Wednesday, September 13, 2006

สมัชชาแห่งชาติ ๒๕๑๖ หรือ วิธีทำรัฐประหารโดยไม่ให้คนรู้ตัว



วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๑๖ ได้มีประกาศทางราชการฉบับหนึ่ง ดังนี้

ประกาศ
แต่งตั้งสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ
ภูมิพลอดุลยเดช ปร.

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหดิลธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า โดยที่สถานการณ์ปัจจุบันยังไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ และรากฐานการปกครองราชอาณาจักรก่อนที่จะได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญนั้นก็ยังไม่มั่นคงพอที่จะทรงวางพระราชหฤทัยได้ นอกจากนั้น ยังมีพระราชประสงค์ที่จะให้ประชาราษฎรได้เข้ามามีส่วนในการวางรากฐานแห่งการปกครองเสียแต่ต้นมือ ในการนี้จะต้องแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติขึ้นให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และโดยที่มีพระราชดำริว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาตินั้น ควรจะประกอบด้วยบุคคลผู้เป็นตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์ อาชีพ วิชาความรู้ ตลอดจนทรรศนะและแนวความคิดทางการเมืองให้มาก และกว้างขวางที่สุด

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งสมัชชาแห่งชาติขึ้น ประกอบด้วยบุคคลผู้มีรายนามท้ายประกาศพระบรมราชโองการนี้ และให้สมัชชาแห่งชาติประชุมกันเลือกบุคคลที่เหมาะสม จากสมาชิกสมัชชาแห่งชาติขึ้นจำนวนหนึ่งแล้วนำรายชื่อขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งบุคคลเหล่านั้นเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

ประกาศมา ณ วันที่ ๑๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๖ เป็นปีที่ ๒๘ ในรัชกาลปัจจุบัน

ผู้รับสนองพระบรมบรมราชโองการ
สัญญา ธรรมศักดิ์
นายกรัฐมนตรี

ตามด้วยรายชื่อสมาชิกสมัชชาแห่งชาติที่ได้รับแต่งตั้งตามประกาศนี้จำนวน ๒๓๔๖ รายชื่อ(๑)

ดูอย่างผิวเผิน ประกาศฉบับนี้ไม่แตกต่างจากประกาศทางราชการจำนวนมาก คือทำภายใต้พระปรมาภิไธย และมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการตอนท้าย ซึ่งในทางเป็นจริง ตามประเพณีการปกครองของไทยตั้งแต่หลัง ๒๔๗๕ เป็นต้นมา ก็หมายความว่า เป็นการกระทำหรือตัดสินใจของรัฐบาล (โดยรูปธรรมคือคณะรัฐมนตรี) อย่างไรก็ตาม ถ้าอ่านเนื้อความของประกาศอย่างละเอียด จะพบว่า มีบางตอนที่ชวนให้ประหลาดใจได้ เช่น ที่กล่าวว่า “สถานการณ์ปัจจุบัน . . . ยังไม่มั่นคงพอที่จะทรงวางพระราชหฤทัยได้” หรือ “มีพระราชประสงค์ที่จะให้ประชาราษฎร . . .” เป็นต้น ราวกับว่า นี่เป็นประกาศแบบเดียวกับสมัยก่อน ๒๔๗๕ ที่เกิดจากพระราชดำริของกษัตริย์ ไม่ใช่เกิดจากรัฐบาลที่เพียงทำในนามกษัตริย์

ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ตามประเพณีหลัง ๒๔๗๕ ประกาศซึ่งทำในนามกษัตริย์ เนื่องจากเป็นกษัตริย์ภายใต้กฏหมาย โดยเฉพาะคือภายใต้รัฐธรรมนูญ ประกาศนั้นจึงต้องมีการอ้างข้อกฎหมายด้วย (สมัยสมบูรณาสิทธิราชไม่ต้องอ้างเพราะพระราชดำริกษัตริย์คือกฎหมาย) แต่จะเห็นว่าประกาศฉบับนี้ทั้งฉบับ ไม่มีตอนใดเลยที่อ้างว่า “อาศัยอำนาจตาม . . .” หรือ “โดยคำแนะนำและยินยอมของ . . .” แต่กล่าวว่า “จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม . . .” โดยตรงเลย

อย่างไรก็ตาม ในสมัยนั้น (ธันวาคม ๒๕๑๖) ความประหลาดของเนื้อความของประกาศดังกล่าว ไม่ได้ถูกตั้งเป็นข้อสังเกตโดยทั่วไป มีการพูดถึงความประหลาดของการแต่งตั้งสมัชชาแห่งชาตินี้ในแง่ของรัฐบาลอยู่บ้าง – คือตีความว่านี่เป็นเรื่องของรัฐบาล – ดังจะได้เห็นต่อไป แต่ไม่มีใครพูดถึงความประหลาดในส่วนที่พาดพิงถึงพระมหากษัตริย์นี้ ในความเป็นจริง การแต่งตั้งสมัชชาแห่งชาติปี ๒๕๑๖ เป็นเหตุการณ์สำคัญอย่างยิ่งครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของระบอบการเมืองไทยหลัง ๒๔๗๕ โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับสถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในระบอบการเมืองนั้น


การเปลี่ยนรัฐบาลเมื่อ ๑๔ ตุลา: ปัญหาในแง่กฎหมาย
หลังการปะทะระหว่างนักศึกษาประชาชนกับทหารตำรวจบนท้องถนนในหลายจุดของกรุงเทพในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ในตอนค่ำวันนั้น ก็มีประกาศว่าจอมพลถนอม กิตติขจร ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมีการตั้งสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นแทน ดังนี้

ประกาศ
แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี
ภูมิพลอดุลยเดช ปร.

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี ตามประกาศลงวันที่ ๑๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕ แล้วนั้น

บัดนี้ จอมพล ถนอม กิตติขจร ได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ และทรงพระราชดำริว่า นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นผู้ที่สมควรไว้วางพระราชหฤทัยที่จะให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๔ แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๑๕ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีบริหารราชการแผ่นดินตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ ๑๔ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๖ เป็นปีที่ ๒๘ ในรัชกาลปัจจุบัน

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ทวี แรงขำ
รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(๒)

ขณะเกิตเหตุการณ์ ๑๔ ตุลานั้น รัฐธรรมนูญปี ๒๕๑๕ (ที่เรียกว่า “ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร”) ซึ่งออกโดยคณะรัฐประหาร ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ยังใช้บังคับอยู่ มาตรา ๑๔ ของรัฐธรรมนูญฉบับนั้นระบุว่า “พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง และรัฐมนตรีตามที่นายกรัฐมนตรีถวายคำแนะนำ และมีจำนวนตามสมควรประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน” ขณะที่มาตรา ๑๘ วรรคสอง ระบุว่า “การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ให้ประธานสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ”

การลาออกของถนอม และการแต่งตั้งสัญญา เป็นนายกแทน เป็นไปตามรัฐธรรมนูญเพียงใด? เนื่องจากรัฐธรรมนูญ ๒๕๑๕ เขียนโดยคณะรัฐประหารในลักษณะที่ให้เป็นการ “ชั่วคราว” คือมีระบุให้คณะรัฐมนตรีเสนอร่างรัฐธรรมนูญใหม่แก่สภานิติบัญญัติ ดังนั้นจึงไม่มีบทกำหนดเกี่ยวกับการพ้นตำแหน่งของตัวนายกรัฐมนตรี (ซึ่งเท่ากับไม่มีกำหนดเกี่ยวกับการเปลี่ยนรัฐบาล) พูดง่ายๆคือ คาดหวังว่าคนที่เป็นอยู่ (ถนอม) จะอยู่ไปจนมีรัฐธรรมนูญใหม่ มีแต่บทกำหนดเกี่ยวกับการพ้นตำแหน่งของรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล (มาตรา ๑๔ วรรคสอง “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งตามที่นายกรัฐมนตรีถวายคำแนะนำให้”)

การลาออกของถนอมในวันที่ ๑๔ ตุลาจึงไม่ใช่สิ่งที่รัฐธรรมนูญ ๒๕๑๕ คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม ไม่อาจกล่าวว่าเป็นสิ่งที่ “ผิด” รัฐธรรมนูญแต่อย่างใด ดังนั้น การที่ทรงแต่งตั้งสัญญาเป็นแทน ก็สามารถกล่าวได้ว่า เป็นไปตามมาตรา ๑๔ จริง (รัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุว่า ต้องทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของสภาหรือของใคร แม้ว่าการระบุให้ประธานสภาเป็นผู้รับสนองฯ ตามประเพณีควรหมายถึงตามคำแนะนำของสภา แต่เนื่องจากสภาเองเป็นสภาแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร จึงเป็นที่เข้าใจกันโดยปริยายว่า ถึงที่สุดแล้ว คณะรัฐประหารเป็นผู้ “แนะนำ” ให้ทรงแต่งตั้ง เมื่อหัวหน้าคณะรัฐประหารคือถนอม-ประภาสต้องเสียตำแหน่งไป พระราชอำนาจในการจะทรงตั้งนายกรัฐมนตรีโดยไม่ต้องทำตามคำแนะนำของใครตามรัฐธรรมนูญนี้ ที่เคยเป็นเพียงอำนาจในนาม จึงกลายเป็นอำนาจจริงไป) แต่น่าสังเกตว่า การลงนามรับสนองพระบรมราชโองการของทวี แรงขำ น่าจะผิดรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๘ วรรคสอง ที่ระบุให้ประธานสภาเท่านั้นเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ เหตุใดจึงไม่สามารถให้ พลตรีศิริ ศิริโยธิน ประธานสภาเป็นผู้ลงนามได้? ดูเหมือนว่าเขากำลังอยู่ในต่างประเทศ ซึ่งถ้าเป็นสถานการณ์ปรกติ ถนอมแม้จะลาออกย่อมสามารถรักษาการณ์ในตำแหน่งนายกต่อไป จนกว่าศิริจะกลับมาลงนามรับสนองพระบรมราชโองการตั้งสัญญาโดยถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ เห็นได้ชัดว่า ไม่มีพระราชประสงค์จะรอเช่นนั้น(๓)

แน่นอน ในสถานการณ์ตอนนั้น การที่ทรงแต่งตั้งสัญญาเป็นนายก ได้รับการต้อนรับอย่างยินดีจากนักศึกษาประชาชนผู้ร่วมคัดค้านถนอม-ประภาสเป็นส่วนใหญ่ และไม่มีใครสนใจเกี่ยวกับปัญหาเชิงกฎหมายแบบนี้ (รัฐธรรมนูญ ๒๕๑๕ เป็นสิ่งที่พวกเขาไม่ยอมรับตั้งแต่แรกอยู่แล้ว) เรื่องนี้รวมไปถึงกรณีแต่งตั้งสมัชชาแห่งชาติ (และสภานิติบัญญัติใหม่ที่ได้มาจากสมัชชาแห่งชาติ) ที่ผมจะพูดถึงต่อไปด้วย แม้ว่าในกรณีหลังนี้ การ “ผิดรัฐธรรมนูญ” จะมีลักษณะรุนแรง ยิ่งกว่ากรณีแต่งตั้งสัญญา (ที่ให้ทวีลงนาม แทนที่จะเป็นศิริ) การที่ผมยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูด ประเด็นไม่ใช่อยู่ที่ว่าเป็นเรื่องการ “ผิดรัฐธรรมนูญ” คือไม่ใช่ปัญหาในแง่กฎหมาย แม้ว่าผมจะคิดว่าปัญหานี้มีความน่าสนใจอยู่มาก แต่ที่สำคัญคือ ลักษณะ “ซ่อนเร้น” ของการ “ผิดรัฐธรรมนูญ” นั้น หรือถ้าจะพูดอีกอย่างหนึ่งคือ ลักษณะซ่อนเร้นของการ “รัฐประหาร” นั้น เพราะถ้าเรานิยามว่ารัฐประหารหมายถึงการยึดหรือเปลี่ยนอำนาจสูงสุดของรัฐ (รัฐบาลหรือรัฐสภา) ด้วยวิธีการนอกบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในขณะนั้น กรณีสมัชชาแห่งชาติก็เป็นการ “รัฐประหาร” ที่คนไม่รู้ตัว ยิ่งกว่านั้นการ “รัฐประหาร” ครั้งนี้ไม่ใช่การผิดรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในขณะนั้นเท่านั้น (เหมือนการรัฐประหารครั้งอื่นๆก่อนและหลังจากนั้นส่วนใหญ่) แต่เป็นการผิดระบอบการปกครองแบบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญที่การปฏิวัติ ๒๔๗๕ พยายามสร้างขึ้น(๔)


รัฐบาลพระราชทานกับรัฐสภาคณะรัฐประหารแต่งตั้ง
หลังจากคณะทหารของผิน-เผ่าและจอมพล ป. ทำรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ช่วงแรกได้ให้พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพวกนิยมเจ้า (Royalists) จัดตั้งรัฐบาลโดยควง อภัยวงศ์เป็นนายก จนถึงวันที่ ๖ เมษายน ๒๔๙๑ จึงบังคับ (ที่เรียกกันว่า “จี้”) ให้ควงกับพวกลาออก แล้วตั้งรัฐบาลของคณะทหารเองให้จอมพล ป เป็นนายก อย่างไรก็ตาม ในระหว่าง ๕ เดือนนั้น รัฐบาลควงได้ดำเนินการบางอย่างที่เป็นการสร้างอำนาจทางการเมืองของพวกนิยมเจ้า ซึ่งได้กลายเป็นเหมือน “หอกข้างแคร่” ตกทอดให้กับรัฐบาลของคณะทหารที่เข้ามาแทน ได้แก่ แต่งตั้งวุฒิสมาชิก จัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ทำให้ประชาธิปัตย์ได้เสียงข้างมาก) และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งแม้จะประกาศใช้หลังจากรัฐบาลนิยมเจ้าถูก “จี้” ออกไปแล้ว (คือประกาศใช้ในปี ๒๔๙๒) แต่เนื่องจากบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญนั้นกำหนดให้วุฒิสภาและสภาผู้แทนที่เลือกตั้งไปแล้วสมัยรัฐบาลควง อยู่ในตำแหน่งต่อไปจนครบวาระ (๖ และ ๔ ปี) รัฐบาลของจอมพล ป และคณะรัฐประหารที่เข้ามารับตำแหน่งจึงต้องเผชิญกับรัฐสภาที่พวกนิยมเจ้ามีบทบาทนำ รัฐธรรมนูญ ๒๔๙๒ ยังห้ามข้าราชการประจำซึ่งเป็นฐานอำนาจของคณะรัฐประหาร ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย สร้างความลำบากในการครองอำนาจโดยตรงของคณะรัฐประหาร

อาจกล่าวได้ว่า สถานการณ์ทางการเมืองหลัง ๑๔ ตุลา มีส่วนคล้ายกับสถานการณ์หลังปี ๒๔๙๑ แต่สลับกัน คือในหลวงทรงแต่งตั้งสัญญาเป็นนายก จัดตั้ง “รัฐบาลพระราชทาน” ประกอบด้วยผู้ที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยหรือมีความใกล้ชิดกับแวดวงราชสำนัก แต่ขณะเดียวกัน สภานิติบัญญัติซึ่งตั้งขึ้นจากรัฐธรรมนูญปี ๒๕๑๕ ของกลุ่มถนอม-ประภาส ยังคงอยู่ ที่สำคัญ รัฐธรรมนูญ ๒๕๑๕ ไม่มีบทบัญญัติให้ยุบสภาเลย มีเพียงข้อกำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงตั้งสมาชิกสภาได้ทั้งชุดเมื่อครบตามวาระ ๓ ปี หรือเป็นรายบุคคลถ้ามีผู้พ้นสภาพก่อนวาระ(๕) (เราจะกลับมาที่ประเด็นสำคัญนี้อีกครั้งเมื่อพิจารณาถึงข้ออ้างในการตั้ง “สมัชชาแห่งชาติ”)

ความแตกต่างสำคัญระหว่างหลังปี ๒๔๙๑ กับหลัง ๑๔ ตุลาคือ พวกนิยมเจ้าที่มีบทบาทนำในสภาปี ๒๔๙๑ ยังเป็นกลุ่มการเมืองที่เอาการเอางาน แต่ถนอม-ประภาสซึ่งเป็นผู้ตั้งสภาที่ตกทอดมาถึงหลัง ๑๔ ตุลาเป็นกลุ่มที่สูญเสียอำนาจทางการเมือง ผู้นำต้องหนีไปต่างประเทศ และอำนาจนำในกองทัพก็เปลี่ยนไปอยู่ในมือของกลุ่มกฤษณ์ สีวะราแล้ว (สมาชิกสภาของถนอม-ประภาสส่วนใหญ่เป็นทหารที่ยังต้องขึ้นกับระบบบังคับบัญชา) กล่าวได้ว่าแม้เป็นสภาที่กลุ่มถนอม-ประภาสตั้งไว้ ก็ไม่ได้มีท่าทีจะเป็น “หอกข้างแคร่” ให้กับ “รัฐบาลพระราชทาน” แต่อย่างใด

ในความเป็นจริง ตลอดระยะ ๑ เดือนเต็มๆหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาเกือบไม่มีใครพูดถึงสภานี้ เพราะทุกคนคาดว่ารัฐบาลสัญญาจะเร่งร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้เสร็จและเสนอให้สภารับรองบังคับใช้โดยเร็ว จะได้มีการเลือกตั้งสภาใหม่ตามรัฐธรรมนูญใหม่ ในระยะดังกล่าวสภาก็ประชุมกันไปเช่นเคย ทั้งยังได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติที่รัฐบาลสัญญาเสนอเช่น พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนักเรียนนักศึกษาในเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา โดยไม่มีปัญหาอะไร (ผมพูดเช่นนี้ ไม่ใช่ต้องการบอกว่าสภานี้ดี แต่ต้องการชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงเท่านั้น)


การสร้างกระแสล้มสภา
แต่แล้วในวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๑๖ หนังสือพิมพ์ประชาธิปไตยได้รายงานข่าวในหน้า ๑ (ไม่ใช่ข่าวใหญ่สุด) ว่ามี “ชมรมบัณฑิต” ทำจดหมายเปิดผนึกถึงสมาชิกสภานิติบัญญัติผ่านประชาธิปไตย ขอให้พิจารณาตัวเองลาออกจากตำแหน่ง โดยให้เหตุผล ๔ ข้อ คือ

(๑) เท่าที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติไม่เคยมีทีท่าว่าสามารถปฏิบัติงานเพื่อชาติและประชาชนอย่างแท้จริง เพราะมีสมาชิกกลุ่มใหญ่ยืนอยู่ข้างฝ่ายทรราชย์อย่างแข็งขัน

(๒) เมื่อผู้แต่งตั้งสมาชิกสภาฯเป็นบุคคลที่ประชาชนไม่พึงปรารถนา จึงเป็นเหตุให้ประชาชนไม่ไว้วางใจ แม้ว่าสมาชิกบางคนอาจเป็นคนดี แต่เมื่อทำงานเป็นกลุ่มก็พลอยทำให้ประชาชนมีความข้องใจอยู่ตลอดไป

(๓) เพื่อแสดงว่าเป็นผู้สำนึกในมารยาทของนักการเมืองที่มีอุดมการเพื่อประชาธิปไตย และรับผิดชอบต่อการกระทำที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานที่เคยทำประโยชน์ให้บุคคลที่ประชาชนไม่พึงปรารถนา จึงควรพร้อมใจกันลาออก เพื่อเปิดโอกาสให้รัฐบาลชุดนี้ แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดใหม่ ผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนย่อมจะได้รับเลือกเข้ามาอีก

(๔) ในสายตาของประชาชน สมาชิกสภานิติบัญญัติเป็นหุ่นให้กลุ่มผู้เป็นศัตรูของประชาชนอยู่ตลอดเวลา แม้บุคคลเหล่านั้นออกจากเมืองไทยไปแล้ว แต่ก็ยากที่จะประชาชนจะเชื่อถือได้(๖)

ไม่มีหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นรายงานเรื่องนี้ ในความเป็นจริง นี่คงเป็นเพียง “จดหมายจากผู้อ่าน” ของใครบางคนเพียงคนเดียวถึงหนังสือพิมพ์ฉบับเดียว ซึ่งเป็นเรื่องปรกติ ที่น่าประหลาดคือการที่ประชาธิปไตยเลือกทำ “จดหมายจากผู้อ่าน” ฉบับเดียวนี้ให้เป็นข่าว โดยที่เจ้าของจดหมายนั้น ผู้ใช้ชื่อว่า “ชมรมบัณฑิต” คือใครก็ไม่มีการอธิบายหรือระบุตัวตนเลยทั้งในรายงานข่าวครั้งแรกนี้หรือครั้งต่อๆมา (ในรายงานครั้งแรก ประชาธิปไตยขึ้นต้นในลักษณะบอกสถานที่เกิดข่าวว่า “ธรรมศาสตร์ – ๒๔ พฤศจิกายน / กรรมการชมรมบัณฑิต . . .” แต่คำว่า “ธรรมศาสตร์” ในที่นี้ คงจะเป็นเพียง “ที่อยู่” ที่ผู้เขียนจดหมายเปิดผนึกดังกล่าวใส่ไว้เท่านั้น (วันที่คือวันที่ขึ้นต้นจดหมาย) จนถึงทุกวันนี้ผมก็ยังหาข้อมูลไม่ได้ว่า “ชมรม” ดังกล่าวคือใคร

