Friday, November 16, 2007

เราสู้: เพลงพระราชนิพนธ์การเมืองกับการเมืองปี 2518-2519



ปี 2518-19 ฝ่ายขวาที่ได้รับการจัดตั้งสนับสนุนจากกลไกและชนชั้นนำของรัฐได้ทำการเคลื่อนไหวต่อต้านโจมตีขบวนการนักศึกษาและพันธมิตรฝ่ายซ้ายด้วยรูปแบบต่างๆอย่างหนัก นับแต่การจัดตั้งอบรมมวลชน (ลูกเสือชาวบ้าน, นวพล), ใช้สื่อ เช่น หนังสือพิมพ์บางฉบับ (ดาวสยาม, บ้านเมือง) และเครือข่ายสถานีวิทยุของทหาร (ที่เรียกตัวเองว่า “ชมรมวิทยุเสรี” นำโดยสถานีวิทยุยานเกราะ), จัดชุมนุมของตัวเองหรือก่อกวนการชุมนุมของนักศึกษา, ไปจนถึงใช้อาวุธทำร้ายโดยตรง (ฆ่าอินถา ศรีบุญเรืองและผู้ปฏิบัติงานชาวนาอื่นๆ, ฆ่าอมเรศ ไชยสะอาด ผู้นำนักศึกษามหิดล และบุญสนอง บุญโยทยาน อาจารย์ธรรมศาสตร์เลขาธิการพรรคสังคมนิยม, ปาระเบิดใส่การเดินขบวนต่อต้านฐานทัพอเมริกัน และการชุมนุมต่อต้านการกลับมาของประภาส จารุเสถียร ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก)

อย่างไรก็ตาม เฉพาะในส่วนการโฆษณานั้น อาจกล่าวได้ว่าขบวนการนักศึกษาและพันธมิตรฝ่ายซ้ายเองเป็นฝ่ายริเริ่มและเหนือกว่าในด้านสิ่งตีพิมพ์ประเภทหนังสือเล่ม (เรียกว่าเป็น “ยุคทองของพ็อกเก็ตบุ๊ค”), งานเขียน (กวีนิพนธ์, เรื่องสั้น), ภาพเขียนและการ์ตูนการเมือง (แนวร่วมศิลปิน, ชัย ราชวัตร) และการจัดนิทรรศการและการแสดงต่างๆ (บรรดากลุ่มละครและ “วงดนตรีเพื่อชีวิต”) “สงครามวัฒนธรรม” ระหว่างทั้งสองฝ่ายจึงเป็นไปอย่างดุเดือด

ในด้านเพลง เราได้เห็นการต่อสู้ระหว่าง “เพลงเพื่อชีวิต” ของฝ่ายซ้ายกับ “เพลงปลุกใจ” ของฝ่ายขวา เป็นที่น่าสังเกตว่าเนื้อหาและท่วงทำนองของเพลงเพื่อชีวิต, ซึ่งโดยรวมแล้วมีความหลากหลายกว่าเพลงปลุกใจมาก, พัฒนาไปในทาง “สู้รบ” รับใช้การชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองมากขึ้น ถ้าผมจำไม่ผิดเพลงที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในระหว่างการชุมนุมของนักศึกษาในช่วงปี 2519 คือ โคมฉาย, บ้านเกิดเมืองนอน และวีรชนปฏิวัติ ซึ่งล้วนสะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ที่ว่านี้ “โคมฉาย” ซึ่งเป็นเพลงเดียวในสามเพลงนี้ที่แต่งโดยนักศึกษา เป็นการสดุดีการต่อสู้ด้วยอาวุธในชนบทโดยตรง (“ข้ามเขาลำธารฟันฝ่าศัตรู กระชับปืนชูสู้เพื่อโลกใหม่ กองทัพประชาแกร่งกล้าเกรียงไกร ชูธงนำชัยมาให้มวลชน...”) ส่วนอีกสองเพลงจัดเป็น “เพลงปฏิวัติ” มากกว่า “เพลงเพื่อชีวิต” ในความหมายเดิม เพราะเป็นเพลงที่เอามาจาก “ในป่า” คือจากการออกอากาศของสถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย สถานีวิทยุคลื่นสั้นของพคท. (“บ้านเกิดเมืองนอน” แต่งโดยผู้ปฏิบัติงานพรรคเขตภูพาน ส่วน “วีรชนปฏิวัติ” แต่งโดยจิตร ภูมิศักดิ์สมัยอยู่ในคุก)

ในหมู่ฝ่ายขวา เพลงปลุกใจที่ได้รับความนิยมมากที่สุดอาจกล่าวได้ว่ามี 3 เพลงเช่นกัน “ทหารพระนเรศวร” เป็นเพลงที่พรรคชาติไทยซึ่งเป็นหัวหอกของฝ่ายขวาในวงรัฐบาลนำท่อนหนึ่งมาใช้เป็นคำขวัญในการหาเสียง (“เปรี้ยงๆดังเสียงฟ้าฟาด โครมๆพินาศพังสลอน เปรี้ยงๆลูกปืนกระเด็นกระดอน โครมๆดัสกรกระเด็นไกล ถ้าสิ้นชาติสิ้นแผ่นดินสิ้นกษัตริย์ เห็นสุดจะยืนหยัดอยู่ได้...”) แต่ที่ได้รับความนิยมสูงสุดน่าจะเป็น “หนักแผ่นดิน” ซึ่งสมัยหนึ่งวงดนตรีกรรมาชนของนักศึกษาถึงกับเคยนำมาร้อง เพื่อโจมตีพวกฝ่ายขวาเอง เพราะเนื้อเพลงส่วนใหญ่สามารถ “ไปกันได้” กับการแอนตี้จักรวรรดินิยมต่างชาติของขบวนการนักศึกษา! (“คนใดใช้ชื่อไทยอยู่ กายก็ดูเหมือนไทยด้วยกัน... คนใดเห็นไทยเป็นทาส ดูถูกชาติเชื้อชนถิ่นไทย แต่ยังเฝ้าทำกินกอบโกยสินไทยไป เหยียดคนไทยเช่นทาสของมัน หนักแผ่นดิน หนักแผ่นดิน คนเช่นนี้เป็นคนหนักแผ่นดิน...”)

อีกหนึ่งในสามเพลงปลุกใจยอดนิยมของฝ่ายขวาคือเพลงพระราชนิพนธ์ “เราสู้” ซึ่งเริ่มถูกนำออกเผยแพร่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2519 ในความทรงจำของผม การปรากฏตัวของเพลงนี้ในฐานะหนึ่งในเพลงที่ฝ่ายขวาใช้ต่อสู้กับขบวนการนักศึกษาเป็นเรื่องที่ชวนให้แปลกใจไม่น้อยในสมัยนั้น โดยเฉพาะการที่เนื้อเพลงดูเหมือนจะโจมตีต่อต้านขบวนการนักศึกษาโดยตรง จำได้ว่าไม่มีใครทราบหรืออธิบายได้ว่าเหตุใดเพลงพระราชนิพนธ์จึงกลายมามีบทบาทเช่นนั้น ผมเองเก็บเอาความไม่รู้นี้ไว้กับตัวมากว่าสองทศวรรษจนเมื่อไม่นานมานี้จึงได้ลงมือค้นคว้าและพบข้อมูลที่น่าสนใจหลายอย่างเกี่ยวกับเพลงนี้ หนึ่งในข้อมูลที่พบก็คือ แม้จนปัจจุบันทางราชการเองก็ไม่รู้หรือรู้ผิดๆเกี่ยวกับความเป็นมาที่แท้จริงของเพลง “เราสู้”


เพลงพระราชนิพนธ์: ภาพรวม
“เพลงพระราชนิพนธ์” ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนรู้จักคุ้นเคยเป็นอย่างดี ในระหว่างงานเฉลิมฉลองการครองราชสมบัติครบ 50 ปีเมื่อ พ.ศ. 2539 และพระชนมายุ 72 พรรษาเมื่อ พ.ศ. 2542 กิจกรรมอย่างหนึ่งที่ทั้งภาครัฐและเอกชนจัดขึ้นอย่างแพร่หลายก็คือ การอัญเชิญเพลงพระราชนิพนธ์ออกแสดงในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะตามสถานีโทรทัศน์และวิทยุ, และการแสดงคอนเสิร์ต เพลงส่วนใหญ่ที่นำออกแสดงนั้นอาจกล่าวได้รวมๆว่าเป็นเพลงในแนว “โรแมนติก” ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับธรรมชาติและความรักที่เรารู้จักกันดี (เช่น แสงเทียน, ยามเย็น, สายฝน, ใกล้รุ่ง, ชะตาชีวิต, แก้วตาขวัญใจ และ ไกลกังวล เป็นต้น)

ที่เรียกว่า “เพลงพระราชนิพนธ์” นั้น ไม่ได้หมายความว่าทรงพระราชนิพนธ์คำร้องเอง อันที่จริงเพลงพระราชนิพนธ์ทั้งหมดคือเพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนอง มีเพียง 5 เพลงเท่านั้นที่ทรงพระราชนิพนธ์คำร้องด้วย ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษทั้ง 5 เพลง ที่เหลือส่วนใหญ่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองก่อน แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ผู้อื่นประพันธ์คำร้องใส่ (ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ) มีบางเพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองใส่ให้กับคำร้องที่มีผู้อื่นประพันธ์ไว้แล้ว (“เราสู้” เป็นหนึ่งในเพลงประเภทนี้)

การนับจำนวนเพลงพระราชนิพนธ์โดยปกติจึงนับจากจำนวนทำนองเพลง (หลายทำนองเพลงมีมากกว่าหนึ่งคำร้อง) จนถึงปัจจุบัน เพลงพระราชนิพนธ์ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้นำออกแสดงเผยแพร่แก่สาธารณะมีทั้งสิ้น 47 เพลง ทั้งนี้นับตามหนังสือ ธ สถิตในดวงใจนิรันดร์: หนังสือประมวลบทเพลงพระราชนิพนธ์ ซึ่งโรงเรียนจิตรลดาจัดพิมพ์ในโอกาสกาญจนาภิเษก โดยมีสมเด็จพระเทพฯทรงเป็นองค์ประธาน (หนังสือ ดนตรีจากพระราชหฤทัย ศูนย์รวมใจแห่งปวงชน ที่คณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปีของรัฐบาลจัดพิมพ์ นับเพลง Blues for Uthit ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่นายอุทิศ ทินกร ณ อยุธยา นักดนตรีวงดนตรี “อ.ส. วันศุกร์” ที่ถึงแก่กรรมเมื่อปี 2522 เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเพลง) จากพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระเทพฯในหนังสือเล่มเดียวกันนี้ เรายังได้ทราบว่ามีเพลงอีกจำนวนหนึ่งที่ทรงพระราชนิพนธ์ “แต่ยังไม่เป็นที่พอพระราชหฤทัยจึงยังไม่ออกเผยแพร่” อย่างไรก็ตาม ถ้านับตามจำนวนคำร้อง เพลงพระราชนิพนธ์ที่เผยแพร่แล้วก็มีทั้งสิ้น 72 คำร้อง จาก 41 ทำนองเพลง (อีก 6 ทำนองเพลงไม่มีคำร้อง) การพิจารณาจากคำร้องนี้จะทำให้มองเห็นบางประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับเพลงพระราชนิพนธ์ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป

ในหนังสือรวมเพลงพระราชนิพนธ์ฉบับทางการ เช่น สองเล่มที่เพิ่งกล่าวถึง เราจะพบเพลงพระราชนิพนธ์ตีพิมพ์ตามลำดับก่อนหลังของการพระราชนิพนธ์ทำนอง ถ้าทำนองใดมีมากกว่าหนึ่งคำร้อง ทุกคำร้องก็จะถูกตีพิมพ์ไว้ด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น เพลง Alexandra ซึ่งคำร้องภาษาอังกฤษ (โดย ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช) แต่งในปี 2502 แต่คำร้องภาษาไทยชื่อ “แผ่นดินของเรา” (โดยท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค) เพิ่งแต่งในปี 2516 ก็จะถูกตีพิมพ์ไว้ก่อนเพลงยูงทองซึ่งทรงพระราชนิพนธ์ทำนอง (และนายจำนงราชกิจแต่งคำร้อง) ในปี 2506 เป็นต้น โดยแต่ละเพลงจะมีคำบรรยาย “เกร็ดประวัติ” ของการพระราชนิพนธ์ไว้สั้นๆ (ควรกล่าวด้วยว่า ข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นมาและปีที่แต่งทั้งทำนองและคำร้องของหลายเพลง มีความแตกต่างกันระหว่างหนังสือสองเล่มข้างต้น ทำให้การจัดลำดับก่อนหลังต่างกันด้วย)

บทความที่กล่าวถึงเพลงพระราชนิพนธ์ทั้งหมดเท่าที่ผมเคยอ่านล้วนเป็นการสดุดีพระราชอัจฉริยภาพด้านดนตรีมากกว่าเป็นการวิเคราะห์วิจารณ์ จะมี “วิเคราะห์” บ้างก็ในประเด็นด้านเทคนิค เช่น การที่ทรง “บุกเบิก” การใช้ “ไมเนอร์ครึ่งเสียง” และ “บันไดเสียงโครมาติค” ในวงการเพลงไทยสากล ซึ่งก็ยังคงเป็นการวิเคราะห์ที่อยู่ในบริบทของการสดุดี

อันที่จริง จากการพิจารณาเพลงพระราชนิพนธ์โดยรวม ผมขอเสนอว่าเราสามารถจะแบ่งออกได้เป็น 2 ช่วงใหญ่ๆคือ ช่วงแรกที่ทรงรังสรรค์อย่างสม่ำเสมอ (Creative Period) จากปี 2489 ถึงปี 2509 กับช่วงหลังที่ทรงพระราชนิพนธ์แบบเฉพาะกิจ (Occasional Period) จากปี 2509 ถึงปัจจุบัน

ในช่วงแรกนั้นทรงพระราชนิพนธ์เพลงออกเผยแพร่แทบทุกปี จากปี 2489 ถึง 2502 ส่วนใหญ่ปีละมาก กว่าหนึ่งทำนองเพลง รวมทั้งสิ้น 35 ทำนองเพลง หลังจากนั้นทรงเว้นช่วงออกไป คือ ปี 2506 ทรงพระราชนิพนธ์ 1 ทำนองเพลง, ปี 2508 ทรงพระราชนิพนธ์ 4 ทำนองเพลง และปี 2509 ทรงพระราชนิพนธ์ 2 ทำนองเพลง รวมทั้งสิ้น 42 ทำนองเพลงในระยะเวลา 20 ปี (หรือ 63 คำร้องจาก 36 ทำนอง อีก 6 ทำนองไม่มีคำร้อง)

จากปี 2509 ถึงปัจจุบัน คือ 35 ปี มีเพลงพระราชนิพนธ์ที่ได้รับการเผยแพร่เพียง 5 เพลง คือ ความฝันอันสูงสุด (2514), เราสู้ (2519), เรา-เหล่าราบ 21 (2519), รัก (2537) และ เมนูไข่ (2538) ทุกเพลงมีลักษณะต่างกับเพลงในช่วงแรก คือทรงพระราชนิพนธ์ทำนองใส่ให้กับคำร้องที่มีผู้อื่นประพันธ์ไว้แล้ว

ด้วยการแบ่งเช่นนี้ทำให้เราได้ข้อสังเกตอย่างน้อย 2 ประการ คือ ประการแรก ระยะสิ้นสุดของช่วงที่ทรงรังสรรค์อย่างสม่ำเสมอ คือเมื่อเริ่มเข้าสู่ทศวรรษ 2510 นั้น ตรงกับยุคปลายของรัฐบาลทหารเมื่อการเมืองไทยเริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ โดยที่สถาบันกษัตริย์จะมีบทบาทสำคัญในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงนั้นด้วย

ประการที่สอง ถ้าไม่นับ 2 เพลงหลังสุด คือ “รัก” และ “เมนูไข่” ซึ่งมีความเป็นมาในลักษณะกึ่งส่วนพระองค์ (หรือ “ภายในครอบครัว” ถ้าใช้ภาษาสามัญ) คือทรงพระราชนิพนธ์จากบทกลอนเมื่อทรงพระเยาว์ของสมเด็จพระเทพฯ (ทั้ง 2 เพลง) และเพื่อเป็นของขวัญวันพระราชสมภพ 72 พรรษาสมเด็จพระพี่นางฯ (เมนูไข่) ทั้งยังทิ้งระยะห่างจากเพลงก่อนหน้านั้น (เรา-เหล่าราบ 21) ถึงเกือบ 20 ปีแล้ว เพลงของช่วงหลังที่เหลือทั้ง 3 เพลงล้วนมีลักษณะที่เกี่ยวพันกับการเมืองร่วมสมัยอย่างใกล้ชิด ยิ่งถ้าเราพิจารณารวมไปถึงอีก 2 คำร้องที่มีการประพันธ์ขึ้นใหม่ในช่วงนี้จากทำนองที่ทรงพระราชนิพนธ์ไว้แล้วในช่วงแรก คือ “เกิดเป็นไทยตายเพื่อไทย” (2514 จากทำนองเพลง “ไกลกังวล” ที่ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในปี 2500) และ “แผ่นดินของเรา” (2516 จากทำนองเพลง Alexandra ที่ทรงพระราชนิพนธ์ในปี 2502) ก็จะเห็นลักษณะเกี่ยวพันกับการเมืองร่วมสมัยได้ชัดเจนขึ้น

มองในแง่นี้เราอาจจะแบ่งเพลงพระราชนิพนธ์ทั้งหมดออกตามลักษณะของเพลงเป็น 3 ช่วงก็ได้คือ คือ ช่วง 20 ปีแรก จาก 2489 ถึง 2509 เป็นเพลงพระราชนิพนธ์โรแมนติก, ช่วง 10 ปีหลังจากนั้น จาก 2509 ถึง 2519 เป็นเพลงพระราชนิพนธ์การเมือง, และช่วง 20 ปีเศษต่อมา จาก 2519 ถึงปัจจุบัน เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ในลักษณะ “ส่วนพระองค์” คือ “รัก” และ “เมนูไข่” ควรกล่าวด้วยว่าช่วงต้นปี 2529 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรที่เชียงใหม่ หลังจากทรงหายแล้ว ก็ยังมีคณะแพทย์เฝ้าดูพระอาการ พระองค์ได้ทรงรวบรวมคนเหล่านี้และผู้ตามเสด็จอื่นๆตั้งเป็นวงดนตรี พระราชทานชื่อวงว่า “สหายพัฒนา” โดยทรงฝึกสอนด้วยพระองค์เอง - บางคนในวงไม่เคยเล่นดนตรีมาก่อน - และได้ทรงเขียนโน้ตเพลง “พระราชทานแจกให้เล่น และได้ทรงพระราชนิพนธ์เพลงด้วยคอมพิวเตอร์ แต่ยังไม่เป็นที่พอพระราชหฤทัยจึงยังไม่ออกเผยแพร่” ดังที่สมเด็จพระเทพฯผู้ทรงเป็น “สมาชิกพระองค์แรก” ของวงทรงเล่าไว้ ซึ่งเป็นการสนับสนุนข้อสรุปที่ว่าช่วงหลังจากปี 2519 ถึงปัจจุบัน เพลงพระราชนิพนธ์มีลักษณะ “ส่วนพระองค์”


เพลงพระราชนิพนธ์การเมือง
ขอให้เรามาพิจารณาประเด็นเพลงพระราชนิพนธ์กับการเมืองให้ละเอียดยิ่งขึ้น เพลงพระราชนิพนธ์ในช่วงแรกเกือบทั้งหมดมีลักษณะเป็นเพลงในแนว “โรแมนติก” คือพรรณนาถึงธรรมชาติ ชีวิตและความรัก หรือเป็นเพลงรื่นเริงหยอกล้อในหมู่นักดนตรีที่ทรงดนตรีด้วย (H.M. Blues, Never Mind the H.M. Blues, ศุกร์สัญลักษณ์/ Friday Night Rag) จริงอยู่มีบางเพลงที่ทรงพระราชทานให้กับหน่วยทหาร (มาร์ชราชวัลลภ, ธงไชยเฉลิมพล, มาร์ชราช¬นาวิกโยธิน) แต่เพลงเหล่านี้มีลักษณะเป็นเพลงเฉพาะประจำหน่วยงาน แบบเดียวกับที่ทรงพระราชทานให้บางมหาวิทยาลัย (มหาจุฬาลงกรณ์, ยูงทอง, เกษตรศาสตร์)

แต่ทั้งห้าเพลงพระราชนิพนธ์ที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 2510 (เกิดเป็นไทยตายเพื่อไทย, แผ่นดินของเรา, ความฝันอันสูงสุด, เราสู้, เรา-เหล่าราบ 21) มีลักษณะการเมืองในวงกว้างออกไป คือเป็นการต่อสู้ทางอุดมการณ์ (กับคอมมิวนิสต์) โดยตรง เพลง “เรา-เหล่าราบ 21” นั้นอาจกล่าวได้ว่าเป็นมีลักษณะเป็นเพลงประจำหน่วยงานมากกว่าเพลงต่อสู้ทางอุดมการณ์ แต่เป็นที่ทราบกันดีว่า ในช่วงต้นทศวรรษ 2520 นั้น สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถทรงมีความใกล้ชิดกับทหารหน่วยนี้เป็นการส่วนพระองค์เป็นพิเศษ จนทำให้ “ราบ 21” เป็นที่รู้จักกันดีในนาม “ทหารเสือราชินี” (ดังในเนื้อเพลงที่ว่า “เราเชื้อชาติชายชาญทหารกล้า ทหารเสือราชินีศรีสยาม”) ในบริบทของความแตกแยกในกองทัพขณะนั้น (ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาตั้งแต่ 14 ตุลา) ข้อเท็จจริงนี้มีความสำคัญทางการเมืองอย่างมาก ดังจะเห็นว่าในระหว่างการปราบ “กบฏยังเตอร์ก” (รัฐประหาร 1-3 เมษายน 2524) ทหารหน่วยนี้ได้เป็นกำลังสำคัญที่เคลื่อนเข้าปลดอาวุธฝ่ายกบฏ

ประเด็นที่น่าสนใจอย่างหนึ่งของ “เพลงพระราชนิพนธ์การเมือง” ทั้งห้า คือ ยกเว้น “เราสู้” แล้ว ที่เหลืออีก 4 เพลงมีความเป็นมาเหมือนกัน คือเกิดจากพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถให้ประพันธ์คำร้องขึ้น และผู้ที่รับหน้าที่นี้ 3 ใน 4 เพลงคือท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค ยกเว้น “เรา-เหล่าราบ 21” ซึ่งประพันธ์คำร้องโดย ร.ต.ท.วัลลภ จันทร์แสงศรี

เพลง “เกิดเป็นไทยตายเพื่อไทย” นั้น หนังสือ ดนตรีจากพระราชหฤทัย กล่าวว่า “ใน พ.ศ. 2514 บ้านเมืองอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจ สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานให้ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค แต่งคำร้องภาษาไทย [จากทำนองเพลง ไกลกังวล/When] เพื่อปลุกจิตสำนึกให้คนไทยรักและหวงแหนแผ่นดินไทย” ส่วนเพลง “แผ่นดินของเรา” หนังสือ ธ สถิตในดวงใจนิรันดร์ กล่าวว่า “เกิดขึ้นในระยะหลังเมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ โปรดเพลงปลุกใจให้รักชาติบ้านเมือง ทรงมีพระราชดำริว่าเพลงนี้ [Alexandra] น่าจะใส่คำร้องภาษาไทยได้” และคำร้องไทยของท่านผู้หญิงมณีรัตน์ก็มีเนื้อหาใกล้เคียงกับ “เกิดเป็นไทยตายเพื่อไทย”

ทั้งสองเพลงนี้ ถ้านับจากจุดเริ่มต้นจริงๆอาจจะมีขึ้นหลัง “ความฝันอันสูงสุด” เล็กน้อย ตามการบอกเล่าของท่านผู้หญิงมณีรัตน์เอง เมื่อตามเสด็จฯไปที่พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ในปีพ.ศ. 2512 ได้รับพระราชเสาวนีย์ ให้เขียนกลอนแสดงความนิยมส่งเสริมคนดีให้มีกำลังใจทำงานเพื่ออุดมคติและประเทศชาติ “ข้าพเจ้าค่อยๆคิดหาคำ กลั่นกรองให้ตรงกับความหมายเท่าที่จะสามารถ แล้วทูลเกล้าฯถวายทอดพระเนตร [สมเด็จพระนางเจ้าฯ] ทรงพระกรุณาติชม จนผลสุดท้ายออกมาเป็นกลอน 5 บท....ความบันดาลใจในเรื่องนี้มีที่มาจากการสังเกตของข้าพเจ้า ได้รู้เห็นพระราชอัธยาศัย พระราชจริยาวัตร ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประพฤติปฏิบัติอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันไม่เสื่อมคลาย” หลังจากนั้น สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถโปรดให้พิมพ์บทกลอนนี้ลงในกระดาษการ์ดแผ่นเล็กๆ พระราชทานข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พลเรือน และผู้ทำงานเพื่อประเทศชาติ เตือนสติมิให้ท้อถอยในการทำความดี “เพราะบ้านเมืองขณะนั้นยุ่งอลเวง น่าเป็นห่วงอนาคตของประเทศชาติ” (ดนตรีจากพระราชหฤทัย, หน้า 183) ต่อมาในปี 2514 สมเด็จพระนางเจ้าฯจึงได้กราบบังคมทูลขอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใส่ทำนองให้กับคำกลอน กลายเป็นเพลง “ความฝันอันสูงสุด” ที่รู้จักกัน

มีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับเพลงนี้ 3 ประเด็น คือ

หนึ่ง ผู้ที่รู้จักเพลง The Impossible Dream คงสังเกตว่าเนื้อเพลงภาษาอังกฤษใกล้เคียงอย่างมากกับคำกลอนภาษาไทยของท่านผู้หญิงมณีรัตน์:
To dream the impossible dream
ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ
To fight the unbeatable foe
ขอสู้ศึกทุกเมื่อไม่หวั่นไหว
To bear the unbearable sorrow
ขอทนทุกข์รุกโรมโหมกายใจ
To run where the brave dare not go...
ขอฝ่าฝันผองภัยด้วยใจทะนง...
And the world will be better for this
โลกมนุษย์ย่อมจะดีกว่านี้แน่
That one man scorned and covered with scars
เพราะมีผู้ไม่ยอมแพ้แม้ถูกหยัน
Still strove with his last ounce of courage....
คงยืนหยัดสู้ไปใฝ่ประจัญ....
เพลง The Impossible Dream นั้นมาจาก Man of La Mancha ละครเพลงที่มีชื่อเสียงมากที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์ของบรอดเวย์ ซึ่งแสดงระหว่างปี 2508-2514 ต่อมาได้รับการสร้างเป็นหนังในปี 2515 (บทละครเพลงเขียนโดย Dale Wasserman ทำนองเพลงโดย Mitch Leigh และคำร้องโดย Joe Darion) ขอให้สังเกตว่าบทกลอนของท่านผู้หญิงมณีรัตน์นั้นมีส่วนที่ “ไม่ลงตัว” ในแง่เนื้อหาบ้าง เช่น “โลกมนุษย์ย่อมจะดีกว่านี้แน่ เพราะมีผู้...ยอมอาสัญก็เพราะปองเทิดผองไทย” ซึ่งน่าจะเป็นร่องรอยของการพยายามทำคำร้องดั้งเดิมให้เป็นแบบไทยๆ

สอง ในความทรงจำของผม เพลงนี้เมื่อมีการนำออกเผยแพร่ใหม่ๆในช่วงก่อน 14 ตุลาเล็กน้อย ได้ทำในนาม “เพลงพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ”

สาม กลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่ทำกิจกรรมการเมืองก่อน 14 ตุลาบางส่วนได้นำเอาเพลงนี้ไปตีพิมพ์ในหน้าหนังสือของตนในฐานะคำขวัญของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเพื่อประชาชนในขณะนั้น นี่อาจถือได้ว่าเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการที่ขบวนการนักศึกษาในระยะนั้นมองว่าสิ่งที่ตัวเองและสถาบันกษัตริย์กำลังทำเป็นสิ่งเดียวกัน (“เพื่ออุดมคติ”, “เพื่อส่วนรวมและประเทศชาติ”) ทั้งที่ความจริงสองฝ่ายมีจุดเริ่มต้นที่ไม่เหมือนกัน - ระหว่างการต่อต้านเผด็จการเรียกร้องเสรีภาพของนักศึกษากับการแอนตี้คอมมิวนิสม์พิทักษ์การดำรงอยู่ของสถาบันกษัตริย์ของราชสำนัก (ดู “ร.7 สละราชย์: ราชสำนัก, การแอนตี้คอมมิวนิสม์ และ 14 ตุลา” และ “พระราชหัตถเลขาสละราชย์ ร.7: ชีวประวัติของเอกสารฉบับหนึ่ง”)


