ ป๋วย มีความคิดตรงข้ามกับปรีดี และ (2) สิ่งหนึ่งที่เป็น “ผลพลอยได้” ตามมาจากการที่สฤษดิ์โค่น เผ่า-ป. ลงไป คือ ยับยั้งการที่จอมพล ป. กับปรีดี กำลังจะร่วมมือกันรื้อฟื้นคดีสวรรคตขึ้นใหม่ แน่นอน ตอนนั้น ป๋วย และคนทั่วไปไม่ทราบเรื่องนี้) สำหรับกรณี ดร.ป๋วย รังสรรค์ ธนะพรพันธ์ เคยเสนอในการสัมมนาที่คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. (หลัง ดร.ป๋วยถึงแก่กรรมไม่นาน) เกี่ยวกับความคิด ของ ดร.ป๋วย เรื่อง การจัดการเศรษฐกิจ โดยชี้ให้เห็นว่า ดร.ป๋วย คัดค้านความคิดเรื่องรัฐวิสาหกิจ หรือความคิดที่รัฐเข้าจัดการเศรษฐกิจ ของสมัยจอมพล ป. อย่างมาก และสนับสนุนความคิดเศรษฐกิจที่ ปล่อยให้เอกชนจัดการ (ซึ่งเป็นความคิดแบบเดียวกับที่สหรัฐอเมริกา โดยผ่านธนาคารโลกและ IMF กำลังโฆษณาให้ประเทศโลกที่สามทำตามในขณะนั้น) ในความเห็นของผม ข้อมูลของรังสรรค์ สนับสนุนสิ่งที่ผมพยายามเสนอที่ว่า การที่ ดร.ป๋วยรับเป็นผู้ว่าแบ็งค์ชาติให้สฤษดิ์นั้น หาใช่เรื่องบังเอิญ แต่มีพื้นฐานมาจากการเห็นด้วย กับแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคมของสฤษดิ์

อ.จอน เอง ได้พูดถึง “แง่ดี” ที่ ดร.ป๋วย เห็นในตัวสฤษดิ์ ว่าสฤษดิ์ “เปิดโอกาสให้กลุ่มคนที่ดีๆได้มีโอกาสในการทำงานด้านการพัฒนาประเทศตามแนวคิดของพวกเขา….สมัยนั้นคุณพ่อมีพรรคพวกเพื่อนร่วมงานที่มีคุณภาพพอสมควรและซื่อสัตย์สุจริตทั้งในธ.ชาติและกระทรวงคลังและหน่วยราชการอื่นที่คุณพ่อเคยทำงาน ผมคิดว่าข้าราชการในตำแหน่งสำคัญสมัยนั้น หลายคนมีอุดมการและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์(ไม่ขายตัว)เหนือชั้นกว่าข้าราชการไทยสมัยนี้(โดยเฉลี่ย)อย่างสิ้นเชิง”