วันต่อมา ไม่มีหนังสือพิมพ์ฉบับใดหยิบ “ข่าว” นี้มารายงาน แต่ประชาธิปไตยติดตามเรื่องด้วยการไปสัมภาษณ์ มารุต บุนนาค ซึ่งเป็นนายกสมาคมทนายความและ ๑ ในสมาชิกสภานิติบัญญัติชุดที่กำลังอยู่ในตำแหน่งด้วย มารุตกล่าวว่าจะทำหนังสือถึงประธานสภาขอให้มีการเรียกประชุมสมาชิกสภาเป็นกรณีพิเศษเพื่อพิจารณาข้อเรียกร้องของ “ชมรมบัณฑิต” เขากล่าวว่า “ถ้าจะมีการลาออกก็จะต้องลาออกกันทั้งหมด แล้วให้รัฐบาลชุดปัจจุบันแต่งตั้งของตนขึ้นใหม่ ถ้าลาออกเพียงคนหรือสองคนก็ไม่มีประโยชน์” เพื่อสนับสนุนเรื่องนี้เขาเองจะหยุดรับเงินเดือนสมาชิกสภา ประชาธิปไตยยังได้สัมภาษณ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งกล่าวว่า “ไม่มีความเห็น ถ้าประธานสภาจะนำเรื่องนี้เข้าประชุมพิจารณา ก็จะไม่ออกความเห็น”(๗) ในวันนั้น (๒๖) มารุตได้ทำหนังสือถึงประธานสภาตามที่พูดจริงๆ ครั้งนี้หนังสือพิมพ์ทุกฉบับรายงานข่าว(๘)

เมื่อถึงวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ซึ่งจะมีการประชุมสภาประจำสัปดาห์ตามปรกติ ประชาธิปไตยฉบับเช้าวันนั้นได้รายงานจากแหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยว่า สมาชิกสภาส่วนใหญ่ได้มีการประชุมตกลงกันแล้วว่าจะลาออก และจะลงมติเช่นนั้นในการประชุมปรึกษาเรื่องนี้ในบ่ายวันนั้น(๙) แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ตรงกับการรายงานล่วงหน้านี้ กล่าวคือหลังการประชุมตามวาระปรกติแล้ว


พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช พระมหากษัตริย์มีอำนาจตัดสินใจทำอะไรเกี่ยวกับการเมืองการปกครองได้เอง เพราะทรงเป็นรัฐและกฎหมายเอง การยึดอำนาจเมื่อ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ มีจุดมุ่งหมายที่จะดึงเอาอำนาจดังกล่าวมาไว้กับรัฐบาลที่ ในทางทฤษฎี มาจากประชาชน พระมหากษัตริย์ซึ่งผู้ก่อการตกลงให้มีอยู่ต่อไป จึงทรงเหลือเพียง (ในทางทฤษฎีเช่นกัน) บทบาทให้คำปรึกษาและทักท้วงรัฐบาลอย่างจำกัด ไม่ทรงทำอะไรได้ด้วยพระองค์เองอีกต่อไป กลไกสำคัญในเรื่องนี้อย่างหนึ่งคือการ “รับสนองพระบรมราชโองการ” ซึ่งเป็นเครื่องบอกว่า ไม่ได้ทรงทำเอง แต่เป็นการกระทำของรัฐบาลหรือรัฐสภา เพียงแต่ทำในนามพระมหากษัตริย์เท่านั้น (หรือพูดในทางกลับกันคือเป็นการกระทำของพระมหากษัตริย์เพียงในนามเท่านั้น) หรือในกรณีที่เป็นเรื่องซึ่งทรงริเริ่มทำ ก็เป็นสิ่งที่รัฐบาล (ของประชาชน) รับรองอนุญาตให้ทำได้ นี่คือความหมายทางหลักการแท้จริงดั้งเดิมของการ “รับสนองพระรบรมราชโองการ” ดังที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญปฏิวัติฉบับแรก (๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕) ว่า

(ยังไม่เสร็จ)

กรณี หยุด แสงอุทัย ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ๒๔๙๙



คืนวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๙ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ ได้ออกอากาศคำบรรยายของ ดร.หยุด แสงอุทัย เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาในขณะนั้น เรื่อง “อำนาจและความรับผิดชอบในระบอบประชาธิปไตย” ๓ วันต่อมา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนหนึ่งได้ยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมตำรวจกล่าวหาว่า ข้อความบางตอนในคำบรรยายนั้นมีลักษณะหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ขอให้ดำเนินการกับหยุด วันต่อๆมา บทนำและคอลัมภ์ประจำในหนังสือพิมพ์บางฉบับได้เข้าร่วมการประณามหยุดและจอมพล ป. นายกรัฐมนตรีที่ออกมาแสดงท่าทีปกป้องหยุด วิวาทะสาธารณะครั้งนี้ดำเนินต่อเนื่องกันประมาณ ๒ สัปดาห์ ก็เงียบหายไปหลังจากตำรวจออกมายืนยันว่าการกระทำของหยุดไม่เข้าข่ายผิดกฎหมาย

ผมเห็นว่า กรณีหยุด แสงอุทัย ถูกกล่าวว่าว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตอนต้นปี ๒๔๙๙ นี้ ไม่เพียงแต่น่าสนใจในตัวเองเท่านั้น ยังมีความสำคัญในแง่ที่เป็น “หลักบอก” (milestone) วิวัฒนาการของระบอบการเมืองหลัง ๒๔๗๕ ที่เรียกกันว่า “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ในประเด็นเกี่ยวกับสถานะและบทบาทของพระมหากษัตริย์ในระบอบนี้ กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ๒๔ ปีหลังการปฏิวัติ ๒๔ มิถุนา หลักการพื้นฐานของการปฏิวัติในประเด็นนี้ (พระมหากษัตริย์ทรงทำอะไรแต่โดยความเห็นชอบของรัฐบาลหรือรัฐสภาเท่านั้น) ได้อ่อนกำลังลง จนนักเขียนจำนวนไม่น้อยสามารถนำเสนอสิ่งที่ตรงข้ามกับหลักการนั้นต่อสาธารณะในลักษณะราวกับว่าสิ่งที่เสนอนั้นเป็นบรรทัดฐานเสียเอง ขณะเดียวกัน ถ้าเปรียบเทียบกับประวัติศาสตร์ที่จะตามมาและกับปัจจุบัน กรณีดังกล่าวสะท้อนว่าขณะนั้นประเด็นสถานะและบทบาทของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย ยังเป็นสิ่งซึ่งสามารถจะอภิปรายและถกเถียงในที่สาธารณะอย่างตรงไปตรงมาได้บ้าง ยังไม่ใช่ “สิ่งต้องห้าม” และหลักการพื้นฐานที่เกิดจากการปฏิวัติ ๒๔๗๕ แม้จะอยู่ในสภาพอ่อนแรงแต่ก็ยังไม่ถึงกับถูกยกเลิกไปในบางพื้นที่สำคัญ พูดอีกอย่างหนึ่งคือ ในกระแสของเวลาทางประวัติศาสตร์ กรณีหยุดถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในปี ๒๔๙๙ เป็นเสมือน “จุดกึ่งกลาง” ระหว่าง ๒๔๗๕ กับเรา(๑)

จุดเริ่มต้น: พระราชดำรัสวันกองทัพบก ๒๕ มกราคม ๒๔๙๙
จุดเริ่มต้นของกรณีหยุดถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาจากเหตุการณ์ก่อนหน้านั้น ๒ สัปดาห์ คือในวันที่ ๒๕ มกราคม ซึ่งเป็นวันกองทัพบก (วันกองทัพไทยปัจจุบัน) ในหลวงได้พระราชทานพระราชดำรัสเนื่องในโอกาสดังกล่าว ซึ่งได้รับการอ่านออกอากาศทางสถานีวิทยุ มีข้อความทั้งหมด ดังนี้
ทหารทั้งหลาย

วันนี้เป็นวันกองทัพบก ซึ่งได้เวียนรอบมาครบหนึ่งปีอีกครั้งหนึ่ง ท่านทั้งหลายจึงได้ร่วมกันกระทำพิธีที่ระลึกเป็นอนุสรณ์แห่งความสามัคคี ในโอกาสอันสำคัญยิ่งนี้ ก็เป็นประเพณีและเป็นธรรมดาอยู่เองที่ท่านจะพิจารณาถึงกิจการที่ได้กระทำมาในขวบปีที่สิ้นสุดลง และกิจการที่ต้องดำเนินไปในภายหน้า การพิจารณาดังกล่าวนี้ย่อมต้องอาศัยหลักปฏิบัติและหลักการของพลรบ ผู้บังคับบัญชาของทหารย่อมทราบดีถึงหลักการและหลักปฏิบัติของทหาร ฉะนั้นในที่นี้ข้าพเจ้าเพียงแต่จะขอย้ำหลักการและหลักปฏิบัติใหญ่ๆที่ทหารหรือกำลังรบใดๆจะต้องยึดถือในการปฏิบัติตามหน้าที่ของตน หลักสำคัญอันแรกที่ทหารทุกคนต้องระลึกถึงอยู่เสมอ คือความหมายและหน้าที่ของทหาร ประเทศเราเป็นประเทศที่รักความสงบ ไม่ชอบการรุกราน แม้กระนั้นก็ดี การมีกำลังรบย่อมเป็นสิ่งจำเป็น ทั้งนี้เพื่อรักษาความสงบ ไม่ชอบการรุกราน แม้กระนั้นก็ดี การมีกำลังรบย่อมเป็นสิ่งจำเป็น ทั้งนี้เพื่อรักษาความสงบ และอิสรภาพของประเทศ เมื่อทหารมีไว้สำหรับประเทศชาติ ทหารต้องเป็นของประเทศชาติ หาใช่เป็นของบุคคลหรือคณะบุคคลใดๆโดยเฉพาะไม่ เมื่อทหารเป็นหน่วยสำคัญสำหรับรักษาความสงบและอิสรภาพของประเทศ ทหารจึงต้องมีความเข้มแข็งและมีสมรรถภาพเป็นอย่างดี สมรรถภาพของทหารอยู่ที่วินัย ต้องเชื่อฟังคำสั่งโดยชอบของผู้บังคับบัญชา ผู้บังคับบัญชามีหน้าที่ต้องปกครองทหารในทางที่ชอบควร โดยระลึกถึงความเที่ยงธรรมและหน้าที่อันมีเกียรติของทหาร ทั้งนี้เพราะทหารได้รับเกียรติและเอกสิทธิ์เป็นผู้กุมอาวุธ และกำลังรบของประเทศ เป็นที่เคารพและเกรงขามในหมู่ชนทั่วไป ทหารจึงต้องปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับที่ตนได้รับความไว้วางใจ ไม่ควรไปทำหรือเกี่ยวข้องในกิจการที่ไม่อยู่ในหน้าที่โดยเฉพาะของตน เช่นไปเล่นการเมืองดังนี้เป็นต้น การกระทำเช่นนั้นจะทำให้บุคคลเสื่อมความเชื่อถือในทหารโดยเข้าใจว่าเอาอิทธิพลไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว เวลานี้สถานการณ์ทั่วโลกยังไม่อยู่ในระดับปกติ ความจำเป็นและความสำคัญของทหารย่อมมีมากขึ้น ทหารจึงควรรักษาวินัยโดยเคร่งครัด ประพฤติตนให้เที่ยงธรรม ปฏิบัติหน้าที่ให้อยู่ภายในขอบเขตของตนโดยเฉพาะ เพื่อเป็นที่พึ่งที่เคารพของประชาชนโดยทั่วไป

ที่ข้าพเจ้าได้ย้ำหลักสำคัญดังกล่าวแล้ว ก็เพื่อท่านทั้งหลายจะได้นำไปประกอบการพิจารณาของท่านถึงผลปฏิบัติที่ได้รับในขวบปีที่แล้วมา และถึงการปฏิบัติหน้าที่ของท่านในกาลต่อไป ในที่สุดนี้ ข้าพเจ้าขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย จงดลบรรดาลให้ทหารทั้งหลายประสบแต่ความสุขความเจริญ ปฏิบัติหน้าที่ของตนให้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมเหมาะสมกับเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้รักษาความสงบและอิสรภาพของประเทศชาติอันเป็นที่รักของเรา.(๒)
หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งรายงานว่า พระราชดำรัสนี้ “ได้ก่อให้เกิดความสนใจและวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง”(๓) โดยเฉพาะข้อความที่ว่า “ทหารจึงต้องปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับที่ตนได้รับความไว้วางใจ ไม่ควรไปทำหรือเกี่ยวข้องในกิจการที่ไม่อยู่ในหน้าที่โดยเฉพาะของตน เช่นไปเล่นการเมืองดังนี้เป็นต้น การกระทำเช่นนั้นจะทำให้บุคคลเสื่อมความเชื่อถือในทหารโดยเข้าใจว่าเอาอิทธิพลไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว” ซึ่งมองกันว่าเป็นการวิจารณ์รัฐบาลที่มีกำเนิดมาจากคณะรัฐประหาร ๒๔๙๐ โดยตรง

จอมพล ป.ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ในวันต่อมาว่า ปัญหาทหารควรเล่นการเมืองหรือไม่นั้นมองได้ ๒ แง่ “ถ้าหากทหารเกี่ยวข้องกับการเมืองโดยปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายเช่นเป็น ส.ส.ประเภท ๒ โดยพระบรมบราชโองการแต่งตั้ง ที่รัฐบาลรับรอง ก็ควรถือว่าเป็นการสมควร แต่ถ้าการกุมอำนาจใช้กำลังโค่นล้มรัฐบาล ก็ต้องถือว่าผิดกฎหมาย” เห็นได้ชัดว่าเหตุผลของจอมพลอ่อน (ทหารเล่นการเมืองได้ รัฐธรรมนูญอนุญาต) เพราะประเด็นที่ทรงวิจารณ์นั้น ตั้งพระทัยให้คลุมถึงกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญที่อนุญาตให้ทหารเล่นการเมือง ซึ่งคณะรัฐประหารเป็นผู้ประกาศใช้เองนั้น อย่างไม่ต้องสงสัย ขณะเดียวกัน น่าสังเกตว่า ตามรายงานหนังสือพิมพ์ สฤษดิ์ซึ่งเริ่มแสดงท่าทีออกห่างจากรัฐบาลที่มีจอมพลและเผ่าเป็นแกนนำ และผู้ซึ่งประมาณ ๑ ปีหลังจากนั้น จะเข้ายึดอำนาจและครอบครองต่อไปอีก ๖ ปีโดยได้รับการสนับสนุนจากราชสำนัก ได้ “ขอสงวนไม่ยอมวิจารณ์พระกระแสร์รับสั่ง แต่ได้แสดงความรู้สึกส่วนตัวภายหลังได้อ่านพระกระแสร์รับสั่งแล้วว่าไม่เกิดความรู้สึกอะไรเลย เพราะว่าผมก็อยากจะเลิกการเมืองอยู่แล้วเหมือนกัน ที่ยังเกี่ยวข้องอยู่ในขณะนี้ก็เพราะเลิกไม่ได้ต่างหาก” โดยไม่ตั้งใจ พาดหัวของหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าว ให้ภาพความสัมพันธ์และความขัดแย้งระหว่าง ๓ กลุ่ม (ราชสำนัก–พิบูล–สฤษดิ์) ได้เป็นอย่างดี:
[ในหลวง] เตือนทัพบก ‘ทหารที่ดีต้องไม่ยุ่งการเมือง’
สฤษดิ์ไม่ยอมวิจารณ์ – จอมพลว่า ‘ไม่ผิดกฎหมาย’
ควรกล่าวด้วยว่า ประเด็นที่ทรงวิจารณ์ในพระราชดำรัส – ทหารไม่ควรยุ่งการเมือง – เป็นประเด็นที่มีความเป็นมายาวนาน คือนับตั้งแต่ที่พระยามโนผู้ใกล้ชิดราชสำนักถูกผู้ก่อการ (ส่วนใหญ่คือทหาร) ยึดอำนาจคืนเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๔๗๖ เป็นต้นมา ราชสำนักและกลุ่มการเมืองนิยมเจ้าทั้งหลายได้ชูประเด็นนี้เป็นคำขวัญหรือข้อเรียกร้องทางการเมืองสำคัญของกลุ่มตน บางครั้งออกมาในลักษณะที่กว้างออกไป คือเรียกร้องไม่เพียงแต่ทหาร แต่ข้าราชประจำทั้งหมดไม่มีตำแหน่งการเมือง (เป็น ๑ ใน “คำขาด” ๖ ข้อของกบฏบวรเดช) ในต้นทศวรรษ ๒๔๙๐ เมื่อพวกนิยมเจ้าสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เป็นเวลาสั้นๆ (รัฐบาลควงระหว่างต้นพฤศจิกายน ๒๔๙๐–ต้นเมษายน ๒๔๙๑) ได้ผลักดันให้ประเด็นนี้ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๔๙๒ ซึ่งถูกคณะรัฐประหารของพิบูล–เผ่าเลิกไปในปี ๒๔๙๕ แล้วเอารัฐธรรมนูญ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ ที่ไม่ห้ามเรื่องนี้ ทั้งยังกำหนดให้มี ส.ส.ประเภท ๒ ที่รัฐบาลแต่งตั้งครึ่งหนึ่งของสภา มาใช้แทน ทำให้รัฐบาลสามารถมีทั้งรัฐมนตรีและ ส.ส.ประเภท ๒ ของตนที่เป็นทหารและข้าราชการประจำเป็นส่วนใหญ่ เมื่อใกล้จะถึงวาระการเลือกตั้งใหม่ในปี ๒๕๐๐ คือในช่วงเดียวกับที่ทรงมีพระราชดำรัสวันกองทัพบก ก็เริ่มมีเสียงเรียกร้องให้เลิกส.ส.ประเภท ๒ หรือให้เลิกการที่ทหารและข้าราชการประจำมีตำแหน่งการเมือง

ข้อที่ควรย้ำในที่นี้คือ คำขวัญหรือข้อเรียกร้องทางการเมืองของกลุ่มนิยมเจ้าประเภทนี้ไม่เกี่ยวกับหลักการประชาธิปไตย (อย่างที่ปัญญาชนรุ่นที่ปรากฏตัวในช่วงต้นทศวรรษ ๒๕๑๐ เข้าใจ) คือ ไม่ใช่เรียกร้องให้ทหารเลิกเล่นการเมืองเพราะเห็นว่าไม่เป็นประชาธิปไตย แต่เพราะว่าทหารที่เล่นการเมืองเหล่านั้นเป็นฐานให้กับรัฐบาลที่ไม่เป็นมิตรกับราชสำนักและพวกนิยมเจ้า พูดง่ายๆคือ เป็นการต่อสู้เพื่ออำนาจการเมืองของพวกนิยมเจ้าเอง (ด้วยการบั่นทอนฐานอำนาจของคู่แข่ง) จะเห็นว่าไม่กี่ปีต่อมา เมื่อสฤษดิ์ยึดอำนาจและใช้นโยบายฟื้นฟูสถานะของสถาบันกษัตริย์อย่างรอบด้าน ก็ไม่มีเสียงเรียกร้องแบบนี้จากราชสำนักและพวกนิยมเจ้า (ในกรณี ส.ส.ประเภท ๒ ขณะนั้นพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นพวกนิยมเจ้าเสนอให้เลิก แต่ให้มีสภาสูงแทนแบบรัฐธรรมนูญ ๒๔๙๒ โดยที่สมาชิกสภาสูงนั้นไม่ใช่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่ให้ “มอบอำนาจในการเลือกตั้งสมาชิกสภาสูงให้แก่พระมหากษัตริย์โดยเด็ดขาด โดยไม่ต้องมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้เลือกเสนอให้ทรงแต่งตั้ง”)(๔)

พระมหากษัตริย์หลัง ๒๔๗๕: หลักการพื้นฐานและการปฏิบัติ

(ยังไม่เสร็จ)

ความเป็นมาของคำว่า “นาถ” ใน “พระบรมราชินีนาถ”(*)



เราทุกคนได้เรียนรู้หรือถูกบอกเล่าสั่งสอนตั้งแต่เด็กๆว่า การที่พระราชินีทรงมีพระอภิไธยว่า “สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ” คือมีคำว่า “นาถ” ต่อท้าย (แปลว่าที่พึ่ง ผู้เป็นที่พึ่งพิง) ก็เพราะทรงเคยเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ใครที่รู้ประวัติศาสตร์หรือสนใจเรื่องประเภทนี้มากหน่อยก็อาจจะรู้เพิ่มเติมว่า ช่วงที่ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ คือช่วงที่ในหลวงทรงผนวชในปี ๒๔๙๙ เมื่อเร็วๆนี้ ผมได้อ่านพบเอกสารจำนวนหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งคิดว่าน่าสนใจพอจะเล่าสู่กันฟัง

เรื่องนี้ต้องเริ่มต้นจากการที่ในหลวงทรงแสดงพระราชประสงค์จะทรงผนวช (ซึ่งทำให้ต้องมีการตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์) ทรงแจ้งพระราชประสงค์ดังกล่าวแก่จอมพล ป พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ในระหว่างที่จอมพลเข้าเฝ้าเมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๔๙๙ ซึ่งบังเอิญเป็นวันที่มีการประชุมคณะรัฐมนตรี อันที่จริง ด้วยเหตุผลบางอย่าง จอมพลไปเข้าเฝ้ากลางการประชุม ครม.แล้วจึงกลับมาประชุมต่อ (ไม่ทราบว่าเพราะถูกเรียกกระทันหัน?) ตามบันทึกการประชุมของวันนั้น ดังนี้

วันนี้ (๑๒ ก.ย. ๙๙) มีการประชุมคณะรัฐมนตรีตามปกติ ณ ทำเนียบรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เริ่มประชุมเวลา ๙.๕๐ น.