เราสู้: ความเป็นมา
ตามประวัติที่เป็นทางการ “เราสู้” เกิดจากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองใส่คำร้องที่นายสมภพ จันทรประภา ประพันธ์เป็นกลอนสุภาพ 4 บท ใน พ.ศ. 2516” โดยที่ “คำร้องนี้นายสมภพได้ขอพระราชทานพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่สมาชิกสภานิติบัญญัติ ประกอบด้วยข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ และประชาชน ซึ่งได้จัดแข่งฟุตบอลเพื่อนำรายได้ทูลเกล้าฯถวายโดยเสด็จพระราชกุศล และเข้าเฝ้าฯ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน มาเขียนเป็นคำกลอนถวาย” (ดนตรีจากพระราชหฤทัย, หน้า 187) “และได้ทรงพระราชทานให้เป็นของขวัญปีใหม่แก่ทหาร อาสาสมัครและตำรวจชายแดน” (ธ สถิตในดวงใจนิรันดร์, หน้า 333)

จากข้อมูลนี้ เราอาจตั้งเป็นข้อสังเกตเบื้องต้นได้ว่า “เราสู้” ต่างกับอีก 4 เพลงพระราชนิพนธ์ของช่วงทศวรรษ 2510 ที่มีลักษณะ “การเมือง” ในแง่ที่ว่า ขณะที่ 4 เพลงดังกล่าวเกิดจากพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถให้มีผู้ประพันธ์คำร้อง (ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาคเป็นสำคัญ) แล้วกราบบังคมทูลขอพระราชทานทำนองจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, “เราสู้” มีต้นกำเนิดมาจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเอง เท่ากับว่าได้ทรง “พระราชนิพนธ์คำร้องโดยอ้อม” ซึ่งหมายความว่า “เราสู้” น่าจะสะท้อนพระราชดำริทางการเมืองของพระองค์เองได้มากกว่าเพลงอื่นๆ

แต่อันที่จริง “เราสู้” มีความพิเศษยิ่งไปกว่านี้ ขอให้เราได้พิจารณาความเป็นมาของเพลงอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ประวัติที่เป็นทางการกล่าวว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ทรงเกิดแรงบันดาลพระราชหฤทัยที่จะทรงพระราชนิพนธ์เพลง ‘เราสู้’ ก็ทรงหยิบซองจดหมายใกล้พระหัตถ์มาตีบรรทัด 5 เส้น เพื่อทรงพระราชนิพนธ์ทำนอง เมื่อแล้วเสร็จก็พระราชทานให้วงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ ซึ่งกำลังบรรเลงอยู่ในงานวันขึ้นปีใหม่ 1 มกราคม พ.ศ. 2517 นำออกบรรเลง ณ พระราชวังบางปะอิน จากนั้นได้ทรงนำกลับไปแก้ไข ก่อนจะพระราชทานออกมาให้วงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ บรรเลง และทรงแก้ไขอีกจนพอพระราชหฤทัย” (ดนตรีจากพระราชหฤทัย, หน้า 187)

เมื่อได้อ่านประวัติที่เป็นทางการของเพลง “เราสู้” นี้ครั้งแรก ผมรู้สึกงุนงงไม่น้อย เพราะถ้าประวัตินี้ถูกต้อง ก็หมายความว่าการที่เพลงพระราชนิพนธ์นี้ถูกเผยแพร่ในฐานะเพลงปลุกใจที่ฝ่ายขวาใช้ในการต่อสู้กับขบวนการนักศึกษาในปี 2519 นั้นเป็นเรื่อง “บังเอิญ” กล่าวคือ เพลงนี้ได้เกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้นอย่างน้อย 2 ปี และถ้าพิจารณาจากปีที่ว่านายสมภพประพันธ์กลอนจากพระราชดำรัสคือปี 2516 ก็น่าจะสันนิษฐานได้ว่า พระราชดำรัสเองไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใดๆกับการต่อสู้ทางอุดมการณ์ระหว่างฝ่ายขวากับฝ่ายซ้าย เพราะในปี 2516 นั้นยังไม่เกิดการต่อสู้เช่นนี้ขึ้น ซึ่งก็ยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเพลง “เราสู้” กับการเมืองปี 2519 เป็นเรื่องบังเอิญมากขึ้นอีก

แต่ในอีกด้านหนึ่ง เนื้อเพลงหลายตอนก็ดูราวกับว่าแต่งขึ้นเพื่อสถานการณ์ปี 2518-19 เพื่อตอบโต้ฝ่ายซ้ายขณะนั้นโดยเฉพาะ (“ถึงขู่ฆ่าล้างโคตรก็ไม่หวั่น จะสู้กันไม่หลบหนีหาย สู้ตรงนี้สู้ที่นี่สู้จนตาย ถึงเป็นคนสุดท้ายก็ลองดู”) และถ้าเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่จะมีสมมุติฐานล่วงหน้าได้ว่าในการแต่งคำกลอนจากพระราชดำรัสนั้น นายสมภพคงต้องพยายามให้เนื้อหาของกลอนใกล้เคียงกับพระราชดำรัสให้มากที่สุด ก็ชวนให้คิดว่าพระราชดำรัสดั้งเดิมน่าจะมีบางอย่างเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ต่อสู้ระหว่างฝ่ายขวากับฝ่ายซ้าย ซึ่งก็ไม่น่าจะเป็นพระราชดำรัสปี 2516 ไปได้ (จริงอยู่ ในปี 2516 มีการต่อสู้กับ “ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์” แต่ถ้าพระราชดำรัสในปีนั้นจะพูดถึงการต่อสู้กับ “ผ.ก.ค.” ก็ไม่น่าจะมีเนื้อหาอย่างที่เป็นอยู่)

ผมได้ตรวจดู ประมวลพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทที่พระราชทานในโอกาสต่างๆ ซึ่งสำนักราชเลขาธิการจัดพิมพ์เป็นประจำทุกปี พบว่าตลอดปี 2515 และ 2516 ไม่มี “พระราชดำรัสที่พระราชทานแก่สมาชิกสภานิติบัญญัติ ประกอบด้วยข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ และประชาชน ซึ่งได้จัดแข่งฟุตบอลเพื่อนำรายได้ทูลเกล้าฯถวายโดยเสด็จพระราชกุศล และเข้าเฝ้าฯ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน” แต่อย่างใด ที่จริงไม่มีบันทึกการเฝ้าเช่นนี้ของกลุ่มบุคคลลักษณะนี้เลยแม้แต่ครั้งเดียวในระยะ 2 ปีนั้น

จริงอยู่ บางครั้ง ประมวลพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาท มีการตกหล่นที่สำคัญโดยไม่มีคำอธิบาย เช่น ฉบับสำหรับปี 2516 ขาดพระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่กรรมการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยที่เข้าเฝ้าฯเมื่อบ่ายวันที่ 13 ตุลาคม 2516 ซึ่งได้ทรงแนะให้นักศึกษาสลายการชุมนุมหลังจากรัฐบาลปล่อย 13 ผู้ต้องหาเรียกร้องรัฐธรรมนูญแล้ว “เมื่อนิสิตนักศึกษาได้ดำเนินการมาตรงเป้าหมายและได้รับผลตามสมควรแล้ว ก็ขอให้กลับคืนสู่สภาพปกติ” (ดูพระบรมราโชวาทฉบับนี้ได้ใน ขบวนการประชาชน ตุลาคม 2516, หน้า 203; อันที่จริงยังทรงมีพระราชดำรัสต่อกรรมการศูนย์ฯนอกเหนือจากพระบรมราโชวาทฉบับนี้ด้วย ดู เล่มเดียวกัน, หน้า 179-181) หรือ ฉบับสำหรับปี 2521 ขาดพระราชดำรัสแก่ผู้มาเข้าเฝ้าถวายพระพร วันที่ 4 ธันวาคม อย่างน่าประหลาด เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในกรณีพระราชดำรัส “เราสู้” นี้ การไม่ปรากฏใน ประมวลพระราชดำรัส สำหรับปี 2515 และ 2516 น่าจะเพราะไม่ได้ทรงพระราชทานในปีนั้นจริงๆ ทั้งนี้ นอกจากพิจารณาจากความไม่น่าจะเป็นของเนื้อหาดังกล่าวข้างต้นแล้ว ที่สำคัญ ผมพบว่ามีพระราชดำรัสที่พระราชทานในปี 2518 ครั้งหนึ่ง ที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกับเพลงอย่างมาก อันที่จริง ผมอยากจะเสนอว่า นี่คือพระราชดำรัสที่เป็นต้นกำเนิดที่แท้จริงของเพลงนี้อย่างไม่ต้องสงสัย ผมกำลังพูดถึง “พระราชดำรัสที่พระราชทานแก่นักศึกษา พ่อค้า ประชาชน มูลนิธิ องค์การต่างๆที่เข้าเฝ้าฯถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 5 ธันวาคม 2518 ณ ศาลาดุสิตาลัย พระราชวังดุสิต วันพฤหัสบดีที่ 4 ธันวาคม 2518” (นี่คือชื่อเรียกที่เป็นทางการของพระราชดำรัสนี้ตามที่ปรากฏใน ประมวลพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทที่พระราชทานในโอกาสต่างๆ ปีพุทธศักราช 2518, หน้า 315; น่าสังเกตที่มีคำว่า “นักศึกษา” ขึ้นก่อน เมื่อพระราชดำรัสนี้ถูกตีพิมพ์ใหม่เมื่อเร็วๆนี้ ชื่อเรียกได้ถูกเปลี่ยนเป็น “พระราชดำรัสที่พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆที่เข้าเฝ้าฯ...”)


การพระราชทานพระราชดำรัสในวันที่ 4 ธันวาคม
วันที่ 4 ธันวาคม 2518 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้คณะบุคคลต่างๆเข้าเฝ้าฯถวายพระพรเนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา พระราชดำรัสที่ทรงพระราชทานในครั้งนั้นอาจกล่าวได้ว่ามีลักษณะการเมืองมากที่สุดครั้งหนึ่ง – ถ้าไม่ใช่ครั้งที่มากที่สุด - ในตลอดรัชสมัยของพระองค์ (ผมหมายถึงการเมืองในความหมายแคบที่เข้าใจกันทั่วไป)

ปัจจุบันเราคุ้นเคยกับความสำคัญของการที่ทรงมีพระราชดำรัสต่อหน้าผู้มาเข้าเฝ้าฯถวายพระพรนับหมื่นคนในวันที่ 4 ธันวาคมของทุกปีเป็นอย่างดี ล่าสุด พระราชดำรัสเมื่อ 4 ธันวาคม 2540 (“การจะเป็นเสือนั้นมันไม่สำคัญ…”) ถูกหยิบยกมาเป็นจุดเริ่มต้นของการรณรงค์ระดับชาติครั้งใหญ่เพื่อ “เศรษฐกิจพอเพียง” พระราชดำรัสของปี 2518 นั้น เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่มีลักษณะหัวเลี้ยวหัวต่ออย่างแหลมคมชนิดที่ยากจะหาช่วงอื่นในประวัติศาสตร์มาเทียบได้: เพียงวันเดียวหลังการปฏิวัติสังคมนิยมลาวซึ่งทำให้สถาบันกษัตริย์ (“เจ้ามหาชีวิต”) สิ้นสุดลง และเพียงครึ่งปีเศษหลังชัยชนะของคอมมิวนิสต์ในเขมรและเวียดนาม. โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์ในลาวนั้น ด้วยเหตุผลทางสังคมและประวัติศาสตร์ที่มีความใกล้ชิดอย่างมากกับประเทศไทย ได้ก่อให้เกิด “คลื่นความตกใจ” ในหมู่ชนชั้นสูงของไทยอย่างกว้างขวาง สะท้อนออกมาที่พาดหัวตัวโตของ Bangkok Post ฉบับวันที่ 5 ธันวาคม โดยอ้างคำพูดของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น: No threat to our Throne.

ก่อนที่จะพิจารณาพระราชดำรัส 4 ธันวาคม 2518 อย่างละเอียด ผมขอพูดถึงประเพณีที่ให้ความสำคัญกับการพระราชทานพระราชดำรัสในวันที่ 4 ธันวาคมของทุกปีในปัจจุบันสักเล็กน้อย ผมเข้าใจเอาเองว่า การพระราชทานพระราชดำรัสในวันที่ 4 ธันวาคมแก่พสกนิกรที่เข้าเฝ้าฯเป็นจำนวนมากนับหมื่นคน และผ่านสื่อโทรทัศน์ไปทั่วประเทศที่เราเห็นกันทุกวันนี้ มีจุดเริ่มต้นมาจากการพระราชทานพระราชดำรัสแก่คณะบุคคลกลุ่มเล็กๆที่เป็นตัวแทนขององค์การทางศาสนาต่างๆที่เข้าเฝ้าฯถวายพระพรวันเฉลิมพระชนมพรรษา ผมเข้าใจว่าในปีแรกๆในช่วงต้นทศวรรษ 2510 นั้น การเข้าเฝ้าของคณะบุคคลกลุ่มนี้ถือเป็นสิ่งที่เราอาจจะเรียกได้ว่า “ส่วนเสริม” ของการเข้าเฝ้าฯถวายพระพร ที่นอกเหนือไปจากคณะอื่นๆเช่นทูตานุ¬ทูต (พูดแบบสามัญง่ายๆคือ เมื่อมีตัวแทนของต่างประเทศแล้ว ก็มีตัวแทนของต่างศาสนาด้วย)

ในปี 2511 มีการเข้าเฝ้าฯของ “สถาบันและองค์การที่เกี่ยวกับศาสนา” โดยมี “ครูและนักเรียน” แยกเข้าเฝ้าฯอีกคณะหนึ่งในวันที่ 5

ปีต่อมา มีการเข้าเฝ้าฯของ “ผู้แทนองค์การศาสนาและผู้แทนสถาบันการศึกษาต่างๆ”

ปี 2513 มีการเข้าเฝ้าฯของ “คณะผู้แทนสมาคมและองค์การเกี่ยวกับศาสนา ครูและนักเรียนโรงเรียนต่างๆ กับนักศึกษามหาวิทยาลัย รวม 36 คณะ”

ปี 2514 ผู้เข้าเฝ้าฯถูกเรียกแบบเดียวกับปีก่อนเพียงแต่ไม่ได้ระบุจำนวนคณะ และมี “ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน คณะกรรมการของมูลนิธิ สมาคม และสโมสรต่างๆ” เข้าเฝ้าฯอีกคณะหนึ่งในวันที่ 5

ปี 2515 ไม่มีการพระราชทานพระราชดำรัสวันที่ 4 ธันวาคม ทั้งนี้ถือตามหนังสือ ประมวลพระราชดำรัส ผมไม่แน่ใจว่าปีนั้นไม่มีจริงๆหรือหนังสือตกหล่น ถ้าเป็นกรณีแรก ไม่แน่ใจว่าจะเกี่ยวกับการที่ในปี 2514 ทรงมีพระราชดำรัสที่อาจจะตีความได้ว่าเป็นการ “กระทบกระเทือน” ต่อ “คณะปฏิวัติ” ของจอมพลถนอม กิตติขจร ที่เพิ่งยึดอำนาจเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน หรือไม่: “ที่จริงก็ไม่สมควรที่จะพูด เพราะว่าจะเป็นการกระทบกระเทือน แต่ก็ขอพูดสักเล็กน้อย เพราะว่าถือเป็นกันเอง…ที่มีวิกฤติการณ์ในทางการเมืองในปัจจุบันนี้ ส่วนหนึ่งที่ได้อ้างว่าเป็นเหตุผลที่จะต้องมีวิกฤติการณ์ทางการเมืองก็คือนักศึกษา นักศึกษาถูกอ้างว่าจะก่อความไม่เรียบร้อย… ในโอกาสที่ท่านทั้งหลายซึ่งเป็นผู้ที่สนใจและผู้ปฏิบัติในทางศาสนกิจต่างๆและในทางการศึกษามาอยู่ด้วยกัน ก็ขอให้ร่วมกันคิดในทางที่เหมาะสม…สร้างบ้านเมืองและสังคมของเราให้มั่นคง ไม่ต้องปฏิวัติกัน”

ทั้งปี 2516 และ 2517 คณะบุคคลที่เข้าเฝ้าฯวันที่ 4 ธันวาคมถูกเรียกทำนองเดียวกับปี 2513-14 (“องค์การทางศาสนา, ครู, นักเรียน, นักศึกษา”) ปี 2517 มี “105 คณะ” จำนวนประมาณพันคน เป็นที่น่าสังเกตว่าในปี 2516 ในหลวงยังทรงเริ่มพระราชดำรัสด้วยการเจาะจงขอบใจเฉพาะ “ผู้แทนขององค์การและกิจการเกี่ยวข้องกับศาสนา” ทำนองเดียวกับทุกปีก่อนหน้านั้นแม้ว่าในชื่อเรียกผู้เข้าเฝ้าฯจะมีการระบุถึง “คณะนิสิตและนักศึกษา” และแม้จะเพิ่งเป็นเวลาเพียงสองเดือนหลัง 14 ตุลา ในทางกลับกัน เมื่อถึงปี 2517 แม้ผู้เข้าเฝ้าฯจะถูกเรียกขึ้นต้นว่า “คณะผู้แทนสมาคมองค์การเกี่ยวกับศาสนา…” แต่ทรงรับสั่งขอบใจ “ท่านทั้งหลายที่มาให้พรในวันนี้” อย่างไม่เจาะจง

ปี 2518 – ปีของพระราชดำรัส “เราสู้” - เป็นครั้งแรกที่ไม่มีการระบุถึงองค์การทางศาสนาเป็นการเฉพาะและเป็นอันดับแรกอีกต่อไป กลายเป็นการเข้าเฝ้าฯที่มีลักษณะทั่วไปแบบที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน ชื่อพระราชดำรัสในหนังสือ ประมวลพระราชดำรัส กล่าวถึง “นักศึกษา พ่อค้า ประชาชน มูลนิธิ องค์การต่างๆ” และในเชิงอรรถอธิบายความเป็นมาของพระราชดำรัสมีการกล่าวถึง “ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ” เพิ่มเข้าไปด้วย ซึ่งก็เป็นครั้งแรกที่มีระบุถึงคนกลุ่มนี้ในผู้เข้าเฝ้าฯ 4 ธันวาคม หลังจากนั้น คือจากปี 2519 เป็นต้นมา ชื่อเรียกพระราชดำรัสวันที่ 4 ธันวาคมใน ประมวลพระราชดำรัส จะระบุเพียงว่าเป็นพระราชดำรัสที่ “พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆที่เข้าเฝ้าฯถวายชัยมงคล…”

ไม่เพียงแต่ “สาขาอาชีพ” เท่านั้น ขนาดของผู้เข้าเฝ้าฯ 4 ธันวาคมก็เพิ่มขึ้นอย่างมากด้วย ดังที่ในหลวงเองทรงมีรับสั่งแบบติดตลกในปี 2521 ว่า “งานในบ่ายวันนี้เป็นงานที่มีเป็นประจำมาหลายปีและไม่ได้รับชื่อ นอกจากเรียกเป็นภายในว่า งานอนุสมาคม มีงานมหาสมาคมในพระที่นั่งอมรินทรฯแล้ว ก็มีงานอนุสมาคมที่นี่ แต่งานอนุสมาคมนี้ปรากฏว่าใหญ่โตกว่ามหาสมาคม (เสียงหัวเราะ)” (1)

อย่างไรก็ตาม ในความเห็นของผม การให้ความสำคัญกับพระราชดำรัส 4 ธันวาคมแบบในปัจจุบันนั้นเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของทศวรรษ 2530 ขอให้นึกถึงพระราชดำรัส 4 ธันวาคม ปี 2532 เรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติ, ปี 2534 เรื่อง “รู้รักสามัคคี”, ปี 2537 เรื่อง “ทฤษฎีใหม่”, และปี 2540 เรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” แม้แต่จำนวนผู้เข้าเฝ้าฯก็ดูเหมือนจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในทศวรรษที่แล้วนี้เอง: ในปี 2524 มีผู้เข้าเฝ้าฯจำนวน 5,700 คน เจ็ดปีต่อมา ในปี 2531 จำนวนผู้เข้าเฝ้าฯยังคงอยู่ที่ระดับ “เกือบหกพันคน” แต่ในปี 2535 เพิ่มขึ้นเป็นถึง 8,800 คน วันที่ 4 ธันวาคม 2543 มีผู้เข้าเฝ้าฯ 16,759 คน ในแง่นี้จึงไม่อาจกล่าวว่า พระราชดำรัส “เราสู้” ปี 2518 เป็นจุดเปลี่ยนจริงๆในประวัติศาสตร์ของการพระราชทานพระราชดำรัส 4 ธันวาคม แต่ความสำคัญของพระราชดำรัสนี้ก็หาได้ลดลงไปในฐานะพระราชดำรัสที่มีเนื้อหาการเมืองเข้มข้นแหลมคมที่สุด พระราชทานในสภาพแวดล้อมที่ตึงเครียดทางการเมืองสูงสุด และ – ในรูปแบบของเพลง “เราสู้” – ถูกนำมาใช้ในการรณรงค์ทางการเมืองอันดุเดือดรุนแรงซึ่งสิ้นสุดลงด้วยเหตุการณ์ 6 ตุลา(2)


พระราชดำรัส 4 ธันวาคม 2518
น่าสังเกตว่า ในหลวงทรงเริ่มพระราชดำรัส 4 ธันวาคม 2518 ด้วยการติงประภาศน์ อวยชัย ผู้กล่าวนำถวายพระพรว่าลืมเอ่ยว่าผู้มาร่วมวันนั้นมีชาวนาและกรรมกรด้วย ไม่ใช่มีแต่ “สมาชิกสมาคม มูลนิธิหรือฝ่ายทหาร ตำรวจ พลเรือน เจ้าหน้าที่ต่างๆ”: “ก็ไม่ทราบว่าลืมหรืออย่างไร ไม่ได้พูดถึงเกษตรกร…ไม่ได้บอกว่ามีกรรมกรเหมือนกัน”, “ขอขอบใจเป็นพิเศษแก่กลุ่มกสิกร…กรรมกรที่ได้มาให้พรในวันนี้ทำให้ที่ประชุมนี้ยิ่งสมบูรณ์ขึ้น” ซึ่งไม่น่าจะเป็นการบังเอิญ ขณะนั้นขบวนการนักศึกษาและฝ่ายซ้ายในเมืองกำลังเคลื่อนไหวอย่างหนักโดยอ้างผลประโยชน์และการสนับสนุนของกรรมการชาวนา และโจมตี “ชนชั้นปกครอง” ว่าเป็นฝ่ายตรงข้าม กดขี่ขูดรีดชนชั้นทั้งสองนี้ ในหลวงทรงเริ่มพระราชดำรัสด้วยการ “โต้” ขบวนการนักศึกษาโดยนัย (ทรง “หยอก” ด้วยว่า “ที่ได้มาร่วมประชุมนี้ จะเรียกว่าชุมนุมก็ไม่ได้ เดี๋ยวหาว่า มาประท้วงอะไร”(3))

หลังจากรับสั่งว่าถ้าทุกคนทำหน้าที่ตามอาชีพของตนและทำงานที่นอกเหนือหน้าที่แต่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ก็เท่ากับเป็น “ของขวัญวันเกิด” สำหรับพระองค์แล้ว ทรงรับสั่งถึงสถานการณ์การเมืองในขณะนั้นทันที:
ปัจจุบันนี้บ้านเมืองเรายังอยู่เป็นบ้านเมืองดังที่ประจักษ์เห็นอยู่ ทำไมเกิดยังเป็นบ้านเมืองอยู่อย่างนี้ ไม่พังลงไป ดังที่มีใครต่อใครก็ได้คาดคะเนเอาไว้ ว่าเมืองไทยจะไม่อยู่ในแผนที่โลกแล้วภายในปลายปีนี้ ข้าพเจ้าก็ได้ยินมา และต่อมาเมื่อเมืองไทยยังอยู่ในโลก ก็ได้ยินมาอีกว่า ปีหน้าไทยแลนด์นี้จะกลายเป็นตายแลนด์ ในแผนที่ที่เห็นไว้ว่าเมืองไทยนี้จะเป็นตายแลนด์ เห็นมานานแล้ว(4) แล้วก็เข้าใจว่าที่ทำไว้อย่างนั้น ก็เป็นแผนการณ์ที่แท้อย่างหนึ่งที่อยากให้เป็นตายแลนด์ พวกเราก็ไม่ยอม ไม่ยอมให้เป็นตายแลนด์ ไม่อยากให้เป็น ก็นึกว่าที่ให้เป็นตายแลนด์นั้น ก็เป็นการข่มขวัญ แต่ถ้าเราทุกคนทำหน้าที่ดี แล้วก็พยายามที่จะสามัคคีกันดี ช่วยกัน เราก็ไม่ตาย แล้วก็ข้อพิสูจน์ ก็ทุกคนที่ยืนอยู่ที่นี้ก็ยังไม่ตาย ก็ไม่ใช่ตายแลนด์ ทีนี้ปีหน้าเขาบอกเป็นปีวิกฤต เป็นปีวิกฤตก็คงเป็นวิกฤตทุกปี วันนี้ก็เป็นวันวิกฤต ถ้าดู ถ้าเชื่อฤกษ์ยามอะไรต่างๆก็ไปดูซิ ใครที่เป็นหมอดูนะไปดู วันนี้ฤกษ์ไม่ดี…. ถ้าอยากดูไปดู ไปผูกดวง เวลานี้เลวทั้งนั้น แล้วก็จะส่งผลให้เรามีหายนะ จะล้มตายเป็นระนาว จะเกิดอาเพศต่างๆ ถ้าดูจริงๆก็เป็นจริง ถ้าเชื่อก็เชื่อได้ ทีนี้ได้ข่มขู่ท่านทั้งหลายอย่างรุนแรงแล้วว่าท่านต้องตายทุกคน แต่ทำไมท่านหัวเราะ ก็เพราะว่าทุกคน ถ้ามีความมั่นใจจริงๆว่าเรา…ทำเพื่อรักษาส่วนรวม คือส่วนรวมนี่เป็นที่อยู่ของเรา เป็นที่อาศัยของเรา ถ้าทุกคนมีความมุ่งมั่นไม่คิดถึงสิ่งที่มาข่มขู่… ถ้าใครมาขู่เข็ญว่าจะแย่หรือจะตาย เราก็ต้องมาดูด้วยเหตุผล เดี๋ยวนี้เราตายหรือเราเป็น ก็ต้องบอกว่าเราเป็น ถึงยังมาพูดกันได้อย่างนี้
ผมไม่แน่ใจว่าแผนที่ที่ทรงรับสั่งว่าทรงเคยเห็น ซึ่งเป็น “แผนการณ์ที่แท้อย่างหนึ่งที่อยากให้ (เมืองไทย) เป็นตายแลนด์” นั้นหมายถึงแผนที่ไหน แต่ในช่วงนั้น เท่าที่จำได้มีการเผยแพร่ “แผนที่” สองฉบับโดยพวกฝ่ายขวา ฉบับหนึ่งเป็นรูปวาดแผนที่ประเทศไทย และมีรูป “คอมมิวนิสต์” (คนหน้าจีนๆ - หรือเวียดนาม - ใส่ชุดแบบทหารกองทัพปลดแอกของคอมมิวนิสต์) ตัวโตพอๆกับแผนที่กำลังอ้าปากกว้างพยายามจะอมแผนที่ประเทศไทยไว้จากทางด้านภาคอีสาน อีกฉบับหนึ่งคือแผนที่ที่หนังสือพิมพ์บางฉบับนำมาตีพิมพ์โดยได้มาจากหน่วยงานด้านความมั่งคงของไทย แสดงให้เห็นสิ่งที่เรียกกันว่า “ยุทธศาสตร์รูปตัวแอลของพคท.” คือ แผนการ “ตัด” (“ปลดปล่อย”) ภาคอีสานออกจากการควบคุมของกรุงเทพก่อน

ที่แน่ๆคือในหลวงทรงกำลังหมายถึงฝ่ายซ้ายหรือคอมมิวนิสต์ ที่ว่ากำลัง “ข่มขวัญ” และ “ข่มขู่…หรือขู่เข็ญ” จะเปลี่ยน “ไทยแลนด์” ให้กลายเป็น “ตายแลนด์” น่าสนใจว่าทรงเชื่อแบบเดียวกับฝ่ายขวาในสมัยนั้นว่าการเปลี่ยนการปกครองเป็นสังคมนิยม-คอมมิวนิสต์นั้นหมายถึงการสูญสิ้นประเทศไทย การที่ทรงใช้อุปลักษณ์ (metaphor) ของความตายกับประเทศ มองจากมุมของฝ่ายซ้าย (ซึ่งรวมทั้งขบวนการนักศึกษา) ในขณะนั้น สิ่งที่พวกเขาต้องการคือการปฏิวัติเปลี่ยนระบอบเศรษฐกิจการเมืองและสังคม ซึ่งถ้าปฏิวัติสำเร็จ ก็ยังมีประเทศไทยอยู่ (ประโยคที่ว่า “อนาคตจะต้องมีประเทศไทย” ในเพลง “เราสู้” นั้น พูดตามคำตรงๆ เป็นสิ่งที่ฝ่ายซ้ายในขณะนั้นไม่มีข้อโต้เถียงด้วย สำหรับพวกเขา “อนาคตจะต้องมีประเทศไทย” อยู่แล้ว เพียงแต่เป็นประเทศไทยแบบสังคมนิยม)