เป็นที่รู้กันในหมู่ผู้สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ยุคสฤษดิ์ว่า ต่างกับผู้นำประเทศสมัยหลังหลายคน (รวมถึงคนปัจจุบัน) สฤษดิ์ มักแสดงท่าทีในลักษณะที่ “ถ่อมตัว” ว่า เขาไม่รู้อะไรมาก ต้องขอความเห็นจาก “ผู้เชี่ยวชาญ” หรือ เขาเพียงแต่ทำตามคำแนะนำของ “ผุ้เชี่ยวชาญ” ยุคสฤษดิ์ เป็น “ยุคทอง” ของพวกเทคโนแครต โดยเฉพาะเทคโนแครตชั้นสูง สฤษดิ์สามารถ “ดึง” เทคโนแครตเหล่านี้ มาทำงานกับเขาได้ (กรณี ดร.ป๋วย ไม่ใช่กรณีโดดๆ แต่มี “พรรคพวกเพื่อนร่วมงาน” อีกหลายคน ดังที่ อ.จอนพูดถึง) ผมมองว่า การเปิดโอกาสให้เทคโนแครตเหล่านี้เข้ามาแสดงบทบาท และการแสดงท่าที “ถ่อมตัว” รับฟัง “คำแนะนำ” จากเทคโนแครตเหล่านี้ของสฤษดิ์ เป็นรูปแบบของการ flattering (ยกยอปอปั้น) ที่ระบอบสฤษดิ์ทำต่อปัญญาชนเทคโนแครต และหาก มองในแง่ส่วนตัว คงจะจริงอย่างที่ อ.จอนพูดว่า ดร.ป๋วย “ไม่ค่อยได้หลงตัวเองมากนัก” แต่หาก มองในเชิงสังคมวิทยา คือมองในฐานะกลุ่มสังคม (“ชนชั้นเทคโนแครต”) เทคโนแครตเหล่านี้ “ติดกับ” หรือ “หลง” อยู่กับ “การยกยอปอปั้น” ทางสังคมนี้ แสดงออกด้วยการทำงานให้กับระบอบ (ซึ่งถ้ามองจากประเด็น “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” แล้ว มีความป่าเถื่อน เหยียดหยามมนุษย์มากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย) โดยไม่ตั้งคำถาม นี่คือ “ผลสำเร็จ” อย่างหนึ่งของระบอบสฤษดิ์ล่ะ และคือเหตุผลที่อธิบายว่า ทำไม คนอย่าง ดร.ป๋วย จึงเพิ่งมา “ตื่น” เขียนงานอย่าง “จดหมายนายเข้ม เย็นยิ่ง” เรียกร้องให้มีผู้นำทำตาม “กติกา” ในปี 2515 หลังสฤษดิ์ตายไปเกือบ 10 ปี มีใครที่ไม่เคารพกฎหมาย “กติกา” ไม่เคารพความเป็นมนุษย์เท่าสฤษดิ์บ้าง? นี่ไม่ใช่เรื่องของการไม่มีความกล้าของป๋วยหรือเทคโนแครตคนอื่นๆ แต่เป็นเรื่องของการ “หลงตัวเอง” กับการได้รับการให้แสดงบทบาทจากระบอบสฤษดิ์ (“ได้มีโอกาสในการทำงานด้านการพัฒนาประเทศตามแนวคิด”)

ผมขอให้สังเกตประโยคที่ อ.จอนเขียนว่า “ข้าราชการในตำแหน่งสำคัญสมัยนั้น หลายคนมีอุดมการและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์(ไม่ขายตัว)เหนือชั้นกว่าข้าราชการไทยสมัยนี้(โดยเฉลี่ย)อย่างสิ้นเชิง” ผมเห็นว่า ทัศนะเช่นนี้แหละเป็นตัวอย่างที่ดีของ illusion ในลักษณะการ “หลงตัวเอง” (ในฐานะกลุ่มสังคม) ของป๋วยและเทคโนแครตชั้นสูงคนอื่นๆที่ทำงานให้กับสฤษดิ์ illusion นั้นรุนแรงถึงกับถ่ายทอดข้ามรุ่นมาถึง อ.จอน

(ผมไม่คิดว่า อ.จอน หรือ ผมหรือใคร สามารถพิสูจน์ ได้จริงๆว่า เทคโนแครตสมัยสฤษดิ์ หรือสมัยนี้ ดีกว่ากัน ความน่าสนใจของการที่ อ.จอนเขียนมา จึงอยู่ที่เรื่องของ perception ซึ่งผมมองว่าเป็น illusion ดังกล่าว ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของ perception/illusion นี้ก็คือ เรื่อง เทคโนแครตสมัยนั้นมี “อุดมการ” ผมสงสัยว่า ถ้าจะมีอะไรที่พอเรียกได้ว่าเป็น “อุดมการ” หรือ “ความเชื่อร่วมกัน” ในหมู่เทคโนแครตสมัยนั้น คงได้แก่ความคิดเกี่ยวกับ “การพัฒนา” แบบเดียวกับ World Bank-IMF นั่นเอง)