อนึ่ง เมื่อเวลา ๑๐.๕๐ น. ท่านนายกรัฐมนตรีได้ไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท โดยมอบให้จอมพล ผิน ชุณหะวัณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร เป็นประธานแทน ครั้นถึงเวลา ๑๒.๔๐ น.ท่านนายกรัฐมนตรีได้กลับจากการไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทมาเป็นประธาน ในการประชุมต่อไป

คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเรื่องดั่งต่อไปนี้ จนถึงเวลา ๑๓.๕๐ น. จึงเลิกการประชุม.
………

๓๕. เรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงผนวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา

(นายกรัฐมนตรีเสนอว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสร์พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้แจ้งแก่คณะรัฐมนตรีว่า ในราวเดือนตุลาคมปีนี้ มีพระราชประสงค์จะทรงผนวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาตามราชประเพณี และมีพระราชประสงค์จะทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในระหว่างที่ทรงผนวช และโดยที่ขณะนี้พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ได้ดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรีอยู่แล้ว จึงเป็นผู้ที่เหมาะสมที่จะทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ด้วยประการทั้งปวง กับโปรดเกล้าฯมอบให้รัฐบาลจัดพระราชพิธีถวายด้วย

คณะรัฐมนตรีได้รับทราบเกล้าฯ ด้วยความชื่นชมที่จะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทรงผนวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยมอบหมายให้คณะรัฐมนตรีสนองราชภารกิจถวายในครั้งนี้)

มติ – เห็นชอบด้วยในการที่จะแต่งตั้งให้ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ประธานองคมนตรี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในระหว่างที่ทรงผนวชคราวนี้ โดยขอรับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

ส่วนการพระราชพิธีทรงผนวชนั้น มอบให้กระทรวงวัฒนธรรมเป็นเจ้าของเรื่อง ด้วยความร่วมมือจากสำนักพระราชวัง แต่งตั้งคณะกรรมการวางโครงการและจัดงานต่อไป ทั้งนี้ ถวายให้พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ทรงเป็นประธาน.(๑)

วันต่อมา จอมพล ป. ก็มีหนังสือถืงสภาผู้แทนราษฎรขอให้อนุมัติการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งต้องนับว่าเป็นการดำเนินการอย่างรวดเร็ว เพราะในหลวงยังไม่ทรงกำหนดวันผนวช
ที่พิเศษ ๑/๒๔๙๙

สภาผู้แทนราษฎร
๑๓ กันยายน ๒๔๙๙

เรื่อง ญัตติขอให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
กราบเรียน ประธานสภาผู้แทนราษฎร

ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราชกระแสมายังรัฐบาลว่า มีพระราชประสงค์จะทรงผนวช ในเดือนตุลาคม ศกนี้ และจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากรเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามความในมาตรา ๑๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ฉะนั้น จึงเสนอมาเพื่อสภาผู้แทนราษฎร จะได้พิจารณาให้ความเห็นชอบตามรัฐธรรมนูญต่อไป และขอให้พิจารณาเป็นการลับ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

จอมพล ป. พิบูลสงคราม
(ป. พิบูลสงคราม)
นายกรัฐมนตรี(๒)

ในแฟ้มเอกสารที่ผมอ่านพบจดหมายฉบับนี้ มีร่างจดหมายที่ไม่ใช้อีก ๒ ร่าง และมีบันทึกของกรมสารบรรณคณะรัฐมนตรีลงวันที่ ๑๒ กันยายน (วันเดียวกับที่ครม.ได้รับทราบพระราชประสงค์) ระบุว่าได้ร่างจดหมายเสร็จแล้ว ร่าง ๒ ฉบับที่ไม่ใช้ มีข้อความไม่ต่างจากจดหมายที่ใช้จริงข้างต้นนัก ยกเว้นแต่มีคำอธิบายขยายความประเภท “โปรดเกล้าฯว่า มีพระราชศรัทธาที่จะทรงผนวชเป็นพระภิกษุในพระบวรพุทธศาสนาตามราชประเพณี” และไม่มีการขอให้สภาประชุมพิจารณาแต่งตั้งผู้สำเร็จเป็นการลับเหมือนในจดหมายจริง

ปรากฏว่า สภาซึ่งประชุมในวันที่ ๑๓ กันยายนนั้นเอง ได้ผ่านมติเห็นชอบเรื่องตั้งกรมหมื่นพิทยลาภเป็นผู้สำเร็จราชการโดยไม่มีการอภิปราย(๓) วันต่อมา จอมพลจึงมีจดหมายกราบบังคมทูล ดังนี้
ที่ ร.ล. ๔๐๓๕/๒๔๙๙

สำนักคณะรัฐมนตรี
๑๔ กันยายน ๒๔๙๙

เรื่อง จะทรงผนวช และแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม

ตามที่พระราชทานพระราชกระแสแก่ข้าพระพุทธเจ้า เรื่องจะทรงผนวชนั้น

ข้าพระพุทธเจ้าได้เชิญพระราชกระแสแจ้งแก่คณะรัฐมนตรีแล้ว คณะรัฐมนตรีมีความชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง ในการที่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทจะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทรงผนวช และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัย มอบหมายพระราชภาระกิจอันสำคัญยิ่งในครั้งนี้ และจะได้สนองพระราชประสงค์ทุกประการ

สำหรับเรื่องการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั้น ข้าพระพุทธเจ้าได้เชิญพระราชกระแสไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎร เสนอสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์แล้ว

ส่วนการจัดพระราชพิธีที่จะทรงผนวชนั้น คณะรัฐมนตรีได้ลงมติมอบให้กระทรวงวัฒนธรรมเป็นเจ้าของเรื่องร่วมกับสำนักพระราชวัง จัดตั้งคณะกรรมการขึ้น พิจารณาวางโครงการและจัดงาน โดยเชิญ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากรทรงเป็นประธาน

ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสกราบบังคมทูลพระกรุณา มาเพื่อทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท

การจะควรประการใด สุดแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ขอเดชะ

ข้าพระพุทธเจ้า จอมพล ป. พิบูลสงคราม
(ป. พิบูลสงคราม)
นายกรัฐมนตรี

มีหลักฐาน (ดูพระราชหัตถเลขาที่อ้างข้างล่าง) ว่า จอมพล ป.ได้เข้าเฝ้าเพื่อปรึกษาหารือเรื่องจะทรงผนวช-ตั้งผู้สำเร็จราชการในวันเดียวกับที่มีจดหมายกราบบังคมทูลนี้ด้วย (๑๔ กันยายน) แต่ดูเหมือนไม่ได้ทรงมีพระราชประสงค์เพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับเรื่องนี้ (วันผนวช, ผู้จะทรงตั้งเป็นผู้สำเร็จ) แต่ ๓ วันต่อมา คือในวันที่ ๑๗ กันยายน จอมพล ป.ได้เข้าเฝ้าอีก (ไประหว่างการประชุมครม.) ครั้งนี้ ทรงกำหนดเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ ดังปรากฏในบันทึกการประชุม ครม.วันนั้น ดังนี้
วันนี้ (๑๗ กันยายน ๒๔๙๙) มีการประชุมคณะรัฐมนตรีตามปกติ ณ ทำเนียบรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เริ่มประชุมเวลา ๑๐.๓๐ น.

อนึ่ง เมื่อเวลา ๑๐.๕๕ น. ท่านนายกรัฐมนตรีได้ไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท โดยมอบให้ จอมพล ผิน ชุณหะวัณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร เป็นประธานแทน ครั้นถึงเวลา ๑๑.๓๕ น. ท่านนายกรัฐมนตรีได้กลับจากการไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท มาเป็นประธานในการประชุมต่อไป

คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเรื่องดั่งต่อไปนี้ จนถึงเวลา ๑๓.๔๐ น. จึงเลิกการประชุม

.........

๑๗. เรื่อง ๑) การทรงผนวชของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (ท่านนายกรัฐมนตรีเสนอว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯพระราชทานพระราชกระแสว่า

๑. ได้กำหนดจะทรงผนวชในวันที่ ๒๒ ตุลาคม และทรงลาผนวชในวันที่ ๕ พฤศจิกายน ศกนี้ ส่วนพิธีฤกษ์มิได้ทรงกำหนดไว้ เพราะทรงพระราชดำริว่า เป็นการทรงพระราชกุศล

๒. ตามที่สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบในการที่จะแต่งตั้งพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในระหว่างที่ทรงผนวชนั้น ทรงขอบใจ แต่เมื่อได้ทรงพระราชดำริอีกครั้งหนึ่ง เห็นว่า โดยมีแบบอย่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งสมเด็จพระอรรคมเหสีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินประพาสต่างประเทศ และโดยที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีก็ทรงมีพระชนมายุอันสมควรและทรงดำรงตำแหน่งสภานายิกาสภากาชาดไทย ซึ่งแสดงถึงพระปรีชาสามารถในอันที่จะรับพระราชภารกิจในคราวนี้ได้ จึงมีพระราชประสงค์ที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามความในมาตรา ๑๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

๓. ทรงพระราชดำริว่า ในการทรงผนวชนั้น มีพระราชประสงค์จะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลโดยเคร่งครัด จึงจะไม่ทรงออกรับบิณฑบาตร เพราะประชาชนมีจำนวนมากจะทรงโปรดได้ไม่ทั่วถึงกัน)

มติ – รับทราบเกล้าฯ และเห็นชอบด้วยในการที่จะแต่งตั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยขอรับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

๒) ตั้งคณะกรรมการเตรียมงานในการทรงผนวช ....... (๔)
ผมพบหลักฐานที่ทำให้เชื่อว่า ในการเข้าเฝ้าวันที่ ๑๗ ซึ่งทรงแจ้งให้จอมพล ป.ทราบถึงการเปลี่ยนพระทัยเรื่องผู้สำเร็จราชการ จากกรมหมื่นพิทยลาภเป็นสมเด็จพระราชินีนั้น นอกจากได้ทรงมีพระราชดำรัสถึง “แบบอย่าง” การที่รัชกาลที่ ๕ ทรงตั้งพระราชินีเป็นผู้สำเร็จราชการแล้ว ยังได้ทรงรับสั่งถึงการที่พระราชืนีซึ่งได้รับการแต่งตั้งครั้งนั้น ได้รับการเฉลิมพระนามเพิ่มคำว่า “นาถ” ด้วย หลักฐานดังกล่าวคือ ในวันเดียวกันนั้นเอง โดยคำสั่งของจอมพล ป. เลขาธิการคณะรัฐมนตรีฝ่ายบริหารได้สอบถามไปยังกองประกาศิตในเรื่องนี้:
นารถ – จะต้องตั้งอีกหรือไม่

ในการแต่งตั้งสมเด็จพระบรมราชินีเป็นผู้สำเร็จฯนั้น ใคร่ขอทราบราชประเพณี จะต้องเติม นารถ เมื่อใด – เป็นโดยตั้งแต่งหรือประกาศอีก

[ลงชื่อ] ช่วง [?]
17 กย 99(๕)

ถ้าในหลวงไม่ได้ทรงรับสั่งเรื่อง “นาถ” ด้วยพระองค์เองในวันนั้น จอมพล ป. ก็คงไม่ทราบ และคงไม่ได้สั่งให้สอบถาม ซึ่งกองประกาศิตได้ทำหนังสือตอบในวันต่อมาว่า (เน้นคำตามต้นฉบับ)
เรื่อง ทรงตั้งสมเด็จพระบรมราชินีนารถ สำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์ ในรัชกาลที่ 5
เสนอ ล.ธ.ร. ฝ่ายบริหาร

ตามที่ประสงค์จะทราบว่า ในการตั้งสมเด็จพระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั้น ราชประเพณีจะต้องเติมคำว่า นาถ (สมเด็จพระบรมราชินีนาถ) เมื่อใด เป็นไปโดยตั้งแต่งหรือประกาศอีก ประการใดนั้น

ผมได้ตรวจราชกิจจานุเบกษา เมื่อรัชกาลที่ 5 จะเสด็จฯประพาสประเทศยุโรป ร.ศ. 116 (พ.ศ. 2440) เมื่อวันที่ 21 มีนาคม ร.ศ. 115 (พ.ศ. 2439) ได้ทรงตราพระราชกำหนดผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน รัตนโกสินทร์ ศก 115 ขึ้น มีความในมาตรา 2 ว่า “ระหว่างเวลาที่ไม่ได้เสด็จประทับอยู่ในกรุงสยามนี้ ให้สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนารถ อันเป็นพระราชชนนีแห่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช มกุฏราชกุมารนั้น เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์ กับทั้งให้มีที่ประชุมอันหนึ่งเป็นที่ปฤกษาด้วย” ประกอบด้วย ประกาศในการที่ออกพระนามสมเด็จพระบรมราชินีนารถ ลงวันที่ 1 เมษายน ร.ศ. 116 ซึ่งมีความในข้อ 1 ว่า “ตั้งแต่ วันที่ 21 มีนาคม ร.ศ. 115 ไปจนถึงเวลาที่ได้เสด็จพระราชดำเนินออกจากพระนคร แลเวลาเสด็จฯกลับคืนยังพระนคร ถ้าจะใช้บัตรหมายออกพระนามสมเด็จพระนางเจ้าพระอรรถราชเทวีนั้น ก็ให้ใช้ได้เป็นสามอย่างดันี้ (1) ว่า สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนารถ (2) ว่า สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนารถ (3) ว่า สมเด็จพระบรมราชินีนารถ ฯลฯ” ดั่งนี้ ก็เห็นได้ชัดว่า สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอรรถราชเทวีได้เป็นสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนารถ ตามพระราชกำหนดผู้สำเร็จราชการแผ่นดินที่ทรงตราขึ้นนั้น

สมเด็จพระบรมราชินีนารถ พระองค์นี้ คงทรงพระปรมาภิไธยสืบมาตลอดรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 6 ได้ทรงเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนารถ พระบรมราชชนนี เมื่อ พ.ศ. 2453

ได้คัดพระราชกำหนดผู้สำเร็จราชการแผ่นดินกับประกาศในการที่ออกพระนามสมเด็จพระบรมราชินีนารถ ดั่งกล่าว เสนอมาด้วยแล้ว

[ลงชื่อ อ่านไม่ออก]
หัวหน้ากองประกาศิต
18 ก.ย. 99

ตอนท้ายจดหมายนี้ มีลายมือจอมพล ป. เขียนว่า “ทราบ. ขอบใจ. [ลงชื่อ] ป.พิบูลสงคราม 20 ก.ย. 99”

ถ้าสมมุติฐานของผมถูกต้องที่ว่า ในหลวงทรงมีพระราชดำรัสเรื่องการเฉลิมพระนามพระราชินีโดยเพิ่มคำว่า “นาถ” ตาม “แบบอย่าง” สมัยรัชกาลที่ ๕ พร้อมกับที่ทรงเปลี่ยนพระทัยเรื่องผู้สำเร็จราชการ ก็หมายความว่า เป็นไปได้อย่างยิ่งว่า เหตุผลที่ทรงเปลี่ยนพระทัยตั้งสมเด็จพระราชินีเป็นผู้สำเร็จราชการ ก็เพื่อจะทรงเฉลิมพระนามสมเด็จพระราชินีโดยเพิ่มคำว่า “นาถ” นั่นเอง พูดอีกอย่างหนึ่งคือ พระราชประสงค์ที่จะเฉลิมพระนามพระราชินีโดยเพิ่มคำว่า “นาถ” เป็นสาเหตุให้พระราชินีทรงได้รับแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการตั้งแต่ต้น ไม่ใช่ว่า เนื่องจากพระราชินีทรงเคยได้รับแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแล้ว จึงทำให้ทรงได้รับการเฉลิมพระนามเพิ่มคำว่า “นาถ” อย่างที่เข้าใจกันทั่วไป

ผมคิดว่าการตีความเช่นนี้ของผมถูกต้อง การอภิปรายของสมาชิกสภาบางคนเมื่อเรื่องนี้ถูกเสนอเข้าสภา ก็เป็นไปในทางสนับสนุนการตีความนี้ ดังจะได้เห็นต่อไป

เหตุใดในหลวงจึงทรงมีพระราชประสงค์จะเฉลิมพระนามพระราชินีโดยเพิ่มคำว่า “นาถ” ถึงกับทรงขอให้เปลี่ยนมติรับรองกรมหมื่นพิทยลาภเป็นผู้สำเร็จราชการซึ่งได้ผ่านสภาไปแล้ว? ก่อนที่จะเสนอคำอธิบายเรื่องนี้ ผมขอให้สังเกตประเด็นน่าสนใจบางประการคือ การเฉลิมพระนามในลักษณะนี้สมัยรัชกาลที่ ๕ เอง ตอนแรก รัชกาลที่ ๕ ทรงตั้งพระทัยและมีพระราชโองการให้มีลักษณะชั่วคราวเท่านั้น “ตั้งแต่ วันที่ ๒๑ มีนาคม ร.ศ. ๑๑๕ ไปจนถึงเวลาที่ได้เสด็จพระราชดำเนินออกจากพระนคร แลเวลาเสด็จฯกลับคืนยังพระนคร ถ้าจะใช้บัตรหมายออกพระนาม สมเด็จพระนางเจ้าพระอรรคราชเทวี....” (๖) จนกระทั่งรัชกาลที่ ๖ ได้ประกาศเฉลิมพระปรมาภิไธยให้พระมารดาใหม่ในปี ๒๔๕๓ จึงทำให้การเรียกพระนามเช่นนี้มีลักษณะถาวร

ที่สำคัญ ขณะที่ในการเฉลิมพระนามพระราชินีปัจจุบัน จะมีการพาดพิงถึงการเฉลิมพระนามลักษณะนี้ว่าเป็น “ราชประพณี” ในความเป็นจริง การปฏิบัตินี้ต้องนับว่ามีลักษณะของสิ่งที่นักวิชาการบางคนเรียกว่า “ประเพณีประดิษฐ์” หรือ “ประเพณีที่เพิ่งสร้าง” (invented tradition) กล่าวคือ แท้จริงแล้ว หาได้เป็น “ประเพณี” หรืออะไรบางอย่างที่ทำซ้ำๆกันมาเป็นเวลานานไม่ เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นใหม่ แต่พยายามนำเสนอให้ดูเป็นสิ่งเก่าแก่ปฏิบัติกันเป็นประจำมาช้านาน จะเห็นว่ามีการเฉลิมพระนามเช่นนี้เพียงครั้งเดียวในสมัยรัชกาลที่ ๕ คือทั้งไม่ใช่เก่าแก่และไม่ใช่ทำกันมาหลายครั้งตามความหมายของคำว่า “ประเพณี” จริงๆ

ประการสุดท้าย ในหลวงน่าจะไม่ทรงทราบ “แบบอย่าง” เรื่องนี้ด้วยพระองค์เอง เพราะทรงไม่ใช่คนร่วมสมัยรัชกาลที่ ๕ (และไม่ใช่สิ่งที่ปฏิบัติกันบ่อยจนเป็นประเพณี) พูดง่ายๆคือ ไอเดียหรือพระราชดำริเรื่องตั้งพระราชินีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพื่อจะได้ทรงเฉลิมพระนามคำว่า “นาถ” นี้ หาใช่ไอเดียหรือพระราชดำริของพระองค์แต่แรกไม่ (จึงทำให้ต้องเกิดการเปลี่ยนพระทัย) เป็นไปได้อย่างยิ่งว่า อาจจะทรงทราบหรือได้รับการเสนอจาก “พระองค์เจ้าธานี” หรือกรมหมื่นพิทยลาภนั่นเอง

ในความเห็นของผม เราควรมองว่าการตั้งพระราชินีเป็นผู้สำเร็จราชการและเฉลิมพระนามเพิ่มคำว่า “นาถ” ไม่ใช่การทำตาม “ประเพณี” แต่มีลักษณะของการพยายาม “กลับไปหารัชกาลที่ ๕” (Return to Chulalongkorn) คือทำอะไรแบบที่รัชกาลที่ ๕ เคยทำ เช่นเดียวกับที่สมัยต้นรัชกาลที่ ๗ เคยพยายามมาก่อน(๗) (อันที่จริง การออกบวชขณะเป็นกษัตริย์ก็เป็นการทำแบบรัชกาลที่ ๕ ซึ่งเป็นกษัตริย์พระองค์เดียวสมัยกรุงเทพที่เคยทำมาก่อนในปี ๒๔๑๖ เป็นเวลา ๑๕ วัน เท่ากับจำนวนวันที่ในหลวงปัจจุบันจะทรงผนวช) เป็นวิธีฟื้นฟูสถานะและเกียรติยศของสถาบันกษัตริย์หลังจากช่วงตกต่ำหรือวิกฤติ กรณีรัชกาลที่ ๗ คือหลังจากปัญหาภายในราชสำนักของรัชกาลที่ ๖ ส่วนกรณีรัชกาลปัจจุบันคือ หลังจากช่วงตกต่ำของสถาบันจากการปฏิวัติ ๒๔๗๕ และการสละราชย์ของ ร.๗ ซึ่งทำให้ประเทศไทยไม่มีพระมหากษัตริย์ในทางปฏิบัติเป็นเวลาเกือบ ๒๐ ปี (ไม่มีกษัตริย์ประทับอย่างถาวรในประเทศระหว่างปลายปี ๒๔๗๗ ถึงปลายปี ๒๔๙๔)