ในหลวงทรงรับสั่งต่อไปว่าทุกคนต้องการความสุขส่วนตัว แต่ต้อง “เห็นผลประโยชน์ของผู้อื่นด้วย” จึงต้อง “สามัคคีกันปรองดองกัน”
ประเทศชาติก็เหมือนกัน ถ้าร่วมกันจริงๆก็อยู่ได้ ทีนี้มาคิดอยู่อย่างหนึ่ง การอยู่นี้มีหลายพวก ถ้าอยากแบ่งเป็นพวก โดยมากชอบแบ่งเป็นพวก เป็นพวกทหาร พวกพลเรือน หรือตำรวจ พวกที่อยู่ในเครื่องแบบ และพวกที่อยู่นอกเครื่องแบบ แบ่งเป็นพวกเจ้าหน้าที่กับพวกประชาชน แบ่งเป็นผู้ใหญ่เป็นผู้น้อย เป็นผู้เฒ่าไดโนเสาร์กับนักศึกษาและนักเรียน แบ่งกันทั้งนั้น ชนชั้นต่างๆแบ่งกัน(5) ถ้าแบ่งกันอย่างนี้อยู่กันไม่ได้ ต้องช่วยกันทั้งนั้น…. มาเมื่อเร็วๆนี้เองได้ยินมา ฟังแล้วก็หมั่นไส้(6) บอกว่าลิ้นกับฟันมันก็ต้องกระทบกัน จริง ลิ้นกับฟันต้องกระทบกัน บางทีฟันก็กัดลิ้น แต่ใครเป็นลิ้นใครเป็นฟัน…. เปรียบเทียบอย่างนี้มันตลกมาก ที่เปรียบเหมือนลิ้นกับฟัน แต่ว่าก็เป็นคำเปรียบโบราณก็พูดกันมาก เปรียบขณะนี้ถ้าเราอยากตลก เราก็ตลกให้เต็มที่ซิ ลิ้นกับฟันกระทบกันขอให้ไปคิด ฟันมันกระทบลิ้น มันกัดลิ้น แล้วลิ้นก็เจ็บ เอ้ายอม ลิ้นก็คือประชาชน ฟันคือนาย เขาว่าต้องปลดแอก ก็ต้องถอนฟัน แล้วอย่างไร ถ้าถอนฟันออกหมด เมื่อเดือนที่แล้วไปเยี่ยมนครพนม ไปแถวมุกดาหาร ไปเจอผู้หญิงคนหนึ่งมีฟันเหลือซี่เดียว เขาก็บ่นบอกว่ากินข้าวมันไม่อร่อย ไม่มีฟันนี่กินข้าวไม่อร่อย ก็เลยบอกเขาว่าถ้าให้ที่โรงพยาบาลใส่ฟันจะเอาไหม เขาถามว่าเจ็บไหม ก็บอกว่าย่อมต้องเจ็บบ้างแต่ว่าทำได้ เขาก็เอา เขาจะทำ… เพราะว่าจะได้กินข้าวอร่อย ทีนี้ก็ฟันที่ใส่นั้นมันก็ฟันปลอม ลิ้นกับฟันกระทบกัน ถ้าลิ้นของเราฟันของเรากระทบกันเองก็ยังไม่เป็นไร แต่ทำไมถ้าสมมุติว่าเอาฟันปลอมมาใส่ เขาจะเลือกฟันปลอมมาจากไหน ยี่ห้อใด จากประเทศใดมาใส่ ให้มากระทบลิ้นเรา อันนี้ต้องระวังดีๆ ฟันน่ะฟันปลอมมันใส่ได้ มีประโยชน์ทำให้กินข้าวอร่อย แต่ข้าวนั้นน่ะข้าวไทย ไปตอกตราฮานอย ก็มีเหมือนกัน จะเอาหรือ ฟันปลอมที่มาจากที่อื่นน่ะ…. ระวังอย่าให้ฟันปลอมมาเคี้ยวลิ้นให้หมด อันนี้คิดไปคิดมามันกลุ้ม…. อย่างที่ตะกี้ว่าลิ้นถูกกัด เพราะเรื่องของฟันปลอมจะเอามาจากไหน มันก็เลยทำให้คิดมาก และก็ถ้าคิดมากแล้วก็เกิดเสียวไส้ เกิดคิดไปมาก เลยทำให้อาจเกิดความไม่สบายใจ อาจเป็นความกลัวหรือความไม่สบายใจในจิตใจของเราหรือของแต่ละท่านที่มาอยู่ที่นี่….
ในปี 2541 เมื่อทรง “เรียบเรียงและปรับปรุง” พระราชดำรัสนี้ใหม่และโปรดเกล้าฯให้ตีพิมพ์ “พระราชทานเพื่อใช้ในราชการ” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทำเชิงอรรถอธิบายข้อความตอนนี้ว่า “ (หมายเหตุ)“ฮานอย”.ระยะนั้นได้มีการขายข้าวไทยแก่เวียดนามใต้ ข้าวนั้นถูกลอบนำเข้าเวียดนามเหนือ ซึ่งกลับส่งนอกไปอีกที ทำให้เป็นการแย่งตลาดไทย.” อย่างไรก็ตาม ถ้าเราอ่านข้อความตอนนี้ทั้งหมด ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะสรุปว่า ในปี 2518 นั้น ทรงตั้งพระทัยให้มีความหมายอีกอย่างหนึ่ง. แม้จะทรงใช้อุปลักษณ์โดยตลอด, แต่สาระ (message) ที่รับสั่งนั้นชัดเจนมาก: การที่ฝ่ายซ้ายในขณะนั้นเรียกร้องให้ประชาชน (“ลิ้น”) “ปลดแอก” จาก “นาย” (“ฟัน”) นั้น ต้องระวังว่าเมื่อ “ปลดแอก” แล้ว ผู้ที่จะมาเป็น “นาย” แทน (“ฟันปลอม”) จะเป็นใคร (“จะเลือกฟันปลอมมาจากไหน ยี่ห้อใด จากประเทศใดมาใส่ ให้กระทบลิ้นเรา”) และข้อสรุปของพระองค์ก็คือ “ต้องระวังให้ดีๆ” ผู้จะมาเป็น “นาย” แทนจะกลายเป็นคอมมิวนิสต์เวียดนาม (“ฮานอย”) ไป (7)

เป็นที่ทราบกันทั่วไปในสมัยนั้นว่า ชนชั้นนำไทยมีความเชื่อ (หรือความกลัว) อย่างหนึ่งว่า การเคลื่อนไหวเรียกร้อง “เอกราชประชาธิปไตย” ของขบวนการนักศึกษาและฝ่ายซ้ายเป็นการกระทำที่ได้รับการชักใยบงการจากคอมมิวนิสต์เวียดนาม ฉากที่อันธพาลฝ่ายขวารุมทำร้ายนักศึกษาที่ชุมนุมในธรรมศาสตร์ในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ถึงขั้นนำไปแขวนคอ เผาและทารุณกรรมศพ ขณะเดียวกับที่ตะโกนประณามว่าคนที่กำลังถูกทารุณกรรมนั้นเป็น “ญวน” เป็นฉากที่รู้จักกันดี นี่เป็นประเด็นที่ผมมักไม่เข้าใจและมีความลำบากในการหาคำอธิบายที่ชัดเจนเป็นที่น่าพอใจ จริงอยู่ บ่อยครั้งพวกฝ่ายขวาสมัยนั้นก็โจมตีนักศึกษาเป็น “สมุนจีนแดง” และแม้แต่ “สมุนรัสเซีย” ด้วยในบางครั้ง แต่เหตุใด พวกเขาจึงมีความหมกมุ่น (obsession) ในเรื่อง “ญวน” มากกว่าเรื่องอื่น ทั้งๆที่ในความเป็นจริง กล่าวได้ว่าไม่มี “ความเป็นญวน” อะไรเกี่ยวกับขบวนการนักศึกษาเลย (ถ้าจะเป็นเรื่อง “ความเป็นจีน” ทั้งในแง่เชื้อสายของนักกิจกรรม หรือในแง่ที่ขบวนการมีความสัมพันธ์กับ พคท. ซึ่งเชียร์จีน ก็ยังพอเข้าใจได้ แต่พวกฝ่ายขวากลับหมกมุ่นเรื่อง “ญวน” มากกว่า) ถึงจุดนี้แม้ผมจะยังไม่มีคำอธิบายที่น่าพอใจ แต่อย่างน้อย เราก็ได้ทราบว่า ความหมกมุ่นเรื่อง “ญวน” นี้แพร่หลายเข้มข้นในหมู่ชนชั้นนำไทยเพียงใด

ในหลวงทรงย้ำว่าสถานการณ์ในขณะนั้นเรียกร้องให้ทุกคนยิ่งต้อง “คิดดี ทำดี”
เพราะว่าถ้าเรานึกว่าเดี๋ยวนี้มาถือว่าประเทศชาติของเรามีความปั่นป่วน แน่นอน มีอันตรายคุกคามแน่นอนจากทุกทิศทั้งภายนอกภายใน กำลังรู้สึกกันนะ ทุกคนรู้สึกว่าเมืองนี้ชักจะอันตราย จนกระทั่งมีบางคนเล่าลือกันว่า เก็บกระเป๋าขายของ ไปต่างประเทศเสียแล้วก็มี แต่ว่าท่านพวกนั้นที่เก็บของ ขายของ หนีออกจากประเทศ ไปเสียทีเพราะว่าเมืองไทยมันเต็มทนแล้ว กลับไปเจอเขาริบของในประเทศโน้นที่ไปอาศัยเขา พังเคไปหมด หารู้ไม่ว่าเมืองไทยนี่น่าอยู่นะ มีชาวต่างประเทศที่อยู่ต่างประเทศในเมืองเสียอีก เป็นอารยประเทศ เป็นประเทศที่ศิวิไลซ์ ประเทศที่ก้าวหน้าแล้ว เขาอยู่ไม่ได้ เขาขอมาอยู่เมืองไทย ขอมาตั้งรกรากที่เมืองไทยนี่ ฉะนั้นประเทศไทยนี่ทำไมอยู่ได้ ก็เพราะพวกเราทุกคน ถ้าเราสร้างความดี คือทำปฏิบัติในสิ่งที่บริสุทธิ์ใจที่สุจริต…. ก็เป็นการสร้างกำลังของบ้านเมือง ทำให้เป็นเหมือนฉีดยาป้องกันโรค….
หลังจากนี้ ทรงรับสั่งถึงสาเหตุที่ได้ทำและจะทำให้ “เมืองไทยอยู่ได้” เนื้อหาในพระราชดำรัสตอนนี้ ผู้ที่รู้จักคำร้องเพลง “เราสู้” ควรต้องรู้สึกคุ้นเคยเป็นอย่างดี:
แต่ทำไมเมืองไทยอยู่ได้ ก็เพราะว่าบรรพบุรุษของเราทำมาเป็นแรมปีเป็นร้อยๆปี ทำมาด้วยความสุจริตใจ ในสิ่งที่เรารู้ในประวัติศาสตร์ว่านักรบไทยได้ป้องกันประเทศให้อยู่ นักปกครองไทยได้ป้องกันความเป็นอยู่ของเมืองไทยให้อยู่ได้ตกทอดมาถึงเรานั้นน่ะ ท่านได้ทำมาด้วยความตั้งใจให้เป็นมรดก… คือเป็นบารมี ได้สร้างบารมีมาตั้งแต่โบราณกาลมา สะสมมาเรื่อย…. ขอเปรียบเทียบเหมือนบารมี นั่นคือทำความดีนี้ เปรียบเทียบเหมือนการธนาคาร…เราอย่าไปเบิกบารมีที่บ้านเมืองที่ประเทศได้สร้างสมเอาไว้ตั้งแต่บรรพบุรุษของเราให้เกิน เราต้องทำบ้าง หรือเพิ่มพูนให้ประเทศชาติมีอนาคตที่แน่นอน อนาคตที่จะสามารถถือว่าชั่วลูกชั่วหลานชั่วเหลนชั่วโหลน ประเทศไทยก็ยังคงอยู่…. การสร้างบารมีของบรรพบุรุษของเราแต่โบราณกาล ที่ได้รักษาสร้างบ้านเมืองขึ้นมาจนถึงเราแล้ว ก็ในสมัยนี้ที่เราอยู่ในที่ที่เรากำลังเสียขวัญกลัวก็ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องกลัวเพราะเรามีทุนอยู่….

เรามีบ้านเมืองแล้ว เราต้องรักษาไม่ใช่ทำลาย ใครอยากทำลายบ้านเมืองก็ทำลายเข้า เชิญทำลาย เราสู้ แต่ว่าผู้ที่จะทำลายระวังดีๆ คือว่าผู้ที่อยากทำลายนั้นไม่ใช่ว่าเขาอยากทำลายเพื่ออะไร แต่เขาทำลายตัวเอง น่าสงสาร ส่วนมากเขาทำลายตัวเอง….(8)
วันรุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์หลายฉบับได้รายงานข่าวพระราชดำรัส 4 ธันวาคม 2518 นี้ แต่ที่น่าแปลกใจคือ ดาวสยาม ไม่ใช่หนึ่งในจำนวนนั้น ทั้งนี้อาจเพราะได้ตีพิมพ์ “ฉบับพิเศษ” วันเฉลิมพระชนมพรรษาแทน โดยอุทิศหน้าหนึ่งทั้งหน้าให้กับการถวายราชสดุดี(9) ดาวสยาม วันต่อมา (6 ธันวาคม) พาดหัวตัวโต “ญวนหมิ่นในหลวง วิจารณ์พระราชดำรัสวันเฉลิมฯ” จากข่าวเล็กๆที่มีการจับชาวไทยเชื้อสายเวียดนามอาชีพช่างตัดเสื้อคนหนึ่งที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพวิจารณ์พระราชดำรัสวันที่ 4 ขณะฟังการถ่ายทอดเสียงทางวิทยุ (ฉบับอื่นมีเพียง เดลินิวส์ วันที่ 6 ธันวาคม ที่ให้ความสำคัญกับข่าวนี้ ด้วยการพาดหัว “รวบญวนโอหัง หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ”; The Nation วันเดียวกันรายงานข่าวนี้ในหน้าแรก แต่ให้พื้นที่ของข่าวเล็กนิดเดียวและเขียนด้วยภาษาเรียบๆ)

หนังสือพิมพ์อื่นของวันที่ 5 ธันวาคม 2518 ให้ความสำคัญกับพระราชดำรัสวันที่ 4 ในระดับที่ต่างกัน ทั้ง Bangkok Post กับ The Nation รายงานเป็นข่าวเล็กๆหน้าหนึ่ง (พาดหัว King says 'Don't be alarmed' และ King calls for unity ตามลำดับ) ขณะที่ ประชาชาติ ให้พื้นที่ข่าวมากกว่าแต่ไม่ถึงกับเป็นข่าวนำ (พาดหัว: ทรงเตือน 'อย่าแบ่งพวก') ไทยรัฐ, เดลินิวส์ และ บ้านเมือง เป็นเพียง 3 ฉบับที่พาดหัวตัวโตเป็นข่าวนำ. ไทยรัฐ: ในหลวงรับสั่งวันเฉลิม ชี้ภัยไทย แบ่งชนชั้น. เดลินิวส์: ในหลวงทรงประกาศสู้ผู้ทำลายชาติ ไม่ยอมให้ไทย เป็น 'ตายแลนด์'. บ้านเมือง: ในหลวงทรงรับสั่งให้ตระหนัก ไทยแลนด์จะเป็น 'ตายแลนด์' เตือนสามัคคี.


จากพระราชดำรัสถึงเพลง
ผมขอเสนอว่า พระราชดำรัส 4 ธันวาคม 2518 นี้ คือต้นตอที่แท้จริงของเพลงพระราชนิพนธ์ “เราสู้” อย่างไม่ต้องสงสัย นี่คือพระราชดำรัสที่นายสมภพ จันทรประภานำมาประพันธ์เป็นกลอนแปด แล้วทูลเกล้าฯถวาย และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ทรงใส่ทำนอง ไม่ใช่ “พระราชดำรัสที่พระราชทานแก่สมาชิกสภานิติบัญญัติ ประกอบด้วยข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ และประชาชน ซึ่งได้จัดแข่งฟุตบอล…” ใน พ.ศ. 2516 (ซึ่งน่าจะไม่มีตัวตน) แต่อย่างใด

เห็นได้ชัดว่าสมภพได้ประพันธ์ตามพระราชดำรัสอย่างใกล้เคียงมาก ไม่เพียงในแง่ความ, แต่คำและวลีหลักๆก็ล้วนนำมาจากพระราชดำรัสทั้งสิ้น ตั้งแต่ชื่อกลอน “เราสู้” จนถึงวลีต่อไปนี้ (ในวงเล็บเป็นคำในพระราชดำรัส): “บรรพบุรุษของไทย (เรา) แต่โบราณ”, “(ชั่ว)ลูก(ชั่ว)หลาน(ชั่ว)เหลน(ชั่ว)โหลน”, “อนาคตจะต้องมีประเทศไทย” (อนาคต…ประเทศไทยก็ยังคงอยู่), “บ้านเมืองเราเราต้องรักษา” (เรามีบ้านเมืองแล้ว เราต้องรักษา), และ “อยากทำลายเชิญมาเราสู้” (ใครอยากทำลาย…เชิญทำลาย เราสู้)

ตามประวัติที่เป็นทางการ (ดังที่ได้เล่าแล้วในตอนต้น) หลังจากสมภพได้เขียนกลอนถวายแล้ว ได้ทรงพระราชทานกลอนนี้ “ให้เป็นของขวัญปีใหม่แก่ทหาร อาสาสมัคร และตำรวจชายแดน” (ธ สถิต, หน้า 333) ส่วนทำนองเพลงนั้น ได้ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นในลักษณะที่ “ทรงเกิดแรงบันดาลพระราชหฤทัย…หยิบซองจดหมายใกล้พระหัตถ์มาตีบรรทัด 5 เส้น เพื่อทรงพระราชนิพนธ์ทำนอง เมื่อแล้วเสร็จก็พระราชทานให้วงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ ซึ่งกำลังบรรเลงอยู่ในงานวันขึ้นปีใหม่ 1 มกราคม 2517 นำออกบรรเลง ณ พระราชวังบางปะอิน จากนั้นได้ทรงนำกลับไปแก้ไข ก่อนจะพระราชทานออกมาให้วงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ บรรเลง และทรงแก้ไขอีกจนพอพระราชหฤทัย” (ดนตรี, หน้า 187)(10)

ในขณะที่ประวัติทางการของเพลง "เราสู้" ผิดพลาดในเรื่องพระราชดำรัสซึ่งเป็นที่มาของเพลง ด้วยเหตุนี้จึงเป็นไปไม่ได้ที่การบรรเลงเพลงนี้ครั้งแรกของวง อ.ส.วันศุกร์จะเกิดขึ้นในวันปีใหม่ 2517, ผมเชื่อว่ารายละเอียดอื่นๆในประวัติที่เป็นทางการน่าจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง เพียงแต่เราต้องเปลี่ยนปี พ.ศ. เท่านั้น ซึ่งจะทำให้เราได้ขั้นตอนของการเกิดเพลง "เราสู้" ดังนี้:
(1) วันที่ 4 ธันวาคม 2518 ทรงมีพระราชดำรัสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
(2) ระหว่างวันที่ 4 - ปลายธันวาคม 2518 สมภพ จันทรประภา เขียนกลอน “เราสู้” จากพระราชดำรัส แล้วทูลเกล้าฯถวาย
(3) ปลายธันวาคม 2518ทรงพระราชทานกลอน “เราสู้” ให้เป็นของขวัญปีใหม่แก่ทหาร และ ตชด.
(4) วันที่ 1 มกราคม 2519 ทรงเกิดแรงบันดาลพระราชหฤทัย พระราชนิพนธ์ทำนองให้กลอน “เราสู้” ขณะทรงประทับ ณ พระราชวังบางปะอิน แล้วทรงพระราชทานให้วง อ.ส.วันศุกร์ ซึ่งกำลังบรรเลงในงานวันปีใหม่ที่นั่นทดลองบรรเลง
(5) ต้นปี 2519 ทรงนำทำนองเพลง “เราสู้” กลับไปแก้ไขจนพอพระราชหฤทัย แล้วพระราชทานฉบับสมบูรณ์ออกมา
(6) ต้นปี 2519 มีการนำเพลง “เราสู้” ออกเผยแพร่ในหมู่กลุ่มพลังฝ่ายขวา
เราได้เห็นรายละเอียดของขั้นตอน (1) แล้ว ซึ่งทำให้ได้เข้าใจขั้นตอน (2) ด้วย, ต่อไปขอให้เรามาพิจารณาขั้นตอน (3)

ประวัติที่เป็นทางการกล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานกลอน “เราสู้” ที่สมภพแต่งถวาย “ให้เป็นของขวัญปีใหม่แก่ทหาร อาสาสมัคร และตำรวจชายแดน” แต่ไม่มีการให้รายละเอียดหรือหลักฐาน อันที่จริง ผมเชื่อว่าคนเขียนประวัติทางการไม่รู้รายละเอียดและไม่มีหลักฐานด้วย เพราะมิเช่นนั้นจะต้องไม่ผิดพลาดเรื่องปีเกิดของเพลงอย่างแน่นอน เพราะเมื่อเร็วๆนี้ผมพบหลักฐานว่าทรงพระราชทานกลอนให้เป็นของขวัญปีใหม่จริงๆ แต่เป็นปีใหม่ 2519 และในลักษณะที่น่าสนใจยิ่ง

ดังที่ผมได้กล่าวบ้างแล้วข้างต้น, เมื่อเร็วๆนี้ (ตุลาคม 2541) ในหลวงได้ทรงนำพระราชดำรัส 4 ธันวาคม 2518 มา “ทรงเรียบเรียงและปรับปรุง” ใหม่พร้อมๆกับพระราชดำรัส 4 ธันวาคมอีก 4 ปี คือปี 2517, 2519, 2520 และ 2521 ทั้งยังได้ทรงแปลเป็นภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เองทั้ง 5 พระราชดำรัส แล้วโปรดเกล้าฯให้ตีพิมพ์รวมกันเป็นเล่มเดียว ภาษาไทยอยู่หน้าขวาอังกฤษอยู่หน้าซ้ายคู่กันไปตลอดเล่ม (โดยบริษัทอมรินทร์พริ้นติ้ง) ออกเผยแพร่ “พระราชทานเพื่อใช้ในราชการ” ในหนังสือรวมพระราชดำรัส 4 ธันวาคม เล่มนี้ นอกจากจะทรงโปรดเกล้าฯให้ตีพิมพ์ภาพถ่ายทั้งสีและขาวดำการเข้าเฝ้าฯของคณะบุคคลในวันที่ 4 ธันวาคมของปีต่างๆนั้นแล้ว ในหน้า 46 ยังได้ทรงให้ตีพิมพ์สิ่งที่ดูเหมือนกับ การ์ด ส.ค.ส. ปี 2519 ที่ทรงประดิษฐ์ขึ้นด้วยพระองค์เอง คล้ายกับการ์ด ส.ค.ส. ที่พระองค์ทรงประดิษฐ์ขึ้นและพระราชทานแก่พสกนิกรในวันสิ้นปีเก่าขึ้นปีใหม่ของทุกปีในปัจจุบัน เนื้อหาของสิ่งที่ดูเหมือนการ์ด ส.ค.ส. 2519 นี้ ก็คือบทกลอน “เราสู้” นั่นเอง โดยมีคำแปลภาษาอังกฤษพิมพ์สลับกับกลอนภาษาไทยบทต่อบท แม้จะไม่มีคำอธิบายใดๆ ก็แทบจะไม่ต้องสงสัยเลยว่าคำแปลดังกล่าวเป็นพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (ความแตกต่างที่เห็นได้ระหว่าง “การ์ด” ปี 2519 ที่ว่านี้กับการ์ดของในหลวงในปัจจุบัน คือการ์ดปี 2519 ไม่ได้พิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์; ดูคำอธิบายเรื่องนี้ข้างล่าง)

ผมเชื่อว่า การ์ด ส.ค.ส. 2519 “เราสู้” นี้มีความสำคัญมาก อย่างน้อย 3 ประการ คือ

หนึ่ง เป็นการยืนยันว่าในหลวงได้ทรงพระราชทานกลอน “เราสู้” เป็นของขวัญปีใหม่จริงๆ แต่เป็นปี 2519;

สอง แสดงว่ามี “เราสู้” ใน version ภาษาอังกฤษ ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์เอง. (เรื่องนี้ผมไม่เคยได้ยินใครพูดถึงมาก่อน รวมทั้งหนังสือเกี่ยวกับเพลงพระราชนิพนธ์และพระราชกรณียกิจต่างๆ) ในขณะที่กลอน “เราสู้” ของสมภพ จันทรประภานั้น อาจกล่าวได้ว่า สะท้อนพระราชดำริของในหลวงได้อย่างใกล้เคียงมากแล้ว, การที่ทรงพระราชนิพนธ์ “เราสู้” เป็นภาษาอังกฤษและพระราชทานการ์ดนี้ในพระนามพระองค์เองเท่ากับทรงยืนยันว่า “เราสู้” เป็นพระราชดำริของพระองค์โดยสมบูรณ์;

สาม มีความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่การ์ดนี้จะเป็นการ์ด ส.ค.ส.ฉบับแรกที่ในหลวงทรงประดิษฐ์ขึ้น และดูเหมือนว่าจะไม่มีใครรู้เรื่องการ์ดนี้มาก่อน

ประวัติที่เป็นทางการเกี่ยวกับเรื่องนี้ (“พระราชอัจฉริยภาพด้านคอมพิวเตอร์” ใน เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 72 พรรษามหาราชา, จัดพิมพ์โดยคณะกรรมการจัดงานวันสื่อสารแห่งชาติ, 2542, หน้า 72) กล่าวว่า
ผลงานที่พระองค์ทรงประดิษฐ์ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์อีกอย่างหนึ่งก็คือ ส.ค.ส. ที่พระองค์ทรงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ “ปรุง” อวยพรในวันปีใหม่ ซึ่งพระองค์ทรงพระราชทานถึงข้าราชบริพารและหน่วยงานต่างๆอยู่เป็นประจำทุกปี แม้จะทรงมีพระราชกรณียกิจมากมาย ซึ่งแต่เดิมพระองค์ทรงใช้วิธี “ปรุ” แถบเทเล็กซ์พระราชทานพรปีใหม่ โดยในบัตร ส.ค.ส. ฉบับแรก ปี พ.ศ. 2528 มีความว่า “ในโอกาสขึ้นปีใหม่ 2529 นี้ ขอขอบใจที่ทุกคนได้ช่วยงานในด้านต่างๆมาด้วยดี….”