อ.จอนเขียนว่า “คุณพ่อเชื่อมั่นคงในเรื่องกระบวนการยุติธรรมและสิทธิของผู้ต้องหาตลอดจนเสรีภาพทางความคิดและอุดมการ” ผมเชื่อว่าข้อความนี้ มีส่วนจริงอยู่ อย่างน้อยที่สุด นี่คงเป็น “ความรู้สึกส่วนตัว” หรือ “ความรับรู้ตัวเอง” (self-perception) ของ ดร.ป๋วย

แต่ขอให้ผู้อ่าน อ่านข้อความของ อ.จอนนี้อย่างช้าๆ และขอให้คิดถึงระบอบสฤษดิ์ไปพร้อมๆกันด้วย สิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นในใจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ ยิ่งถ้า ดร.ป๋วย เชื่อมั่นอย่างที่เขียนมานี้จริงๆ การทำงานกับสฤษดิ์ ยิ่งมิกลายเป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถามหรือ?

ผมคิดว่า เป็นไปได้อย่างยิ่งที่ ดร.ป๋วย จะไม่เห็นด้วย กับการที่สฤษดิ์อาศัย “ม.17” สั่งประหารชีวิต ศุภชัย ศรีสติ, รวม วงษ์พันธ์, ครอง จันดาวงศ์ และ ทองพันธุ์ สุทธิมาศ เป็นไปได้อย่างยิ่ง ที่ดร.ป๋วยจะไม่เห็นด้วยกับการใช้ ม.17 ประหารชีวิตผู้ต้องหา “วางเพลิง” ที่จุดเกิดเหตุ (ล้วนเป็นคนจีน วิธีประหารคนผิดในที่เกิดเหตุนี้ เป็นวิธีแบบดึกดำบรรพ์ ที่มุ่งตอบสนองความ “สะใจ” ระดับ “ชาวบ้านร้านตลาด” และทำให้เกิดความหวาดกลัว), เป็นไปได้อย่างยิ่งที่ ดร.ป๋วย จะไม่เห็นด้วยกับการจับอดีตนักการเมือง, นักเขียน นักนสพ. ชาวบ้าน หลายร้อนคน มาขังลืมในคุกเป็นเวลาหลายๆปี ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ

เป็นไปได้อย่างยิ่งว่า ดร.ป๋วย คงไม่เห็นด้วยกับสิ่งเหล่านี้ เพราะมี “ความเชื่อมั่นคงในเรื่องกระบวนการยุติธรรม....” แต่ถ้าเช่นนั้น ก็ยิ่งต้องต้องคำถามว่า การที่ ดร.ป๋วยยังคงทำงานอยู่กับระบอบที่ทำในสิ่งตรงข้ามกับ “ความเชื่อมั่นคง” ของ ดร.ป๋วยเช่นนี้ แปลว่าอะไร?

แปลว่า “ความเชื่อมั่นคง” ในเรื่องเหล่านี้ (กระบวนการยุติธรรม, สิทธิผู้ต้องหา, เสรีภาพทางความคิด) แท้ที่จริง หาได้มีความสำคัญพอ แม้แต่จะทำให้ ดร.ป๋วย เพียงแสดงตัวออกห่าง (distance himself) จากระบอบสฤษดิ์ ไม่ต้องพูดถึงขั้นว่า แตกหัก (break) หรือออกมาวิจารณ์ด้วยซ้ำ ใช่หรือไม่?