ความพยายามฟื้นฟูเกียรติยศของสถาบันครั้งนี้เริ่มอย่างจริงจังในช่วงประมาณกลางทศวรรษ ๒๔๙๐ ในระยะแรกๆ หลายอย่าง เป็นสิ่งที่คนภายนอกยังมองไม่เห็น แต่เป็นความสัมพันธ์ภายในระหว่างพระมหากษัตริย์กับรัฐบาล เริ่มมีการสร้างระเบียบแบบแผนความสัมพันธ์นี้ใหม่หลังจากหายไปเป็นเวลานาน ผมกำลังหมายถึงตั้งแต่เรื่องประเภท การส่งหนังสือกราบบังคมทูลที่ต้องเริ่มต้นด้วย “ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม” และถ้อยคำในหนังสือที่ต้องเป็นราชาศัพท์ต่อกษัตริย์โดยตรง ไม่ใช่เพียงราชาศัพท์ระดับที่ใช้กับผู้สำเร็จราชการ ไปจนถึงการเข้าเฝ้ารับทราบพระราชดำริต่างๆโดยตรง เช่น กรณีจอมพล ป. ที่ไปเข้าเฝ้าระหว่างการประชุม ครม.ดังที่เห็นข้างต้น ในความเห็นของผม เรื่องที่ดูเหมือนจะเล็กๆ และเป็นเพียงรูปแบบหรือพิธีกรรมเหล่านี้ มีความสำคัญในแง่กลไกการทำงานภายในของรัฐบาล (the inner working of government) สำหรับผม สิ่งที่ชวนสะดุดใจจากการอ่านเอกสารติดต่อระหว่างรัฐบาลกับราชสำนักช่วงนี้ คือ การที่ฝ่ายหลังอ้างอิงถึง “ราชประเพณี” ที่เคยปฏิบัติในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช เพื่อขอให้รัฐบาลปฏิบัติตาม เพื่อรองรับเหตุการณ์เกี่ยวกับราชสำนักซึ่งได้ขาดหายไปตั้งแต่ก่อน ๒๔๗๕ แต่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่อีก (ราวกับว่าการเคยผ่าน ๒๔๗๕ มา ไม่ควรเป็นเหตุผลไม่ให้ปฏิบัติแบบเดิมๆ) กรณีตั้งพระราชินีเป็นผู้สำเร็จและเฉลิมพระนาม “นาถ” เป็นตัวอย่างหนึ่ง กรณีอื่นที่อ่านพบได้แก่เรื่องเงินปีของพระโอรสธิดา เช่น ในจดหมายจากราชเลขาธิการถึงนายกรัฐมนตรี เรื่องเงินปีสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ลงวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๔๙๔ ได้เริ่มต้นว่า (การเน้นคำของผม)
ด้วยพระวรวงศ์เธอฯ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มีรับสั่งว่า ตามราชประเพณีแต่ก่อนๆมา เมื่อมีการประสูติพระราชโอรสหรือพระราชธิดา ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ขึ้นในบัญชีเงินปีพระบรมวงศานุวงศ์ และพระราชทานเงินปีสุดแล้วแต่ฐานะ ส่วนเงินปีพระบรมวงศานุวงศ์นั้น ในรัชกาลที่ ๕ กำหนดพระราชทานทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายในเมื่อปีสุดท้าย (ร.ศ. ๑๒๙) เป็นเงิน ๑,๑๓๗,๘๒๐ บาท และในรัชกาลต่อๆมา ก็ได้ลดลงตามสถานะการณ์จนถึงรัชกาลปัจจุบันนี้ เงินปีพระบรมวงศานุวงศ์ คงได้รับจากรัฐบาลปีละ ๒๑๗,๓๙๖ บาท กับรัฐบาลได้เพิ่มให้ในปี ๒๔๙๔ นี้อีก ๖๙,๓๑๙ บาท รวมเป็นเงิน ๒๘๕,๗๑๕ บาท..... (๘)
หรือเรื่องเงินปีของพระราชินีในปีเดียวกัน:
ด้วยสำนักราชเลขาธิการแจ้งมาว่า พระวรวงศ์เธอฯ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มีรับสั่งว่า เมื่อวันที่รองนายกรัฐมนตรีได้เข้าเฝ้าพระองค์ท่านเพื่อปรึกษาข้อราชการต่างๆนั้น ได้ทรงหารือถีงเรื่องที่สมควรจะถวายเงินปีพระบรมวงศานุวงศ์ แด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ในฐานะที่ได้ทรงรับสถาปนาขึ้นเป็นพระราชวงศ์อันทรงศักดิ์ถึงตำแหน่งพระอัครมเหษี เพราะเมื่อรัชกาลก่อนๆก็เคยได้ถวายมาแล้วตามราชประเพณี ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีก็มีความเห็นชอบด้วยแล้วว่า สมควรที่รัฐบาลจะตั้งทูลเกล้าฯถวาย.... (๙)
นอกจากนั้นยังมีกรณีพิธีกรรมต่างๆที่ล้อมรอบการประสูติพระโอรสธิดา (ครั้งสุดท้ายที่มีการประสูติพระเจ้าลูกเธอคือปลายรัชกาลที่ ๖ ถ้าเป็นพระเจ้าลูกยาเธอต้องย้อนไปถึงรัชกาลที่ ๕) ตั้งแต่การตั้งผู้นำรัฐบาล-รัฐสภาเป็นสักขีการประสูติ: “เนื่องในการที่จะประสูติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ ๑.ประธานองคมนตรี ๒.นายกรัฐมนตรี ๓.ประธานสภาผู้แทนราษฎร ๔.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ ๕.เลขาธิการพระราชวัง หรือผู้ที่ปฏิบัติราชการแทนในตำแหน่งดังกล่าวขณะพระประสูติกาล เป็นสักขีในการประสูติ”(๑๐) ไปจนถึงการที่รัฐบาลประกาศให้เป็นวันหยุดราชการและชักธงทุกครั้งที่มีการประสูติ ซึ่งทำให้ไม่จำกัดเฉพาะการติดต่อภายในระหว่างรัฐบาลกับราชสำนักเท่านั้น หลังปี ๒๔๙๗ การพยายามฟื้นฟูเกียรติยศและสถานะของสถาบันกษัตริย์นี้เริ่มมีลักษณะของการเมืองโดยตรง คือการเข้าแทรกแซงอย่างเป็นฝ่ายกระทำ (active intervention) ของพระมหากษัตริย์ในกิจการสาธารณะมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งกับรัฐบาล

ขอกลับมาที่การแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการ หลังจากคณะรัฐมนตรีรับทราบเรื่องที่ทรงเปลี่ยนพระทัยแล้ว วันต่อมา จอมพล ป.ก็ทำหนังสือด่วนถึงประธานสภาขอให้มีการพิจารณาญัตตินี้อีกครั้ง:
ด่วนมาก
ที่ สผ. ๔๑๐๐/๒๔๙๙

สำนักคณะรัฐมนตรี
๑๘ กันยายน ๒๔๙๙


เรื่อง ญัตติขอให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
กราบเรียน ประธานสภาผู้แทนราษฎร
อ้างถึง หนังสือที่ สร.๙๕๕๑/๒๔๙๙ ลงวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๔๙๙

ตามที่แจ้งว่าในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๓ กันยายน ๒๔๙๙ สภาผู้แทนราษฎรได้ปรึกษาให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั้น ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว

บัดนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชกระแสว่า ตามที่สภาผู้แทนราษฎร ให้ความเห็นชอบในการที่จะแต่งตั้ง พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในระหว่างที่ทรงผนวชนั้น ทรงขอบพระราชหฤทัย แต่เมื่อได้ทรงพระราชดำริอีกครั้งหนึ่ง เห็นว่า เคยมีแบบอย่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมเด็จพระอรรคมเหษี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินประพาสต่างประเทศ และโดยที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ก็ทรงมีพระชนมายุอันสมควร และทรงดำรงตำแหน่งสภานายิกา สภากาชาดไทย ซึ่งแสดงถึงพระปรีชาสามารถ ในอันที่จะรับพระราชภารกิจในคราวนี้ได้ จึงมีพระราชประสงค์ที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามความในมาตรา ๑๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

จึงกราบเรียนมาเพื่อจะได้นำเสนอสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาให้ความเห็นชอบตามรัฐธรรมนูญต่อไป และขอให้พิจารณาลับ

ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง
จอมพล ป. พิบูลสงคราม
(ป. พิบูลสงคราม)
นายกรัฐมนตรี

สภาผู้แทนซึ่งเปิดประชุมในวันนั้นได้นำเรื่องเข้าพิจารณาเป็นการลับ อารีย์ ตันติเวชกุล ส.ส.นครราชสีมา เปิดการอภิปรายว่า “พระราชดำริครั้งนี้ กระผมไม่ได้มีความปรารถนาที่จะคัดค้านแต่ประการใด” แต่ได้ตั้งคำถามว่าต้องลงมติเลิกมติเดิม (ตั้งกรมหมื่นพิทยลาภ) หรือไม่ และการที่พระราชินีจะเป็นผู้สำเร็จย่อมหมายความว่าต้องมาปฏิญาณต่อสภา “ในฐานะที่เราเป็นบุคคลภายใต้รัฐธรรมนูญ ภายใต้จักรีวงศ์ เป็นการสมควรหรือไม่ที่เราจะให้สมเด็จพระราชินีเสด็จมาที่นี่เพื่อมาสาบาลพระองค์ต่อหน้าพวกเราซึ่งเป็นข้าราชบริพาร” ผมคิดว่า การอภิปรายของอารีย์ต่อไปนี้ยืนยันว่า ได้มีการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการหรือเป็นที่รู้กันในหมู่ ส.ส.ถึงสาเหตุที่ทรงเปลี่ยนพระทัยให้ตั้งพระราชินีเป็นผู้สำเร็จแทน ก็เพื่อการเฉลิมพระนามเพิ่มคำว่า “นาถ” นั่นเอง (การเน้นคำของผม):
เท่าที่มีพระราชดำรัสให้นำความมาปรึกษาต่อสภาเพื่อจะแต่งตั้งสมเด็จพระราชินีขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการนั้น ข้าพเจ้าได้กราบเรียนแต่แรกแล้วว่าข้าพเจ้าไม่ขัดข้องประการใด เพราะรู้สึกว่าการครั้งนี้เป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระราชินีด้วย จะได้เป็นสมเด็จพระราชินีนาถตามประวัติศาสตร์มีอยู่แล้ว และเป็นไปตามพระราชอัธยาศัย(๑๑)
จอมพล ป.ได้ลุกขึ้นอภิปราย สำหรับเรื่องพระราชินีต้องมาปฏิญาณต่อสภานั้น เขากล่าวว่าเช้าวันนั้น “ผมได้ขอถือโอกาสไปเฝ้ากราบบังคมทูล [ในหลวง] ท่านก็บอกว่าท่านทราบแล้ว และสมเด็จพระบรมราชินีท่านมีพระราชประสงค์จะเสด็จมาปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญทุกประการ” ประเด็นที่น่าสนใจในการอภิปรายของจอมพล อยู่ที่การพยายามชี้แจงว่าทำไมต้องเสนอญัตติเดียวกันเป็นครั้งที่ ๒ โดยเขาเริ่มด้วยการออกตัวยอมรับเป็นผู้ทำ “ความผิด” เสียเอง คำอธิบายของเขามีดังนี้
เรื่องที่ต้องมาเสนอเป็นครั้งที่ ๒ นั้น ความจริง อยากจะขอรับสารภาพว่าเป็นความผิดของนายกรัฐมนตรีเอง วันแรกที่ได้ไปเฝ้า ท่านก็ทรงพระราชดำรัสถามว่าควรจะเป็นใครที่จะเป็นผู้สำเร็จราชการฯ ผมก็กราบบังคมทูลบอกว่าควรจะเป็นกรมหมื่นพิทยลาภฯ เพราะว่าเคยทรงมาแล้ว และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ไม่ได้ทรงว่ากระไร ผมจึงสำคัญผิดว่า ท่านทรงโปรดที่จะให้กรมหมื่นพิทยลาภฯเป็น ก็จึงมาเสนอคณะรัฐมนตรี และก็นำเสนอต่อสภามา แต่ว่าความจริงนั้นท่านยังไม่ได้ทรงตกลงว่าจะเอากรมหมื่นพิทยลาภฯ ภายหลังเมื่อได้กราบทูลต่อไป ท่านจึงได้บอกว่าอยากจะให้สมเด็จพระราชินีได้ทรงเป็น ก็ได้นำเสนอสภานี้มาอีก เพราะฉะนั้น ความผิดใดๆที่ต้องมาเสนอเป็นครั้งที่ ๒ เป็นความผิดของผมคนเดียวที่สำคัญผิด ก็ขอประทานโทษด้วย
ในความเห็นของผม คำอธิบายของจอมพลในที่นี้ไม่น่าเชื่อถือนัก เมื่อดูจากบันทึกการประชุมคณะรัฐมนตรีที่อ้างข้างต้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นการเปลี่ยนพระทัยของในหลวง คือทรงพระราชดำริให้กรมหมื่นพิทยลาภเป็นในตอนแรก (“มีพระราชประสงค์....กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร....เป็นผู้ที่เหมาะสม”) แต่เปลี่ยนพระทัย (“แต่เมื่อได้ทรงพระราชดำริอีกครั้งหนึ่ง”) ให้พระราชินีเป็นแทน ถึงแม้เราจะสมมุติว่า เหตุการณ์เป็นอย่างที่จอมพลเล่าให้สภาฟัง คือในหลวง “ไม่ได้ทรงว่ากระไร” จริงๆ เมื่อจอมพลเสนอกรมหมื่นพิทยลาภ (ซึ่งในความเห็นของผม ไม่น่าเป็นไปได้ที่จะ “ไม่ได้ทรงว่ากระไร” เลย) ก็ยังควรหมายความว่าในตอนแรกทรงเห็นชอบด้วยแล้ว จะเรียกว่าจอมพล “สำคัญผิด” หรือ “ความจริงนั้นท่านยังไม่ได้ทรงตกลง” ไม่ได้ (ยิ่งถ้ามีการเข้าเฝ้าอีกครั้งในวันที่ ๑๔ กันยายน แต่ในหลวงไม่ได้ทรงแสดงพระราชประสงค์ใหม่ให้ตั้งผู้อื่น จนกระทั่งการเข้าเฝ้าในวันที่ ๑๗)

และเมื่อมีสภาชิกอภิปรายปัญหาการต้องเลิกมติเดิมหรือไม่มากเข้า ซึ่งอาจชวนให้รู้สึกว่าเป็นความยุ่งยากที่รัฐบาลก่อขึ้น จอมพลก็ลุกขึ้นชี้แจงอีกครั้งอย่างน่าสนใจว่า “ผมก็รู้สึกว่า ท่านสมาชิกก็ย้ำว่ารัฐบาลทำผิดๆ มันเลยไป ความจริงรัฐบาลไม่ได้ทำผิดอะไรเลย ผมอยากจะว่าอย่างนั้น แต่ว่าเมื่อท่านอยากจะว่าทำผิดก็ไม่เป็นไร รัฐบาลนี้ก็จะถวายเป็นราชพลี ไม่เป็นไรหรอก” (ขีดเส้นใต้ของผม) ในที่สุด สภาได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ยกเลิกมติเดิมและให้แต่งตั้งพระราชินีเป็นผู้สำเร็จราชการ

วันเดียวนั้นเอง ในหลวงได้ทรงมีพระราชหัตถเลขามายังรัฐบาล ยืนยันเรื่องวันที่จะทรงออกผนวชและการตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อย่างเป็นทางการ:

พระที่นั่งอัมพรสถาน
วันที่ ๑๘ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๙๙

ถึง นายกรัฐมนตรี

ตามที่ฉันได้ปรึกษาหารือท่านเมื่อวันที่ ๑๔ และ ๑๗ กันยายน ศกนี้ ในเรื่องที่ฉันมีความจำนงจะอุปสมบทนั้น บัดนี้ ฉันได้ตกลงกำหนดที่จะอุปสมบทในวันที่ ๒๒ ตุลาคม ศกนี้ และจะอุปสมบทอยู่ประมาณ ๑๕ วัน ส่วนการตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั้น ก็ได้ปรึกษาท่าน และท่านก็ได้เห็นสอดคล้องด้วยแล้ว จึงขอแต่งตั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามมาตรา ๑๗ แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในระยะเวลาที่ฉันครองสมณเพศอยู่

[ลงพระปรมาภิไธย] ภูมิพลอดุลยเดช ปร

พระราชหัตถเลขาถูกเสนอให้ครม.รับทราบวันที่ ๑๙(๑๒) วันถัดมารัฐบาลจึงได้แจ้งกำหนดวันผนวชที่ทรงยืนยันในพระราชหัตถเลขาแก่ประธานสภา(๑๓) วันเดียวกันพระราชินีได้เสด็จมาปฏิญาณต่อสภา (พิธีปฏิญาณมีขึ้นก่อนการประชุมจริง) แต่ก่อนหน้านั้น คือในวันที่ ๑๘ ประธานสภาได้จัดทำประกาศแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการ ถวายให้ในหลวงทรงลงพระปรมาภิไธยเรียบร้อยไปแล้ว(๑๔) ประกาศฉบับดังกล่าวซึ่งตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาจึงไม่ได้ระบุวันที่ในหลวงจะทรงผนวชและพระราชินีจะทรงเป็นผู้สำเร็จราชการไว้(๑๕)

หลังจากในหลวงทรงผนวชแล้ว ทางราชสำนักดูเหมือนจะไม่ได้ดำเนินการทันทีเรื่องการเฉลิมพระนามพระราชินี เพิ่มคำ “นาถ” ตามที่ตั้งใจไว้แต่แรก แต่รอให้ถึงโอกาสวันพระราชสมภพในหลวงจึงได้เสนอขอความเห็นชอบจากรัฐบาล ผมยังค้นไม่พบเอกสารที่เกี่ยวข้อง (หนังสือติดต่อต่างๆ) แต่คิดว่าไม่เป็นที่น่าสงสัยว่าเรื่องนี้เป็นการริเริ่มดำเนินการของราชสำนัก แม้ว่าในการเสนอเข้าสู่ที่ประชุมครม.จะทำในนามจอมพล ป. (สำนักพระราชวังและสำนักราชเลขาธิการอยู่ในความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรีโดยตำแหน่ง):

๑. เรื่อง เฉลิมพระอภิไธยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (ท่านนายกรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นว่า ตามราชประเพณีเมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีได้ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เคยมีประกาศให้ออกพระนามว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ได้ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในระหว่างที่ทรงผนวช ได้ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจแทนพระองค์ด้วยพระปรีชาสามารถ สนองพระราชประสงค์เป็นที่เรียบร้อย เป็นการสมควรที่จะได้เฉลิมพระอภิไธยให้เชิดชูพระเกียรติยศยิ่งขึ้น โดยประกาศให้ออกพระนามว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ)

มติ – เห็นชอบด้วย ให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาไปได้.(๑๖)

หนึ่งสัปดาห์ต่อมา “ประกาศเฉลิมพระอภิไธย สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี” ลงวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๔๙๙ ซึ่งมีข้อความเหมือนๆกับที่นำเสนอครม.ข้างต้น ได้รับการตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา(๑๗)

ว่าด้วยข้อความ “องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้”



ผมขอเสนอว่า ลักษณะสำคัญมากอย่างหนึ่งของหมวดว่าด้วย “กษัตริย์” (หมวด ๒) ในรัฐธรรมนูญปี ๒๔๗๕ ฉบับแรกที่ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ร่าง คือ การไม่มีข้อกำหนดหรือข้อบังคับว่า พลเมืองของประเทศสยามจะต้องมีความคิดเห็นหรือความรู้สึกต่อกษัตริย์ซึ่งเป็น “ประมุขสูงสุดของประเทศ” อย่างไร (ขอให้สังเกตด้วยว่าไม่มีคำว่า “ราชอาณาจักร” ในรัฐธรรมนูญฉบับนั้น) มาตรา ๖ ที่กำหนดว่า “กษัตริย์จะถูกฟ้องร้องอาชญายังโรงศาลไม่ได้ เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรจะวินิจฉัย” มาจากเหตุผลของตรรกะทางกฎหมาย คือการที่ “คำวินิจฉัยของศาล...จะต้องกระทำในนามของกษัตริย์” (มาตรา ๓) ศาลจึงไม่สามารถวินิจฉัยกษัตริย์ได้ (เพราะจะเหมือนวินิจฉัยตัวเอง) ต้องให้สภาวินิจฉัย ยิ่งกว่านั้น นัยยะของมาตรานี้คือ กษัตริย์ถูกวินิจฉัยทางอาญาได้ เพียงแต่โดยสภาไม่ใช่โดยศาล(๑)

ในแง่นี้ การเพิ่มเติมข้อกำหนดว่า “องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” เข้ามาในรัฐธรรมนูญฉบับ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ มาตรา ๓ จึงเป็นเรื่องใหม่ และเนื่องจากประเทศสยามไม่เคยมีรัฐธรรมนูญ นี่จึงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สยามที่มีการกำหนดอย่างเป็นทางการครอบคลุมทั้งระบบกฎหมายว่า พระมหากษัตริย์เป็นผู้ซึ่งต้องได้รับการเคารพสักการะ ในความเห็นของผม นี่เป็นลักษณะกลับตาลปัตร (paradoxical) อย่างหนึ่งของเหตุการณ์ที่เรียกว่า “การปฏิวัติ ๒๔๗๕” ซึ่งด้านหนึ่งเป็นการลดทอนอำนาจกษัตริย์ แต่ในบางด้านกลับสร้างความเข้มแข็งในสถานภาพทางกฎหมายให้กับกษัตริย์อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน(๒)

มาตรา ๓ ของรัฐธรรมนูญ ๑๐ ธันวา
การปรากฏตัวขึ้นของข้อบังคับอย่างมาตรา ๓ ในรัฐธรรมนูญ ๑๐ ธันวา จึงมีความสำคัญ ยิ่งถ้าเราพิจารณาว่า นี่เป็นข้อความที่ถูกเขียนลงในรัฐธรรมนูญและธรรมนูญการปกครองทุกฉบับต่อมาไม่เคยยกเว้นเลย กล่าวได้ว่า เป็น ๑ ในข้อความของรัฐธรรมนูญที่คนไทยรู้จักดีที่สุด

ข้อความซึ่งจะมีนัยยะกว้างไกลมหาศาลในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่นี้ถูกนำเสนอในลักษณะราวกับว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องมี ไม่ใช่เรื่องใหญ่โต โดยพระยามโนปกรณ์นิติธาดาในฐานะประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๔๗๕ โดยแทบจะไม่มีการอภิปรายของสมาชิก (ต่างกันมากกับประเด็นอย่างชื่อฝ่ายบริหารว่าควรใช้คำว่า “คณะกรรมการราษฎร” หรือ “คณะรัฐมนตรี”):
ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ในมาตรา ๓ นี้ อ่านว่า “พระองค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพผู้ใดจะละเมิดมิได้ ซึ่งได้แสดงความหมายของมาตรานี้โดยย่อๆแล้วว่า พระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งชาติและปวงชนทั้งปวง และดำรงอยู่ในฐานะอันพึงพ้นจากความถูกติเตียนในทางใดๆ เพราะฉะนั้น รัฐธรรมนูญของบ้านเมืองใดที่ปกครองโดยกษัตริย์และมีรัฐธรรมนูญ เขาก็วางหลักการไว้เช่นเดียวกันนื้ทุกแห่ง และในรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น คำว่า (Sacred) ซึ่งท่านนักแปลคนหนึ่งได้แปลว่า เคารพ ก็ถูกอยู่ แต่ถ้าจะให้ถูกดีแล้วก็ควรมีคำว่า สักการะ ด้วย ซึ่งอนุกรรมการได้เห็นชอบด้วยแล้ว คำว่าผู้ใดจะละเมิดมิได้นี้ เราหมายว่า ใครจะไปละเมิดฟ้องร้องว่ากล่าวไม่ได้ ถ้าอาจจะมีใครสงสัยว่าถ้าฟ้องร้องท่านไม่ได้แล้วจะทำอย่างไรเมื่อมีใครได้รับความเสียหาย ประการหนึ่งเราต้องนึกว่าที่ว่าเป็นประมุขนั้น ตามแบบเรียกว่า “รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ศาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พิจารณาตัดสินความในนามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะฉะนั้นถ้าจะพูดถึงหลักกฎหมายในบางประเทศแล้ว ฟ้องร้องท่านไม่ได้ทั้งทางอาชญาและประทุษฐ์ร้ายส่วนแพ่ง แต่มีว่าถ้าท่านต้องทรงรับผิดชอบในเรื่องเงินแล้วก็ฟ้องร้องได้ทางพระคลังข้างที่ และที่เขียนมานี้ไม่กะทบกระเทือนสิทธิและความเสียหายของราษฎรใดๆเลย จึ่งขอเติมคำว่า “สักการะ” ต่อคำว่า “เคารพ”