ท้ายบัตร ส.ค.ส. ฉบับแรกระบุว่า “ก.ส. 9 ปรุ” อันเป็นหลักฐานแสดงถึงการใช้เครื่องเทเล็กซ์หรือโทรพิมพ์ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2530 พระองค์ทรงประดิษฐ์ ส.ค.ส. ให้มีลวดลายมากขึ้น ท้ายบัตร ส.ค.ส. ระบุว่า “ก.ส. 9 ปรุง” จนถึงปัจจุบัน แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีสื่อสารที่พระองค์ทรงใช้ในการประดิษฐ์บัตร ส.ค.ส. จากเดิมที่เคยทรง “ปรุ” พระราชทานผ่านเครื่องเทเล็กซ์ มาทรง “ปรุง” ใหม่โดยทรงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์แทน…

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา พระองค์ได้ทรงประดิษฐ์บัตร ส.ค.ส.ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์พระราชทานพรแก่พสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่าผ่านสื่อมวลชนทุกปี เหล่าพสกนิกรทั้งหลายต่างพากันตั้งใจรอคอยผลงานของพระองค์ที่จะทรงพระกรุณาพระราชทานให้…
ขณะที่ ส.ค.ส. ที่ทรงประดิษฐ์ด้วยคอมพิวเตอร์ฉบับแรกน่าจะเป็นฉบับที่ทรงประดิษฐ์ในเดือนธันวาคม 2530 - คือ ส.ค.ส. ปี 2531 - จริง เพราะเพิ่งทรงมีคอมพิวเตอร์ส่วนพระองค์เครื่องแรกในเดือนธันวาคมปีก่อนหน้านั้น (เล่มเดียวกัน, หน้า 67; ดูภาพถ่าย ส.ค.ส. ที่ทรงประดิษฐ์ด้วยคอมพิวเตอร์ทุกฉบับตั้งแต่ปี 2530/31 ถึงปี 2541/42 ในหน้า 70, 73, 74 และ 79), ประวัติทางการนี้ผิดแน่ๆที่กล่าวว่า ส.ค.ส. ที่ทรงประดิษฐ์ขึ้นฉบับแรก (ด้วยเทเล็กซ์) คือ ส.ค.ส. ปี 2529 (ธันวาคม 2528) เพราะต่อให้เราไม่นับ การ์ด ส.ค.ส. 2519 “เราสู้” ข้างต้น, ในหนังสือรวมพระราชดำรัส 4 ธันวาคม เล่มเดียวกับที่มีรูปการ์ด “เราสู้”, ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตีพิมพ์, ในหน้า 80, “ส.ค.ส. 2521 (Telex)” ซึ่งขึ้นต้นว่า “รอ. 1 จิตรลดา จาก จิตรลดา… รอ. 3. ถึง เจ้าหน้าที่ ทุกเหล่า ทุกหน่วย” และลงท้ายว่า “ก.ส. 9 ปรุ/ส่ง 310130 ธ.ค. 2520” อย่างชัดเจน

ผมคิดว่า การมีอยู่ของ ส.ค.ส. ปี 2521 นี้ยิ่งยืนยันว่ารูปถ่ายที่เห็นเป็น ส.ค.ส. ปี 2519 “เราสู้” ข้างต้นนั้น น่าจะเป็น ส.ค.ส.ปี 2519 ที่ทรง “ปรุ/ส่ง” จริงๆ และด้วยเหตุนี้จึงต้องถือเป็น ส.ค.ส. ที่ทรงประดิษฐ์ด้วยพระองค์เองฉบับแรกเท่าที่เรามีหลักฐานอยู่ในขณะนี้ ที่น่าสังเกตคือ ตรงข้ามกับปัจจุบันที่หนังสือพิมพ์จะรายงานข่าว ส.ค.ส.ของพระองค์โดยพร้อมเพรียง ในปี 2519 ไม่มีฉบับใดที่กล่าวถึง ส.ค.ส. นี้เลย ที่เป็นข้อยกเว้นบางส่วนคือกรณี บ้านเมือง ฉบับวันที่ 8 มกราคม 2519 ซึ่งอุทิศส่วนบนสุดหนึ่งในสี่ของหน้า 13 ให้กับกลอน “เราสู้” โดยตีกรอบสี่เหลี่ยมล้อมรอบ มีพระบรมฉายาลักษณ์รูปพระพักตร์อยู่ด้านซ้ายมือและรูปถ่ายอาสาสมัครในเครื่องแบบยืนเรียงแถวเป็นแบ็คกราวน์ ภายใต้หัวว่า:

พิเศษ-วันนี้ “บ้านเมือง” อัญเชิญกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่เหล่าข้าราชบริพาร ทหาร ตำรวจ และอาสาสมัคร ในวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
หลังจากนั้นเป็นกลอน “เราสู้” ทั้งสี่บท จะเห็นว่าคำบรรยายหัวนี้ผิดความจริงแบบง่ายๆ เพราะเห็นได้ชัดว่า นี่ไม่ใช่ “กระแสพระราชดำรัส” แน่ๆ (ถ้าใช้คำว่า “พระราชนิพนธ์กลอน” ยังจะใกล้เคียง) และอันที่จริงในวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2518-19 นั้น ในหลวงทรงมีพระราชดำรัสอื่นซึ่งหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ รวมทั้ง บ้านเมือง เองได้รายงานไปแล้ว(12) แต่เป็นไปได้ว่าบางคนใน บ้านเมือง (เช่น อาจจะเป็น “สีน้ำ” นักเขียนฝ่ายขวาผู้เป็นศัตรูอย่างรุนแรงกับขบวนการนักศึกษาสมัยนั้น) ได้รับการ์ด ส.ค.ส. “เราสู้” เองหรือไปได้มาจากผู้อื่น จึงนำมาตีพิมพ์ โดยเขียนคำบรรยายเอาเอง เนื่องจากเห็นเป็น ส.ค.ส.ของในหลวง จึงเขียนไปเช่นนั้น การตีพิมพ์ “เราสู้” ใน บ้านเมือง นี้น่าจะเป็นการเผยแพร่กลอนนี้ต่อสาธารณะเป็นครั้งแรก แม้ว่าคงมีน้อยคนที่สังเกตเห็นในขณะนั้น

ขณะเดียวกัน, ดังที่เราได้เห็นแล้ว, พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเกิดแรงบันดาลพระราชหฤทัยโดยฉับพลัน ระหว่างที่ทรงประทับในงานเลี้ยงวันปีใหม่ที่พระราชวังบางปะอิน โดยมีวงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ กำลังบรรเลงเพลง (ซึ่งต้องเป็นปี 2519 อย่างแน่นอน ไม่ใช่ 2517 ตามประวัติทางการ) “ทรงหยิบซองจดหมายใกล้พระหัตถ์มาตีบรรทัด 5 เส้น เพื่อทรงพระราชนิพนธ์ทำนอง” ให้กับกลอน “เราสู้” เมื่อเสร็จแล้วก็พระราชทานให้วง อ.ส.วันศุกร์ ทดลองบรรเลงเดี๋ยวนั้น นายแมนรัตน์ ศรีกรานนท์ ผู้เล่า “เกร็ด” เรื่องนี้กล่าวว่า “ทรงเป็นเสมือนนักประพันธ์เพลงหรือปราชญ์ของโลก คือทรงแต่งสดๆ” อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่า จากการที่เราได้เรียงลำดับความเป็นมาของเพลงข้างต้น ทำให้เราอาจจะเข้าใจภูมิหลังของ “แรงบันดาลพระราชหฤทัย” อย่างฉับพลันในวันปีใหม่นั้นได้ง่ายยิ่งขึ้น กล่าวคือ เห็นได้ชัดว่าขณะนั้นน่าจะเพิ่งทรงพระราชนิพนธ์แปล กลอน “เราสู้” เป็นภาษาอังกฤษได้ไม่นาน และเพิ่งทรง “ปรุ/ส่ง” ทั้งภาษาไทยและอังกฤษในพระนามของพระองค์เป็น ส.ค.ส.ไปยังหน่วยงานราชการโดยเฉพาะทหารและตชด. พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ “เราสู้” น่าจะกำลังอยู่ในพระราชหฤทัยตลอดเวลาในระยะนั้น ทำให้ในระหว่างงานปีใหม่ที่มีวงดนตรีบรรเลง ทรง “เกิดแรงบันดาลพระราชหฤทัย” โดยฉับพลันขึ้นได้ – นี่คือขั้นตอน (4) ของการเกิดเพลง “เราสู้”

สำหรับขั้นตอน (5) และ (6) คือการที่ทรงนำทำนองเพลง “เราสู้” กลับไปแก้ไขจนพอพระราชหฤทัย แล้วพระราชทานฉบับสมบูรณ์ออกมา และการที่มีการนำเพลง “เราสู้” ออกเผยแพร่ในหมู่กลุ่มพลังฝ่ายขวานั้น มีหลักฐานว่า ทรงใช้เวลาไม่ถึง 1 เดือนในการแก้ไขทำนอง คือนับจากวันปีใหม่ 2519 ที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองครั้งแรก ถึงการ “เปิดตัว” เพลงนี้ต่อสาธารณะ ในรูปรายงานข่าวใน ดาวสยาม ฉบับวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2519(13)

ดาวสยาม ฉบับดังกล่าวได้พาดหัวขนาดใหญ่ 3 บรรทัด ดังนี้
ในหลวงถูกภัยแดงคุกคาม
ล้มราชบัลลังก์
ทรงนิพนธ์บทเพลง ‘เราสู้’
โดยมีพาดหัวข่าวรอง 3 บรรทัดว่า
ทรงโปรดให้ “สันติ ลุนเผ่” ร้อง
ยืนยันถึงปณิธานอันเด็ดเดี่ยว
ไม่ยำเกรงและทอดทิ้งพสกนิกร
ถัดลงมาจากพาดหัวตัวใหญ่ มีภาพถ่ายเนื้อเพลง “เราสู้” พิมพ์ในลักษณะการ์ด มีเครื่องหมาย “กรมการรักษาดินแดน” อยู่ด้วย เข้าใจว่าเป็นการ์ดที่หน่วยงานดังกล่าวพิมพ์ออกเผยแพร่ ข้างล่างลงมาอีก มีภาพถ่ายสันติ ลุนเผ่ กำลังให้สัมภาษณ์กับนักข่าว ดาวสยาม มีคำบรรยายว่า: สันติ ลุนเผ่ เผยเบื้องหลังเพลง ‘เราสู้’ พระราชนิพนธ์ของ ‘ในหลวง’

ผมขอคัดลอกรายงานข่าวนี้ทั้งหมดมาให้ดูกันข้างล่าง แต่ก่อนอื่น ขอให้ระลึกว่าในสมัยนั้นเมื่อกล่าวถึง “เพลงพระราชนิพนธ์” โดยทั่วไปจะไม่มีการเปิดเผยหรือกล่าวถึงว่าใครคือผู้ประพันธ์คำร้อง ไม่เหมือนสมัยนี้ที่เข้าใจกันทั่วไปแล้วว่า ทรงพระราชนิพนธ์เฉพาะทำนอง ในความรู้สึกของคนทั่วไปสมัยนั้น “เพลงพระราชนิพนธ์” จึงเป็น “เพลงของในหลวง” ทั้งหมดทั้งเนื้อร้องและทำนอง (ในความเห็นของผม นี่คือสิ่งที่ทางราชการต้องการ) รายงานข่าวของ ดาวสยาม ข้างล่างจึงเพียงแต่สะท้อนความเข้าใจเช่นนี้ คือเนื้อหาของเพลงก็เป็นของพระองค์ด้วย (ดูที่ ดาวสยาม เขียนว่า “ขออัญเชิญ พระราชหัตถเลขา”) ซึ่งในเง่หนึ่งก็เป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะ สมภพ จันทรประภา ประพันธ์คำร้องได้ใกล้เคียงกับพระราชดำรัสมาก เพียงแต่ ดาวสยาม เองและคนทั่วไปในขณะนั้นไม่ทราบความเป็นมาของเพลงจากพระราชดำรัส ดาวสยาม รายงานไว้ดังนี้

“ล้นเกล้าฯของชาวไทย” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ทรงเปิดเผยพระปณิธานเด็ดเดี่ยวของพระองค์ท่าน ที่จะทรงประทับอยู่เป็นมิ่งขวัญและเป็นหลักชัยของพสกนิกร บนผืนแผ่นดินไทยตลอดไป ไม่ว่าจะมี “ภัยแดง” จากผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ คุกคามต่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศหนักมือยิ่งขึ้น ถึงขนาดขู่เข็ญจะทำลายล้างพระราชวงศ์จักรีให้สูญสิ้นไปในอนาคต ก็ไม่ทรงยำเกรง ด้วยการระบายความในพระราชหฤทัยเป็นพระราชนิพนธ์เพลงปลุกใจ “เราสู้” ให้ยอดนักร้องเพลงปลุกใจขวัญใจประชาชน “สันติ ลุนเผ่” ร้องอัดแผ่นออกจำหน่ายทั่วประเทศเร็วๆนี้ ติดตามด้วยเพลงพระราชนิพนธ์ “วีรกรรมรำลึก” และ “มาร์ช อ.ส.” ซึ่งในเนื้อเพลงพระราชนิพนธ์ “เราสู้” ดังกล่าว มีอยู่หลายบทหลายตอนที่บ่งบอกถึงน้ำพระทัยอันเปี่ยมล้นไปด้วยความรักชาติรักประชาชน ไม่ทรงยอมทิ้งผืนแผ่นดินไทยของพระองค์ท่าน ถึงขนาดทรงพระนิพนธ์ว่า “ถึงขู่ฆ่าล้างโคตรก็ไม่หวั่น จะสู้กันไม่หลบหนีหาย สู้ตรงนี้ สู้ที่นี่ สู้จนตาย ถึงเป็นคนสุดท้ายก็ลองดู”

จากการพบกับ สันติ ลุนเผ่ นักร้องชายซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “นักร้องตัวอย่าง” ที่เป็นแบบฉบับของศิลปินผู้มีความรักในผืนแผ่นดินไทยมากผู้หนึ่ง ในงานการกุศลหารายได้โดยไม่หักค่าใช้จ่ายของภัตตาคาร “สวนกุหลาบ” เพื่อส่งไปช่วยทหาร-ตร.ชายแดนที่ได้รับบาดเจ็บจากการสู้รบ เมื่อคืนวันตรุษจีนที่ 30 ม.ค.นี้ และเมื่อถูกถามถึงความเคลื่อนไหวของตัวเขาเกียวกับการร้องเพลงปลุกใจรักชาติ สันติ ลุนเผ่ ก็เปิดเผยว่า ในวันที่ 6 ก.พ.นี้ เขาได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากล้นเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงไว้วางใจมอบหมายให้เขาร้องเพลงพระราชนิพนธ์ชื่อเพลง “เราสู้” อัดแผ่นเสียงออกเผยแพร่ทั่วประเทศในวันที่ 6 ก.พ. นี้ ซึ่งในขณะนี้เขากำลังขะมักขะเม้นท่องเนื้อเพลงอยู่แล้ว เพลงนี้เป็นเพลงที่เขามีความตั้งใจ ในการที่จะร้องให้ดีที่สุดในชีวิตการร้องเพลงของเขา เพราะมีเนื้อร้องและท่วงทำนองที่ซาบซึ้งประทับใจมาก ตัวเขาเองและผู้ที่เกี่ยวข้องในงานนี้ทุกคน ทราบดีว่า เพลงพระราชนิพนธ์ “เราสู้” นี้เป็นเพลงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงระบายความในพระราชหฤทัยของพระองค์ท่านที่ทรงได้รับการข่มขู่จาก “ภัยแดง” ที่มุ่งร้ายต่อเอกราชและอธิปไตยของประเทศอยู่ในขณะนี้ ว่าจะล้มล้างพระบรมราชจักรีวงศ์ให้สูญสิ้นไปจากผืนแผ่นดินไทย แต่ก็มิได้ทรงหวาดหวั่นพรั่นพรึง ทรงยืนยันทีจะประทับอยู่สู้ภัยร่วมกับประชาชนพสกนิกรของท่านจนพระองค์สุดท้าย จะไม่ทอดทิ้งประชาชนไปจากผืนแผ่นดินไทยเป็นอันขาด

นอกจากเพลงพระราชนิพนธ์ “เราสู้” ที่จะร้องอัดแผ่นในวันที่ 6 ก.พ. นี้แล้ว สันติ ลุนเผ่ ยังเปิดเผยอีกว่า เขายังมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติรับใช้สนองพระมหากรุณาธิคุณของล้นเกล้าฯอยู่อีก ด้วยการร้องเพลงอัดแผ่นชื่อ “วีรกรรมรำลึก” และ “มาร์ช อส.” ในอันดับต่อไป

เพลงพระราชนิพนธ์ “เราสู้” ดังกล่าวนี้ “ดาวสยาม” ขอกราบอัญเชิญพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อถ่ายทอดเนื้อเพลงออกปรากฏสู่สายตาของประชาชนไทย ดังต่อไปนี้


“เราสู้”
บรรพ์บุรุษของไทยแต่โบราณ
ปกบ้านป้องเมืองคุ้มเหย้า
เสียเลือดเสียเนื้อมิใช่เบา
หน้าที่เรารักษาสืบไป ….
[ตามด้วยเนื้อเพลงที่เหลือจนจบ]

รายงานข่าวนี้ ให้ข้อมูลที่สำคัญแก่เราบางประการ คือ

ประการแรก ดังที่กล่าวข้างต้น ในหลวงทรงใช้เวลาไม่ถึง 1 เดือนในการแก้ไขทำนองเพลง “เราสู้” ที่ทรงเกิดแรงบันดาลพระราชหฤทัยพระราชนิพนธ์ขึ้นอย่างฉับพลันครั้งแรกในวันขึ้นปีใหม่ 2519 คือนับตั้งแต่วันนั้น ถึงวันที่ 30 มกราคม ที่สันติ ลุนเผ่ ให้สัมภาษณ์ ดาวสยาม ว่ามีนัดอัดแผ่นเสียงเพลงนี้ในหนึ่งสัปดาห์ข้างหน้า ซึ่งหมายความว่าจะต้องทรงแก้ไขเสร็จก่อนหน้าการให้สัมภาษณ์ของสันติ (ก่อนวันที่ 30)

ประการต่อมา สันติให้สัมภาษณ์ถึงเพลงพระราชนิพนธ์อีก 2 เพลง ชื่อ “วีรกรรมรำลึก” และ “มาร์ช อ.ส.” ว่าทรงโปรดเกล้าฯให้เขาร้องอัดแผ่นเสียงต่อจาก “เราสู้” ในเวลาไม่นานนัก แต่เท่าที่ผมเคยเห็นเอกสารทางราชการทุกฉบับเกี่ยวกับเพลงพระราชนิพนธ์ รวมทั้งหนังสือ ธ สถิตย์ในดวงใจนิรันดร์ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาทรงเป็นองค์ประธานจัดพิมพ์ ไม่มีการกล่าวถึง 2 เพลงนี้เลย อย่างไรก็ตาม เราน่าจะพอสันนิษฐานได้ว่า เนื้อหาของทั้ง 2 เพลงคงจะเป็นเรื่อง “ปลุกใจให้รักชาติ” คือแอนตี้คอมมิวนิสม์ (ฝ่ายซ้าย-ขบวนการนักศึกษา) ไม่ต่างจาก “เราสู้” นัก ซึ่งทำให้เราได้ทราบว่า ขณะนั้น ทรงเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้มากกว่าที่เคยทราบกันมาก่อน

ประการที่สาม ในส่วนของเพลง “เราสู้” เอง แม้เราไม่อาจแน่ใจว่า เมื่อสันติ ลุนเผ่ ให้สัมภาษณ์ว่า เขา “ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากล้นเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงไว้วางใจมอบหมายให้เขาร้องเพลงพระราชนิพนธ์ชื่อเพลง ‘เราสู้’ อัดแผ่นเสียงออกเผยแพร่ทั่วประเทศ” นั้น สันติ ได้เคยเข้าเฝ้ารับพระราชทานพระราชกระแสรับสั่งด้วยตัวเอง หรือเพียงได้รับการสื่อสารผ่านผู้อื่น แต่ความจริงแท้ (authenticity) ของ “สาร” ต่อไปนี้ ในแง่ที่เป็น “พระปณิธาน” จริงๆ ไม่น่าเป็นที่สงสัย:
ตัวเขาเองและผู้ที่เกี่ยวข้องในงานนี้ทุกคน ทราบดีว่า เพลงพระราชนิพนธ์ “เราสู้” นี้เป็นเพลงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงระบายความในพระราชหฤทัยของพระองค์ท่านที่ทรงได้รับการข่มขู่จาก “ภัยแดง” ที่มุ่งร้ายต่อเอกราชและอธิปไตยของประเทศอยู่ในขณะนี้ ว่าจะล้มล้างพระบรมราชจักรีวงศ์ให้สูญสิ้นไปจากผืนแผ่นดินไทย แต่ก็มิได้ทรงหวาดหวั่นพรั่นพรึง ทรงยืนยันทีจะประทับอยู่สู้ภัยร่วมกับประชาชนพสกนิกรของท่านจนพระองค์สุดท้าย จะไม่ทอดทิ้งประชาชนไปจากผืนแผ่นดินไทยเป็นอันขาด
อย่างน้อยที่สุด นี่คือความเข้าใจของฝ่ายขวาในขณะนั้น โดยเฉพาะของ ดาวสยาม ซึ่งเป็นองค์กรฝ่ายขวาที่สำคัญมากองค์กรหนึ่ง

เรายังได้ทราบจากรายงานข่าวนี้ว่า เพลง “เราสู้” ได้รับการอัดแผ่นเสียงเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2519 คาดว่า เพลงคงเริ่มได้รับการเผยแพร่ไม่นานหลังจากนั้น จากนี้ก็ทำให้เราสามารถเขียนถึงขั้นตอน (5) และ (6) ของการเกิดเพลง “เราสู้” ข้างต้นใหม่ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ดังนี้
(5) วันที่ 1 - ก่อนวันที่ 30 มกราคม 2519 ทรงนำทำนองเพลง “เราสู้” กลับไปแก้ไขจนพอพระราชหฤทัย แล้วพระราชทานฉบับสมบูรณ์ออกมา
(6) วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2519 มีการเปิดเผยเรื่องเพลง “เราสู้” เป็นครั้งแรกใน ดาวสยาม
(7) วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2519 โปรดเกล้าให้ สันติ ลุนเผ่ อัดแผ่นเสียงเพลง “เราสู้”
(8) หลังวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2519 ไม่นาน มีการนำเพลง “เราสู้” ออกเผยแพร่ในหมู่กลุ่มพลังฝ่ายขวา (14)


จาก “เราสู้” ถึง 6 ตุลา
เพลงปลุกใจโดยทั่วไปและ “เราสู้” โดยเฉพาะ มีบทบาทอย่างไรในการต่อสู้ทางการเมืองในช่วงก่อน 6 ตุลา? ผมขอเสนอว่าเพลงปลุกใจ (หรือเพลงปฏิวัติ/เพื่อชีวิต) มีบทบาทเช่นนั้นเอง – “ปลุกใจ” ผมหมายความว่า เพลงเหล่านี้ไม่ได้มีบทบาทในการ “ให้การศึกษา” หรือ “ทำให้คนเชื่อ” ในสาระทางการเมืองที่มีอยู่ในเพลง พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เพลงเหล่านี้เป็นเพลงเพื่อคนที่เชื่ออยู่แล้ว ไม่ใช่สำหรับทำให้คนที่ยังไม่เชื่อหันมาเชื่อ สำหรับคนพวกหลัง เนื้อหาของเพลงที่มีลักษณะการเมืองอย่างสูงเช่นนี้ เป็นสิ่งที่ยากจะ “ซาบซึ้ง” ได้ แต่สำหรับพวกที่เชื่อในอุดมการณ์ที่เพลงเหล่านี้สะท้อนอยู่แล้ว เพลงช่วยทำให้เกิดกำลังใจ, มีความสุข (“บันเทิง”), ให้ความรู้สึกที่เป็น “ชุมชน” ร่วมกับผู้อื่นที่คิดอย่างเดียวกัน และเพิ่มความเชื่อมั่นในสิ่งที่กำลังคิดและทำ, ทำให้อยากคิดแบบนั้นและทำแบบนั้นให้มากขึ้นไปอีกดีขึ้นไปอีก – พูดอย่างสั้นๆ ก็คือ “ปลุกใจ” นั่นเอง

ตัวอย่างหนึ่งคือกรณี ดาวสยาม ซึ่งเป็นผู้เริ่มเผยแพร่เพลงนี้เอง ในต้นเดือนกรกฏาคมปีนั้น เมื่อนักศึกษาธรรมศาสตร์กลุ่มหนึ่งเดินขบวนไปวางหรีดหน้าสำนักงาน, ดาวสยาม ได้นำเนื้อร้องบางตอนของ “เราสู้” มาตีพิมพ์ (โดยแปลงบางคำ) เป็นการตอบโต้(15) นั่นคือ หนังสือพิมพ์รู้สึกว่ากำลังถูกโจมตีจากศัตรู (ขบวนการนักศึกษา) ถึงกับมีการ “ยกกำลัง” มาที่สำนักงาน (ความจริงผู้เดินขบวนไปวางหรีดวันนั้นน่าจะมีเพียงร้อยคนเศษ) “เราสู้” ถูกอ้างขึ้นเพื่อยืนยันความถูกต้องของตัวเอง โดยเฉพาะในส่วนของเนื้อเพลงที่พูดถึงการปักหลักสู้ ในที่ที่ตัวเองอยู่ (“สู้ที่นี่ สู้ตรงนี้”)

แน่นอนว่า การที่ “เราสู้” เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ย่อมมีความหมายมากกว่าเพลงปลุกใจทั่วไป สำหรับ ดาวสยาม และกลุ่มพลังฝ่ายขวาอื่นๆ (กระทิงแดง, ลูกเสือชาวบ้าน, นวพล) ทุกครั้งที่ได้ยิน, ร้อง หรือเพียงแต่นึกถึงเพลงนี้ในใจ ย่อมสามารถรู้สึกได้ว่าสิ่งที่พวกเขากำลังทำนั้นไม่เพียงแต่ถูกต้อง แต่เป็นพระราชประสงค์ – พระราชบัญชา – โดยตรง และแม้ในหลวงจะทรงมีพระราชดำรัสที่เป็นต้นกำเนิดของเพลงมาตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2518 หรือกระทั่งทรง “ปรุ” กลอนที่เขียนจากพระราชดำรัสเป็น ส.ค.ส. ออกพระราชทานในวงจำกัด แต่การคงอยู่ในใจ, การพร้อมใช้ (ready-to-use) ของเพลงย่อมสูงกว่า – และด้วยเหตุนี้จึง “มีพลัง” กว่า – พระราชดำรัสร้อยแก้วหรือกลอนธรรมดามาก

วิวาทะกับ จอน อึ๊งภากรณ์ ว่าด้วยปัญหา ป๋วย อึ๊งภากรณ์ กับ ระบอบสฤษดิ์



หมายเหตุ ดังที่ผู้อ่านเว็บบอร์ดนี้ได้ทราบ เมื่อเร็วๆนี้ ผมได้โพสต์กระทู้เกี่ยวกับปัญหาว่าจะอธิบายการที่ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ทำงานรับใช้ระบอบสฤษดิ์ อย่างไร (ซึ่งเป็นปฏิกิริยาต่อเนื่องจากที่มีผุ้อื่นโพสต์กระทู้อภิปราย บทบาทของ ดร.ป๋วย และ ท่าทีของ “สังคมไทย” มีต่อ ดร.ป๋วย) เมื่อไม่กี่วันมานี้ อ.จอน อึ๊งภากรณ์ ได้กรุณาโพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นต่อกระทู้ของผม ผมเห็นว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นน่าสนใจ จึงขอนำทั้งข้อความของ อ.จอน และการตอบของผม มาโพสต์ แยกเป็นกระทู้ใหม่ ต่างหากในที่นี้


ข้อความของ จอน อึ๊งภากรณ์

ผมต้องยอมรับว่าผมเองไม่รู้คำตอบของคำถามที่อจ.สมศักดตั้งขึ้น เพราะผมไม่รุ้จักคุณพ่อมากนักในแง่การทำงานและความคิดในการทำงานในสมัยนั้น ผมเลยขอตั้งข้อสังเกตุ (เดาจากการที่จำคำพูดในครอบครัวบางส่วนได้บ้าง)แค่ว่า

1. คุณพ่อเคยแยกแยะมาตลอดระหว่างการรับราชการกับการรับตำแหน่งทางการเมืองภายไต้เผด็จการ และไม่คิดว่าคุณพ่อจะถือตำแหน่งผวก.ธนาคารชาติเป็นตำแหน่งทางการเมือง

2. เท่าที่ทราบคุณพ่อเคยแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมากับ จอมพลสฤษดิ์ในบางครั้งเพื่อพยายามยับยั้งการกอบโกยผลประโยชน์ที่ใหญ่โต

3. คุณพ่อก็ปุถุชน มีดีมีเสียมีแข็งมีอ่อน มีกล้าและขี้ขลาด และเป็นคนที่เปลี่ยนแปลงในทางดีขึ้นได้ ไม่ค่อยได้หลงตัวเองนัก เพราะมีเมียที่คอยเตือนสติเสมอ

4. ความจริงคุณแม่ผมเป็นคนที่เข้มแข็งทางความคิดเชิงอุดมการ และการยึดหลักการมากกว่าคุณพ่อและมีอิทธิพลต่อความคิดของคุณพ่อพอสมควร (คุณแม่คิดแบบสังคมนิยมประชาธิปไตย แต่คุณพ่อคิดแบบ
เสรีนิยมประชาธิปไตย)

5. คุณพ่อเป็นคนมองจอมพลสฤษดิ์ในแง่ดีบางส่วน (คิดว่ามองดีกว่าจอมพลป.และจอมพลเผ่าแน่นอน เช่นเดียวกับที่มองจอมพลถนอมดีกว่าจอมพลประภาสและพันเอกณรงค์ และเท่าที่รู้คุณพ่อไม่เคยมองจอมพลถนอมเป็นคนที่มีสันดานเลว) คิดว่าคุณพ่อมองจอมพลสฤษดิ์เป็นเผด็จการที่กอบโกย แต่เปิดโอกาสให้กลุ่มคนที่ดีๆได้มีโอกาสในการทำงานด้านการพัฒนาประเทศตามแนวคิดของพวกเขา

