Wednesday, September 13, 2006

ว่าด้วยข้อความ “องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้”



ผมขอเสนอว่า ลักษณะสำคัญมากอย่างหนึ่งของหมวดว่าด้วย “กษัตริย์” (หมวด ๒) ในรัฐธรรมนูญปี ๒๔๗๕ ฉบับแรกที่ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ร่าง คือ การไม่มีข้อกำหนดหรือข้อบังคับว่า พลเมืองของประเทศสยามจะต้องมีความคิดเห็นหรือความรู้สึกต่อกษัตริย์ซึ่งเป็น “ประมุขสูงสุดของประเทศ” อย่างไร (ขอให้สังเกตด้วยว่าไม่มีคำว่า “ราชอาณาจักร” ในรัฐธรรมนูญฉบับนั้น) มาตรา ๖ ที่กำหนดว่า “กษัตริย์จะถูกฟ้องร้องอาชญายังโรงศาลไม่ได้ เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรจะวินิจฉัย” มาจากเหตุผลของตรรกะทางกฎหมาย คือการที่ “คำวินิจฉัยของศาล...จะต้องกระทำในนามของกษัตริย์” (มาตรา ๓) ศาลจึงไม่สามารถวินิจฉัยกษัตริย์ได้ (เพราะจะเหมือนวินิจฉัยตัวเอง) ต้องให้สภาวินิจฉัย ยิ่งกว่านั้น นัยยะของมาตรานี้คือ กษัตริย์ถูกวินิจฉัยทางอาญาได้ เพียงแต่โดยสภาไม่ใช่โดยศาล(๑)

ในแง่นี้ การเพิ่มเติมข้อกำหนดว่า “องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” เข้ามาในรัฐธรรมนูญฉบับ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ มาตรา ๓ จึงเป็นเรื่องใหม่ และเนื่องจากประเทศสยามไม่เคยมีรัฐธรรมนูญ นี่จึงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สยามที่มีการกำหนดอย่างเป็นทางการครอบคลุมทั้งระบบกฎหมายว่า พระมหากษัตริย์เป็นผู้ซึ่งต้องได้รับการเคารพสักการะ ในความเห็นของผม นี่เป็นลักษณะกลับตาลปัตร (paradoxical) อย่างหนึ่งของเหตุการณ์ที่เรียกว่า “การปฏิวัติ ๒๔๗๕” ซึ่งด้านหนึ่งเป็นการลดทอนอำนาจกษัตริย์ แต่ในบางด้านกลับสร้างความเข้มแข็งในสถานภาพทางกฎหมายให้กับกษัตริย์อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน(๒)

มาตรา ๓ ของรัฐธรรมนูญ ๑๐ ธันวา
การปรากฏตัวขึ้นของข้อบังคับอย่างมาตรา ๓ ในรัฐธรรมนูญ ๑๐ ธันวา จึงมีความสำคัญ ยิ่งถ้าเราพิจารณาว่า นี่เป็นข้อความที่ถูกเขียนลงในรัฐธรรมนูญและธรรมนูญการปกครองทุกฉบับต่อมาไม่เคยยกเว้นเลย กล่าวได้ว่า เป็น ๑ ในข้อความของรัฐธรรมนูญที่คนไทยรู้จักดีที่สุด

ข้อความซึ่งจะมีนัยยะกว้างไกลมหาศาลในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่นี้ถูกนำเสนอในลักษณะราวกับว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องมี ไม่ใช่เรื่องใหญ่โต โดยพระยามโนปกรณ์นิติธาดาในฐานะประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๔๗๕ โดยแทบจะไม่มีการอภิปรายของสมาชิก (ต่างกันมากกับประเด็นอย่างชื่อฝ่ายบริหารว่าควรใช้คำว่า “คณะกรรมการราษฎร” หรือ “คณะรัฐมนตรี”):
ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ในมาตรา ๓ นี้ อ่านว่า “พระองค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพผู้ใดจะละเมิดมิได้ ซึ่งได้แสดงความหมายของมาตรานี้โดยย่อๆแล้วว่า พระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งชาติและปวงชนทั้งปวง และดำรงอยู่ในฐานะอันพึงพ้นจากความถูกติเตียนในทางใดๆ เพราะฉะนั้น รัฐธรรมนูญของบ้านเมืองใดที่ปกครองโดยกษัตริย์และมีรัฐธรรมนูญ เขาก็วางหลักการไว้เช่นเดียวกันนื้ทุกแห่ง และในรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น คำว่า (Sacred) ซึ่งท่านนักแปลคนหนึ่งได้แปลว่า เคารพ ก็ถูกอยู่ แต่ถ้าจะให้ถูกดีแล้วก็ควรมีคำว่า สักการะ ด้วย ซึ่งอนุกรรมการได้เห็นชอบด้วยแล้ว คำว่าผู้ใดจะละเมิดมิได้นี้ เราหมายว่า ใครจะไปละเมิดฟ้องร้องว่ากล่าวไม่ได้ ถ้าอาจจะมีใครสงสัยว่าถ้าฟ้องร้องท่านไม่ได้แล้วจะทำอย่างไรเมื่อมีใครได้รับความเสียหาย ประการหนึ่งเราต้องนึกว่าที่ว่าเป็นประมุขนั้น ตามแบบเรียกว่า “รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ศาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พิจารณาตัดสินความในนามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะฉะนั้นถ้าจะพูดถึงหลักกฎหมายในบางประเทศแล้ว ฟ้องร้องท่านไม่ได้ทั้งทางอาชญาและประทุษฐ์ร้ายส่วนแพ่ง แต่มีว่าถ้าท่านต้องทรงรับผิดชอบในเรื่องเงินแล้วก็ฟ้องร้องได้ทางพระคลังข้างที่ และที่เขียนมานี้ไม่กะทบกระเทือนสิทธิและความเสียหายของราษฎรใดๆเลย จึ่งขอเติมคำว่า “สักการะ” ต่อคำว่า “เคารพ”