นายสงวน ตุลารักษ์ ว่าที่กล่าวว่า “พระองค์” แคบเกินไป อยากจะขอเสนอให้ตัดออกเสีย เพราะเรามิได้เคารพแต่ฉะเพาะพระองค์เท่านั้น เราเคารพถึงพระบรมรูป พระเกียรติยศ ฯลฯ อีกด้วย

หลวงประดิษฐ์มนูธรรม รับรอง

ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ตามหลักนั้น หมายถึง person of the King คือตัวท่าน แต่ในภาษาไทยจะใช้คำว่า “พระมหากษัตริย์” เฉยๆ จะได้ความหรือไม่นั้น ขอเชิญเจ้าพระยาธรรมศักดิ์โปรดอธิบาย

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์ กล่าวว่า ถ้าความหมายอย่างที่ว่า person ที่เขียนก็ได้ความแล้ว แต่ถ้าจะหมายถึงเป็น body แล้ว ก็จะเป็นจริงอย่างที่นายสงวนว่า จึงคิดว่าเอาคำว่า “พระ” ออก คงเหลือแต่ “องค์พระมหากษัตริย์” ก็จะได้

ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ รับรอง

นายสงวน ตุลารักษ์ เห็นชอบ

ประธานสภาฯ กล่าวว่า ในมาตรา ๓ นี้ มีแก้ไข ๒ แห่ง คือ เติมคำว่า “สักการะ” ต่อท้ายคำว่า เคารพ และ ตัดคำว่า “พระ” ออก คงอ่านได้ในมาตรา ๓ ว่า “องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” เมื่อไม่มีผู้ใดคัดค้าน ก็ขอให้ลงคะแนน สมาชิกทั้งหมดลงมติเห็นชอบ เป็นอันว่ามาตรา ๓ นั้น ใช้ได้ตามแก้ไขมานั้น(๓)
ก่อนอื่น ขอให้สังเกตว่า ตามคำแถลงของพระยามโน รัฐธรรมนูญฉบับร่างที่เสนอต่อสภา มาตรา ๓ มีข้อความว่า “พระองค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” คือเพียง “เคารพ” เท่านั้น ไม่ใช่ “เคารพสักการะ” คำว่า “เคารพ” สามารถใช้กับความสัมพันธ์ระหว่างคนที่มีฐานะเท่าเทียมกัน แต่ “เคารพสักการะ” หมายถึงต้อง “บูชาไหว้กราบ” ด้วย เพราะมีความศักดิ์สิทธิ์หรือมีฐานะสูงกว่าเหมือนบุพการี (ตามความเชื่อแบบพุทธ) นั่นคือ กลับไปยืนยันทัศนะต่อกษัตริย์ก่อน ๒๔ มิถุนา

ที่น่าสังเกตและสำคัญยิ่งกว่านั้น คือท่าทีของสงวน ตุลารักษ์ โดยการสนับสนุนของปรีดี ที่ว่า ไม่เห็นด้วยกับการมีมาตรานี้ ไม่ใช่เพราะจะเป็นการยกย่องสถานะของกษัตริย์มากเกินไป แต่เพราะเห็นว่า เป็นการจำกัดการยกย่องให้แคบเกินไป นี่เป็นท่าทีแบบเดียวกันกับที่ปรีดี ในไม่กี่วันหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ แสดงความเห็นคัดค้านการถวายพระเกียรติยศพระปกเกล้าเป็น “มหาราช” ไม่ใช่เพราะเป็นการถวายพระเกียรติยศมากเกินไป แต่ (อ้างว่า) เพราะจะเป็นการลดพระเกียรติยศ(๔)

เมื่อมองจากภาพลักษณ์ที่แพร่หลายของสงวนหรือปรีดี (โดยเฉพาะในขณะนั้น) ว่าเป็น “ซ้าย” (“ปีกซ้ายคณะราษฎร”) หรือมีลักษณะ “แอนตี้เจ้า” แล้ว อาจตั้งข้อสงสัยในความจริงใจ (sincerity) ของลักษณะการให้เหตุผลดังกล่าวได้ว่าเป็นเพียง “ยุทธวิธีทางการเมือง” หรือไม่ ในการคัดค้านการยกย่องเจ้ามากเกินไป ด้วยการอ้างว่าการยกย่องนั้นจะเป็นการจำกัดหรือน้อยเกินไป แต่ประเด็นที่สำคัญยิ่งกว่า ในทัศนะของผม คือ “ยุทธวิธี” (ถ้าเรายอมรับกันจริงๆว่าเป็น “ยุทธวิธี”) แบบนี้ สะท้อนลักษณะสำคัญยิ่งอย่างหนึ่งของปัญญาชนที่มีลักษณะ “ซ้าย” หรือ “เสรีนิยม” ของไทย นั่นคือ ความอ่อนแอทางการเมือง ที่ไม่สามารถหรือไม่กล้า คัดค้านเจ้าตรงๆ แต่ “คัดค้าน” ด้วยการให้เหตุผลแบบยกย่องเชิดชู แบบเดียวกับพวกนิยมเจ้า (royalists) ซึ่งทำให้เกิดเป็นประเพณีหรือวัฒนธรรม (หรือ, ถ้าจะใช้ภาษาสมัยนี้, “วาทกรรม”) ทางการเมืองในการพูดถึงกษัตริย์ในหมู่ปัญญาชน “เสรีนิยม” ของไทยมาจนถึงปัจจุบัน(๕)

(ยังไม่เสร็จ)

Monday, September 11, 2006

ความพยายามเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชชนนีที่สวิตเซอร์แลนด์เพื่อสืบพยานคดีสวรรคต ๒๔๙๒



เป็นเวลาหลายเดือนในปี ๒๔๙๒ กรมอัยการ ซึ่งขณะนั้นสังกัดกระทรวงมหาดไทยในรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ใช้ความพยายามที่จะจัดการให้ศาล อัยการ และจำเลยในคดีสวรรคต เดินทางไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชชนนีที่สวิตเซอร์แลนด์ เพื่อขอพระราชทานคำให้การในฐานะพยานฝ่ายโจทก์ ความพยายามนี้ในที่สุด หมดความจำเป็นในกรณีสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องจากพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศไทยเป็นระยะเวลาสั้นๆในต้นปีต่อมา เพื่อทรงประกอบพระราชพิธีสำคัญ คือ ถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวงอานันท์, อภิเษกสมรส และฉัตรมงคล และในระหว่างที่ทรงอยู่ในประเทศไทย ได้ทรงให้ศาลและคู่ความเข้าเฝ้า และพระราชทานคำให้การในฐานะพยานโจทก์เมื่อวันที่ ๑๒ และ ๑๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ ส่วนกรณีพระราชชนนี รัฐบาลได้ดำเนินการต่อไป จนในที่สุด มีการเข้าเฝ้ารับพระราชทานคำให้การที่สวิตเซอร์แลนด์ในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน โดยมีเพียงศาลและฝ่ายอัยการโจทก์เท่านั้นที่ได้เดินทางไปเข้าเฝ้า(๑)

ในระยะแรกที่รัฐบาลติดต่อขอเดินทางไปเข้าเฝ้าเพื่อสืบพยานสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่สวิตเซอร์แลนด์นั้น ทางราชสำนักโดยคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้แสดงความไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลทั้งเรื่องปัญหาอำนาจของศาลไทยที่จะทำการสืบพยานนอกประเทศ และเหตุผลเกี่ยวกับสถานะของพระมหากษัตริย์ ผมเห็นว่า จดหมายโต้ตอบระหว่างรัฐบาลกับคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในกรณีดังกล่าวมีความน่าสนใจ จึงขอนำมาเสนอในที่นี้

ภูมิหลัง : ความพยายามอัญเชิญเสด็จกลับประเทศไทยในปี ๒๔๙๑
แต่ก่อนอื่น เพื่อที่จะเข้าใจความเป็นมาของการที่รัฐบาลหรือกรมอัยการขณะนั้นต้องพยายามให้มีการไปเข้าเฝ้าที่สวิตเซอร์แลนด์ในปี ๒๔๙๒ เราควรมองย้อนหลังไปที่ปีก่อนหน้านั้น ซึ่งมีความพยายามอีกอย่างหนึ่งของรัฐบาลที่จะอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับประเทศไทย เพื่อประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก (ฉัตรมงคล) โดยมีการวางหมายกำหนดการไว้ว่าจะให้มีขึ้นในต้นเดือนมีนาคม ๒๔๙๒ แต่ในที่สุด สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแสดงพระราชประสงค์ที่จะไม่เสด็จกลับในช่วงนั้น

(ยังไม่เสร็จ)

Sunday, September 03, 2006

พระราชดำรัสให้การต่อศาลคดีสวรรคต ๒๔๙๓ : ตัวบทและปัญหาบางประการ



ผมกำลังเขียนบทความเรื่องหนึ่ง ซึ่งต้องอ้างอิงถึงพระราชดำรัสที่ในหลวงองค์ปัจจุบันทรงพระราชทานต่อศาลอาญาในคดีลอบประทุษร้ายในหลวงอานันท์ เมื่อปี ๒๔๙๓(๑) ทำให้ผมเกิดความคิดว่า น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาทั้งกรณีสวรรคตและเรื่องอื่นๆเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ไทยและประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ หากนำตัวบท (text) ของพระราชดำรัสดังกล่าว มาเผยแพร่อีกครั้ง โดยชี้ให้เห็นปัญหาบางประการที่สำคัญในการตีพิมพ์ครั้งก่อนๆควบคู่กันไปด้วย อันที่จริง เมื่อพิจารณาถึงความสำคัญและความน่าสนใจของพระราชดำรัสนี้แล้ว เป็นเรื่องน่าแปลกใจด้วยซ้ำที่ ที่ผ่านมา มีการตีพิมพ์เผยแพร่ตัวบทพระราชดำรัสทั้งหมดน้อยมาก (ดูข้างล่าง)

ในการเผยแพร่ครั้งนี้ ผมได้ใส่ตัวเลขลำดับย่อหน้าไว้ด้วย [1], [2], [3] .... เพื่อสะดวกแก่การอ้างอิง โดยนับเฉพาะตัวบทส่วนที่เป็นพระราชดำรัสให้การจริงๆ (คือ ไม่นับ “ย่อหน้า” ประเภท “วันที่ .... ทรงตอบโจทก์” และย่อหน้าแรกสุด ที่ทรงให้พระนามตามแบบฉบับคำให้การ) ในบทแนะนำข้างล่างนี้ ผมจะใช้ตัวเลขลำดับย่อหน้านี้เป็นตัวอ้างอิง


ภูมิหลัง : พระราชดำรัสให้การต่อ “ศาลกลางเมือง” ๒๔๘๙
ในหลวงองค์ปัจจุบัน ทรงให้การในฐานะพยานโจทก์ในคดีสวรรคต เมื่อวันที่ ๑๒ และ ๑๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ ต่อหน้า คณะผู้พิพากษา, คณะอัยการโจทก์, จำเลยทั้ง ๓ คน และทนายจำเลยในคดีดังกล่าว ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน นั่นคือ ผู้พิพากษาและคู่ความมารับพระราชทานคำให้การในลักษณะ “เผชิญสืบ” (พิจารณาคดีนอกสถานที่ตั้งศาล) ไม่ใช่พระองค์ทรงเสด็จไปให้การ ณ ที่ตั้งศาล การพระราชทานคำให้การดังกล่าว กระทำขึ้นในระหว่างที่ทรงเสด็จนิวัตรพระนครเป็นการชั่วคราว เพื่อประกอบ ๓ พระราชพิธีสำคัญ (ถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวงอานันท์, ราชาภิเษกสมรส และ ฉัตรมงคล)

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกหรือครั้งเดียวที่ทรงพระราชทานเล่าเหตุการณ์ที่แวดล้อมกรณีสวรรคต แต่เป็นครั้งเดียวที่ทรงให้การในศาล (และเป็นครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ที่พระมหากษัตริย์ทรงให้การในศาล) ๔ ปีก่อนหน้านั้น ในปี ๒๔๘๙ หลังการสวรรคตของในหลวงอานันท์ไม่กี่วัน เพื่อยุติกระแสข่าวลือที่เริ่มจะแพร่สะพัดเกี่ยวกับสาเหตุของการสวรรคตและวิกฤตทางการเมืองที่เริ่มก่อตัวขึ้นตามมา รัฐบาลปรีดี พนมยงค์ ในขณะนั้น ได้ประกาศตั้ง “กรรมการสอบสวนพฤติการณ์การสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล” ขึ้นคณะหนึ่ง มีหัวหน้าผู้พิพากษาทั้ง ๓ ศาลและเจ้านายชั้นสูงบางพระองค์เป็นกรรมการ คณะกรรมการฯได้ดำเนินการไต่สวนโดยเปิดเผยต่อสาธารณะในลักษณะคล้ายการดำเนินคดีของศาล (แต่ไม่มีโจทก์หรือจำเลย) ทำให้เป็นที่รู้จักกันทั่วไปในนาม “ศาลกลางเมือง”

เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๔๘๙ คณะกรรมการฯได้เข้าเฝ้าในหลวงองค์ปัจจุบันและสมเด็จพระราชชนนีที่พระที่นั่งบรมพิมาน (สถานที่เกิดเหตุ) ในหลวงองค์ปัจจุบันทรงมีพระราชดำรัสให้การแก่คณะกรรมการฯเป็นเวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง ระหว่าง ๑๑ โมงครึ่ง ถึงประมาณเที่ยงครึ่ง และสมเด็จพระราชชนนีทรงให้การจากเวลา ๑๕.๒๐ นาฬิกา ถึงประมาณ ๑๕.๔๐ นาฬิกา ตัวบทของพระราชดำรัสให้การต่อ “ศาลกลางเมือง” นี้ ได้รับการตีพิมพ์ทั้งในขณะนั้นและต่อๆมาอีกหลายครั้ง ครั้งหลังสุด ในฐานะส่วนหนึ่งของหนังสือรวบรวมบันทึกการสอบสวนของ “ศาลกลางเมือง” ที่ตีพิมพ์ในโครงการฉลอง ๑๐๐ ปีปรีดี พนมยงค์ (๒)

การพระราชทานคำให้การต่อคณะกรรมการฯเริ่มต้นกระทำกันในห้องบรรทมที่เกิดเหตุเอง โดยกรรมการได้สอบถามในหลวงองค์ปัจจุบันเกี่ยวกับตำแหน่งที่พบปลอกกระสุน และลักษณะพระวิสูตร แล้วกรรมการได้ให้นายตำรวจลองทำท่าทางเพื่อหาตำแหน่งและลักษณะที่คนร้ายจะถือปืนยิง ในกรณีที่เป็นการลอบปลงพระชนม์ ประกอบกับการขอให้ทรงแสดงความเห็น (ซึ่งไม่ได้ทรงแสดงแสดงความเห็นอะไรมากนัก ตัวบทส่วนนี้ เป็นคำพูดของกรรมการที่พยายามจะคาดเดาตำแหน่งการยิงของคนร้ายเป็นส่วนใหญ่) หลังจากนั้น จึงพากันลงมาที่ห้องรับแขกชั้นล่าง และทรงพระราชทานคำให้การต่อ โดยคณะกรรมการฯขอให้ทรงเล่าเหตุการณ์ในเช้าวันสวรรคตว่ำพระองค์ทรงพบเห็นอะไรบ้าง หลังจากนั้น จึงถามถึงพระอุปนิสัยของในหลวงอานันท์ในส่วนที่เกี่ยวกับการทรงปืน

ในทางการเมือง คำถามของคณะกรรมการฯและพระราชดำรัสตอบ ส่วนที่อาจจะมีนัยยะทางการเมืองมากที่สุด คือส่วนที่เกี่ยวกับความไม่ทรงพอพระราชหฤทัยของในหลวงอานันท์ต่อผู้อื่น หรือความไม่พอใจของผู้อื่นที่มีต่อในหลวงอานันท์ ข้อที่น่าสังเกตคือ พระราชดำรัสตอบของในหลวงองค์ปัจจุบัน ไม่มีเนื้อหาที่พาดพิงในเชิงกล่าวโทษผู้ใดทั้งสิ้น ดังนี้

ประธานกรรมการฯ นายชิตกับนายบุศย์ รับใช้เป็นที่สบพระราชหฤทัย หรือนัยหนึ่งเป็นที่ถูกพระราชอัธยาศัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศหรือไม่
พระราชกระแสฯ ในหลวงไม่เคยว่ามหาดเล็กคนหนึ่งคนใด ไม่ว่านายบุศย์หรือนายชิต ใครๆก็ไม่เคยว่าเลย
ประธานกรรมการฯ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศเคยทรงกริ้ว หรือแสดงไม่พอพระราชหฤทัย แม้เพียงเล็กน้อย แก่บุคคลทั้งสองนี้หรือไม่
พระราชกระแสฯ ไม่ทราบ อาจจะกริ้วนิดหน่อย เหมือนอย่างให้เอาโต๊ะมาวางข้างๆ แล้วไปวางเสียอีกข้างหนึ่ง แต่ไม่ใช่กริ้วจริงๆ
ประธานกรรมการฯ พวกชาวที่ก็ดี ยามก็ดี และคนอื่นๆก็ดี นอกจากนายชิตและนายบุศย์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศเคยแสดงไม่พอพระราชหฤทัย หรือกริ้วผู้ใดบ้าง พระราชกระแสฯ ก็บอกแล้วว่า ไม่เคยกริ้ว
ประธานกรรมการฯ ได้ทรงสังเกตเห็นว่า พวกเหล่านี้ มีใครบ้างที่แสดงว่าไม่พอใจหรือแสดงกิริยากระด้างกระเดื่องไม่พอใจในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ
พระราชกระแสฯ ก็ไม่เคยได้ยิน เขาอาจจะพูด แต่เขาไม่ให้เราฟัง
ประธานกรรมการฯ ทรงรู้สึกหรือสังเกตเห็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศไม่ทรงพอพระราชหฤทัย หรือทรงแสดงความลำบากพระราชหฤทัยอย่างหนักในการที่ต้องทรงปฏิบัติราชกิจบางอย่างบางประการบ้างหรือเปล่า
พระราชกระแสฯ ไม่เคยเลยอย่างหนัก มีแต่ว่าวันนี้เหนื่อยไม่อยากไป แต่ไม่เคยอย่างหนักจริงๆและไม่พอพระทัยจริงๆก็ไม่เคย
ประธานกรรมการฯ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศได้เคยทรงนำการบ้านการเมืองมารับสั่งหรือทรงปรึกษาใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทบ้างหรือเปล่า
พระราชกระแสฯ ไม่เคย เพราะฉันเป็นเด็ก
ประธานกรรมการฯ ได้เคยทรงพระราชปรารภหรือทรงแสดงพระราชอากัปกิริยาว่า ทรงคับแค้นพระราชหฤทัยอย่างรุนแรงด้วยเหตุอันใดบ้างหรือเปล่า
พระราชกระแสฯ ไม่เคย
ดังที่จะเห็นข้างล่าง ดูเหมือนจะมีความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญในเรื่องนี้ ในพระราชดำรัสให้การต่อศาลอาญาใน ๔ ปีต่อมา


พระราชดำรัสให้การต่อตำรวจ ๒๔๘๙ และต่อพระพินิจชนคดี ๒๔๙๑
พระราชดำรัสให้การต่อ “ศาลกลางเมือง” เป็นพระราชดำรัสเกี่ยวกับกรณีสวรรคตที่รู้จักกันดีที่สุด เพราะมีการตีพิมพ์ซ้ำค่อนข้างแพร่หลาย อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากพระราชดำรัสให้การต่อ “ศาลกลางเมือง” และพระราชดำรัสให้การต่อศาลอาญาในปี ๒๔๙๓ ที่ผมนำตัวบทมาเผยแพร่ข้างล่างแล้ว ยังมีหลักฐานว่า ในหลวงองค์ปัจจุบัน ได้ทรงให้การเกี่ยวกับกรณีสวรรคตอีกอย่างน้อย ๒ ครั้ง ซึ่งไม่เป็นที่รู้จักหรือกล่าวถึงกันนัก

ครั้งแรก ทรงให้การต่อตำรวจ ผมเข้าใจว่า น่าจะในวันเกิดเหตุหรือไม่กี่วันหลังจากนั้น แต่ต้องก่อนที่จะทรงให้การต่อ “ศาลกลางเมือง” เท่าที่ผมทราบ ดูเหมือนจะไม่เคยมีใครกล่าวถึงการให้การนี้ และไม่เคยปรากฏว่ามีการเผยแพร่บันทึกพระราชดำรัสให้การนี้ด้วย (ผมเข้าใจว่าน่าจะมีการบันทึกตามระเบียบราชการ) แต่เรามีหลักฐานว่า มีการพระราชทานคำให้การนี้ จากบันทึกคำถามของคณะกรรมการฯ “ศาลกลางเมือง” และพระราชดำรัสตอบ ต่อไปนี้ (การเน้นคำของผม)