6. สมัยนั้นคุณพ่อมีพรรคพวกเพื่อนร่วมงานที่มีคุณภาพพอสมควรและซื่อสัตย์สุจริตทั้งในธ.ชาติและกระทรวงคลังและหน่วยราชการอื่นที่คุณพ่อเคยทำงาน ผมคิดว่าข้าราชการในตำแหน่งสำคัญสมัยนั้น
หลายคนมีอุดมการและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์(ไม่ขายตัว)เหนือชั้นกว่าข้าราชการไทยสมัยนี้(โดยเฉลี่ย)อย่างสิ้นเชิง

7. ผมไม่รู้ว่าคุณพ่อทราบข้อมูลและตระหนักแค่ไหนต่อบทบาทการฆ่าและจำคุกนักโทษการเมืองของจอมพลสฤษดิ์ แต่ก็คงต้องทราบพอสมควรและก็คงไม่เห็นด้วยกับการกระทำแบบนั้นแน่นอน เพราะคุณพ่อเชื่อมั่นคงในเรื่องกระบวนการยุติธรรมและสิทธิของผู้ต้องหาตลอดจนเสรีภาพทาวความคิดและอุดมการ แม้ว่่าคุณพ่อจะไม่ชอบ"คอมิวนิสต์" ก็ตาม

ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ก็ไม่ได้เป็นการตอบคำถามอจ.ใสมศักดิ์เพียงแต่เอาแผ่นจิ๊กซอร์บางแผ่นวางบนกระดานและบางแผ่นอาจจะเบี้ยวก็ได้เพราะผมเองก็ไม่ได้รับรู้อะไรมากเกี่ยวกับความคิดและการทำงานของคุณพ่อในสมัยนั้น

โดย : จอน อึ๊งภากรณ์ (203.150.14.161) เมื่อ : 28/08/2004 02:27 AM


เรียน อ.จอน

ต้องขอขอบคุณอย่างสูงที่กรุณาโพสต์ข้อความข้างต้น นับว่าเป็นข้อความที่ intelligent ที่สุดในบรรดาข้อความตอบต่อกระทู้ที่โพสต์มา

ก่อนอื่นผมเห็นด้วย ว่าข้อความที่อ.จอน โพสต์ไม่ใช่การตอบผมในความหมายที่เป็นการ "ตอบ" ระหว่างคน 2 คน ที่ อ.ใช้คำว่าเป็นการสร้าง "ภาพต่อ" ผมเข้าใจว่า อ.กำลังจะพูดทำนองว่า (ซึ่งผมเห็นด้วยอย่างเต็มที่) นี่เป็นการอภิปรายปัญหาร่วมกันทางสาธารณะอย่างหนึ่ง และผมเชื่อว่า อ.ย่อมทราบดีว่า ในฐานะที่ ดร.ป๋วย เป็นบุคคลสำคัญที่บทบาทอย่างสูงในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และการรับรู้ (perception) และท่าทีของ "สังคม" ต่อ ดร.ป๋วย ก็เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรมการเมือง และภูมิปัญญาร่วมสมัย การอภิปรายเรื่องนี้ จึงเป็นประเด็นทางสาธารณะที่สำคัญต่อการเข้าใจประวัติศาสตร์ร่วมสมัย ไม่ใช่ประเด็น "ส่วนตัว" แต่อย่างใด (สมัยหนึ่งที่ พล.อ.ชาติชาย เป็นนายกรัฐมนตรี ผมได้ยินเพื่อนบางคนยกประเด็นว่า ในหมู่นักทำกิจกรรมบางคน มีความลำบากใจที่จะ หยิบยกปัญหาบทบาทของชาติชาย โดยเฉพาะในกรณี 6 ตุลา ขึ้นมาพูด เพราะ "เกรงใจ" อ.โต้ง ซึ่งเป็นที่รักของนักทำกิจกรรม ผมเองตอนนั้นไม่อยู่เมืองไทย จึงไม่ได้ร่วมคุยเรื่องนี้ด้วย แต่ก็เห็นว่า ความลำบากใจ หรือ "เกรงใจ" ในลักษณะนี้ไม่ถูกต้อง)

ยิ่งกว่านั้น ผมต้องขอขอบคุณและแสดงความนับถือชื่นชมอย่างจริงใจ ในความตรงไปตรงมา และเคารพต่อข้อเท็จจริงของ อ.จอน นับเป็นเรื่องหาได้ไม่ง่ายในการพูดถึงคุณพ่อตัวเองในลักษณะนี้ โดยเฉพาะในบางประเด็นที่ผมจะพูดถึงต่อไป

ผมเชื่อว่า ผู้อ่านที่มีวิจารณาญาณย่อมไม่เพียงแต่รู้สึกดีใจแบบผมในการโพสต์ของ อ.จอน ครั้งนี้ แต่ย่อมสามารถอ่านและชั่งน้ำหนัก และคิดต่อได้เอง ในที่นี้ ผมเพียงอยากหยิบยกมาประเด็นมาอภิปรายเพิ่มเติมคือ

ผมคิดว่า จุดที่สำคัญ (และคือจุดที่ผมยกย่องที่อ.จอนพูดขึ้นมาดังกล่าว) คือ ข้อ 5 ที่ อ.จอนกล่าวว่า "คุณพ่อเป็นคนมองจอมพลสฤษดิ์ในแง่ดีบางส่วน (คิดว่ามองดีกว่าจอมพลป.และจอมพลเผ่าแน่นอน .." นี่ไม่ใช่ประเด็นที่คนรุ่นหลัง โดยเฉพาะรุ่นนี้ (แม้แต่นักวิชาการจำนวนมาก) จะทราบกัน และเป็นประเด็นที่สำคัญมาก ที่ผมพยายามเสนอมาตลอด ไม่เพียงแต่ในกระทู้นี้ คือ การที่ปัญญาชนคนสำคัญๆของไทย สมัย 2500 หลายคนมีสิ่งที่ในทัศนะของผม เป็น "มายาคติ" (illusion) ต่อจอมพลสฤษดิ์ โดยเปรียบเทียบกับ ป. และ เผ่า พูดแบบง่ายๆ คนสมัยนั้น จำนวนมากไม่เพียงแต่ เกลียดเผ่า (เกลียดจอมพล ป. มักจะเป็นการพ่วงกับการเกลียดเผ่า) แต่ยังมีความรู้สึกว่าสฤษดิ์ "ดี" อย่างน้อยในบางด้านที่สำคัญ ผมย้ำคำ "ที่สำคัญ" เพราะไม่มีใครระดับปัญญาชน จะนึกว่าสฤษดิ์ "ดี" ในเรื่อง "เล็กๆ" ประเภทนิสัยส่วนตัว ฯลฯ คือพูดง่ายๆว่า เห็นว่า สฤษดิ์ "ดี" ในเชิงนโยบาย ในเชิงการเมืองบางอย่าง ซึ่งยิ่งทำให้ (ในความเห็นของผม) illusion ที่ว่านี้ ไม่เพียงแต่ อันตราย เท่านั้น ยังแย่มากขึ้นด้วย

บางด้านที่สำคัญ ที่ปัญญาชนเหล่านี้ (ดร.ป๋วย, จิตร ภูมิศักดิ์, และอีกหลายคน) เห็นว่า สฤษดิ์ "ดี" มีหลากหลาย แล้วแต่ แต่ละคน ถ้าเป็นฝ่ายซ้ายหน่อย ก็จะมองว่า สฤษดิ์ สามารถเป็น "นัสเซอร์เมืองไทย" คือ "ขุนศึก" ที่ทำการต่อสู้กับ "จักรวรรดินิยมและศักดินานิยม" (แบบ นัสเซอร์ ของอียิปต์สมัยนั้น) ถ้าเป็นปัญญาชนทางขวาหน่อย ก็อาจจะมองว่า สฤษดิ์ ดี เพราะ "ปกป้องสถาบัน" (เรื่องนี้ปรีดีเองเคยเขียนถึง ผมขอทำ “เชิงอรรถ” ในที่นี้ด้วยว่า (1) ปัจจุบันมักจะ identify ป๋วย กับ ปรีดี แต่ในกรณีการประเมินเปรียบเทียบระหว่าง สฤษดิ์ กับ เผ่า-ป. นี้ ป๋วย มีความคิดตรงข้ามกับปรีดี และ (2) สิ่งหนึ่งที่เป็น “ผลพลอยได้” ตามมาจากการที่สฤษดิ์โค่น เผ่า-ป. ลงไป คือ ยับยั้งการที่จอมพล ป. กับปรีดี กำลังจะร่วมมือกันรื้อฟื้นคดีสวรรคตขึ้นใหม่ แน่นอน ตอนนั้น ป๋วย และคนทั่วไปไม่ทราบเรื่องนี้) สำหรับกรณี ดร.ป๋วย รังสรรค์ ธนะพรพันธ์ เคยเสนอในการสัมมนาที่คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. (หลัง ดร.ป๋วยถึงแก่กรรมไม่นาน) เกี่ยวกับความคิด ของ ดร.ป๋วย เรื่อง การจัดการเศรษฐกิจ โดยชี้ให้เห็นว่า ดร.ป๋วย คัดค้านความคิดเรื่องรัฐวิสาหกิจ หรือความคิดที่รัฐเข้าจัดการเศรษฐกิจ ของสมัยจอมพล ป. อย่างมาก และสนับสนุนความคิดเศรษฐกิจที่ ปล่อยให้เอกชนจัดการ (ซึ่งเป็นความคิดแบบเดียวกับที่สหรัฐอเมริกา โดยผ่านธนาคารโลกและ IMF กำลังโฆษณาให้ประเทศโลกที่สามทำตามในขณะนั้น) ในความเห็นของผม ข้อมูลของรังสรรค์ สนับสนุนสิ่งที่ผมพยายามเสนอที่ว่า การที่ ดร.ป๋วยรับเป็นผู้ว่าแบ็งค์ชาติให้สฤษดิ์นั้น หาใช่เรื่องบังเอิญ แต่มีพื้นฐานมาจากการเห็นด้วย กับแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคมของสฤษดิ์

อ.จอน เอง ได้พูดถึง “แง่ดี” ที่ ดร.ป๋วย เห็นในตัวสฤษดิ์ ว่าสฤษดิ์ “เปิดโอกาสให้กลุ่มคนที่ดีๆได้มีโอกาสในการทำงานด้านการพัฒนาประเทศตามแนวคิดของพวกเขา….สมัยนั้นคุณพ่อมีพรรคพวกเพื่อนร่วมงานที่มีคุณภาพพอสมควรและซื่อสัตย์สุจริตทั้งในธ.ชาติและกระทรวงคลังและหน่วยราชการอื่นที่คุณพ่อเคยทำงาน ผมคิดว่าข้าราชการในตำแหน่งสำคัญสมัยนั้น หลายคนมีอุดมการและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์(ไม่ขายตัว)เหนือชั้นกว่าข้าราชการไทยสมัยนี้(โดยเฉลี่ย)อย่างสิ้นเชิง”

เป็นที่รู้กันในหมู่ผู้สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ยุคสฤษดิ์ว่า ต่างกับผู้นำประเทศสมัยหลังหลายคน (รวมถึงคนปัจจุบัน) สฤษดิ์ มักแสดงท่าทีในลักษณะที่ “ถ่อมตัว” ว่า เขาไม่รู้อะไรมาก ต้องขอความเห็นจาก “ผู้เชี่ยวชาญ” หรือ เขาเพียงแต่ทำตามคำแนะนำของ “ผุ้เชี่ยวชาญ” ยุคสฤษดิ์ เป็น “ยุคทอง” ของพวกเทคโนแครต โดยเฉพาะเทคโนแครตชั้นสูง สฤษดิ์สามารถ “ดึง” เทคโนแครตเหล่านี้ มาทำงานกับเขาได้ (กรณี ดร.ป๋วย ไม่ใช่กรณีโดดๆ แต่มี “พรรคพวกเพื่อนร่วมงาน” อีกหลายคน ดังที่ อ.จอนพูดถึง) ผมมองว่า การเปิดโอกาสให้เทคโนแครตเหล่านี้เข้ามาแสดงบทบาท และการแสดงท่าที “ถ่อมตัว” รับฟัง “คำแนะนำ” จากเทคโนแครตเหล่านี้ของสฤษดิ์ เป็นรูปแบบของการ flattering (ยกยอปอปั้น) ที่ระบอบสฤษดิ์ทำต่อปัญญาชนเทคโนแครต และหาก มองในแง่ส่วนตัว คงจะจริงอย่างที่ อ.จอนพูดว่า ดร.ป๋วย “ไม่ค่อยได้หลงตัวเองมากนัก” แต่หาก มองในเชิงสังคมวิทยา คือมองในฐานะกลุ่มสังคม (“ชนชั้นเทคโนแครต”) เทคโนแครตเหล่านี้ “ติดกับ” หรือ “หลง” อยู่กับ “การยกยอปอปั้น” ทางสังคมนี้ แสดงออกด้วยการทำงานให้กับระบอบ (ซึ่งถ้ามองจากประเด็น “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” แล้ว มีความป่าเถื่อน เหยียดหยามมนุษย์มากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย) โดยไม่ตั้งคำถาม นี่คือ “ผลสำเร็จ” อย่างหนึ่งของระบอบสฤษดิ์ล่ะ และคือเหตุผลที่อธิบายว่า ทำไม คนอย่าง ดร.ป๋วย จึงเพิ่งมา “ตื่น” เขียนงานอย่าง “จดหมายนายเข้ม เย็นยิ่ง” เรียกร้องให้มีผู้นำทำตาม “กติกา” ในปี 2515 หลังสฤษดิ์ตายไปเกือบ 10 ปี มีใครที่ไม่เคารพกฎหมาย “กติกา” ไม่เคารพความเป็นมนุษย์เท่าสฤษดิ์บ้าง? นี่ไม่ใช่เรื่องของการไม่มีความกล้าของป๋วยหรือเทคโนแครตคนอื่นๆ แต่เป็นเรื่องของการ “หลงตัวเอง” กับการได้รับการให้แสดงบทบาทจากระบอบสฤษดิ์ (“ได้มีโอกาสในการทำงานด้านการพัฒนาประเทศตามแนวคิด”)

ผมขอให้สังเกตประโยคที่ อ.จอนเขียนว่า “ข้าราชการในตำแหน่งสำคัญสมัยนั้น หลายคนมีอุดมการและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์(ไม่ขายตัว)เหนือชั้นกว่าข้าราชการไทยสมัยนี้(โดยเฉลี่ย)อย่างสิ้นเชิง” ผมเห็นว่า ทัศนะเช่นนี้แหละเป็นตัวอย่างที่ดีของ illusion ในลักษณะการ “หลงตัวเอง” (ในฐานะกลุ่มสังคม) ของป๋วยและเทคโนแครตชั้นสูงคนอื่นๆที่ทำงานให้กับสฤษดิ์ illusion นั้นรุนแรงถึงกับถ่ายทอดข้ามรุ่นมาถึง อ.จอน

(ผมไม่คิดว่า อ.จอน หรือ ผมหรือใคร สามารถพิสูจน์ ได้จริงๆว่า เทคโนแครตสมัยสฤษดิ์ หรือสมัยนี้ ดีกว่ากัน ความน่าสนใจของการที่ อ.จอนเขียนมา จึงอยู่ที่เรื่องของ perception ซึ่งผมมองว่าเป็น illusion ดังกล่าว ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของ perception/illusion นี้ก็คือ เรื่อง เทคโนแครตสมัยนั้นมี “อุดมการ” ผมสงสัยว่า ถ้าจะมีอะไรที่พอเรียกได้ว่าเป็น “อุดมการ” หรือ “ความเชื่อร่วมกัน” ในหมู่เทคโนแครตสมัยนั้น คงได้แก่ความคิดเกี่ยวกับ “การพัฒนา” แบบเดียวกับ World Bank-IMF นั่นเอง)

อ.จอนเขียนว่า “คุณพ่อเชื่อมั่นคงในเรื่องกระบวนการยุติธรรมและสิทธิของผู้ต้องหาตลอดจนเสรีภาพทางความคิดและอุดมการ” ผมเชื่อว่าข้อความนี้ มีส่วนจริงอยู่ อย่างน้อยที่สุด นี่คงเป็น “ความรู้สึกส่วนตัว” หรือ “ความรับรู้ตัวเอง” (self-perception) ของ ดร.ป๋วย

แต่ขอให้ผู้อ่าน อ่านข้อความของ อ.จอนนี้อย่างช้าๆ และขอให้คิดถึงระบอบสฤษดิ์ไปพร้อมๆกันด้วย สิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นในใจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ ยิ่งถ้า ดร.ป๋วย เชื่อมั่นอย่างที่เขียนมานี้จริงๆ การทำงานกับสฤษดิ์ ยิ่งมิกลายเป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถามหรือ?

ผมคิดว่า เป็นไปได้อย่างยิ่งที่ ดร.ป๋วย จะไม่เห็นด้วย กับการที่สฤษดิ์อาศัย “ม.17” สั่งประหารชีวิต ศุภชัย ศรีสติ, รวม วงษ์พันธ์, ครอง จันดาวงศ์ และ ทองพันธุ์ สุทธิมาศ เป็นไปได้อย่างยิ่ง ที่ดร.ป๋วยจะไม่เห็นด้วยกับการใช้ ม.17 ประหารชีวิตผู้ต้องหา “วางเพลิง” ที่จุดเกิดเหตุ (ล้วนเป็นคนจีน วิธีประหารคนผิดในที่เกิดเหตุนี้ เป็นวิธีแบบดึกดำบรรพ์ ที่มุ่งตอบสนองความ “สะใจ” ระดับ “ชาวบ้านร้านตลาด” และทำให้เกิดความหวาดกลัว), เป็นไปได้อย่างยิ่งที่ ดร.ป๋วย จะไม่เห็นด้วยกับการจับอดีตนักการเมือง, นักเขียน นักนสพ. ชาวบ้าน หลายร้อนคน มาขังลืมในคุกเป็นเวลาหลายๆปี ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ

เป็นไปได้อย่างยิ่งว่า ดร.ป๋วย คงไม่เห็นด้วยกับสิ่งเหล่านี้ เพราะมี “ความเชื่อมั่นคงในเรื่องกระบวนการยุติธรรม....” แต่ถ้าเช่นนั้น ก็ยิ่งต้องต้องคำถามว่า การที่ ดร.ป๋วยยังคงทำงานอยู่กับระบอบที่ทำในสิ่งตรงข้ามกับ “ความเชื่อมั่นคง” ของ ดร.ป๋วยเช่นนี้ แปลว่าอะไร?

แปลว่า “ความเชื่อมั่นคง” ในเรื่องเหล่านี้ (กระบวนการยุติธรรม, สิทธิผู้ต้องหา, เสรีภาพทางความคิด) แท้ที่จริง หาได้มีความสำคัญพอ แม้แต่จะทำให้ ดร.ป๋วย เพียงแสดงตัวออกห่าง (distance himself) จากระบอบสฤษดิ์ ไม่ต้องพูดถึงขั้นว่า แตกหัก (break) หรือออกมาวิจารณ์ด้วยซ้ำ ใช่หรือไม่?

ประเด็นที่อาจจะเรียกว่าสำคัญที่สุดของผมในเรื่องนี้ก็คืออันนี้แหละ และนี่ไม่ใช่เฉพาะกรณี ดร.ป๋วยเท่านั้น (ดังที่ผมได้เขียนไปถึงกรณี เสม พริ้งพวงแก้ว กับคณะปฏิรูปการปกครอง 6 ตุลา และ อานันท์ ปัญญารชุน กับ คณะ รสช.) กล่าวคือ นักเสรีนิยมไทย ซึ่ง ป๋วย เป็น outstanding example ไม่เห็นว่าเรื่อง "หลักการ" (กระบวนการยุติธรรม, สิทธิผู้ต้องหา, เสรีภาพทางความคิด, ฯลฯ) สำคัญ มากพอที่จะใช้เป็นตัวตัดสินท่าทีต่อระบอบหรือ “สถาบัน” ทางการเมือง และบุคคลที่เป็นตัวแทนของระบอบหรือ “สถาบัน” นั้น

สำหรับผมเห็นว่า หลักการเหล่านี้แหละสำคัญที่สุด สำคัญกว่าเรื่องอื่นๆ ในกรณีระบอบสฤษดิ์ “เรื่องอื่นๆ” ที่ อ.จอน เขียนมา (“เปิดโอกาสให้กลุ่มคนที่ดีๆได้มีโอกาสในการทำงานด้านการพัฒนาประเทศ”) ความจริง ส่วนใหญ่แล้วเป็นเพียง illusion แต่ต่อให้ยอมรับว่าเป็นเรื่องจริง ลำพังเรื่อง การสั่งฆ่าคน โดยไม่เปิดโอกาสให้มีกระบวนการยุติธรรม เรื่องเดียว ก็สมควรเพียงพอที่จะถอยห่างออกมา หรือที่ถูกคือแสดงความเห็นคัดค้าน (เรื่องนี้ไม่น่าจะใช่เรื่องความไม่กล้าอีกเช่นกัน ผมไม่สามารถ imagine ว่า สฤษดิ์ จะทำอะไร ดร.ป๋วยถ้าออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย)

ในการมองของผม ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย การที่ระบอบอำนาจนิยม (ในรูปแบบต่างๆ ไม่เฉพาะทหาร) มีความยิ่งใหญ่อยู่ได้ ส่วนสำคัญส่วนหนึ่งก็เพราะความล้มเหลว ความไม่มีน้ำยา ของเสรีนิยม (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหลานคนจีน ตั้งแต่อย่าง ดร.ป๋วย มาถึงรุ่นพวกผม) ไม่มีความเข้มแข็งเพียงพอ (ทางความคิด การเมือง จริยธรรม) และต้องรอให้แนวคิด-ขบวนการ สังคมนิยม-คอมมิวนิสต์ ขึ้นมาท้าทาย (ตรงข้ามกับความเข้าใจผิวเผินของคนจำนวนมาก ตัวอย่างกรณี บทกวี “ตื่นเถิดเสรีชน อย่ายอมทนก้มหน้าฝืน ดาบหอกกระบอกปืน หรือทนคลื่นกระแสเรา...” ที่เป็นเหมือน battle cry ให้กับขบวนการ 14 ตุลา ทั้งขบวนนั้น หาได้มีรากฐานทางความคิดมาจากเสรีนิยมของไทยไม่ แต่มาจากขบวนการสังคมนิยม-คอมมิวนิสต์)

อ.จอนกล่าวว่า ดร.ป๋วย ไม่ชอบคอมมิวนิสต์ เรื่องนี้ลำพังตัวเองก็ไม่แปลกหรือผิดอะไร เสรีนิยมไทยส่วนใหญ่ ไม่ชอบคอมมิวนิสต์ แต่ที่น่าสะดุดใจ ในความเห็นของผม คือ เสรีนิยมไทย มักไม่ชอบคอมมิวนิสต์ แต่ขณะเดียวกัน กลับพร้อมที่จะมองเห็น “แง่ดีบางด้าน” ของคนอย่างสฤษดิ์ ถนอม และของระบอบหรือสถาบันการเมืองที่เป็นฆาตกร (เพราะฆ่าคนโดยไม่มีกระบวนการยุติธรรม) ที่เหยียบย่ำความเป็นมนุษย์ได้ มากพอที่จะเห็นว่าการทำงานด้วยกับพวกนี้เป็นเรื่อง “รับได้” หรือ “อธิบายได้”

Thursday, November 15, 2007

เมื่อในหลวงประชวร ปี 2525 และข้อเสนอว่าด้วย สถาบันกษัตริย์แบบมวลชน (Mass Monarchy)



ข้างล่างนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามคิดและเขียนของผม ถึงสิ่งที่ผมมองว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงสำคัญของสถาบันกษัตริย์ในระยะประมาณ 15 ปีที่ผ่านมา ข้อเสนอพื้นฐานของผมคือ ในระยะเวลาดังกล่าว ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับส่วนอื่นของสังคมไทย ทั้งในแง่การเมืองและวัฒนธรรม ได้เกิดความเปลี่ยนแปลง ต่างออกไปจากก่อนหน้านั้น ซึ่งผมขอให้ชื่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่า Mass Monarchy หรือ สถาบันกษัตริย์แบบมวลชน

ผมเห็นว่า ในระยะใกล้ๆนี้ แม้แต่นักวิชาการใหญ่ๆ เมื่อเขียนถึงสถาบันกษัตริย์ ก็มักจะลืมประวัติศาสตร์ คือลืมไปว่า สิ่งที่เรากำลังเห็นอยู่รอบข้างทุกวันนี้ เป็นสิ่งที่ใหม่มาก การพูดถึง “พระราชสมภารบารมีที่ทรงสั่งสมไว้ในสังคมมาเป็นเวลานาน” (นิธิ, “ระหว่างสถาบันและองค์พระมหากษัตริย์”, ศิลปวัฒนธรรม, พฤษภาคม 2544) หรือ “พระราชอำนาจนำ” ที่นิยมพูดกันในระยะหลังๆ หรือกระทั่งเรื่อง “โครงการในพระราชดำริ” เป็นต้น ความจริง “วาทกรรม” เหล่านี้ เป็นสิ่งที่มีอายุไม่เกินประมาณ 20 ปี แต่ฉายภาพ (projection) ย้อนหลังกลับไปก่อนหน้านั้น แม้แต่บทบาทและสถานะของสถาบันในเหตุการณ์อย่าง 14 ตุลา ทุกวันนี้ก็ถูกมองผ่านเลนส์ของเหตุการณ์พฤษภา ทั้งๆที่มีความแตกต่างอย่างมาก ในลักษณะการเข้าแทรกแซง และผลลัพท์ของการแทรกแซงนั้น การเรียกผู้นำรัฐบาล-ทหารเข้าพบ ต่อหน้าทีวีสด และสั่งให้ยุติเหตุการณ์ เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดมาก่อน คนที่เกิดไม่ทัน 14 ตุลา ก็วาดภาพย้อนหลังกลับไปว่าเหตุการณ์ทำนองเดียวกันเกิดขึ้นในปี 2516 ด้วย - ดูอีเมล์ “ในหลวงทรงร้องไห้” ที่เผยแพร่เร็วๆนี้ เรื่องในหลวงทรงรับสั่งในเหตุการณ์ 14 ตุลา ว่า “คนไทยจะฆ่าคนไทยด้วยกันไม่ได้ ทุกอย่างต้องสงบโดยฉับพลัน” (ไม่เคยมีรับสั่งเช่นนั้นเลย) หรือขอให้ลองอ่าน หนังสือ เหตุเกิดในกรุงรัตนโกสินทร์ ของ วสิษฐ เดชกุญชร อย่างใกล้ชิด วสิษฐ์เป็นรอยัลลิสต์อย่างไร ย่อมทราบกันดี แต่สิ่งที่ควรสะดุดใจอย่างยิ่ง เมื่อมองจากปัจจุบันที่พูดกันเรื่อง “สถาบันกษัตริย์แก้วิกฤติ ทำให้เหตุการณ์สงบ หลีกเลี่ยงการเสียเลือดเนื้อ” ฯลฯ คือ ในหนังสือเล่มนั้น วสิษฐ์ไม่ได้เขียนอ้างว่า เหตุการณ์ยุติได้เพราะสถาบันกษัตริย์ (มีข้อความตอนหนึ่งว่า เหตุการณ์ยุติได้ “เพราะพระบารมี” แต่นั่นเป็นเพียงวสิษฐ์เล่าคำพูดของสมบัติ) มิหนำซ้ำ ยังมีบางตอน ที่ถ้าอ่านอย่างเปรียบเทียบกับ “วาทกรรม” เรื่องนี้ในปัจจุบัน นับว่าน่าสนใจยิ่ง คือ วสิษฐ์พูดถึงว่า “พระราชดำรัสของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ดูเหมือนจะละลายไปในเหตุการณ์โดยไร้ผล” คือยังมีการปะทะบนท้องถนนอยู่ แน่นอน เขาไม่ถึงขั้นเขียนว่า “พระราชดำรัสของในหลวง ดูเหมือนจะละลายไปในเหตุการณ์โดยไร้ผล” แต่พระราชดำรัสพระราชชนนีมีหลังพระราชดำรัสในหลวงด้วยซ้ำ (หลัง 2 ชั่วโมงกว่า) การที่เขาเขียนเช่นนี้ เท่ากับเป็นการยอมรับความ “ไร้ผล” ไม่เพียงพระราชดำรัสของพระราชชนนีเท่านั้น ยิ่งกว่านั้น ในท่ามกลางเหตุการณ์ไม่สงบ วสิษฐ์เขียนว่า “เป็นครั้งแรกในชีวิตอีกที่ผมระลึกถึงพระสยามเทวาธิราช พระนามนั้นผ่านแวบเข้ามาในใจผมอย่างไรก็ไม่ทราบ...พอระลึกถึงพระสยามเทวาธิราช ผมก็นึกในใจต่อไปว่า หากทรงมีอานุภาพอย่างไร ก็ถึงเวลาแล้วที่จะต้องทรงช่วยเมืองไทยอีกครั้งหนี่ง” นั่นคือ วสิษฐ์ภาวนาในใจขอให้พระสยามเทวาธิราช ช่วยทำให้เหตุการณ์สงบ ไม่ใช่ในหลวง (การภาวนาในใจนี้เกิดหลังพระราชดำรัสเช่นกัน)

“วาทกรรม” เรื่อง “ในหลวงทรงทำให้ 14 ตุลาสงบ” ด้วยการทรงเข้าระงับเหตุการณ์รุนแรง “พระราชทานนายกฯ” ฯลฯ เป็นสิ่งที่ใหม่มาก ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์นั้นเอง มายาคติเรื่องนี้มีผลสำคัญอย่างไร ผู้อ่าน พ.ศ.นี้ คงไม่ต้องให้บอก? การรณรงค์ขอ “นายกพระราชทาน” ของ พันธมิตร, พรรคประชาธิปัตย์ และพวกนักวิชาการอย่างสุรพล (ซึ่งเป็นเด็กเกิดไมทัน 14 ตุลาเหมือนอภิสิทธิ์) มาจากอะไร ถ้าไม่ใช่จากมายาคติเรื่อง 14 ตุลานี้?