นายสงวน ตุลารักษ์ ว่าที่กล่าวว่า “พระองค์” แคบเกินไป อยากจะขอเสนอให้ตัดออกเสีย เพราะเรามิได้เคารพแต่ฉะเพาะพระองค์เท่านั้น เราเคารพถึงพระบรมรูป พระเกียรติยศ ฯลฯ อีกด้วย

หลวงประดิษฐ์มนูธรรม รับรอง

ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ตามหลักนั้น หมายถึง person of the King คือตัวท่าน แต่ในภาษาไทยจะใช้คำว่า “พระมหากษัตริย์” เฉยๆ จะได้ความหรือไม่นั้น ขอเชิญเจ้าพระยาธรรมศักดิ์โปรดอธิบาย

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์ กล่าวว่า ถ้าความหมายอย่างที่ว่า person ที่เขียนก็ได้ความแล้ว แต่ถ้าจะหมายถึงเป็น body แล้ว ก็จะเป็นจริงอย่างที่นายสงวนว่า จึงคิดว่าเอาคำว่า “พระ” ออก คงเหลือแต่ “องค์พระมหากษัตริย์” ก็จะได้

ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ รับรอง

นายสงวน ตุลารักษ์ เห็นชอบ

ประธานสภาฯ กล่าวว่า ในมาตรา ๓ นี้ มีแก้ไข ๒ แห่ง คือ เติมคำว่า “สักการะ” ต่อท้ายคำว่า เคารพ และ ตัดคำว่า “พระ” ออก คงอ่านได้ในมาตรา ๓ ว่า “องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” เมื่อไม่มีผู้ใดคัดค้าน ก็ขอให้ลงคะแนน สมาชิกทั้งหมดลงมติเห็นชอบ เป็นอันว่ามาตรา ๓ นั้น ใช้ได้ตามแก้ไขมานั้น(๓)
ก่อนอื่น ขอให้สังเกตว่า ตามคำแถลงของพระยามโน รัฐธรรมนูญฉบับร่างที่เสนอต่อสภา มาตรา ๓ มีข้อความว่า “พระองค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” คือเพียง “เคารพ” เท่านั้น ไม่ใช่ “เคารพสักการะ” คำว่า “เคารพ” สามารถใช้กับความสัมพันธ์ระหว่างคนที่มีฐานะเท่าเทียมกัน แต่ “เคารพสักการะ” หมายถึงต้อง “บูชาไหว้กราบ” ด้วย เพราะมีความศักดิ์สิทธิ์หรือมีฐานะสูงกว่าเหมือนบุพการี (ตามความเชื่อแบบพุทธ) นั่นคือ กลับไปยืนยันทัศนะต่อกษัตริย์ก่อน ๒๔ มิถุนา

ที่น่าสังเกตและสำคัญยิ่งกว่านั้น คือท่าทีของสงวน ตุลารักษ์ โดยการสนับสนุนของปรีดี ที่ว่า ไม่เห็นด้วยกับการมีมาตรานี้ ไม่ใช่เพราะจะเป็นการยกย่องสถานะของกษัตริย์มากเกินไป แต่เพราะเห็นว่า เป็นการจำกัดการยกย่องให้แคบเกินไป นี่เป็นท่าทีแบบเดียวกันกับที่ปรีดี ในไม่กี่วันหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ แสดงความเห็นคัดค้านการถวายพระเกียรติยศพระปกเกล้าเป็น “มหาราช” ไม่ใช่เพราะเป็นการถวายพระเกียรติยศมากเกินไป แต่ (อ้างว่า) เพราะจะเป็นการลดพระเกียรติยศ(๔)

เมื่อมองจากภาพลักษณ์ที่แพร่หลายของสงวนหรือปรีดี (โดยเฉพาะในขณะนั้น) ว่าเป็น “ซ้าย” (“ปีกซ้ายคณะราษฎร”) หรือมีลักษณะ “แอนตี้เจ้า” แล้ว อาจตั้งข้อสงสัยในความจริงใจ (sincerity) ของลักษณะการให้เหตุผลดังกล่าวได้ว่าเป็นเพียง “ยุทธวิธีทางการเมือง” หรือไม่ ในการคัดค้านการยกย่องเจ้ามากเกินไป ด้วยการอ้างว่าการยกย่องนั้นจะเป็นการจำกัดหรือน้อยเกินไป แต่ประเด็นที่สำคัญยิ่งกว่า ในทัศนะของผม คือ “ยุทธวิธี” (ถ้าเรายอมรับกันจริงๆว่าเป็น “ยุทธวิธี”) แบบนี้ สะท้อนลักษณะสำคัญยิ่งอย่างหนึ่งของปัญญาชนที่มีลักษณะ “ซ้าย” หรือ “เสรีนิยม” ของไทย นั่นคือ ความอ่อนแอทางการเมือง ที่ไม่สามารถหรือไม่กล้า คัดค้านเจ้าตรงๆ แต่ “คัดค้าน” ด้วยการให้เหตุผลแบบยกย่องเชิดชู แบบเดียวกับพวกนิยมเจ้า (royalists) ซึ่งทำให้เกิดเป็นประเพณีหรือวัฒนธรรม (หรือ, ถ้าจะใช้ภาษาสมัยนี้, “วาทกรรม”) ทางการเมืองในการพูดถึงกษัตริย์ในหมู่ปัญญาชน “เสรีนิยม” ของไทยมาจนถึงปัจจุบัน(๕)

(ยังไม่เสร็จ)