ประธานกรรมการฯ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทได้พระราชทานคำตอบแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจมาบ้างแล้ว ในคำถามอันนี้ ดูเหมือนว่ายังมีที่สงสัยอยู่ จึงขอกราบบังคมทูลถามเพื่อความชัดเจนในเรื่องสาเหตุแห่งการสวรรคตนี้ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทได้เคยพระราชทานพระราชกระแสแก่หลวงนิตย์ฯ หรือแก่บุคคลอื่นเป็นประการใด บ้างหรือไม่
พระราชกระแสฯ ก็เคยบอกว่า อาจจะเป็นนี่จะเป็นนั่น เพราะไม่ทราบแน่ และก็ไม่ได้บอกว่าเป็นนี่แน่ เป็นอุปัทวเหตุหรือเป็นอะไรแน่ ฉันบอกว่าอาจจะเป็นอุปัทวเหตุ เพราะเห็นตำรวจเขาอาจจะเห็นว่าอุปัทวเหตุจริงๆแล้ว ฉันนึกว่า เขาพิสูจน์ไปตรวจได้เต็มที่แล้วก็อาจจะเป็นได้ แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นแน่
อีกครั้งหนึ่ง ทรงให้การต่อพระพินิจชนคดี ซึ่งรัฐบาลหลังการรัฐประหาร ๒๔๙๐ ตั้งให้เป็นนายตำรวจผู้รับผิดชอบคดี เราได้ทราบว่ามีการพระราชทานคำให้การครั้งนี้ จากบทความเรื่อง “เมื่อข้าพเจ้าบินไปสืบกรณีสวรรคต ที่สวิตเซอร์แลนด์” ซึ่งเป็นบันทึกคำสัมภาษณ์พระพินิจชนคดี (โดยผู้ใช้นามว่า “แหลมสน”) ตีพิมพ์ใน เกียรติศักดิ์ ฉบับวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๙๑(๓) พระพินิจชนคดีได้เล่าว่า หลังจากพิจารณาบันทึกคำให้การต่างๆใน “ศาลกลางเมือง” แล้ว เขาและคณะผู้รับผิดชอบคดีลงความเห็นว่า “ยากที่จะคลำหาเงื่อนงำคลี่คลายออกไปได้...จำเป็นจะต้อง...ขอพระราชทานการสอบสวนพระราชกระแสร์เพิ่มเติมจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระราชชนนี ผู้ทรงใกล้ชิดกับเหตุการณ์ และบุคคลอื่นๆอีกหลายคนซึ่งล้วนแต่อยู่ในต่างประเทศทั้งนั้น” เขาจึงขอและได้รับอนุมัติจากรัฐบาลให้เดินทางไปยุโรป และได้เข้าเฝ้ารับพระราชทานคำให้การจากทั้ง ๒ พระองค์ที่พระตำหนัก “วิลล่าวัฒนา” พระพินิจชนคดีได้บรรยายการเข้าเฝ้ารับพระราชทานคำให้การด้วยภาษาที่ค่อนข้าง melodramatic ดังนี้

ข้าพเจ้าและคณะใช้เวลาขอพระราชทานการสอบสวนสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในครั้งแรก ประมาณสองชั่วโมงเศษ ฉลองพระองค์ด้วยสักหลาดสีเกรย์ทั้งชุด ฉลองพระเนตรและพระเกษาซึ่งไม่ค่อยจะทรงพิถีพิถัน อย่างที่เคยประทับเคียงข้างกับในพระบรมโกษฐ์ ที่กรุงเทพฯทุกครั้งคราว อย่างไรก็อย่างนั้น แต่แววพระเนตรนั้นต่างหากที่ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกว่าทรงเศร้าสลดอยู่ไม่วาย และโดยฉะเพาะก็บ่อยครั้ง เมื่อข้าพเจ้าขอพระราชทานกระแสร์รับสั่งถึงภาพเมื่อวันสวรรคต พระอสุชลคลออยู่ในพระเนตรตลอดเวลา ดำรัสตอบกับข้าพเจ้าทุกครั้งด้วยคำว่า “พี่นันท์- -“ อย่างนั้น และ “พี่นันท์- -“ อย่างนี้ แล้วก็บางทีดำรัสเพียงคำว่า “พี่” คำเดียว ก็ทรงสดุดหยุดลงคล้ายกับจะทรงรำลึกถึงภาพในอดีต เมื่อชำเลืองพระเนตรไปพบกับภาพในเรือบตลำน้อยในวังบางปะอิน ในพระบรมโกษฐ์ทรงกรรเชียงอยู่เอื่อยๆ สิ่งนี้แหละที่ทำให้ข้าพเจ้าทวีความลำบากใจยิ่งขึ้น มันเป็นการรบกวนต่อความรู้สึกในพระราชหฤทัยเหลือเกิน ข้าพเจ้าได้ขอรับพระราชทานอภัยในเหตุนี้ ทรงยิ้มระรื่น แต่เต็มไปด้วยความเยือกเย็น รับสั่งว่า

“อดคิดถึงพี่ไม่ได้เลยแม้แต่ขณะเดียว ฉันเคยคิดว่า ฉันจะไม่ห่างจากพี่ตลอดชีวิต แต่มันเป็นเคราะห์กรรม ไม่ได้คิดเลยว่าจะเป็นกษัตริย์ คิดแต่จะเป็นน้องของพี่เท่านั้น”
ข้าพเจ้าได้กราบถวายบังคมทูลซักไซร้ต่อไปในหลายประเด็น ทรงตอบคำถามข้าพเจ้าอย่างเปิดเผยในทุกประเด็นเช่นเดียวกัน การขอพระราชทานสอบสวนในวันแรกนี้ ข้าพเจ้าได้ผ่อนในประเด็นซึ่งไม่รุนแรง และกะทบพระราชหฤทัยนัก เพราะถ้าจะรวบรัดให้เสร็จสิ้นภายในวันเดียวก็จะเป็นการกะทบกระเทือนต่อพระองค์มากไป ความเศร้าสลดต่อพี่ผู้ร่วมสายโลหิต แม้จะห่างไกลผ่านพ้นมาเกือบสองปีเต็มแล้วก็ยังเป็นความเศร้าที่ข้าพเจ้าเองก็พลอยสั่นสะเทือนไปด้วย ข้าพเจ้ากราบถวายบังคมลากลับโฮเต็ลในวันนี้เมื่อได้เวลาพอสมควร รับสั่งถามถึงความสดวกสบายแก่ข้าพเจ้าและคณะ ข้าพเจ้ากราบทูลว่าสดวกเรียบร้อยทุกประการ .................

ข้าพเจ้าใช้เวลาเวียนถวายการสอบสวนสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระราชชนนีประมาณ ๔ ครั้ง จึงเสร็จสิ้น การสอบสวนซึ่งนับว่าครบทุกประเด็นที่คณะกรรมการต้องการ นับเป็นการคลี่คลายมูลเหตุสวรรคตอันมหึมา
จากประวัติการทำคดีสวรรคตของพระพินิจชนคดีซึ่งมีทั้งการข่มขู่พยาน และการสร้างพยานเท็จ ทำให้เราควรต้องอ่านทุกอย่างที่เขาเขียนเกี่ยวกับคดีนี้ รวมทั้งรายละเอียดเรื่องการเข้าเฝ้านี้ อย่างไม่น่าเชื่อถือเสมอ จนกว่าจะมีหลักฐานอื่นมายืนยัน น่าเสียดายว่า หลักฐานเกี่ยวกับการสอบปากคำในหลวงในปี ๒๔๙๑ นี้ เช่นเดียวกับการสอบปากคำโดยตำรวจในปี ๒๔๘๙ ข้างต้น น่าจะสูญหายไปหมดแล้ว อย่างไรก็ตาม น่าสังเกตว่าแม้สิ่งที่พระพินิจฯเขียนข้างต้น จะไม่ควรเชื่อถือนัก แต่เฉพาะข้อความที่พระพินิจฯอ้างว่าในหลวงองค์ปัจจุบันทรงรับสั่ง (“อดคิดถึงพี่ไม่ได้เลยแม้แต่ขณะเดียว...ไม่ได้คิดเลยว่าจะเป็นกษัตริย์ คิดแต่จะเป็นน้องของพี่เท่านั้น”) ดูเหมือนจะมีการนำมาอ้างอิงกันต่อๆมา ในลักษณะที่เป็นพระราชดำรัสที่แท้จริง (authentic)


พระราชดำรัสให้การต่อศาล ๒๔๙๓
ดังกล่าวข้างต้นว่า ทรงให้การเป็นพยายนโจทก์ใน ๒ วัน คือวันศุกร์ที่ ๑๒ และวันจันทร์ที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ สยามนิกรวันอาทิตย์ ฉบับวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๔๙๓ ได้รายงานการทรงให้การในวันแรก ดังนี้

บรรทึกเสียงเผชิญสืบ
ในหลวงทรงให้การอย่างช้าๆ
องค์มนตรีนั่งฟังในหลวงครบชุด
--------------------

เมื่อวันที่ ๑๒ เดือนนี้ คณะผู้พิพากษาอันมีพระนิติธานพิเศษอธิบดีศาลอาญา นายวิจิตร อัครวิจิตรไกรฤกษ์ นายทวี เจริญพิทักษ์ หลวงกำจรนิติศาสตร หลวงการุณยนราทร พร้อมด้วยอัยยการ มีหลวงอรรถปรีชาชนูปการ หลวงอรรถโกวิทวที และนายเล็ก จุนนานนท์ สำหรับฝ่ายจำเลยมี นายฟัก ณ สงขลา น.ส.เครือวัลย์ ปทุมรส ทนายจำเลย และนายเฉลียว ปทุมรส นายชิต สิงหเสนี นายบุศย์ ปัทมศิรินทร์ จำเลย ซึ่งอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ณ ตำหนักสวนจิตลดาระโหฐาน เพื่อเผชิญสืบในกรณีสวรรคต

ก่อนเวลาที่ในหลวงจะเสด็จออกสู่ท้องพระโรง เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังได้จัดให้ผู้ไปเผชิญสืบพักในห้องรับแขก ครั้นได้เวลาเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จออกสู่ท้องพระโรง ด้วยฉลองพระองค์ชุดสีเทา ผูกเน็คไทสีม่วง และฉลองพระเนตรสีดำ พร้อมองคมนตรีครบชุด

การเผชิญสืบครั้งนี้ ทางสำนักพระราชวังได้ทำการอัดเส้นลวด ครั้นแล้วฝ่ายอัยยการได้ทูลซักพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตอบด้วยพระอิริยาบถช้าๆสำหรับทางด้านผู้พิพากษา หลวงการุณยนราทร ได้เป็นผู้จดการบรรทึก ครั้นแล้วก่อนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงลงพระปรมาภิไธย พระองค์ได้ทอดพระเนตรสำนวนพระราชกระแสเสร็จแล้ว จึงพระราชทานให้พระพิจิตราชสารอ่านถวาย มีบางตอนที่พระองค์ทรงสั่งให้พระจิตแก้ไข ในหลวงได้พระราชทานพระราชกระแสรับสั่ง สำหรับในตอนนั้นเสร็จสิ้นเมื่อ ๑๒.๓๐ น. และพระองค์จะพระราชทานพระกระแสรับสั่งแก่ผู้ไปเผชิญสืบอีกครั้งหนึ่ง ในวันที่ ๑๕ เดือนนี้


๔ วันต่อมา (๑๘ พฤษภาคม) สยามนิกร ได้ตีพิมพ์ตัวบทพระราชดำรัสคำให้การทั้งในวันที่ ๑๒ และ ๑๕ ฉบับเต็ม โดยมีพาดหัวนำ ดังนี้


“ร.๘ พระราชชนนีและฉัน ไม่มีอะไรหมองใจกัน”
ในหลวงรับสั่งกับศาล
ถึงเหตุการณ์วันสวรรคต
------------------

ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานกระแสพระราชดำรัส ในกรณีสวรรคตรวม ๒ คราว คือเมื่อวันที่ ๑๒ และ ๑๕ เดือนนี้นั้น เมื่อวันที่ ๑๖ เดือนนี้ ศาลก็อนุญาตให้หนังสือพิมพ์คัดพระราชดำรัสมาลงพิมพ์ได้

สยามนิกร ไม่ได้อธิบายว่าการ “คัดพระราชดำรัสมาลงพิมพ์” นั้น ทำอย่างไร แต่ พิมพ์ไทย ฉบับวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ซึ่งตีพิมพ์ตัวบทพระราชดำรัสคำให้การเช่นกัน (แต่ไม่สมบูรณ์และลำดับย่อหน้าผิดพลาดสับสน) ได้อธิบายว่า “ศาลได้ยินยอมให้หนังสือพิมพ์นำพระราชกระแสร์รับสั่งของพระองค์เปิดเผยได้ โดยผู้พิพากษานายหนึ่งเป็นคนบอกให้นักหนังสือพิมพ์จดเมื่อบ่ายวันวานนี้”


การตีพิมพ์ซ้ำ
เท่าที่ผมค้นคว้าได้ขณะนี้ นอกจาก สยามนิกร ฉบับวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๔๙๓ ที่ตีพิมพ์ตัวบทพระราชดำรัสให้การฉบับเต็มแล้ว มีการตีพิมพ์ซ้ำอีกเพียง ๓ แห่ง คือ

แห่งแรก ในหนังสือโปรเจ้าแอนตี้ปรีดีของ ดำริห์ ปัทมะศิริ ในหลวงอานันท์ฯกับปรีดี ในปี ๒๔๙๓ (สำนักพิมพ์รัชดารมภ์, หน้า ๓๙๖-๔๐๙) หนังสือเล่มนี้ดูเหมือนไม่เคยมีการตีพิมพ์ซ้ำ

แห่งที่ ๒ ในหนังสือโปรเจ้าแอนตี้ปรีดีอีกเล่มหนึ่ง ในหลวงอานันทกับคดีลอบปลงพระชนม์ ของ ชาลี เอี่ยมกระสินธ์ โดยสำนักพิมพ์พีจี ของ พจนาถ เกสจินดา หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรก ในช่วงเดียวกับที่มีกระแสการตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับกรณีสวรรคตอย่างขนานใหญ่ในปี ๒๕๑๗ โดยพิมพ์ถึง ๒ ครั้งในปีนั้น แล้วตีพิมพ์ซ้ำอีกในปี ๒๕๒๐ ปรีดีได้ฟ้องหมิ่นประมาทหนังสือเล่มนี้และชนะคดี แล้วได้นำคำฟ้อง (ที่เขาเขียนเอง) และคำตัดสินยอมความของศาลมาตีพิมพ์เป็นหนังสือเล่มในปี ๒๕๒๓ ในชื่อ คำตัดสินใหม่กรณีสวรรคต ร.๘ ตัวบทพระราชดำรัสให้การที่ชาลี นำมาตีพิมพ์ในหนังสือของเขานี้ น่าจะเอามาจากตัวบทที่ตีพิมพ์ในหนังสือของดำริห์ เพราะมีที่ผิดพลาดสำคัญเหมือนกัน (ดูข้างหน้า)

แห่งที่ ๓ ในปี ๒๕๓๑ บุญร่วม เทียมจันทร์ อัยการพิเศษ ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการ กรมอัยการ ได้นำพระราชดำรัสคำให้การ มาตีพิมพ์ในหนังสือของเขาชื่อ คดีพยายามลอบปลงพระชนม์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช (ร.๙) เขาไม่ระบุแหล่งที่มาของตัวบท แต่น่าเชื่อว่า คงมาจากหนังสือของชาลี หรือดำริห์ เพราะมีที่ผิดซ้ำเหมือนๆกัน ชื่อหนังสือของบุญร่วม พาดพิงถึงกรณีที่มีการวางระเบิดหน้าที่ประทับในหลวงองค์ปัจจุบันขณะทรงเสด็จยะลาในปี ๒๕๒๐(๔)


ปัญหาบางประการเกี่ยวกับพระราชดำรัสให้การ ๒๔๙๓
ในที่นี้ ผมขอตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับพระราชดำรัสให้การ ๒๔๙๓ ใน ๒ ลักษณะ คือ ในประเด็นที่เกี่ยวกับเนื้อหาของพระราชดำรัส และ ในประเด็นที่เกี่ยวกับการตีพิมพ์ซ้ำ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาในการตีความบางประการ

ในส่วนเนื้อหาของพระราชดำรัสนั้น ผมคิดว่า ผู้ใดทีอ่านพระราชดำรัสให้การ ๒๔๙๓ เปรียบเทียบกับคำให้การที่ทรงพระราชทานต่อ “ศาลกลางเมือง” ย่อมอดสะดุดใจไม่ได้ว่าพระราชดำรัสให้การ ๒๔๙๓ มีเนื้อหาในเชิงเป็นผลร้ายต่อปรีดี พนมยงค์ และต่อจำเลยคดีสวรรคต โดยเฉพาะเฉลียว ปทุมรส ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้สนับสนุน (บริวาร) ใกล้ชิดของปรีดี(๕) หากลองเปรียบเทียบข้อความในพระราชดำรัสคำให้การต่อ “ศาลกลางเมือง” ที่ยกตัวอย่างข้างต้น กับข้อความในย่อหน้า [10] ถึง [16] และย่อหน้า [25] ของพระราชดำรัสให้การ ๒๔๙๓ ดังนี้

[10] ฉันเคยทราบว่านายเฉลียว ได้นั่งรถยนตร์เข้าไปถึงหน้าพระที่นั่งบรมพิมาน ในหลวงรัชชกาลที่ ๘ จะทรงพอพระราชหฤทัยในการกระทำเช่นนั้นหรือไม่ ฉันไม่รู้ เคยมีครั้งหนึ่งที่สมเด็จพระราชชนนีรับสั่งเรียกรถยนตร์ไม่ได้มา เหตุที่ไม่ได้มา เพราะคันหนึ่งไปซ่อม อีกคันหนึ่งเอาไปให้นายปรีดี เขาว่ากันว่า นายเฉลียว เป็นผู้จัดส่งรถไปให้นายปรีดี แล้วนายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรี ได้ส่งรถมาถวายให้ทรงใช้แทน

[11] ในหลวงรัชชกาลที่ ๘ ไม่เคยรับสั่งอะไรกับฉันถึงการเข้าเฝ้าของนายเฉลียวว่ามีคารวะหรือไม่ การที่นายเฉลียวพ้นตำแหน่งราชเลขานุการในพระองค์นั้น น่าจะเป็นด้วยในหลวงไม่พอพระราชหฤทัย เหตุที่ไม่พอพระราชหฤทัย เพราะอะไรไม่ได้รับสั่งแก่ฉันให้ทราบ

[12] ในคราวเสด็จประพาสหัวหิน นายปรีดีโดยเสด็จด้วย ในคราวนั้นนายปรีดีได้สั่งเอารถจี๊ปไปใช้ โดยไม่ได้ขออนุญาต และนายปรีดีได้เคยจัดให้มีงานเลี้ยงขึ้นที่นั่น เลี้ยงพวกใต้ดิน จัดเลี้ยงโดยไม่ได้ขอพระบรมราชานุญาต ในการเลี้ยงนั้นมีเสียงเอะอะ

[13] นายปรีดีเคยว่า จะสั่งให้เอาเปียนโนมาถวาย จะสั่งมาจากไหนไม่ได้บอก ขณะนำมาถวายฉันไม่ได้อยู่ด้วย ในขั้นต้นฉันเข้าใจว่า เปียนโนนั้นเป็นของนายปรีดี ต่อมาพระยาชาติฯบอกว่าเป็นของสำนักพระราชวัง

[14] เกี่ยวกับการตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในการที่ในหลวงรัชชกาลที่ ๘ จะเสด็จต่างประเทศนั้น ฉันได้รู้บ้าง ความเห็นของนายปรีดีในการจะตั้งผู้สำเร็จราชการ จะตรงกับพระราชดำริห์หรือไม่ ฉันไม่ทราบ

[15] เกี่ยวกับการตั้งราชเลขานุการแทนนายเฉลียวที่พ้นตำแหน่ง ฉันรู้บ้าง ในหลวงมีพระราชประสงค์จะทรงตั้งท่านนิกรเทวัญ เทวกุล นายปรีดีปฏิบัติการสนองพระราชประสงค์นั้นชักช้า

[16] ในการที่ในหลวงจะเสด็จกลับสวิสเซอร์แลนด์ โดยผ่านไปทางประเทศอเมริกาและยุโรปนั้น เป็นพระราชประสงค์ของพระองค์ท่าน และทรงพระประสงค์จะได้เสด็จไปโดยเร็ว พระราชประสงค์นี้จนใกล้จะสวรรคตก็มิได้เปลี่ยนแปลง รัฐบาลจัดการเรื่องเสด็จนั้นเร็วช้าประการใดไม่ทราบ ในที่สุด ได้กำหนดเสด็จกลับสวิตเซอร์แลนด์ในวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๔๘๙

[25] รถจี๊ปที่นายปรีดีเอาไปใช้นั้น เป็นรถส่วนพระองค์

ควรเข้าใจว่า ลักษณะการบันทึกคำให้การของพยานในศาลไทย ดังเช่นในกรณีพระราชดำรัสให้การ ๒๔๙๓ นี้ ใช้วิธีที่ผู้พิพากษาจดเฉพาะคำตอบของพยานเท่านั้น ไม่จดคำถามของอัยการหรือทนายจำเลย เมื่อสิ้นสุดการให้การในวันนั้นแล้ว ผู้พิพากษาก็เรียบเรียงคำตอบที่เขาจดไว้เหล่านั้น ออกมาเป็นข้อความที่ต่อเนื่องกันในลักษณะราวกับว่า พยานกำลังให้การด้วยการพูดออกมาเองคนเดียว (monologue) ไม่ใช่การพูดโต้ตอบกับคำถามที่อัยการหรือทนายจำเลยตั้งขึ้น ในแง่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ สำหรับวิเคราะห์ความคิดของบุคคลใด บันทึกคำให้การของพยานลักษณะนี้ อาจทำให้ให้ตีความไขว้เขวคลาดเคลื่อนได้ เพราะความจริง ตัวบทบันทึกคำให้การไม่ได้แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่พยานพูดตามที่บันทึกนั้น เป็นการพูดออกมาเอง หรือเป็นการตอบสนองต่อ คำถามที่มีลักษณะเชิงชี้นำก่อน มากน้อยเพียงใด (ใครที่ศึกษาเรื่องการสัมภาษณ์ทางสื่อมวลชนสมัยใหม่อย่างจริงจัง ควรทราบดีว่า “คำตอบ” เป็นอย่างไร ที่สำคัญไม่น้อยขึ้นอยู่กับการตั้ง “คำถาม” ด้วย)