คนที่ทุกวันนี้พูดเรื่อง “พระราชอำนาจนำ” อย่างแพร่หลาย ต้องลองนึกย้อนไปถึงสถานการณ์ในปี 2520 ช่วงปลายรัฐบาลธานินทร์ ซึ่งถูกถือว่า เป็นรัฐบาลที่ไร้สมรรถภาพและโง่เขลาที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ เหตุการณ์วางระเบิดหน้าพระที่นั่ง และรถจักรยานยนต์ชนรถพระที่นั่ง ที่เกิดขึ้นในสัปดาห์ท้ายๆของรัฐบาลธานินทร์ ไม่ว่าความจริงจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เป็นฝีมือใคร ก็เหมือนกับเป็นการ “เตือน” บางคนที่สนับสนุนรัฐบาลธานินทร์พร้อมกันไปด้วย แม้แต่วาทกรรมการเมือง อย่างคำว่า “ขวาจัด” ที่ใช้กันในสมัยนั้น ในหมู่นักหนังสือพิมพ์และผู้สังเกตการณ์การเมือง ก็มีความหมายที่เข้าใจกันแพร่หลายถึงบางกลุ่มบางคนด้วย ช่วง 8 ปีของรัฐบาลเปรม ที่ตัวเปรมเองถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก และเป็นที่ “เบื่อหน่าย” อย่างยิ่งในวงการเมือง แต่สามารถรักษาบัลลังก์ไว้ได้ท่ามกลางการท้าทายต่างๆ ไม่ใช่เพราะความสามารถ แต่เพราะการสนับสนุนแบบ “ฟ้าประทาน” ก็ไม่ได้ช่วยทำให้ผู้ใดก็ตามทีสนับสนุนเปรมเช่นนั้น จะได้รับเครดิตอย่างสูงส่งไปด้วยแน่นอน โดยสรุป "พระราชอำนาจนำ” ที่นักวิชาการบางคนชอบพูดถึง ราวกับเป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับอย่างสากลมาช้านาน จึงเป็นเพียงภาพที่นักวิชาการที่หลงลืมประวัติศาสตร์ยุคใกล้เหล่านั้น สร้างขึ้นมาเอ (ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง!)

กิจกรรมสรรเสริญพระบารมีที่ทำกันทุกวันนี้ อย่างมีลักษณะแพร่กระจายไปทั่วทุกขุมขนของสังคม ก็ล้วนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงหลังทศวรรษ 2530 แล้วทั้งสิ้น การที่พระมหากษัตริย์เป็นผู้เสนอความคิดเชิงนโยบายยุทธศาสตร์ชี้นำ อย่างกรณี “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นเรื่องไม่ปรากฏมาก่อนในอดีต พระราชดำรัส 4 ธันวา เพิ่งมาได้รับการให้ความสำคัญในทศวรรษ 2530 (“รู้รักสามัคคี”, “ทฤษฎีใหม่” และ “เศรษฐกิจพอเพียง”) น่าสังเกตว่า ในบรรดา “พระอัฉริยภาพ” ที่พูดกันเกี่ยวกับในหลวงนั้น ด้านที่ทรงเป็น “นักเขียน” เป็นด้านที่ปรากฏขึ้นหลังสุด หลังด้านอื่นๆ (กีฬา, ดนตรี, ฯลฯ) นานมาก หนังสือ นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ ที่แปลเสร็จตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2520 เพิ่งตีพิมพ์ในปี 2536 ตีโต้ ในปี 2537 สองเรื่องนี้ยังเป็นเพียงงานแปล ในหลวงในฐานะ “นักเขียน” เริ่มเต็มที่จริงๆด้วย พระมหาชนก ในปี 2540 ฉบับการ์ตูน 2542 และ ทองแดง ในปี 2545 ฉบับการ์ตูน 2547 (อาจกล่าวได้ว่า การปรากฏตัวของพระเทพในฐานะนักเขียน เป็นการ “ปูพื้น” ให้กับปรากฏการณ์ Mass Monarchy ในด้านการเป็น “นักเขียน” นี้ – งานเขียนของพระเทพ เริ่มเผยแพร่สู่ “ตลาดหนังสือ” อย่างจริงจัง ในปลายทศวรรษ 2520) สิ่งที่ควบคู่กับด้านความเป็น “นักเขียน” ก็คือด้านความเป็น “นักคิด” หรือ “นักปรัชญา” (“ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”) การที่นักวิชาการอย่างรังสรรค์ ธนพรพันธ์ สามารถเขียนถึง “ฉันทามติกรุงเทพ” ในฐานะแนวทางต่อต้านทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ภายใต้การชี้นำทางความคิดของในหลวง ก็เป็นอะไรบางอย่างที่เป็นไปได้หลังทศวรรษ 2530 – อันที่จริง หลัง 2540 – เท่านั้น การเชื่อมโยงพระมหากษัตริย์เข้ากับสังคม ในระดับชีวิตจริงประจำวัน ตั้งแต่ชีวิตทางการเมือง (คำขวัญประเภท “เราจะสู้เพื่อในหลวง” เป็นคำขวัญที่ไม่มีใครชูมาก่อน) ไปถึงชีวิตประจำวันทั่วไป ในรูป สติ๊กเกอร์, ริสแบนด์ และ, แน่นอน, เสื้อเหลือง (ความแตกต่างระหว่าง “ผ้าพันคอลูกเสือชาวบ้าน” ที่ใส่เฉพาะงานพิเศษเป็นครั้งๆ กับ เสื้อเหลือง หรือ ริสแบนด์ ที่ใส่ได้ทุกวัน) นี่คือการมีลักษณะ “มวลชน” เป็นครั้งแรกของสถาบันกษัตริย์

ผมจะพยายามอธิบายขยายความและวิเคราะห์เรื่องเหล่านี้โดยละเอียดในอีกบทความหนี่งที่ว่าด้วยปรากฏการณ์ Mass Monarchy โดยตรง ในที่นี้ ผมขอเสนออย่างสรุป ถึงลักษณะสำคัญ 2 ประการของปรากฏการณ์นี้ ประการแรกเป็นเรื่องการเมืองโดยตรง ประการหลังเป็นเรื่องเชิงวัฒนธรรม

1. ในขณะที่การเข้าแทรกแซงหรือส่งผลสะเทือนทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์ก่อนทศวรรษ 2530 มีลักษณะของการสื่อสารในวงแคบ เรียกได้ว่าเป็นการ “ส่งซิ้กแนล” ในหมู่ชนชั้นนำ (elite) ด้วยกันเองเป็นหลัก หลังทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา ได้สวมลักษณะของการ “สื่อสาร” โดยผ่าน “สื่อมวลชน” นั่นคือ เป็นการเข้าแทรกแซงโดยโจ่งแจ้งเปิดเผย ให้เป็นที่รับรู้กัน ไม่เพียงในหมู่ชนชั้นนำ แต่ในหมู่ประชาชนทั่วไปด้วย เป็นการสื่อสารต่อประชาชนมากเท่าๆกับต่อบรรดาชนชั้นนำ

กรณี 14 ตุลา เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ไม่เคยมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ว่า ในหลวงทรงมีพระราชดำรัสหรือไม่อย่างไรกับถนอม ที่มีผลหรือไม่เพียงใดต่อการตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันแรก และตำแหน่งทางทหารในวันต่อมา จนถึงการเดินทางออกนอกประเทศในที่สุด อันที่จริง ตลอดช่วง 3 ปีหลัง 14 ตุลา มีความเชื่อในหมู่ขบวนการนักศึกษาและผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองจำนวนมาก (ไม่ว่าความเชื่อนี้จะจริงเพียงใด) ว่า ถนอม-ประภาส “กุมความลับ” ในลักษณะ “ข้อตกลงบางอย่าง” กับบางคนไว้ และใช้เรื่องนี้ “ต่อรอง” ขอกลับเข้ามา แม้แต่ในวันแรกๆของการเข้ามาครั้งสุดท้าย ถนอมก็ยังพูดเป็นนัยๆทำนองนี้

อันที่จริง ตรงข้ามกับภาพลักษณ์หรือความเข้าใจที่แพร่หลายในปัจจุบัน แท้ที่จริงแล้ว เป็นเวลานาน (ร่วม 10 ปี เป็นอย่างต่ำ) ที่การเข้าแทรกแซงในกรณี 14 ตุลา ไม่ใช่สิ่งที่ราชสำนักต้องการเชื่อมโยงตัวเองเข้าด้วย (associate) มากนัก ความจริงง่ายๆ ที่คนสมัยนี้ลืมกันไปแล้วคือ ในช่วงอย่างน้อย 10 ปีแรก หลัง 14 ตุลา วาทกรรมเกี่ยวกับ 14 ตุลา เป็นสิ่งที่ฝ่ายซ้ายครอบงำโดยสิ้นเชิง ความสำเร็จของการ “ไล่ 3 ทรราช” และการเติบโตอย่างมหาศาลของฝ่ายซ้ายที่ตามมา ไม่ใช่อะไรที่ราชสำนักหรือปัญญาชนอื่นๆที่ไม่ใช่ฝ่ายซ้ายต้องการจะมีส่วนร่วมสังฆกรรมด้วยแม้เพียงในแง่วาทกรรม (เร็วๆนี้ ที่มีผู้เสนอว่า “ข้ามให้พ้นประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลา” จึงเป็นการสะท้อนโดยไม่ตั้งใจของภาพลักษณ์ 14 ตุลา ที่เกิดขึ้นใหม่ เพราะสำหรับฝ่ายซ้ายในช่วง 10 ปีแรกหลัง 2516 “ประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลา” ไม่ใช่อะไรที่จะใช้คำว่า “ข้ามให้พ้น” แน่นอน เพราะในช่วงนั้น 14 ตุลา แนบแน่นกับการเติบโตของฝ่ายซ้าย “ประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลา” คือ ประชาธิปไตยของการลุกขึ้นสู้เพื่อ “เอกราชของชาติ ประชาธิปไตยของประชาชน” แต่ที่การเสนอเช่นนี้ มีความหมายอะไรขึ้นมาได้ ก็เพราะภาพลักษณ์ 14 ตุลา ในส่วนที่เป็นชัยชนะของฝ่ายซ้ายนี้ ได้เลือนหายไป และด้านที่เป็นวาทกรรม “สถาบันกษัตริย์ทำให้ 14 ตุลา ยุติ” ได้กลายเป็นกระแสหลักขึ้นมา)

ท่าทีรัฐบาลปรีดี-ธำรงต่อกรณีสวรรคต



ผมหวังว่าจะมีโอกาสเขียนถึงประวัติศาสตร์กรณีสวรรคตทั้งหมดโดยละเอียดในอนาคต ในทีนี้ ผมขอนำเสนอข้อมูลบางประการเกี่ยวกับท่าทีของรัฐบาลปรีดี-ธำรงหลังเกิดกรณีสวรรคต โดยเฉพาะในส่วนที่ (เท่าที่ผมทราบ) ไม่เคยมีการเปิดเผยหรือพูดถึงมาก่อนในหนังสือเกี่ยวกับกรณีสวรรคตต่างๆ

ก่อนอื่น ขอเตือนความจำว่า กรณีสวรรคตบังเอิญเกิดขึ้นขณะที่ไม่มีรัฐบาลจริง มีแต่รัฐบาลรักษาการ เพราะนายกรัฐมนตรี ปรีดี พนมยงค์ และคณะรัฐมนตรีได้ถวายบังคมลาออกในวันที่ 1 มิถุนายน 2489 เพื่อให้มีการตั้งรัฐบาลใหม่หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่และมีเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภาเพื่อประกอบเป็นรัฐสภาใหม่แล้ว ก่อนวันสวรรคตวันเดียว มีประกาศตั้งปรีดีเป็นนายกอีกครั้ง แต่ยังไม่ทันตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่ ก็เกิดการสวรรคตขึ้น

ในการประชุมสภาในคืนนั้น ปรีดีให้ ทวี บุณยเกตุ แถลงในนามรัฐบาลเสนอให้อัญเชิญพระอนุชาเจ้าฟ้าภูมิพลเป็นพระมหากษัตริย์องค์ต่อไป ในหนังสือบางเล่มอ้างว่า มีการประชุมคณะรัฐมนตรีและลงมติในเรื่องนี้ด้วย ผมไม่สามารถยืนยันเรื่องนี้ได้ เพราะปัจจุบัน ไม่มีรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีระหว่างวันที่ 1 ถึง 11 มิถุนายน เหลืออยู่ มีรายงานการประชุมครั้งสุดท้ายของ ครม.ชุดก่อนลาออก ในวันที่ 31 พฤษภาคม (การประชุมครั้งที่ 19/2489) และมีรายงานการประชุมของ ครม.ที่ตั้งใหม่ ตั้งแต่ครั้งแรกในวันที่ 12 มิถุนายน (การประชุมครั้งที่ 1/2489 เริ่มต้นนับครั้งที่ใหม่) แต่ไม่มีรายงานการประชุมระหว่าง 11 วันนั้นเลย อาจเป็นไปได้ว่า มีการประชุม ครม.รักษาการในคืนวันสวรรคต แต่ไม่มีการทำรายงานไว้หรือทำไว้แต่สูญหายไป หรือมิฉะนั้น ก็อาจไม่มีการประชุม ครม. และข้อเสนอเรื่องอัญเชิญพระอนุชาเป็นการตัดสินใจของปรีดี (อาจจะร่วมกับอดีต รมต.ที่ใกล้ชิดบางคน) เท่านั้น โดยส่วนตัว ผมสงสัยว่าน่าจะเป็นกรณีหลัง

เมื่อมีการตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่ เป็นธรรมดาที่การจัดการเรื่องงานพระบรมศพจะเป็นวาระต่อเนื่องสำคัญของรัฐบาลใหม่ เริ่มตั้งแต่การประชุมครั้งแรกในวันที่ 12 มิถุนายน ทวี บุณยเกต ในฐานะรัฐมนตรีสั่งราชการแทนนายกรัฐมนตรี (เทียบเท่า รมต.สำนักนายก ในสมัยหลัง) อธิบายว่า “ในการจัดการพระราชกุศลถวายพระบรมศพคราวนี้ ได้สั่งให้จัดถวายตามแบบอย่างเมื่อครั้งพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทุกประการ” โดยสำนักพระราชวังได้คำนวนค่าใช้จ่ายจากการประดิษฐานพระบรมศพถึงงานทำบุญ 7 วัน ไม่รวมค่าก่อสร้างพระเมรุและงานถวายพระเพลิง เป็นเงินไม่เกิน 1,832,304 บาท (รายงานการประชุม ครม. 1/2489)



กำเนิด “ศาลกลางเมือง”

แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าเรื่องการจัดงานพระบรมศพ ก็คือ วิกฤตการเมืองที่ก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจากการสวรรคต ปัจจุบันเราได้รู้แล้วว่า ภายใน 2 วันหลังการสวรรคต ราชนิกูลชั้นสูงบางคน (ระดับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ หรือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ) ได้ไปพบทูตอังกฤษประจำไทย ปล่อยข่าวว่าในหลวงอานันท์ถูกลอบปลงพระชนม์อย่างแน่นอน เจ้านายองค์นี้อ้างว่าเห็นพระศพด้วยตัวเอง กระสุนเข้าทางท้ายทอยออกทางหน้าผาก และว่านี่เป็นฝีมือของปรีดีเพื่อข่มขวัญให้พระราชวงศ์ทั้งหมดยอมทำตาม เป็นส่วนหนึ่งของแผนการสร้างสาธารณรัฐ (ดูรายงานของทูตอังกฤษที่ปรีดีเอามาเปิดเผยใน คำพิพากษาใหม่กรณีสวรรคต ร.8, 2523, หน้า199-201) แน่นอน ขณะนั้นรัฐบาลปรีดีอาจจะยังไม่ตระหนักถึงการเคลื่อนไหวที่ทำกับวงการทูตฝรั่งของพวกนิยมเจ้านี้ แต่การปล่อยข่าวในพระนครที่ดำเนินไปพร้อมกัน เช่น โทรศัพท์ไปตามหน่วยราชการตั้งแต่บ่ายวันสวรรคต บอกว่า อย่าเชื่อแถลงการณ์รัฐบาล ในหลวงถูกลอบปลงพระชนม์แน่ๆ ได้เข้าถึงหูรัฐบาลแล้ว (เพิ่งอ้าง, หน้า 48-49) เพื่อสยบข่าวลือเช่นนี้ ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 15 มิถุนายน ปรีดีจึงเสนอให้ตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบสวนสาเหตุการสวรรคต ที่จะถูกเรียกกันทั่วไปว่า “ศาลกลางเมือง” โดยให้มีลักษณะเป็นสาธารณะมากที่สุด (รายงานการประชุม ครม. 3/2489):
1. เรื่องตั้งกรรมการสอบสวนการสวรรคต

นายปรีดี พนมยงค์ – เรื่องสวรรคตมีสงสัยและพูดกันมาก ถ้าจะตั้งกรรมการของรัฐบาลที่จะสอบสวนเรื่องนี้ คือ 1.ประธานกรรมการศาลฎีกา 2.อธิบดีศาลอุทธรณ์ 3.อธิบดีศาลอาญา 4.อธิบดีอัยยการ 5.ประธานสภาอาวุโส 6.ประธานสภาผู้แทน และ 7.เจ้านาย พระองค์ธานี ทำนอง Court of Inquiry ให้ทำหน้าที่สอบสวนพฤติการณ์เรื่องนี้ ให้พิจารณาอย่างเปิดเผย ใช้สถานที่ของศาลยุติธรรม ประชาชนได้ฟังได้ ทางตำรวจจะได้นำพะยานมาสอบถามทีละคน ประชาชนจะยกมือให้กรรมการถามก็ถามได้ จะสมควรไหม ได้ถามแล้ว ทางตำรวจก็พร้อมที่จะทำให้เช่นนี้แล้ว เราก็ทำ fair play ทุกอย่าง

พระยาสุนทรพิพิธ – ที่จะให้ประชาชนให้กรรมการถามจะเกินไป

นายปรีดี พนมยงค์ – ผู้มีสิทธิถาม 1.กรรมการ 2.ตำรวจ กรรมการจะมีอะไรต้องการรู้ จากพระเจ้าอยู่หัว พระราชชนนี ก็ไปขอเฝ้าได้ ไม่ใช่เรียกพระองค์ท่านมาที่ศาล

นายทวี บุณยเกตุ – เราควรแถลงว่า ไม่ได้ขึ้นไปเฝ้าขณะเกิดเหตุนั้น แถลงเกี่ยวกับพระราชประเพณี ควรแถลง

พระยาสุนทรพิพิธ – สถานที่ควรเป็นในพระราชวัง ไม่ใช่เป็นการกลางเมือง

นายปรีดี พนมยงค์ – เอาศาลาสหทัย

หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ – ก.พ. อยู่

นายปรีดี พนมยงค์ – เราก็เคารพพระมหากษัตริย์จริงๆ พวกอื่นมันไม่ได้เคารพ ผู้ใดเห็นควรจะถามอย่างไร ก็เขียนข้อถามให้กรรมการถามได้ ส่งล่วงหน้าหนึ่งวัน

พล.ร.ต.หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ – เอาอย่างนี้ ใคร จะมีอะไร รู้อะไรในเรื่องนี้ ให้ไปแจ้งแก่อธิบดีกรมตำรวจ กรณีที่เจ้าตัวจะปิด ก็รับว่าจะไม่เปิดเผย สถานที่เอาที่ยุตติธรรม ผมก็จะจัดให้

พ.อ.พระยาสุรพันธ์เสนี – ดีแล้ว

พระยาสุนทรพิพิธ – เราตกลงกันแล้ว ควรนำความกราบบังคมทูลในหลวงเสียก่อนว่าจะทำวิธีนี้ ให้ท่านเห็นพ้องด้วย ให้มันขาวกระจ่าง

นายปรีดี พนมยงค์ – เราเอาหลักการอันนี้ไว้ เมื่อตั้งผู้สำเร็จฯพรุ่งนี้แล้ว ก็ขอให้ผู้สำเร็จฯนำความกราบบังคมทูล ส่วนที่เราจะเปิดโอกาสผู้ใดมีข่าวอย่างไรให้แจ้งไปกรมตำรวจ เพื่อที่กรมตำรวจจะได้รวบรวมประกาศไป สำหรับผู้มีความจงรักภักดีทั้งหลาย ที่จะช่วยเหลือการสอบสวนของกรมตำรวจ ให้ดียิ่งขึ้น ผู้ใดมีหลักฐาน หรือรู้อะไร ขอได้โปรดให้หลักฐาน ให้แจ้งมาแล้วผู้ใดจะปิดลับ เราก็จะปิดเป็นความลับ เป็นมติคณะรัฐมนตรี โฆษณาก็ทำประกาศได้ แล้วบอกไปกรมตำรวจ ขอให้แจ้งตรงไปอธิบดีตำรวจ ส่วนที่ทำการก็ใช้ห้องในกระทรวงยุตติธรรม

ที่ประชุมตกลง

1. ให้ตั้งกรรมการ ประกอบด้วย
(1) ประธานกรรมการศาลฎีกา
(2) อธิบดีศาลอุทธรณ์
(3) อธิบดีศาลอาญา
(4) อธิบดีกรมอัยยการ
(5) ประธานพฤฒสภา
(6) ประธานสภาผู้แทน
(7) พระองค์เจ้าธานีนิวัต
เป็นกรรมการสอบสวนพฤตติการณ์เกี่ยวกับการสวรรคตคราวนี้ โดยเปิดเผย

2. ให้ใช้ห้องในกระทรวงยุตติธรรมเป็นที่พิจารณาสอบสวน

3. เมื่อตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แล้ว ให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาต

4. ให้กรมโฆษณาการทำประกาศให้ผู้จงรักภักดีที่จะช่วยเหลือการสอบสวนของกรมตำรวจให้ดียิ่งขึ้น แสดงหลักถานหรือความรู้ความเห็นต่ออธิบดีกรมตำรวจ
จะเห็นว่า เดิมปรีดีเสนอให้ตั้งเจ้านายเพียงองค์เดียวเป็นกรรมการ คือ พระองค์เจ้าธานี แต่ในการประชุมในอีก 3 วันต่อมา ได้มีการเสนอเพิ่มเจ้านายอีก 2 พระองค์เป็นกรรมการด้วย (รายงานการประชุม ครม. 4/2489):
1. เรื่องตั้งกรรมการสอบสวนพฤตติการณ์เนื่องในการที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคต

นายปรีดี พนมยงค์ – เรื่องการสอบสวนสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสนอคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เห็นชอบด้วยแล้ว ที่จะตั้งกรรมการขึ้นสอบพฤตติการณ์ นี่ก็ได้เชิญ (กรรมการ) ไป ขอที่ (พิจารณา) ที่กระทรวงยุตติธรรม

พล.ร.ต.หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ – ผมจัดให้แล้ว เอาห้องโถงหน้ากระทรวง ขอไมโครโฟน 2 น ติดสปี๊กเกอร์ที่หลังบางธารณี ขอให้กรมโฆษราจัด

นายปรีดี พนมยงค์ – ในวันนี้ใคร่จะได้เปิดพระบรมโกศออกตรวจ โดยว่าข้อนี้มีผู้สงสัยว่ามีผู้ลอบปลงพระชนม์ท่าน ได้เชิญพระราม หลวงนิตย์ และให้เตรียมแพทย์ เครื่องเอ๊กเรย์ กรมชัยนาทท่านก็รับสั่งให้ทำได้

นายทวี บุณยเกตุ – เป็นลายลักษณ์อักษรหรือ เดี๋ยวจะว่าเปล่า แพทย์ที่จะตรวจก็ต้องหลายคน

นายปรีดี พนมยงค์ – เราทำหนังสือถึงคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ด้วย แพทย์เท่าที่คิดไว้มีใคร

พันตรี หลวงนิตย์เวสวิศิษฐ์ – เจ้าคุณดำรง พลตรีสงวน ผม หลวงพิณ หมอเช้ง......