ประเด็นที่อาจจะเรียกว่าสำคัญที่สุดของผมในเรื่องนี้ก็คืออันนี้แหละ และนี่ไม่ใช่เฉพาะกรณี ดร.ป๋วยเท่านั้น (ดังที่ผมได้เขียนไปถึงกรณี เสม พริ้งพวงแก้ว กับคณะปฏิรูปการปกครอง 6 ตุลา และ อานันท์ ปัญญารชุน กับ คณะ รสช.) กล่าวคือ นักเสรีนิยมไทย ซึ่ง ป๋วย เป็น outstanding example ไม่เห็นว่าเรื่อง "หลักการ" (กระบวนการยุติธรรม, สิทธิผู้ต้องหา, เสรีภาพทางความคิด, ฯลฯ) สำคัญ มากพอที่จะใช้เป็นตัวตัดสินท่าทีต่อระบอบหรือ “สถาบัน” ทางการเมือง และบุคคลที่เป็นตัวแทนของระบอบหรือ “สถาบัน” นั้น

สำหรับผมเห็นว่า หลักการเหล่านี้แหละสำคัญที่สุด สำคัญกว่าเรื่องอื่นๆ ในกรณีระบอบสฤษดิ์ “เรื่องอื่นๆ” ที่ อ.จอน เขียนมา (“เปิดโอกาสให้กลุ่มคนที่ดีๆได้มีโอกาสในการทำงานด้านการพัฒนาประเทศ”) ความจริง ส่วนใหญ่แล้วเป็นเพียง illusion แต่ต่อให้ยอมรับว่าเป็นเรื่องจริง ลำพังเรื่อง การสั่งฆ่าคน โดยไม่เปิดโอกาสให้มีกระบวนการยุติธรรม เรื่องเดียว ก็สมควรเพียงพอที่จะถอยห่างออกมา หรือที่ถูกคือแสดงความเห็นคัดค้าน (เรื่องนี้ไม่น่าจะใช่เรื่องความไม่กล้าอีกเช่นกัน ผมไม่สามารถ imagine ว่า สฤษดิ์ จะทำอะไร ดร.ป๋วยถ้าออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย)

ในการมองของผม ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย การที่ระบอบอำนาจนิยม (ในรูปแบบต่างๆ ไม่เฉพาะทหาร) มีความยิ่งใหญ่อยู่ได้ ส่วนสำคัญส่วนหนึ่งก็เพราะความล้มเหลว ความไม่มีน้ำยา ของเสรีนิยม (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหลานคนจีน ตั้งแต่อย่าง ดร.ป๋วย มาถึงรุ่นพวกผม) ไม่มีความเข้มแข็งเพียงพอ (ทางความคิด การเมือง จริยธรรม) และต้องรอให้แนวคิด-ขบวนการ สังคมนิยม-คอมมิวนิสต์ ขึ้นมาท้าทาย (ตรงข้ามกับความเข้าใจผิวเผินของคนจำนวนมาก ตัวอย่างกรณี บทกวี “ตื่นเถิดเสรีชน อย่ายอมทนก้มหน้าฝืน ดาบหอกกระบอกปืน หรือทนคลื่นกระแสเรา...” ที่เป็นเหมือน battle cry ให้กับขบวนการ 14 ตุลา ทั้งขบวนนั้น หาได้มีรากฐานทางความคิดมาจากเสรีนิยมของไทยไม่ แต่มาจากขบวนการสังคมนิยม-คอมมิวนิสต์)

อ.จอนกล่าวว่า ดร.ป๋วย ไม่ชอบคอมมิวนิสต์ เรื่องนี้ลำพังตัวเองก็ไม่แปลกหรือผิดอะไร เสรีนิยมไทยส่วนใหญ่ ไม่ชอบคอมมิวนิสต์ แต่ที่น่าสะดุดใจ ในความเห็นของผม คือ เสรีนิยมไทย มักไม่ชอบคอมมิวนิสต์ แต่ขณะเดียวกัน กลับพร้อมที่จะมองเห็น “แง่ดีบางด้าน” ของคนอย่างสฤษดิ์ ถนอม และของระบอบหรือสถาบันการเมืองที่เป็นฆาตกร (เพราะฆ่าคนโดยไม่มีกระบวนการยุติธรรม) ที่เหยียบย่ำความเป็นมนุษย์ได้ มากพอที่จะเห็นว่าการทำงานด้วยกับพวกนี้เป็นเรื่อง “รับได้” หรือ “อธิบายได้”