การที่ผู้พิพากษาเรียบเรียงใหม่ ซึ่งทำให้เกิดการเพิ่มหรือตัด “คำเล็กๆ” ประเภทคำสร้อยหรือบุพบทสันธาน เข้ามาหรือออกไป ในแง่ของวิเคราะห์ตัวบท (textual analyses) ถือว่ามีความสำคัญ เพราะ “คำเล็กๆ” เหล่านั้น สามารถทำให้น้ำหนักของประโยคเปลี่ยนไปได้ ในบางกรณีการเพิ่มหรือตัด อาจจะไม่ใช่เพียง “คำเล็กๆ” เพราะผุ้พิพากษาต้องเรียบเรียงคำให้การใหม่ให้อ่านได้ต่อเนื่อง ดังนั้น ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีที่พยานเพียงตอบสั้นๆ ต่อคำถามบางคำถาม โดยไม่ได้ทวนคำถามนั้นซ้ำ (คือตอบเพียง “ใช่”, “ไม่ใช่” หรือ “ไม่ทราบ”) เมื่อผู้พิพากษาเรียบเรียงใหม่ ย่อมต้องเขียนคำถามของผุ้ถาม เข้าไปในลักษณะเป็นส่วนหนึ่งของ “คำพูด” ของพยานด้วย ทั้งๆที่ในความเป็นจริง ข้อความหรือการเลือกใช้คำ (phrasing) ตอนนั้นเป็นของผุ้ถาม ไม่ใช่ของผู้ตอบ

ยิ่งกว่านั้น หลังจากผู้พิพากษาเรียบเรียงบันทึกคำให้การของพยานเสร็จแล้ว จะอ่านทวนให้พยานฟัง พยานเองยังอาจขอแก้ไขบางคำได้ คำบางคำในบันทึกคำให้การจึงอาจจะไม่ใช่คำที่พยานใช้จริงๆในระหว่างให้การ แต่เป็นผลจากการแก้ไขนี้ (ดูรายงานข่าวใน สยามนิกร ที่ยกมาข้างต้นที่ว่า “สำหรับทางด้านผู้พิพากษา หลวงการุณยนราทร ได้เป็นผู้จดการบรรทึก ครั้นแล้วก่อนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงลงพระปรมาภิไธย พระองค์ได้ทอดพระเนตรสำนวนพระราชกระแสเสร็จแล้ว จึงพระราชทานให้พระพิจิตราชสารอ่านถวาย มีบางตอนที่พระองค์ทรงสั่งให้พระจิตแก้ไข”)

สรุปแล้ว บันทึกคำให้การพยาน เป็นหลักฐานที่เสี่ยงต่อการคลาดเคลื่อนจากความจริงไม่น้อย โดยเฉพาะคือ ส่วนที่เป็นความละเอียดอ่อน (subtleties) ต่างๆที่มีความสำคัญต่อการวิเคราะห์ในแง่ความคิดหรือท่าทีของบุคคลผู้เป็นพยาน

อย่างไรก็ตาม ในกรณีนี้ แม้ว่าเราควรตระหนักถึงข้อจำกัดต่างๆ (qualifications) ที่เกิดจากลักษณะของการบันทึกคำให้การพยานในศาลดังกล่าวแล้วก็ตาม ด้านที่พระราชดำรัสให้การต่อศาลในคดีสวรรคตของในหลวงองค์ปัจจุบันในปี ๒๔๙๓ มีเนื้อหาเชิงลบต่อปรีดี ก็ยังเป็นสิ่งที่ชวนสะดุดใจสังเกตเป็นอย่างยิ่ง


ปัญหาที่เกิดจากการตีพิมพ์ซ้ำ
เท่าที่ผมมองเห็นในตอนนี้ มีปัญหาเกี่ยวกับตัวบทพระราชดำรัสคำให้การคดีสวรรคต ๒๔๙๓ ที่ถูกตีพิมพ์ซ้ำต่อๆกันมา อยู่ ๓ จุด จุดแรก เป็นปัญหาตั้งแต่การตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์สมัยนั้นอย่าง สยามนิกร และ พิมพ์ไทย ส่วนอีก ๒ จุด เป็นปัญหาที่เกิดจากความผิดพลาดในการตีพิมพ์ ในหนังสือของ ดำริห์ ปัทมะศิริ แล้วถูกผลิตซ้ำในหนังสือของ ชาลี เอี่ยมกระสินธ์ และ บุญร่วม เทียมจันทร์ ที่เอาฉบับของดำริห์ เป็นต้นแบบ ผมขออธิบายปัญหาแต่ละจุดตามลำดับ

(๑) ตั้งแต่ฉบับที่ตีพิมพ์ในสยามนิกร และ พิมพ์ไทย ไม่กี่วันหลังจากทรงพระราชทานคำให้การ ไปจนถึงฉบับที่พิมพ์ในหนังสือของดำริห์และคนอื่นๆ มีข้อความอยู่ตอนหนึ่งในตัวบทพระราชดำรัสให้การ ที่ไม่ตรงกับที่อัยการโจทก์นำมาอ้างในคำแถลงปิดคดีของตน คือข้อความต่อไปนี้ในย่อหน้า [12]
[12] ในคราวเสด็จประพาสหัวหิน นายปรีดีโดยเสด็จด้วย ในคราวนั้นนายปรีดีได้สั่งเอารถจี๊ปไปใช้ โดยไม่ได้ขออนุญาต และนายปรีดีได้เคยจัดให้มีงานเลี้ยงขึ้นที่นั่น เลี้ยงพวกใต้ดิน จัดเลี้ยงโดยไม่ได้ขอพระบรมราชานุญาต ในการเลี้ยงนั้นมีเสียงเอะอะ
ในคำแถลงปิดคดี (ลงวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๔๙๔) อัยการโจทก์ได้อ้างพระราชดำรัสตอนนี้ และมีประโยคหนึ่งเพิ่มเข้ามา ซึ่งยิ่งมีเนื้อหาเชิงลบต่อปรีดีมากขึ้นไปอีก ดังต่อไปนี้ (การเน้นคำของผม)
ในคราวเสด็จประพาสหัวหิน นายปรีดี พนมยงค์ ได้โดยเสด็จพักอยู่ด้วย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันได้พระราชทานพระราชกระแสรับสั่งต่อศาลว่า “นายปรีดีฯ ปฏิบัติการไม่พอพระราชหฤทัยมีหลายอย่าง นายปรีดีฯ ได้สั่งเอารถจี๊ปไปใช้ โดยไม่ได้ขออนุญาต นายปรีดีฯ ได้เคยจัดให้มีการเลี้ยงขึ้นที่นั่น โดยไม่ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ในการเลี้ยงนี้มีเสียงเอะอะ”(๖)
ประโยค “นายปรีดีฯปฏิบัติการไม่พอพระราชหฤทัยหลายอย่าง” เป็นประโยคที่ในหลวงองค์ปัจจุบันรับสั่งจริงๆ หรืออัยการจดมาผิด? (น่าสังเกตด้วยว่า ประโยคที่ตามมาก็มีบางคำไม่ตรงกับในฉบับที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ คือไม่มี “เลี้ยงพวกใต้ดิน” แต่จุดนี้อัยการเองอาจจะอ้างมาแบบไม่ครบ) โดยทั่วไปอัยการน่าจะมีคำให้การของพยานฉบับทางการ คือฉบับที่ผู้พิพากษาจดและเรียบเรียงอ่านให้พยานลงนาม และน่าจะอ้างอิงจากฉบับทางการนั้น ซึ่งถ้าเช่นนั้น ในกรณีนี้ ก็แปลว่า ฉบับที่พิมพ์ในหนังสือพิมพ์มีความคลาดเคลื่อน (เป็นไปได้หรือไม่ว่า ในการที่ “ผู้พิพากษานายหนึ่งเป็นคนบอกให้นักหนังสือพิมพ์จด” ได้ “บอกจด” ผิดพลาด ข้ามประโยคนี้ไป?)

แน่นอน สมมุตว่า ฉบับที่อัยการอ้างในคำแถลงปิดคดีเป็นฉบับทางการที่ถูกต้อง และมีประโยคดังกล่าวในบันทึกพระราชดำรัสให้การจริงๆ เราก็ยังไม่สามารถบอกได้เด็ดขาดลงไปว่า ในหลวงองค์ปัจจุบันมีรับสั่งเช่นไรแน่ อันเนื่องมาจากลักษณะวิธีการจดบันทึกคำให้การพยานที่ผมอธิบายข้างต้น เช่น ในการถาม-ตอบจริงๆ อัยการอาจจะถามว่า “ได้ยินว่า นายปรีดีฯปฏิบัติการไม่พอพระราชหฤทัยหลายอย่าง ทรงยกตัวอย่างได้ไหมพะยะค่ะ?” แล้วในหลวงองค์ปัจจุบันทรงตอบว่า “นายปรีดีฯ ได้สั่งเอารถจี๊ปไปใช้ โดยไม่ได้ขออนุญาต...” แต่เมื่อผู้พิพากษาเรียบเรียงใหม่ ได้รวมทั้งประโยคที่อัยการถาม และที่ทรงตอบเข้าด้วยกัน เป็นพระราชดำรัสให้การ แต่ต้องไม่ลืมว่า ในหลวงองค์ปัจจุบันต้องทรงอ่านทวนคำให้การที่ผุ้พิพากษาเรียบเรียงใหม่นี้ แล้วลงพระปรมาภิไธยรับรองว่าเป็นของพระองค์ ที่แน่นอนคือ การมีประโยคนี้ ทำให้ข้อความในย่อหน้า ที่มีลักษณะในเชิงลบต่อปรีดีอยู่แล้ว มีน้ำหนักเชิงลบต่อปรีดีเพิ่มขึ้นอย่างมาก

(๒) ตัวบทพระราชดำรัสให้การที่ตีพิมพ์ในหนังสือของ ดำริห์ ปัทมะศิริ (และในหนังสือของชาลี และบุญร่วม ที่เอาดำริห์เป็นต้นแบบ) มีที่ผิดพลาด คือ ในระหว่างย่อหน้า [25] กับย่อหน้า [26] ควรจะมีข้อความหรือหัวข้อใหม่ว่า “(ทรงตอบทนายจำเลย)” (เขียนในวงเล็บแบบนี้) นั่นคือ ข้อความจากย่อหน้า [26] เป็นต้นไป ถึงย่อหน้า [34] เป็นข้อความที่ทรงตอบคำถามของทนายจำเลย ไม่ใช่ของโจทก์ การพิมพ์ตกหล่นนี้ มีส่วนสำคัญที่ทำให้ ปรีดีตีความผิดว่า การเผชิญสืบในหลวงองค์ปัจจุบันครั้งนี้ กระทำกันที่สวิตเซอร์แลนด์ โดยไม่มีฝ่ายจำเลยเข้าร่วมด้วย ซึ่งปรีดีเสนอว่า (เมื่อรวมกับการเผชิญสืบพระราชชนนีที่สวิตเซอร์แลนด์ โดยไม่มีฝ่ายจำเลยเข้าร่วมด้วยจริงๆ) ทำให้การดำเนินคดีทั้งหมด ควรถูกถือเป็นโมฆะ(๗)

(๓) นอกจากนี้ ดำริห์ยังได้ตีพิมพ์ข้อความในย่อหน้า [2] ของพระราชดำรัสให้การผิดพลาด ดังนี้ (การเน้นคำของผม)
[2] ในเช้าวันที่ ๙ มิถุนายนนั้น ฉันกินอาหารเช้าเวลาใดบอกไม่ใคร่ถูก แต่ประมาณราว ๘.๓๐ น. กินที่มุขพระที่นั่งชั้นบนด้านหน้า (โจทก์ขอให้ทรงชี้หุ่นจำลองพระที่นั่ง ได้นำมาจากศาลด้วย ฃ ทรงชี้ตรงที่แสดงไว้ในหุ่น) กินอาหารแล้วฉันได้เดินไปทางห้องบรรทมในหลวงรัชชกาลที่ ๘ ซึ่งเป็นเวลา ๙.๐๐ น.ได้พบนายชิตกับนายบุศย์ อยู่ที่หน้าห้องแต่งพระองค์ เห็นนั่งอยู่ (ทรงชี้หุ่นจำลอง ตรงกับจุด ๒ จุด ที่จุดไว้ในแผนผัง หมายเลข ๑) นายชิต นายบุศย์ นั่งอยู่เฉยๆ ฉันได้ถามเขาว่า ในหลวงพระอาการเป็นอย่างไร ได้รับตอบว่าพระอาการดีขึ้น ใครเป็นผู้ตอบจำไม่ได้ เขาตอบไปว่าทรงสบายดีขึ้น ได้เสด็จห้องสรงแล้ว ต่อจากนั้น ฉันได้เดินไปยังห้องของฉัน เดินไปตามเฉลียงด้านหลัง ตรงเข้าไปในห้องนอนของฉัน แล้วก็เข้าไปในห้องเครื่องเล่น เดินเข้าๆออกๆอยู่ที่สองห้องนี้ ระหว่างนั้นซึ่งเป็นเวลาประมาณ ๙.๒๕ น. ได้ยินเสียงคนร้อง ได้ยินในขณะที่อยู่ในห้องเครื่องเล่น ก่อนได้ยินเสียงร้องได้เห็นคนวิ่งผ่านประตูห้องบรรไดซึ่งอยู่ติดกับห้องเครื่องเล่น (ทรงชี้หุ่นจำลองและแผนผังหมายเลข ๑ และศาลได้ขีดเส้นด้วยดินสอสีแดงเป็นลูกศรแสดงทางที่เห็นคนวิ่งไปในแผนผัง) เสียงคนร้องเป็นเสียงใครจำไม่ได้ ได้ยินเสียงร้องแล้ว ฉันได้ออกจากห้องเครื่องเล่นไปยังเฉลียงด้านหน้าโดยผ่านทางห้องบรรได (ทรงขีดเส้นดินสอแดงไว้ในแผนผังหมายเลข ๑ แสดงทางที่พระองค์เสด็จ) ได้พบน.ส.จรูญ ที่หน้าห้องข้าหลวง ถาม น.ส.จรูญ ว่ามีอะไรเกิดเรื่องอะไร ได้รับตอบว่าในหลวงยิงพระองค์ ฉันได้ยินดังนั้นก็ตรงไปยังห้องพระบรรทมในหลวงรัชชกาลที่ ๘ (ทรงขีดเส้นหมึกในแผนผังหมายเลข ๑ แสดงเส้นทางที่เสด็จตรงไปยังห้องพระบรรทม)
ข้อความตอนนี้ที่ถูกต้องคือ “ฉันได้เดินไปยังห้องของฉัน เดินไปตามเฉลียงด้านหลัง ตรงเข้าไปในห้องนอนของฉัน แล้วก็เข้าไปในห้องเครื่องเล่น เดินเข้าๆออกๆอยู่ที่สองห้องนี้ ระหว่างนั้นซึ่งเป็นเวลาประมาณ ๙.๒๕ น. ได้ยินเสียงคนร้อง....” ข้อความที่พิมพ์ผิด ตกหล่นไปประมาณ ๑ บรรทัดนี้ ทำให้อ่านไม่ได้ความหมายใดๆ แน่นอน ต่อมาในย่อหน้า [26] ทรงใช้คำใกล้เคียงกันอีก (และดำริห์พิมพ์ได้ถูกต้อง) ว่า “ระหว่างที่ฉันเดินไปๆมาๆอยู่ในห้องนอนและห้องเครื่องเล่นนั้น จะมีใครอยู่ในสองห้องนั้นบ้างไหม ไม่ได้สังเกต” แต่ถ้าอ่านข้อความในย่อหน้า [2] ไม่รู้เรื่องแล้ว ก็ยากจะเข้าใจนัยยะของข้อความในย่อหน้า [26] ได้ และจากการพิมพ์ตกหล่น คำว่า “ทรงตอบทนายจำเลย” ก่อนย่อหน้า [26] ทำให้ไม่สามารถเข้าใจว่า ข้อความส่วนนี้ เป็นการทรงตอบการซักค้านของทนายจำเลย ต่อคำตอบที่ทรงให้โจทก์ (และถูกพิมพ์ผิด) ในย่อหน้า [2] (ประเด็นพระองค์ทรงอยู่ที่ใดขณะเกิดเสียงปืน)
ยิ่งกว่านั้น ประโยคที่ดำริห์พิมพ์ผิดนี้ อาจจะมีนัยยะสำคัญต่อการเข้าใจเหตุการณ์แวดล้อมการสวรรคตได้ อย่างน้อย นี่คือประเด็นที่ สุพจน์ ด่านตระกูล พยายามนำเสนอ ในหนังสือที่มีความสำคัญขั้นขี้ขาดของเขาเรื่อง ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต สุพจน์ได้ตีพิมพ์พระราชดำรัสให้การย่อหน้านี้ และเน้นคำประโยคนี้ (ที่ดำริห์และคนอื่นๆพิมพ์ผิด) โดยเปรียบเทียบกับบางส่วนของคำให้การของพยานโจทก์อีกคนหนึ่ง คือพระพี่เลี้ยงเนื่อง จินตดุลย์ เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๔๙๑ ต่อไปนี้ (การเน้นคำเป็นของสุพจน์)
ข้าพเจ้าอยู่ในห้องสมเด็จพระราชชนนีเป็นเวลาราว ๒๐ นาที จึงออกจากห้องสมเด็จพระราชชนนีไปทางห้องในหลวงองค์ปัจจุบันโดยเข้าไปจัดฟิล์มหนัง เมื่อเข้าไปในห้อง ข้าพเจ้าไม่พบใครแม้แต่ในหลวงองค์ปัจจุบัน ซึ่งพระองค์จะเสด็จไปประทับอยู่ที่ไหนในขณะนั้นก็หาทราบไม่ ขณะที่ข้าพเจ้ากำลังจัดฟิล์มหนังอยู่นั้น ก็ได้ยินเสียงดังมาก เป็นเสียงปืน ดังทีเดียวเท่านั้น ข้าพเจ้านึกสงสัยว่าอะไรจึงดังเช่นนั้น จึงรีบออกมาทางระเบียงด้านหลัง ผ่านห้องเครื่องเล่นของในหลวงองค์ปัจจุบัน ห้องบันได พอมาถึงห้องพระภูษาก็ได้ยินเสียงวิ่ง (พยานชี้ให้ดูแผนผัง) ตามระเบียงด้านหน้า ขณะนั้นคะเนว่าไม่ใช่คนเดียว และวิ่งไปทางทิศตะวันออกคืไปทางห้องในหลวงในพระบรมโกษฐ์ เมื่อได้ยินเช่นนั้น ข้าพเจ้าจึงออกวิ่งบ้าง วิ่งไปทางระเบียงด้านหลัง มุ่งตรงไปห้องในหลวงในพระบรมโกษฐ์ ระหว่างทางนั้นจะมีใครอยู่แถวที่ผ่านไปบ้างหรือไม่ ไม่ได้สังเกต และพระฉากที่ประตูห้องของพระองค์จะเปิดหรือยัง ไม่ได้สังเกตทั้งนั้น(๘)
ตัวบท
ตัวบทพระราชดำรัสให้การในศาลคดีสวรรคตปี ๒๔๙๓ ที่ผมนำมาเผยแพร่ข้างล่างนี้ ผมถือเอาฉบับที่ตีพิมพ์ใน สยามนิกร วันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๔๘๙ เป็นหลัก โดยเปรียบเทียบกับฉบับที่พิมพ์ไม่สมบูรณ์ใน พิมพ์ไทย วันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๔๘๙ และฉบับเต็มที่ ดำริห์ พิมพ์ในหนังสือของเขา (แล้วชาลี และ บุญร่วม เอามาพิมพ์ต่อ) ผมตัดแบ่งย่อหน้าเพิ่มเติมบางแห่งจากฉบับที่พิมพ์ใน สยามนิกร

คำให้การพะยานโจทก์
คดีหมายเลขดำที่ ๑๘๙๘/๒๔๙๑

ศาลอาญา

วันที่ ๑๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓

ความอาญาระหว่าง อัยการ โจทก์
นายเฉลียว ปทุมรส กับพวก จำเลย

ข้าพเจ้าขอให้การว่า ข้าพเจ้าชื่อ พระบาทสมเด็จพระปริมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และขอให้การต่อไป (ทรงตอบโจทก์)

[1] ในวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ ฉันไปในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระองค์เจ้าอาทิตย์แทนรัชชกาลที่ ๘ และในคืนเดียวกันนั้น ไปในกรมทหารมหาดเล็ก แต่มิใช่ไปแทนพระองค์ เหตุที่รัชชกาลที่ ๘ ไม่ได้เสด็จในงานพระศพพระองค์เจ้าอาทิตย์ ก็เพราะไม่ทรงสบาย อาการไม่ทรงสบายนั้น ไม่ถึงขนาดต้องบรรทมอยู่กับพระแท่น ยังทรงพระราชดำเนินไปมาบนพระที่นั่งได้ ไม่ทรงสบายด้วยพระโรคอะไรฉันไม่ใช่หมอ ได้ยินแต่รับสั่งเพียงว่าไม่สบาย