พล.ร.ต.หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ – ผมอยากจะเรียนเรื่องการระมัดระวังความปลอดภัยในหลวงองค์นี้ต้องจัดเสีย

นายปรีดี พนมยงค์ – นี่ก็เอาพระองค์จุมภฏ พระองค์ธานีนั้นเดี๋ยวจะว่าเป็นญาติกับผม

พระยาสุนทรพิพิธ – เอาเสียอีก 2 พระองค์ก็ดี พระองค์ธานี พระองค์ภาณุ

นายปรีดี พนมยงค์ – เชิญพระองค์ภาณุ พระองค์ธานีมาด้วย พระบรมศพเปิดเอาพรุ่งนี้ก็ได้

พล.ร.ต.หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ – ผมสั่งไว้แล้วเรื่องสถานที่ ทีนี้กรรมการแกมาหาถามว่า terms of reference …. อย่างไร ผมก็บอกว่าเป็นกรรมการ ไม่ใช่ศาล เดี๋ยวหนังสือพิมพ์จะว่าผิดรัฐธรรมนูญ ตัด Court of Inquiry ออกดีกว่า แล้วในกรณีนี้ ถ้าเกิดมีคดีหมิ่นประมาทขึ้น จะว่าอย่างไร

นายปรีดี พนมยงค์ – เป็นการสอบสวนของตำรวจ แต่ต่อหน้ากรรมการ (อ่านประกาศตั้งกรรมการ ........แนบท้ายรายงาน)

พล.ต.ท.พระรามอินทรา – ประชาชนซักไม่ได้

นายปรีดี พนมยงค์ – การพูดต้องตามความจริง

พล.ร.ต.หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ – หลักเราถือเป็นการสอบสวนของกรมตำรวจ แต่ต่อหน้ากรรมการ เรื่องเอ๊กเรย์ ถ้าทำได้เป็นการดี

นายทวี บุณยเกตุ – กรรมการก็ให้ซักได้ เดี๋ยวจะว่าตั้งเป็นจะเหว็ด

พล.ต.ท.พระรามอินทรา – ให้กรรมการซักได้ เราจด

นายปรีดี พนมยงค์ – สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระชนนี ก็เผชิญสืบเอา ไม่ต้องเอามา

พระยาสุนทรพิพิธ – บัตรสนเท่ห์ก็ควรเสนอกรรมการด้วย

พล.ร.ต.หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ – ดี ถ้าหากว่าเรื่องเป็นไปในการลอบทำร้ายแล้ว ตำรวจก็ทำต่อไป ไม่ใช่เรื่องกรรมการ

นายปรีดี พนมยงค์ – ขอมอบให้เลขาศาลฎีกาเป็นเลขาด้วย

พล.ร.ต.หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ – (นาย) สัญญา เงินค่าใช้จ่าย ให้มาเบิกทางกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

นายปรีดี พนมยงค์ – ให้นายสัญญา เป็นเลขานุการ นายสอาด เป็นผู้ช่วย

พล.ต.ท.พระรามอินทรา – ขอ (พ.ต.ต.) เอ็จ สักคนหนึ่ง

นายปรีดี พนมยงค์ – การย้ายพระศพวันนั้น ใครสั่ง

พล.ต.ท.พระรามอินทรา – พระยาอนุรักษ์สั่ง

พล.ร.ต.หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ – ได้ความว่ามีรอยไหม้ไหม

พ.ต.ต.ขุนประสงค์สิทธิการ – ไม่ได้สังเกตุดู

นายปรีดี พนมยงค์ – อย่าลืมว่าชีพจรยังอยู่ เวลาพระอนุชาเสด็จไป

พระยาสุนทรพิพิธ – อย่าลืม ท่านกินยาถ่าย คนกินยาถ่าย ท่านต้องรอให้ถ่าย ระหว่างนั้นอาจเล่นอะไรฆ่าเวลาก็ได้

พล.ร.ต.หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ – เสียงประชาชนนึกว่า นายชิต อยู่คนเดียว

พล.ต.ท.พระรามอินทรา – คุยกับนายบุศย์

นายปรีดี พนมยงค์ – ต้องบันทึกการตรวจเพดานพระที่นั่ง มีรูยิงไหม

ที่ประชุมตกลง

1. ให้ตั้งกรรมการเพิ่ม คือ
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงศ์บริพัตร
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธยุคล
พลตรี วิเชียร สุตันตานนท์
พลเรือตรี แชน ปัจจุสานนท์
พลอากาศตรี หลวงเชิดวุฒากาศ
นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นเลขานุการ
นายสอาด นาวีเจริญ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

2. เงินค่าใช้จ่ายให้เบิกทางกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

3. ให้กรมโฆษณาการจัดเรื่องกระจายเสียง

การตั้งผู้สำเร็จราชการให้ในหลวงองค์ใหม่
และการเกือบจะตั้งให้ในหลวงอานันท์


การตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่ปรีดีพูดถึงในการประชุมวันที่ 15 ข้างต้น จำเป็นเพราะในหลวงองค์ใหม่ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ ในที่ประชุมวันนั้นเครม.ได้ตกลงเสนอกรมขุนชัยนาทนเรนทรและพระยามานวราชเสวี (ดูข้างล่าง) และสภาให้การรับรองในวันต่อมา โดยสภามีมติกำกับว่า “ในการลงนามในเอกสารราชการนั้น ให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทั้งสองเป็นผู้ลงนาม” เรื่องนี้จะมีความสำคัญในปีต่อมา เมื่อทหารกับพวกนิยมเจ้าร่วมกันทำรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน และประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวที่เรียกว่า “ฉบับใต้ตุ่ม” กรมขุนชัยนาทนเรนทรจะเป็นผู้ลงพระนามเพียงผู้เดียวในรัฐธรรมนูญนั้นอย่างขัดกับมติของสภา

Saturday, November 03, 2007

ปริศนากรณีสวรรคต ตอนที่ 2 : ในหลวงอานันท์ยิงพระองค์เอง หรือ ถูกผู้อื่นยิง

(อ่าน ตอนที่ 1 : ฉาก ที่นี่)



ทำไม เมื่อเกิดการสวรรคตขึ้น รัฐบาลปรีดี พนมยงค์ ในขณะนั้น (และตัวปรีดีเองหลังจากนั้น) จึงดูเหมือนว่าจะ (ถ้าพูดตามภาษาสมัยนี้) “แพ้สงครามพีอาร์” คือ ยิ่งพยายามชี้แจงเท่าไร ก็ดูเหมือนจะยิ่ง “เข้าตัว” ยิ่ง “ชวนให้ถูกสงสัย” มากขึ้นเท่านั้น? แน่นอน ส่วนหนี่ง เพราะการรณรงค์แบบใต้ดิน (หรือใต้เข็มขัด) ของพวกนิยมเจ้า ที่ไม่คำนึงถึงเหตุผลหรือศีลธรรมใดๆ (ตัวอย่าง : ทันทีมีการค้นพบแผลที่กระสุนทะลุออกด้านท้ายทอย พวกนิยมเจ้าก็ส่งคนไปปล่อยข่าวตามสถานทูตฝรั่งว่า ในหลวงอานันท์ถูกลอบปลงพระชนม์แน่ๆ เพราะถูกยิงจากด้านหลังทางท้ายทอย!) แต่ผมขอเสนอว่า สาเหตุจริงๆของการ “แพ้สงครามพีอาร์” ของปรีดี มีมากกว่านั้น ที่สำคัญคือ เป็นสาเหตุแบบ “ภายใน” ของรูปคดีเอง (internal to the case) กล่าวคือ โดยลักษณะบางอย่างของการสิ้นพระชนม์ ทำให้ปรีดีแทบจะไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องยืนยันในทฤษฎีที่ดูไม่สมเหตุสมผลที่สุด (“อุบัติเหตุ” – หมายถึง ทรงทำปืนลั่นใส่พระองค์เอง) มิเช่นนั้น ทางเลือกอีกทางหนึ่งคือ ปรีดีต้องทำการต่อสู้เพื่อหาความจริงของคดีนี้อย่างถึงที่สุด พิจารณาความเป็นไปได้ทุกความเป็นไปได้อย่างแท้จริง โดยไม่ต้องคำนึงถึงข้อสรุปที่จะตามมาใดๆ ซึ่งหมายถึงว่าเขาและกลุ่มของเขาจะต้องมีความเข้มแข็งทางสังคม (นี่ไมใชเรื่องเชิงอัตตวิสัยส่วนตัว, อย่างน้อยก็ไม่ใช่ส่วนสำคัญ) ซึ่งขณะนั้น เขาและกลุ่มของเขาไม่มี (หากกรณีสวรรคตเกิดขึ้นขณะที่คณะราษฎรมีความเข้มแข็งที่สุด เช่น ในต้นทศวรรษ 2480 เหตุการณ์ที่ตามมา อาจจะเป็นคนละอย่าง) ที่เพิ่งกล่าวมานี้ จะเข้าใจได้ก็ต่อเมื่อเราได้พิจารณาปัญหาว่า ในหลวงอานันท์สวรรคตอย่างไรในตอนนี้และตอนต่อไป

ก่อนอื่น ขอให้เราเริ่มต้นที่ความเป็นไปได้ต่างๆว่า ในหลวงอานันท์ทรงสวรรคตอย่างไร กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว ผู้ศึกษากรณีนี้ทุกคนยอมรับตรงกันว่า มีความเป็นไปได้ 4 ทาง – หรือ 2 ทางใหญ่ ที่แยกออกเป็น 2 ทางย่อย – ที่ทำให้เกิดการสวรรคต คือ

1. ทรงยิงพระองค์เอง โดยไม่ตั้งใจ
2. ทรงยิงพระองค์เอง โดยตั้งใจ
3. ทรงถูกผู้อื่นยิง โดยไม่ตั้งใจ
4. ทรงถูกผู้อื่นยิง โดยตั้งใจ

ถ้าเขียนอีกแบบคือ แบ่งเป็น 2 ทางใหญ่ : ทรงยิงพระองค์เอง หรือ ทรงถูกผู้อื่นยิง, แล้วแต่ละทางใหญ่แบ่งออกเป็น 2 ทางย่อย : โดยไม่ตั้งใจ หรือ โดยตั้งใจ

ผมจงใจที่จะเขียนความเป็นไปได้ 4 ทางของกรณีสวรรคต ด้วยภาษา “รุ่มร่าม” เช่นนี้ แทนที่จะใช้คำแบบ “กระทัดรัด” ที่มีการใช้ในเอกสารราชการสมัยนั้น และในหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้ทั่วไป คือ “อุบัติเหตุ”, “ปลงพระชนม์พระองค์เอง” และ “ถูกลอบปลงพระชนม์” เพราะการใช้คำแบบหลังนี้ เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่ปรีดีต้องเผชิญที่ผมกล่าวถึงในตอนต้น (และจะอธิบายต่อไป) อย่างไรก็ตาม เราอาจจะใส่คำ “กระทัดรัด” เหล่านี้ กำกับไว้ในรายการความเป็นไปได้ 4 ทางของกรณีสวรรคตข้างบนได้ ดังนี้

1. ทรงยิงพระองค์เอง โดยไม่ตั้งใจ (“อุบัติเหตุ”)
2. ทรงยิงพระองค์เอง โดยตั้งใจ (“ปลงพระชนม์พระองค์เอง”)
3. ทรงถูกผู้อื่นยิง โดยไม่ตั้งใจ (“อุบัติเหตุ”)
4. ทรงถูกผู้อื่นยิง โดยตั้งใจ (“ลอบปลงพระชนม์”)



ลักษณะทางกายภายของการยิง (Physical conditions of the shooting)
และนัยยะต่อความเป็นไปได้ของสาเหตุการสวรรคต


ผมขอเสนอว่า สิ่งที่เป็นหัวใจของกรณีนี้ และนำไปสู่ปัญหาที่มีลักษณะเป็นปริศนาแก้ไม่ตก คือข้อเท็จจริงกลุ่มหนึ่งที่แทบไม่มีใครโต้แย้งซึ่งประกอบกันขึ้นเป็น สิ่งที่ผมขอเรียกว่า “ลักษณะทางกายภาพของการยิง” (Physical conditions of the shooting) ผมหมายถึงข้อเท็จจริงเหล่านี้ :

ก. ตำแหน่งของบาดแผลกระสุนเข้า อยู่ที่บริเวณหน้าผากเหนือคิ้วซ้ายเล็กน้อย
ข. ลักษณะบาดแผลแสดงว่าปืนต้องกดติดหรือเกือบติดกับหน้าผากขณะกระสุนลั่น ถ้าไม่กดติดก็ห่างไม่เกิน 2 นิ้ว
ค. วิถีของกระสุน เฉียงลงล่าง และเอียงจากซ้ายไปขวาเล็กน้อย ทะลุออกด้านหลังที่ท้ายทอย
ง. ลักษณะพระบรมศพ ที่พระกรอยู่ข้างพระวรกายเรียบร้อย (ปัญหาความเป็นไปได้ของอาการเกร็งค้างของแขนและมืออันเกิดจากสมองตายเฉียบพลันที่เรียกว่า “คาดาเวอริค สปัสซั่ม” Cadaveric Spasm)

ข้อ ง เป็นประเด็นที่แยกออกมา เพื่อพิจารณาภายหลังได้ เพราะยังมีลักษณะถกเถียงกันอยู่ (controversial)

แต่จากข้อเท็จจริง ก-ข-ค ที่ไม่มีใครปฏิสธ ก็นำไปสู่ข้อสรุปเชิงอนุมานที่ยากจะปฏิเสธและมีความสำคัญมาก คือ หากในหลวงอานันท์ยิงพระองค์เอง ไม่ว่าโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ จะต้องจับปืนแบบสลับกับที่จับตามปกติ คือคงต้องกุมปืนด้วย 2 มือพร้อมกัน โกร่งไกและลำกล้องปืนหันมาทางด้านอุ้งมือคือหันเข้าหาตัว หลังปืนหันออกทางตรงข้าม และต้องเหนี่ยวไกด้วยนิ้วโป้ง (โดยเฉพาะนิ้วโป้งซ้าย) ไม่ใช่นิ้วชี้ ถ้าอยู่ในท่านอน แขนทั้ง 2 ข้าง จะต้องยกขึ้นเหนือตัว งอศอก มือทั้งสองที่กุมปืนต้องอยู่เหนือหัวเยื้องขึ้นไปทางด้านผมและเอียงไปเบื้องซ้ายเล็กน้อย (ทำให้เกิดการเฉียงของวิถีกระสุนจากบนลงล่าง และซ้ายไปขวา)

ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ก็ชวนให้เชื่ออย่างยิ่งว่า ในหลวงอานันท์ไม่น่าจะยิงพระองค์เอง เพราะแทบเป็นไปไม่ได้ ที่ใครจะยิงตัวตาย (ตั้งใจ หรือ ไม่ตั้งใจ) ด้วยท่าทางและตำแหน่งถือปืนเช่นนั้น

ผมใช้คำว่า “แทบเป็นไปไม่ได้” ความจริง มีรายละเอียดต่างกันอยู่ระหว่าง ความเป็นไปได้ของการยิงตัวตาย โดยไม่ตั้งใจ (“อุบัติเหตุ”) กับ โดยตั้งใจ (“ฆ่าตัวตาย”) ในท่าทางและตำแหน่งถือปืนเช่นนั้น กล่าวคือ

การยิงตัวเองในท่าถือปืนเช่นนั้น โดยไม่ตั้งใจ กล่าวได้ว่าเป็นไปไม่ได้เลย เพราะไม่มีใครเอาปืนไปถืออยู่ในท่าดังกล่าว เอาปากกระบอกปืนไปจ่อชิดหน้าผากบริเวณเหนือคิ้วซ้าย แล้วทำปืนลั่นโดยไม่ตั้งใจ โดยเฉพาะปืนชนิดที่ทำให้สวรรคตมีห้ามไกถึง 2 ชั้น คือ ห้ามไกข้างที่ตัวปืนที่ต้องดันขึ้นเพื่อปลด และห้ามไกหลังที่ด้ามปืน ซึ่งเวลาจะยิงต้องกำมือกระชับด้ามปืนไว้แน่นเพื่อให้มือที่กำนั้นกดห้ามไกหลังไปพร้อมกัน จึงลั่นไกปล่อยกระสุนได้

กล่าวได้ว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่ ในหลวงอานันท์จะ “บังเอิญ” เอา 2 มือจับปืนจ่อติดเข้าหาหน้าผากตัวเองเหนือคิ้วซ้าย เอียงมือที่จับปืนขึ้นไปทางด้านผม (ซึ่งจะทำให้วิถีกระสุนเฉียงล่าง) โดยที่ทรง “บังเอิญ” ปลดห้ามไกข้างไว้และ “บังเอิญ” จับด้ามปืนแน่นพอที่จะกดห้ามไกหลัง (ด้วยนิ้วชี้) แล้ว “บังเอิญ” เอานิ้วโป้งสอดเข้าไปในโกร่งไกปืน ลั่นกระสุนใส่ตัวเอง !

สรุปแล้ว ความเป็นไปได้ที่ 1 – ทรงยิงพระองค์เอง โดยไม่ตั้งใจ (“อุบัติเหตุ”) – เป็นไปไม่ได้เลย

เท่าที่ผมทราบ ผู้ที่พยายามเสนอภาพในหลวงอานันท์ยิงพระองค์เองโดยไม่ตั้งใจ อย่างจริงจัง ได้แก่ พระองค์เจ้าศุภสวัสดิ์ พี่ชายต่างมารดาของพระนางเจ้ารำไพพรรณี ที่ทรงบรรยายสมมุติฉาก (scenario) ที่ในหลวงอานันท์อาจจะยิงพระองค์เองโดยไม่ตั้งใจได้อย่างไร แต่ฉากสมมุติของพระองค์วางอยู่บนการสมมุติอนุกรม (series) ของเหตุการณ์ ที่รวมๆแล้ว ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่จะบังเอิญมาเกิดขึ้นอย่างเป็นอนุกรมเช่นนั้น คือ ในหลวงอานันท์ต้องบังเอิญลืมปลดไกข้างปืนทิ้งไว้ก่อนไปเข้าห้องน้ำเพราะน้ำมันละหุ่ง ต้องบังเอิญนึกขึ้นได้ขณะล้มตัวลงนอนไปแล้วหลังออกจากห้องน้ำ ต้องบังเอิญพยายามหยิบปืนจากข้างเตียงด้วยมือซ้าย เพื่อส่งข้ามตัวไปให้มือขวา และบังเอิญต้องส่งในตำแหน่งเหนือหัวต้วเอง ต้องบังเอิญทำปืนหลุดจากมือ แล้วทรงพยายามคว้าไว้ (ด้วยมือซ้ายมือเดียว ซึ่งไม่น่าจะมีแรงพอกดห้ามไกหลัง) แล้วนิ้วโป้งซ้ายต้องบังเอิญหลุดเข้าไปในโกร่งไก กดไกลั่นกระสุนใส่ตัวเอง ... อันที่จริง ฉากสมมุติของพระองค์เจ้าศุภสวัสดิ์ เป็นการพยายามสร้างคำอธิบายที่ “ดูดี” ต่อราชสำนักมากกว่าจะอธิบายว่าเหตุการณ์จริงๆเกิดขึ้นอย่างไร (ดูบทความของผมเรื่อง “คำอธิบายกรณีสวรรคตของ ท่านชิ้น”, ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 เมษายน-มิถุนายน 2548 และขอให้สังเกตด้วยว่า กรณีคาดาเวอริค สปัสซั่ม ที่กล่าวถึงข้างล่าง สามารถใช้สนับสนุนความไม่น่าจะเป็นของกรณียิงพระองค์เองโดยอุบัติเหตุเช่นกัน)

ส่วนการยิงตัวเองโดยตั้งใจ (คือ “ปลงพระชนม์พระองค์เอง” หรือ “ฆ่าตัวตาย”) จาก “ลักษณะทางกายภาพของการยิง” ข้างต้น ถ้าพูด “ในทางทฤษฎี” ก็อาจจะกล่าวว่า มีความเป็นไปได้อยู่บ้าง เพราะเราไม่มีทางรู้ว่า คนที่กำลังจะฆ่าตัวตายอยู่ในอารมณ์ไม่ปกติอย่างไร จึง “เป็นไปได้” ที่ผู้นั้นจะถือปืนในท่าพิศดารเช่นนั้น เพื่อยิงตัวเอง

แต่โอกาสก็ยังน้อยมากอยู่นั่นเอง ยิ่งถ้าเราเอาข้อมูลอื่นๆมาประกอบการพิจารณา : เริ่มจากข้อ ง ของ “ลักษณะทางกายภาพของการยิง” ข้างต้น ที่ว่าพระบรมศพอยู่ในท่านอนตรง แขนทั้ง 2 ข้างวางทอดเหยียดอยู่ข้างลำตัวปกติ ซึ่งถ้าเป็นการยิงพระองค์เอง แขนและมือซึ่งต้องใช้ในการยกปืนขึ้นยิง น่าจะยังอยู่ในท่างอบ้าง อาจจะถึงขั้นเกิดอาการที่เรียกว่า “คาดาเวอริค สปัสซั่ม” กล่าวคือ เนื่องจากกระสุนปืนทำลายเซลล์สมองตายทันที ทำให้ไม่มีสัญญาณสั่งจากสมองให้แม้แต่จะคลายนิ้วมือที่กำปืนไว้ อย่าว่าแต่ปล่อยแขนทั้ง 2 ข้างลงข้างลำตัว ดังนั้น สภาพศพน่าจึงน่าจะอยู่ในลักษณะ มือและแขนหงิกงอ ค้างอยู่เหนือลำตัวบ้าง ไม่ใช่ทั้งมือและแขนวางทอดอยู่ข้างตัวอย่างเรียบร้อยเช่นนั้น (ดู สรรใจ แสงวิเชียร และ วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย, กรณีสวรรคต ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙, หน้า ๑๕๓-๑๕๙)

ข้อมูลด้านอื่นที่ไม่เกี่ยวกับ “ลักษณะทางกายภาพของการยิง” แต่อาจนำมาพิจารณาประกอบ เพื่อประเมินความเป็นไปได้ที่ในหลวงอานันท์อาจจะทรงฆ่าตัวตาย เช่น ข่าวลือเรื่องที่ทรงขัดแย้งกับพระราชชนนี (ในปัญหาเพื่อนหญิงของพระองค์ หรือ ปัญหาพระราชชนนีเอง) หรือข่าวลือเรื่องพระอุปนิสัยบางอย่างที่อาจจะทำให้โน้มเอียงไปในทางทำร้ายตัวเอง (ที่ลือกันว่าถ่ายทอดมาจากพระบิดา) ฯลฯ เท่าที่ผมประเมิน ทุกเรื่องที่มีการลือกัน ก็ยังไม่มีน้ำหนักมากพอจะสนับสนุนความเป็นไปได้นี้

แน่นอน ทั้งเรื่องการไม่เกิด “คาดาเวอริค สปัสซั่ม” และการที่ข่าวลือปัญหาส่วนพระองค์ขาดน้ำหนักยืนยันชัดเจน โดยตัวเอง อาจจะยังถูกโต้แย้งได้ไม่รู้จบว่า สามารถนำมาใช้ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่ว่าในหลวงอานันท์ยิงพระองค์เองโดยตั้งใจ ได้มากน้อยเพียงใด แต่เมื่อบวกกับข้อเท็จจริงพื้นฐาน (ข้อ ก-ข-ค) ของ “ลักษณะทางกายภาพของการยิง” ข้างต้น ที่แสดงให้เห็นว่าการถือปืนยิงตัวเองในท่าและตำแหน่งนั้น เป็นเรื่องพิศดาร ที่โดยทั่วไปคนฆ่าตัวตายไม่น่าจะทำกันแล้ว ผมก็เห็นว่า มีเหตุผลมากพอที่เราจะสรุปได้ว่า

ความเป็นไปได้ที่ 2 – ทรงยิงพระองค์เอง โดยตั้งใจ (“ปลงพระชนม์พระองค์เอง”) – ก็กล่าวได้ว่า ไม่น่าเป็นไปได้อย่างยิ่ง เช่นกัน

ผู้ที่เสนอทฤษฎีในหลวงอานันท์ฆ่าตัวตาย ที่สำคัญที่สุด คือ Rayne Kruger ใน The Devil’s Discus (London: Cassell, 1964, pp.217-240; กงจักรปีศาจ ชลิต ชัยสิทธิเวช แปล, 2517, หน้า 557-614 ผมไม่แนะนำให้อ่านฉบับแปลไทยที่มีชื่อเสียงนี้ เพราะแปลผิดพลาดในหลายตอนสำคัญ รวมทั้งตอนนี้) แต่ฉากในหลวงอานันท์ยิงตัวตายอย่างไรของ Kruger ซึ่งสมมุติให้ทรงนั่งยิงไม่ใช่นอนยิง (อาจจะทรงชันเข่าเพื่อรองรับศอกขณะมือถือปืนจ่อหน้าผาก) โดยแรงดีดของปืนทำให้ทรงล้มตัวลงยังที่นอน ยืดทั้งมือ แขน เข่า และขา มาอยู่ในท่าเหยียดนอนโดยเรียบร้อย ยิ่งไม่น่าเป็นไปได้เลย ที่สำคัญ Kruger เข้าใจผิดโดยสิ้นเชิงว่า หมอนไม่ถูกกระสุน แสดงว่านั่งยิง (“Significant too is the fact that the bullet missed the pillow”, p.222) ความจริงคือถูก หัวกระสุนทะลุหมอนไปฝังในฟูกที่นอนข้างใต้ (ดู สรรใจ และ วิมลพรรณ, กรณีสวรรคต ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙, หน้า ๑๓๓-๑๓๔ ควรกล่าวด้วยว่า Kruger ยอมรับโดยปริยายว่า ถ้าการยิงเกิดขึ้นระหว่างในหลวงอานันท์อยู่ในท่านอน ทิศทางกระสุน, ท่าทางพระบรมศพ สอดคล้องกับการถูกผู้อื่นยิงมากกว่าการยิงตัวเอง)

ในเมื่อเราตัดความเป็นไปได้ที่ในหลวงอานันท์จะยิงพระองค์เอง ทั้งโดยไม่ตั้งใจ (ความเป็นไปได้ที่ 1) หรือ ตั้งใจ (ความเป็นไปได้ที่ 2) ออกไปเสียได้เช่นนี้ ก็หมายความว่า ในหลวงอานันท์สวรรคตเพราะถูกผู้อื่นยิงเท่านั้น ความจริงก็คือ ขณะที่ “ลักษณะทางกายภาพของการยิง” ขัดแย้งอย่างมากกับการยิงพระองค์เอง กลับสอดคล้องโดยสิ้นเชิง กับการถูกผู้อื่นยิง นั่นคือ ผู้ยิงเพียงแต่ยืนอยู่ที่หัวเตียงด้านซ้ายของในหลวงอานันท์ ถือปืนด้วยมือซ้ายหรือขวาก็ได้ตามถนัด จ่อเข้ามาที่บริเวณหน้าผากเหนือคิ้วซ้ายของในหลวงอานันท์ที่กำลังนอนในท่าปกติ แล้วลั่นกระสุน วิถีกระสุนก็จะเฉียงลงล่าง และเอียงทางขวาเล็กน้อย ตามที่พบในพระบรมศพ และเนื่องจากเป็นผู้อื่นยิง หากในหลวงอานันท์ทรงกำลังนอนในท่าปกติ ก็จะไม่เกิดปัญหาเรื่องสภาพของแขนและมือที่วางเรียบร้อยข้างตัว (หรือปัญหาอาการ “คาดาเวอริค สปัสซั่ม) แน่นอนว่า การลั่นกระสุนโดยผู้อื่นนี้ ก็เป็นไปได้ทั้งโดยไม่ตั้งใจ คือเอาปืนมาจ่อเพื่อล้อเล่น แต่ปืนลั่น (ความเป็นไปได้ที่ 3) หรือ โดยตั้งใจ (ความเป็นไปได้ที่ 4)



นัยยะของความเป็นไปได้ “ถูกผู้อื่นยิง โดยไม่ตั้งใจ”:
สาเหตุการสวรรคต ลดจาก 4 ทาง เหลือ 3 ทาง ได้อย่างไร?


แต่ทุกคนที่คิดถึงกรณีนี้อย่างจริงจัง รู้ทันทีว่า การถูกยิงโดยผู้อื่น โดยไม่ตั้งใจ (ความเป็นไปได้ที่ 3) หมายถึงอะไร ความเป็นไปได้นี้มีอยู่กรณีเดียวเท่านั้น ดังที่หนังสือนิยมเจ้า-แอนตี้ปรีดี เรื่อง กรณีสวรรคต ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ ของ สรรใจ และ วิพลพรรณ เขียนไว้ :
กรณีอุปัทวเหตุโดยผู้อื่นนั้น ผู้ที่พูดถึงเรื่องนี้เป็นคนแรก คือนายแพทย์หม่อมหลวงเต่อ สนิทวงศ์ และนายแพทย์ฝน แสงสินแก้ว ให้การในศาลกลางเมืองว่า คำว่าอุปัทวเหตุอาจหมายถึงว่าอุปัทวเหตุโดยบุคคลอื่น และยกตัวอย่างคดีรายที่เกิดจากการเอาปืนไปล้อกันโดยไม่รู้ว่าปืนมีลูกแล้วปืนเกิดลั่นขึ้น ต่อมามีผู้ปล่อยข่าวลือว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระอนุชาเล่นปืนกัน การสันนิษฐานประกอบข่าวลือเป็นการนำเอาสมเด็จพระอนุชาเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย เพราะโดยสามัญสำนึกแล้ว ผู้ที่จะเอาปืนไปล้อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีอยู่พระองค์เดียวคือสมเด็จพระอนุชา (หน้า ๑๗๖)

นายแพทย์ทั้งสองได้ยกสาเหตุให้คิดกันได้อีกปัญหาหนึ่ง คือ อุปัทวเหตุเกิดจากผู้อื่น โดยมีใครเอาปืนมาเล่นข้างพระเศียรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้วปืนลั่นขึ้น (หน้า ๑๖๑-๑๖๒)
กรณี นพ.มล.เต่อ และ นพ.ฝน ที่ถูกสรรใจและวิมลพรรณโจมตีในเรื่องนี้ ไม่แน่ชัดว่านายแพทย์ทั้งสองได้พูดเช่นนั้นจริงหรือไม่ บันทึกคำให้การในศาลกลางเมืองที่เหลืออยู่เฉพาะของ นพ.มล.เต่อ ไม่มีตอนใดที่กล่าวถึง “อุปัทวเหตุโดยบุคคลอื่น” มีแต่อุบัติเหตุโดยผู้ตายเอง(1) ส่วนบันทึกคำให้การของ นพ.ฝน ได้สูญหายไปแล้ว จึงยืนยันไม่ได้เช่นกัน(2) ความจริง ผมไม่เคยเห็นหลักฐานเป็นฃิ้นเป็นอันที่อ้างอิงได้ว่า มีคนไทยคนไหนเคยเสนอหรือสนับสนุนความเป็นไปได้นี้อย่างเปิดเผยในขณะนั้น หรือในเวลาต่อมาถึงปัจจุบัน (ที่ต้องเน้นคำว่าคนไทย เพราะในหมู่ฝรั่งเป็นอีกเรื่องหนึ่ง)

แต่ผมขอเสนอว่า ไม่เป็นที่ต้องสงสัยเลยว่า ความเป็นไปได้นี้ เป็นเรื่องที่มีการคิดกันและมีการตระหนักกันถึงนัยยะของความเป็นไปได้นี้ ตั้งแต่สมัยนั้นจริงๆ การที่สรรใจและวิมลพรรณเขียนถึง “ข่าวลือ” หรือเขียนถึง นพ.เต่อและนพ.ฝน ในเรื่องทฤษฎีนี้ได้ (แม้จะขาดการอ้างอิง) ก็เพราะอันที่จริง นี่ไม่ใช่เรื่องลึกลับซับซ้อนหรือยากลำบากเกินกว่าจะคิดไปถึงได้ พูดอีกอย่างคือ มีการ “ลือ” กันจริงๆ

ผมขอเสนอต่อไปอีกว่า แต่เพราะความตระหนักในนัยยะอันสำคัญใหญ่หลวงของความเป็นไปได้นี้ ทำให้เกิดสภาพที่ ไม่เพียงแต่พูดถึงอย่างเปิดเผยไม่ได้ แม้แต่คิดยังแทบคิดไม่ได้ โดยเฉพาะในสมัยนั้น นัยยะของความเป็นไปได้นี้เป็นอะไรบางอย่างที่ใหญ่โตเกินกว่าคนที่คิดถึงจะกล้าคิดต่ออย่างจริงจัง ผลที่ตามมา ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งคือ ความเป็นไปได้นี้ ถูกตัดออกไปจากการสอบสวนกรณีสวรรคตโดยสิ้นเชิงตั้งแต่แรก

พวกนิยมเจ้าพยายามอธิบายว่าสาเหตุที่ไม่มีใครเสนอหรือสนับสนุนทฤษฎีในหลวงอานันท์ถูกผู้อื่นยิงโดยไม่ตั้งใจ (หรือ “อุบัติเหตุโดยผู้อื่น”) ได้อย่างเปิดเผยจริงจัง เพราะมีพยานหลักฐานยืนยันโดยเด็ดขาดชัดเจนว่า ทฤษฎีนี้เป็นไปไม่ได้เลย การที่มีการพูดกันอย่างลับๆจึงเป็นการใส่ร้ายพระอนุชาอย่างโคมลอย

แต่อะไรคือพยานหลักฐานที่พวกนิยมเจ้าพูดถึง?