[2] ในเช้าวันที่ ๙ มิถุนายนนั้น ฉันกินอาหารเช้าเวลาใดบอกไม่ใคร่ถูก แต่ประมาณราว ๘.๓๐ น. กินที่มุขพระที่นั่งชั้นบนด้านหน้า (โจทก์ขอให้ทรงชี้หุ่นจำลองพระที่นั่ง ได้นำมาจากศาลด้วย ฃ ทรงชี้ตรงที่แสดงไว้ในหุ่น) กินอาหารแล้วฉันได้เดินไปทางห้องบรรทมในหลวงรัชชกาลที่ ๘ ซึ่งเป็นเวลา ๙.๐๐ น.ได้พบนายชิตกับนายบุศย์ อยู่ที่หน้าห้องแต่งพระองค์ เห็นนั่งอยู่ (ทรงชี้หุ่นจำลอง ตรงกับจุด ๒ จุด ที่จุดไว้ในแผนผัง หมายเลข ๑) นายชิต นายบุศย์ นั่งอยู่เฉยๆ ฉันได้ถามเขาว่า ในหลวงพระอาการเป็นอย่างไร ได้รับตอบว่าพระอาการดีขึ้น ใครเป็นผู้ตอบจำไม่ได้ เขาตอบไปว่าทรงสบายดีขึ้น ได้เสด็จห้องสรงแล้ว ต่อจากนั้น ฉันได้เดินไปยังห้องของฉัน เดินไปตามเฉลียงด้านหลัง ตรงเข้าไปในห้องนอนของฉัน แล้วก็เข้าไปในห้องเครื่องเล่น เดินเข้าๆออกๆอยู่ที่สองห้องนี้ ระหว่างนั้นซึ่งเป็นเวลาประมาณ ๙.๒๕ น. ได้ยินเสียงคนร้อง ได้ยินในขณะที่อยู่ในห้องเครื่องเล่น ก่อนได้ยินเสียงร้องได้เห็นคนวิ่งผ่านประตูห้องบรรไดซึ่งอยู่ติดกับห้องเครื่องเล่น (ทรงชี้หุ่นจำลองและแผนผังหมายเลข ๑ และศาลได้ขีดเส้นด้วยดินสอสีแดงเป็นลูกศรแสดงทางที่เห็นคนวิ่งไปในแผนผัง) เสียงคนร้องเป็นเสียงใครจำไม่ได้ ได้ยินเสียงร้องแล้ว ฉันได้ออกจากห้องเครื่องเล่นไปยังเฉลียงด้านหน้าโดยผ่านทางห้องบรรได (ทรงขีดเส้นดินสอแดงไว้ในแผนผังหมายเลข ๑ แสดงทางที่พระองค์เสด็จ) ได้พบน.ส.จรูญ ที่หน้าห้องข้าหลวง ถาม น.ส.จรูญ ว่ามีอะไรเกิดเรื่องอะไร ได้รับตอบว่าในหลวงยิงพระองค์ ฉันได้ยินดังนั้นก็ตรงไปยังห้องพระบรรทมในหลวงรัชชกาลที่ ๘ (ทรงขีดเส้นหมึกในแผนผังหมายเลข ๑ แสดงเส้นทางที่เสด็จตรงไปยังห้องพระบรรทม)

[3] เมื่อเข้าไปถึงห้องพระบรรรทมแล้ว เห็นสมเด็จพระราชชนนีและพระพี่เลี้ยงเนื่องอยู่บนพระแท่นบรรทม สมเด็จพระราชชนนี ประทับอยู่เบื้องปลายพระบาทในหลวง โดยพระองค์อยู่บนพระแท่นครึ่งพระองค์ ส่วนพระพี่เลี้ยงเนื่องอยู่บนพระแท่นบรรทม และอยู่ตอนไปทางด้านพระเศียร เห็นในหลวงบรรทมอยู่บนพระแท่นในท่าหงายอย่างปรกติ เห็นที่พระนลาตมีรอยโลหิต พระเนตรหลับ สังเกตเห็นพระกรยืดอยู่ข้างพระวรกาย อยู่ท่าคนนอนธรรมดา พระกรแนบพระวรกาย ห่างจากพระวรกายตรงขอบพระหัตถ์ด้านในประมาณ ๕ ซ.ม. ที่ว่านี้หมายถึงพระกรซ้าย ส่วนพระกรข้างขวาเป็นอย่างไรไม่เห็น สังเกตเห็นพระหัตถ์อยู่ในท่าธรรมดา นิ้วพระหัตถ์ไม่งอแต่พระหัตถ์งอบ้างอย่างธรรมดา คืองดนิดหน่อย มีผ้าคลุมพระบรรทมคลุมอยู่ด้วย พระกรอยู่ภายนอกผ้านั้น เห็นแต่ข้างซ้าย ข้างขวาไม่ได้เห็น ผ้าคลุมพระองค์ขึ้นมาเสมอพระอุระ

[4] เมื่อฉันเห็นเช่นนั้นก็บอกกับคนที่อยู่ที่นั่นให้ไปตามหมอมา แล้วฉันได้เข้าไปประคองสมเด็จพระราชชนนีมาประทับที่พระเก้าอี้ปลายพระแท่นบรรทม ต่อจากนั้น หลวงนิตย์ฯได้มาถึง จะมาถึงภายหลังที่ฉันเข้าไปในห้องพระบรรทมแล้วนานเท่าใด กะไม่ถูก หลวงนิตย์ฯเข้าไปดูแล้วกก็ไม่ได้พูดว่ากะไร แต่ฉันเห็นหน้าหลวงนิตย์ฯก็รู้ได้ว่าไม่มีหวังแล้ว สมเด็จพระราชชนนีได้เสด็จไปประทับในห้องทรงพระอักษรต่อไป

[5] เมื่อทราบว่าหมดหวังแลว ต่อมาได้เรียกพระยาชาติฯขึ้นมาถามว่าจะทำอย่างไรต่อไป พระยาชาติฯบอกถึงพระราชพิธีเกี่ยวกับพระบรมศพแล้ว ฉันก็สั่งให้เขาจัดการไปตามระเบียบ

[6] ในหลวงรัชชกาลที่ ๘ เคยทรงปืนในงานแฟร์ (งานออกร้าน) ในต่างประเทศบ้างหรือไม่ ก็เป็นปืนของเล่น ปืนที่ทรงในงานแฟร์เป็นปืนที่เขามีกัน ปืนพกเคยทรงแต่ที่เป็นปืนของเล่น เมื่อเสด็จนิวัตพระนครแล้วใหม่ๆ คือ ในระหว่างเดือนธันวาคม มกราคม กุมภาพันธ์ นั้น ได้เคยทรงพระแสงปืนเหมือนกัน เป็นปืนที่มีผู้ทูลเกล้าฯถวาย โดยถวายที่เมืองชล เสด็จเมืองชลในราวเดือนธันวาคม โดยหลวงประดิษฐ์ฯเป็นผู้ถวายบังคมทูลเชิญเสด็จไปดูพวกใต้ดินของหลวงประดิษฐ์ฯ ปืนที่ทูลเกล้าฯถวายนั้นมีทั้งปืนสั้นและปืนยาว เมื่อเสด็จกลับมาประทับที่นั่งบรมพิมานแล้ว ก็ได้ทรงปืนนั้นเหมือนกัน โดยมีคนมาชี้แจงการใช้ปืนถวาย ผู้มาชี้แจงมี ร.อ.วัชรชัย ซึ่งขณะนั้นเป็นราชองครักษ์ พวกที่ให้ปืนมานั้นเป็นผู้แนะนำให้ ร.อ.วัชรชัยเป็นผู้ชี้แจงถวาย การที่ทรงปืนเป็นพระราชประสงบค์ของในหลวงเอง ทรงปืนที่ในสวนหลังพระที่นั่งบรมพิมาน ฉันก็ไปยิงปืนอยู่ด้วยเหมือนกัน ทรงทั้งปืนสั้นและปืนยาวทั้งสองอย่าง

[7] ปืนที่มีผู้ทูลเกล้าฯถวายมานั้นเป็นปืน U.S. Army ๑๑ ม.ม.นี้ ได้ทรงในสวนด้วยเหมือนกัน (โจทก์ขอให้ทรงทอดพระเนตรปืนของกลาง แล้วกราบบังคมทูลถามว่า ปืน U.S. Army ที่มีผู้ทูลเกล้าฯถวายมานั้น ลักษณะเป็นอย่างเดียวกับปืนของกลางหรือไม่ ทรงตอบว่าอย่างเดียวกัน) เมื่อทรงปืน U.S. Army แล้ว มีพวกมหาดเล็กที่อยู่ในที่นั้นเก็บเอาปลอกกระสุนไปบ้าง นายชิตนายบุศย์ก็เคยเก็บปลอกกระสุนไปเหมือนกัน และเห็นจะเก็บไปทั้งสองคน ปืนนั้นเมื่อทรงแล้วก็มอบให้ราชองครักษ์เก็บไป (โจทก์ขอให้ทรงทอดพระเนตรบัญชีปืนตามที่อ้างไว้ และศาลหมายเลข ๑๔๓ และโจทก์ได้อ่านรายการในบัญชีนั้นถวาย แล้วกราบบังคมทูลถามว่า ลูกระเบิดมือตามบัญชีนั้น ใครทูลเกล้าฯถวายมา ทรงรับสั่งตอบว่า จำไม่ได้)

[8] ในหลวงรัชชกาลที่ ๘ ต้องทรงฉลองพระเนตร โดยสายพระเนตรสั้น เวลาทรงปืนจะได้ทรงฉลองพระเนตรทุกคราวหรือไม่ จำไม่ได้ แต่โดยมากเห็นทรง

[9] ดูเหมือนในวันสวรรคตนั้นเอง แต่จำไม่ได้แน่ นายชิตได้บอกว่า เก็บปลอกกระสุนปืนได้ในห้องบรรทม โดยบอกว่า เก็บได้ใกล้พระแท่น จะได้บอกละเอียดว่าเก็บตรงไหนอย่างไรจำไม่ได้ นายชิตจะชี้ที่ที่เก็บได้ให้ดูหรือเปล่าก็จำไม่ได้ แม้ตัวนายชิตเองก็ไม่แน่ใจว่า ตนเก็บได้ที่ไหน

วันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ (ทรงตอบโจทก์) ต่อจากวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๔๙๓

[10] ฉันเคยทราบว่านายเฉลียว ได้นั่งรถยนตร์เข้าไปถึงหน้าพระที่นั่งบรมพิมาน ในหลวงรัชชกาลที่ ๘ จะทรงพอพระราชหฤทัยในการกระทำเช่นนั้นหรือไม่ ฉันไม่รู้ เคยมีครั้งหนึ่งที่สมเด็จพระราชชนนีรับสั่งเรียกรถยนตร์ไม่ได้มา เหตุที่ไม่ได้มา เพราะคันหนึ่งไปซ่อม อีกคันหนึ่งเอาไปให้นายปรีดี เขาว่ากันว่า นายเฉลียว เป็นผู้จัดส่งรถไปให้นายปรีดี แล้วนายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรี ได้ส่งรถมาถวายให้ทรงใช้แทน

[11] ในหลวงรัชชกาลที่ ๘ ไม่เคยรับสั่งอะไรกับฉันถึงการเข้าเฝ้าของนายเฉลียวว่ามีคารวะหรือไม่ การที่นายเฉลียวพ้นตำแหน่งราชเลขานุการในพระองค์นั้น น่าจะเป็นด้วยในหลวงไม่พอพระราชหฤทัย เหตุที่ไม่พอพระราชหฤทัย เพราะอะไรไม่ได้รับสั่งแก่ฉันให้ทราบ

[12] ในคราวเสด็จประพาสหัวหิน นายปรีดีโดยเสด็จด้วย ในคราวนั้นนายปรีดีได้สั่งเอารถจี๊ปไปใช้ โดยไม่ได้ขออนุญาต และนายปรีดีได้เคยจัดให้มีงานเลี้ยงขึ้นที่นั่น เลี้ยงพวกใต้ดิน จัดเลี้ยงโดยไม่ได้ขอพระบรมราชานุญาต ในการเลี้ยงนั้นมีเสียงเอะอะ

[13] นายปรีดีเคยว่า จะสั่งให้เอาเปียนโนมาถวาย จะสั่งมาจากไหนไม่ได้บอก ขณะนำมาถวายฉันไม่ได้อยู่ด้วย ในขั้นต้นฉันเข้าใจว่า เปียนโนนั้นเป็นของนายปรีดี ต่อมาพระยาชาติฯบอกว่าเป็นของสำนักพระราชวัง

[14] เกี่ยวกับการตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในการที่ในหลวงรัชชกาลที่ ๘ จะเสด็จต่างประเทศนั้น ฉันได้รู้บ้าง ความเห็นของนายปรีดีในการจะตั้งผู้สำเร็จราชการ จะตรงกับพระราชดำริห์หรือไม่ ฉันไม่ทราบ

[15] เกี่ยวกับการตั้งราชเลขานุการแทนนายเฉลียวที่พ้นตำแหน่ง ฉันรู้บ้าง ในหลวงมีพระราชประสงค์จะทรงตั้งท่านนิกรเทวัญ เทวกุล นายปรีดีปฏิบัติการสนองพระราชประสงค์นั้นชักช้า

[16] ในการที่ในหลวงจะเสด็จกลับสวิสเซอร์แลนด์ โดยผ่านไปทางประเทศอเมริกาและยุโรปนั้น เป็นพระราชประสงค์ของพระองค์ท่าน และทรงพระประสงค์จะได้เสด็จไปโดยเร็ว พระราชประสงค์นี้จนใกล้จะสวรรคตก็มิได้เปลี่ยนแปลง รัฐบาลจัดการเรื่องเสด็จนั้นเร็วช้าประการใดไม่ทราบ ในที่สุด ได้กำหนดเสด็จกลับสวิตเซอร์แลนด์ในวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๔๘๙

[17] นายมี พาผล เคยบอกฉันว่า วันที่ ๑๓ จะเสด็จกลับไม่ได้ บอกเมื่อในหลวงเสด็จสวรรคตแล้วราว ๒-๓ อาทิตย์ ว่านายชิตเป็นผู้พูดว่าในหลวงจะไม่ได้เสด็จกลับวันที่ ๑๓

[18] ตามที่ตอบไว้เมื่อวันก่อนว่า เห็นคนวิ่งผ่านห้องบรรไดไปนั้น ต่อมาฉันได้สอบสวนดู ฉันเคยถามนายชิตเขาบอกว่า เขาวิ่งมาทางหน้าพระที่นั่ง และบอกอีกครั้งหนึ่งว่าวิ่งมาทางหลังพระที่นั่งแล้วออกไปทางหน้า เขาไม่แน่ใจ นายชิตบอกและชี้ทางด้วย แต่ก็เป็นเรื่องไม่แน่นอน

[19] นายวงศ์ เชาวน์กวี เคยสอนหนังสือฉันในวันที่ ๘ ก่อนสวรรคตนั้น นายวงศ์ได้ไปเฝ้าในวันที่ ๙ หลังจากในหลวงสวรรคตแล้ว นายวงศ์ได้มาตามคำสั่งของฉัน หลังจากนั้น นายวงศ์ยังได้มาอีกหลายครั้ง

[20] ในระหว่างในหลวงรัชชกาลที่ ๘ สมเด็จพระราชชนนี และฉัน ไม่มีอะไรขุ่นข้องหมองใจกัน ในหลวงรัชชกาลที่ ๘ ไม่เคยรับสั่งกับฉันว่ามีความคับแค้นพระราชหฤทัยอย่างใด เคยรับสั่งแต่ว่า อากาศร้อน

[21] เกี่ยวกับราชการ ในหลวงรัชชกาลที่ ๘ จะทรงมีอะไรคับแค้นพระราชหฤทัยบ้างไหมฉันไม่รู้ ส่วนที่เกี่ยวกับส่วนพระองค์ ก็ไม่มีเรื่องคับแค้นที่รุนแรง

[22] ในหลวงรัชชกาลที่ ๘ พระทัยเย็น และเวลาทรงปืน ทรงระมัดระวังทุกทาง ยังเคยทรงเตือนฉันเวลายิง หรือเล่นปืนพก ให้ดูเสียก่อนว่ามีลูกอยู่ในลำกล้องหรือเปล่า

[23] ในหลวงไม่เคยพูดเรื่องการเมืองกับฉัน และฉันไม่เคยทราบเรื่องในหลวงทรงอยากพบ จอมพล ป. พิบูลสงคราม

[24] นายฉันท์ หุ้มแพร เป็นคนจงรักภักดี และเป็นห่วงในความสุขสบายของเรา เกี่ยวกับการปลอดภัย เขาเป็นห่วงเหมือนกัน นายฉันท์ฯไม่เคยพูดกับฉันมาก เป็นแต่เคยบอกกับฉันว่า ต้องระวัง ที่ว่าต้องระวังนั้น เข้าใจว่าระวังคน บอกตั้งแต่ฉันมาถึงเมืองไทย

[25] รถจี๊ปที่นายปรีดีเอาไปใช้นั้น เป็นรถส่วนพระองค์

(ทรงตอบทนายจำเลย)

[26] คนที่ฉันเห็นวิ่งผ่านประตูห้องบรรไดไปนั้น เขาผ่านโดยเร็ว ฉันไม่รู้ว่าเป็นใคร ก่อนนั้นฉันไม่ได้ยินเสียงอะไรดังผิดปรกติ ระหว่างที่ฉันเดินไปๆมาๆอยู่ในห้องนอน และห้องเครื่องเล่นนั้น จะมีใครอยู่ในสองห้องนั้นบ้างไหม ไม่ได้สังเกต ในที่สุด ฉันก็ไม่ทราบว่า คนที่เห็นวิ่งไปนั้นเป็นใคร ขณะเห็นไม่ทันได้คิดว่าอย่างไร

[27] เสียงคนร้องที่ได้ยินนั้น เป็นเสียงทั้งตกใจทั้งร้องไห้ และเป็นเสียงของคนๆ นอกจากเห็น น.ส.จรูญ ที่เฉลียงแล้ว ไม่เห็นมีใครอีก ตอนนั้นจะมีเสียงร้องทางหน้าพระที่นั่งบ้างไหม ไม่รู้ ฉันถาม น.ส.จรูญ แล้ว ก็ได้เดินต่อไปโดยเร็ว จะมีเสียงคนวิ่งไหม ไม่ได้สังเกต เวลานั้นประตูห้องทรงพระอักษรทางด้านที่เปิดออกสู่เฉลียงด้านหน้าจะปิดหรือเปิดอยู่ ไม่ได้สังเกต ประตู้นั้นตามธรรมดาเมื่อยังไม่ตื่นบรรทมก็ปิด และตามธรรมดาฉันไปห้องพระบรรทม ก็เข้าทางห้องแต่งพระองค์ ฉันเข้าไปถึงห้องพระบรรทมแล้ว ก็เลยตรงเข้าไปที่สมเด็จพระราชชนนี ขณะนั้นจะได้มีการเช็ดพระโลหิตที่พระพักตร์ในหลวงรัชชกาลที่ ๘ แล้วบ้างไหม ฉันไม่ทราบ ฉันเข้าใจว่าพระพี่เลี้ยงเนื่องกำลังทำการเช็ดพระพักตร์ในหลวงอยู่ ฉันเข้าไปถึง สมเด็จพระราชชนนีแล้วนานสัก ๑ นาที หรือ ๒ นาที ก็ประคองพระองค์ท่านออกมา ขณะนี้พระพี่เลี้ยงจะคงเช็ดพระพักตร์อยู่หรือเปล่า ฉันไม่ได้ดู จะมีคนอื่นเข้าไปในพระวิสูตร์หรือเปล่า ฉันไม่ได้สังเกต ฉันไม่ได้แหวกพระวิสูตร์เข้าไป น่าจะมี คนแหวกไว้ แหวกข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง ไม่ได้สังเกต ฉันออกจากพระวิสูตร์มาแล้ว ก็มาอยู่กับสมเด็จพระราชชนนีที่ปลายพระแท่น ไม่ได้เข้าไปอีก

[28] ฉันสังเกตท่าทางของพระบรมศพ ตั้งแต่ก่อนเข้าไปในพระวิสูตร์แล้ว จะมีอะไรอยู่ใกล้พระกรเบื้องซ้ายบ้าง ไม่ได้สังเกต พระเศียรหนุนพระเขนยอยู่ในท่าปรกติ สังเกตเห็นตั้งแต่แรกเข้าไป

[29] สมเด็จพระราชชนนีเสด็จออกไปประทับอยู่ที่ห้องทรงพระอักษรก่อนฉัน ฉันออกจากห้องพระบรรทมไปแล้ว ก็ได้กลับเข้าไปอีก กี่ครั้งไม่ได้นับ

[30] ฉันได้เห็นปืน เมื่อนายชิตนำมาให้ดูที่เฉลียง ขณะนั้นเวลาสักเท่าใดจำไม่ได้ ปืนที่นายชิตนำมาให้ดู เป็นปืนที่นายฉันท์ หุ้มแพร ถวายรัชชกาลที่ ๘ ถวายตั้งแต่ตอนเสด็จมาถึงประเทศไทย

[31] ในวันสวรรคตนั้น นายวงศ์ได้มาหาฉัน ที่ห้องทรงพระอักษรในตอนแรก ต่อมาอีกตอนหนึ่ง มาหาที่ใกล้ห้องของฉัน

[32] เคยยิงปืนจากเฉลียงชั้นบนลงไปในสวน บางคราวก็ลงไปยิงในสวน ในหลวงรัชชกาลที่ ๘ ได้เว้นทรงปืนอยู่ก่อนเสด็จสวรรคตหลายวัน อาจจะมีคนอื่นมาแนะนำวิธีทรงปืนอีกบ้าง

[33] การที่นายปรีดีโดยเสด็จไปหัวหินด้วยนั้น นายปรีดีไม่มีหน้าที่โดยเสด็จ แต่จะเป็นพระราชประสงค์หรือเปล่า ฉันไม่รู้

[34] เรื่องสมเด็จพระราชชนนี ทรงเรียกรถใช้ไม่ได้นั้น จะก่อนหรือหลังกลับจากหัวหินจำไม่ได้ ได้ยินเขาพูดกันว่า รถนั้นนายปรีดีเอาไปใช้ โดยนายเฉลียวส่งไปให้

(ทรงตอบโจทก์ติง)

[35] เวลานายชิตนำปืนมาให้ฉันดูนั้น จะพูดอย่างไร จำไม่ได้

ลงพระปรมาภิไธย