ในที่สุดแล้ว ก็คือคำให้การของพระอนุชาเอง และของนายชิต สิงหเสนี และ นายบุศย์ ปัทมศริน ที่ว่า สมเด็จพระอนุชาทรงเสด็จมาที่หน้าห้องบรรทมในหลวงอานันท์ แต่ไม่ได้เข้าไป และทรงเดินกลับไปทางห้องบรรทมพระอนุชาเองทางเฉลียงด้านหลัง นับ 10 นาที จึงเกิดเสียงปืนดังขึ้นในห้องบรรทมในหลวงอานันท์ :
ข่าวลือที่ให้ร้ายสมเด็จพระอนุชาธิราชนั้นปล่อยออกมาตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลสวรรคตใหม่ๆ และมีอยู่เสมอทุกระยะจนกระทั่งปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะในต่างประเทศบางประเทศ แต่สิ่งที่ปรากฏหลักฐานอย่างแน่ชัดก็คือ ขณะเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่อานันทมหิดลสวรรคต สมเด็จพระอนุชาประทับอยู่ในห้องเครื่องเล่นซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระที่นั่งบรมพิมาน ห่างจากห้องพระบรรทมซึ่งอยู่ปลายทิศตะวันออกของพระที่นั่ง พยานสำคัญคือตัวนายชิตและนายบุศย์เอง (สรรใจ และ วิมลพรรณ, กรณีสวรรคต ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙, หน้า ๑๘๑ การทำตัวหนาเป็นของสรรใจและวิมลพรรณเอง ผมขีดเส้นใต้เพิ่ม)
บางครั้ง พวกนิยมเจ้ายังพยายามเสนอว่า นายฉลาด เทียมงามสัจ ที่เฝ้าเครื่องเสวยอยู่มุขหน้า ก็เห็นและยืนยันได้ว่าพระอนุชาหลังจากแวะที่หน้าห้องบรรทมในหลวงอานันท์แล้ว ได้เดินไปทางห้องบรรทมของพระอนุชาเอง (ดู สรรใจและวิมลพรรณ, กรณีสวรรคต ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙, หน้า ๕๗ และล่าสุด มรว.กิตติวัฒนา ปกมนตรี, ก่อนเสด็จลับเลือนหาย, สำนักพิมพ์ดีเอ็มจี, ๒๕๕๐, หน้า ๑๕๖-๑๕๗) แต่คำให้การของนายฉลาดต่อศาลกลางเมือง ในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ มีลักษณะของความไม่แน่นอนสูงมาก:
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันก็ได้เสด็จมาเสวย ท่านเสด็จมาเสวยพระองค์เดียว เสวยอยู่นานสัก ๒๐ นาที เมื่อเสร็จแล้ว เสด็จไปทางห้องพระบรรทมสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ท่านเสด็จไปทำไม พยานมองไม่เห็น และพระองค์ไม่ได้เสด็จกลับมาทางเฉลียงหน้าที่พยานอยู่ ดูเหมือนท่านเสด็จไปอีกทางหนึ่ง แต่เท่าที่จำได้ไม่แน่นัก เข้าใจว่าท่านจะเสด็จไปทางเฉลียงด้านหลัง พยานเข้าใจว่าคงจะเสด็จไปห้องท่าน (ดู บันทึกการสอบสวนกรณีสวรรคตรัชกาลที่ ๘, หน้า๑๑๗ การขีดเส้นใต้ของผม)(3)
สรุปแล้ว “พยานหลักฐาน” ที่ยืนยันว่าพระอนุชาทรงเสด็จไปจากหน้าห้องบรรทมในหลวงอานันท์ไปทางห้องบรรทมพระองค์เอง หลายนาทีก่อนเกิดเสียงปืนขึ้น ที่ฝ่ายนิยมเจ้าจะนำมาอ้างได้จริงๆจึงเหลือเพียงคำให้การของพระอนุชาเองและของชิตและบุศย์เท่านั้น

ทีนี้ ทุกคนรู้ว่า ในคดีที่เกี่ยวกับการตายผิดปกติที่อาจเป็นการฆาตกรรม คำให้การของผู้อยู่ในเหตุการณ์และพยานทุกคน ย่อมต้องถูกตั้งคำถามได้ว่าอาจไม่ตรงความจริง แต่ในกรณีสวรรคตนี้ ทุกคนรู้ดีเช่นกันว่า ไม่มีใครกล้าปฏิบัติต่อคำให้การของพระอนุชา ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่แล้ว (หรือของพระราชชนนี) อย่างที่ปฏิบัติต่อคำให้การของพยานทั่วไป อันที่จริง ไม่เพียงคำให้การของพระอนุชา/พระมหากษัตริย์องค์ใหม่ และพระราชชนนี เท่านั้น ที่จะปฏิบัติต่อ แบบเดียวกับคำให้การของพยานทั่วไปไม่ได้ แม้แต่คำให้การเกี่ยวกับในหลวงองค์ใหม่และพระราชชนนี ก็ไม่สามารถได้รับการปฏิบัติแบบเดียวกับคำให้การเกี่ยวกับคนอื่นๆได้

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อพระอนุชา/ในหลวงองค์ปัจจุบันทรงให้การต่อศาลในปี 2493 ว่า ในช่วงที่เกิดการสวรรคต พระองค์ทรงกำลัง “เดินเข้าๆออกๆอยู่ที่สองห้องนี้” คือห้องบรรทมของพระองค์เองและห้องเครื่องเล่น “ระหว่างที่ฉันเดินไปๆมาๆอยู่ในห้องนอนและห้องเครื่องเล่นนั้น จะมีใครอยู่ในสองห้องนั้นบ้างไหม ไม่ได้สังเกต” และทรงไม่ได้ยินเสียงปืน ได้ยินแต่ “เสียงคนร้อง” จึงทรง “ออกจากห้องเครื่องเล่นไปยังเฉลียงด้านหน้า โดยผ่านไปทางห้องบันได” แต่ในคำให้การของพระพี่เลี้ยงเนื่อง จิตตดุลย์ กล่าวถีงช่วงเวลาเดียวกันว่า เธอกำลังอยู่ใน “ห้องในหลวงองค์ปัจจุบันโดยเข้าไปจัดฟิล์มหนัง เมื่อเข้าไปในห้อง ข้าพเจ้าไม่พบใครแม้แต่ในหลวงองค์ปัจจุบัน ซึ่งพระองค์จะเสด็จไปประทับอยู่ที่ไหนในขณะนั้นก็หาทราบไม่” และต่อมาเธอ “ได้ยินเสียงดังมาก เป็นเสียงปืน” เธอ “จึงรีบออกมาทางระเบียงด้านหลัง ผ่านห้องเครื่องเล่นของในหลวงองค์ปัจจุบัน ห้องบันได” โดยที่เธอไม่ได้พบเห็นในหลวงองค์ปัจจุบัน ... เราย่อมไม่ตั้งคำถามเกี่ยวกับคำให้การของพระอนุชา/ในหลวงองค์ปัจจุบัน เป็นต้น(4)

แต่ถ้าไม่นับคำให้การของพระอนุชาเองแล้ว พยานหลักฐานที่ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่ 3 ได้จริงๆ ก็มีเพียงคำให้การของชิตและบุศย์เท่านั้น ดังที่สรรใจและวิมลพรรณเขียนว่า “พยานสำคัญคือตัวนายชิตและนายบุศย์เอง” แต่ความจริง ถ้าพูดในแง่ความสมเหตุสมผลแล้ว ฝ่ายนิยมเจ้าอย่างสรรใจและวิมลพรรณไม่สามารถอ้างคำให้การของชิตและบุศย์ในกรณีนี้ได้ พร้อมๆกับที่เสนอว่ากรณีสวรรคตเกิดจากการลอบปลงพระชนม์โดยคนภายนอก เพราะการเสนอเช่นนั้น หมายความว่า พวกเขากำลังบอกว่า ชิตและบุศย์เชื่อถือไม่ได้ ปล่อยให้ฆาตกรลอบเข้ามาปลงพระชนม์แล้วโกหกว่าเปล่า

ในเมื่อพวกนิยมเจ้าอย่างสรรใจและวิมลพรรณ กำลังปฏิเสธคำให้การของชิตและบุศย์ในเรื่องไม่เคยให้คนนอกเข้ามาปลงพระชนม์ พวกเขาก็จะอ้างคำให้การของชิตและบุศย์มาสนับสนุนเรื่องพระอนุชาไม่ได้เช่นกัน

ถ้าไม่ยอมเชื่อชิตและบุศย์ในเรื่องแรก จะมาอ้างว่าควรเชื่อชิตและบุศย์ในเรื่องหลังได้อย่างไร?

สรุปแล้ว ถ้าความเป็นไปได้เรื่อง “ถูกผู้อื่นยิง โดยไม่ตั้งใจ” จะได้ถูกตัดออกไปจากการพิจารณาโดยสิ้นเชิงตั้งแต่แรก ก็ไม่ใช่เพราะมีพยานหลักฐานที่หักล้างไม่ได้เลย มายืนยันว่า เป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ แต่เพราะสถานะของพระมหากษัตริย์ที่อยู่เหนือกฎหมาย คือไม่สามารถพิจารณาในลักษณะเดียวกับคนธรรมดาได้ (กรณีคำให้การของชิตและบุศย์เอง เป็นข้อพิสูจน์ที่ดีที่สุด : ถ้าบอกว่า ลอบปลงพระชนม์เป็นไปได้ ก็แสดงว่า ถือกันว่า คำให้การของชิตและบุศย์ในเรื่องไม่มีคนนอกเข้าไปในห้องบรรทม หักล้างได้ แต่เหตุใด คำให้การของคนทั้งสองเรื่องพระอนุชาเสด็จกลับไปจากห้องบรรทมก่อนเกิดเสียงปืน จึงถูกถือว่า หักล้างไม่ได้)

การอภิปรายสาธารณะทั้งหมดเกี่ยวกับกรณีสวรรคต ตั้งแต่วันแรก รวมถึงการชันสูตรพระบรมศพของคณะแพทย์ และการพิจารณาของคณะกรรมการที่รัฐบาลปรีดีตั้งขึ้นที่เรียกว่า “ศาลกลางเมือง” ไม่ต้องพูดถึงการอภิปรายทางหน้าหนังสือพิมพ์ ล้วนอยู่ภายใต้กรอบที่ว่า สาเหตุของการสวรรคตมีเพียง 3 ทาง คือ ยิงพระองค์เองโดยไม่ตั้งใจ, ยิงพระองค์เองโดยตั้งใจ และ ถูกผู้อื่นยิงโดยตั้งใจ โดยมีการ “ขึ้นป้าย” ความเป็นไปได้ 3 ทางนี้อย่างตายตัวว่า “อุบัติเหตุ”, “ปลงพระชนม์เอง” และ “ถูกปลงพระชนม์”(5)




ทำไมแพทย์และใครต่อใครที่สอบสวนกรณีนี้ จึงบอกว่า “ลอบปลงพระชนม์”
หรือ ปรีดี แพ้สงครามพีอาร์ อย่างไร


ภายใต้ “กรอบ” หรือ (ถ้าจะใช้ภาษายอดนิยมปัจจุบัน) “วาทกรรม 3 สาเหตุ” นี้ ไม่เป็นเรื่องแปลกที่ ความเห็นต่างๆจะมาลงเอยที่ “ลอบปลงพระชนม์” อันที่จริง เป็นเรื่องสมเหตุสมผลอย่างยิ่งที่ต้องลงเอยที่ “ลอบปลงพระชนม์” ด้วยซ้ำ เพราะดังที่ผมอภิปรายให้เห็นข้างต้น “ลักษณะทางกายภาพของการยิง” ปฏิเสธความเป็นไปได้ของการยิงพระองค์เอง (ไม่ว่าตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ) เกือบจะโดยเด็ดขาด แต่ส่อแสดงว่าเป็นการถูกผู้อื่นยิง แต่ในเมื่อ การถูกผู้อื่นยิงโดยไม่ตั้งใจ ถูกตัดออกไปเสีย ก็เหลือเพียงการถูกผู้อื่นยิงโดยตั้งใจเท่านั้น สำหรับอธิบาย “ลักษณะทางกายภาพของการยิง” นั้น อย่างลงตัว

พูดอีกอย่างคือ ที่การสอบสวนต่างๆลงเอยว่า “ลอบปลงพระชนม์” ก็ไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากบอกเพียงว่า “ถูกผู้อื่นยิง” (ไม่ใช่ยิงพระองค์เอง) เท่านั้น

นี่คือความหมายที่แท้จริงของข้อสรุป “ลอบปลงพระชนม์” จากการวินิจฉัยกรณีสวรรคต 2 ครั้งที่รู้จักกันดี คือ การชันสูตรพระบรมศพของคณะแพทย์ชาวไทยและต่างประเทศ และ การพิจารณาของคณะกรรมการสอบสวนที่รัฐบาลตั้งขึ้น ที่เรียกกันว่า “ศาลกลางเมือง”

ในกรณีคณะแพทย์ ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2489 (คือไม่กี่วันหลังสวรรคต) มีการประชุมชันสูตรพระบรมศพโดยคณะแพทย์ 20 คน เป็นแพทย์ไทย 16 คน แพทย์ต่างชาติ 4 คน (อเมริกัน 1 คน, แพทย์จากกองทัพบริติชและบริติชอินเดีย 3 คน) และมี พตท.เอ็จ ณ ป้อมเพชร ในฐานะตัวแทนกรมตำรวจเข้าร่วมด้วย หลังการชันสูตร แพทย์ทุกคนได้แสดงความเห็นว่าอะไรคือสาเหตุการสวรรคต แต่แพทย์อังกฤษและอินเดียทั้ง 3 คนขอถอนความเห็นที่แสดงไปแล้วออกจากบันทึกทางการ

สิ่งที่ต้องสังเกตเป็นอันดับแรกคือ สาเหตุการสวรรคตที่แพทย์ใช้เป็นกรอบในการลงความเห็น มีเพียง “3 สาเหตุ” เท่านั้น คือ “อุบัติเหตุ”, “ปลงพระชนม์พระองค์เอง” และ “ถูกปลงพระชนม์” โดยที่ “อุบัติเหตุ” หมายถึง “ยิงพระองค์เองโดยไม่ตั้งใจ” ประการต่อมา สิ่งที่แพทย์วินิจฉัยและใช้เป็นข้อมูลการตัดสินใจลงความเห็น ที่สำคัญได้แก่ ลักษณะและตำแหน่งของบาดแพล, วิถีกระสุน และลักษณะพระบรมศพ นั่นคือ สิ่งที่ผมเรียกรวมๆในตอนต้นว่า “ลักษณะทางกายภาพของการยิง” นั่นเอง ในจำนวนผู้ออกความเห็นทั้งหมด 18 คน (แพทย์ไทย 16 คน, แพทย์อเมริกัน และ พตท.เอ็จ) เสียง่ข้างมากแบบเด็ดขาด 12 คน ยืนยันว่าเป็นการ “ถูกปลงพระชนม์” อีก 4 คนเห็นว่า “ปลงพระชนม์เองหรือถูกปลงพระชนม์ ทั้งสองประการเท่าๆกัน” มีเพียง 2 คนเท่านั้นเห็นว่าเป็น “อุบัติเหตุ” (นพ.เต่อ กับ นพ.ฝน ดังที่กล่าวในตอนต้น) อันที่จริง ใน 16 คนแรกที่เพิ่งกล่าวถึง 8 คนบอกตัด “อุบัติเหตุ” ออกไปเลยว่าเป็นไปไม่ได้ (หนึ่งในนั้น นพ.ชุบ โชติกเสถียร ตัดการยิงพระองค์เองออกหมดคือ ตัด “ปลงพระชนม์เอง” ด้วย) ที่เหลือเกือบทุกคนก็ใส่ “อุบัติเหตุ” ไว้หลังสุด (คือเรียงลำดับความเป็นไปได้ว่า “ถูกปลงพระชนม์, ปลงพระชนม์เอง หรือ อุบัติเหตุ”)(6)

ถึงจุดนี้ เราควรเข้าใจได้แล้วว่า เหตุใดคณะแพทย์ซึ่งชันสูตรพระศพจึงสนับสนุนทฤษฎี “ลอบปลงพระชนม์” อย่างมากมายเช่นนั้น ก็เพราะ “ลักษณะทางกายภาพของการยิง” บอกว่า “ถูกผู้อื่นยิง” แต่ในเมื่อ “3 สาเหตุ” ที่เป็นทางเลือกนั้น มีทางเลือกเดียวสำหรับการ “ถูกผู้อื่นยิง” คือ “ถูกลอบปลงพระชนม์” แพทย์ส่วนใหญ่จึงลงความเห็นว่าเป็นสาเหตุนี้ ข้อสรุปที่ออกมาว่า “ลอบปลงพระชนม์” จึงไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าการบอกว่านี่เป็นการ “ถูกผู้อื่นยิง” เท่านั้น แต่นั่นป็นสิ่งที่สาธารณชนในขณะนั้นไม่สามารถมองเห็นได้ และเข้าใจว่า หมายถึง มีคนภายนอกลอบเข้ามายิงในหลวงอานันท์เท่านั้น

กรณี “คณะกรรมการสอบสวนพฤติการณ์การเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล” หรือที่รู้จักกันในนาม “ศาลกลางเมือง” ก็เช่นเดียวกัน การสอบสวนอยู่ภายใต้กรอบ “3 สาเหตุ” ที่ถูกติดป้ายว่า “อุบัติเหตุ”, “ปลงพระชนม์เอง” และ “ถูกลอบปลงพระชนม์” ซึ่งแน่นอน ไม่ใช่เรื่องแปลกที่คณะกรรมการจะตัด “อุบัติเหตุ” ออกอย่างสิ้นเชิง: “สำหรับกรณีอุบัติเหตุ คณะกรรมการมองไม่เห็นทางว่าจะเป็นไปได้เลย”
ส่วนอีกสองกรณีคือ ถูกลอบปลงพระชนม์และปลงพระชนม์เองนั้น การถูกลอบปลงพระชนม์ ไม่มีพยานหลักฐานและเหตุผลที่แน่นอนแสดงว่าจะเป็นไปได้ แต่ก็ไม่สามารถที่จะตัดออกเสียได้โดยสิ้นเชิง เพราะว่ายังมีท่าทางของพระบรมศพค้านอยู่ ส่วนในกรณีปลงพระชนม์เองนั้น ลักษณะบาดแผลแสดงว่าเป็นไปได้ แต่ไม่ปรากฏเหตุผลหรือหลักฐานอย่างใดว่าเป็นเช่นนั้นโดยแน่ชัด คณะกรรรมการจึงไม่สามารถที่จะชี้ขาดลงไปได้ว่าเป็นกรณีหนึ่งกรณีใด ในสองกรณีนี้
ไม่เป็นการยากที่จะอธิบายข้อความที่เขียนอย่างระมัดระวังนี้ โดยเฉพาะส่วนที่เป็นการให้เหตุผลอย่างกำกวม ก่อนอื่น ผมเห็นว่า ไม่มีปัญหาว่า คณะกรรมการให้น้ำหนักการ “ถูกลอบปลงพระชนม์” มากกว่า

กรณี “ปลงพระชนม์เอง” (คือยิงตัวเองโดยตั้งใจ) ที่คณะกรรมการกล่าวว่า “ลักษณะบาดแผลแสดงว่าเป็นไปได้” นั้น น่าจะหมายถึงสภาพที่การยิงเกิดในระยะใกล้มากๆ อาจถึงขั้นปากกระบอกปืนกดอยู่ที่ผิวหน้าผาก คล้ายกับการฆ่าตัวตายทั่วไป ไม่ใช่อุบัติเหตุ (ไม่มีใครกดปืนเข้ากับหน้าผากตัวเอง แล้วลั่นขึ้นโดยไม่ตั้งใจ)

ส่วนกรณี “ถูกลอบปลงพระชนม์” ที่คณะกรรมการเขียนให้เหตุผลเชิงปฏิเสธไว้ก่อน (“ไม่มีพยานหลักฐานและเหตุผล...”) นั้น ไม่อาจปิดบังข้อสรุปที่ว่า กรณีนี้เป็นไปได้อย่างมาก “เพราะ...มีท่าทางของพระบรมศพ” เป็นสิ่งบ่งชี้อยู่ พูดตามสำนวนที่ผมใช้มาแต่ต้นคือ คณะกรรมการกำลังอ้าง “ลักษณะทางกายภาพของการยิง” มาสนับสนุนเรื่อง “ถูกลอบปลงพระชนม์” นั่นเอง แต่ดังที่ผมอภิปรายแล้วว่า “ท่าทางของพระบรมศพ” ดังกล่าว สามารถบอกได้แต่เพียงว่า นี่เป็นการ “ถูกผู้อื่นยิง” เท่านั้น การที่คณะกรรมการอ้าง “ท่าทางของพระบรมศพ” มาสนับสนุนทฤษฎี “ถูกลอบปลงพระชนม์” ก็เพียงเพราะว่า นี่เป็นสาเหตุเดียวใน “3 สาเหตุ” ที่บอกการ “ถูกผู้อื่นยิง” ประโยคสำคัญของคณะกรรมการที่ว่า
การถูกลอบปลงพระชนม์ ไม่มีพยานหลักฐานและเหตุผลที่แน่นอนแสดงว่าจะเป็นไปได้ แต่ก็ไม่สามารถที่จะตัดออกเสียได้โดยสิ้นเชิง เพราะว่ายังมีท่าทางของพระบรมศพค้านอยู่
จึงสามารถเขียนใหม่ ให้แสดงเหตุผลหรือความเป็นมาแท้จริงของข้อสรุปนี้ได้ ดังนี้
ไม่มีพยานหลักฐานว่ามีคนลอบเข้ามาปลงพระชนม์ได้ แต่ลักษณะทางกายภาพของการยิง คือ ท่าทางของพระบรมศพ บ่งบอกว่า เป็นการถูกผู้อื่นยิง

ด้วยลักษณะเดียวกัน (แต่เป็นการกระทำแบบมีเป้าหมายการเมืองมากกว่า) การที่งานแบบฉบับเรื่องกรณีสวรรคตของพวกนิยมเจ้า ของสรรใจและวิมลพรรณ สรุปว่า
หลักฐานต่างๆเท่าที่เหลืออยู่นี้ ปรากฏว่าค้านกับสมมุติฐานที่ว่า สวรรคตจากอุปัทวเหตุและปลงพระชนม์เอง แต่สนับสนุนสมมุติฐานว่าสวรรคตเพราะถูกลอบปลงพระชนม์ (หน้า ๑๕๓ เน้นคำตามต้นฉบับ)
ก็เป็นการกล่าวที่ถูกต้องหรือวางอยู่บนความจริงบางส่วน แต่ขณะเดียวกัน ก็ปิดบังความจริงบางส่วนไว้ (ดังนั้นจึงบิดเบือน) นั่นคือ ประโยคแรกกล่าวถูกต้องว่า “หลักฐานต่างๆเท่าที่เหลืออยู่นี้ ปรากฏว่าค้านกับสมมุติฐานที่ว่า สวรรคตจากอุปัทวเหตุและปลงพระชนม์เอง” แต่ประโยคหลัง สิ่งที่ “หลักฐานต่างๆเท่าที่เหลืออยู่...สนับสนุน” ไม่ใช่ “สมมุติฐานว่าสวรรคตเพราะถูกลอบปลงพระชนม์” แต่คือ สวรรคตเพราะถูกผู้อื่นยิง เท่านั้น(7)

การรณรงค์ของพวกนิยมเจ้าทั้งหมดตั้งแต่ปี 2489 มาถึงปัจจุบัน เริ่มจากความจริงแบบนี้ อาศัยประโยชน์จากความจริงแบบนี้ กล่าวคือ ยิ่งพิจารณาเท่าไร ก็ยิ่งแสดงว่า ถูกผู้อื่นยิง แต่ในเมื่อ การถูกผู้อื่นยิงโดยไม่ตั้งใจ ไม่อาจพูดถึงได้ ก็เหลือเพียงการถูกผู้อื่นยิงโดยตั้งใจ คือ “ลอบปลงพระชนม์” เท่านั้น

ในทางกลับกัน รัฐบาลปรีดี ซึ่งชูประเด็น “อุบัติเหตุ” ก็ยิ่งดูเหมือนว่ากำลังปิดบังความจริงมากขึ้นเท่านั้น เพราะ “อุบัติเหตุ” ในความหมายที่ ทรงยิงพระองค์เองโดยไม่ตั้งใจ (ความเป็นไปได้ที่ 1) นั้น เมื่อพิจารณาจาก “ลักษณะทางกายภาพของการยิง” แล้ว เป็นสิ่งที่เป็นไปได้น้อยที่สุด กล่าวได้ว่า ไม่อาจเป็นไปได้เลย

แต่ทำไม รัฐบาลปรีดีจึงยืนกรานเรื่อง “อุบัติเหตุ” ใน “วาทกรรม 3 สาเหตุ”? ผมคิดว่า ตอนแรก คงไม่ได้คิดอะไรมาก เพราะ ก่อนอื่น ไม่มีใครคิดว่า มหาดเล็กที่เป็นข้าทาสในวังมาหลายชั่วคน จะให้คนภายนอกเข้ามายิงได้ และในเมื่อมหาดเล็กนั้นเองบอกว่า ไม่มีใครเข้าไปในห้องบรรทมขณะปืนลั่น ก็เหลือเพียงการยิงพระองค์เองอีก 2 ทางเท่านั้น ครั้นจะบอกว่า “ฆ่าตัวตาย” (ยิงเองแบบตั้งใจ) ก็จะเสียพระเกียรติ จึงลงเอยที่ “อุบัติเหตุ” หรือยิงเองแบบไม่ตั้งใจ แต่พอลงเอยแบบนี้แล้ว เมื่อเริ่มมีการพูดกันในรายละเอียดมากขึ้นๆเท่าไร ก็กลับกลายเป็นทางเลือกที่แย่ที่สุด เพราะเป็นไปไม่ได้เลย ผมควรเล่าด้วยว่า เมื่อข้อสรุปของศาลกลางเมือง ออกมาในทาง “ลอบปลงพระชนม์” รัฐบาลหลวงธำรงที่รับช่วงต่อจากปรีดี ได้มีการพิจารณาจะจับชิตกับบุศย์เหมือนกัน (อย่างน้อยแบบพอเป็นพิธี เพราะจริงๆแล้วไม่เชื่อ) เพราะถ้าเป็นการ “ลอบปลงพระชนม์” ก็ต้องหมายความว่า 2 คนนั้น ยอมให้คนอื่นเข้ามายิง ไม่มีใครในรัฐบาลขณะนั้น จะกล้าคิดถึงความเป็นไปได้เรื่อง “ถูกผู้อื่นยิงโดยไม่ตั้งใจ” (ดูบทความของผมเรื่อง “ท่าทีรัฐบาลปรีดี-ธำรงต่อกรณีสวรรคต”)

ยิ่งหลักฐานแสดงว่า เป็นการ “ลอบปลงพระชนม์” เท่าใด ก็เพียงแต่ยืนยันว่า กรณีนี้ เป็นการยิงโดยผู้อื่นเท่านั้น และหลักฐานออกมาในด้านนี้จริงๆ

แต่ประเด็นยังอยู่ทีว่า การยิงโดยผู้อื่น สามารถเป็นโดยตั้งใจก็ได้ โดยไม่ตั้งใจ หรือ “อุบัติเหตุโดยผู้อื่น” ก็ได้ ตัวหลักฐานทั้งหลายที่ (ยกเว้นคำให้การของพระอนุชาและของชิตและบุศย์) ไม่สามารถบอกได้เลยว่า ต้องเป็นถูกผู้อื่นยิงโดยตั้งใจ หรือ ลอบปลงพระชนม์เท่านั้น

พูดง่ายๆคือ มีผู้อื่นยิงในหลวงอานันท์ อาจจะโดยตั้งใจ หรือ โดยไม่ตั้งใจก็ได้

ในหลวงอานันท์ถูกผู้อื่นยิง ไม่ได้ยิงพระองค์เอง

ปัญหาคือ ใครยิงในหลวงอานันท์?




โปรดติดตาม
ตอนที่ 3 ใครยิงในหลวงอานันท์?